การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3


สืบสานคุณค่าผ้าไหมโซดละเว

       ศรีสะเกษเมืองการค้าชายแดนที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์สูง ทั้งลาว กวย เยอ และเขมร แต่ปัจจุบันศิลปวัฒนธรรม ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อ และภูมิปัญญาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ทำหน้าที่เกาะเกี่ยวความสัมพันธ์ของคนในชุมชนเริ่มลดความสำคัญลง บางอย่างเริ่มสูญหาย เพราะขาดการเรียนรู้และสานต่อ จนผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัดหวั่นใจว่าอัตลักษณ์ดีๆ ที่อยู่คู่กับคนศรีสะเกษมายาวนานจะเลือนหายไป แต่สำหรับชาวกวยบ้านแต้พัฒนา อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ปัญหานี้ได้รับการคลี่คลายลง เพราะมีเยาวชนกลุ่มหนึ่งเห็นปัญหา ลุกขึ้นมาเก็บข้อมูลองค์ความรู้และสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมโซดละเวไว้เป็นสมบัติของชุมชน

      

 สืบสานคุณค่าผ้าไหมโซดละเว

       บ้านแต้พัฒนา หมู่ 11 ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นชุมชนชาวกวย(ส่วย) มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 50 หลังคาเรือน ชาวบ้านที่นี่มีอาชีพหลักคือ ทำนา อาชีพเสริมคือ การเลี้ยงไหม ทอผ้า มีวัฒนธรรมประเพณีการแต่งกายด้วยผ้าไหมลายหางกระรอก (ฉิโซดละเว) และมีการใช้ผ้าไหมในพิธีกรรมต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ หรือใช้ในพิธีกรรมทำขวัญข้าว ห่อพระคัมภีร์ในเทศกาลเทศน์มหาชาติ หญิงสาวชาวกวยทุกคนต้องทอผ้าเป็น และจะทอผ้าไหมโซดละเวเก็บสะสมไว้เป็นเครื่องนบ (ผ้าไหว้) ญาติผู้ใหญ่เมื่อแต่งงาน ยามเมื่อมีงานบุญประเพณีคนในชุมชนมักสวมใส่ผ้าไหมออกงาน

แต่วันนี้วัฒนธรรมการแต่งกายแบบโซดละเวเริ่มจางหายไป เยาวชนคนรุ่นใหม่หันไปแต่งตัวตามสมัยนิยม ไม่สนใจเรียนรู้สืบทอดอาชีพเลี้ยงไหม ทอผ้า ที่เป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชาวกวยอีกต่อไป หากไม่เร่งสานต่อ “ความรู้” ด้านการทอผ้าไหมอาจสูญหายไปจากชุมชน คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้กลุ่มเยาวชนกอนกวยโซดละเวมุ่งมั่นทำโครงการต่อเนื่องนานถึง 3 ปี เพื่อให้ผ้าไหมโซดละเวกลับมาอยู่คู่กับคนศรีสะเกษอีกครั้ง โดยมีครูแอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร เป็นที่ปรึกษาโครงการ มีเต๋า-อภิชาติ วันอุบล เป็นแกนนำหลักพาน้องๆ กว่า 30 คนเรียนรู้ จนสามารถเก็บรวบรวมองค์ความรู้เรื่องการทอผ้าไหมโซดละเวไว้ได้อย่างครบถ้วน


ปี 1: ฟื้นชีวิตผ้าไหมโซดละเว

       ปีแรกทีมงานทำโครงการดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใย(โซดละเว) ที่มีเป้าหมายคือสืบสานกระบวนการทอผ้าไหมโซดละเว และพัฒนาทักษะอาชีพให้แก่คนเด็กเยาวชน กระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นจากการสืบค้นความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และปัญญาการใช้ประโยชน์การทอผ้าไหมตั้งแต่ลายผ้า การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การย้อมสีธรรมชาติ การทอ วิธีการใช้ผ้าไหมในโอกาสต่างๆ ใช้วิธีไปสัมภาษณ์ผู้รู้ ชวนเด็กๆ ในชุมชนไปเรียนรู้พร้อมกัน เพื่อให้เยาวชนรักและเห็นคุณค่าผ้าไหมโซดละเว

