โครงการสืบสานมโนราห์บ้านปากลัด
โครงการสืบสานมโนราห์บ้านปากลัด เริ่มต้นมาจากน้องบอม ซึ่งเป็นเยาวชนในพื้นที่ ทราบว่ามีโครงการ Active Citizen ที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ทำโครงการในชุมชน น้องบอมนั้นอยากทำโครงการศึกษาเรื่องมโนราห์จึงนำเอกสารมาปรึกษาครูชานนท์ ซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น มีคณะแสดงมโนราห์ ชื่อคณะพี่เสือรามจันทร์ น้องสิงห์ ศิลป์ชัย ณ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ณ วันนั้นครูชานนท์เห็นโอกาสว่ามโนราห์น่าจะเป็นเครื่องมือที่ดึงเด็กๆ ในชุมชนซึ่งมีความเสี่ยงเรื่องการพนันและยาเสพติด ออกมาได้ โครงการนี้จึงเกิดขึ้น โดยมีแกนนำเยาวชนบ้านปากลัดจำนวน 8 คนทำโครงการ และมีครูชานนท์เป็นพี่เลี้ยง
โครงการมีเป้าหมายส่งเสริมเยาวชนให้มีบทบาททางสังคม ผ่านการสืบสานศิลปะการแสดงพื้นบ้าน “มโนราห์” ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการประสานความร่วมมือระหว่างแกนนำเยาวชนคนรุ่นใหม่ ครูภูมิปัญญา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชน ผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะการแสดงมโนราห์ในเยาวชนรุ่นใหม่ ทีมเยาวชนผู้รับผิดชอบโครงการ ทำหน้าที่ตั้งแต่เขียนโครงการ วางแผนการทำงาน สืบค้นข้อมูลจากครูภูมิปัญญา เปิดรับสมัครสมาชิกเยาวชนที่สนใจ จัดทำข้อมูลประเภทเยาวชนตามสภาพปัญหาและความยากลำบากในการดำเนินชีวิต เพื่อดูแลและประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมจัดการเรียนรู้การแสดงมโนราห์ร่วมกับครูชานนท์และรุ่นพี่ ประเมินผลพัฒนาการของสมาชิกแต่ละคนเพื่อจัดการฝึกฝนที่เหมาะสม จัดเวทีแสดงความสามารถในชุมชน รวมถึงการสรุปงานและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน
บอม-ภัศรุท ประเสริฐ หัวหน้าโครงการเล่าว่า โครงการเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้เด็กๆ ในชุมชนสมัครเข้ามาเรียนรู้เรื่องมโนราห์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มย่อย คือ รำ ดนตรี และการประดิษฐ์
“ใครอยากเรียนกลุ่มไหนก็เรียนไป แต่ก็เรียนอย่างอื่นควบคู่ไปด้วยในช่วงเวลาว่าง ดนตรีจะเรียนเครื่องดนตรีมโนราห์ การประดิษฐ์จะมีการร้อยชุด ทำเครื่องแต่งกายมโนราห์ ในหนึ่งวันจะมีการทำกิจกรรม 3 กลุ่มย่อย กลุ่มที่รำก็รำ กลุ่มดนตรีก็เรียนดนตรี กลุ่มประดิษฐ์ก็ประดิษฐ์ก็คือมี 3 กลุ่มนี้ทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอยู่ในศูนย์ แต่ทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานความเป็นวงมโนราห์ด้วยกัน...มีครูชานนท์และรุ่นพี่มาช่วยสอน ผมดูทุกกลุ่ม ประเมินว่าแบบนี้โอเคไหมสิ่งที่ทำไป ดูภาพรวมในวันนั้นจาก 3 กลุ่มย่อย” บอมอธิบาย
แม้เด็กบางคนที่ตัวใหญ่ บางคนตัวดำรูปร่างอ้วน พี่ๆ ก็ไม่เกี่ยง เปิดโอกาสให้เขาลองดู เริ่มจากท่าง่ายก่อนใส่ท่าที่ยากให้ แม้ที่อื่นเขาจะไม่รับเด็กกลุ่มนี้ แต่ครูชานนท์เปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้ามาอยู่ ที่อื่นจะไม่เอา แต่ครูชานนท์เอาเพราะถือว่าเด็กสามารถพัฒนาตัวเองได้ เป็นการเปิดโอกาสให้คนอื่นด้วย จากที่เขาไม่เคยมีโอกาส เขาก็ได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมา เขาก็ทำได้ “ที่นี่ครูชานนท์สอนทุกอย่างไม่สอนแค่มโนราห์ สอนเรื่องการอยู่กับเพื่อนในโรงเรียน สอนถึงการใช้ชีวิตในครอบครัว ครูเล่าว่าเด็กที่แม่เสียชีวิตแล้วพ่อเป็นมะเร็ง เขามาบอกผมซึ่งผมไม่รู้จะทำอย่างไรก็ต้องปรึกษาครูชานนท์ เป็นปัญหาครอบครัวของเขา เมื่ออยู่ร่วมกันเราต้องช่วยเหลือกัน เด็กบางคนมีปัญหาที่โรงเรียน ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม พอรู้เราประสานงานให้ บางครั้งครูชานนท์ก็ช่วยเหลือค่าเทอมเด็กเอง
