วัยรุ่นคือวัยแห่งโอกาส เนื่องจากสมองของวัยรุ่นจะมีความไม่สมดุลระหว่างสมองส่วนกล้าเสี่ยง (ระบบลิมบิก) กับสมองส่วนรอบคอบ (เปลือกสมองส่วนหน้า) หรือเรียกว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่อยู่ “ระหว่างสร้าง” ทำให้สมองของวัยรุ่นมีความยืดหยุ่น กล้าลองผิด ลองถูก กล้าก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย (Comfort zone) ไปสู่พื้นที่แห่งการเรียนรู้ (Learning zone) ที่จะช่วยสร้างประสบการณ์ให้เขาพร้อมไปสู่การเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้วัยรุ่นได้เรียนรู้อย่างเหมาะสมคือ การที่ผู้ใหญ่เปิด “โอกาส” และเปิด “พื้นที่” ให้วัยรุ่นได้ลงมือทำจริงผ่านงานสร้างสรรค์ ดังเช่นเรื่องราวของเอ็ม-กิตติศักดิ์ นรดี เยาวชนจากบ้านแสนแก้ว ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ
เพาะต้นกล้าพันธุ์ดีด้วย “โอกาส”
“วิกฤติคือโอกาส” คำพูดที่บอกเล่าเรื่องราวของเอ็มได้เป็นอย่างดี
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว เอ็มต้องยุติการเรียน เพราะฐานะทางครอบครัวไม่เอื้ออำนวย กระทั่งได้รู้จักโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ เอ็มและทีมงาน ประกอบด้วย บีม-พรรนิดา โสพันธ์ เอิร์น-จิรภิญญา นาคนวล แป้ง-ณัฐิดา แสงมาศ อ้อม-ศศิกานต์ นาคนวล ดาว-วิไลวรรณ วิเศษชาติ แพน-นันทกา พันธมาศ เทม-พสุธร นาคนวล จึงลงมือทำ โครงการเด็กแสนร่วมใจ สร้างรายได้ เสริมชีวิต เพื่อพัฒนาอาชีพให้เพื่อนๆ ในชุมชนที่เป็นเด็กนอกระบบให้มีรายได้เลี้ยงชีพ และไม่เลือกเดินทางผิด
ผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการเลี้ยงปลาดุกในปีแรกสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนในชุมชนมองเห็นโอกาสในการประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเอง ขณะเดียวกันก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เอ็มไม่น้อย โดยเฉพาะการ “เห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” เพราะมองว่าตัวเองคือกำลังของคนรุ่นใหม่ในบ้านเกิด ไม่ว่าชุมชนมีกิจกรรมอะไรก็อยากเข้าไปมีส่วนร่วม และอยากร่วมแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน
การทำโครงการจึงเป็นโอกาสแรกให้เอ็มได้ออกจากพื้นที่ที่คุ้นชินสู่โลกของการทำงานร่วมกับคนอื่น ขณะที่การได้ทำงานจากโจทย์ชุมชนก็เป็นพื้นที่ให้เขาลองลงมือทำโครงการสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์
ความท้าทายจากปัญหา
หลังโครงการปีแรกจบลง เอ็มและเพื่อนยังเลี้ยงปลาดุกต่อไป แต่ปลาถูกขโมยไปเกือบหมดบ่อ ทุกคนเสียใจและรู้สึกท้อ คิดสับสนว่าจะทำโครงการต่อดีหรือไม่
“ตอนปลาหาย ผมรู้สึกท้อมาก อุตส่าห์ตั้งใจเลี้ยงมาอย่างดี กลับหายวับไปในคืนเดียว ตอนแรกคิดว่าคงไม่ทำโครงการต่อแล้ว อีกอย่างน้องๆ ในทีมก็เหนื่อย เพราะเขาเรียนชั้นสูงขึ้น งานที่โรงเรียนก็เยอะ” เอ็ม บอกเล่าความรู้สึก
แต่พอเห็นความเดือดร้อนของคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากลุ่มเยาวชนที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ไม่มีงานทำ ทำให้เอ็มมีแรงฮึดที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว โน้มน้าวน้องๆ ในทีมให้กลับมาช่วยกันทำงาน เริ่มต้นจากการชวนคุยให้เห็นว่า ที่ปลาหายเป็นเพราะทีมงานเองที่ไม่รอบคอบ นำปลาไปเลี้ยงไว้ไกลชุมชน น่าจะลองทำโครงการต่ออีกปี เพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้
