สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย

โครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย  ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล


ชื่อเรื่อง ปลุกตำนานเรื่องเล่ามีชีวิต แกะรอยบรรพบุรุษบ้านเข้าน้อย จังหวัดสตูล ที่คนเกือบทั้งชุมชนเป็นเครือญาติ



จริงๆ แล้วเราควรรู้ประวัติความเป็นมาของบ้านเกิดตัวเองไหม?

แล้วจะมีใครสักกี่คนที่สนใจสืบประวัติความเป็นมาของบ้านเกิดตัวเอง?

ฉันถามตัวเองหลังจากได้ฟังเรื่องเล่าประวัติชุมชนบ้านเขาน้อย ชุมชนมุสลิมหนึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล จากกลุ่มเยาวชนที่อายุน้อยกว่าฉันถึงครึ่งชีวิต

เอาเข้าจริง ถ้ามีใครสักคนมาถามฉันในตอนนี้ว่า บ้านเกิดของฉันมีประวัติความเป็นมาอย่างไร? ฉันคงได้แต่นิ่ง ยิ้มเจื่อนๆ แล้วตอบกลับไปว่า “ไม่แน่ใจเหมือนกันค่ะ”

ชุมชนบ้านเขาน้อย ตำบลย่านซื่อ อำเภอควนโดน จังหวัดสตูล มีอายุยาวนานกว่า 150 ปี จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุ นายทอง สาดีน อพยพมาจากนครศรีธรรมราช เดินทางรอนแรมมาเพื่อหาที่ตั้งลงหลักปักฐาน สร้างที่อยู่และพื้นที่ทำมาหากินแห่งใหม่ กระทั่งมาถึงบริเวณของหมู่บ้านเขาน้อยในปัจจุบัน ในสมัยนั้นถูกเรียกว่า “บ้านเขานุ้ย” ที่มาของชื่อมาจากเขาลูกหนึ่งที่มีขนาดเล็ก ภาษาท้องถิ่นทางใต้ “นุ้ย” มีความหมายว่า “เล็ก” หรือ “น้อย”

เมื่อได้ที่ลงหลักปักฐาน นายทองสมรสกับนางมูนะ ซึ่งเป็นคนจากหมู่บ้านใกล้เคียง (บ้านควนไสน) และให้กำเนิดทายาททำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น และได้ขยายอาณาเขตบ้านเรือนออกไป ต่อมาในปี 2452 บ้านเขานุ้ยได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมู่บ้านโดยใช้ชื่อใหม่ “เขาน้อย” จึงเป็นที่รู้จักในนามบ้านเขาน้อยมาจนถึงปัจจุบัน

ข้อความข้างต้น คือเรื่องเล่าประวัติความเป็นมาของชุมชนบ้านเขาน้อย ที่ถ่ายทอดเรื่องราวลงในเอกสารแผ่นพับ ซึ่งน้องเยาวชนจาก โครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย ร่วมกันค้นหาข้อมูลมาและเรียบเรียงมาเพื่อเป็นเอกสารแนะนำชุมชนของตนเองให้เป็นที่รู้จัก

เนื้อหาในแผ่นพับนำเสนอ 5 หัวข้อหลัก ประกอบด้วย (1) ประวัติความเป็นมา (2) ตำนานบ้านเขาน้อย (3) เครือญาติและวงศ์ตระกูลของชุมชนบ้านเขาน้อย (นายทองกับนางมูนะ) (4) บุคคลสำคัญด้านการปกครอง ผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน ,ผู้นำศาสนา อิหม่าม และ (5) สถานที่สำคัญ และของดีบ้านเขาน้อย

ข้อมูลถูกนำเสนออย่างเรียบง่าย แต่เห็นถึงความพยายามและความตั้งใจที่แฝงอยู่เบื้องหลังตัวอักษรเหล่านั้น


++คนรุ่นใหม่...สนใจเรื่องเก๋า เก่า ++

ปีนี้เป็นปีที่สองที่กลุ่มเยาวชนบ้านเขาน้อยได้เข้าร่วม โครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล (Satun Active Citizen) โครงการมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาแกนนำเยาวชนและแกนนำชุมชนสู่การเรียนรู้ทักษะความเป็นพลเมืองโลก (World Citizen)ภาพความสำเร็จในปีที่ผ่านมาจาก โครงการศึกษาเรียนรู้สุขภาพผู้สูงอายุตามวิถีชุมชน และ โครงการศึกษาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้กลุ่มเยาวชนแกนนำและชุมชนสนิทกันมากขึ้น ลดช่องว่างระหว่างวัยของคนในชุมชน ส่วนเยาวชนเองก็พัฒนาทักษะความคิดและทักษะการใช้ชีวิต ในปีนี้จึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง

“ทำโครงการอะไรกันดี??”

เป็นคำถามง่ายๆ แต่การได้มาซึ่งคำตอบนั้น ต้องใช้เวลาคิดและไตร่ตรอง

เบส-นายนัสรี สลีหมีน อายุ 15 ปี ตัวแทนเยาวชนในโครงการเล่าถึงเหตุการณ์ที่จุดประกายความคิด จนได้เป็นโจทย์ในการทำโครงการของพวกเขาว่า “ตอนแรกพวกเรานั่งประชุมกันว่าจะทำโครงการอะไรกันดี จนมีโอกาสได้ไปร่วมงานวันฮารีรายาที่ มัสยิดดารุลนาอีม มัสยิดประจำชุมชน ในงานมีผู้สูงอายุออกมาเล่าประวัติศาสตร์หมู่บ้านเขาน้อย พวกเราสนใจเพราะไม่เคยได้ยินมาก่อนและคิดว่าถ้าพวกเราไม่ทำเรื่องนี้ ในอนาคตเรื่องราวเหล่านี้คงเลือนหายไปตามกาลเวลา เลยตัดสินใจทำโครงการนี้ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปรู้จักความเป็นมาของชุมชนที่ตัวเองอาศัยอ

ยู่และเกิดความรักและหวงแหนชุมชนบ้านเขาน้อย”


++ค้นหาเครือญาติ...ต้นตระกูลของฉันเป็นใคร++

“จุดเด่นของหมู่บ้านผมคือทุกคนในชุมชนเป็นพี่น้องกันเพราะมีเชื้อสายมาจากต้นตระกูลเดียวกัน ผมอยากค้นคว้าให้น้องรุ่นหลังรู้ว่าพวกเราเป็นเครือญาติกันทั้งหมด” เบสพูดด้วยความภูมิใจเมื่อถามถึงจุดเด่นของหมู่บ้านเขาน้อย หลังทำการลงพื้นที่สอบถามผู้รู้ในหัวข้อวงศ์ตระกูลเครือญาติในชุมชน

หลังได้หัวข้อโครงการ ทีมงานร่วมประชุมเพื่อวางแผนออกแบบกิจกรรม เริ่มต้นหาข้อมูลจากสิ่งที่ไม่รู้ เช่น อดีตความเป็นมาของบ้านเขาน้อยเป็นอย่างไร , บ้านเขาน้อยมีอายุเท่าไหร่, ตระกูลแรกของหมู่บ้านเขาน้อยคือใคร,คนที่บุกเบิกบ้านเขาน้อยคือใคร ,ลักษณะที่อยู่อาศัย วิถีชีวิต อาชีพ ประเพณี วัฒนธรรม ฯ เป็นหัวข้อหลัก ๆ ที่เยาวชนบ้านเขาน้อยต้องช่วยกันหาคำตอบให้กับตัวเอง

นางรอหนา ฉายดีน เป็นผู้รู้ที่ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย

นายหมาด หลีนุ้ย นักปราชญ์ในหมู่บ้านเขาน้อย ช่วยให้ข้อมูลเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลของคนในชุมชน

เบสบอกว่า ทั้งสองท่านเป็นผู้สูงอายุในชุมชนที่ยังจำเรื่องราวประวัติศาสตร์ของชุมชนได้ เพื่อไม่ให้เรื่องเล่าถึงที่มาที่ไปของชุมชนถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา ทีมงานจึงตั้งหน้าตั้งตาสัมภาษณ์รวบรบมข้อมูลให้ได้มากที่สุด

สายที่หนึ่ง สาดีน - โย๊ะหมาด -กูศกุล

สายที่สอง ใบกาเต็ม – สาดอาหลี – เตะหลี

สายที่สาม - หมาดสะ – นุ้ยประดู่ –สลีหมีน – จิตกาหลง –เก็มสัน –โต๊ะสุลนฯ

เป็นข้อมูลที่ปรากฎบนแผนผังเครือญาติ ผลลัพธ์จากฝีมือของเด็กและเยาวชน ที่ทำให้ได้รู้และเห็นอย่างชัดเจนว่าคนในชุมชนล้วนเป็นเครือญาติและมีความเกี่ยวข้องกัน

“ตอนแรกไม่เคยคิดมาก่อนว่าเราจะเป็นญาติกัน ตอนทำงานเวลาพี่ๆ เรียกประชุม พอมีปัญหาเราไม่กล้าเข้าไปสอบถาม แต่พอลงพื้นที่แล้วรู้ว่าพวกเราในชุมชนเป็นพี่น้องกัน มันทำให้ผมมีความกล้ามากขึ้น กล้าเข้าไปสอบถามพี่ ๆ มีความคิดอยากช่วยเหลือกันมากขึ้น” เบส เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเองที่ตัวเขาเองยังประหลาดใจ

เวทีประชาคมของชุมชนเป็นอีกพื้นที่ ที่กลุ่มเยาวชนไปแสดงตัวเพื่อขอความร่วมมือในการเก็บข้อมูล และบอกเล่าถึงเป้าหมายของโครงการให้คนในชุมชนได้รับรู้ จนทำให้พวกเขาได้เก็บข้อมูลในหัวข้อถัดไป นั่นก็คือ บุคคลสำคัญทางศาสนาและการปกครอง

“สวัสดีครับพวกผมตัวแทนจากโครงการศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย พวกเราอยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากทุกคนในวันนี้ เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาให้ละเอียดมากขึ้น หากท่านใดมีข้อมูลให้กับพวกเราสามารถบอกเล่าเพื่อเป็นข้อมูลให้กับทีมงานของเราได้ครับ”

เบสเล่าบทสนทนาของกลุ่มเยาวชนในวันที่ขอความร่วมมือจากคนในพื้นที่

ผลตอบรับที่ได้เป็นที่น่าพอใจ มีผู้ใหญ่ในชุมชนเริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูล บางคนนัดแนะช่วงเวลาเพื่อให้ทีมงานเข้าไปสอบถามข้อมูลที่บ้านอีกครั้ง บรรยากาศในวันนั้นถือเป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานและผู้ใหญ่อยู่ไม่น้อย ต่างฝ่ายต่างมีความสุขที่ได้บอกเล่าเรื่องราว ได้ย้อนอดีตกลับไปรื้อค้นความทรงจำเก่าๆ กลุ่มเยาวชนได้จดบันทึกข้อมูล อัดเสียง อัดวิดีโอ เพื่อไม่ให้ข้อมูลตกหล่น แล้วสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้มาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ชุมชน