การสืบสาน เรียนรู้มโนราห์ เป็นส่วนหนึ่งของการติดตั้งวิธีคิดอย่างมีระบบให้กับเด็ก ๆ ที่มาเรียนรู้ ต้นทุนครอบครัวของเด็กเยาวชนที่ร่วมโครงการมาจากครอบครัวกลุ่มเสี่ยง มีทั้งปัญหายาเสพติด การพนัน ความยากจน แม้มีอุปสรรคในช่วงแรก คือเรื่องการทำความเข้าใจกับผู้ปกครองเรื่องความเชื่อเดิม เพราะในชุมชนปากลัด ไม่มีมโนราห์มาก่อน มโนราห์เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเชื่อดั้งเดิมในชุมชนว่าเป็นการนับถือผีบรรพบุรุษ คล้ายการนับถือผีฟ้า หากเด็ก ๆ เข้ามาสนใจผู้ปกครองกลัวว่าเด็กจะโดนผีเข้า กลัวเรื่องไสยศาสตร์แฝงเข้ามาในตัวเด็ก ครูชานนท์และโครงการฯ พยายามทำความเข้าใจ เปลี่ยนความคิดใหม่ว่ามโนราห์เป็นศิลปวัฒนธรรมที่อยู่คู่ความเชื่อ การรำมโนราห์ทำเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษ ให้มรดกทางวัฒนธรรมได้คงอยู่คู่ชุมชน เป็นงานศิลปะที่มีคุณค่า เด็กรุ่นใหม่เข้าใจเรื่องนี้ แต่ผู้ปกครองก็ยังคงกังวล ครูชานนท์ใช้เวลาในการพิสูจน์จนเยาวชนคนหนึ่งที่มีปัญหาสมาธิสั้น มาฝึกรำมโนราห์ เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงพฤติกรรม เขาสามารถควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น มีสมาธิมากขึ้น พูดจาสุภาพอ่อนน้อมขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเปิดใจให้เด็ก ๆ มาเรียนมากขึ้น
การทำงานของโครงการสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด ทำงานอย่างเชื่อมโยงสอดคล้องตามหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) มีวัดหนุนเสริมให้สถานที่ในการฝึกซ้อม นำขนม อาหารว่างมาสนับสนุนเด็ก เยาวชนในระหว่างทำกิจกรรม รวมทั้งช่วยประสานงานให้ใช้พื้นที่วัดในการเปิดศูนย์การเรียนรู้มโนราห์แห่งที่ 2 ในวัดศรีพนมพลาราม อำเภอท่าชนะ และศูนย์ที่ 3 คือสำนักสงฆ์เกาะเวียงทอง อำเภอพุนพิน การเปิดศูนย์แห่งที่ 2 และ 3 เนื่องจากมีเด็ก และผู้ปกครองให้ความสนใจจำนวนมาก มีการบอกปากต่อปากกันในพื้นที่จังหวัดสุราษฏร์ธานี ทำให้มีเด็ก เยาวชนสนใจ เกือบ 400 คน ครูชานนท์เล็งเห็นถึงความปลอดภัยในการเดินทางและเรื่องการลดค่าใช้จ่ายของเด็ก ๆ ที่ต้องจ่ายค่ารถมาเรียนที่บ้านปากลัด จึงเปิดศูนย์เพื่อแบ่งโซนให้เด็กคนไหนใกล้ที่ไหนไปเรียนที่ศูนย์ใกล้บ้าน ถึงตอนนี้มี 3 ศูนย์ในจังหวัดสุราษฏร์ธานี และ 1 ศูนย์ในจังหวัดปัตตานี
กระบวนการทำงานของโครงการฯ ใช้วิธีพี่สอนน้อง มีครูชานนท์ พี่เลี้ยง ดูภาพรวม เปิดเป็นโอกาสให้เด็กได้ลองผิดลองถูก แก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง การดูแลกันเหมือนครอบครัวใหญ่ เด็ก เยาวชนเกื้อกูลดูแลกันในยามที่มีสมาชิกลำบาก แม้ไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับโครงการฯ แต่การเป็นหนึ่งเดียวกันทำให้พวกเขาช่วยเหลือไม่ทอดทิ้งกัน การเรียนรู้แบ่งเป็น 3 กลุ่มย่อยกลุ่มรำ กลุ่มดนตรี (เครื่องดนตรีมโนราห์) กลุ่มการประดิษฐ์ (ร้อยลูกปัด ทำชุด ทำเครื่องแต่งกายมโนราห์) เลือกเรียนตามความสนใจจะมี 3 กลุ่มเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอยู่ในศูนย์ แต่ทุกคนจะได้เรียนพื้นฐานความเป็นวงมโนราห์ด้วยกัน โดยมีการติดตาม วิเคราะห์การสอนและการเรียนรู้ ทั้งคนสอนและผู้เรียน ให้มีพัฒนาการและตามกลุ่มทัน พาไปทัศนศึกษา เรียนรู้จักครู สัมภาษณ์ครูภูมิปัญญาท่านอื่น สอนให้เด็ก ๆ เปิดใจ เปิดโลกและกล้าเรียนรู้นอกเหนือจากวงที่ตัวเองอยู่
โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญามโนราห์บ้านปากลัด พัฒนาเด็ก เยาวชน ให้เติบโตโดยมีสำนึกพลเมืองอย่างรอบด้าน ใช้ทั้งหลักการเรียนรู้ 3H Head Hand Heart ผ่านศิลปะพื้นบ้านมโนราห์ เกิดพื้นที่เรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ในชุมชน
Head มีวิธีคิดที่มีระบบ มีตรรกะความคิด (Mindset) ที่มีเหตุผล เข้าใจและเลือกตัดสินใจเส้นทางที่ถูก
Hand การเรียนรู้การรำผ่านฐานกาย เสริมบุคลิกให้เคลื่อนไหว สมดุล แข็งแรง
Heart สร้างอำนาจภายในให้ ผู้เรียนเกิดความภูมิใจ รัก เคารพตัวเอง ไม่ตัดสินคนจากภายนอก และการเรียนรู้ร่วมกันด้วยความรัก มิตรภาพ ได้บ่มเพราะคุณลักษณะเชิงบวกที่มนุษย์พึงมีให้งอกงามในใจเด็ก
กระบวนการที่เด็กๆ ได้ทำโครงการ ทำให้พวกเขามีการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่น่าสนใจ เช่น
