เงื่อนไขโครงการทำให้พวกเขาได้ "สัมผัสและเรียนรู้บ้านเกิด" จนทำให้สำนึกรักชุมชนถิ่นเกิดค่อยๆ งอกงามขึ้นภายใน แล้ววันหนึ่งข้างหน้าพลังนี้อาจผลักพาให้พวกเขาจะกลับมาทำหน้าที่ดูแลบ้านเกิดต่อไป
ผูกหัวใจคนรุ่นใหม่ใกล้ชุมชน
วันที่กระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ชุมชนหลายแห่งจำเป็นต้องละทิ้งวิถีดั้งเดิมบางอย่างเพื่อปรับตัวรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยนำพาชุมชนให้ก้าวต่อไปในกระแสโลกใหม่ได้ดีคือการมี “คนรุ่นใหม่” ที่มาเป็นตัว “เชื่อมประสาน” ทว่าปัญหาหนึ่งที่หลายชุมชนประสบคล้ายกันคือ การที่คนรุ่นใหม่ “ละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิด” เข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่
วิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้คือการ “สร้างสายใย” ยึดโยงคนรุ่นใหม่ให้เห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีส่วนในการพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่ชุมชนได้ ดังเช่นเยาวชนจากบ้านทุ่งใหม่ หมู่11 ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน ประกอบด้วย สแน็ก-กวินภพ ไชยหาญ มัด-วสันต์ นันศิริ ต่าย-ชยานิช ไชยหาญ ปอ-จิดาภา ติละ และแพท-ศิริลักษณ์ ต๊ะแก้ว ที่มีโอกาสลงมือทำ โครงการสานสายใยสมุนไพรคู่ชุมชน ซึ่งเป็นดั่งเครื่องมือที่ช่วยสร้างสายใยระหว่างพวกเขากับชุมชนไว้ได้อย่างแนบแน่น
จุดเริ่มต้นการเข้ามาทำโครงการของพวกเขาเกิดจากการชักชวนของพี่กอล์ฟ-ดวงพร ยังรัก โคชโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ที่เป็นรุ่นพี่ในชุมชน โดยนำโครงการของรุ่นพี่ปี 1-2 มาให้ดู ทีมงานที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาก่อนมองว่านี่น่าจะเป็นเรื่องสนุกและน่าลองทำ จึงตอบตกลงอย่างง่ายดาย
เรียนรู้รักบ้านเกิด
ทีมงานเริ่มค้นหาโจทย์โครงการที่อยากทำ โดยตอนแรกมองที่เรื่องสารเคมีในน้ำ แต่เมื่อประเมินศักยภาพของตัวเองแล้วพบว่า ปัญหาใหญ่เกินกว่าที่จะทำไหว จึงเปลี่ยนมาเป็นเรื่องสมุนไพรแทน
“เราเปลี่ยนเป็นเรื่องสมุนไพร เพราะเมื่อก่อนคนในชุมชนใช้สมุนไพรกันเยอะ แต่เดี๋ยวนี้เริ่มหันไปพึ่งการแพทย์สมัยใหม่แล้ว แม้ยังปลูกอยู่บ้าง แต่เน้นปลูกเพื่อจำหน่าย เราจึงอยากเห็นคนในชุมชนหันกลับมาใช้สมุนไพรที่มีอยู่แล้วให้เป็นประโยชน์ในการบรรเทาอาการดีกว่าต้องเสียเงินพึ่งยาแผนปัจจุบันทั้งหมด” ทีมงาน เล่า
หลังจากนั้นทีมงานก็เตรียมเก็บข้อมูลเรื่องโรคของคนในชุมชนและเรื่องสมุนไพร โดยแบ่งหน้าที่กันทำงานตามความสามารถ ใช้เวลาเก็บข้อมูลกับชาวบ้านเป็นเวลา 2 วัน โดยวันแรกหลังจากเก็บข้อมูลเสร็จก็กลับมาคุยกันว่าข้อมูลส่วนไหนที่ยังไม่ครบ ส่วนไหนที่ยังไม่ชัด และไปเก็บเพิ่มในวันถัดไป
