โครงการเด็กสานไผ่เพื่อสานสัมพันธ์ของคนในชุมชนบ้านซำ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
สมาชิกกลุ่มเด็กสานไผ่
1. นางสาวกนกวรรณ งอนสวรรค์ (นุ๊กกี้) อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
2. นางสาวศานต์ฤทัย มงสนธิ์ (ปุ๊) อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
3. นางสาวโชติมณี โพธิสาร (บัว) อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
4. นางสาวประไพ สุพงษ์ (นิล) อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
5. นายธีระพงษ์ ไทยประโคน (แชมป์) อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
6. นางสาวโยธิกา สมเพชร (โย) อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
7. นางสาวภาสินี เลิศศรี (ปูปลา) อายุ 18 ปี เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
8. นางสาวชลดา ระงับภัย (โย) อายุ 18 ปี เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์
9. เด็กหญิงอรวี งอนสวรรค์ (จิต) อายุ 15 ปี เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนกันทรอมวิทยาคม
10. เด็กหญิงชลธิชา ระงับภัย (โมโม่) อายุ 15 ปี เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนขุนหาญวิทยาสรรค์
สัมภาษณ์วันที่ 26 มกราคม 2563
ถาม แนะนำทีมว่าชื่อทีมอะไร ทำโครงการอะไร และให้สมาชิกแต่ละคนแนะนำตัวว่าชื่อและทำหน้าที่อะไรในโครงการ
ตอบ พวกเราชื่อทีมเด็กสานไผ่ ทำโครงการสานไผ่เพื่อสานสัมพันธ์คนในชุมชนบ้านซำ ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
ตอบ ชื่อปุ๊ ทำหน้าที่ ถ่ายวีดีโอตัดต่อวีดีโอและประสานงาน
ตอบ ชื่อบัว ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์
ตอบ ชื่อโย เก็บข้อมูลรวบรวมข้อมูล
ตอบ ชื่อนุ๊ก เป็นประธานทีมนี้ทำหน้าที่ประสานงานระหว่างเยาวชนกับผู้ใหญ่
ตอบ ชื่อโย ทำหน้าที่เขียนในกระดาษ
ตอบ ชื่อจิต ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยพี่เก็บข้อมูลและช่วยถ่ายภาพ
ตอบ ชื่อแชมป์ ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์
ตอบ ชื่อนิล ทำหน้าที่ ประชาสัมพันธ์
ตอบ ชื่อปลา ทำหน้าที่จัดเตรียมสถานที่
ตอบ ชื่อโม ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานทีม
ถาม พวกเราในทีมทั้งหมดมีกี่คน?
ตอบ 10 คน
ถาม เป็นการรวมตัวของเพื่อนที่หมู่บ้านหรือในโรงเรียน มารวมตัวกันได้อย่างไร?
ตอบ จากคนในหมู่บ้าน มี 2 คนที่ไม่ได้อยู่หมู่บ้านเดียวกัน แต่ว่าเป็นเพื่อนเลยชักชวนมาทำ
ถาม ใครเป็นคนแรกที่ชวนเพื่อนมาทำโครงการนี้ และเริ่มต้นทำโครงการ
ตอบ โย
ถาม ทำไมหนูถึงมาทำโครงการนี้?
ตอบ หนูได้ทำมาตั้งแต่รุ่นที่ 1 แล้ว สร้างให้ชุมชนเราสามัคคีกันมากขึ้นและมารู้ว่าแม่บอกจะมีโครงการแบบนี้เกิดขึ้นก็เลยลองชวนเพื่อนมาดู เพื่อนตกลงเห็นด้วย
ถาม พอไปชวนพวกเราทำไมพวกเรา สนใจมาทำโครงการนี้
ตอบ ส่วนตัวหนูเป็นคนชอบทำงานแบบนี้ ไม่ชอบเรียนในห้อง หนูอยากทำ โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่โรงเรียนมีให้ทำ แต่ไม่มีแล้วพวกหนูเลยไม่ได้เข้า จึงอยากทำโครงการนี้เพราะอยากเข้าพอดี เพื่อนมาชวนก็เลยเข้าร่วม และไปชวนเพื่อนๆอีกเพื่อนบอกตกลงจึงมาร่วมกัน
ถาม พวกเรา เห็นจากชื่อว่าน่าสนใจอยากทำ หรือเพื่อนมาทำเราก็ทำด้วยดีกว่า ใครมีความคิดเห็นยังไงบ้าง?