เด็กบางคนเลือกเส้นทางชีวิตใหม่ ห่างไกลอบายมุข ยาเสพติด การลักขโมย ปรับแนวความคิดและเห็นทางเลือกใหม่ ๆ ในชีวิต การที่เด็กได้ห่างไกลจากสิ่งแวดล้อมเดิม มาเรียนรู้และทำกิจกรรมร่วมกัน เป็นการติดตั้งมุมมองใหม่ให้เด็กได้ตระหนักคิดว่าตัวเองมีทางเลือกที่จะสร้างอนาคตผ่านการสืบสาน สืบค้น ฝึกหัดการรำมโนราห์
เปลี่ยนแปลงจากคนขี้อาย ไม่กล้าแสดงออก ไม่มั่นใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง (รูปร่าง หน้าตา สีผิว) เป็นเกิดความมั่นใจ ร่าเริง ภูมิใจในตัวเอง มีอำนาจภายในที่เข้าใจความสวยในรูปแบบที่เป็นธรรมชาติ ความสวยงามที่เกิดจากความคิดและโลกภายใน กล้าที่ก้าวอย่างภูมิใจในอัตลักษณ์ของตัวเอง
เยาวชนคนหนึ่งที่บ้านติดการพนัน น้องคลุกคลีอยู่ในวงพนันตลอดทั้งวัน นอนดึก ผลการเรียนตกต่ำ เมื่อเข้าร่วมโครงการฯ ได้ออกจากสิ่งแวดล้อมเดิม ทำให้เด็กเห็นคุณค่าในตัวเอง มีมิติที่มองสังคมใหม่ ได้พบเจอกลุ่มเพื่อนและครูที่ดี ทำให้หลุดจากวงอโคจร ส่งผลให้การเรียนดีขึ้น เป็นที่รักในหมู่เพื่อน
เมื่อผู้ปกครองในละแวกบ้านใกล้เคียงเห็นการเปลี่ยนของเยาวชนจึงให้ลูกหลานติดตามมาร่วมโครงการฯ ด้วย
“เด็กบางคนนี้เขาไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย แค่ไปโรงเรียนไปเรียนหนังสือ ไม่มีเป้าหมายเลยว่าจะไปเรียนเพื่ออะไร กลายเป็นว่าเขามีเป้าหมายในชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น น้องเคเขามีเป้าหมายในชีวิตว่า เขาอยากเป็นครูสอนหนังสือ...มีการพัฒนาจากเกรดเฉลี่ยที่น้อยเป็นเกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้น จนโรงเรียนยอมรับ เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และพ่อแม่” ครูชานนท์ พี่เลี้ยงโครงการพูดถึงน้องเค หนึ่งในสมาชิกโครงการ
นอกจากนี้ ปัจจุบันศูนย์การเรียนรู้ดำเนินกิจกรรม โดยมีหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นให้ความสนใจ สนับสนุนทุนในการต่อยอดทำกิจกรรม มีงานแสดงให้เยาวชนได้แสดงทั้งในและนอกจังหวัด ทำให้เยาวชนมีรายได้จุนเจือครอบครัว
ความโดดเด่น
- บูรณาการการสืบสานภูมิปัญญา มรดกวัฒนธรรม "มโนราห์" ให้เด็ก เยาวชน ค้นพบ เรียนรู้และเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการระเบิดจากภายใน
- เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่รับทุกคน โดยไม่แบ่งหรือกีดกัน ให้พื้นที่สำหรับเด็ก เยาวชน กลุ่มเสี่ยงได้มีพื้นที่สร้างสรรค์ในการค้นพบศักยภาพของตัวเอง
- ทำงานอย่างมีระบบ บนฐานความรักและความเข้าใจองค์ความรู้ เข้าใจกันและกัน กล้าที่จะเปิดพื้นที่ใหม่ ๆ มีหัวใจแห่งความเป็นครู
บทสัมภาษณ์
ถาม ขอให้เล่าที่มาของโครงการ มีอะไรเป็นโจทย์ที่อยากสืบหาค้นคว้ากับน้อง ๆ
ตอบ น้องบอมนำโครงการมาปรึกษากับผมซึ่งเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่อง มโนราห์ ผมเปิดศูนย์สอนมโนราห์กับเด็ก ๆ อยู่แล้วที่นี่มี ทั้งหมด 3 ศูนย์ น้องบอมมาปรึกษา ว่าคุณครูมีโครงการมาแบบนี้ ผมได้ถามว่าเป็นโครงการจากที่ไหน เขาบอกว่าเป็นของมูลนิธิสยามกัมมาจลร่วมกับ สก.สว. เขาคิดโครงการขึ้น ผมก็คิดว่าเป็นเรื่องที่ดี น้อง ๆ จะได้รู้จักงานวิจัย ศูนย์ผมจะสอนให้น้องรู้จักการคิดอยู่แล้ว
ถาม สิ่งที่น้อง ๆ ทำสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือกระตุ้นทำให้มีกระแสอย่างไรบ้างกับชุมชน
ตอบ โครงการของน้อง ๆ ผมเน้นให้เด็กรู้จักที่จะคิด โดยนำมโนราห์มาเป็นชนวนดึงนำเด็กเข้ามา เพื่อจะเปลี่ยนแปลงน้อง ๆ จากปัจจัยเสี่ยงในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการพนันยาเสพติด ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้อง ๆ เปลี่ยนลู่ทางไปจากกรอบตามหลัก บวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ชุมชนที่น้อง ๆ อยู่มีเรื่องยาเสพติด การพนัน จึงนำมโนราห์มาดึงน้อง ๆ ออกจากสิ่งอโคจรเหล่านั้น
ก่อนหน้าชุมชนมีปัญหาเรื่องยาเสพติด การพนัน ผู้ปกครองของเด็กบางกลุ่มนี้ จะอยู่ในกลุ่มของนักการพนัน เด็กก็จะซึมซับเห็นและอยู่กับสิ่งเหล่านี้ตั้งแต่เขาเกิด การเอามโนราห์เข้ามาเป็นชนวนหนึ่งที่ดึงให้เด็กหันมาสนใจอีกด้านหนึ่ง ในด้านที่เขาสนใจ ให้หลีกเลี่ยงจากพฤติกรรมของพ่อแม่
