สอนได้คือ ดี (ต่อตัวเอง)
“ยิ่งสอนยิ่งได้ความรู้” อยากรู้ว่าคำพูดนี้จริงหรือไม่ หาคำตอบได้กลุ่มเยาวชนบ้านโพธิ์กระสังข์ที่เรียนรู้เรื่องพิธีกรรมสะเนงสะเอง พิธีสำคัญของชาวกวย ทั้งรู้ข้อมูลประวัติความเป็นมา ค้นหาผู้รู้หรือปราชญ์ในชุมชน และเอาตัวไปฝึกฝนเรียนรู้ดนตรีสะเองจนเชี่ยวชาญ สามารถขึ้นแสดงในงาน มีรายได้เสริมเลี้ยงตัว พวกเขามีแรงบันดาลใจอยากส่งต่อความรู้และความรักในดนตรีสะเองไปสู่น้องในโรงเรียน ผ่านชมรมดนตรี และขยายผลไปสู่การทำกิจกรรมในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จนทำให้ทีมงานมีทักษะการสื่อสารมากขึ้น จากที่พูดไม่เป็น สอนไม่ได้ ก็เรียนรู้หาทางแก้ไข ใช้วิธีสอนตัวต่อตัวแบบพาทำ จนน้องเล่นดนตรีได้และความชำนาญในการเล่นดนตรีของพี่ๆ ก็ยังเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สอนได้คือ ดี (ต่อตัวเอง)
การเรียนโดยวิธีเสพหรือถ่ายทอดความรู้ได้ผลน้อย คือเด็กจะมีอัตราการเรียนรู้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่การสอนคนอื่นหรือลงมือทำ จะทำให้เกิดการเรียนรู้สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ทฤษฎีนี้จริงหรือไม่ เรื่องนี้มีคำตอบ...
พิธีสะเนงสะเองเป็นการรักษาโรคผ่านเสียงดนตรี ยามใดที่คนในชุมชนเกิดการเจ็บป่วย ที่แพทย์แผนปัจจุบันรักษาไม่หาย ชาวกวยจะกลับมาพึ่งพาความเชื่อดั้งเดิม ค้นหาสาเหตุการเจ็บป่วยผ่านล่ามหรือคนทรงโดยผู้ป่วยและครอบครัวจะผูกด้ายสายสิญจน์ไว้ที่คอขวดแก้วเพื่อบนบานบรรพบุรุษ เมื่อหายจากอาการเจ็บป่วย ผู้ป่วยและครอบครัวจะจัดพิธีกรรมสะเนงสะเองเพื่อแก้บน แต่ปัจจุบันในชุมชนมีผู้รู้ด้านพิธีกรรมสะเนงสะเองเหลืออยู่เพียง 4 คน หากไม่มีคนสานต่อพิธีกรรมที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชาวกวยคงจะเลือนหายไป
หากวันนี้พิธีกรรมสะเนงสะเองได้รับการสานต่อจากฝีมือของนักเรียนโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ ที่นำความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากผู้รู้ไปถ่ายทอดให้น้องๆ ในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ที่ในอนาคตขยายผลไปสู่หลักสูตรท้องถิ่น จึงมั่นใจได้ว่าอนาคตของพิธีกรรมสะเนงสะเองจะไม่เลือนหายไปอย่างแน่นอน
เรียนรู้และสืบทอดสะเนงสะเองกวย
ผลจากการทำโครงการสืบสานสะเนงสะเองกวยปีที่แล้วของ ทัด-ธนากร แก้วลอย ฟลุ๊ค-วสิษฐ์พล โพธิ์กระสังข์ แม็ค-ฐิติวัฒน์ โพธิสาร เว็น-สมัต เรืองคำ แกนนำเยาวชนบ้านโพธิ์กระสังข์ที่ไปสืบค้นข้อมูลในชุมชน จนรู้ว่า ผู้สืบทอดพิธีกรรมสะเนงสะเองที่เป็นคนรุ่นปู่ย่าตายายเริ่มล้มหายตายจากไปทีละคน โดยปัจจุบันมีปราชญ์ผู้รู้เพียง 4 คนที่มีความรู้เรื่องนี้ได้แก่ คุณตาพรมมา โพธิ์กระสังข์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านการเป่าปี่แม่มด คุณยายกัณหา จันทะสน แม่ครูสะเองและแม่ครูรำ คุณตาทิพย์ ทองละมุล ผู้รู้ด้านเครื่องดนตรีและการบรรเลงดนตรีประเภทตี และ อดิเรก โพธิสาร ผู้รู้ด้านการประกอบพิธีกรรม ทำให้ทีมงานเกิดแรงบันดาลใจคิดสืบสานพิธีกรรมนี้ไว้ จึงรวบรวมเรียบเรียงข้อมูลด้านพิธีกรรม ความเชื่อของพิธีกรรมสะเนงสะเองไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และลงมือเรียนรู้ฝึกฝนดนตรีสะเองจากผู้รู้โดยตรง ซึ่งบางคนมีฝีไม้ลายมือดีถึงขั้นร่วมพิธีสะเนงสะเองได้ เช่น ฟลุ๊คที่สามารถจดจำท่ารำรวมทั้งกระบวนการและขั้นตอนพิธีกรรมสะเองได้ ส่วนแม็คก็สามารถเป่าปี่แม่มด ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ยากเพราะต้องใช้พลังและลมมาก จนกระทั่งตาพรมมายกให้เป็นศิษย์เอก
การมุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝนของทีมงาน นอกจากจะทำให้เรียนรู้เรื่องสะเนงสะเองแล้ว ยังทำให้ทีมงานมีรายได้เสริมจากการเล่นดนตรีในพิธีสะเนงสะเองอีกด้วย
“คุณตาพรมมาชวนพวกเราไปช่วยเล่นดนตรี บางครั้งก็เล่นในบางช่วงของพิธีกรรม บางครั้งก็ไปแสดงดนตรีตามงานที่เขาเชิญมา รายได้จากการเล่นดนตรีส่วนหนึ่งจะนำเข้ากองกลางไว้ช่วยในชุมชน เช่น งานศพ หรือใช้เป็นค่าเดินทางตอนไปแสดง” ทัด เล่า
การลงมือสืบค้นข้อมูลและการฝึกซ้อมดนตรีสะเองอย่างจริงจัง จนเกิดความรักและเห็นคุณค่าของพิธีกรรมนี้ ทีมงานจึงอยากให้เด็กๆ บ้านโพธิ์กระสังข์ได้รู้จักดนตรีสะเองที่เป็นรากเหง้าของชาวกวย ใช้โอกาสช่วงฝึกซ้อมดนตรีที่บ้านฟลุ๊คที่มีเด็กๆ เข้ามาดู ถ่ายทอดความรู้ด้านดนตรีให้เด็กเหล่านั้น
จากพิธีกรรมสู่กิจกรรมลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้
ภาพพี่สอนน้องๆ เล่นดนตรี จุดประกายให้ครูแอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร ครูโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ และที่ปรึกษาโครงการเห็นโอกาสในการสืบสานพิธีกรรมสะเนงสะเองไปสู่เด็กรุ่นใหม่ จึงชวนทีมทำโครงการสะเองสืบสานจัดกระบวนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้สู่รุ่นน้องนอกห้องเรียน เพื่อให้เด็กในโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์เรียนรู้และตระหนักถึงคุณค่าความสำคัญของดนตรีพื้นบ้าน
“ผมอยากเห็นการทำให้พิธีกรรมนี้มีการสืบสานต่อไปยังคนรุ่นต่อไปอย่างเป็นรูปธรรม ปีที่แล้วเด็กๆ เก็บข้อมูล ภาพ และเสียงไว้ใช้บอกเล่าแก่คนรุ่นต่อไปไว้หมดแล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดคือเรื่องของ “จิตวิญญาณ” ที่ต้องกระตุ้นให้เด็กเกิดความสนใจใคร่รู้ก่อน เห็นว่ามีเด็กๆ ให้ความสนใจกับสิ่งที่พี่ๆ ฝึกซ้อมกัน จึงคิดใช้เสียงดนตรีเป็นสื่อนำเด็กๆ ในโรงเรียนหันมาสนใจประเพณีวัฒนธรรรมชาวกวย” ครูแอ๊ด เล่าเบื้องหลังความคิด
ครูแอ๊ดจึงเข้าไปพูดคุยกับพิชัย จุลวรรณโณ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ ขอจัดตั้งชมรมดนตรีในโรงเรียนใช้เวลาหลังเลิกเรียนสอนดนตรีน้องๆ
แม็ค บอกว่า อยากสอนน้องให้รู้จักดนตรีที่ใช้ในพิธีสะเนงสะเอง เหมือนที่คุณตาพรมมาสอนพวกเรา
ฟลุ๊ค เสริมว่า ภูมิใจ ที่ได้สอนน้องๆ อยากเห็นน้องๆ เล่นเป็นกันเยอะๆ
