การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านการทําผลิตภัณฑ์จากเศษผ้า จังหวัดศรีสะเกษ ปี 3

บทเรียนของ Scaffolding

โครงการเศษผ้าสาบสืนสาน เล่าขานตำนานบ้านดู่

กระบวนการสร้างการเรียนรู้ให้เด็กมีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น คือ “Scaffolding” ที่ส่งเสริมให้เด็กให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ลองทำเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ เมื่อเด็กเริ่มทำสำเร็จ จึงค่อยๆ ลดการช่วยเหลือลง ส่วนเด็กจะค่อยๆ เพิ่มความสามารถในการปฏิบัติงานด้วยตัวเอง เปรียบเสมือน “นั่งร้าน” ซึ่งเป็นโครงสร้างภายนอกที่ช่วยประคับประครองให้ตึกสร้างเสร็จ เมื่อสร้างตึกจนมั่นคงแข็งแรงดีแล้ว ก็สามารถรื้อนั่งร้านออกไปได้


บทเรียนของ Scaffolding

การสร้างการเรียนรู้ให้เด็กมีหลายวิธี แต่วิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือการส่งเสริมให้เด็กให้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ลองทำเอง โดยมีผู้ใหญ่คอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ และต้องทำซ้ำๆ เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง ดังเช่น ซัน-อภิชญา เทาศิริ เยาวชนตำบลบ้านดู่ อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ที่มีโอกาสทำโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษต่อเนื่องถึง 3 ปี จากการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสของครูวรรณ-จิราวรรณ เทาศิริ ผู้เป็นแม่ จนสามารถพัฒนาตัวเองจากน้องเล็กที่คอยทำตามพี่ สู่การเป็นผู้นำที่พาทีมทำโครงการตามแผน และถึงเป้าหมายในที่สุด

ซันเข้าร่วมโครงการเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ตั้งแต่อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จากการชักชวนของครูวรรณ เทาศิริ ที่เป็นทั้งแม่และพี่เลี้ยงให้เข้าร่วม โครงการ Eng Easy พี่สอนน้อง โดยทำร่วมกับพี่ๆ ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ในการสร้างแรงบันดาลใจให้น้องมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนภาษาอังกฤษ ผลของโครงการทำให้น้องๆ มีความรู้ด้านภาษาอังกฤษดีขึ้น และมีความสุขกับการเรียน ขณะที่ซันและทีมงานคนอื่นๆ ได้เรียนรู้การทำงานที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือชุมชนสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่

ปีต่อมา ซันลุกขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีม ชักชวนเพื่อนๆ ในชุมชนทำโครงการชวนน้องอ่าน สานความรู้สู่มือน้อง โดยเข้าไปสอนน้องๆ ชั้นประถมศึกษาโรงเรียนบ้านดู่ให้อ่านออกเขียนได้ ผ่านการเล่นเกมและเล่านิทาน จนน้องมีทักษะการฟัง พูด อ่าน เขียนดีขึ้น กล้าแสดงออก กระตือรือร้นในการเรียนรู้ ขณะที่ซันเองก็รู้สึกว่าตัวเองมีความรับผิดชอบมากขึ้น

ปีนี้ซันตัดสินใจทำโครงการต่อเป็นปีที่ 3 ภายใต้โครงการเศษผ้าสืบสาน เล่าขานตำนานบ้านดู่ ที่ชักชวนน้องๆ ชั้นประถมศึกษาในโรงเรียนบ้านดู่ที่เคยทำกิจกรรมด้วยกันในปีที่แล้ว มาร่วมเรียนรู้เรื่องวัฒนธรรมการทอผ้าไหม ควบคู่กับการแปลงเศษผ้าไหมเป็นของที่ระลึก เพราะเห็นว่าในชุมชนมีปัญหาจากเศษผ้าไหมเหลือทิ้งจากการตัดเย็บ ซึ่งครั้งนี้ซันรับหน้าที่ผู้นำทีมอย่างเต็มตัว โดยมีน้องๆ ร่วมทีม ได้แก่ อิ๋ว-สวรรยา วงษ์วิเศษ มุก-เดือนเพ็ญ ทองวิจิตร นุ๊ก-รมย์นลิน ภายอุ้ม เยาว์-เยาวภา ยาคํา กิ๊บ-สุทิน แสงน้อย เแซนด์-ณัฐณิชา เทาศิริ นิว-รัตนาภรณ์ บุญฤทธิ์ และดิว-ไววิทย์ คงดี


