โครงการสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่
กลุ่ม Youth of Kamphaeng
โรงเรียนกำแพง ตำบลสำโรง อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ
นางสาวปิยธิดา สำโรง (มิลค์) อายุ 18 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
นางสาวพลอยธิดา ศิลาชัย (พลอย) อายุ 18 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
นายวันเฉลิม โนนกลาง (เฟรม) อายุ 18 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
นางสาวพัชรินทร์ ดอนอ่อนเบ้า (มายด์) อายุ 17 ปี ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5
สัมภาษณ์วันที่ 26 มกราคม 2563
ถาม ขอให้แนะนำตัวสมาชิกทีมและโครงการที่ทำ?
ตอบ ทีมของพวกเราชื่อว่าทีม Youth of Kumpheang โครงการสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่
เฟรมนายวันเฉลิม โนนกลาง ชื่อเล่นเฟรม ตำแหน่งประธาน หัวหน้าโครงการ
มายหนู พัชรินทร์ ดอนอ่อนเบ้า ชื่อเล่นมายด์ ตำแหน่งกรรมการ
พลอยนางสาวพลอยธิดา ศิลาชัย ชื่อเล่นพลอย ตำแหน่งกรรมการ
มิลค์นางสาวปิยธิดา สำโรง มิลค์ ตำแหน่งกรรมการ
ถาม ตำแหน่งกรรมการทำอะไรบ้างในโครงการ?
มิลค์ ประธานของเราจะเรียกประชุมเราก็ต้องมาประชุมรวบรวมเก็บข้อมูลในการลงพื้นที่ด้วยกันทำงานร่วมกัน
เฟรม กรรมการคือฝ่ายดำเนินงาน
ถาม นอกจาก 4 คน มีทีมเป็นเพื่อนคนอื่นอีกไหม?
เฟรม ทีมของเรามีทั้งหมด 18 คน
ถาม มีฝ่ายอะไรบ้างนอกจากประธานและกรรมการ?
เฟรม ถ้าแบ่งตามหน้าที่การทำโครงการมีฝ่ายบริหาร ประธาน รองประธาน เลขา เหรัญญิก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน ส่วนฝ่ายย่อยแบ่งเป็นฝ่ายดำเนินงานแบ่งเป็นฝ่ายตัดต่อวีดีโอ หาข้อมูล และเป็นพิธีกรและฝ่ายประสานงาน
ถาม ทีมเรารวมตัวกันได้อย่างไร?
ตอบ เป็นเพื่อนที่โรงเรียนเดียวกัน โรงเรียนกำแพง พวกเราเรียนอยู่ ม. 5, ม. 6 และรุ่นพี่ที่จบออกไปแล้ว
ถาม รุ่นน้องกับรุ่นพี่มารวมกันอย่างไรใครเป็นคนชวนใคร?
ตอบ กลุ่มพวกเราสนิทกันรุ่นพี่ชวนมาทำร่วมกัน
ถาม หัวข้อนี้มีที่มาอย่างไร?
มิลค์ พวกเราร่วมกันคิดขึ้นว่าอำเภอของเรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามหลายที่ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่คนนอกอำเภออาจจะไม่รู้จัก หรือว่ารู้จักแต่ยังไม่รู้วิถีของชาวบ้าน พวกเราคิดขึ้นมาว่าอยากนำเสนอสิ่งที่เรามีอยู่แล้ว ให้คนภายนอกรู้จัก อยากให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยชุมชนของเราพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น พวกหนูสร้างเพจ The Story อุทุมพรพิสัย ขึ้นมา เพื่อเผยแพร่การท่องเที่ยวของอำเภออุทุมพรพิสัย การดำรงชีวิตของชาวบ้านแต่ละพื้นที่ การเผยแพร่ตรงนี้ทำให้นักท่องเที่ยวที่อยู่ต่างจังหวัดนอกพื้นที่รับรู้และเข้ามาท่องเที่ยว
เฟรม มุมมองเพิ่มเติมที่ผมคิดว่าการที่เรามารวมกลุ่มกัน เราไม่ใช่แค่จะได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในอำเภออย่างเดียว เราได้ประสบการณ์การทำงานในกลุ่มของพวกเราด้วย เช่น การทำงานของเรามีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อนำมาทำสื่อ มีทักษะที่เราได้ทั้งการประสานงาน ทักษะการพูดคุย ที่สำคัญเราได้ทักษะการทำสื่อ ซึ่งการทำสื่อไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับพวกเรา เพราะว่าเราต้องหาวิธีการ วาง Story ให้สื่อที่เราทำออกมาดูน่าสนใจ เป็นสิ่งที่เราได้จากโครงการนอกเหนือจากการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ถาม ทำไมเราถึงคิดว่า ถิ่นมะเดื่อใหญ่มีจุดดีอะไรที่เจ๋งต้องสื่อสารให้โลกได้รู้?
