การทำโครงการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องของกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค ที่มีการทำงานเป็นทีมและค้นคว้าหาความรู้มาปรับใช้เพื่อยกระดับการทำโครงการให้ดียิ่งขึ้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง (Authentic Learning) ทำให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ตรงจากการทำงานร่วมกับผู้อื่น มีประสบการณ์กับการจัดการความล้มเหลวหรือการเผชิญกับความยากลำบาก พัฒนาความพยายามในการฝึกฝนตนเองในการทำสิ่งที่ยากจนสำเร็จ จนทีมงานสามารถทำความเข้าใจในคุณค่าของสิ่งที่ทำได้อย่างลึกซึ้ง
เรียนรู้เข้าใจในสิ่งที่ทำ
จากการฟื้นฟูและเก็บข้อมูลองค์ความรู้เรื่องอุปกรณ์และวิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้วภูมิปัญญาของชาวกวยเมื่อ 2 ปีก่อน จนสร้างกระแสให้คนในชุมชนหันมานุ่งผ้าไหมลายลูกแก้วในงานบุญประเพณี ยังเกิดแหล่งเรียนรู้การทอผ้า มีความรู้และทักษะการทอผ้าไหมลายลูกแก้วซึ่งทีมงานนำความรู้และทักษะการทอผ้าขยายผลไปสู่เด็กเยาวชนในชุมชน และวันนี้สมาชิกกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาคอย่าง นุ่น-นิภาดา บุญท่วม พิมพ์-พิมพ์จันทร์ ชอบชื่น อุมา-อุบลวรรณ ศิลาชัย กระแต-อรอุมา นาคนวล และแก้ว-พลอยแก้ว แสงบุตร ยังคงมุ่งมั่นทำงานต่อเป็นปีที่ 3 เน้นไปที่การแปรรูผลิตภัณฑ์ผ้าไหมลายลูกแก้วให้ใช้งานได้กับคนทุกเพศวัย โดยมี พี่แล-สิดาวรรณ ไชยภา และ ทองวิไล อินตะนัย เป็นที่ปรึกษาโครงการ
จุดเริ่มต้นแนวคิดสานต่อโครงการ
การลงมือเรียนรู้อย่างจริงจังต่อเนื่องถึง 2 ปี ทำให้ทีมงานเห็นปัญหาว่า ผ้าไหมลายลูกแก้วขายยาก มีราคาแพง แบบไม่ตรงใจวัยรุ่น จึงอยากเปิดตลาดใหม่ๆ สำหรับการทำงานในปีนี้ ทีมงานเล็งเห็นปัญหาดังกล่าว จึงนำมาเป็นโจทย์ในการทำงานเพื่อนำไปสู่การทำตลาดเชิงรุก คือโครงการ spykids รุ่นใหม่ถักทอใจสู่ผลิตภัณฑ์ ที่ตั้งใจทำให้ผ้าทอของชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมากขึ้น
เพราะทำงานบนฐานข้อมูลมาโดยตลอด เมื่อเริ่มงานใหม่ ทีมงานจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลการตลาดเพื่อใช้วางแผนการทำงานต่อไป
“ป้าแลแนะนำให้ไปเก็บข้อมูลการตลาดของกลุ่มสตรีทอผ้าไหมที่บ้านตาเปียง ซึ่งเป็นศูนย์โอทอป 5 ดาว ข้อมูลเรื่องราคาผ้าไหม ส่งขายที่ไหน และกระบวนการทอผ้า สีย้อมธรรมชาติ และวิธีการมัดลาย" พิมพ์ เล่า
หากย้อนกลับไปสู่กระบวนการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค ตั้งแต่ปีแรกที่เริ่มโครงการ จะเห็นได้ว่ามีการต่อยอด เรียนรู้อย่างเป็นระบบ เริ่มจากการศึกษาความเป็นมา การฝึกทอ ตลอดจนเพิ่มความวิริยะอุตสาหะ ฝึกฝนในศาสตร์และศิลป์ที่สูงขึ้น เช่น เรียนรู้ “การแซวผ้า” ซึ่งเป็นกระบวนการเย็บปักหรือการถักด้วยเข็มให้เป็นลวดลายต่างๆ เพราะในอดีตไม่มีจักรเย็บผ้า คนสมัยก่อนจึงคิดค้นหาวิธีสร้างลวดลายการเย็บให้ผ้าสวยงามมีสีสันยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ลายที่นำไปแซวส่วนใหญ่ จะมีวิถีธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ลายขามด ลายตะขาบ ลายดอกไม้ เป็นต้น ซึ่งลายที่ง่ายที่สุด ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเป็นลายขามด เพราะมีรายละเอียดในการแซวที่ไม่ซับซ้อนมากนัก ส่วนลายที่ยากที่สุดคือลายตีนตะขาบ นั่นเอง แต่ทุกคนในทีมก็ไม่ย่อท้อที่จะเรียนรู้และฝึกฝนจนทำได้ในที่สุด