ตอบ เพื่อนค่ะ เห็นเพื่อนมาทำ ชวนเราก็คิดว่าไปอยู่กับเพื่อนน่าจะสนุก
ตอบ ไม่อยากอยู่เฉยๆ ก็หาอะไรทำ
ตอบ ส่วนตัวหนูเพิ่งเข้ามาทำครั้งแรก ก็อยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ว่าทำโครงการแล้วเป็นอย่างไร
ตอบ พี่สาวชวนทำก็เลยทำหนูอยากทำตั้งนานแล้วแต่ยังเด็กอยู่ อยากทำตั้งแต่ปี 1 มาด้วยทุกครั้ง มาทำดีกว่าไปเล่นโทรศัพท์
ตอบ เพื่อนชวนทำ ชื่อโครงการน่าสนใจ หนูไม่เคยทำอะไรเกี่ยวกับใครจึงอยากมีประสบการณ์
ตอบ หนูบ้านไกลหาเพื่อนยาก ช่วงโรงเรียนหยุดจะเหงา ก็เลยออกมาด้วย
ถาม โครงการสานไผ่เป็นสิ่งที่พวกเราคิดหรือว่ามีใครช่วยคิดบ้าง?
ตอบ ตอนแรกเราพากันมาระดมกันว่าหมู่บ้านเรามีอะไรดีบ้างและมีอะไรที่จะสูญหายไปแล้วบ้าง เหลือผู้รู้น้อย ทีแรกสรุปออกมาได้เยอะ พอมาเห็นวัตถุประสงค์หนึ่งคืออยากให้วัยรุ่นเข้ามาร่วม เลยเอาการสานไผ่เพราะว่าน่าจะเป็นงานผู้ชาย ที่ผู้ชายจะเข้ามาร่วมกิจกรรม ผู้หญิงก็ทำได้แต่ ผู้ชายสามารถเอาไปประกอบอาชีพสร้างรายได้
ถาม ผู้ชายควรรู้แต่ทีมของเรามีแต่ผู้หญิง?
ตอบ ทีมมีผู้หญิงแต่พอไปทำในชุมชนวัยรุ่นผู้ชายก็เข้ามาช่วยเยอะ
ถาม ทีมจัดการเป็นผู้หญิงแต่ในชุมชนมีวัยรุ่นเข้ามาร่วม กลุ่มเป้าหมายของเราคือเด็กผู้ชายวัยรุ่นในชุมชน?
ตอบ ขอความช่วยเหลือเขาได้ตลอด
ถาม ทำไมสานไผ่จึงน่าสนใจกว่าอย่างอื่น?
ตอบ เลือกสานไผ่เพราะว่าผู้รู้เหลือน้อยแล้ว ผู้รู้ที่เหลืออยู่ 2 – 3 ที่รู้จัก อายุ 80 ขึ้นไปแล้ว กลัวว่าน้องรุ่นหลังจะไม่ได้เห็น กลัวน้องจะไม่ได้รู้ว่าทำอย่างไรจึงคิดโครงการนี้ให้ผู้รู้มาสอนน้องๆ จัดกิจกรรมให้มานั่งทำระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เพื่อเขาจะได้ใกล้ชิดกัน น้องๆ จะได้สืบทอดต่อไป
ถาม ทีมเรากระบวนการทำงานอย่างไร แบ่งกันอย่างไร เริ่มต้นจากอะไรไปหาข้อมูลที่ไหน?
ตอบ ตอนแรกจะมีปัญหาเรื่องภาษาเพราะว่าผู้ใหญ่จะพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ เด็กบางคนก็พูดภาษาถิ่นได้ไม่ค่อยมาก จึงจัดตามความถนัดของแต่ละคน ว่าคนไหนถนัดอันไหน จะแบ่งให้ไปทำแบบนั้น ส่วนมากก็จะถามทุกคนก่อนว่า ถนัดอันไหนมากกว่ากัน แล้วก็จะให้เพื่อนๆ ที่มีความถนัดด้านนั้นไปทำ เวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูลจะลงไปกันทุกคน ทำงานด้วยกัน บางคนทำหน้าที่สอบถามผู้รู้ จดบ้าง ถ่ายรูปบ้าง อัดวีดีโอบ้าง
ถาม ตอนที่ไปลงชุมชนเก็บข้อมูลไปทั้งหมด 10 คนเลยเหรอ?