เฟรม ถิ่นมะเดื่อใหญ่ “ต้นมะเดื่อ” เป็นต้นไม้ที่เกิดขึ้นเยอะในอำเภออุทุมพรพิสัย คำว่า “อุทุมพรพิสัย” หมายความว่าถิ่นมะเดื่อใหญ่ เราจึงตั้งชื่อโครงการว่าสื่อสร้างสรรค์พาท่องเที่ยวถิ่นมะเดื่อใหญ่ ถ้าถามว่าในอำเภอในชุมชนของเรามีอะไรดี ในอำเภออุทุมพรพิสัยมีสถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่น เช่น ประสาทสระกำแพงใหญ่ ปราสาทสระกำแพงน้อย ซึ่งเป็นโบราณสถานที่อยู่คู่กับอำเภออุทุมพรพิสัยมาช้านานและได้รับการยกย่อง ปราสาทสระกำแพงใหญ่มีทับหลังที่สวยงามนอกจากนี้ยังมีวัดต่างๆ ที่มีความสวยงามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สมควรที่จะได้รับการโปรโมท ให้คนภายนอกได้เข้ามาท่องเที่ยว
ถาม มีทับหลังมีวัด มีโบราณสถานและมีอะไรอีกบ้าง?
มาย มีอโรคยาศาลาเป็นโรงพยาบาลเก่า ที่วัดสระกำแพงน้อยจะมีอโรคยาศาลา เมื่อก่อนไม่มีโรงพยาบาล อโรคยาศาลาจะตั้งอยู่ตรงนั้น
ตอบ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่รับมาจากขอม
เฟรม สำหรับวิถีชุมชนจะมีตลาด วิถีชุมชนที่กำลังมีอยู่ตอนนี้คือ “ตลาดบ้านเก่าหอตำแย” ซึ่งเป็นตลาดวิถีชุมชนดั้งเดิมของชุมชนวัดตำแย ที่จัดทำให้คนในหมู่บ้านเข้ามาขายของจากชุมชน มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมหรือนววิถีมีซึ่งอยู่ 5 แห่ง แต่ละที่มีจุดเด่นแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชน
พลอย ที่ตลาดบ้านเก่าเป็นชุมชนที่น้องสมาชิกของเราคนหนึ่งอาศัยอยู่ และเวลามีตลาดน้องก็จะนำของไปขายด้วย
ถาม ถ้าเป้าหมายของเราอยากจะสร้างรายได้ ให้กับชุมชนเรามองเห็นช่องทางการสร้างรายได้ชุมชนช่องทางไหนบ้าง?
เฟรม การสร้างรายได้ในชุมชนที่จะเกิดขึ้นหลักๆ คือการท่องเที่ยว สอดคล้องกับโครงการที่เราทำก็คือส่งเสริมการท่องเที่ยว เมื่อเราส่งเสริมการท่องเที่ยวไปแล้ว คนที่อยู่นอกชุมชนจะเห็นว่ามีสถานที่ท่องเที่ยวนี้ นักท่องเที่ยวจะได้เข้ามาเที่ยวภายในอำเภอ เมื่อมีคนเข้ามาท่องเที่ยวในอำเภอมากขึ้น ก็จะทำให้เกิดรายได้ ทำให้เกิดการจับจ่ายซื้อขายสินค้าภายในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นสินค้าที่เป็นอาหาร ไปจนถึงสินค้าที่เป็น OTOP สินค้าประจำชุมชน เช่น ผ้าไหมมัดหมี่และเสื้อแส่วบ้านทุ่งไชย
ถาม เมื่อรู้จุดขายการท่องเที่ยวของเราแล้ว ทีมดำเนินการต่ออย่างไร?