เรียนรู้จากการลงมือทำ (Learning by doing)

ก่อนลงมือทำกิจกรรม ทีมงานได้ทำจดหมายขออนุญาตโรงเรียนพาน้องๆ เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ผู้อำนวยการรับทราบ และช่วยอำนวยความสะดวก หรือให้คำแนะนำ จากนั้นทีมงานลงพื้นที่สำรวจเศษผ้าไหมในชุมชน เพื่อสำรวจปริมาณเศษผ้าไหม และวิเคราะห์เบื้องต้นว่าจะนำเศษผ้าเหล่านั้นมาทำอะไรได้บ้าง พบว่า ภายในชุมชนมีเศษผ้าจำนวนมากถูกทิ้งอย่างไร้ค่า

จากนั้นจึงชักชวนน้องๆ กลุ่มเป้าหมายประมาณ 30 คน ลงพื้นที่สำรวจหมู่บ้าน พูดคุยกับช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ซึ่งให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ขณะที่น้องๆ ก็สนุกสนานกับเรียนรู้ชุมชน หลังได้ข้อมูลเรื่องเศษผ้าที่ชัดเจน ทีมงานจึงไปเรียนรู้การทำดอกไม้ประดิษฐ์ และชุดตุ๊กตาจากเศษผ้ากับปราชญ์ชาวบ้านจนเชี่ยวชาญพร้อมถ่ายทอดให้น้องๆ ในชุมชน โดยก่อนทำกิจกรรมทีมงานเลือกชวนน้องๆ กลุ่มเป้าหมายคิดร่วมกันว่า สามารถนำเศษผ้าไหมไปทำอะไรได้บ้าง แล้ววาดออกมาเป็นภาพ

“เราเห็นบทเรียนจากปีก่อนที่มาถึงก็บอกให้เขาทำ รู้สึกว่าเด็กอาจจะไม่ค่อยสนุก ปีนี้เราจึงปรึกษากับครูตี๋-รังสันต์ แสงดี ซึ่งได้รับคำแนะนำว่า ลองให้น้องใช้ความคิดของเขาก่อนว่าจะนำเศษผ้าไหมไปทำอะไร ซึ่งพบว่ากระตุ้นให้น้องสนใจเรียนรู้ และรู้ได้เองว่าเศษผ้าไหมก็มีประโยชน์ โดยที่เราไม่ต้องไปบอกเขาเลย” ซัน ให้เหตุผล

หลังชวนคิดเสร็จแล้ว ทีมงานกับน้องๆ กลุ่มเป้าหมายก็ลงมือทำดอกไม้ทันที โดยอธิบายวิธีทำเพียงรอบเดียว แล้วให้พี่ๆ เข้าไปนั่งแทรกกับน้องๆ เพื่อช่วยอธิบายเพิ่มเติมระหว่างทำ จนเกิดเป็นภาพความสัมพันธ์ของน้องพี่ต่างรุ่น ส่วนไหนที่น้องยังทำไม่เสร็จก็นำไปทำต่อในคาบลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยมีครูตี๋คอยดูแล

แต่ภาพความสัมพันธ์ที่สวยงามก็หายไป เมื่อการสอนผ่านไป 2 ครั้ง ทีมงานค่อยๆ “หายตัวไป” จากการทิ้งช่วงการทำงานที่นานเกินไป และไม่มีคนประสานงาน ครูวรรณจึงแนะนำทีมงานให้ลองพูดคุยกัน

