ในสังคมปัจจุบันที่คนส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับเกรด คนที่เรียนไม่เก่งจึงมักจะถูกตีตราว่า “มีปัญหา” ทำให้เด็กรู้สึกไม่มีความสุข ไม่ได้รับการยอมรับ จนต้องพยายามประกาศศักดาของตัวเองผ่านพฤติกรรมบางอย่าง เช่น แว้นรถส่งเสียงดัง แต่งตัวกวนๆ เพื่อดึงดูดความสนใจ หรือบางคนอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ เพื่อให้เพื่อนและคนรอบข้างยอมรับ ดังนั้นหน้าที่ของพ่อแม่คือการหาวิธีส่งเสริมให้ลูกและเพื่อนๆ เป็นปฏิสัมพันธ์ที่ก่อผลเชิงบวก เช่นเดียวกับเด็กแว้นกลุ่มไก่ไข่บ้านทุ่งที่เคยใช้ชีวิตแบบไร้แก่นสาร แว้นรถเสียงดังรบกวนชาวบ้านในชุมชน มาวันนี้กลุ่มวัยรุ่นขาแว้นประจำหมู่บ้านคูซอดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงได้ หากได้รับ “โอกาส” และ“หนุนเสริม” จากผู้ใหญ่ที่ช่วยประคับประคองการเรียนรู้อย่างถูกทิศถูกทาง
แว้น...กลับใจ
เสียงท่อที่แผดก้องดังไปทั้งบ้านคูซอด หมู่ 2 ตำบลคูซอด อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ที่ก๊วนแว้นรถกว่า 20 ชีวิตคิดว่า “มันเท่สุดๆ” เวลาแว้นรถเสียงดังแล้วคนหันมามอง พยายามขวนขวายหาความรู้เรื่องการแต่งรถมอเตอร์ไซค์จากยูทูปจนเชี่ยวชาญ
แต่เสียงที่แผดก้องดังไปทั้งหมู่บ้าน ซึ่งมาพร้อมกับเสียงก่นด่าของชาวบ้าน และคำพร่ำบ่นของแม่ที่ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ เดช-อัครเดช คันศร คิดอยากเปลี่ยนแปลงตัวเอง ประจวบเหมาะกับที่แม่พร-โพนทอง คันศร มีโอกาสได้พูดคุยกับทีมโคชศรีสะเกษ เรื่องการบ่มเพาะคุณลักษณะพึงประสงค์ของเยาวชนผ่านการทำโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ จึงอยากให้ เดชและก๊วนเพื่อนคือ แบงค์-ภานุพงค์ วงษาเนาว์ และลิด-อดิศักดิ์ สาลี หันกลับมาทำกิจกรรมดีที่เป็นประโยชน์กับตัวเองและชุมชน แทนการแว้นรถที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจให้ชาวบ้าน
“แม่เล่าที่มาที่ไปของโครงการให้ผมและกลุ่มเพื่อนๆ ฟัง พร้อมกับให้ลองคิดโจทย์โครงการดู เพราะชอบแว้นรถ ตอนแรกจึงคิดทำเรื่องการซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ที่ทีมถนัด แต่เมื่อพบว่าต้องใช้เงินเยอะมาก ทีมงานก็ยังไม่มีความรู้เรื่องการซ่อมรถดีพอ เห็นว่าตนเองพอมีความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่อยู่บ้าง เนื่องจากที่บ้านเลี้ยงไก่เนื้อและไก่ชนอยู่แล้ว จึงชวนเพื่อนทำโครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้ โดยแม่อาสามาเป็นพี่เลี้ยงให้” เดชเล่าจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนตัวเอง
ช่วงแรกมีเพื่อนเข้ามาร่วมกว่า 10 คน แต่พอนานไปเพื่อนหลายคนเริ่มติดภารกิจ บางคนไปเรียนต่อต่างพื้นที่ แต่เดชก็ไม่ท้อใจ ทีมเหลือเท่าไรก็ทำกันเท่านั้น โชคดีที่มีพ่อแม่มีความรู้เรื่องการสร้างโรงเรือน การคัดเลือกแม่พันธุ์ไก่ การทำงานจึงง่ายขึ้นมาก
“ช่วงแรกพ่อจะเป็นคนช่วยสั่งไก่สาวมาให้เลี้ยง เพราะสามารถร่นระยะเวลาการเลี้ยงได้ และมีความคุ้มทุนกว่าการเลี้ยงไก่ที่ยังเป็นลูกเจี๊ยบ” เดช เล่าถึงความช่วยเหลือที่ได้รับจากครอบครัว
สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองที่เห็นลูกมีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง ควรหากิจกรรมดีๆ ให้ลูกทำ ให้ลูกได้เข้าไปปฏิสัมพันธ์กับคนหลากหลายกลุ่ม ดังเช่นแม่พรที่ดึงลูกและเพื่อนๆ ออกจากกลุ่มเสี่ยงมาทำกิจกรรมเพื่อชุมชนแล้ว ยังเป็นการฝึกฝนให้ลูกรู้จักรับผิดชอบงาน จนลูกและกลุ่มก๊วนเพื่อนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง
รวมพลังแว้นกลับใจ
จากพื้นที่ว่างเปล่าหลังบ้าน โรงเรือนเลี้ยงไก่ 2 หลังที่เกิดขึ้นจากแรงกายแรงใจของทีมงานแล้วเสร็จ พร้อมเลี้ยงไก่สาวโรงเรือนละ 51 ตัว รวมเป็น 102 ตัว การเลี้ยงดูแลไก่ทีมงานจะแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจน โดยในหนึ่งสัปดาห์จะมีตารางการให้อาหาร ให้น้ำ ล้างเก็บทำความสะอาดโรงเรือน และเก็บไข่ เป็นต้น ถ้าใครติดธุระมาไม่ได้ ต้องบอกล่วงหน้า โดยเดชที่บ้านอยู่ใกล้อาสามาให้อาหารแทน
แบงค์ เล่าว่า การเลี้ยงไก่ต้องหมั่นสังเกตอากัปกิริยาของไก่แต่ละตัว เนื่องจากพอเลี้ยงได้ระยะหนึ่งเริ่มไข่น้อยลง ไก่ร้องตลอดเวลา ซึ่งอาจเป็นเพราะหิว หรืออากาศที่ร้อนเกินไป ทำให้ไก่เครียด แม่พรแนะนำให้เปลี่ยนสูตรอาหารใหม่ และสอนให้สังเกตพฤติกรรมของไก่ เช่น หากไก่เป็นไข้จะมีอาการซึมๆ สีหงอนของมันจะซีดๆ ก็ให้คัดแยกไก่ออกมาจากโรงเรือน จากนั้นให้พ่อของเดช มาช่วยฉีดวัคซีนให้ ก็จะดูแลจนไก่กลับมาไข่มากเหมือนเดิม
ส่วนช่องทางการขายไข่ไก่ที่ต้องแว้นไปส่งถึงมือผู้บริโภคว่า ช่วงแรกๆ แม่จะเป็นคนหาตลาดให้ โดยตั้งราคาไว้แผงละ 80 บาทคละเบอร์ จากที่เคยแว้นเร็วๆ ก็ต้องแว้นช้าลง เพื่อไม่ให้ไข่แตก โดยแบ่งสายกันไป
“ส่วนใหญ่ลูกค้าที่สั่งจะเป็นร้านค้าในชุมชน เพราะมีแม่เป็นกองเชียร์ช่วยป่าวประกาศ จนมีคนมาสั่งไข่ที่บ้านเกือบทุกวัน แต่ละวันเก็บไข่ได้ประมาณ 2 แผง จะขายส่งแบบยกแผงไม่ได้ขายปลีก หนึ่งเดือนขายไข่ได้ประมาณ 5,000 บาท เมื่อหักต้นทุนค่าอาหาร ค่ายา ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ยังมีกำไรอยู่บ้าง”