พลอย แบ่งหน้าที่กันคนของเราเยอะ เราจะแบ่งกลุ่มเป็นฝ่าย เพื่อที่จะได้ให้แต่ละฝ่ายลงพื้นที่ในแต่ละเส้นทาง โดยจะฝ่ายหนึ่งลงไปทำเรื่องของใช้ในชุมชน สินค้าที่มีในชุมชน อีกฝ่ายหนึ่งจะทำโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยว แบ่งหัวข้อกันไปพอเราได้กลุ่มแล้ว แต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มจะเก็บรวบรวมข้อมูล ลงพื้นที่ถามผู้รู้จริงในพื้นที่นั้น ตอนนี้แบ่ง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มสินค้าที่มีในชุมชนสินค้าหรือสินต้า OTOP และกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยว
เฟรม พอเราแบ่งกลุ่ม ในการลงไปหาข้อมูลแล้ว เราจะเอามาสังเคราะห์กันว่าเราจะวาง Story อย่างนี้เมื่อเราวาง Story เสร็จ เราจะลงมือปฏิบัติเข้าไปถ่ายทำในพื้นที่ เช่น ล่าสุดเราถ่ายการข้าวหลาม ที่บ้านหนองหญ้าปล้อง เราวาง Story ว่าเราจะสัมภาษณ์อย่างไรถามอะไร แล้วก็ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์ โดยการลงพื้นที่ไปต้องประสานงานเขาไว้ก่อน ว่าเราจะมาสัมภาษณ์อย่างนี้ เมื่อเราสัมภาษณ์เสร็จได้วิดีโอจะนำมาตัดต่อ เพื่อให้ได้เป็นชิ้นงานวิดีโอสำหรับใช้ส่งเสริมการท่องเที่ยวต่อ จากนั้นมาโพสต์ลงใน Facebook Fan page THE STORY อุทุมพรพิสัย ของเรา
ถาม การไปสัมภาษณ์เพื่อทำ Story ทำให้เราเห็นคุณค่าจากเรื่องราวที่บ่งบอกความเป็นชุมชนลึกซึ้งเพิ่มเติมบ้างไหม?
มิลค์ ตำนานเรื่องเล่าของคนสมัยก่อน คุณตาคุณยายที่อยู่ที่นั่น จะมีเรื่องราวต่างๆ มาเล่าให้ฟัง ทำให้รู้สึกว่าการที่เราลงไปทำกับชุมชนตรงนั้น ไม่ใช่เพียงช่วยขยายการท่องเที่ยวให้อำเภอของเราเท่านั้น แต่เรายังได้รู้ถึงการเป็นอยู่ของคนในสมัยก่อน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายายที่มีการรักษาสืบสานวัฒนธรรมจนถึงรุ่นเรา ทำให้รู้สึกว่ารักและอยากคงความเป็นอุทุมพรของเราไว้ ให้คนภายนอกและรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา ได้รู้ว่ามีความสวยงามขนาดไหน
ถาม มีอะไรในอุทุมพรพิสัยที่อยากสืบสานต่อและอะไรที่อุทุมพรพิสัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว?
