การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้าน จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

การบ่มเพาะให้เด็กเยาวชนในชุมชนเป็นคนเก่ง คนดี ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ โดยใช้ศักยภาพและความสามารถที่มีอยู่เข้ามาหนุนเสริมการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชน ดังเช่นพระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดระกา อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่ใช้บทบาทผู้นำศาสนา เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงเข้ามาเรียนรู้การละเล่นกันตรึมพื้นบ้านจนเชี่ยวชาญ เป็นการสร้าง “พื้นที่ปลอดภัย” ให้เด็กได้ทำในสิ่งที่รักและไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข

“เก่ง+กล้า” สร้างได้ถ้าใจพร้อม

เพราะอยากเก่ง อยากกล้าแสดงออก กล้าพูดหน้าเสาธงเหมือนรุ่นพี่ในโรงเรียน รวมทั้งอยากสานต่อวงกันตรึม ทำให้เป๊ก-ปรัชญา ราษี หนุ่มน้อยจากบ้านระกา อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ มุ่งมั่นทำโครงการต่อจากปีที่แล้ว

หลังจากจบโครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านปีที่แล้ว รุ่นพี่ในทีมต่างแยกย้ายไปเรียนต่อที่อื่น เพื่อนๆ และน้องๆ คนอื่นในทีมก็ไม่สนใจสานต่อ เป๊กเองก็รู้สึกเคว้งคว้างเช่นกัน พร้อมตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเลิกหรือลุยต่อดี แต่ด้วยแรงหนุนเสริมจาก พระครูปริยัติสีลาภรณ์ เจ้าอาวาส วัดระกา ที่สนับสนุนกลุ่มเยาวชนทำโครงการนี้มาตั้งแต่ปีแรก บวกกับแรงผลักดันในใจที่อยากเก่งเหมือนพี่เยาวชนบ้านขี้นาค อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ เป๊กจึงตัดสินใจทำ โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านสานความรู้สู่มือน้อง ที่มีเป้าหมายเพื่อให้เยาวชนบ้านระกาเรียนรู้และอนุรักษ์กันตรึมมิให้สูญหายไป

พระครูปริยัติสีลาภรณ์ บอกว่า เห็นความสามารถเรื่องการตีระนาดและความพยายามในการฝึกซ้อมของเป๊ก จึงอยากให้เป๊กขึ้นมาเป็นผู้นำสานต่อโครงการจากรุ่นพี่

“หลายปีมาแล้วที่อาตมาเปิดพื้นที่ในวัดให้เด็กมาเรียนรู้ ทั้งเรื่องการอบรมคุณธรรมจริยธรรม จัดค่ายแม้กระทั่งจัดระบบอินเทอร์เน็ตให้เด็กไว้ใช้ทำงาน เพราะคิดว่าให้เขาอยู่สายตาดีกว่าปล่อยให้เขาไปมั่วสุมอยู่ภายนอก โดยเฉพาะเป๊กที่อาศัยอยู่กับยาย มีความเสี่ยงที่จะเดินผิดทางสูงมาก อาตมาเห็นว่าเขาเป็นคนที่เข้ากันได้กับทุกคน เห็นความมุ่งมั่นอยากเรียนรู้เรื่องดนตรีกันตรึม เลยเรียกเข้ามาถามความสมัครใจ เห็นเขาอยากทำ เลยสนับสนุนเต็มที่”

แม้เป็นสมณเพศ พระครูปริยัติสีลาภรณ์ก็พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กเยาวชนในชุมชนไม่ตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง เห็นเด็กคนไหนมีแววก็ส่งเสริมสนับสนุนเต็มที่ จนวัดกลายเป็นศูนย์รวมเด็กเยาวชนบ้านระกา

ยิ่งให้...ยิ่งได้

กระบวนการเรียนรู้ของเป๊กเริ่มต้นขึ้นด้วยการรับสมัครเด็กและเยาวชนจำนวน 55 คน จัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้เรื่องกันตรึมให้น้อง 5 วัน เฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. ใช้วัดระกาเป็นสถานที่ฝึกสอน มีพี่นาง-วราภรณ์ แหวนวงษ์ ที่ปรึกษาโครงการ ช่วยทำหนังสือไปยังโรงเรียนในละแวกชุมชนวัดระกา เชิญชวนน้องๆ เข้าร่วมกิจกรรม กระบวนการเรียนรู้แบ่งออกเป็น 4 ฐาน หลักๆ ได้แก่ ฐานนางรำ ฐานซอ ฐานกลอง และฐานฉิ่งฉาบ ฐานนางรำมีเพื่อนๆ จากชมรมเด็กรักษ์ถิ่นจากวัดศรีปรางค์กู่เข้ามาช่วย ส่วนแกนนำเยาวชนบ้านระกาจำนวน 7 คน จะประจำฐานซอ ฐานกลอง และฐานฉิ่งฉาบ โดยแบ่งหน้าที่กันไปตามความถนัดของแกนนำแต่ละคน ส่วนน้องๆ ก็ให้เลือกเรียนตามความสนใจ หากเรียนแล้วอยากเกินไป ก็สามารถเปลี่ยนได้