แรกเริ่มเดิมทีที่ชุมชนปากลัด ก็ไม่มีมโนราห์มาก่อน และไม่มีมโนราห์เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง การแสดงมโนราห์เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชุมชน พอเด็กมาทำเรื่องการวิจัย ชาวบ้านกลัวว่าทำแล้วจะส่งผลต่อความเชื่อดั้งเดิม หรือจะมีความเกี่ยวของกับไสยศาสตร์
มโนราห์เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นมีความเชื่อดั้งเดิมในชุมชนในการนับถือผีบรรพบุรุษ คล้ายกับการนับถือผีฟ้า พอเด็ก ๆ เข้ามาสนใจเรื่องมโนราห์ ผู้ปกครองกลัวว่า เด็กจะมีสิ่งพวกนี้แอบแฝง ต้องพยายามละลายพฤติกรรมทั้งตัวเด็กและผู้ปกครองของเด็กในชุมชน ให้เปลี่ยนความคิดใหม่ว่ามโนราห์เป็นเป็นศิลปวัฒนธรรมที่อยู่คู่กับความเชื่อ ไม่ใช่เอาความเชื่อมาเป็นจุดบรรทัดฐาน หรือเป็นตัวชี้นำ เพราะว่ามโนราห์จัดอยู่ประเภทการละเล่น เหมือนการเล่นผีฟ้า ผีมด มโนราห์มีพิธีกรรมทางความเชื่อ ซึ่งพ่อแม่เด็กจะกลัวสิ่งเหล่านี้
ถาม ครูให้แนวคิดแบบนี้กับคนในชุมชนด้วยวิธีการไหน
ตอบ ผมเปลี่ยนวิธีคิดกับเด็กและผู้ปกครองว่า การรำมโนราห์ทำเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ของ บรรพบุรุษ ให้มรดกทางวัฒนธรรมนี้ยังคงอยู่ในชุมชนของเรา เพราะว่าผมเชื่อมั่นว่าเมื่อเด็กโตขึ้น เด็กเริ่มมีความรู้ความเชื่อของเขาก็จะลดน้อยลง ผมมีความคิดเห็นส่วนตัวตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษาว่า ในครั้งอดีตอาจเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เอาความเชื่อเข้ามาควบคุมคน เนื่องจากในยุคสมัยก่อนแถบนี้กฎหมายอาจจะเข้าไม่ถึง บรรพบุรุษบางครั้งก็ใช้ความเชื่อเหล่านี้มาควบคุมให้คนให้กระทำความดีโดยการใช้ความเชื่อ
ผมต้องเปลี่ยนเมื่อเด็กโตขึ้นเด็กจะเริ่มมีความคิดว่าความเชื่อเหล่านี้อาจจะไม่มีอยู่จริง เด็กเชื่อไปเชื่อทางวิทยาศาสตร์สิ่งที่พิสูจน์ได้มากกว่า ฉะนั้นผมก็จะต้องเปลี่ยนผู้ปกครองเด็กที่ยังยึดติดความเชื่อเหล่านี้ว่า การที่เรามาทำเรื่องมโนราห์ก็คือการที่เรามาทำสิ่งที่รักษาภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษในอดีต เป็นภูมิปัญญาอย่าง เช่น ศิลปะการร่ายรํามโนราห์ ศิลปะการร่ายรำแบบพิธีกรรมโรงครู อย่างเช่นพิธีกรรมโรงครู เขาก็จะมีการเข้าทรงผีบรรพบุรุษ ผมจะสอนเด็กว่า การทรงอาจเป็นกุศโลบายหนึ่งของบรรพบุรุษ ที่เขาต้องการที่จะให้เราระลึกถึงคุณของบรรพบุรุษ ถ้าไม่มีบรรพบุรุษก็ไม่มีเรา โดยการเปลี่ยน System เปลี่ยนระบบและเปลี่ยน Mindset จากความเชื่อเดิมที่เขาเชื่อว่า การรำมโนราห์มีผีต้องมาเข้าทรงเด็ก หรืออุปทานหมู่ ผมก็เปลี่ยนเรื่องแบบนี้ เด็กทุกคนในศูนย์ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ทั้งนั้น เมื่อเขาโตขึ้นก็จะเริ่มมีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มันพิสูจน์ไม่ได้ ผมใช้วิธีการเชื่อแบบใหม่ โดยเปลี่ยน Mindset ในสมองของเขาใหม่ว่า ให้เขาเห็นว่าการรำมโนราห์ก็คือการนับถือบรรพบุรุษ การรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์อัตลักษณ์ความเป็นบรรพบุรุษที่มีมา เราเข้ามาต่อยอดแล้วก็ส่งต่อให้น้อง ๆ
ถาม วิธีการที่ครูเปลี่ยน Mindset คืออะไร การสื่อสารกับชาวบ้านทำอย่างไร
ตอบ ผมให้ชาวบ้านมองเห็นภาพ จากความเชื่อเดิมการเล่นมโนราห์โรงครู เมื่อก่อนเล่นตามบ้าน แต่เมื่อยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มโนราห์ ก็เป็นเหมือนการแสดงหนึ่ง ที่เริ่มมีการแสดงตามงานวัด โรงเรียน หรืองานเทศกาล เช่น งานชักพระประเพณีของจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเอาศิลปะการแสดงและเครื่องแต่งกาย มาให้ผู้ปกครองเด็กเห็นว่า มโนราห์ไม่ได้มีแค่เรื่องของความเชื่อเหล่านี้ ยังมีเรื่องศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้เรา เราก็สามารถนำไปหารายได้นำไปส่งเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมได้