“เรามานั่งเปิดใจคุยกันถึงข้อดีและข้อเสียของแต่ละคนให้เพื่อนรู้ว่าเราเป็นคนอย่างไร ให้เราย้อนมองดูตัวเองแล้วแก้ไข พร้อมบอกว่าเวลาใครทำนิสัยไม่ดีก็ให้ช่วยตักเตือนกัน” ซัน เล่า

หลังความคลุมเครือถูกคลี่คลาย ทีมงานปรับแผนการทำงานใหม่ นัดประชุมกันให้มากขึ้นเกือบ 10 ครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อบอกเล่าความคืบหน้าของงาน หรือทบทวนสิ่งที่ทำมา เพื่อเตรียมตัวเข้าร่วมกระบวนการในเวทีกลาง จะได้รู้ว่าข้อมูลที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ หากไม่พอควรเก็บความรู้ส่วนไหนเพิ่ม เพื่อนร่วมทีมจะได้รับรู้ข้อมูลเท่ากัน

สิ่งที่ครูวรรณทำเป็นอีกบทบาทหนึ่งของการเป็นโคชที่ต้องคอยประเมินสถานการณ์การทำงานและความสัมพันธ์ของทีม แล้วหาทางจัดการสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการให้คำแนะนำ แล้วปล่อยให้เด็กๆ ช่วยกันคลี่คลาย จนสามารถก้าวผ่านจุดติดขัดและกลับมาทำงานร่วมกันได้อีกครั้ง

­

บทเรียนจำลอง

การทำงานกว่า 3 ปีของซันทำให้เธอได้บทเรียนที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี ซันยอมรับว่าปีแรกเธอทำอะไรไม่เป็นเลย ตอนนั้นโลกของเธอมีเพียงบ้านกับห้องเรียน เป้าหมายชีวิตที่เธอรู้คือการเรียนให้ได้เกรด 4 แต่เมื่อได้มาเข้าร่วมโครงการกับพี่ๆ เธอจึงต้องปรับตัวให้สนิทกับพี่ๆ ส่วนงานที่รับผิดชอบเป็นหลักคือ การนำสันทนาการที่ได้รับมอบหมาย ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ทำตามที่พี่บอกเท่านั้น

ปีที่ 2 ตอนแรกซันตั้งใจจะไม่ทำ เพราะรู้สึกว่าทำไปก็ไม่รู้เรื่อง และอาจทำออกมาได้ไม่ดี แต่พอเห็นน้องๆ ที่เข้ามารับโครงการต่อมีใจอยากทำ ไม่รู้จะทำอย่างไร ซันจึงเปลี่ยนใจ เธอบอกว่าเหมือนมองเห็นตัวเองตอนปี 1 ในตัวน้องๆ เหล่านี้ เมื่อได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าทีม ซันเลยทุ่มเทเต็มที่ แต่เมื่อย้อนมองดูตัวเองในตอนนั้น เธอก็เห็นว่าความทุ่มเทที่มากเกินไปอาจกลายเป็นดาบสองคม

“ตอนปีที่ 2 เรามุ่งมั่นมากว่าต้องทำให้ได้ เพราะอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเคยทำมาแล้ว เลยลองทำเต็มที่ จนเข้าใจทุกอย่าง สนุกกับการทำโครงการ และรู้สึกรักโครงการมาก แต่การทุ่มเทมากเกิน บางครั้งทำให้เรากลายเป็นคนใจแคบ ไม่ฟังใคร ยึดแต่ความคิดตัวเอง เพราะคิดว่าเราทำได้ดีกว่าเขา”