เดชและทีมงาน ยอมรับว่า แม้กำไรจะยังไม่มาก แต่ก็แบ่งเบาค่าใช้จ่ายทางบ้านได้บ้าง ในอนาคตอยากขยายตลาดเพิ่มขึ้น แต่ต้องปรับรูปแบบการเลี้ยงให้จริงมากขึ้น อาจต้องลงทุนทำโรงเรือนเลี้ยงไก่เพิ่ม
ผลของการหนุนเสริมการเรียนรู้ของแม่พร นอกจากจะทำให้เดชและเพื่อนรู้ลึกเรื่องการเลี้ยงไก่ไข่จนสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพได้ในอนาคตแล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องการทำงานเป็นทีม การแบ่งบทบาทหน้าที่ และความรับผิดชอบ การจัดการเวลา และมีความรับผิดชอบต่องานที่ได้รับมอบหมายมากขึ้น
เพราะคำว่า “รับผิดชอบ”
จากวัยโจ๋ขี่รถแว้นโก้เก๋ไปมา ต้องมาคลุกคลีอยู่กับเล้าไก่ ขัดใจหรือไม่...เดชตอบว่า ตามประสาวัยรุ่นก็ต้องมีขัดใจอยู่แล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ทั้งเหนื่อยที่ต้องตื่นแต่เช้ามาให้อาหารไก่ ทั้งหงุดหงิดที่เพื่อนไม่มาช่วยกันทำความสะอาดเล้าไก่หรือให้อาหารไก่ แต่เพราะความรับผิดชอบที่ตกลงรับปากทำโครงการไปแล้ว ก็ต้องทำต่อให้จบ
ขณะที่ลิด ยืนยันว่า มีท้อบ้าง แต่ไม่คิดล้มเลิก เพราะคิดว่าไม่เกินความสามารถที่จะทำได้ เมื่อเพื่อนยืนยันทำโครงการต่อ เราก็ต้องทำให้จบเหมือนกัน
“เวลาเหนื่อยก็งอนกันตามประสาเพื่อน เคยหงุดหงิดใส่กันตอนทำงานและไม่พอใจกัน ก็ปล่อยเวลาให้เพื่อนได้คิด ไม่นานก็กลับมาพูดคุยกันได้เหมือนเดิม แรกๆ คิดว่าการทำโครงการจะยาก แต่พอทำไปก็สนุกดี ไม่ยากเกินไป แม้จบโครงการไปแล้วก็ยังจะเลี้ยงไก่ต่อไป เพราะไก่ยังสามารถออกไข่ได้อีกถึง 3 ปี และคิดว่าจะต่อยอดการเลี้ยงไก่ให้มากขึ้น”
ด้านแม่พร ผู้หนุนเสริมลูกเล่าว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้เธอต้องเคี่ยวเข็ญเด็กๆ แต่ละคนให้รู้จักหน้าที่และความรับผิดชอบ เพราะถ้าไม่มีความรับผิดชอบโครงการจะไม่สำเร็จ เรียกได้ว่า แม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่นกลุ่มนี้
เช่นเดียวกับเดช ที่สะท้อนว่า แม้แม่พรไม่ได้เป็นนักวิจัย แต่แม่ก็มองเห็นทิศทางชีวิตที่อยากให้เขาและเพื่อนๆ เป็นคนดี แม่เป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา ทั้งเรื่องการเลี้ยงไก่ ช่องทางการทำตลาด โดยเฉพาะในช่วงแรกที่ทำโครงการที่เขาและเพื่อนไม่ค่อยมั่นใจในในตัวเองมากนัก ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออกเลย เพราะการหนุนเสริมของแม่ทำให้เขาและเพื่อนทำโครงการได้สำเร็จ กล้าแสดงออกมากขึ้น ทั้งยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากแว้นกวนเมือง กวนใจชาวบ้าน มาเป็นแว้นแบบสร้างสรรค์แทน
ไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้
นอกจากมีรายได้เสริมแล้ว ผลิตผลที่ได้ยังสะท้อนผ่านแววตาของผู้คนในชุมชนที่มองพวกเขาเปลี่ยนไปจากเดิม
แบงค์ บอกว่า โครงการนี้ทำให้เขาใจเย็นขึ้น จากคนดื้อรั้น ไม่ฟังใคร เข้าสังคมไม่ค่อยได้ ตอนนี้ไม่มีคนรังเกียจเขาแล้ว เพราะเราไม่ไปรบกวนใคร คนในชุมชนเองพูดคุยกับเขามากขึ้น
“ก่อนหน้านี้ไปไหนมีแต่คนด่า ตอนนี้เขาพูดกับเราดีมากๆ ถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ เช่น ถามเราว่าไปไหน ไปซื้ออะไร ขายอะไร พอมีคนมาคุยกับเรามากขึ้น เราก็รู้สึกดีและรู้สึกภูมิใจในตัวเอง”
ส่วนเดช บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นจากโครงการนี้คือการกล้าพูด กล้าแสดงออก กล้าถาม และพูดคุยชาวบ้านในชุมชนมากขึ้น รู้สึกมีความสุขที่ได้ขับรถส่งไข่ จากเดิมที่ใจร้อน แว้นรถเร็วมาก ก็เริ่มใจเย็นลงจากการแว้นส่งไข่ที่ต้องลดความเร็วลง ใช้สมาธิจดจ่อดูหลุมบ่อ ดูถนนหนทาง เพื่อไม่ให้ไข่ที่เขาฟูมฟักแตก นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้วิธีเลี้ยงไก่ รู้จักช่องทางการทำตลาด วิธีทำบัญชีรายรับรายจ่าย ที่สามารถนำมาใช้เป็นฐานในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต
ขณะที่ลิด บอกว่า เข้าใจความรู้สึกคนอื่นมากขึ้น เมื่อก่อนขับรถเร็วเสียงดัง ตอนนี้ก็ลดลงตามเกณฑ์ปกติมาตรฐานคนทั่วไป
เมื่อถามถึงอนาคตหลังจากนี้ แบงค์บอกว่า เมื่อเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 เขาอยากเรียนต่อระดับ ปวส. ส่วนลิดยังไม่ได้คิดในเรื่องนี้ ขณะที่เดชบอกว่าโตขึ้นอยากเป็นตำรวจ อยากใส่เครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราชให้พ่อกับแม่ภูมิใจ
เดช แบงค์ และลิด ยังบอกอีกว่า ไม่มีอะไรยากหากเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจ เพราะความรู้ไม่ได้มีแค่ในห้องเรียนเท่านั้น ทุกคนสามารถเรียนรู้ได้จากวิถีรอบตัวของเรา ขอเพียงแค่ตั้งใจและมุ่งมั่นทุกอย่างจะสำเร็จได้เอง
จากชีวิตที่ไร้แก่นสาร แว้นรถเสียงดังกวนบ้าน กวนเมือง คนในชุมชนไม่สนใจ ไม่เห็นคุณค่า วันนี้กลุ่มวัยรุ่นขาแว้นประจำหมู่บ้านคูซอดพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เด็กทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นคนดีได้ หากมีผู้ใหญ่ที่คอยประคับประคอง มองหา “โอกาส” และ “หนุนเสริม” การเรียนรู้อย่างถูกทิศถูกทางเหมือนพวกเขา
โครงการไก่ไข่เพื่อการเรียนรู้
พี่เลี้ยงโครงการ : โพนทอง คันศร
ทีมงาน :
- อัครเดช คันศร
- ภานุพงค์ วงษาเนาว์
- อดิศักดิ์ สาลี