ถ้าไม่มีเด็ก ๆ รุ่นนี้ที่หันมาสนใจสืบค้น ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเขาน้อยก็อาจจะเลือนหายไป เสียงสะท้อนจากผู้ใหญ่สร้างความภาคภูมิใจให้กับทีมงานอยู่ไม่น้อย หลังได้ยินคำชื่นชมนั้น

หากพูดถึงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนในโครงการกับคนในชุมชน ทีมงานบอกว่าผลจากการทำโครงการที่ผ่านมาเกี่ยวกับผู้สูงอายุ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ทำให้คนในชุมชนรู้จัก คุ้นหน้าคุ้นตากลุ่มแกนนำเยาวชนอยู่แล้วในระดับหนึ่ง การทำโครงการในปีที่สองจึงได้รับความร่วมมือจากกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านเขาน้อยเป็นอย่างดี

สำหรับโจทย์เรื่อง “บุคคลสำคัญทางศาสนาและการปกครอง”ทีมงานแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่มเพื่อลงพื้นที่ ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นคือการได้ข้อมูลมาหลากหลายแต่ไม่สอดคล้องกัน พวกเขาหาทางแก้ไขด้วยการติดต่อขอข้อมูลจากองค์การบริหารส่วนตำบลย่านซื่อ ซึ่งมีข้อมูลบุคคลสำคัญทางศาสนา ข้อมูลผู้ใหญ่บ้านและกำนัน ในแต่ละสมัย แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันอีกครั้ง เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลที่ถูกต้อง

“พวกเราจัดวงเสวนา เรียกประชุมทั้งเยาวชน ผู้สูงอายุมาล้อมวงร่วมกัน แล้วค่อยๆ ช่วยกันพูดคุยซักถามอีกครั้ง เป็นเรื่องของสถานที่สำคัญที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสำคัญที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย บางคนบอกว่าเขาเดินทางมาแล้วเสียชีวิตลงที่สถานที่นั้น แต่อีกคนบอกไม่เหมือนกัน” เบส เล่าถึงเวทีล้อมวงคุย ที่ทำให้คนต่างวัยได้มาแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน


++ สื่อ...การเรียนรู้คู่ชุมชน ++

“หนังสือการ์ตูนทำมือ” คือผลงานที่ทีมเยาวชนจากชมุชนบ้านเขาน้อยตั้งใจวาดกันเอง เขียนกันเอง ระบายสีกันเอง เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับน้องๆ ในชุมชนได้ศึกษาความเป็นมาของบ้านเขาน้อย

เนื้อหาในหนังสือการ์ตูน ถ่ายทอดเรื่องราวประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน ผ่านตัวละครที่พวกเขารวมกันคิด เปิดเรื่องด้วยความสงสัยใคร่รู้ของเด็กกลุ่มหนึ่งที่อยากรู้จักประวัติของหมู่บ้านเขาน้อย เข้ามาถามเด็ก ๆ ที่ทำโครงการการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย พวกเขาจึงพาเด็กๆ กลุ่มนี้ไปเจอผู้รู้ ทำให้ได้รู้ความเป็นมาของชุมชน

เบสบอกว่า หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ตั้งใจทำให้เด็ก ๆ ในชุมชนได้อ่าน หนังสือถูกออกแบบให้มีสีสัน เพื่อดึงดูดใจเด็กๆ ให้อยากหยิบขึ้นเปิดดู ได้สนุกกับเรื่องเล่าที่ให้เขาได้รู้จักประวัติศาสตร์ของตัวเอง ปัจจุบันหนังสือการ์ตูนประวัติศาสตร์บ้านเขาน้อย จัดวางอยู่ที่ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) ดารุลนาอีม ของชุมชน

ไม่เพียงแค่หนังสือ กลุ่มแกนนำเยาวชนยังทำคลิปวิดีโอแนะนำสถานที่สำคัญบ้านเขาน้อย เช่น สุสานโต๊ะแซะห์ – สุสานของโต๊ะกราหมาด ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางศาสนา, สุสานโต๊ะสาหวาย -บุคคลสำคัญที่เดินทางมาจากอินโดนีเซีย, กอหลำ – แหล่งน้ำสำคัญที่ใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีน้ำให้ใช้ตลอดทั้งปี และ บ่อหลอม – บ่อน้ำที่ใช้ในอดีต หลอมขึ้นจากปูน โดยไม่ใช้ท่อและยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน แฟนเพจ “เขาน้อยบ้านฉัน” เป็นพื้นที่บนโลกโซเชียลมีเดียที่กลุ่มเยาวชนใช้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูล


++พาน้องเล่น...กิจกรรมประวัติศาสตร์ชุมชน++

ภารกิจสุดท้ายที่ทีมงานร่วมกันออกแบบคือการจัดกิจกรรมร่วมกับน้องๆ ในชุมชน เพื่อบอกเล่าเรื่องประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน

มัสยิดดารุลนาอีม คือ พื้นที่ในการรวมตัวของเยาวชนสำหรับจัดกิจกรรมนี้ เด็กที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากศูนย์ตาดีกา เพราะอยู่ในพื้นที่ของมัสยิดอยู่แล้วจึงง่ายต่อการจัดงาน

แผ่นพับถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำกิจกรรม ให้น้องๆ แบ่งกลุ่มระดมความคิด พูดถึงประวัติชุมชนที่ชอบหรือสนใจจากทั้งหมด 5 หัวข้อ แล้วส่งตัวแทนออกมานำเสนอ

“ผลตอบรับในวันนั้นน้องชอบและดีใจ มีหลายคนถามว่าเมื่อไหร่จะมีกิจกรรมแบบนี้อีก เพราะน้องอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้สม่ำเสมอ” เบสเล่า

เบสบอกว่ามีน้องบางคนที่แอบดื้อ งอแงอยากกลับบ้าน จึงต้องหลอกล่อด้วยการนำเสนอของรางวัลให้เป็นการตอบแทน

“พวกน้องทำแบบนี้ดีมาก ลุงอยู่ชุมชนบ้านเขาน้อยมา 60 กว่าปีแต่ยังไม่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านเขาน้อย” คุณลุงคนหนึ่งเอ่ยกับเด็กๆ

“คนในชุมชนสะท้อนให้ฟัง ผมรู้สึกดีใจที่เราได้เป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่ได้ค้นคว้าประวัติชุมชนของตนเอง” เบส บอกว่า นาทีนั้นเขาประทับใจมาก ทำให้เขาและทีมงานมีกำลังใจในการทำงานเพื่อชุมชนต่อไป

ก่อนนี้ถ้าถามเบสเกี่ยวกับประวัติชุมชน เบส บอกว่า สิ่งที่เขารู้เท่ากับศูนย์ แต่ยิ่งทำโครงการ ได้สืบค้น ยิ่งได้รู้จักและทำให้เบสรู้สึกรักและอยากพัฒนาต่อยอดโครงการไปสู่การจัดการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ผ่านกิจกรรมการปั่นจักรยานหรือรถสามล้อ พานักท่องเที่ยวไปตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ เขาอยากให้บ้านเขาน้อยเป็นที่รู้จักของคนภายนอก ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน แต่ส่วนสำคัญเป็นเพราะเขารู้สึกภาคภูมิใจจนอยากบอกต่อ

จากเด็กผู้ชายหลังเสา เวลามีงานทีไรเขามักหลบหลีกไป ไม่กล้าจับไมค์ แต่เพราะเข้าร่วมกิจกรรมและได้รับการฝึกฝนทักษะการทำงานจากโครงการ ได้ขยับขึ้นมาเป็นแกนนำหลักในปีที่สอง เบสเห็นพัฒนาการของตัวเอง

จากโครงการในปีที่หนึ่ง ที่เคยมีพี่ ๆ ช่วยตอบคำถามให้ แต่มาปีนี้รุ่นพี่ต่างแยกย้ายออกไปเรียนทำให้เหลือเบสและเพื่อนสมาชิกใหม่ สถานการณ์จึงบังคับให้เบสต้องก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำ กล้าจับไมค์และพูดบอกเล่าเรื่องราวของตนเองและโครงการให้คนอื่นฟังอยู่บ่อยๆ จนกลายเป็นเรื่องที่ทำเป็นประจำ วันนี้เด็กชายหลังเสาได้กลายเป็นคนกล้าแสดงออกในที่สุด

“ผมได้เป็นนักเรียนเข้ารับการประเมินนักเรียนพระราชทาน ปีการศึกษา 2563 ในวันประเมินผมได้นำโครงการที่ผมทำ นำเสนอคณะกรรมการ และได้นำเทคนิคการพูดที่ได้จากโครงการนี้ คือความกล้าแสดงออกมาพูดนำเสนอ ผลออกมาคือผมได้รับรางวัลพระราชทานในปี 2564 เป็นความภาคภูมิใจของผม” เบสบอกเล่าเรื่องราวสุดประทับใจด้วยรอยยิ้มเต็มหน้า

จากความตั้งใจในการสืบค้นข้อมูลความเป็นมาต้นตระกูลของคนในชุมชน และความเป็นมาของหมู่บ้านที่ตนอาศัยอยู่ กลุ่มเยาวชนรักษ์เขาน้อยทำให้ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของชุมชนถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ชุมชนบ้านเขาน้อยกลับมามีชีวิตชีวา เพราะไม่ใช่แค่เพียงการรับรู้ประวัติศาสตร์ของชุมชน แต่เรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นได้สร้างความสัมพันธ์ระหว่างเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้นำทางศาสนา ก่อเกิดเป็นความรักความผูกพันของคนในพื้นที่เพราะทุกคนคือเครือญาติ เพราะทุกคนคือพี่น้องกัน

บางทีอาจถึงเวลาแล้วที่ฉันน่าจะลงมือสืบเสาะหาประวัติความเป็นมาของชุมชนตัวเองบ้างเหมือนกัน!