มิลค์ สิ่งที่เป็นหลักคือวิถีการใช้ชีวิตของคนในชุมชน เช่น ที่ปราสาทกําแพงใหญ่คนเฒ่าคนแก่ ท่านยังใช้ชีวิตในวิถีเดิม เหมือนเมื่อก่อนโดยเฉพาะการสานตะกร้าหวาย หรือการเอาของในชุมชนมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอยู่ตลอดเวลา
เฟรม แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คนในอำเภอคนที่สืบสานต่อคือผู้เฒ่าผู้แก่ มีประเพณีที่สืบสานกันมาอย่างช้านานก็คือประเพณีบุญเดือนสาม ไหว้หลวงพ่อนาคปรกพันปี นมัสการอัฐิหลวงปู่เครื่อง ไหว้พระธาตุ สักการะบ่อน้ำขังศักดิ์สิทธิ์ ประเพณีเหล่านี้สืบสานกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อำเภออุทุมพรพิสัยเป็นอำเภอใหญ่ ความเป็นสังคมเมืองของอำเภออุทุมพรพิสัยขยายเพิ่มมากขึ้น เมื่อชุมชนเป็นสังคมเมืองมากขึ้นทำให้ วิถีการใช้ชีวิตบางอย่างขาดหายไป เช่น ในอดีตจะมีการใส่ผ้าถุง หลายพื้นที่มีการใส่ผ้าถุงใส่เสื้อแส่ว ปัจจุบันไม่มีแล้วเด็กรุ่นใหม่สวมใส่เสื้อผ้าไปตามเทรนแฟชั่น
เฟรม ตอนนี้พวกเราทำสื่อออกไปเผยแพร่ใน Facebook แล้ว
ถาม ขั้นตอนเราเดินทางใกล้จะเสร็จแล้วใช่ไหม?
เฟรม ตอนนี้ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์แล้ว คือว่าเราจะทำสื่อจะค่อยๆ นำเสนอไปเรื่อยๆ จะไม่นำเสนอครั้งเดียว ค่อยๆ ปล่อย เราจะทำสารคดีเกี่ยวกับบริบทของอำเภออุทุมพรพิสัย โดยขอข้อมูลจากอาจารย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องประวัติของอำเภอ
เฟรม เราก็จะทำเป็นสารคดีเกี่ยวกับอำเภอ บริบทของอำเภอ
ถาม ตอนนี้เพจมีการเคลื่อนไหวอะไรบ้างหลังจากที่เราปล่อยวีดีโอ?
เฟรม มีผู้ติดตามตั้งแต่สร้างเพจมาถึงปัจจุบันประมาณ สามพันกว่าคน ในเวลาประมาณ 4-5 เดือน
ถาม ตามเป้าหมายที่เราวางไว้ไหม?
เฟรม ตอนแรกตั้งไว้แค่พันกว่า เพราะคิดว่าเป็นการท่องเที่ยว คนอาจจะไม่ค่อยสนใจมาก อาจจะดูน่าเบื่อบ้าง ด้วยความที่เพจของเราไม่จ้างโปรโมทจาก Facebook เราตั้งไปครั้งแรกพันกว่าแต่ตอนนี้เราก็ได้ สามพันกว่าคนแล้ว รู้สึกว่าเราได้เกินเป้าที่เราวางไว้
มิลค์ ผู้ติดตามมีคนที่เขาโตมาจากอำเภออุทุมพรพิสัย แต่ว่าเขามีเหตุจำเป็นที่ต้องไปทำงานที่อื่น ไม่ได้อยู่บ้านก็มาติดตามพวกเรา
ถาม รู้สึกอย่างไรที่คนอุทมพรพิสัยที่อยู่ข้างนอกมาติดตามพวกเรา?
มิลค์ ดีใจมากค่ะไม่คิดว่าจะมีกระแสตอบรับดีขนาดนี้
ถาม มีการคุยกับลูกเพจอย่างไรเพื่อติดตามผล?
เฟรม ช่วงที่ศรีสะเกษเป็นเจ้าภาพในการจัดแข่งขันทักษะวิชาการ ในช่วงนั้นคือมีลูกเพจบางคนเข้ามาถามสถานที่พักในตัวอำเภอ เราก็ให้ข้อมูลสถานที่พักไป มีแอดมินติดต่อกับลูกเพจ
ถาม ถ้าหมดโครงการของเราไปแล้วเพจนี้จะยังอยู่ต่อไปไหม และจะทำอะไรต่อ?