ในที่สุดทีมงานตัดสินใจจะทำต่อกับโครงการสร้างอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ ของกลุ่มเยาวชนบ้านแสนแก้ว และได้ชวน แบม-เพ็ญพิชชา โกมลกิจเกษตร น้องในชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทำงาน โดยทีมงานคิดจะต่อยอดความรู้เรื่องการเลี้ยงปลาดุกมาสู่การเพาะพันธุ์ปลาดุก เพราะคิดว่าหากเลี้ยงเป็นและเพาะพันธุ์ได้จะสร้างเป็นอาชีพได้อย่างแท้จริง
พวกเขาเริ่มต้นแก้ปัญหาปลาหายด้วยการเปลี่ยนสถานที่เลี้ยงมาเป็นบ่อน้ำหน้าบ้านพี่เลี้ยง จากนั้นไปเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลาจากผู้รู้ แล้วเชิญผู้รู้ไปให้ความรู้แก่คนในหมู่บ้าน หมู่บ้านข้างเคียง และเพื่อนๆ กลุ่มอื่นในโซนปรางค์กู่-ขุขันธ์ จากนั้นจึงลงมือเพาะพันธุ์ปลา
สำหรับกระบวนการทำงานภายในทีม เอ็มบอกว่า พวกเขาจะประชุมกันตั้งแต่ช่วงแรกของการทำโครงการเลยว่าใครอยากทำหน้าที่ไหน และให้ทำหน้าที่เดิมต่อเนื่องในทุกกิจกรรม เพราะคิดว่านี่เป็น “โอกาส” ที่แต่ละคนจะได้พัฒนาตัวเองในสิ่งที่ชอบจนเกิดความ “ชำนาญ”
ทว่าระหว่างที่กิจกรรมต่างๆ กำลังดำเนินไป เอ็มก็พบปัญหาที่ทำให้การทำงานต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อน้องๆ ภายในทีม “ถอดใจ” เนื่องจากต้องแบกรับภาระทั้งการทำโครงการ การเรียน และงานบ้าน ส่วนเอ็มก็เจอปัญหาที่ครอบครัวไม่อยากให้มาทำโครงการด้วยความเป็นห่วง เพราะปีนี้เอ็มกลับเข้ามาเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี แต่ปัญหาทั้งสองก็ถูกคลี่คลายลงจากการตั้งวงพูดคุยอย่างตรงไปตรงมา
“ตอนเกิดปัญหา ผมชวนน้องๆ ในทีมมาพูดคุยทบทวนเป้าหมายการทำงาน ตั้งคำถามชวนน้องๆ คิดว่า ที่เราชวนกันมาทำกิจกรรมก็เพื่อพัฒนาชุมชนของเรา เราทำโครงการมาเกินครึ่งทางแล้ว จะทิ้งไปหรือ พอผมตั้งคำถามกลับไป น้องๆ ก็กลับมาทำงานต่อ ส่วนพ่อกับแม่ผมยืนยันกับเขาว่า ผมทำได้ ทำไหว และผมจะพยายามแบ่งเวลาให้ดีทั้งการเรียนและการทำงาน ผมจะไม่เลิกทำ เพราะโครงการทำให้ผมคิดการพัฒนาของตนเอง และเห็นว่าตนเองสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่พัฒนาชุมชนให้ดีขึ้นได้”
การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง (Learning by Doing) ในโครงการเยาวชนพลเมืองดีฯ จากปีแรกสู่ปีที่ 2 ได้ช่วยพัฒนากระบวนการคิดของเอ็มให้มีความยืดหยุ่น สามารถคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาของทีม รู้จักพูดคุยโน้มน้าวใจเพื่อนร่วมทีมจนกลับมาร่วมแรงร่วมใจทำโครงการต่อ รู้จักพูดคุยกับพ่อแม่เพื่อทำความเข้าใจถึงเป้าหมายของตัวเอง และที่สำคัญคือมีมุมมองที่กว้างไกล เห็นเป้าหมายระยะยาวและมีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะไปให้ถึงเป้าหมายนั้น
สิ่งดีๆ ที่สร้างตัวตน
ผลที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการของทีมงานได้สร้างความเปลี่ยนต่อส่วนรวมอย่างเห็นได้ชัดคือ เวลาจัดกิจกรรมผู้นำชุมชนหรือคนในชุมชนยินดีเข้าร่วมเต็มที่ แสดงให้เห็นว่าผู้ใหญ่เห็นความสำคัญและพร้อมส่งเสริมกิจกรรมของเยาวชน ส่วนเยาวชนในชุมชนก็เต็มใจเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนมากขึ้น เห็นได้จากเวลามีกิจกรรมอาสาทำความสะอาดชุมชน เด็กเยาวชนจะเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก
นอกจากเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นภายในชุมชนแล้ว ทีมงานแต่ละคนต่างค้นพบความงามที่เกิดขึ้นในตัวเองอย่างอ้อมที่เมื่อก่อนอยู่แต่บ้าน ไม่ค่อยร่วมกิจกรรมของส่วนรวม แต่พอได้มาทำโครงการทำให้เธอรู้จักชุมชนตัวเองมากขึ้น ได้พบปะพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนมากขึ้น ทำให้ได้รับความเอ็นดู เวลามีอะไรปัญหาหรือต้องการคำปรึกษาก็สามารถขอความช่วยเหลือได้ไม่เคอะเขิน และผู้ใหญ่ก็เต็มใจช่วย
ด้านบีมที่เคยขี้อาย ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงออก แต่เงื่อนไขของโครงการที่ต้องพูด นำเสนอ อยู่บ่อยๆ ทำให้อ้อมมีโอกาส “พัฒนาตัวเอง” จนกล้าแสดงออกมากขึ้น
“ตอนที่ต้องออกไปนำเสนอโครงการ เพื่อนคนอื่นก็ไม่กล้าพูด เราก็ต้องออกไปพูด พอกล้าพูดมากขึ้นก็ได้รับโอกาสใหม่ๆ เข้ามาในชีวิต เช่น การได้เป็นพิธีกรในกิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน และกล้าแสดงความคิดเห็นอย่างโรงเรียนจัดอบรม พอวิทยากรตั้งคำถาม ไม่มีใครตอบเลย แต่เรากลับกล้ายกมือตอบ ทำให้รู้สึกภูมิใจ ครูก็ชมว่าเรากล้าพูดขึ้น”
ยิ่งให้ ยิ่งได้
การได้รับโอกาสลงมือทำโครงการ ได้พลิกบทบาทของเอ็มสู่การเป็นผู้ “ให้” มาตลอด 2 ปี ทั้งให้โอกาสเพื่อนร่วมทีมได้เรียนรู้สิ่งที่ชอบทำผ่านการทำงาน และจุดประกายเยาวชนคนอื่นในชุมชนให้เห็นช่องทางสร้างรายได้จากการเลี้ยงปลาดุก ส่งผลสะท้อนให้เอ็ม “ค้นพบ” ความถนัดของตัวเองเรื่องการทำสื่อ ที่เพื่อนร่วมทีมไม่ถนัด แล้วเอ็มรับไว้ เพราะชอบการถ่ายภาพและตัดต่อวิดีโอเป็นทุนเดิม เมื่อมีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมจากเวทีอบรมสื่อ ทั้งเทคนิคการถ่ายภาพที่สวยงาม การแต่งภาพ การออกแบบโปสเตอร์ต่างๆ จนเชี่ยวชาญ เอ็มจึงได้รับโอกาสให้ทำป้ายงานมหกรรมหนังกลางแปลง “พลังเยาวชนพลเมืองรุ่นใหม่ทำดีเพื่อแผ่นดินเกิด ที่สร้างความภูมิใจให้เอ็มไม่น้อย ขณะเดียวกันการทำโครงการอย่างต่อเนื่อง 2 ปี ก็ได้สร้าง “ภูมิคุ้มกัน” แก่ชีวิตของเอ็มด้วยเช่นกัน
“เวลาเจอปัญหาชีวิต เราสามารถนำสิ่งที่เคยทำในกิจกรรมมาปรับใช้ได้ มีความรอบคอบมากขึ้น คิดถึงเหตุผลก่อนจะลงมือทำมากขึ้น รู้จักบริหารจัดการเวลาว่าจะทำอะไรก่อนหลัง มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่ทั้งการเรียน และการทำโครงการ”
หลังกิจกรรมในโครงการเสร็จสิ้นลง เยาวชนในชุมชนเริ่มหันมาสนใจการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาดุกมากขึ้น ขณะที่ทีมงานก็มีความรู้เรื่องการเพาะพันธุ์ปลาอย่างที่ตั้งใจ ได้ปลาไปจำหน่ายให้แก่ชาวบ้านในหมู่บ้าน และเริ่มมีรายได้ก้อนเล็กๆ ที่เก็บเข้าเป็นกองทุนของเยาวชนประจำหมู่บ้าน
ทว่าสิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ การพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดยั้งของพวกเขา โดยเฉพาะเอ็มที่ค่อยๆ เรียนรู้กับโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาท้าทาย แล้วพยายามหาทางออก ปรับตัว กระทั่งสามารถพัฒนาวุฒิภาวะตัวเอง จนเปลี่ยนแปลงทั้งทักษะ นิสัย ตลอดจนสำนึกภายใน จนหวังได้ว่าเขาจะกลายเป็นกำลังสำคัญของชุมชนและสังคมต่อไป
โครงการเด็กแสนร่วมใจ สร้างรายได้ เสริมชีวิต
ที่ปรึกษาโครงการ :
- สุทธิชัย ทวีชาติ
- ประพันธ์ นาคนวล
ทีมงาน :
- พรรนิดา โสพันธ์
- จิรภิญญา นาคนวล
- ณัฐิดา แสงมาศ
- ศศิกานต์ นาคนวล
- วิไลวรรณ วิเศษชาติ
- นันทกา พันธมาศ
- พสุธร นาคนวล
- เพ็ญพิชชา โกมลกิจเกษตร