//////////////////////


บทสัมภาษณ์โครงการเด่น โครงการประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านเขาน้อย


ทีมเยาวชน

  1.  นัสรีย์ สลีหมีน ชื่อ เล่น เบส   การศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนธรรมศาสตร์วิทยา
  2. นุชญานา บากาโชติ ชื่อเล่น นุช   การศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่5 โรงเรียนควนโดนวิทยา
  3. จัสมินทร์ ใบน่าหวี ชื่อเล่น มิน   การศึกษาช้้นมัธยมศึกษาปีที 4 โรงเรียนอิสลามวิทยามูลนิธิ
  4. นางสาวหัซวานี สกุลา ชื่อเล่น นีนี่   การศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่4 โรงเรียนดารุลมาอาเรฟมูลนิธิ



ถาม : ทั้ง 4 คนเคยทำงานเมื่อปีที่แล้วมาก่อนหรือเปล่า

นุช : ปีที่หนึ่งเบสเคยทำโครงการ


ถาม : ตอนที่เบสทำโครงการปีที่หนึ่งทำเรื่องอะไร

เบส: โครงการปีที่หนึ่งชุมชนเราทำสองโครงการ ผมรับผิดชอบทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องยาเสพติด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในพื้นที่สาธารณะ ส่วนอีกกลุ่มทำโครงการเกี่ยวกับผู้สูงอายุ


ถาม : ปีที่สองเราทำโครงการอะไร

เบส : ปีที่สองทำโครงการการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน


ถาม : อะไรคือแรงบันดาลใจให้ทำโครงการต่อในปีนี้

เบส : พอจบโครงการปีที่หนึ่ง มาประชุมกับพี่ๆ ว่าจะทำโครงการอะไรกันต่อดี เหตุผลที่ได้มาทำโครงการนี้เกิดขึ้นตอนมัสยิดจัดกิจกรรมวันฮารีรายา ให้ผู้สูงอายุได้ขึ้นไปเล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน  หลังจากนั้นผมกับพี่คิดกันว่าถ้าหากไม่หยิบประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านขึ้นมาพูดถึง แล้วลูกหลานรุ่นต่อๆ ไปจะรู้ไหมว่าประวัติของหมู่บ้านเป็นอย่างไร มีสถานที่สำคัญอะไรบ้าง  วัตถุประสงค์ของโครงการก็คือให้ลูกหลานรุ่นต่อไปได้รู้ประวัติของชุมชนและเกิดความหวงแหนชุมชนของตัวเอง


ถาม : ตอนที่เราทำโครงการ ณ ตอนนี้มีสมาชิกทีมเดิมกี่คน

เบส : 3 คน เพราะว่าพวกพี่ ๆ ที่ทำโครงการปีที่แล้ว ต่างคนต่างไปเรียนระดับมหาวิทยาลัย พวกเราเลยสานต่อเป็นรุ่นน้องรุ่นที่สอง


ถาม : พอจะเล่าเหตุการณ์เมื่อตอนที่เราไปฟังผู้สูงอายุ เล่าเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชนให้ฟังหน่อย ว่าเขาเล่าเกี่ยวกับอะไร พวกเร่สนใจ

เบส : ที่น่าสนใจเกี่ยวกับสถานที่สำคัญของหมู่บ้าน วงศ์ตระกูล บุคคลสำคัญทางศาสนา และประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน


ถาม สถานที่สำคัญของหมู่บ้านเรามีอะไรบ้าง

เบส : สถานที่สำคัญของหมู่บ้านเรามีเยอะ แต่ที่หยิบมาทำโครงการมี 5 สถานที่สำคัญ สถานที่แรกคือสถานที่เครื่องบินตก เครื่องบินจากประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินบินผ่านชุมชนบ้านเขาน้อย มีเหตุขัดข้องทำให้มาตกที่บ้านเขาน้อย เลยเป็นจุดเด่น สถานที่ที่สองกุโบว์ของโต๊ะกาหมาด เป็นกุโบว์ที่มีความโดดเด่นซึ่งคนนี้ได้เดินทางมาจากอินโดนีเซีย แล้วมาตั้งถิ่นฐานที่เขาน้อยเหนือ เป็นคนที่มีวิชาเวทมนต์ต่าง ๆ แล้วมาเสียชีวิต ร่างของเขาเลยถูกฝังไว้ที่บ้านเขาน้อย สถานที่ที่สามกุโบว์โต๊ะสวาย เป็นคนที่เดินทางมาที่อินโดนีเซียเหมือนกัน เป็นบุคคลที่ริเริ่มเกี่ยวกับการค้า การเกษตร พอเสียชีวิตก็ได้นำศพมาฝังไว้ที่บ้านเขาน้อยเช่นกัน สถานที่ที่สี่บ่อหลอมเป็นบ่อที่มีน้ำไม่มีวันหมด มีน้ำไหลเวียน เป็นบ่อที่คนในชุมชนได้ช่วยกันหลอมขึ้นมาเอง เวลาไม่มีน้ำใช้จะไปที่บ่อหลอม เป็นแหล่งน้ำที่มีน้ำไหลมาจากเขา ไหลมาจากป่า ไม่มีวันหมด ไหลเวียนตลอดทั้งปี ให้คนหมู่บ้านได้นำมาใช้ สุดท้ายเรียกว่ากอหลัม ชื่อเดิมมาจากภาษาอาหรับ แปลว่าปากกา เพราะว่าที่นั่นมีก้อนหินสีดำ เวลาในชุมชนมีงาน เขาจะไปเอาหินจากที่ตรงนั้นมาเป็นคล้ายหมึกสำหรับเขียน มีอีกหลายที่ที่ไม่ได้ยกมาในโครงการ เช่น หลุมหลบภัยของชุมชนบ้านเขาน้อยเมื่อสงครามโลกครั้ง ๒ เวลาเกิดเหตุระเบิดคนชุมชนเข้าไปหลบในหลุมหลบภัย แต่ว่าตอนนี้มีการถมดิน ทำเป็นบ้านเรือนแล้วเลยไม่ได้ดู เลยหยิบมาให้ดูห้าสถานที่


ถาม : อะไรทำให้เราตัดสินใจยังทำโครงการต่อในปีนี้

เบส : โครงการที่หนึ่งโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ พวกผมทำจนสำเร็จ แล้วแต่ยังไม่100% พอจบโครงการที่หนึ่งก็มาทำโครงการที่สอง ตอนแรกมานั่งประชุมกันระหว่างผู้สูงอายุและผู้นำศาสนา มาคุยกันว่าโครงการที่ในปีที่สองเราจะทำอะไรกันดี ก็เลยตกลงกันว่าจะทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชนบ้านเขาน้อย


ถาม : แล้วทำไมเบสถึงตัดสินใจทำโครงการในปีนี้ ทำแล้วหรือว่ารู้สึกชอบอะไรในโครงการนี้

เบส : เพื่อให้รุ่นน้อง รุ่นลูกเขาได้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชุมชน ให้เขาได้หวงแหนว่าชุมชนของเราก็มีของดีนะ


ถาม : แล้วอย่างอีก 3 คน ปีแรกเรายังไม่ได้เข้าโครงการใช่ไหม แล้วมาร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร ใครไปชวน

นุช : รู้จักกับพี่ ๆ ที่ทำโครงการในปีแรกอยู่แล้ว รู้ว่าเขาทำงานเพื่อชุมชน เห็นว่าโครงการสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของเราก็เลยอยากมาร่วมทำโครงการนี้ ไม่เชิงว่ามาชวน แต่ว่าเราก็อยากมาทำด้วย


ถาม : อย่างสถานที่สำคัญเราได้ไปแล้ว เราทำเกี่ยวกับเรื่องของ ประวัติศาสตร์ชุมชน และอะไรอีกที่เราอยากรู้

นุช : พวกหนูพึ่งเข้ามาตอนปีนี้เลยไม่รู้เรื่องโครงการนี้


ถาม : ให้เราเล่าเกี่ยวกับโครงการนี้พวกเราได้ทำไหมโครงการในปีนี้

นุช : ยังค่ะ


ถาม : ตอนที่เขาไปลงพื้นที่ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน พวกเราได้ไปกับเขาด้วยไหมคะ

นุช : มาช่วงหลัง ๆ แล้วค่ะ


ถาม : เบสลองเล่าให้ฟังหน่อยค่ะว่าอย่างเรื่องของวงศ์ตระกูลเราทำอะไรบ้างในโครงการ

เบส : พวกผมไปสอบถามผู้สูงอายุในหมู่บ้านให้เขาช่วยเล่าเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลดั้งเดิมของหมู่บ้านเขาน้อย หมู่บ้านเขาน้อย วงศ์ตระกูลดั้งเดิมคือ วงศ์ตะกูลสาดีน แบกาดิม และดีเสน หลังจาก 3 ตระกูล แต่งงานมีลูก และได้นามสกุลจากหลายพื้นที่ หลายนามสกุล เช่น ยอหมาด สาดอาหลี ฯ ก่อนที่จะเกิดเป็นตระกูลมีต้นตอ คนที่มาบุกเบิก วงศ์ตระกูลมีเยอะ แต่ว่าผมไปถามผู้สูงอายุเขาบอกว่าเขาจำได้แค่นี้ ๆ เขาบอกว่า มีนายทอง กับนางมูนะ ได้มาแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกัน เขามีลูกทั้งหมด 6 คน หลังจากมีลูกแล้วลูกของเขาก็ได้แต่งงาน และได้สืบทอดไปเรื่อยๆ จุดที่เด่นของหมู่บ้านของผมก็คือทุกคนในหมู่บ้านเป็นพี่น้องกันเอง เพราะว่ามีเชื้อสายมาจากต้นตระกูลเดียวกัน นั่นคือจุดเด่นที่ผมอยากที่ค้นคว้าหา เพื่อให้คนรุ่นหลังหรือรุ่นน้องได้รู้ว่าคนในหมู่บ้านของเราเเป็นทายาทกัน


ถาม : ตอนที่เราทำข้อมูลเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลลองเล่าขั้นตอนวิธีการทำงานให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าเราไปหา ข้อมูลได้อย่างไร หรือว่าเราใช้วิธีการอะไรบ้างในการเก็บข้อมูลพวกนี้ถึงรู้ว่าคนในชุมชนเป็นพี่น้องกัน

เบส : มีการแบ่งกลุ่ม เช่นกลุ่มหนึ่งไปสอบถามคน ๆ นี้ที่รู้ อีกกลุ่มก็ไปสอบถามอีกคนแล้วเขียนบันทึก นำคำพูดต่างๆ มาวิเคราะห์ด้วยกัน ถึงจะได้ข้อมูลที่ชัดเจน หลังจากนั้นก็ได้รู้ว่าคนในหมู่บ้านเป็นพี่น้องกันหมดเลย จากการสอบถาม


ถาม : แบ่งกลุ่มกันลงพื้นที่เพื่อสอบถาม ตอนนั้นเราถามอะไรบ้างจำได้ไหม

เบส : ถามเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน สถานที่สำคัญว่ามีอะไรบ้าง เครือญาติ วงศ์ตระกูลและก็ผู้นำด้านศาสนา

เบส : ณ ตอนนี้คนในหมู่บ้านมีอยู่หลายคนที่ยังไม่เสียชีวิต ยังเป็นลูกหลานของต้นตระกูลก็ได้ไปสอบถามเขาเล่าให้ฟังว่ามีนายทอง กับมูนะ เป็นต้นตระกูล มีลูก 6 คนหลังจากนั้นก็มีการสืบทอดกันมา เลยรู้ว่าคนในหมู่บ้านเป็นพี่น้องกันทั้งหมด


ถาม : ตอนที่เรารู้ว่าคนในชุมชนเป็นพี่น้องกันหมดเลย เรารู้สึกอย่างไรบ้างตอนนั้น เคยคิดไหมว่าเราจะเป็นญาติกัน