แรก ๆ มีผู้ปกครองของเด็กบางคนกลัวว่าลูกหลานมารำมโนราห์สืบทอดต้องทรง ผีบรรพบุรุษจะมาประทับทรง หรืออาจจะโดนโทษจากครูได้ด้วยฤทธิ์ของแรงครูตามความเชื่อดั้งเดิม ผมเปลี่ยนวิธีการให้เด็กเขามาเรียนผมจะสอนเขา ให้เขารู้จักแค่ศิลปะโดยไม่ใส่ความเชื่อจนมากเกิน แค่ดึงความเชื่อเหล่านั้นให้เด็กอยู่ในการประพฤติตามคุณงามความดีของบรรพบุรุษ การทำแบบนี้จะได้แบบนี้แค่นั้น ส่วนในเรื่องของการแสดงจะเน้นหลักไปในเรื่องของการแสดง เช่น ลักษณะอัตลักษณ์ความเป็นมโนราห์ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่กำลังจะสูญหายไป หรือว่ามโนราห์ในแถบลุ่มน้ำตรงนี้ผมจะบอกว่าในแถบแถบอำเภอเวียงสระ ติดเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งศิลปะการร่ายรํามโนราห์ของจังหวัด สุราษฎร์ธานีในแถบนี้จะไม่เหมือนกับสุราษฎร์ธานีตอนบน นครศรีธรรมราชตอนล่างและพัทลุง อัตลักษณ์ของเขาซึ่งนับเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ ผมเน้นในเรื่องอัตลักษณ์เหล่านี้กับเด็ก ๆ ให้เขารู้จักการอนุรักษ์สิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้
ถาม ชาวบ้านเขาว่ายังไงบ้างคะ พอเขาเห็นมุมมองความคิดแบบนี้ หรือสิ่งที่ครูทำเอาโนราห์เข้ามามีส่วนร่วมชุมชน เปลี่ยนทัศนคติมโนราห์แบบใหม่ เอาจุดเด่นของโนราห์ที่มีเฉพาะบ้านเรามาให้ชาวบ้านดูเขาว่าอย่างไร
ตอบ ตอนแรกเกิดกระแสต่อต้านก็มี เขาไม่เข้าใจ ไม่ให้เด็ก ๆ ที่อยากร่วมกิจกรรมเข้ามาร่วมกิจกรรม หรือรับความรู้ใหม่ ผมต้องเปลี่ยนวิธีการ เช่น น้องคนหนึ่งมีปัญหากับทางโรงเรียน เป็นเด็ก LD หรือว่าเด็กสมาธิสั้น เอาเคสแบบนี้มาเปลี่ยนแปลง ใช้ภูมิปัญหาฝึกให้น้องรู้จักการแสดงมโนราห์ เพื่อฝึกการมีสมาธิเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ปกครองเด็กเห็นว่า ลูกของเขาเปลี่ยนไปจากเด็กใช้อารมณ์กับพ่อแม่ ใช้อารมณ์กับคุณครู หรือไม่มีสติเด็กเริ่มเปลี่ยนไป รู้จักที่พูดจาอ่อนน้อมขึ้น เขาเริ่มให้เด็กเด็กเปลี่ยนแปลงมาเรื่อย ๆ
ถาม คนในชุมเขาว่าอย่างไรบ้าง กับแนวคิดนี้หรือสิ่งที่ครูกำลังสื่อสาร เอามโนราห์เข้ามามีส่วนร่วมกับชุมชน
ตอบ เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับโครงการที่อยู่ในชุมชนนี้ นอกจากปัญหาเรื่องการพนัน ปัญหายาเสพติด ยังมีปัญหาการทะเลาะวิวาท ความเห็นที่ไม่ตรงกันของผู้ใหญ่ ฉะนั้นแล้ว แรกๆ ผู้นำชุมชนไม่ให้ความสำคัญ แต่เมื่อเห็นรูปธรรม มีการจัดการเรียนการสอนขึ้น มีหลักแนวคิดใหม่ๆ เริ่มให้เด็กรู้จักแบ่งปัน รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เด็กเรียนรู้ระบบ (System) พี่สอนน้อง ผู้นำในชุมชนที่คิดต่างเขาเปลี่ยนความคิดว่า อย่างน้อยก็คือเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ให้เด็กในชุมชน หลีกเลี่ยงจากปัญหายาเสพติดปัญหาของการพนัน
ถาม ครูสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของครูและน้อง ๆ อย่างไร
ตอบ ผมทำเรื่องศูนย์ศึกษาอนุรักษ์ปักษ์ใต้หรือศูนย์สืบสานมโนราห์มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว มี 3 ศูนย์ ตั้งอยู่ในอำเภอเวียงสระ อำเภอท่าชนะ อำเภอพุนพิน มีอีกที่คือใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จังหวัดปัตตานี ผมมีหลักการคือถ่ายทอดความรู้ให้กับรุ่นพี่ ให้รุ่นพี่มาถ่ายทอดให้กับรุ่นน้องต่อให้เป็นระบบเป็น System ต่อเนื่อง เมื่อรุ่นพี่ผ่านไป ผมไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะต้องเป็นมโนราห์หรือว่าเขาจะต้องเป็นนักแสดงที่โดดเด่นขึ้นมา แต่สิ่งที่ผมหวังก็คือเป้าหมายของผม การเปิดศูนย์มโนราห์คือการส่งต่อไปเรื่อย ๆ ในวันที่ผมไม่มีแล้วในวันนึง ไม่มีครูแล้วรุ่นพี่ก็สอนรุ่นน้องต่อ รุ่นน้องไปสอนรุ่นต่อไปได้
ถาม ช่วยเล่าจุดเริ่มต้นของการเกิดศูนย์การเรียนรู้บ้านปากลัด