ตอบ ไปทั้งหมด 10 คนเลย
ถาม เวลาทีมลงแต่ละบ้านทำอย่างไรบ้าง?
ตอบ เวลาที่ลงไปเก็บข้อมูลในชุมชน เราจะวางแผนกันไว้ก่อนแล้ว ว่าพวกเราจะถามอะไรบ้าง จะให้เขาพูดเรื่องอะไร จะถามว่าทำอย่างไร ใช้วิธีการอย่างไร
ถาม ลองยกตัวอย่างคำถามที่ลงชุมชน?
ตอบ ตอนแรกก็ถามว่าใครสอนคุณตามาก่อน คุณตารู้จักได้อย่างไร ต่อมาจะถามคุณตาว่าเรียนรู้มาจากที่ไหน ถามคุณตาอีกว่าสิ่งที่คุณตาทำได้สืบทอดให้ใครแล้วบ้าง แบ่งออกเป็นช่วง ช่วยกันถามบางคำถามจะแบ่งกัน คนนี้ถามกลุ่มนี้ คนนี้ถามอีกกลุ่ม แต่ละคนจะไม่คนถามคนเดียวกัน ผู้รู้แต่ละคนจะไม่มีคนถามคนเดียวกัน ทุกคนก็จะได้ถาม เช่นเราเชิญผู้รู้มา 3 คน หนู 2 คนก็ถามคนที่ 1 อีก 2 คนถามคนที่ 2 เราจะไปด้วยกันหมดไปที่บ้านของผู้เฒ่า
ตอบ ได้ลงพื้นที่จริง จับนู่นจับนี่อุปกรณ์ทุกอย่างที่เขาสานก็เอามาถามว่าทำอย่างไรแบบนี้
ถาม ผู้เฒ่าที่บ้านเขาพูดภาษาอะไร?
ตอบ ภาษาส่วย
ถาม มีใครในนี้พูดภาษาส่วยได้บ้าง?
ตอบ พูดได้ทุกคน แต่บางคำไม่รู้ความหมาย
ถาม ก่อนที่ทีมจะลงไปสัมภาษณ์ทีมเตรียมการอย่างไรบ้าง?
ตอบ เราจะนัดไว้ก่อน
ถาม มีผู้รู้กี่คนที่เราได้ไปสัมภาษณ์?
ตอบ 3 คน
ถาม ผู้รู้และคนในชุมชนว่าอย่างไรบ้าง?
ตอบ ส่วนใหญ่ผู้รู้ที่บ้านหนูจะนั่งอยู่ตรงบนแคร่ ริมกระท่อมที่มีร่มไม้ใกล้ต้นไผ่ ไปถึงตรงนั้นเขาก็จะเล่าให้ฟังตั้งแต่เริ่ม พอมาตรงวิธีทำ เขาจะไม่สามารถบอกเราได้ว่ามันทำอย่างไร แต่ว่าเขาจะเอาอุปกรณ์มาทำให้ดู ไม่สามารถบอกเป็นขั้นตอนได้ ขนาดของอุปกรณ์เราต้องเอามาเขียนเองว่าอะไร ว่าแต่ละขั้นตอนใช้ไม้ขนาดเท่าไหร่ ใช้จำนวนเท่าไหร่ เพราะว่าคนเฒ่าคนแก่ไม่ได้วัดแบบนี้ จะใช้วิธีการกะ เขาจะไม่วัดว่ากี่เซนติเมตร แต่จะดูเป็นข้อของไม้ไผ่ 1 ข้อ 2 ข้อ เราจะนำเอามาวัดเป็นเซนติเมตรของเราเอง การสอนของเขาคือ เขาจะทำให้เราดูว่าแบบนี้นะให้เราจดตาม บางคนก็จะทำสาธิตบางคนก็จะชี้แล้วก็พูดอธิบายเป็นภาษาส่วย
ตอบ มีบันทึกเสียง แล้วก็เอามาแปลจากภาษาส่วยเป็นภาษาไทย ของเรายังไม่ได้สานเพราะคุณตาไม่ได้ทำนานแล้ว เราก็ไปเก็บข้อมูลอย่างเดียว อนาคตวางแผนจะให้เขามาสอนเด็กๆ ในชุมชน เขาก็ยินดี อยากจะสอนเพราะว่าก็สอนลูกหลานในบ้านของตัวเอง
ถาม ได้ข้อมูลมาแล้ว ทีมเราทำอย่างไรต่อไป?