มิลค์/เฟรม เรากำลังคุยกันว่าจะมีการส่งต่อให้รุ่นน้อง ทำต่อไปเรื่อยๆ อาจจะขยายเพจจากอุทุมพรพิสัยเป็นภายนอกอุทุมพรพิสัย แต่ยังคงรูปแบบของการส่งเสริมการท่องเที่ยวไว้เหมือนเดิม
ถาม พวกเราคิดว่าได้เรียนรู้อะไรจากการทำโครงการ?
มิลค์ สำหรับหนูตอนแรกไม่กล้าที่จะทำด้วยซ้ำไป เพราะว่ากลัวว่าผลตอบรับจะไม่เป็นตามภาพที่เราหวัง แต่พอได้ทำผลที่ตอบรับกลับออกมาดี รู้สึกว่ากล้าที่จะทำในสิ่งที่หนูไม่กล้าทำ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการใช้สื่อให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ให้กับพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ ดีใจมากและภูมิใจมาก
พลอย ตอนพี่ๆ มาชวนหนูทำ หนูคิดว่าจะทำดีไหม เพราะว่าหนูไม่ค่อยว่าง พี่ก็บอกว่าไม่เป็นไรค่อยมาประชุมกันก็ได้ หนูเลยตกลงทำ พี่ๆ ดีมากให้คำปรึกษาทุกอย่างได้ร่วมงานกัน ไปลงพื้นที่คุย เก็บข้อมูลและตอนแรกไม่กล้าสร้างเพจขึ้นมา เพราะว่ากลัวจะมีกระแสตอบรับที่ไม่ดี เมื่อคุยกับทุกคนจึงตกลงกันว่าจะลองสร้างดู
มาย สำหรับหนูตอนแรกอาจารย์มาบอกก่อนว่า มีรุ่นพี่ชวนมาทำโครงการ หนูไม่ปฏิเสธเพราะเป็นคนไม่ปฏิเสธใครอยู่แล้ว อาจารย์บอกว่าหาเพื่อนมาอีกประมาณ 4 คนนะ ให้ได้ประมาณ 5-6 คน หนูก็เลยหาเพื่อนมาได้แค่คนเดียว ได้มาทำกับรุ่นพี่ตอนแรกงง หนูเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่เวลาที่ทำงาน รุ่นพี่ให้คำปรึกษาดีทุกอย่างคอยบอกงาน เวลาลงพื้นที่ถ่ายทำวีดีโอ หนูเป็นคนสัมภาษณ์ เตรียมสัมภาษณ์ปรึกษากับรุ่นพี่ พอไปสัมภาษณ์จริงงง จึงปรับตามความเข้าใจ ความอยากรู้ของเรา สัมภาษณ์ออกมาดีมาก เป็นโครงการที่ดีมาก เพราะว่าหนูไม่เคยทำแบบนี้มาก่อน เป็นคนไม่ค่อยคุยกับใคร เวลาที่ไปข้างนอกได้สัมภาษณ์คุณยายก็ทำให้หนูกล้าเข้าหาคนอื่นมากขึ้น กล้าพูดคุยกับผู้อื่นมากขึ้น
เฟรม ผมเริ่มหลังจาก 3 คนนี้ พี่ชวนทำโครงการ มาร่วมประชุม พี่ๆ ตกลงกันว่าจะทำเพจส่งเสริมการท่องเที่ยวผมได้มาทำในส่วนนี้ การเรียนรู้ของผมแยกออกเป็น 2 ส่วน คือตัวผมเองและชุมชน ส่วนที่ส่งผลต่อตัวผมเอง การกล้าแสดงออก ปกติผมเป็นคนที่ไม่ค่อยพูดเห็นไมค์ผมสั่นทันที ได้เรียนรู้ทักษะการพูดมากขึ้นได้ เรียนรู้ทักษะการแสดงความคิดเห็น และใช้ความคิดในการบริหารจัดการ เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง ผมเป็นคนที่ไม่กล้าแสดงออก ดำเนินโครงการมาแล้วก็คิดว่าตัวเองมีส่วนที่พัฒนาขึ้นคือการกล้าพูดกล้าคิด ส่วนชุมชนมีจำนวนผู้ติดตามสามพันกว่าคน น่าจะมีบางคนที่สนใจเข้ามาท่องเที่ยวภายในอำเภอ ผมเห็นว่าตรงนี้มีประโยชน์ต่อชุมชนของเรา
ถาม อุปสรรคในทีมเรามีอะไรบ้าง?