การทำโครงการเพื่อชุมชน อย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องของทีมงาน ที่มีการทำงานเป็นทีมและค้นคว้าหาความรู้มาปรับใช้เพื่อยกระดับการทำโครงการให้ดียิ่งขึ้น เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง (Authentic Learning) จนทำให้ทีมงานสามารถทำความเข้าใจในคุณค่าของสิ่งที่ทำได้อย่างลึกซึ้ง
ก็แค่คิดใหม่ทำใหม่
เมื่อกระบวนการทำงานเข้าที่เข้าทาง การเรียนรู้การตลาดเพื่อเสริมแนวคิดการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ที่เรียกว่า Social Enterprise(SE) หรือการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นกระจายรายได้สู่หน่วยผลิตในกลุ่มสังคม ซึ่งคล้ายๆ กับสิ่งที่ทีมทำอยู่ ทีมงานจึงนำแผน SE มารวมกับแผนโครงการเดิมแต่ปัญหาก็เกิดขึ้น เมื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ของทีมงานยังไม่โดนใจตลาด ส่อแววว่า การแปรรูปผ้าไหมยังอาจไม่คุ้มทุน ทีมงานจึงต้องกลับมาประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง ว่า การทำธุรกิจแบบ SE หากฝืนทำต่ออาจเจ๊งไม่เป็นท่า แม้จะยอมรับความล้มเหลวแต่ทีมงานต้องเผชิญหน้ากับความกดดันครั้งใหญ่ พี่แลจึงชวนทีมคุยเพื่อหาทางออก จนได้ข้อสรุปว่าจะต่อยอดงานเดิมคือ การทำเป็นแหล่งเรียนรู้ชุมชนให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเรียนรู้
บรรยากาศของการปฏิสัมพันธ์เชิงบวกและบรรยากาศของการทำงานเป็นทีมที่มีการหารือ โต้แย้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ดีที่สุดร่วมกัน โดยมีพี่เลี้ยงคอยเกื้อหนุนพลังเชิงบวก (Peer Instruction) ทำให้เด็กๆ รู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย เรียนรู้จุดที่ยังพลาด ปรับตัวยืดหยุ่นกับเป้าหมาย จนคิดแก้ปัญหาได้ในที่สุด
พิมพ์ อธิบายขยายความเรื่องการทำแหล่งเรียนรู้ชุมชนหรือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ว่า จะมีแพ็คเกจให้นักท่องเที่ยวเลือกทำกิจกรรมที่สนใจ อาทิ การทอผ้า การทำขนม การทำอาหารท้องถิ่น การทำไม้กวาด ฯลฯ จากนั้นจะมีไกด์เยาวชนพานักท่องเที่ยวไปเที่ยวชมยังจุดต่างๆ ที่เข้าร่วมเป็นภาคี ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย ซึ่งตอนนี้ยังเป็นแค่แนวคิด ต้องประสานขอความร่วมมือภาคีในชุมชนก่อน
ภาพฝันของแหล่งเรียนรู้ที่ทีมงานอยากเห็นคือ เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ของชุมชนที่นำไปสู่การสร้างรายได้ และสร้างโอกาสในการถ่ายทอดความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อสืบทอดภูมิปัญญา วัฒนธรรม ค่านิยม และเอกลักษณ์ของชุมชนบ้านขี้นาคให้คงอยู่ เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในชุมชนที่พึ่งพาตนเอง เป็นการดำเนินการโดยคนในชุมชนเพื่อชุมชนนั่นเอง
ทักษะชีวิตและกระบวนการคิดที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน
การทำงานเรื่องเดียวต่อเนื่อง 3 ปี สร้างการเปลี่ยนแปลงให้คนในชุมชนบ้านขี้นาคมากมาย โดยเฉพาะมุมมองของคนในชุมชนที่กลับมาให้คุณค่าความสำคัญของผ้าไหมลายลูกแก้ว รื้อฟื้นการสวมใส่ผ้าไหมในงานบุญประเพณีในเทศกาลต่างๆ มากขึ้น