ตอบ ปีนี้เป็นปีแรกที่รับทุนจากโครงการ Active citizen ศูนย์ปากลัด เกิดขึ้นหลังจากได้ทุนโครงการมา เมื่อก่อนเราเป็นแค่คณะแสดง เราจะใช้พื้นที่บริเวณสวนปาล์มของบ้านน้องบอมเป็นที่ซ้อมการแสดง หลังได้ทุนมาเริ่มมีแนวคิดเรื่องการเปิดศูนย์ขึ้น ซึ่งเงินที่สร้างศูนย์เป็นเงินส่วนตัวของผมและครอบครัวญาติพี่น้องของน้องบอม ส่วนเงินที่ได้รับจากโครงการ Active citizen เราเอามาทำกิจกรรมในศูนย์ บ้านปากลัดเป็นศูนย์แรกตั้งอยู่ที่อำเภอเวียงสระ ทางใต้สุดของจังหวัดสุราษฏร์ธานี ส่วนศูนย์ที่ 2 ศูนย์ที่ 3 เป็นการขยายไปจากศูนย์ที่ 1 เนื่องจากผมเห็นใจเด็กที่เดินทางมาทุกวันเสาร์ จากพื้นที่ไกล ๆ ระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตร พวกเขามาจากหลายอำเภอ มารถไฟบ้าง พ่อแม่เด็กพามากับรถกะบะบ้าง พวกเขามากันเป็นกลุ่มนั่งรถตากแดดมา ผมมีแนวคิดว่าผมอยากขยายพื้นที่การเรียนรู้เพิ่ม ผมไปติดต่อประสานหาสถานที่สอนน้อง ๆ เองคงสะดวกกว่า ผมเดินทางไปหาจะมีความปลอดภัยในการเดินทางมากกว่า ผมเห็นความตั้งใจของเด็ก จนเกิดที่ศูนย์ 2 ศูนย์ที่ 3 ขึ้นในวัด ศูนย์ที่ 1 คือศูนย์ปากลัดอยู่ อำเภอเวียงสระ ใช้พื้นที่บริเวณบ้านน้องบอมตามที่กล่าวมา ศูนย์ที่ 2 คือวัดศรีพนมพลารามใช้พื้นที่บริเวณวัด ซึ่งศูนย์นี้อยู่ที่อำเภอท่าชนะติดเขตของจังหวัดชุมพร ศูนย์ที่ 3 คือสำนักสงฆ์เกาะเวียงทองใช้พื้นที่ของสำนักสงฆ์อยู่ในอำเภอพุนพิน ในส่วนของการใช้พื้นที่วัด ทุกวันเสาร์เราใช้ศาลาการเปรียญของวัด ทางวัดเคยทำงานกับคณะแสดงของผมก่อนหน้านี้ ท่านเจ้าอาวาส พระปลัดไกรสร เกสโร เมตตาให้ใช้พื้นที่ส่วนนี้ ท่านเป็นหนึ่งแกนนำที่ทำให้เกิดศูนย์สืบสานมโนราห์
ถาม ท่านเจ้าอาวาสให้ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง
ตอบ ท่านเจ้าอาวาส พระปลัดไกรสร เกสโร วัดศรีพนมพลาราม ท่านเป็นบุคคลแรกที่ให้การช่วยเหลือศูนย์สืบสานมโนราห์บ้านปากลัด ถึงแม้ตัวท่านไม่ใช่คนอำเภอเวียงสระ ท่านจะนำอาหาร ขนม มามอบให้กับเด็ก ๆ ท่านช่วยประสานงานลูกศิษย์ที่เคารพนับถือท่าน เพื่อให้การช่วยเหลือจนเด็ก ๆ ได้ไปแสดงงานที่กรุงเทพมหานครทำให้เกิดการจ้างงานในหลายพื้นที่ รวมถึงจัดสรรพื้นที่ให้เกิดศูนย์ที่วัดศรีพนมพลาราม
ถาม ขอให้เล่าถึงกลุ่มเป้าหมายในโครงการ
ตอบ ในตอนแรกกลุ่มเป้าหมายในโครงการ ตามที่ผมได้คุยกับน้องบอมมีจำนวน 20 คน จากเด็กในพื้นที่บ้านปากลัดและชุมชนใกล้เคียง หลังจากนั้นเริ่มมีเด็กสนใจ พวกเขาเอารูปภาพขณะที่ทำกิจกรรมไปลงใน Facebook ทำให้เด็ก ๆ และผู้ปกครองสนใจ รวมทั้งเกิดจากการบอกต่อปากต่อปาก ทำให้เกิดการขยายของกลุ่มเด็ก ตอนนี้มีจำนวนเกือบ 400 คน อย่างที่ผมเคยเล่าว่าผู้ปกครองในชุมชนไม่ค่อยมีทุนทรัพย์เพียงพอที่จะส่งลูกให้เรียนพิเศษ ผู้ปกครองหลายคนมีฐานะลำบาก เด็กส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนในศูนย์จะเป็นเด็กด้อยโอกาสทางสังคม ใบสมัครเรียนที่ศูนย์จะแยก 3 ประเภท สีแดง หมายถึง เด็กที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ครอบครัวประสบปัญหาต่าง ๆ นอกจากให้ความรู้แล้ว เราเข้าไปช่วยเหลือโดยการติดต่อนักสังคมสงเคราะห์ให้พวกเขา กลุ่มนี้เราจะใส่ใจ ดูแล พูดคุยกับเขาเป็นพิเศษ สีเหลือง หมายถึง ครอบครัวมีฐานะปานกลาง สีเขียวหมายถึง ผู้ปกครองที่มีทุนทรัพย์ เด็กกลุ่มนี้เราจะเน้นให้ความรู้
ถาม โครงการเข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหรือสร้างคุณค่าให้ชุมชนอย่างไร
ตอบ ปัญหาเรื่องการพนัน และ เรื่องเด็กยากไร้น้อยลง บางบ้านไม่ให้ความสำคัญเรื่องการเรียนของเด็ก ทางศูนย์เราจะช่วยกันระดมทุนเพื่อไปช่วยเหลือเด็กตามบ้าน ส่วนเรื่องการพนันเราได้ดึงเด็กกลุ่มเสี่ยงออกมาจากวงพนันตรงนั้น โดยให้พวกเขามาร่วมเรียนรู้และทำกิจกรรมกับเราหลังจากนั้นพอเขาเริ่มพัฒนาทักษะของตัวเอง เราจะชวนเขาไปเข้าร่วมกับคณะมโนราห์บ้านปากลัด เพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเขา เขาจะมีเงินออมกลับไปให้ครอบครัว คุณค่าที่ได้คือเกิดจากตัวเด็ก ๆ เด็กเป็นที่ยอมรับกับคนในสังคมมากขึ้น จากแต่ก่อนเขาอาจจะมองว่าเด็กไม่สามารถทำอะไรได้ พอศูนย์การเรียนรู้เกิดเป็นรูปธรรม ผู้ใหญ่เห็นว่าเด็กสามารถทำงานได้ ประสานงานกับผู้ใหญ่ได้ เช่น ครอบครัวของเด็กในศูนย์คนหนึ่ง คุณพ่อเสีย คุณแม่เป็นมะเร็ง น้อง ๆ ในศูนย์เขารู้จักที่ช่วยกันประสาน พม. มาให้ความช่วยเหลือ ทำให้เกิดการยอมรับของคนในชุมชนขึ้น