ตอบ กลับมาเราจะนั่งประชุม จากนั้นจะถอดข้อมูลจากที่เราอัดวิดีโอเป็นภาษาส่วย ให้เป็นภาษาไทยคำไหนที่ไม่รู้ก็จะไปถามป้าและยายให้ช่วยบอก จากนั้นก็เขียนใส่กระดาษชาร์ททำเป็นช่วงอายุ ดูไทม์ไลน์อดีตจนถึงยุคปัจจุบัน ใช้เกณฑ์ ถาม กับผู้รู้ว่าใครเป็นคนสอนเขามา ตั้งแต่เริ่ม เขาก็จะบอกชื่อว่า ใครที่เขาได้สอนคุณตามา และพอมายุคกลางคุณตาสอนลุงป้าคนไหน คนไหนยังทำจนถึงยุคปัจจุบัน
ถาม สานไผ่เป็นวิถีชุมชนดั่งเดิมอยู่แล้วไหม มีหลายครอบครัวไหมที่ทำ?
ตอบ แต่เดิมมีคนทำขายและทำไว้ในเองด้วย บางบ้านทำอะไรเป็นก็จะนำมาแลกกัน ทำใช้เองทั้งหมด ส่วนมากจะเป็นอุปกรณ์หาปลา ส่วนใหญ่ที่ทำ จะมีลอบ ชะนา กระด้ง สุ่มไก่ ค้อง ไซ ฯลฯ แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยมีคนทำแล้วเพราะทำไม่เป็น
ถาม หลังจากได้ข้อมูลมาแล้ว ทำอย่างไรต่อไป?
ตอบ พอรู้จากคุณตาว่าไปสอนใครมาบ้าง ก็จะไปถามข้อมูลคนที่เรียนว่าจำอะไรได้บ้าง เช่นตาไปสอนคุณลุง ก็ไปถามคุณลุงที่คุณตาสอน ว่ายังจำได้ไหมว่าคุณตาสอนอะไรบ้างทำอะไรบ้าง แล้วลุงทำอะไรเพิ่มขึ้นมาจากที่คุณตาสอน บางชิ้นในอดีตคุณตาบอก เคยทำได้แต่ยุคนี้ทำไม่ได้แล้ว จากเมื่อก่อนเคยทำปืนไม้ไผ่สำหรับยิงนก ยิงกระรอกและมีดไม้ไผ่ แต่ยุคลุงไม่มีแล้ว
ถาม นอกจากเก็บข้อมูลเรื่องการสานไผ่ ได้เก็บไปถึงข้อมูลต้นไผ่ไหมว่าไปหาที่ไหนต้องดูไม้ไผ่อย่างไร?
ตอบ คุณตาบอกว่าให้ไปเอาไผ่ที่ยังเขียวอยู่ เอามาทิ้งไว้ให้แห้งแล้วก็ตัด แหล่งต้นไผ่เยอะ ๆ จะมีที่บ้านคุณตา ที่วัด ถนนหลังหมู่บ้าน ตรงศาลาก็ยังมีเยอะอยู่ เป็นไผ่ที่ปลูกไว้
ถาม ได้ศึกษาเรื่องวัสดุด้วยไหม?
ตอบ ยังไม่ได้ศึกษาตอนนี้ศึกษาแต่ที่มาที่ไปในแต่ละช่วง ใครสอนวิธีการสานเป็นอย่างไรบ้าง
ถาม เป้าหมายของโครงการพวกเราคืออะไร?