เบส : ไม่ครับเราไม่เคยคิดมาก่อน เขาเรียกไปประชุมก็ไปประชุม เวลามีปัญหาก็ไม่กล้าเข้าไปสอบถาม แต่หลังจากที่รู้ว่าคนในชุมชนเป็นพี่น้องกัน เป็นเครือญาติ เวลามีปัญหาก็มีการไป  สอบถามพี่ ๆ มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้น


ถาม : ที่บอกว่าเวลามีปัญหาแล้วไม่กล้าไปถาม ปัญหาที่เราว่าคือปัญหาอะไร

เบส : เป็นปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน เขาให้งานมาแบบนี้ ๆ แบ่งกลุ่ม ๆ พอเราทำไม่ได้ก็ไม่กล้าที่จะไปซักถาม แต่พอรู้ว่าคนในหมู่บ้านเป็นพี่น้องกัน ก็กล้าที่เข้าไปซักถามพี่ ๆ


ถาม : แล้วคนในชุมชนหลังจากที่เรารู้ว่าทุกคนเป็นญาติกัน เป็นพี่น้องกัน เรารู้สึกอย่างไรบ้าง ความรู้สึกเปลี่ยนไปไหม

นุช : มันก็ไม่ได้เปลี่ยน เพราะว่าในชุมชนเราก็อยู่เหมือนพี่น้องกันอยู่แล้ว


ถาม : ตอนที่เราลงพื้นที่เพื่อไปสอบถามข้อมูลเจอปัญหาอะไรบ้างไหม

เบส : เจอครับ พอเราแบ่งกลุ่มไปถาม อีกกลุ่มไปถามอีกคนหนึ่ง อีกกลุ่มก็ไปถามอีกคน ต่างคนต่างให้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกันนั่นคือปัญหา พอมีข้อมูลไม่เหมือนกัน ยากที่จะค้นคว้า จากนั้น พอได้ข้อมูลจากทั้งสองแหล่งก็นำมาวิเคราะห์เข้าด้วยกันโดยซักถามอีกหนึ่งคนที่มีความรู้ แล้วช่วยกันคิดหลังจากนั้นก็ได้ข้อมูลที่แท้จริงมา


ถาม : ลองยกตัวอย่างให้ฟังได้ไหมว่าข้อมูลที่ไม่เหมือนกันเกี่ยวกับอะไร

เบส: เกี่ยวกับสถานที่สำคัญ อีกคนหนึ่งว่าบุคคลสำคัญที่มาจากประเทศอินโดนีเซีย เขาได้เสียชีวิตตรงนี้ แต่อีกคนบอกว่าเขาเสียอีกที่ ให้ข้อมูลไม่เหมือนกัน


ถาม : แล้ววันนั้นเราไปหาข้อมูลอย่างไร เราถึงได้ข้อมูลที่ตรงกันได้ วิธีการ

เบส : ตอนแรกที่มีปัญหาจะไปซักถามพี่เลี้ยงก่อน แล้วหลังจากนั้นมานั่งพูดคุยกันเพื่อที่จะหาทางแก้ไข  เรียกประชุมทั้งเยาวชน ผู้สูงอายุมานั่งด้วยกัน หลังจากนั้นมีการพูดคุย มีการคิด วิเคราะห์ด้วยกัน มีการรื้อฟื้นความจำ หลังจากนั้นพอมาซักถามเขาก็บอกว่าวันนั้นที่บอกไป บอกผิดทำให้เรารู้ข้อมูลที่เป็นจริง


ถาม : มีปัญหาแบบบ่อยไหม ที่ให้ข้อมูลไม่ตรงกัน

เบส : ไม่ค่อยบ่อยครับ


ถาม : ถ้าพี่จะให้เบสลองไล่ลำดับกิจกรรมในการทำในโครงการเกี่ยวกับการศึกษาประวัติศาสตร์ในชุมชนพอจะจำได้ไหมว่าเราทำกิจกรรมอะไรบ้าง

เบส : หลังจากที่โครงการที่หนึ่งได้จบไป เริ่มเข้าโครงการที่สองหลังจากที่พวกผมได้นั่งประชุมกันแล้วได้  ข้อสรุปว่าโครงการที่สองจะทำเรื่องอะไร เราก็แบ่งหน้าที่ ลงพื้นที่ไปสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาก่อน หลังจากนั้นพอได้ประวัติศาสตร์แล้วไปถามเกี่ยวกับวงศ์ตระกูลเครือญาติ หลังจากที่ได้สองข้อมูลนี้มาแล้ว มาคิดกันก่อนว่าข้อมูลต่อไปเราจะทำอะไรอีก หลังจากหาวงศ์ตระกูลแล้วก็ไปสอบถามเรื่องบุคคลสำคัญเช่น กำนัน หลังจากที่ถามบุคคลสำคัญแล้วไปสอบถามบุคคลสำคัญทางศาสนา เช่น โต๊ะอิหม่าม ว่าจาก พ.ศ. นั้นถึง ปัจจุบันมีใครบ้าง หลังจากนั้นก็หาสถานที่สำคัญว่ามีที่ไหนบ้าง


ถาม : พอเราได้ข้อมูลเสร็จแล้วเราเอามาทำอะไรต่อ

เบส : พอได้ข้อมูลแล้วนำมาคิดวิเคราะห์อีกครั้งว่าเป็นข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ พอหลังจากที่เรา  รู้แล้วว่าเป็นข้อมูลจริง เรานำข้อมูลมาทำเป็นหนังสือ แผ่นพับ ใส่ข้อมูลประวัติศาสตร์ความเป็นเขาน้อย เล่าประวัติศาสตร์โดยย่อ ต่อไปเป็นวงศ์ตระกูลหรือเครือญาติ บุคคลสำคัญ อิหม่าม กำนัน สุดท้ายได้ทำเป็นความรู้เกี่ยวกับสถานที่สำคัญ หลังจากที่ทำหนังสือแล้วก็มีการจัดกิจกรรมให้กับน้องๆ ให้ความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้าน เชิญผู้ใหญ่มาให้ความรู้กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน


ถาม : น้อง 3 คนเข้ามาในช่วงไหน

นุช: หนูเข้ามาตอนเกือบจะปิดโครงการแล้วค่ะ


ถาม : อยากรู้ว่าทำไมตอนที่ตัดสินใจลงพื้นที่ไปหาข้อมูล ทำไมเราถึงอยากรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เรื่องของวงศ์ตระกูลเครือญาติตอนนั้นเรามีเป้าหมายในการหาข้อมูลนี้เพื่ออะไร

เบส: วัตถุประสงค์ คือ อยากเก็บข้อมูลให้ได้ประวัติศาสตร์ของบ้านเขาน้อยที่ถูกต้องเป็นรูปธรรม มีคนแนะนำมาว่าให้มีการอัดคลิปลงเพจ ยูทูป อีกอย่างคืออยากให้บุคคลรุ่นหลังได้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านตัวเอง ถ้าหากพวกผมไม่มาทำก็ไม่มีรุ่นไหนที่จะมาทำแล้ว เพราะว่าพวกผมเป็นรุ่นแรกของหมู่บ้านที่ได้มาทำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เยาวชนรุ่นแรกของหมู่บ้านเลย


ถาม : ลงไปเก็บข้อมูลสัมภาษณ์จากผู้รู้กี่คน

เบส : ครั้งแรกไปถามหนึ่งคนก่อนเพื่อให้ได้รับข้อมูลแบบคร่าว ๆ มาก่อน หลังจากได้รับข้อมูลคร่าว ๆ  แล้วก็ถามอีกว่าในหมู่บ้านนี้มีบุคคลไหนบ้างที่รู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์นี้อีก เขาก็บอกว่าคนนี้ๆ รู้เรื่องผมกับพี่ๆ ก็เข้าไปสอบถามอีกหนึ่งคนเพื่อที่จะได้ความรู้เกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้าน


ถาม : คนที่เราถามคนแรกชื่ออะไร

เบส : ชื่อนางรอหนา สาดีน


ถาม : คนนี้มีความสำคัญอย่างไร

เบส : เป็นผู้ใหญ่ที่รู้เรื่อง คนแก่บ้านผมเริ่มมีอายุเยอะพอมีอายุเยอะความจำเริ่มเสื่อม ความจำไม่ค่อยแม่นยำ มีไม่กี่คนที่ยังจำได้อยู่หนึ่งในนั้นก็คือนางรอหนา สาดีน


ถาม : ไปถามจากคนนี้ก่อนแล้วค่อยถามต่อว่ามีใครที่พอจะให้ข้อมูลได้อีกไหม แล้วเราก็เลยไปถามต่อ ประมาณกี่คนที่เราลงพื้นที่ถามข้อมูลผู้สูงอายุ

เบส : ช่วงแรกประมาณ 2 คน อีกคนหนึ่งเป็นผู้ชาย ชื่อนายหมาด หลีนุ้ย ประวัติของเขาคือเป็นนักปราชญ์ของหมู่บ้านเขาน้อยมีความรู้อีกด้านหนึ่งก็เลยหลังจากที่สอบถามคนแรกแล้วก็เลยมาสอบถามคนที่สอง


ถาม : รอหนาอายุเท่าไหร่พอจะรู้ไหมคะ

เบส : ไม่ทราบครับ


ถาม : แล้วอย่างบังหมาด อายุเท่าไหร่

เบส : หกสิบกว่าปี


ถาม : ทั้งหมดแล้วได้กี่คนที่เราลงไปถามข้อมูลผู้สูงอายุตอนลงพื้นที่ครั้งแรก

เบส : ตอนลงพื้นที่ครั้งแรกถาม 2 คน หลังจากนั้นก็เรียกมาประชุมคนทั้งหมดในหมู่บ้าน มาประชุมด้วยกัน ต่างคนต่างให้ข้อมูลที่ไม่เหมือนกัน วันนั้นก็มานั่งวิเคราะห์ด้วยกันจนได้คำตอบที่ถูกต้อง


ถาม : อันนี้ยังอยู่ในส่วนที่ถามแค่ประวัติศาสตร์ชุมชนกับเครือญาติใช่ไหม

เบส : อันนี้รวมหมดทั้ง 5 หัวข้อเลยครับ วงศ์ตระกูล ความเป็นมา ประวัติศาสตร์ สถานที่สำคัญ บุคคลสำคัญ ตำนานของบ้านเขาน้อย


ถาม : แล้วตอนประวัติศาสตร์ กับวงตระกูลเราถามกี่คน

เบส : 2 คนครับ อีกคนหนึ่งถามประวัติศาสตร์ อีกคนถามวงศ์ตระกูล


ถาม : ถามประวัติศาสตร์ใครรอหนา

เบส : ครับ วงศ์ตระกูลถามนายหมาด


ถาม : ยากไหมตอนที่เราต้องไปคุยกับผู้สูงอายุ เจอปัญหาอะไรไหมตอนนั้น

เบส : ไม่ค่อยยากเพราะว่าผู้สูงอายุก็เป็นยาย มีความสนิทกันมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว ไม่พบเจอปัญหาอะไร