ปีที่ 3 นี้ ซันตกลงรับทำโครงการเพราะอยากช่วยน้องๆ ที่อยากทำต่อ ทั้งที่ไม่ได้รู้สึกลึกซึ้งกับประเด็นเรื่องผ้าไหมนัก แต่การได้ลงไปเรียนรู้ชุมชนและพูดคุยกับปราชญ์ชาวบ้าน ทำให้เธอค่อยๆ ตระหนักถึงคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น และเริ่มรักการทำโครงการ ซันบอกว่าปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุดในการทำงานของเธอ เพราะได้ทีมงานที่มีความตั้งใจ พร้อมรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งทำให้เธอต้อง “ปรับเปลี่ยน” ตัวเองครั้งใหญ่ ด้วยการ “เปิดใจ”

“ปีที่ 3 นี้เราไม่ได้แบกงานไว้ที่ตัวเองคนเดียวแล้ว เพราะน้องแต่ละคนอยากทำ จึงต้องเฉลี่ยงานกันไป งานเราก็เบาขึ้น แต่เราก็ต้องรับฟัง และยอมรับคนอื่นให้มากขึ้น พยายามเปิดใจให้น้อง จึงเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายตัวเองในปีนี้”

แต่ละก้าวย่างของซันจึงเปรียบเสมือน “บันทึกการเดินทาง” เล่มใหญ่ ที่เริ่มต้นด้วยวันธรรมดาของตัวละคร ออกเดินทางไปพานพบอุปสรรค อดทนฝ่าฟัน จนพาตัวเองไปสู่ตอนจบที่สวยงาม เธอสรุปให้ฟังว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปีมีทั้งหมด 6 สิ่ง คือ 1.การได้รู้จักชุมชนตัวเองอย่างลึกซึ้ง แบบที่ไม่มีในตำราเรียน แต่ต้องลงพื้นที่พูดคุยสัมผัสด้วยตัวเอง 2.การได้เรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ จากเวทีเวิร์คช็อป เช่น การทำอินโฟกราฟิก การตัดต่อวิดีโอ 3.การวางแผนในการทำงาน 4.การจำลองสังคมที่ต้องทำงานร่วมกับคนหลายวัย 5.การปรับตัวในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และ 6.การได้ทบทวนและมองเห็นตัวเอง

นอกจากซันที่ได้เรียนรู้แล้ว ผลจากความตั้งใจจริงในการลงแรงร่วมกันแล้ว ยังทำให้ทีมงานคนอื่นๆ ได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหลายอย่างเช่นกัน ส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า มีความกล้าแสดงออกมากขึ้น และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

นุ๊ก เล่าว่า โครงการนี้ทำให้เธอเจอเพื่อนที่พร้อมรับฟังทุกปัญหาของเธอ และคอยปลอบใจให้เธอรู้สึกดีขึ้นเสมอ

ด้าน อิ๋ว บอกว่า เธอได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ รู้สิ่งที่ไม่เคยรู้มาก่อน เช่น เรื่องราวเกี่ยวกับชุมชน กระบวนการการทำงานของโครงการ และได้เจอเพื่อนใหม่ๆ จากต่างพื้นที่

ส่วน มุก และ นิว บอกคล้ายกันว่า เดิมพวกเธอเป็นคนขี้อายมาก ไม่กล้าทัก ไม่กล้าคุย แต่หลังจากมาทำโครงการนี้ ทำให้พวกเธอรู้จักเข้าหาและกล้าพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น

ขณะที่แซน บอกว่าการได้เข้าร่วมโครงการทำให้เธอมองโลกได้กว้างขึ้น ได้รู้ว่าผู้คนในสังคมมีหลากหลาย ต่างจากในโรงเรียนที่เธอถูกจัดอยู่ในห้องเด็กเรียนดี ที่มีการแข่งขันในการเรียนค่อนข้างสูง

การเปลี่ยนแปลงมุมมองของเด็กผู้หญิงคนหนึ่งต่อการใช้ชีวิตที่กว้างและไกลกว่าห้องสี่เหลี่ยมอันคุ้นเคย จากการหนุนเสริมของผู้เป็นแม่และโคช อาจทำให้เธอพบกับความเครียดระดับหนึ่ง ซึ่งไม่มากจนกลายเป็นความลำบาก แต่กลับช่วยเพิ่มความท้าทายให้เธอทำกิจกรรมที่ซับซ้อนได้ดีขึ้น และค่อยๆ พัฒนาตัวเองจากการผู้ตามสู่การเป็นผู้นำในที่สุด