อุมาบอกว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ โครงการนี้ทำให้คนสนใจผ้าไหมมากขึ้น ชาวบ้านที่ทอผ้าเป็นก็หันกลับมาทอผ้าใช้เอง เพราะซื้อตามท้องตลาดราคาจะแพงมากกว่า สังเกตได้จากเวลาที่ไปวัด ไปงานบุญต่างๆ ทั้งเด็กและก็ผู้ใหญ่จะนิยมใส่ผ้าไหมกันมากขึ้น
เช่นเดียวกับนุ่น บอกว่า ผ้าไหมเป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้าน ที่เราทำเรื่องนี้จึงเป็นการสืบทอดผ้าไหมลายลูกแก้วไม่ให้สูญหายไป และยังทำให้เธอมีเป้าหมายในการประกอบอาชีพในอนาคตและยังปรับมุมมองใหม่ในเรื่องที่ว่า “ความคิดของทุกคนไม่มีคำว่าถูกหรือผิด” หลังจากนุ่นเคยเจอประสบการณ์ใบ้เฉพาะกิจมาก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ จนไม่มีความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็น
“ก่อนที่จะมาทำโครงการ เคยมีครั้งหนึ่งตอนเรียนในห้องหนูแสดงความคิดเห็นออกไปแล้วไม่มีใครสนใจความคิดเห็นของหนูเลย หนูเลยเกิดปมในใจ ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอีกเลย เวลาเรียนหรือทำกิจกรรมก็จะเงียบอย่างเดียว แต่พอได้เข้ามาทำโครงการหนู พี่ๆ ในโครงการทำให้หนูรู้สึกว่า เขาสนใจในทุกคำตอบ สมมุติว่าพี่เขาถามแล้วไม่มีคนตอบ เขาก็จะขยายความในคำถามนั้นเพื่อให้เราเข้าใจมากขึ้น พี่ๆ จะคอยบอกเสมอว่าไม่ต้องกลัวว่าคำตอบจะผิดนะ เพราะความคิดเห็นของเราไม่มีผิดไม่มีถูก ทำให้หนูก้าวข้ามความกลัวที่อยู่ในใจ จนกล้าแสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก ทำให้หนูรู้สึกอินกับความเป็นเยาวชนพลเมือง ได้ค้นพบเป้าหมายชีวิตว่า อยากเรียนเกี่ยวกับพวกพัฒนาชุมชนหรือสังคมสงเคราะห์ค่ะ”
ดังนั้น สถานการณ์ที่โคชฝึกให้เด็กได้พูดนำเสนอในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ เปรียบเสมือนเป็นการบำบัดเด็กใบ้เฉพาะกิจไปในตัว เพราะการฝึกที่เน้นให้เด็กให้พูดในสถานการณ์ที่กดดันเล็กๆ น้อยๆ โดยมีโคชที่คอยขยายความในคำถามบางประเด็นที่เด็กบางคนอาจจะไม่เข้าใจ และคอยให้กำลังใจ ใส่ใจในทุกคำตอบของเด็ก ทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัย จนกล้าพูดคุยแสดงความคิดเห็น นำไปสู่การตระหนักในคุณค่าของตนเอง จึงมั่นใจที่จะพูดแสดงความคิดเห็นได้ดีขึ้น
ส่วนพิมพ์สะท้อนมุมมองส่วนตัว ว่า โครงการนี้มอบสิ่งดีๆ ให้กับคนที่เข้าร่วมกิจกรรม โดยเฉพาะตัวเธอ จากที่มีโลกส่วนตัวสูง อยู่กับโลกโซเชียลมากกว่าจะสนใจคนรอบข้าง เพราะเมื่อไปเข้าร่วมเวทีกลาง ที่โคชได้สร้างข้อตกลงร่วมกันถึงข้อห้ามการใช้โทรศัพท์ ที่ต้องมีความพอดี ใช้อย่างรับผิดชอบต่อตัวเองและเคารพผู้อื่น ส่งผลให้ความคิดของพิมพ์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
"เมื่อก่อนหนูค่อนข้างจะเป็นคนที่ติดโซเชียลไม่ค่อยสนใจใคร ไม่อยากจะคุยกับใคร แต่พอเข้ามาทำโครงการก็รู้สึกว่านิสัยแบบนั้นค่อยๆ หายไป เพราะมีเงื่อนไขมีกติกาในการใช้มือถือ เราต้องเคารพกติกาตรงนั้น อีกอย่างหนูกล้าพูดกล้าคุยกับผู้ใหญ่มากขึ้น ตอนปีหนึ่งรู้สึกว่ากล้าคิดกล้าแสดงออก ปีสองก็เริ่มมีกระบวนการทางความคิดเป็นขั้นเป็นตอน พอมาปีสามก็รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ ในเวทีกลางที่พี่ๆ ทุกคนช่วยกันเคี่ยวเข็ญเรา เขาไม่ได้สอนแค่ทักษะกระบวนการทำงานเท่านั้น แต่เป็นการหนุนเสริมให้เรากล้าคิด กล้าพูด กล้าทำมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้เราสามารถนำมาใช้กับชีวิตจริงได้ค่ะ"