สำหรับเครื่องดนตรีที่ใช้ในการละเล่นกันตรึม ประกอบด้วย ซอ กลอง ปี่อ้อ ฉิ่ง ฉาบเล็ก และกรับ ส่วนนางรำจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่ทำให้การแสดงกันตรึมสนุกสนานและสวยงามยิ่งขึ้น กันตรึมนิยมเล่นในโอกาสต่างๆ ทั้งงานมงคลและอวมงคล หรือใช้เล่นในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อพื้นบ้าน ซึ่งระหว่างที่ถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ ทีมงานจะสอดแทรกเกร็ดความรู้เหล่านี้ไปด้วย

แม้จะมีความรู้ความชำนาญอยู่บ้างจากการเล่นกันตรึมกับผู้ใหญ่เพื่อหารายได้เสริม แต่เมื่อต้องทำหน้าที่แกนนำถ่ายทอดความรู้ให้น้องๆ ในชุมชน ก็มีปัญหาท้าทายให้เป๊กต้องแก้ไข

เป๊ก เล่าว่า น้องๆ เป็นเด็กเล็กระดับชั้นประถมศึกษา สมาธิเขายังไม่นิ่ง จึงให้น้องๆ นั่งสมาธิก่อนสอนทุกครั้ง เพื่อให้น้องมีสติ เพราะการเล่นกันตรึมจะประสบความสำเร็จได้ผู้เรียนต้องมีสมาธิจดจ่อ

“ระหว่างสอนพี่เลี้ยงประจำฐานต้องคอยจับสังเกตว่า น้องจับจังหวะการตบมือได้หรือไม่ เพราะการเล่นดนตรีสิ่งสำคัญคือ การจับจังหวะ ถ้าน้องจับจังหวะไม่ได้ ก็ไม่สามารถเล่นประสานจังหวะกับเครื่องดนตรีอื่นได้ ต้องแยกน้องออกมาฝึกเรื่องการจับจังหวะเป็นพิเศษ โดยดนตรีที่ใช้จับจังหวะคือ ฉิ่ง ถ้าตีฉิ่งไม่เป็นจะไปเล่นซอหรือเครื่องดนตรีอื่นๆ ไม่ได้เลย หรือถ้าตบจังหวะมือไม่ได้ ก็จะย่ำเท้าตอนรำไม่ได้เช่นกัน” เป๊ก เล่าขั้นตอนการให้ความรู้น้อง

สอดคล้องกับคำสอนของพระครูปริยัติสีลาภรณ์ ที่บอกว่า ดนตรีจะช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้เยาวชนสามารถเข้าถึงธรรมะถึง 5 ข้อ ได้แก่ 1.ขันติ คือเยาวชนต้องอดทนในการฝึกซ้อม 2.วิริยะ เยาวชนต้องมีความขยันหมั่นเพียร 3.สมาธิ คือเยาวชนต้องมีความนิ่งสงบก่อนการเล่นดนตรี 4.สติ คือเยาวชนต้องมีใจไม่วอกแวก และ 5.สามัคคีธรรม กล่าวคือเยาวชนต้องมีความสามัคคีในการบรรเลงเพลงทั้งวง ไม่ว่าจะเป็นกลอง ซอ ปี่ ขลุ่ย ฉิ่ง กรับและนางรำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เยาวชนสามารถเรียนรู้ได้จากการเล่นดนตรีนั่นเอง

เมื่อมีความมุมานะฝึกซ้อมกันตรึมจนเชี่ยวชาญแล้วส่งต่อความรู้สู่น้องๆ ในชุมชน เป็นการดึงความรู้ออกมาใช้งาน ซึ่งจะช่วยให้เกิดความจำระยะยาว (working memory) ได้ดีกว่าการทบทวนด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันการสังเกตพฤติกรรมของน้องๆ ทำให้เป๊กสามารถเติมเต็มการเรียนรู้ให้น้องๆได้อย่างถูกจุด ทำให้น้องๆ ค่อยๆซึมซับและจดจำจังหวะดนตรี มีสมาธิในการเรียนรู้มากขึ้น