ผลของการเก็บข้อมูลทำให้ทีมงานได้รายชื่อสมุนไพรบ้าน เช่น ตะไคร้หอม อัญชัน ขมิ้น และสมุนไพรป่า เช่น หญ้าเอ็นยืด หญ้าตีนเป็ด เกล็ดปลาปรุง จากนั้นนำมาจัดหมวดหมู่ตามสถานที่พบและสรรพคุณ บางชนิดที่ไม่รู้จักก็นำไปสอบถามกับปราชญ์ชาวบ้านเพิ่มเติม นอกจากนั้นพวกเขายังพบว่าสมุนไพรบางชนิด เช่น หญ้าเอ็นยืด กำลังใกล้จะสูญพันธุ์ไปจากชุมชนแล้ว เพราะสมุนไพรชนิดนี้ชอบขึ้นบนดินชื้นๆ แต่สภาพอากาศที่ร้อนขึ้นได้เปลี่ยนให้ดินแห้งไม่เหมาะกับการเจริญเติบโต
แม้มีข้อมูลสมุนไพรป่าส่วนหนึ่งแล้ว ทีมงานก็อยากไปสำรวจในป่าเพิ่มเติม เพราะคาดว่าอาจมีสมุนไพรมากกว่าที่รู้จากชาวบ้าน แต่กลับถูกตั้งคำถามจาก พี่มิ้นท์-สุทธิรา อุดใจ โคชโครงการเสริมสร้างศักยภาพฯ ว่า ต้องใช้เวลานานแค่ไหนจึงจะหาสมุนไพรในป่าที่อุดมสมบูรณ์และกว้างมากขนาดนี้ได้ครบ ทีมงานจึงฉุกคิดถึงกำลังของตัวเองและเงื่อนไขของเวลาขึ้นมาได้ แล้วตัดสินใจเปลี่ยนเป็นการไปขอข้อมูลเรื่องโรคของคนในชุมชนจาก อสม. เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการสำรวจสมุนไพรในป่ามาใช้บรรเทาโรคนั้นๆ ซึ่งพบว่าชาวบ้านป่วยด้วยโรคความดัน นิ่ว และเบาหวาน มากที่สุดตามลำดับ โดยสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคดังกล่าวหาได้ทั่วไปในชุมชน และพวกเขามีข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว ทีมงานจึงเปลี่ยนเป้าหมายใหม่เป็นการเก็บต้นสมุนไพรในป่าบางชนิดมาทดลองปลูกที่บ้านแทน เพื่อกระตุ้นความสนใจของชาวบ้านให้หันมาสนใจปลุกสมุนไพรชนิดใหม่ๆ มากขึ้น
ระหว่างที่กำลังเก็บข้อมูลนั้น ทีมงานได้ไปดูงานกับปราชญ์ด้านสมุนไพรของหมู่บ้านอื่น เพื่อเปรียบเทียบกับสมุนไพรในชุมชนตัวเอง และเรียนรู้เพิ่มว่ายังมีสมุนไพรชนิดไหนที่ไม่รู้จัก เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลฟลว่าสมุนไพรอะไรบ้างที่ช่วยรักษาโรคให้คนในชุมชนได้ และเมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการใช้สมุนไพรรักษากับใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาแล้ว มีความแตกต่างกันอย่างไร
การกระทำพิสูจน์คำพูด
เมื่อถึงวันคืนข้อมูลที่จัดร่วมกับการประชุมหมู่บ้าน ทีมงานเริ่มต้นด้วยการพูดถึงโรคที่ชาวบ้านในชุมชนเป็นกันมาก และแนะนำสมุนไพรแต่ละชนิดที่ช่วยบรรเทาได้ เช่น ฟ้าทะลายโจร ขมิ้น ดาวอินคา ที่ช่วยรักษาเบาหวาน และความดันมาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเพิ่มเติมกับชาวบ้าน