โคชเหนือโคช

นอกจากทำหน้าที่เป็น Scaffolding ให้แก่ลูกสาวและเด็กๆ แล้ว ครูวรรณยังชวนครูตี๋มาเป็นพี่เลี้ยงชุมชนร่วมกันในปีที่ 3 เพราะมองว่าอยากถ่ายทอดประสบการณ์และเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้ผู้ใหญ่คนอื่น ขึ้นมาช่วยกันสร้างเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งความโดดเด่นของครูตี๋ที่ทำให้ครูวรรณเลือกชวนคือ เป็น “คนรุ่นใหม่” ในศตวรรษที่ 21 ที่ทำงานอยู่ในบ้านเกิด “มีใจ” อยากพัฒนาเด็กและชุมชน และพร้อม “เปิดใจ” เรียนรู้

ครูวรรณเริ่มต้นด้วยการเล่ากระบวนการทำงานในฐานะโคชให้ครูตี๋ฟัง จากนั้นปล่อยให้ครูตี๋ลงมือทำเอง โดยครูวรรณจะคอยพูดคุยถอดบทเรียนการเรียนรู้เป็นระยะ ถึงแม้จะเพิ่งเรียนรู้เป็นปีแรก แต่ครูวรรณบอกว่า ครูตี๋สามารถแบ่งเบาภาระได้มากทั้งการให้คำปรึกษา และช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเด็ก นอกจากนั้นครูตี๋ยังคิดจะนำบทเรียนจากการเป็นพี่เลี้ยงชุมชนไปปรับใช้ห้องเรียนอีกด้วย

“เราอยากจะปรับการเรียนการสอน เปิดโอกาสให้นักเรียนแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่อยากเรียน และให้กำลังใจว่าเขาทำได้ เพราะจะทำให้เด็กๆ เกิดทักษะชีวิต กล้าคิด กล้าแสดงออก ไม่ใช่เก่งวิชาการเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งนี้จะพัฒนาความคิดของเด็ก และติดตัวต่อไปเมื่อเขาโตขึ้น สามารถออกไปอยู่กับสังคมได้ดี เมื่อเจอบทเรียนใหม่ๆ ก็จะสามารถนำมาปรับเพื่อพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นได้” ครูตี๋เล่าแนวคิดที่ต้องการปรับเปลี่ยน

กระบวนการสร้างการเรียนรู้ที่ทำให้เกิดทักษะและความเปลี่ยนแปลงอาจมีหลายวิธี แต่การสร้างการเรียนรู้ด้วยการเปิดพื้นที่ เปิดโอกาส โดยมีโคชที่เป็น Scaffolding ผ่านการทำโครงการเพื่อชุมชนถิ่นเกิด (Project based learning) ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่ว่าเด็กอย่างซัน หรือผู้ใหญ่อย่างครูตี๋กล้าลงมือทำ ลองผิด ลองถูก จนสามารถพัฒนาศักยภาพของตัวเองให้เพิ่มขึ้น และเชื่อว่าวันหนึ่งพวกเขาเหล่านี้จะพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงให้แก่ชุมชนของตนโครงการเศษผ้าสืบสาน เล่าขานตำนานบ้านดู่


พี่เลี้ยงชุมชน

  • ครูจิราวรรณ เทาศิริ
  • ครูรังสันต์ แสงดี

ทีมงาน

  • อภิชญา เทาศิริ
  • สวรรยา วงษ์วิเศษ
  • เดือนเพ็ญ ทองวิจิตรรมย์
  • นลิน ภายอุ้ม
  • เยาวภา ยาคํา
  • รัตนาภรณ์ บุญฤทธิ์
  • สุทิน แสงน้อย
  • ณัฐณิชา เทาศิริ
  • ไววิทย์ คงดี