ถาม ขอให้เล่าถึงตอนที่ครูพาเด็ก ๆ ไปเข้าร่วมกับคณะมโนราห์
ตอบ เวลาที่ผมไปแสดงมโนราห์ ผมใช้วิธีหมุนเวียนเด็ก โดยให้เด็กไปครั้งละประมาณ 14 - 20 คน สลับกันไป รายได้ของพวกเขาต่อการแสดงหนึ่งครั้งประมาณ 200 - 400 บาท ใน 1 เดือนพวกเขาจะได้ไปประมาณ 2 - 5 งาน ขึ้นอยู่กับเวลาว่างของเด็กและการจ้างงานของผู้ว่าจ้าง ช่วงเทศกาลงานเยอะมาก เด็กมีรายได้ตรงนี้เกือบทุกวันก็มี ผมให้ผู้ปกครองทำสมุดบัญชี ทุกครั้งที่ได้เงินให้นำเงินไปฝากและนำสมุดบัญชีมาให้ผมดู เด็กมีเงินออมหลักพันถึงหลักหมื่น งานส่วนใหญ่ที่ผมชวนเด็ก ๆ ไป จะไม่ให้กระทบกับเรื่องการเรียนของเด็ก
ถาม ความโดดเด่นของของโครงการนี้คือเรื่องอะไร
ตอบ นอกจากเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ได้มาเรียนรู้เรื่องมโนราห์ เราพัฒนาเรื่องการเรียนรู้ทักษะอื่น ๆในชีวิตพวกเขาไปด้วย ผมไม่ได้เน้นให้เด็กสนใจเรื่องมโนราห์มากไปกว่าการเปิดพื้นที่เพื่อพัฒนาและผลักดันให้เด็กได้มีบทบาททางสังคมมากขึ้น เรื่องของมโนราห์เป็นจุดดึงดูดความสนใจให้กับเด็กเพื่อมาเข้าร่วม แต่ผมบอกเด็กเสมอว่า “สังคมให้อะไรกับเรามากมาย ให้โรงเรียน ให้อาหาร น้ำดื่ม ที่อยู่อาศัย ตัวเราให้อะไรตอบแทนกับสังคมบ้าง” ผมอยากให้เด็กมีความกระตือรือร้นในเรื่องของตัวเอง ครอบครัว รู้จักแบ่งบันเพื่อสังคมและตอบแทนสังคม
ถาม คนในชุมชนว่าอย่างไรกับศูนย์การเรียนรู้นี้บ้าง
ตอบ คนในชุมชนค่อนข้างยอมรับ เนื่องจากมโนราห์เป็นความเชื่อที่อยู่คู่กับคนใต้มาเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปี ในประเทศไทยมีความเชื่อว่ามโนราห์คือรากเหง้าของศิลปวัฒนธรรมหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นโขน ละคร ก็มีต้นกำเนิดมาจากมโนราห์ ฉะนั้นมโนราห์ฝังลึกอยู่ในความเชื่อของคนภาคใต้มานาน ฉะนั้นเมื่อเกิดกิจกรรมเหล่านี้ขึ้น กลุ่มผู้นำมองว่าเป็นสิ่งที่ดี คนในชุมชนมองว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่สามารถเอามาต่อยอดเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ ได้ มีผลผลิตรุ่นใหม่ ๆ เกิดขึ้น ศูนย์การเรียนรู้อยู่ที่บ้านของแกนนำ ในแต่ละจุดที่บอกไป โครงการที่ร่วมมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล จะเป็นบ้านของแกนนำ คือน้องบอม ส่วนอำเภอท่าชนะทำอีกโครงการหนึ่งคือ โครงการหลักบวร ชุมชนคุณธรรม บ้าน วัด โรงเรียน ของกระทรวงวัฒนธรรม
ถาม จากที่เราได้เปิดศูนย์และสร้างกระบวนการเรียนรู้สถานการณ์คลี่คลายไปอย่างไร
ตอบ ผมมีแบบสำรวจและติดตามน้อง ๆ อยู่ทุกสัปดาห์ ก่อนมีปัญหาโรคโควิด-19 ผมจะไปเยี่ยมน้องที่บ้านตามจุดต่างๆ เด็ก ๆ มีพฤติกรรมเปลี่ยนไปเรื่องการพนันกับยาเสพติด จากแบบสำรวจเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่างเช่นในกลุ่มแกนนำเอง พี่อี๊ดจะรู้ว่าในกลุ่มแกนนำมีคุณพ่อเด็กเป็นนักพนัน เด็กรู้สึกว่าเขาต้องการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของเขา
ถาม ครูช่วยยกตัวอย่างเหตุการณ์หรือเคสว่าเด็กคนไหนเปลี่ยน และคนในครอบครัวเด็กคนนั้นเปลี่ยน อย่างไร หรือคนที่อยู่รอบ ๆ บ้านเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เด็กเปลี่ยน
ตอบ มีแกนนำหนึ่งคน ที่เป็นเยาวชนเด่น ที่บ้านของน้องเค คุณพ่อคุณแม่เล่นการพนัน เปิดบ่อน ตัวน้องเปลี่ยน มีความคิดใหม่ ๆ อยากเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิต อยากมีการศึกษาที่ดีขึ้นเพื่อเปลี่ยนแปลงให้ตัวเองมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากผลการเรียนที่ไม่ดีเปลี่ยนเป็นดีขึ้น เขามี Mindset ในสมองใหม่ ๆ ว่าถ้าเขาอยากเปลี่ยนคุณภาพชีวิตเขาต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตัวเขา
ถาม แสดงว่าเด็กที่เปลี่ยนส่วนใหญ่ ก็คือเด็กที่เข้ามาที่ศูนย์การเรียนรู้นี้ โดยใช้เครื่องมือมโนราห์เข้ามามีส่วนร่วม ชาวบ้าน ครอบครัวของน้องเค เขาพูดว่าอะไร