ถาม : แล้วบังหมาดเจอปัญหาอะไรไหมตอนเข้าไปถามตอนแรก

เบส : ไม่ครับ


ถาม : เราเอาข้อมูลนี้มาประชุมกันในทีมหลังจากที่ไปถามรอหนากับบังหมาด ทำไมเราถามแค่สองคนนี้เราไม่ถามคนอื่นเพิ่มเหรอ เผื่อมีข้อมูลเพิ่มเติมให้กับเรา

เบส : หลังจากที่ถามสองคนนี้แล้วก็ได้ถามคนอื่นมาแล้วแต่เขาไม่ค่อยรู้ข้อมูลเท่ากับสองคนนี้


ถาม : หลังจากได้ข้อมูลจากสองคนนี้แล้วเราเอาข้อมูลไปทำอะไรต่อตอนแรก

เบส : เอามาประชุมกันเองก่อน แล้วหลังจากนั้นเรียกคนทั้งหมู่บ้านมาประชุม เป็นการจัดกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ไม่ทราบว่าจัดกิจกรรมอะไร แล้วคนทั้งหมู่บ้านมาประชุม เสร็จแล้วก็นำเรื่องที่เยาวชนได้ทำเข้ามาแทรก ทำให้ทุกคนก็ร่วมกันแสดงความคิดเห็นจนได้ข้อมูลแท้จริงมา ว่าประวัติศาสตร์เราเป็นแบบนี้


ถาม : ตอนที่เราเรียกคนในชุมชนมาประชุม เป็นกิจกรรมที่เราชวนเขามาเองหรือว่ามันเป็นกิจกรรมของชุมชนที่เราไปเสริม

เบส : ในชุมชนเขามีอยู่แล้ว พวกผมก็ได้เข้าไปช่วยเหลือในตรงนั้นอยู่แล้ว เลยเอาสิ่งที่พวกผมทำไปแทรกสอบถามคนในหมู่บ้านทั้งหมด

เบส : ผมบอกกับผู้เข้าร่วมก่อนว่าผมได้ทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของบ้านเขาน้อย แล้วผมบอกว่าผมได้ไปถามสองคนแล้วเขาได้ให้ข้อมูลมาพอสมควร อยากได้ข้อมูลอีกนิด เพื่อเอาข้อมูลนั้นไปศึกษาให้ละเอียดมากขึ้น


ถาม : ข้อมูลที่ถามเราถามอะไรบ้างที่บอกว่าอยากได้ข้อมูลเพิ่ม

เบส : อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านว่าเขาปกครองจากปี พ.ศ.ไหนถึงพ.ศ.ไหน เพราะว่าตอนนั้นยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน


ถาม : ทำไมเราถึงต้องอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลสำคัญด้วยตอนนั้น

เบส : ตอนนั้นผมได้หาข้อมูลของประวัติศาสตร์ เครือญาติมาแล้วเหลืออีกข้อมูลที่ยังไม่ได้หา ก็เลยอยากรู้เกี่ยวกับบุคคลสำคัญของหมู่บ้าน อยากเข้าไปค้นคว้า หารายละเอียดเพิ่มขึ้น


ถาม : เราถามในเวทีนั้นเลยหรือว่าแค่แจ้งว่าพวกเราจะลงไปถามข้อมูล

เบส : ตอนแรกจะถามในเวทีเลย แต่ว่าบางคนเขาบอกว่าเขาลืม แต่เขาได้บันทึกไว้ในสมุดที่บ้านแล้วเลยนัดเขาว่าจะลงไปถามอีกที


ถาม : เหมือนถามเขาก่อนว่าใครที่มีข้อมูล หรือพอจำได้ ใครที่มีข้อมูลก็นัดเพื่อที่จะลงพื้นที่อีกทีหนึ่งถูกต้องไหม บรรยากาศวันนั้นเป็นอย่างไรบ้าง คนให้ความร่วมมือเยอะไหมวันงาน

เบส : คนก็มีความสุข ลูกหลานได้มาทำโครงการเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน เขาบอกว่าถ้าหากไม่มีรุ่นนี้แล้วประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านก็จะเลือนหายไปเลย คนรุ่นหลังก็จะไม่รู้เกี่ยวกับประวัติของหมู่บ้าน เขาก็ดีใจ และภาคภูมิใจ


ถาม : เขาเลยยินดีที่จะให้ข้อมูลถูกต้องไหม มีปัญหาไหมในวันนั้น

เบส : ไม่ครับ


ถาม : วันนั้นใครเป็นคนพูดว่าเราทำโครงการนี้แล้วจะมาขอข้อมูล เบสหรือว่าเพื่อนในทีม

เบส : รุ่นพี่ครับ เป็นคนพูด


ถาม : แล้วตอนนั้นเบสทำหน้าที่อะไรจำได้ไหม

เบส : ผมทำหน้าที่ไปประสานงาน แจ้งเขาก่อนล่วงหน้าว่าพรุ่งนี้จะมีการจัดงานในชุมชน พวกผมเอาเรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไปแทรกด้วย บอกว่าใครที่รู้เรื่องเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พรุ่งนี้ให้เล่าออกมาตามที่เขารู้เลยทำหน้าที่ตรงนั้น


ถาม : ตอนที่คนในชุมชนเล่าข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เรามีการจดข้อมูลไว้ด้วยไหม

เบส : มีการถ่ายวิดีโอ บันทึกเสียง บันทึกในสมุด


ถาม : ขอข้อมูลทั้งในเวทีด้วยแล้วก็มีการลงพื้นที่ไปอีกรอบหนึ่งใช่ไหมคะ

เบส : เพื่อที่จะได้คำตอบที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


ถาม : ตอนลงพื้นที่มีปัญหาอะไรไหม เวลาไม่ตรงกันในทีมมีไหมหรือว่าไม่มี

เบส : มีนิดหน่อยเกี่ยวกับเรื่องของเวลา


ถาม : เวลาไม่ตรงกันหรือว่าอย่างไร หรือว่านัดแล้วมาช้า มาสาย

เบส : เหมือนว่าผมนัดตอนเช้า แต่บางคนไปช่วยพ่อแม่เก็บยางก่อน ทำงานก่อนก็เลยเวลาไม่ตรงกับเราเลยมาประชุมว่า ถ้าจัดครั้งหน้าเราจะนัดเวลาไหน เพื่อให้มีเวลาตรงกัน แล้วมาร่วมกันได้ทุกคน หลังจากนั้นก็มีการปรับเปลี่ยนรู้สึกว่าดีขึ้นแล้วครับ ทุกคนมาตรงเวลา ไม่มีปัญหาอะไร


ถาม : เราใช้ช่วงเวลาไหนในการทำกิจกรรมร่วมกัน

เบส : แล้วแต่คนในหมู่บ้านเขาสะดวก ว่าเขาจะสะดวกตอนไหนแต่ส่วนมากคนแถวบ้านไม่กล้าแสดงความคิดเห็นเขาบอกว่าให้เยาวชนนัดเวลากันเองเลยว่าจะทำกิจกรรมช่วงไหนเขาพร้อมที่จะมาให้ความรู้อย่างเต็มที่


ถาม : ก่อนหน้านี้ความสัมพันธ์ของพวกเราเด็ก ๆ ในโครงการกับคนในชุมชนดีแบบนี้อยู่แล้วไหมหรือว่าต่างคนต่างอยู่

เบส : ก่อนหน้านี้ก็ดีแบบนี้อยู่แล้ว โครงการที่หนึ่งพวกผมก็ทำเกี่ยวกับผู้สูงอายุ เช่น การแบ่งกลุ่มลงไปเยี่ยมเยียนผู้สูงอายุ หลังจากนั้นเขาดีใจที่ลูกหลานยังไม่ลืมเขา เขาก็ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมของเด็ก ๆ เยาวชนต่อไป


ถาม : ถ้าย้อนกลับไปก่อนที่จะทำโครงการในปีที่หนึ่งที่เกี่ยวกับมัสยิดกับผู้สูงอายุ คนในชุมชนกับเด็กสนิทกันแบบนี้ไหมหรือว่าต่างคนต่างอยู่ ก่อนที่จะทำโครงการนี้

เบส : ไม่ค่อยสนิทครับผม พอหลังจากที่ได้มาทำโครงการก็รู้สึกว่าคนในชุมชนมีความสนิทสนมกันมากขึ้น


ถาม :พอมาทำโครงการปีหนึ่งทำให้เริ่มสนิทกันมากขึ้นเพราะว่าผู้สูงอายุกับเด็กได้ทำกิจกรรมร่วมกัน พอมาปีนี้เลยไม่ยากที่จะลงไปหาข้อมูลกับพวกเขา ใช้เวลานานไหมในการลงไปหาข้อมูล ตอนแรกเรานัดในเวทีหนึ่งรอบ แล้วลงพื้นที่อีกรอบนึง เราลงพื้นที่แค่หนึ่งวันหรือว่าบ้านละวัน รูปแบบเป็นอย่างไร

เบส : พวกผมจะแบ่งกลุ่มว่าวันนี้กลุ่มนี้ต้องไปที่บ้านหลังนี้เพื่อไปสอบถาม อีกกลุ่มก็ไปบ้านหลังนี้เพื่อสอบถามวันเดียวกันเลย


ถาม : หนึ่งวันต่อหนึ่งบ้านใช่ไหม

เบส : หนึ่งวันก็มีหลายบ้าน แต่ว่าแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม อีกกลุ่มไปอีกบ้าน อีกกลุ่มก็ไปอีกบ้าน


ถาม : รวมๆ แล้วประมาณกี่หลังที่เราไปขอข้อมูลในรอบนี้

เบส : ไม่ทราบเหมือนกัน แต่ที่รู้ ๆ มีสองหลัง แล้วนอกนั้นพี่ ๆ เขาจะไปหาข้อมูลเพิ่มเติมผมยังไม่ได้เข้าไปช่วยในตรงนั้นแต่ที่ช่วยคือช่วยคือบ้านของรอหนา กับนายหมาด ส่วนที่พี่เขาไปหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ยังไม่ได้เข้าไปช่วย


ถาม : แล้วพอตอนเอามารวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล บ้านที่เราลงไปเข้าให้ข้อมูลตรงกันไหม

เบส : ข้อมูลบางส่วนตรงกัน แต่ก็มีบ้างที่ไม่ตรงกัน


ถาม : อย่างรอบนี้พอเราลงพื้นที่ถามเกี่ยวกับเรื่องของบุคคลสำคัญ พอข้อมูลไม่ตรงกันรอบนี้เราใช้วิธีการอย่างไรเพื่อที่จะหาข้อมูลที่เท็จจริง เรียกประชุมชาวบ้านอีกไหมหรือว่าทำอย่างไร

เบส : หาข้อมูลจาก อบต. บันทึกเกี่ยวกับบุคคลสำคัญของหมู่บ้านนี้มีใครบ้างที่เป็นบุคคลสำคัญ ได้ปกครอง ปี พ.ศ.ไหนถึง พ.ศ.ไหน