ตอบ อยากให้ผู้ใหญ่กับเด็ก ได้มีกิจกรรมร่วมกันเพราะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา คนแก่จะอยู่ส่วนคนแก่ เด็กก็จะอยู่ส่วนเด็ก จะไม่ค่อยคุยกัน และมักจะคุยกันเฉพาะลูกกับหลานของเขาเองเท่านั้น พวกเราเห็นช่องว่างระหว่างคนแก่กับคนในยุคพวกเรา จึงเลือกการสานไผ่ให้เป็นตัวเชื่อมให้พวกเราใกล้ชิดกันขึ้น
ถาม สานไผ่ทำให้เราสนิทกับผู้สูงอายุมากขึ้นไหม?
ตอบ สนิทขึ้นเพราะว่ามีกิจกรรมร่วมกันและเอามาใช้ประโยชน์ในบ้าน เรามีการพูดคุย แนะนำความรู้ให้กัน เรื่องสานไผ่
ถาม โจทย์ของพวกเราคือกลุ่มเยาวชนบ้านซำ เด็กสานไผ่จะสามารถสืบสานการจักสานไม้ไผ่เพื่อความสัมพันธ์ของชุมชนเราได้คำตอบหรือยังว่าสื่อสารได้ไหม ถ้าได้ ได้อย่างไร?
ตอบ ได้ค่ะ ถ้าพวกหนูไม่ทำก็ไม่รู้ว่าอนาคตข้างหน้า น้องๆ จะรู้จักพวกนี้หรือเปล่า ถ้าไม่ทำตอนนี้อนาคตอาจจะไม่มีของจักสานแล้วก็ได้ อยากให้น้องๆ ทำต่อไปอย่าทิ้งเพราะว่าไม่มีคนทำเป็นแล้ว ถ้าผู้รู้เสียชีวิตไปแล้วก็จะหมด หายไปเลย
ถาม เหมือนเราไปเก็บความรู้ที่กำลังจะสูญหายไปกับรุ่นตารุ่นยายรุ่นปู่รุ่นย่ามาไว้อย่างมีระบบมีข้อมูลชัดเจนแล้วจะสืบสานอย่างไร?
ตอบ ก็จะให้น้องๆ มาทำ โดยจะทำเป็นรูปเล่มเก็บไว้ที่ศาลาและจะพาน้องๆ ทำเวลาว่าง เพราะว่าหมู่บ้านของพวกหนู วัดจะให้งบประมาณมาจัดกิจกรรมทุกปีอยู่แล้วเป็นการสานสัมพันธ์ เช่นกีฬา งบประมาณจะมาจากวัด ปกติมีแต่กีฬา พวกเราก็จะเพิ่มกิจกรรมสานไผ่เข้าไป
ถาม โครงการของพวกเราเดินทางมากี่เปอร์เซ็นต์?
ตอบ 50 % เหลือปฏิบัติและจัดทำรูปเล่มและสรุป คือจัดกิจกรรมให้ผู้รู้กับน้องมาทำ พวกเราจะลงไปทำด้วยเพราะยังสานไผ่ไม่เป็นบางอย่าง จะเรียนทำไม้กวาด ตะกร้าจากพลาสติก ถ้าป้าๆ ในชุมชนอยากเรียน ก็สามารถไปเรียนได้ ถ้าป้ารู้ก็จะได้สอนลูกหลานตัวเองด้วย ตอนนี้ยังมีแรงจะได้ทำไว้ใช้จะได้ประหยัดและสร้างรายได้
ถาม 50% ที่ผ่านมาเรามองเพื่อนกัน 10 คนในทีมเยาวชนเด็กไผ่ของเรา อะไรโดดเด่น จุดเด่นของเราคืออะไร?