ด้านแก้ว บอกว่า ทำโครงการปีแรกรู้สึกมีความสุข ได้เรียนรู้มากมาย ฝึกให้เป็นคนมีความอดทน และตรงต่อเวลา ที่สามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตได้ โดยแก้วมองว่า กระบวนการแซวเสื้อเหมือนกับการทำโครงการที่ต้องใช้ความจดจ่อ การมีสมาธิ และความตั้งใจเป็นอย่างมากเพื่อให้เสื้อตัวนั้นออกมาสวยและมีคุณค่ามากขึ้น
ส่วนกระแต บอกว่า ตอนแรกที่เข้าร่วมโครงการยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง รู้สึกกังวลว่าจะทำไม่ได้ แต่พอได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงๆ ในชุมชนกลับรู้สึกอยากเรียนรู้ต่อไปเรื่อยๆ รู้สึกสนุก ไม่กังวลเหมือนตอนแรก เวลาไปเวทีกลางก็ได้พบกับเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ทำให้มีความความสุขในการทำโครงการมากขึ้น
การมีกรอบกติกาให้ปฏิบัติ จึงเป็นการฝึกฝนทั้งวินัยและพฤติกรรมมี่เหมาะสมในการเข้าสังคม การสร้างโอกาสของการเรียนรู้ที่ผ่อนคลายและมีความสุข จึงเป็นวิถีทางติดตั้งเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ และทำให้ความรู้จากการลงมือทำ ที่เด็กๆ ได้สัมผัสจริงเป็นความรู้และทักษะที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต
ผู้ใหญ่ต้องไม่เอาความคิดตัวเองไปใส่เด็ก
เช่นเดียวกับพี่แล ที่สะท้อนภาพการทำงานกับกลุ่มเยาวชนฯ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการฯ เหมือนต่างคนต่างมา วันนี้พูดได้เลยว่าทั้งเราและเยาวชนต่างก็เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านกระบวนการต่างๆ ที่เคี่ยวกรำทั้งทักษะและแนวคิด ก่อให้เกิดมุมมองใหม่ในการทำงานกับเด็กและเยาวชนมากขึ้น
" ปีแรกที่เข้าร่วมโครงการก็เป็นแบบต่างคนต่างมา เด็กก็ไม่รู้เรื่องอะไรเท่าไหร่ ไม่กล้าคิด ไม่กล้าแสดงออก เวลาคิดอะไรก็จะนานมาก กว่าจะได้คำตอบแต่ละอย่าง ซึ่งตอนแรกพี่แลก็จะเป็นคนใจร้อน บ่นว่าให้เขาช่วยกันคิด เหมือนไปเร่งเด็ก เด็กก็ไม่ค่อยอยากทำ จนได้เห็นกระบวนการที่โคชนำมาใช้กับเด็กก็เข้าใจมากขึ้น โดยเฉพาะกระบวนการคิดที่ทำให้เรารู้ว่าเราไม่ควรเอาความคิดของเราไปใส่ให้กับเด็ก แต่ต้องให้เด็กได้เรียนรู้เอง อีกอย่างการเป็นที่ปรึกษาทำให้เราเข้าใจคำว่า หลายหัวดีกว่าหัวเดียว ไม่มีใครมีความคิดที่ดีคนเดียวได้ ต้องมีความคิดของคนอื่นๆ ในทีมเข้ามาช่วยหนุนเสริม และถ้าเรารับฟังความคิดเห็นของคนอื่น จะทำให้เราเห็นแนวทางหรือมีความคิดอะไรดีๆ ที่กลับมาสอนเราได้ เหมือนกับเราได้เรียนรู้ไปด้วยกันกับเด็ก"
ความต่อเนื่องของการทำโครงการตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาของเยาวชนบ้านขี้นาค มีทั้งความสำเร็จที่ชื่นใจและความล้มเหลวที่ให้ได้เรียนรู้ เปรียบเสมือนกับการทำงานของ “กี่ทอผ้า” ที่มีการขัดและประสานกันระหว่าง “ด้ายเส้นพุ่งและด้ายเส้นยืน” จนแน่นหนากลายเป็นผ้าไหมลายลูกแก้วผืนใหญ่ที่มีความงดงาม คงทน เช่นเดียวกับความเป็นพลเมืองคุณภาพที่วันนี้ก่อเกิดขึ้นแล้วในหัวใจของเยาวชนบ้านขี้นาคนั่นเอง
โครงการ spykids รุ่นใหม่ถักทอใจสู่ผลิตภัณฑ์
ที่ปรึกษาโครงการ :
- สิดาวรรณ ไชยภา
- ทองวิไล อินตะนัย
ทีมงาน :
- นิภาดา บุญท่วม
- พิมพ์จันทร์ ชอบชื่น
- อุบลวรรณ ศิลาชัย
- อรอุมา นาคนวล
- พลอยแก้ว แสงบุตร