ถาม : ใครเป็นคนแนะนำพวกเราคุยประชุมกันเองหรือว่าพี่เลี้ยงแนะนำ

เบส : พี่เลี้ยงเป็นคนแนะนำ ผมก็ไปหาข้อมูลกันเอง


ถาม : อบต.ให้ความร่วมมือดีไหม

เบส : ให้ความร่วมมือดีครับผม คนในหมู่บ้านผมมีหลายคนที่ทำงานที่นั่นอยู่แล้ว ก็ไปสอบถามข้อมูลว่าเด็กเยาวชนบ้านเขาน้อยมาหาข้อมูลเขาก็เลยยินดีที่จะให้ความรู้


ถาม : หลังจากได้ข้อมูลแล้วก็เอามารวบรวมเพื่อที่จะทำเป็นแผ่นพับใช่ไหมคะ ใครเป็นคนคิดว่าจะต้องทำเป็นแผ่นพับรวบรวมข้อมูลประวัติศาสตร์

เบส : พวกพี่ ๆ เขาคิด ไม่ได้มีเฉพาะแผ่นพับ มีหนังสือการ์ตูนประวัติศาสตร์หมู่บ้านเขาน้อย แผ่นพับ วิดีโอ


ถาม : อย่างหนังสือการ์ตูนเรานำเสนอข้อมูลอะไรของเราเหมือนในแผ่นพับไหม

เบส : ประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน มีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ทำโครงการอยู่แล้ว กับเด็กที่ยังไม่รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้าน เด็กกลุ่มนั้นก็อยากรู้ประวัติของหมู่บ้านก็ได้มาถามเด็กกลุ่มที่รู้ กลุ่มที่รู้ก็พาเด็กที่ไม่รู้ไปสอบถามคนที่รู้ ก็ได้ทำเป็นหนังสือ


ถาม : หนังสือการ์ตูนนี้เราทำกี่เล่ม หรือว่าแค่เล่มเดียว ชุดเดียว

เบส : ตอนนี้มีแค่ชุดเดียวครับ พวกผมไม่ได้ทำกับคอมพิวเตอร์ วาดรูปเอง เขียนเอง ระบายสีเอง


ถาม : ใครเป็นคนวาด

เบส : พวกพี่ๆ ครับผม ตอนแรกผมว่าจะวาดแต่ว่าวาดรูปไม่สวย


ถาม : แล้วเบสทำอะไร

เบส : เขียนครับ


ถาม : อย่างหนังสือการ์ตูนเราตั้งใจจะทำให้ใครอ่าน

เบส : ตั้งใจทำให้เด็ก ๆ อ่าน ในหนังสือก็มีสีสันเพื่อที่จะดึงดูดให้เขาได้มาอ่าน จะได้รู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านของตัวเอง


ถาม : แล้วตอนนี้หนังสือการ์ตูนอยู่ที่ไหนแล้ว

เบส : ตอนนี้อยู่ที่ศูนย์ตาดีกา ให้เด็ก ๆ ได้อ่าน


ถาม :เราเห็นว่าเด็กอ่านหรือเปล่า

เบส : ส่วนมากเป็นเด็ก ป.4-6 เขาจะรวมกลุ่มอ่านกันเอง แต่ถ้าเป็นเด็กป.1-2 มีพี่ๆ ไปอ่านให้ฟัง บางทีเขาก็จะจับกลุ่มอ่านกันเอง


ถาม : แล้วอย่างวิดีโอเรานำเสนอเกี่ยวกับอะไร

เบส : นำเสนอเกี่ยวกับสถานที่สำคัญ สอบถามบุคคลสำคัญ จะไปถ่ายวิดีโอตามจุดต่างๆ ของสถานที่สำคัญแล้วนำมาตัดต่อเข้าด้วยกัน


ถาม : ใครเป็นคนตัดต่อ

เบส : พี่ ๆ เขาเป็นคนทำ โครงการปีที่หนึ่งเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้สูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ก็ทำละครเช่นกันเกี่ยวกับยาเสพติดพอมาปีที่สองก็ยังไม่ได้ทำละเอียด ทำแบบคร่าว ๆ


ถาม : วิดีโอเป็นไงบ้าง สำเร็จลุล่วง นำเสนอ เราเอาไปเผยแพร่ที่ไหน

เบส : ในเพจเขาน้อยบ้านฉัน


ถาม : เพจนี้พวกเราทำกันเองหรือว่ามีอยู่แล้วอันนี้

เบส : เรามาทำกันเอง พอมีกิจกรรมอะไรก็จะไปโพสต์ลงในเพจนั้นเลย


ถาม : อันนี้เป็นกิจกรรมในโครงการอยู่แล้วหรือว่าเราพึ่งจะทำ เพจเขาน้อยบ้านฉัน

เบส : เพจนี้ทำทุก ๆ โครงการที่เยาวชนบ้านเขาน้อยได้ทำ โครงการนี้มีกิจกรรมเอาลงในเพจ


ถาม : ตอนถ่ายวิดีโอสถานที่สำคัญเบสได้ไปด้วยไหม

เบส : ไม่ได้ไปครับผม ปีนี้ผมไม่ได้ไป แต่ปีแรกผมเล่นเป็นตัวละครที่แสดงเองในปีที่หนึ่ง แต่ปีที่สองพี่เขาไปถ่ายกันเอง


ถาม : อีกกิจกรรมก็คือจัดกิจกรรมให้ความรู้กับน้อง ๆ ลองเล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าให้ความรู้กับน้อง ๆ เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง

เบส : ให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่พวกผมได้ทำมาทั้งหมด ว่าประวัติศาสตร์ บุคคลสำคัญ สถานที่สำคัญ แต่ว่าส่วนใหญ่ที่จะให้น้องๆ รู้คือประวัติความเป็นมาของหมู่บ้าน ที่พวกผมได้ทำหนังสือการ์ตูนกับแผ่นพับเอาไปแจกกับน้อง ๆ


ถาม : รูปแบบในการจัดกิจกรรมเป็นอย่างไร จัดที่ไหน

เบส : จัดที่มัสยิด ทุกกิจกรรมที่รวมตัวก็จะไปรวมตัวที่อาคารประชุมมัสยิด ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียนที่เรียนที่นั่นอยู่แล้ว ที่ศูนย์ตาดีกา ทำให้มีความง่ายที่จะจัดกิจกรรมให้กับพวกเขา


ถาม : เราจัดอย่างไร มีเกมให้น้องเล่นหรือว่าไปให้ความรู้น้องอย่างเดียว

เบส : มีเกมให้น้องเล่นด้วย จัดแบ่งกลุ่มมีเกมให้เล่น ให้แผ่นพับว่ากลุ่มไหนชอบในหัวข้อเรื่องอะไรบ้างแล้วส่งตัวแทนของกลุ่มมานำเสนอ แล้วให้รางวัล


ถาม : อันนี้เบสทำหน้าที่อะไรในกิจกรรมนี้

เบส : ผมทำหน้าที่พี่เลี้ยงครับผม


ถาม : กิจกรรมนี้ นุช นินี่ เข้ามาร่วมหรือยัง

นุช : ยังค่ะ

เบส: ช่วงนั้นกำลังเข้ามา เข้ามาปรึกษาพี่ๆ เขาทำโครงการอะไรบ้าง เข้ามาช่วย มาสมทบ


ถาม : กิจกรรมที่ทำกับน้อง ๆ น้องเป็นอย่างไรบ้าง

เบส : น้องรู้สึกชอบ ดีใจบางคนก็ถามว่าพี่ ๆ เมื่อไหร่จะมีกิจกรรมแบบนี้อีก น้องๆ อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ


ถาม : ตอนจัดกิจกรรมมีผู้ปกครอง หรือว่าผู้สูงอายุมาร่วมด้วยไหมหรือว่าเราจัดแค่กับเด็กอย่างเดียว

เบส: ถ้าจะจัดให้ความรู้กับเด็กก็จัดแค่เด็กอย่างเดียว แต่ถ้าจัดกิจกรรมแบบให้ผู้ใหญ่มาช่วย มาแก้ปัญหาด้วยกันก็จะจัดแค่ผู้ใหญ่อย่างเดียว แต่ถ้ามีกิจกรรมที่สำคัญ ๆ ก็จะจัดทั้งเด็ก ทั้งผู้สูงอายุพร้อมกันเลย


ถาม : แล้วเคยมีกิจกรรมที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มาทำด้วยกันมีไหม

เบส: มีครับวันฮารีรายอ จัดเวทีที่ด้านหน้ามัสยิด เด็ก ๆ มารับชมการแสดงของผู้ใหญ่ เด็ก ๆ ได้จัดการแสดงกันเองด้วย ทุก ๆ ปีในวันฮารีรายอ ก็จะมีการจัดกิจกรรม การละหมาด รับประทานอาหารด้วยกัน มีกิจกรรมเล่นกีฬา ฟุตบอล ผู้ใหญ่เล่นเปตอง มีหลากหลาย หลังจากที่จัดกิจกรรมตอนบ่ายเสร็จแล้ว มีกิจกรรมฮารีรายอ โชว์ความสามารถ เด็กทุกคนขึ้นแสดงความสามารถ เป็นกิจกรรมที่มีทั้งผู้ใหญ่และเด็กมารวมตัวเข้าด้วยกัน


ถาม : ในตอนจัดกิจกรรมกับน้องๆ มีปัญหาอะไรบ้างไหมในการจัด

เบส : ปัญหาก็มีครับ มีน้องๆ ที่จะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ


ถาม : ไม่ให้ความร่วมมืออย่างไร ดื้อ ซน

เบส : ดื้อ ซนครับผม พอจัดกิจกรรมก็จะหนีกลับไปบ้าน


ถาม : แล้วเราทำอย่างไรกับน้องที่ดื้อ ๆ พวกนั้น

เบส : ก็จะบอกว่าถ้าหากเข้าร่วมกิจกรรมจนจบจะมีรางวัลให้ มีของตอบแทนเล็ก ๆ น้อยๆ เขาก็นั่งฟังกัน


ถาม : มีกิจกรรมอื่นๆ อีกไหมหรือว่าก็แค่จบตรงนี้ให้ความรู้กับน้องๆ

เบส : มีครับ พวกผมได้ทำโครงการมาก โครงการที่จบไปก็เป็นโครงการอ่านกินเล่นที่จัดทั้งจังหวัดสงขลา พัทลุง และสตูล ปีแรกผมได้จัดกิจกรรมเล่น ไปสอบถามว่าในหมู่บ้านเรามีการละเล่นอะไรบ้างในรุ่นก่อน เช่น เล่นหมากเก็บ หมากหลุม พอปีที่หนึ่งจบไปก็เข้าสู่ปีที่สองทำกิจกรรมการอ่าน


ถาม : เมื่อกี้ที่เบสบอกก็คือทำกิจกรรมเกี่ยวกับอ่านกินเล่น แต่ว่าอันนี้เราไปทำร่วมกับนอกพื้นที่ใช่ไหม