       เมื่อได้ข้อมูลแล้ว ทีมงานจัดการแยกประเภทข้อมูลเป็นหมวดหมู่ เช่น ประวัติของผ้า ลายผ้า การทอผ้า การใช้ประโยชน์จากผ้าแต่ละประเภท รวมทั้งค่านิยมความเชื่อของคนกวยในอดีต ผลจากการสืบค้นข้อมูลพบว่า มีลายที่ต้องรีบอนุรักษ์อย่างเร่งด่วนคือ ลายมัดหมี่ที่เรียกว่า ลายงูเหลือม เพราะเริ่มหาคนทอเป็นยากแล้ว จึงเป็นโจทย์ให้ทีมทำงานต่อในปีที่ 2 ผ่านการทำโครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว


ปีที่ 2: เก็บ แกะ เกิด กระบวนการฟื้นผ้าไหมโซดละเว

       สำหรับกระบวนการ“เก็บ-แกะ-เกิด” เริ่มต้นด้วยการ “เก็บ” รวบรวมข้อมูลเรื่องราวของผืนผ้าจากการสอบถามจากผู้รู้ทั้งในและนอกชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาเรื่องของการใช้ผ้าในพิธีกรรมต่างๆ ในรอบปี ไปพร้อม ๆ กับการสอบถามเรื่องลายผ้าจากผู้รู้ โดยจัดทำเป็นปฏิทินการใช้ผ้า และจากข้อมูลที่ค้นพบ แสดงให้เห็นว่า มีการใช้ผ้าไหมโซดละเวในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้ประกอบเครื่องบูชาพระแม่โพสพในงานบุญข้าวเปลือก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ใช้ห่อใบลานและพิธีกรรมนางอ้อ ในงานบุญผะเหวด หรือพิธีกรรมนางอ้อในเดือนเมษายน ใช้เป็นสิ่งของนำไปเยี่ยมญาติช่วงสารทเดือนสิบ รวมทั้งการใช้เป็นองค์ประกอบในเครื่องกฐิน เป็นต้น นอกจากนั้น...กระบวนการศึกษาข้อมูลยังทำให้รู้ลึกลงไปอีกว่า ลายผ้าทอหลายผืน มักได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ลายที่มาจากงู เป็นต้น

       “แกะ” คือ กระบวนการแกะลายหลังจากทีมงานรวบรวมข้อมูลได้แล้ว วิธีการคือ ให้ชาวบ้านวาดให้ดู หรือเอาลายผ้าให้เขาดูว่าเป็นลายอะไรบ้าง จากนั้นทีมจะเอามาถอดแกะลายรวบรวมไว้

       “เกิด” คือความทุ่มเท ใส่ใจเรียนรู้ จนสามารถพัฒนาลวดลายของผ้าไหมให้งดงามยิ่งขึ้น 

2 ปีกับการเรียนรู้อย่างเอาจริงเอาจัง นอกจากทีมงานจะมีองค์ความรู้เรื่องผ้าไหมโซดละเวครบถ้วนแล้ว ทีมงานยังสามารถสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้าไหมจนมีทักษะอาชีพติดตัว เป็นผู้ประกอบการที่พึ่งพาตนเอง โดยไม่ต้องทิ้งถิ่น ผลจากการทำเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กอนกวยโซดละเว” ให้คนนอกชุมชนได้สั่งสินค้า และการออกบูธตามงานต่างๆ ทำให้คนนอกชุมชนเห็นคุณค่าความสวยงามของผ้าไหมโซดละเวได้อีกทางหนึ่ง ที่สำคัญกระบวนการทำงานยังร้อยใจคนในชุมชนให้เกิดสำนึกรักท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น


ปี 3: สร้างแบรนด์ “กอนกวย Sodlaway”