เสี่ยงปี่ เสียงโทน ที่ดังก้องไปทั่วโรงเรียน จุดความสงสัยใคร่รู้ในใจผู้อำนวยการโรงเรียนเดินตามเสียงดนตรีเข้าไปดู จึงได้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจฝึกซ้อมของเด็กๆ และคิดว่าเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ น่าจะนำมาใช้สอนในโรงเรียน เทอม 1 ปีการศึกษา 2560 ครูแอ๊ดจึงนำดนตรีสะเองมาสอนเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในช่วงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ โดยมีทีมงานเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้
การเปลี่ยนจากผู้รับความรู้มาเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารให้แม็ค ฟลุ๊ค และเว็น เป็นอย่างมาก จากที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าสอน เมื่อได้ฝึกสอนบ่อยๆ การสอนก็เริ่มคล่องขึ้น แถมการเล่นดนตรีก็ยิ่งชำนาญมากขึ้นด้วย
แม็ค ที่รับอาสาสอนการตีโทน บอกว่า ช่วงแรกๆ ยังอายอยู่ ไม่กล้าพูด ก็ใช้วิธีเล่นให้น้องดู แต่รู้สึกว่าไม่ค่อยได้ผล เลยปรับมาสอนแบบตัวต่อตัวทีละคน ทำให้ดูบ้าง จับมือน้องตีบ้าง แล้วปล่อยให้น้องทดลองตีเอง วิธีนี้นอกจากทำให้เด็กเป็นเร็วขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสนิทกับน้องๆ มากขึ้น มีอะไรก็คุยกัน ถามกันได้
ฟลุ๊ค บอกว่า การสอนทำให้เขาสามารถพูดคุยกับน้องรู้เรื่องมากขึ้น
ครูแอ๊ด เสริมว่า กิจกรรมนี้นอกจากจะทำให้พี่ๆ ที่ทำโครงการได้พัฒนาตัวเองแล้ว น้องๆ ที่เข้าร่วมเรียนรู้ดนตรีสะเองยังได้รับการพัฒนาไปด้วย
“ตอนนี้นอกจากเด็ก ป.5 แล้ว ยังมีเด็ก ป.4 ป.6 และ ม.1 มาร่วมเรียนรู้ด้วยหลายคน ซึ่งเป็นเรื่องดีมากๆ เพราะเด็ก ป.4 - ป.6 เป็นช่วงอายุที่ความจำดี หากตีได้ก็จะไม่ลืม อีกทั้งกิจกรรมนี้ยังช่วยปรับพฤติกรรมของเด็กวัยนี้ได้ด้วย มีเพื่อนครูหลายคนบอกว่าเด็กที่มาเรียนดนตรีกับเราจะตั้งใจเรียนมากขึ้น ความรับผิดชอบตัวเองได้ดีขึ้น บางคนที่เคยโดดเรียน ก็เปลี่ยนเป็นเข้าเรียนทุกคาบ”
เพราะแรงบันดาลใจที่ต้องการสืบทอดพิธีกรรมสะเนงสะเองกวยให้คงอยู่คู่ชุมชนบ้านโพธิ์กระสังข์ต่อไป ทีมงานจึงพยายามสอนน้องๆ เรียนรู้ดนตรีสะเอง แรกเริ่มที่สอนไม่เป็น ก็คิดหาวิธีใหม่ ใช้การสอนแบบตัวต่อตัว ทั้งเล่นให้ดี จับมือเล่น ปล่อยให้น้องเล่นเองโดยมีพี่ๆ คอยดูอยู่ข้างๆ จนน้องเล่นเป็น ส่วนพี่เองก็ยิ่งเกิดความชำนาญมากขึ้น ผลของการมีใจจดจ่ออยู่กับเครื่องดนตรี สิ่งที่ได้ตามมาคือ สมาธิ และความรับผิดชอบในการฝึกซ้อม ที่ส่งผลให้น้องเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขาดเรียนน้อยลง หันมาสนใจเรียนมากขึ้น จนผลการเรียนดีขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้รากเหง้าของตนเอง และช่วยสืบทอดพิธีกรรมสะเนงสะเองไม่ให้เลือนหายไปจากชุมชน
โครงการสะเองสืบสานจัดกระบวนการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ สู่รุ่นน้องนอกห้องเรียน
ที่ปรึกษาโครงการ : สิบเอกวินัย โพธิสาร
ทีมงาน :
- ชนิกานต์ วันนุบล
- ธนากร แก้วลอย
- ธิติวุฒิ เรืองดี
- วสิษฐ์พล โพธิ์กระสังข์
- ฐิติวัฒน์ โพธิสาร
- สมัต เรื่องคำ
- กิตติกร โพธิ์กระสังข์
- ชนิดา โพธิสาร
- ศิริรัตน์ โพธิสาร
- ศรวิทย์ โพธิสาร
- ณัฐภูมิ วรรณทอง