เบส : นอกพื้นที่ด้วยแล้วก็ในพื้นที่ด้วย


ถาม : เราเอาข้อมูลของเราไปเผยแพร่ แลกเปลี่ยนกับเข้าเหรอ

เบส: ไปสอบถามผู้รู้เพิ่มว่ากิจกรรมที่ผู้สูงอายุเขาเล่นกันเขาเล่นอะไรบ้าง การละเล่นในสมัยก่อน เช่น การเล่นหมากเก็บ นี่เป็นโครงการที่พวกผมทำอีกหนึ่งโครงการเป็นโครงการที่มีความต่อเนื่อง อีกโครงการหนึ่งก็มีความต่อเนื่องกัน


ถาม : โดยรวมก็คือจบโครงการแล้วสุดท้ายเรามีการจัดกิจกรรมให้ความรู้กับน้อง ๆ ในหมู่บ้าน

เบส : ให้ความรู้แล้วให้น้องๆ มาแสดงความสามารถ กิจกรรมสุดท้ายกิจกรรมถอดบทเรียนว่าน้องๆ ได้อะไรบ้างจากพวกพี่ ๆ พอน้อง ๆ ได้พูดพวกผมก็รวบรวมข้อมูลนั้นมาบันทึกไว้เพื่อคอยตอบให้กับคนที่เขาจะลงมาประเมินโครงการของผมว่าทำโครงการนี้แล้วได้อะไรบ้าง ได้ความรู้อะไรบ้าง นำคำพูดที่น้องๆ ได้พูดในวันนั้นมานำเสนอผู้ที่มาประเมิน ในทุก ๆ งวดจะมีการนำเสนอผลงานว่าพวกผมได้หาข้อมูลแล้ว หมดงวดที่หนึ่งก็ไปนำเสนอให้แก่ผู้ทรงคุณวุฒิ นำเสนอเสร็จแล้วเขาได้ติมาตรงไหนบ้าง เช่น ประวัติศาสตร์นี้จะต้องไปทำ Timeline ก็กลับมาทำและหาข้อมูลเยอะกว่านี้ หลังจากหาข้อมูลแล้วก็ไปนำเสนออีก พอนำเสนอแล้วผู้ทรงคุณวุฒิก็ได้ซักถามข้อมูล นำเสนอประมาณ 3-4 ครั้งพอเสร็จการนำเสนอแล้วพอจะปิดโครงการ เขาลงมาประเมินพื้นที่ว่าเราได้อะไรจากการทำโครงการนี้บ้าง ชุมชนเราได้อะไรจากการทำโครงการนี้บ้าง และพวกเด็ก ๆ เยาวชนมีความรู้เกี่ยวกับโครงการที่พวกผมทำมากน้อยแค่ไหน


ถาม : แล้วเราตอบให้พี่ฟังได้ไหมว่าเราคิดว่าชุมชนได้ประโยชน์อะไรบ้างจากเรื่องที่เราทำ

เบส : ผมได้ลงไปสอบถามผู้รู้คนหนึ่งอายุ 60 กว่าแล้ว เขาบอกกับพวกผมว่าสิ่งที่พวกน้องๆ ทำนี้ดีมากเลย  ลุงอยู่ชุมชนบ้านเขาน้อยมาหกสิบกว่าปีแล้วแต่ไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์บ้านเขาน้อยเลย หลายคนที่เป็นแบบนี้ อยู่มาสามสิบกว่าปีแล้วแต่ยังไม่รู้ถึงประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านตัวเอง ผมก็เป็นเยาวชนกลุ่มแรก ผมก็รู้สึกมีความสุข ภูมิใจ และรู้สนุก ผู้ใหญ่ก็สนับสนุนให้เยาวชนทำต่อไป ทำไปเรื่อยๆ


ถาม : แล้วตอนที่เราได้ยินเขาพูดแบบนี้เรารู้สึกอย่างไรบ้างตอนนั้น

เบส : ภาคภูมิใจ เป็นเยาวชนกลุ่มแรกที่หันมารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านเขาน้อย รู้สึกภาคภูมิใจที่ผู้สูงอายุให้ความร่วมมือจนจบโครงการนี้


ถาม : เบสคิดว่าเราได้อะไรจากการทำโครงการนี้

เบส : ได้รู้หลายอย่าง รู้ถึงการมีความรับผิดชอบมากขึ้น ได้มีระเบียบวินัย มีความตรงต่อเวลา


ถาม สิ่งที่เราเปลี่ยนมากที่สุดจากการทำโครงการนี้

เบส : เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยพูด พอพี่ๆ พูดก็จะไปหลบอยู่หลังเสาเพราะไม่กล้าพูด ไม่อยากพูด แต่โครงการทำให้ มีความกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น ทำให้มีความมั่นใจ


ถาม : มีเหตุการณ์ไหนบ้างไหม ที่เราพอจะยกตัวอย่างให้หน่อยว่าเรารู้สึกว่าเรากล้ามากขึ้น

เบส : ในปีที่หนึ่งพี่เขายังนำอยู่ พอคนในชุมชนมาซักถามเกี่ยวกับกิจกรรมที่เราทำ พวกพี่ๆ เป็นครให้คำตอบทั้งหมดเลย แต่พอมาปีที่สองพวกพี่ ๆ ต่างคนต่างไปเรียนในระดับมหาวิทยาลัยเหลือแต่พวกผมกับพี่ ๆ รุ่นที่สอง พอเขาไม่อยู่แล้วเลยรับหน้าที่ทั้งหมด เวลามีกิจกรรมก็ไปทำเองพูดเอง ทำให้ฝึกความกล้าไปในตัว


ถาม : แล้วความรู้สึกของเราที่มีกับชุมชนเปลี่ยนไปไหม

เบส: ความรู้สึกต่อชุมชนเปลี่ยนไปเยอะมาก ก่อนทำโครงการแรก ผู้สูงอายุก็อยู่ส่วนผู้สูงอายุ เด็กก็อยู่ส่วนเด็ก เมื่อผมได้มา ทำโครงการแล้วทำให้คนในชุมชนมีความสนิทกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน พวกผมไม่มีปัญหากล้าเข้าไปสอบถามผู้สูงอายุ โครงการช่วยให้ผู้สูงอายุกับเด็กในชุมชนมีความสนิทสนมกัน หลังจากที่มาทำโครงการนี้


ถาม : เราคิดว่าเราได้ความรู้อะไรใหม่ ๆ หรือว่าเราได้ลองทำอะไรที่ไม่เคยทำมาก่อนบ้างไหมจากการทำโครงการนี้มาสองปี

เบส : ตอนทำโครงการที่หนึ่งผมเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดของโครงการ พอพี่ ๆ ไปประชุมผมก็ไปประชุมกับพี่ ๆ พอพวกพี่ ๆ พูดผมก็นั่งฟัง พี่ไปไหนผมก็ตามไปทุกที่เพราะว่าเป็นเด็กที่อายุน้อยสุดในโครงการ แต่พอมาโครงการที่สองก็รุ่นพี่ไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยกันหมด ก็เลยรับหน้าที่การพูดมาจนถึงตอนนี้ ความรู้ใหม่ก็คือความกล้าแสดงออก ความคิดสร้างสรรค์ เห็นแก่ส่วนรวม


ถาม : เราเอาสิ่งที่เราได้พวกนี้ไปใช้ในชั้นเรียนบ้างไหม

เบส : ผมนำไปปรับใช้ในการเรียน ล่าสุดผมรับการตัดเลือกเป็นนักเรียนพระราชทานปีการศึกษา 2563 พอได้รับการประเมินก็นำกิจกรรมที่ผมทำมานำเสนอให้กับคณะกรรมการนำเทคนิคการพูดที่ได้จากโครงการ ใช้ความกล้าแสดงออกมานำเสนอต่อหน้าคณะกรรมการ ได้ผลมาว่าผมได้รับรางวัลพระราชทานในปี 2564 จาก ร.10 ผมรู้สึกดีใจ ภาคภูมิใจ ตอนแรกไม่คิดว่าจะ ได้รางวัลพระราชทานแต่พอคณะกรรมนำคะแนนไปประเมิน ตรวจกับโรงเรียนที่แข่งกับผม 5 จังหวัดชายแดนใต้ มีสตูล ปัตตานี ยะลา นราธิวาส คะแนนผมนำในทุก ๆ จังหวัด ปีหน้าได้รับรางวัล พระราชทานจากร. 10 มีความภาคภูมิใจมากเลยครับ


ถาม : ถ้าอย่างนั้นเราคิดว่าอะไรที่ทำให้เราเอาชนะเพื่อน ๆ อีก 4 จังหวัดได้ เพราะอะไร

เบส : คนอื่นอาจมีผลงานในโรงเรียนเยอะมาก แต่ผลงานด้านนอกโรงเรียนไม่มี ผมก็มีผลงานในโรงเรียนมากอยู่แล้ว ผลงานนอกโรงเรียนมีเยอะ ทั้งจิตอาสาสาธารณะ เช่น กิจกรรม Active Citizen กิจกรรมเยาวชนป้องกันโรคโควิด-19 กิจกรรมทูบีนัมเบอร์วัน แล้วกิจกรรมที่ผมทำในโรงเรียนก็นำมาบูรณาการเข้าด้วยกัน กิจกรรมตรงนั้นที่ได้คะแนนนำนักเรียนจังหวัดอื่น ที่ส่วนมากมีกิจกรรมภายในโรงเรียนเด่นแต่ภายนอกไม่มีเลยครับ แต่ของผมมีทั้งภายนอกและภายใน กรรมการเขาชื่นชมมากที่เป็นเด็กที่มีความอดทน มีความขยัน ก็รู้สึกดีใจ


ถาม : อย่างตอนนี้โครงการจบแล้วอยากรู้ว่าเรายังทำเรื่องนี้ต่ออยู่หรือเปล่า

เบส : ยังทำต่อ ตอนนี้คิดว่าจะเปิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ คนด้านนอกเข้ามาที่หมู่บ้านเขาน้อยสามารถท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้รู้ประวัติศาสตร์ชุมชน ตอนนี้คิดว่าจะทำเป็นจักรยานหรือว่าเป็นรถสามล้อพ่วง เพื่อนำนักท่องเที่ยวไปยังจุดต่างๆ มีไกด์คอยบอกว่าที่นี่คืออะไรมีความเป็นมาอย่างไรบ้าง


ถาม: ก่อนไปถามผู้รู้ เคยรู้มาก่อนไหมว่าที่หมู่บ้านเรามีสถานที่สำคัญพวกนี้

เบส : ไม่เลยครับ ไม่เคยรู้มาก่อนเลย จริง ๆ แล้วสถานที่มีเยอะกว่านั้นอีก แต่ว่าด้วยความสะดวกต่อการลงพื้นที่ก็หยิบยกมา 5 สถานที่


ถาม : ตอนที่เรารู้ว่าหมู่บ้านเรามีสถานที่สำคัญมากมายขนาดนี้ตอนนั้นเรารู้สึกอย่างไรกับหมู่บ้านของเรา