ทีมงานเล่าถึงบรรยากาศในเวทีวันนั้นว่า ช่วงต้นชาวบ้านยังงงว่าพวกเขาทำทำไม และมีบางคนแย้งกลับด้วยว่าจะทำสำเร็จไหม จนทำให้แอบเสียกำลังใจ แต่พวกเขาจึงเก็บคำเหล่านั้นมาเป็นแรงฮึดสู้ว่าจะต้องพิสูจน์ให้ผู้ใหญ่เห็นความตั้งใจให้ได้ ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านบางคนสนใจแลกเปลี่ยนข้อมูล และบอกว่ายินดีจะช่วยเหลือถ้าพอช่วยได้ เวทีคืนข้อมูลครั้งนี้จึงเป็นข้อพิสูจน์ให้ทีมงานรู้ว่า ถ้าตั้งใจทำสิ่งที่ดีและลงมือทำทำอย่างจริงจังก็มีคนที่พร้อมเข้ามาช่วยเสมอ
นอกจากเก็บข้อมูล และจัดเวทีคืนข้อมูลแล้ว ช่วงเวลาเดียวกันนั้น ทีมงานก็ได้ลงมือทำซุ้มสมุนไพร เพื่อพิสูจน์ให้ชาวบ้านเห็นว่าพวกเขาตั้งใจจริงกับโครงการนี้ โดยระหว่างนี้ทีมงานทุกคนจะปลูกสมุนไพรที่บ้านควบคู่กันไปเพื่อเตรียมนำมาลงในซุ้ม ผลลัพธ์จากเวทีคืนข้อมูลที่ชาวบ้านเสนอให้ความช่วยเหลือก็ได้ปรากฏขึ้นในกิจกรรมทำซุ้มสมุนไพรนี้ เนื่องจากทีมงานจำเป็นต้องใช้ท่อนไม้จำนวนมากมาทำซุ้ม ชาวบ้านจึงช่วยบริจาคไม้และมาช่วยลงแรงทำซุ้มด้วย
หลังผ่านไป 2 เดือน ซุ้มสมุนไพรก็เสร็จสมบูรณ์ ทีมงานบอกว่า นอกจากระยะเวลาการทำซุ้มที่ยาวนานจะเป็นการทดสอบกำลังกายที่ต้องเลื่อย ตัด ตอก และต่อไม้แล้ว ยังเป็นการ “ทดสอบกำลังใจ” ของพวกเขาด้วย เริ่มตั้งแต่การต้องทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่ากำลังทำโครงการที่เป็นประโยชน์กับชุมชนอยู่ หลังถูกตักเตือนว่าพวกเขาออกไปนอกบ้านบ่อยเกินไป ต้องแบ่งเวลามาทำซุ้ม ทั้งช่วงว่างหลังเลิกเรียนหรือวันหยุด บางคนก็ต้องยอมทำมากกว่าเพื่อน เพราะมีเวลาว่างมากกว่า แต่ก็ทำให้พวกเขาได้ฝึกฝนการบริหารจัดการเวลาของตัวเองจนทำให้งานสำเร็จลุล่วงในที่สุด
ที่มากกว่านั้นคือ ทีมงานยังได้ฝึกการติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน เริ่มตั้งแต่การเก็บข้อมูลในชุมชนที่บางบ้านก็ไม่ให้ความร่วมมือ พวกเขาจึงต้องใช้ทักษะการสื่อสารในการค่อยๆ อธิบายสิ่งที่กำลังทำ ทีมงานจึงมีบทเรียนสำคัญแรกคือ “การทำความเข้าใจภายในกลุ่ม” ให้ตรงกันก่อนจะไปขอความร่วมมือจากผู้ใหญ่
บทเรียนที่ 2 คือ “การใช้ใจแลกใจ” โดยก่อนจะถึงกิจกรรมคืนข้อมูลและการทำซุ้มสมุนไพร ทีมงานได้อาสาเข้าไปช่วยงานของหมู่บ้านตามแต่ผู้ใหญ่จะเรียกใช้ เพราะคิดว่าก่อนจะขอใครมาช่วยก็ควรไปช่วยเขาก่อน ทำให้กิจกรรมของทีมงานได้รับความร่วมมืออย่างดีจากผู้นำชุมชนและชาวบ้าน
การเรียนรู้ของพวกเรา
“การถอดบทเรียน” เป็นเครื่องมือที่ทีมงานบอกว่าพวกเขาได้เรียนรู้จากการเข้าร่วมเวทีเวิร์กช็อปของโครงการฯ ทำให้พวกเขามองเห็นตัวเองหลังทำกิจกรรมแต่ละกิจกรรมเสร็จว่าทำอะไรได้ดี อะไรควรปรับปรุง แล้วปรับปรุงอย่างไร ซึ่งเป็นประโยชน์ในการทำกิจกรรมต่อไป