       หลังเรียนรู้เรื่องราวผ้าไหมโซดละเวครบทุกขั้นตอน ปีนี้ทีมงานจึงคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยการทำโครงการทอรักร่วมกัน Product สร้างสรรค์ แปรรูปผลิตภัณฑ์ กอนกวย Sodlaway พยายามมองหาเทรนด์ใหม่ๆ มาใช้ เพื่อเพิ่มคุณค่าและมูลค่าผ้าไหมโซดละเวให้สูงขึ้น พบว่าปัจจุบันเทรนด์ธรรมชาติกำลังมาแรง จึงคิดย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ เช่น อัญชัน ฝาง มะเกลือ ที่มีอยู่ตามท้องไร่ท้องนาแทน ซึ่งช่วยประหยัดต้นทุนจากการใช้สีเคมีลงได้ และคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมรูปแบบใหม่ๆ ให้โดนใจผู้บริโภคมากขึ้น

       เริ่มต้นจากการทำแบรนด์กอนกวย Sodlaway และแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นกระเป๋าใส่ดินสอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ เสื้อแฟชั่นที่ลูกค้าสามารถใช้ได้เลย เช่น เสื้อแบบกะเหรี่ยง เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าวัยรุ่นได้มากขึ้น โดยทีมงานเป็นคนออกแบบสินค้า ให้คนในชุมชนช่วยตัดเย็บ ทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ สำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้า 50 เปอร์เซ็นต์เก็บไว้ทำทุน 40 เปอร์เซ็นต์แบ่งเป็นกำไรให้ทีมงาน ที่เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์เก็บไว้เป็นกองทุนสาธารณะประโยชน์เพื่อชุมชน

       ปัจจุบันผ้าไหมภายใต้แบรนด์ “กอนกวย Sodlaway” จำหน่ายผ่านเพจเฟชบุ๊ก และการออกบูธในงานต่างๆ โดยผ้าทอผืนใหญ่ย้อมสีธรรมชาติยังครองใจกลุ่มลูกค้าเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนใหญ่นิยมนำไปใช้ประกอบพิธีกรรมหรือนำไปออกแบบตัดเย็บตามสไตล์ของตัวเอง

       3 ปีของทำโครงการ ที่เริ่มต้นจากเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของผ้าทอโซดละเว ประเพณีวัฒนธรรมการใช้ผ้าไหม การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม การย้อมผ้า การทอ ไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ้าไหมโซดละเวในรูปลักษณ์ที่คนสมัยใหม่จับต้องได้ง่าย นอกจากทีมงานจะได้ทักษะความรู้และประสบการณ์ต่างๆ การทำงานยังช่วยสานสัมพันธ์ของคน 3 ช่วงวัยคือ เด็ก ผู้ใหญ่ และคนเฒ่าคนแก่ให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญกระบวนการทำงานได้ช่วยคลายความกังวลของคนศรีสะเกษที่หวั่นเกรงว่า ศิลปวัฒนธรรม และภูมิปัญญาดีๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์จะเลือนหายไปนั้น วันนี้ได้มีเยาวชนชาวกวยกลุ่มหนึ่งรื้อฟื้นและสืบสานต่อให้ผ้าไหมโซดละเวกลับมามีชีวิตอีกครั้ง


โครงการทอรักร่วมกัน Product สร้างสรรค์แปรรูปผลิตภัณฑ์กอนกวย Sodlaway

พี่เลี้ยงชุมชน : สิบเอกวินัย โพธิสาร

ทีมงาน : 

  • อภิชาติ วันอุบล 
  • ฐิตานันท์ หงส์นภวิทย์
  • ศักดิ์ชัย โพธิสาร 
  • โชติมา งอนสวรรค์
  • ภูริลาภ วัจนา
  • พาฝัน โพธิ์กระสังข์
  • ดาริตา โพธิสาร 
  • บุรพา โพธิ์กระสังข์
  • อภิสิทธิ์ สีดา