ตอบ ในทีมให้ความร่วมมือกันเวลานัดมาประชุมก็มาครบ
ตอบ ช่วยเหลือกันมีความสามัคคี ช่วยกันยกของ ช่วยกันทำงานหาข้อมูล นำข้อมูลของแต่ละคนและทุกคนมาเขียนใส่กระดาษชาร์ท ทุกคนรู้ข้อมูลเท่ากัน ในการหาข้อมูลคุณตาเป็นคนตลก พูดตลกหัวเราะพวกหนูก็งง บางครั้งถามซ้ำจนพูดคุณตารำคาญ มีบางครั้งตอบไม่ตรงคำถามก็มี
ตอบ หนูจะใช้โทรศัพท์อัดเสียงไว้แล้วฟังอีกที ถ้าข้อมูลไม่ครบก็ลงไปถามอีก นับได้เป็น 10 รอบ บางคำภาษาส่วยสมัยก่อนเราไม่ทราบความหมายก็ต้องไปถาม
ตอบ เวลาที่เรานัดกันก็จะมากันตลอด จะช่วยกันแบ่งหน้าที่กัน ให้ความร่วมมือกันอย่างดี
ตอบ จุดเด่นทีมเราคือการที่เราร่วมแรงร่วมใจกันรู้ว่าวันนี้เราจะมาทำงานโครงการนี้ เราพยายามที่จะเคลียร์งานส่วนตัวของเราให้เสร็จ เราจะได้มีเวลาว่างเพื่อที่จะมาทำงานนี้ สิ่งที่หนูชอบจุดเด่นคือว่ากลุ่มเรามีแต่ผู้หญิง เวลาที่มีของหนักๆ ก็พากันยกของ คนแถวหมู่บ้านก็ถามว่าเป็นผู้หญิงนะ ยกได้ยังไง และชื่นชมในงานของพวกเรา
ตอบ หาข้อมูลช่วยกันเก็บข้อมูล
ตอบ หนูบ้านไกล มาให้ทันทุกนัด ก็คือบิดรถตรงมาเลยอย่างเดียว
ตอบ ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน
ตอบ ทีมนี้เป็นหญิงแกร่งมาก ทำได้ทุกอย่าง งานกีฬาพวกพี่ก็เป็นคนจัดการกางเต็นท์ยกเตียง ทำได้ทุกอย่าง
ตอบ ชอบทุกอย่าง ชอบเสียงหัวเราะของเพื่อน เวลาที่ได้ทำงานด้วยกันจะมีความสามัคคี ความตรงต่อเวลาเพื่อนจะไม่เกี่ยงงาน ให้ทำอะไรก็คือทำ คนไหนเสร็จก่อนก็จะไม่อยู่เฉยๆ จะมาช่วยคนที่ยังไม่เสร็จถึงจะไม่ใช่หน้าที่ตัวเองแต่ก็มา ทำงานหนักๆ คือต้องยกหลายคน ก็จะไปทั้งหมดเลย ทำช่วยกัน ยกช่วยกัน เวลาคิดงานก็จะนั่งและยกมือถาม แสดงความคิดเห็นได้โดยการยกมือ จะใช้มติเพราะหนูก็เรียนเพาะพันธุ์ปัญญามาก่อนก็เลยรู้วิธีการคุยงานแบบนี้
ตอบ เราหาจุดร่วมกัน โดยเอาสิ่งที่เด่นมาเสนอแล้วก็เลือกโดยยกมือโหวต
ถาม บรรยากาศในการทำงานร่วมกันเป็นอย่างไร?
ตอบ สนุกสนาน ไปรวมกันที่บ้านของประธานเพราะว่าแม่เพื่อนเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและเป็นพี่เลี้ยงโครงการ สนุกสนานกินอยู่ในนั้น เป็นบ้านหลังที่สองของพวก เรากระท่อมน้อยที่มีเถียงนาบรรยากาศดีเย็นสบาย เวลาทำงานมีความสุข ถ้าทำถึงกลางคืนตอนเย็นพ่อเพื่อนก็จะหาอะไรมาให้กินและไปส่งเพื่อนให้ถึงบ้าน เป็นคุณพ่อของนุ๊กกี้
ตอบ เวลาขนของก็จะมีเพื่อนที่ขับรถเป็น น้องปลา จะขับซาเล้ง
ถาม มีปัญหาอะไรบ้างไหม?