มิลค์ การทำโครงการมีเวลาไม่ตรงกัน มีรุ่นพี่ที่เรียนมหาวิทยาลัย ต้องหาเวลาตรงกันมากที่สุด คุยงานกันพยายามเคลียร์งานให้ว่าง เพื่อมาวางแผนงานร่วมกัน
มาย เรื่องการเดินทาง บางคนไม่มีรถแก้โดยขอติดรถเพื่อนไป
ถาม รู้สึกท้อบ้างไหมใน 18 คนนี้?
พลอย มีบ้างที่ท้อ เรื่องเวลาที่ไม่ตรงกันการประชุมไม่ได้ประมาณนี้ นัดประชุมมาไม่ได้ล้มไปบ้างก็เลยท้อ ก็ต้องประชุมกันครั้งหน้า บอกกับตัวเองว่าไม่เป็นไรนะ ให้กำลังใจตัวเอง
ถาม อะไรทำให้หนูไปต่อ?
พลอย สมาชิกในกลุ่มมองหน้ากันนึกถึงหน้าเขา
ถาม ขอให้ช่วยสรุปว่าทีมเรามีจุดเด่นอะไร ข้อดีอะไรที่ทำให้งาน 70 เปอร์เซ็นต์สำเร็จแล้ว?
มิลค์ หนูรู้สึกว่าเรามีจุดมุ่งหมายเป้าหมายเดียวกันเรามีเป้าหมายเดียวกันคืออยากเผยแพร่ ให้คนภายนอกได้เห็น ว่าพื้นที่ที่เราอาศัยอยู่ตั้งแต่เด็สวยงามขนาดไหน อย่างน้อยเราก็ได้ทำ ถึงจะเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ก็ยังดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย
มิลค์ การที่เรามีปัญหาแล้วไม่ทิ้งกัน ทุกคนต่างสามัคคีกันไม่ว่าจะมีปัญหาเครียดจากอะไร ทุกคนจะบอกว่าไม่เป็นไรสู้ใหม่ แล้วก็จับมือไปด้วยกัน เราจะแชร์กันอยู่ตลอดว่าปัญหาการทำงานแต่ละอย่างคืออะไร การมาเจอกันแต่ละครั้ง ก็จะให้ทุกคนพูดถึงปัญหา เราก็จะค่อยๆ ปรับกันไป อะไรที่ปรับไม่ได้เราก็จะไม่คิดมาก คอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน สู้ไปด้วยกัน
ถาม ถ้าเรามีโอกาสเราอยากจะพัฒนาอะไรต่อไป?
เฟรม รูปแบบทักษะในการทำสื่อ เรื่องของมุมกล้อง อารมณ์ภาพที่เราจะสื่อสารออกมา ในส่วนตรงนี้ถ้าได้กลับมาทำอีกครั้ง อยากจะพัฒนาให้อยู่ในระดับที่ดีไปกว่าเดิม อยากจะพัฒนาในส่วนทักษะการทำสื่อให้ดีกว่าที่เรามีอยู่ อยากขยายพื้นที่ไปยังอำเภอรอบข้าง เช่น อำเภอเมืองจันทร์ ปราสาทเมืองจันทร์ อำเภอห้วยทับทัน บ้านปราสาท
มิลค์ อยากจะดึงน้องๆ รุ่นน้องมายหรือน้องในโรงเรียนที่สนิทกัน ให้มีส่วนร่วมในการทำงานมากขึ้น อยากให้น้องๆ มีส่วนร่วมในการทำงานสานต่องานเพราะว่า พวกหนู ม.6 จบแล้ว กลัวจะไม่มีเวลาว่างมากพอ ต้องไปเรียนที่มหาวิทยาลัย ไม่รู้ว่าจะมีเวลาขนาดไหน ถ้ามีน้องๆ สานต่อก็จะดีมาก