บทเรียนหนึ่งจากการถอดบทเรียนที่ทีมงานเห็นตัวเองชัดคือ “ความตรงต่อเวลา” ที่เดิมพวกเขาแต่ละคนก็ไม่ใช่คนตรงเวลา แต่การเห็นข้อบกพร่องนี้ซ้ำๆ จากการถอดบทเรียน ทำให้พวกเขาพยายามหาทางแก้ไขด้วยการตั้งกฎว่าใครมาสายจะถูกจ่ายค่าปรับ กระทั่งทุกคนค่อยๆ ปรับตัวกลายเป็นคนมาตรงเวลาทั้งตอนนัดทำกิจกรรมและกลายเป็นนิสัยใหม่ในชีวิตประจำวัน
ต่าย บอกว่า สิ่งที่เธอได้เรียนรู้มากที่สุดคือ “ความรับผิดชอบ” เพราะการรับหน้าที่หัวหน้าทีมของโครงการ ทำให้เธอตระหนักถึงความสำคัญของการตั้งใจทำหน้าที่ จากเมื่อก่อนที่ได้รับมอบหมายงานของที่บ้านหรือที่เรียนแล้วก็ทำบ้างไม่ทำบ้าง ตอนนี้กลายเป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับการทำงาน นอกจากนั้นการได้เข้าร่วมโครงการยังช่วยฝึกประสบการณ์ให้ต่ายมั่นใจและกล้าแสดงออกมากขึ้น
ปอ พูดถึงการเรียนรู้ของตัวเองว่า “เมื่อก่อนเราเป็นคนที่มีโลกส่วนตัวสูง ไม่ค่อยอยากเข้าหาคนอื่นๆ แต่การมาทำโครงการนี้ต้องทำงานกับคนหมู่มาก ทำให้เราต้องเปลี่ยนตัวเองให้กล้าคุยกับคนอื่น ทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้น มีเพื่อนมากขึ้นที่คอยช่วยเหลือกันได้”
มัดบอกคล้ายกับปอว่า เขาเองก็ไม่กล้าเข้าหาเพื่อน กระทั่งเข้ามาทำโครงการกับเพื่อน จึงค่อยๆ สนิทและเข้ากับเพื่อนได้มากขึ้น
ด้านแพท ที่รับหน้าที่ดูแลการเงินของโครงการ จึงทำให้เธอมีทักษะการบริหารจัดการเงินมากขึ้น รู้จักประเมินความคุ้มค่าในการใช้จ่าย พร้อมกับฝึกความรับผิดชอบและความซื่อสัตย์
สำหรับสแน็ก เขาได้เรียนรู้การเข้าหาผู้ใหญ่ จากที่ใช้ชีวิตตามประสาเด็ก ไม่ค่อยพูดคุยทักทายผู้ใหญ่ในชุมชน แต่เงื่อนไขโครงการที่ทำให้เขาต้องติดต่อขอความร่วมมือจากผู้หลักผู้ใหญ่จนคุ้นเคยกัน เขาจึงกลายเป็นคนที่นอบน้อม รู้จักกาละเทศะมากขึ้น
แม้จะผ่านการทำงานมาอย่างตรากตรำ แต่ทีมงานก็ยอมรับว่าโครงการของพวกเขาเป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่แค่ช่วยกระตุ้นชุมชนให้หันมาสนใจการนำสมุนไพรกลับมาใช้เท่านั้น ยังมีเส้นทางข้างหน้าอีกยาวไกลกว่าคนในชุมชนจะหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองอย่างจริงจังจนกลายเป็นชุมชนสุขภาพดี
ทว่าสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ว่าทีมงานกลุ่มนี้ประสบความสำเร็จแล้วนั่นคือ การพาตัวเองออกจากพื้นที่ที่คุ้นเคยก้าวไป “สัมผัสและเรียนรู้บ้านเกิด” ซึ่งจะทำให้สำนึกรักชุมชนถิ่นเกิดค่อยๆ งอกงามขึ้นภายในตัวของพวกเขา และเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาจะกลับมาทำหน้าที่ดูแลบ้านเกิดให้ดีต่อไป
โครงการสานสายใยสมุนไพรคู่ชุมชน
ที่ปรึกษาโครงการ : มอญ ไชยหาญ
ทีมงาน :
- กวินภพ ไชยหาญ
- วสันต์ นันศิริ
- ชยานิช ไชยหาญ
- จิดาภา ติละ
- ศิริลักษณ์ ต๊ะแก้ว