มุ่งมั่นจริงจังสู่ความสำเร็จ

จากปีที่แล้วเป็นผู้ตาม ปีนี้เป๊กต้องลุกขึ้นมาเป็นผู้นำทีมและผู้ถ่ายทอดความรู้ด้วยตนเอง ฝันที่อยากเป็นคนเก่ง คนกล้าจึงเป็นจริง

“ถามว่าได้อะไรจากการทำโครงการนี้ ผมได้ทักษะการกล้าพูด กล้าแสดงออก ทักษะในการทำงานเป็นทีม การแบ่งหน้าที่ตามความถนัดของแต่ละคน ทักษะในการเป็นผู้นำ เช่น ถ้าเราอยากให้เขาช่วยเราก็ต้องชี้แจงรายละเอียดการทำงาน ถ้าเราเข้าใจในเนื้องานคนเดียว งานก็จะไม่เดิน วันนี้รู้สึกดีใจมาก จากตอนแรกๆ ที่ผมชวนเพื่อนมาทำงานด้วย เพื่อนไม่สนับสนุนเลย แต่ทุกวันนี้มีคนเข้ามาช่วยกันทำโครงการให้สำเร็จ” เป็ก เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองและภาพความสำเร็จของโครงการ

พี่นางที่ให้คอยคำปรึกษาช่วยประสานงานในสิ่งที่เกินกำลังของทีมงาน บอกว่า เป็กเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น จากเดิมที่เป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่กล้าแสดงออก วันนี้ทักษะจากการทำโครงการหล่อหลอมให้เป็กมีภาวะความเป็นผู้นำชัดเจนมาก โดยเฉพาะการลุกขึ้นมานำเพื่อนๆ ให้กลับมาทำโครงการอีกครั้ง ในฐานะที่ปรึกษาโครงการพี่นางบอกว่า เธอต้องคอยประคับประคองทีมให้ก้าวข้ามความไม่กล้าของตัวเอง

“เขาเคยบอกว่า ผมกลัวว่าจะทำไม่ได้ เราต้องให้ความเชื่อมั่นกับเขา พูดกับเขาว่า แม่เชื่อว่าเป็กทำได้ เป็กต้องลองดู เป็กต้องกล้าสิ มีโอกาสเข้ามาแล้วนะ โชคดีที่เขาเป็นคนกระตือรือร้น และมีความรับผิดชอบ เวลาทำอะไรก็จะทำเต็มที่และทำให้เสร็จ เวลาจัดค่ายหรือมีกิจกรรมเขาจะมาเป็นคนแรกเลย มีความรับผิดชอบมาก ยิ่งทำโครงการนี้ทำให้เขาได้ฝึกทักษะเพิ่มขึ้นไปอีก”

จากจุดเริ่มต้นที่อยากเก่ง อยากกล้าแสดงออกเหมือนรุ่นพี่ และอยากเรียนรู้เรื่องดนตรีที่เขารัก การได้รับโอกาสให้เรียนรู้ ทำให้เป็กมีความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อเส้นทางที่เลือกเดิน ทั้งการทำโครงการเพื่อฝึกทักษะด้านการพูด การคิด การแสดงออก และการหมั่นฝึกซ้อนดนตรีอย่างต่อเนื่อง เพื่อฝึกปรือฝีมือไว้ใช้เป็นอาชีพเสริม

“โอกาสที่ผมได้รับจากโครงการนี้ทำให้ผมกล้าคิด กล้าทำ กล้าพูด และได้รู้จักกระบวนการทำงานมากขึ้น จากที่เล่นดนตรีไม่เป็นเลยก็เล่นได้ แม้จะเล่นเป็นแล้วก็ต้องฝึกฝนบ่อยๆ ถามว่าผมเก่งไหม ผมก็ไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่ง แต่ผมอยากพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะเล่นเป็นทุกอย่าง”

การเปิดพื้นที่เปิดโอกาสของพระครูปริยัติสีลาภรณ์ในครั้งนั้น หนุนเสริมพลังเชิงบวกให้เป๊กได้ทำในสิ่งที่ชอบแล้ว ยังทำให้เป็กมีพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก ที่นำไปสู่การพัฒนาทักษะอาชีพและทักษะชีวิตให้เป๊กใช้ดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต


โครงการอนุรักษ์สืบสานการละเล่นกันตรึมพื้นบ้านสานความรู้สู่มือน้อง

ที่ปรึกษาโครงการ : วราภรณ์ แหวนวงศ์

ทีมงาน :

  • ปรัชญา ราศี
  • เกษศิริ ศรัทธาธรรม
  • สมจิตร สีสัน
  • วาสนา อ่อนสุข
  • กชกร ขบวนรัมย์