ตอบ มีค่ะ เรื่องภาษาหนูไม่ค่อยได้มีพื้นฐานเรื่องภาษาส่วย และเรียนในเมืองงานเยอะกว่าเพื่อน ต้องจัดการตัวเองให้มากที่สุด คือเวลารถไม่พอตอนลงเก็บข้อมูล เราต้องอัดกันไป อัดสี่อัดห้าคนก็ทำมาแล้ว ต้องไปด้วยกัน ปัญหาที่เหนื่อยที่สุดคือ เวลา ที่ความคิดไม่ได้ คิดไม่ออกแล้ว ก็จะนั่งเครียดแต่จะมีคนๆ หนึ่งที่ทำให้เพื่อนยิ้มได้คือแชมป์ เขาจะทำให้สนุก พอสนุกแล้วก็คิดออกบ้าง
ตอบ เวลาเพื่อนทำหน้าเครียดก็จะไปจี้ ทำทุกอย่างให้เพื่อนด่า พอเพื่อนด่าก็จะมีความสุข พอหายเครียดก็มานั่งคิด ถึงแม้ว่าจะคิดได้ไม่มากแต่ก็คิดออกบ้าง ต้องผ่อนคลายถึงจะคิดงานออก
ถาม เราได้เรียนรู้อะไรบ้าง?
ตอบ ความพยายาม กระตือรือร้นมาทำงาน ก่อนที่จะมาปวดหัวมากนั่งอยู่ในห้องน้ำเป็นชั่วโมง พอเพื่อนบอกว่าต้องมาช่วยกันก็เลยมา อยากมาให้ครบทีม
ตอบ กล้าแสดงออกเมื่อก่อนไม่กล้าจะไป ตอนนี้กล้าแล้ว ถ้าเราไม่ฝึกไว้เราก็ไม่เป็น
ตอบ ความเชื่อมั่นในตัวเพื่อนทุกคน เราจนมุมคิดอะไรไม่ออก แต่พอมาคุยกับเพื่อนเพื่อนก็คิดออก
ตอบ กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูดกล้าทำ
ตอบ ได้เป็นน้องสุดในทีมตอนนั้นอยู่ ม.2 ยังไม่กล้าทำอะไรเลย พี่ชวนไปทำจนกล้าขึ้นมา แล้วพอมาเวทีนี้ก็ตื่นบ้างนิดๆ แต่ก็ไม่ค่อยมีจุดบกพร่อง ที่สุดคือช่วยให้เรารู้จักจัดเวลาจากคนตื่นสายก็ตื่นเร็ว ไม่ตรงเวลาก็ทำตรงเวลาตามนัด เปลี่ยนตัวหนูเยอะ จากคนที่ไม่ออกสังคมก็ออกไปเล่นกับเพื่อนไปพบปะกับชุมชน
ตอบ รู้สึกว่าการตัดสินใจของหนู หนูเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม ใจเด็ดขาดกว่าเมื่อก่อน เมื่อก่อนเป็นคนขี้กลัว เปลี่ยนความคิดตัวเอง ถ้ามัวแต่กลัวแล้วเมื่อไหร่จะโต หนูชอบความตื่นเต้นเพราะความตื่นเต้นเหมือนกำลังพาตัวเองไปในจุดอีกขั้นให้สูงขึ้นกว่าเดิม
ตอบ รู้สึกว่าตัวเองทำร่วมกันกับพวกพี่ๆ ดีกว่าเดิมอยู่กับพี่เราไม่ได้เป็นเพื่อนกันเราไม่ได้สนิทกันเลย ตอนที่มาทำกับพี่ แรกๆ ก็จะกลัว ไม่กล้าทำอะไรไม่สามารถทำอะไรได้เต็มที่ พอทำมาด้วยกันเรื่อยๆ ก็รู้สึกว่ากล้าขึ้นกว่าเดิม แล้วก็คิดว่าตัวเองทำได้ดีขึ้น
ตอบ จากที่ไม่เคยทำวิจัยทำเพาะพันธุ์ปัญญากับเพื่อนแล้วมาทำตอนแรกกลัวว่าคนเยอะ ไม่รู้จักคนอื่นแต่พอมาทำจริงก็มีเพื่อนพี่น้องที่รู้จัก
ตอบ กระตือรือร้นมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จากที่ขี้เกียจมากขยันและดีดขึ้นมา
ตอบ คนขี้อาย พอได้มาเข้าโครงการก็ได้พัฒนาตัวเองขึ้นในระดับหนึ่ง