เบส : อยากเข้าไปศึกษา อยากรู้ให้ลึกกว่านั้นอีก สนุกเหมือนกันครับได้รู้ถึงเหตุการณ์สมัยก่อนของหมู่บ้านเขาน้อย ถ้าเอามาเล่าวันหนึ่งก็เล่าไม่จบ ภูมิใจที่ได้มาทำงานร่วมกับพวกเพื่อนๆ พี่ ๆ น้อง ๆ และคนในชุมชน


ถาม : พวกเราเป็นเด็กสมัยใหม่ทำไมเราถึงต้องมาสนใจอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชุมชน หรือทำไมต้องมาทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุด้วย ทำไมไม่เลือกทำอย่างอื่นที่เหมาะกับช่วงวัยเรา

เบส : ที่เลือกทำกับผู้สูงอายุ เขาต้องการคนดูแล ลูก ๆ ของเขามีงาน ไปทำงานต่างจังหวัดแต่เขาไม่มีความอบอุ่นไม่มีคนดูแล พอมีเด็ก ๆ เยาวชนที่คอยไปเยี่ยมเยียนไปช่วยเหลือ ทำให้เขารู้สึกว่ายังมีคนที่ยังคอยให้ความอบอุ่นให้แก่เขา อยากให้ชุมชนบ้านเขาน้อยมีความเป็นกันเอง ให้ผู้ใหญ่กับเด็กมีความสนิทสนมกัน เพื่อที่จะง่ายต่อการทำกิจกรรม


ถาม : ปกติแล้วเราเป็นคนเข้ากับผู้สูงอายุง่ายอยู่แล้วไหมหรือว่าที่บ้านสนิทกับปู่ย่า ตายายอยู่แล้วไหม

เบส : ครับ ที่บ้านก็สนิทกับปู่ย่าอยู่แล้วแต่ยังไม่สนิทกับบุคคลอื่นๆ แต่พอมาทำโครงการก็มีความสนิทเกือบทั้งหมดของหมู่บ้านเลยครับ


ถาม : ใครเป็นคนสอนเราทำผังเครือญาติ วิธีการทำยากไหมเคยทำมาก่อนไหม

เบส : ไม่ยากไปถามคุณครูในชุมชน ถามพี่เลี้ยงว่าต้องทำอย่างไรบ้าง


ถาม : ขอถามน้องๆ 3 คนหน่อยเมื่อกี้ฟังนุชเหมือนช่วงที่พี่ถามเบสแล้วเราสามารถให้ข้อมูลได้เป็นระยะ ทำไมเราถึงรู้ข้อมูลพวกนี้ด้วย

นุช: เราไปร่วมโครงการตอนที่ให้ความรู้กับคนในชุมชน เราก็พอรู้มาบ้าง


ถาม : ทำไมถึงสนใจอยากมาทำกิจกรรมนี้ร่วมด้วยเพราะอะไร

นุช: เป็นโครงการที่ดี ให้ประโยชน์กับชุมชนและตัวเราด้วยค่ะ


ถาม : เราคิดว่าได้อะไรบ้างที่บอกว่าได้กับตัวเรา

นุช: เรื่องกระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม การกล้าแสดงออก


ถาม : นุชทำโครงการแล้วหรือยังหมายถึงทำโครงการกับ Active แล้วหรือยังหรือว่าพึ่งเข้ามา

นุช : เข้ามาแล้วแต่ว่าไม่ได้ช่วยประมาณนั้น ยังอยู่ในช่วงสังเกตการณ์


ถาม : แล้วอีกสองคนทำไมถึงมาเข้าร่วมโครงการ

นีนี่ : ได้คำเชิญจากพี่ๆ แล้วก็อยากมาเข้าร่วมด้วย


ถาม : เห็นอะไรในโครงการถึงอยากมาเข้าร่วม

นีนี่ : ก็ประมาณนั้นค่ะ อยากร่วมช่วยทำงานกับพี่เขาด้วยค่ะ


ถาม : ถ้าถามถึงความคาดหวังเราคิดว่าเราทำโครงการแล้วเราอยากพัฒนาตัวเองในเรื่องไหนไหม

นีนี่ : อยากค่ะ หลายเรื่องเลย การกล้าแสดงออก


ถาม : อีกคนทำไมถึงอยากมาเข้าร่วม

มิน : พวกพี่ๆ ชวนเข้ามา


ถาม : เราเห็นอะไรตรงไหนถึงมาเข้าร่วม

มิน : ไม่อยากปฏิเสธเพราะว่าอยากช่วยชุมชน ช่วยคนในหมู่บ้านทำงานร่วมกับพี่ ๆ


ถาม : เบสมีการถ่ายทอดข้อมูลความรู้ให้กับเพื่อนๆ ทั้งสามคนไหม

เบส: ถ่ายทอดบ้าง ก่อนที่พี่เขาจะมาเข้าร่วมโครงการผมได้ไปถ่ายทอดความรู้คร่าว ๆ แล้วว่าโครงการพวกผมที่ทำกับพี่ ๆ เป็นโครงการอะไรบ้าง มีข้อมูลอะไรบ้าง พี่ ๆ ทั้งสามคนเลยสนใจมาเข้าร่วมโครงการ


ถาม : ทำไมชุมชนเราถึงชื่อชุมชนบ้านเขาน้อย

เบส : ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุในหมู่บ้านเขาบอกว่าเขาพญามังสา กับเขาเกตรี เขาพญามังสาอยู่อีกหนึ่งหมู่บ้าน กับเขาเกตรีอยู่อีกหมู่บ้านเ ขาสองลูกนี้เป็นสามีภรรยากันและอยู่กินกัน ต่อมาสามีและภรรยาคู่นี้เกิดการทะเลาะกันมีปากเสียงกัน เป็นสาเหตุใหเต้องแยกทางกัน เขาพญามังสาที่อยู่อีกหนึ่งหมู่บ้านได้เดินออกจากเขาเกตรีและนำสัมภาระพร้อมลังไก่ลังหนึ่งในระหว่างทางลังไก่ที่นำมาด้วยได้ตกหล่นลงไป เกิดเป็นเขาน้อย ประวัติความเป็นมาอีกเรื่อง บอกว่าเมื่อประมาณ 150 ปีที่แล้วได้มีนายทอง นางทองสายดี ผู้อพยพมาจากนครศรีธรรมราชเดินทางรอนแรมมาจากนครศรีธรรมราช เพื่อหาทำเลที่ตั้งในการลงหลักปักฐานสร้างที่อยู่และที่ทำมาหากินแห่งใหม่โดยได้เดินทางมาจากบริเวณของหมู่บ้านเขาน้อยในปัจจุบันโดยในสมัยนั้นได้ถูกเรียกว่าบ้านเขานุ้ย ซึ่งเขานุ้ยได้ตั้งมาจากเขาลูกหนึ่งที่มีขนาดเล็กและเขาลูกนี้เป็นที่ลงหลักปักฐานเป็นที่แรก หลังจากนั้นนายทองได้สมรสกับนางมูนะ ซึ่งเป็นคนในชุมชนใกล้เคียงบ้านควนไสน และได้ผลิตทายาททำให้มีประชากรเพิ่มขึ้น และได้ขยายอณาเขตไปทั่วทุกทิศและในปี พ.ศ. 2452 ได้ขึ้นจดทะเบียนเป็นหมู่บ้านโดยใช้ชื่อบ้านเขาน้อยเป็นที่รู้จักในนามบ้านเขาน้อยมาจนถึงปัจจุบัน


ถาม : อันนี้เป็นข้อมูลที่เราหามาได้

เบส : จากผู้สูงอายุในหมู่บ้านครับแล้วนำมาเรียบเรียงอีกที


ถาม : ชุมชนเราอายุกี่ปีแล้วจำได้ไหม

เบส : ประมาณ 150 ปีครับ


ถาม : แล้วในประวัติชุมชนที่พวกเราไปเก็บกันมาเราประทับใจเรื่องไหนมากที่สุด สมมุติพี่เป็นคนต่างถิ่น แล้วไปเจอแล้วเราอยากให้พี่รู้จักชุมชนของเรา เราอยากพูดเรื่องอะไร หรือเรื่องที่เราประทับใจ

เบส: เรื่องของวงศ์ตระกูลและเครือญาติเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ เพราะก่อนทำโครงการทุกคนยังไม่เคยรู้ว่าทุกคนเป็นพี่น้อง เป็นเครือญาติเดียวกันทั้งหมดนี่คือเป็นจุดเด่นของหมู่บ้านเขาน้อย


ถาม : ตอนแรกเบสมีบอกว่าเราไม่รู้ว่าในชุมชนเป็นเครือญาติกัน ทำให้เบสก็กล้าๆกลัวๆ ที่จะไปถามข้อมูล แต่พอเรารู้เหมือนเราผ่อนคลายขึ้น เพราะอะไร แค่เปลี่ยนจากรู้เป็นไม่รู้แต่เราก็รู้สึกเหมือนกล้าขึ้น ผ่อนคลายขึ้น

เบส : มีความกล้าขึ้นหลังจากที่รู้ว่าพวกเราเป็นพี่น้องกัน พอมีปัญหาอะไรก็กล้าที่เข้าหารุ่นพี่เพื่อให้พี่ ๆ ช่วยแก้ไขปัญหา มีเรื่องสอบถามก็กล้าที่จะไปสอบถามรุ่นพี่ ตอนแรกผมกับรุ่นพี่ไม่ค่อยสนิทกันเลย ก่อนที่จะมาทำโครงการพอมาทำโครงการก็สนิทกับรุ่นพี่มากขึ้น


ถาม : น้อง ๆ ผู้หญิงก่อนที่มาทำโครงการ เราเห็นทีมแกนนำรุ่นพี่ ๆ ทำอะไรกันอยู่เราถึงสนใจ

นุช: เห็นพี่ๆ ทำโครงการ Active Citizen หลายโครงการแล้วพวกพี่ ๆ รวมกลุ่มกันแล้วมันน่าสนุก เป็นเพื่อนกันด้วยทำงานไปด้วยสนุกดีค่ะ


ถาม : ตอนเรามองอยู่ห่าง ๆ ในใจเราคิดอยากไปร่วมด้วยจังเลยหรือว่ามีอะไรคิดอยู่ในใจ

นุช : ฉันอยากไปร่วมด้วยจังเลย ตอนแรกหนูเข้าแล้วหายไปเลย แต่เห็นเขาทำสนุกดีก็เลยอยากเข้ามาอีกครั้ง

นีนี่: เวลาเห็นพวกพี่เขาสามัคคีกัน ร่วมงานด้วยกันเลยอยากร่วมงานด้วย


ถาม : จริง ๆ อยากร่วมมานานแล้วแต่ว่าไม่กล้าเข้ามาแล้วรอเขามาทักหาหรือว่าอย่างไร

นีนี่ : ก็อยากจะเข้ามานานแล้วเหมือนกันจนเขามาชวนให้เขามา


ถาม : แล้วถ้าเขาไม่มาเชิญเราละ คิดว่าเราจะทำอย่างไร

นี่นี่: ก็มาค่ะ