ตอบ มีในกลุ่มน้องเค เป็นกลุ่มของอีกหมู่บ้านหนึ่ง อยู่ลึกจะมีเด็กกลุ่มที่ผู้ปกครองให้ตามน้องเคมา เขาเห็นผลลัพธ์จากน้องเค จึงมีน้องคนอื่น ๆ ที่ตามเข้ามาจาก 1 คน เป็น 2 คน 3 คน 4 คน ผมมองว่านี่เป็นตัวชี้วัดได้ว่า ผู้ปกครองเล็งเห็นแล้วว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับบุตรหลานของเขาจริง ๆ
ถาม นอกจากครอบครัวเด็กแล้ว ผู้ใหญ่ผู้นำชุมชน มองเห็นเรื่องนี้บ้างไหม หรือโครงการนี้ไปสร้างการรับรู้อะไรกับชุมชน
ตอบ มีนะครับ พอผมทำโครงการนี้สำเร็จขึ้นมาเป็นรูปธรรม ก็เริ่มมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาให้ความสนใจมาก ไม่ว่าจะเป็นทางอำเภอ กลุ่มเทศบาล อนามัย เข้ามาเสนออยากจะให้ทำโครงการนี้ต่อ เกี่ยวกับเรื่องปัญหาของวัยรุ่น ปัญหาของน้อง ๆ เช่น อนามัยมาเสนอว่าทาง สสส. มีงบมาให้ 50,000 บาท เกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาศักยภาพการบริหารร่างกายของคนในชุมชน โดยขับเคลื่อนด้วยศิลปวัฒนธรรม จะมีการเข้ามาเสนอเพิ่มขึ้น จากเมื่อก่อนที่ผู้ใหญ่ไม่เล็งเห็น กลายเป็นว่ามีผู้ใหญ่เข้ามาโดยที่เราไม่ต้องวิ่งไปหาเขาเอง ตอนที่จัดในโครงการแผน เด็ก ๆ วางแผนการจัดกิจกรรมของเขาว่าเดือนนี้เขาทำอะไร ใน 1 เดือน มีกิจกรรมเวทีของเขาในการแสดงความสามารถ เวทีนี้เป็นการบอกให้ผู้ใหญ่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำอยู่คืออะไร มีผู้ใหญ่ทั้งภาครัฐภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
ถาม รูปธรรมจากการสร้างศักยภาพหรือพัฒนาตัวเยาวชนในชุมชนเป็นอย่างไร
ตอบ สิ่งที่ผมเห็นเป็นรูปธรรมเด็กมีความเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผลการเรียนที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตมีการคิดที่อยากจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากการคำพูดของเขาอย่างเช่น เด็กที่ไม่เคยมีเป้าหมายในชีวิต ผมมีความเชื่อ ผมสอนเด็กเสมอ เด็กบางคนนี้เขาไม่มีเป้าหมายในชีวิตเลย เขาจะแค่ไปโรงเรียนไปเรียนหนังสือ เขาไม่มีเป้าหมายเลยว่าเขาจะไปเรียนเพื่ออะไรจบมา กลายเป็นว่าเขามีเป้าหมายในชีวิตเพิ่มขึ้น เช่น น้องเคเขามีเป้าหมายในชีวิตว่า เขาอยากเป็นครูสอนหนังสือ เพื่อน ๆ เลยเอาศิลปะมโนราห์มาบูรณาการร่วมด้วยเพื่อใช้ในวันข้างหน้า จากสิ่งที่ผมเห็นคือน้องเคมีการพัฒนาจากเกรดเฉลี่ยที่น้อยเป็นเกรดเฉลี่ยที่สูงขึ้น จนโรงเรียนยอมรับ น้องเคเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม เป็นที่ยอมรับของพ่อแม่
ถาม จุดเด่นข้อดีของโครงการคือเรื่องอะไร
ตอบ ผมมองว่าจุดที่เด่นที่สุดสำหรับผมก็คือ (1) ความท้าทาย ผมเปิดโครงการที่มูลนิธิสยามกัมมาจลให้ทุนสนับสนุนในแหล่งของชุมชนที่มีความท้าทาย รู้กันว่าชุมชนตรงนี้มีปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาการพนันเป็นอันดับต้น ๆ ของอำเภอ นี่คือความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงเยาวชนคนรุ่นใหม่ (2) มีความยากแต่ก็เป็นความเด่น คือการเอาความเชื่อมาเปลี่ยน System ใหม่ ใส่เด็กรุ่นใหม่ให้เขามีความเชื่อใหม่โดยที่เขาไม่ละทิ้งสิ่งที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ในวัฒนธรรมเหล่านี้
ถาม ถ้าประเมินโครงการจาก 100 คะแนนเต็ม ครูให้กี่คะแนน เหตุผลเพราะอะไร
ตอบ ประมาณ 80 คะแนน ส่วนอีก 20 คะแนน ผมพูดตรง ๆ สิ่งสำคัญคือการควบคุมเด็กไม่ได้ ศูนย์สืบสานมโนราห์มีเด็กมาจากหลายอำเภอ ด้วยค่าใช้จ่ายทำให้ขับเคลื่อนไปได้น้อย เพราะว่ามีเด็กมาจากอำเภอพุนพิน มีเด็กมาจากอำเภอท่าชนะ ที่มาเข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะแตกต่างกับกลุ่มอื่น ๆ ที่เป็นกลุ่มของโรงเรียน เช่น กลุ่มลูกปัดท่าชนะ กลุ่มหอยขาว กลุ่มชุมชนที่โรงเรียนเป็นแหล่งความรู้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่ศูนย์สืบสานมโนราห์ทำนั้น เด็กต้องเดินทางมา มีปัจจัยในการขับเคลื่อนที่เป็นค่าใช้จ่ายน้อย เด็กที่ศูนย์จากวันแรกที่ผมเริ่มโครงการ มีมีเด็กแกนนำอยู่ทั้งหมด 8 คน กลุ่มปากลัด ตอนนี้โครงการจบลงแล้ว แต่ก็ยังมีเด็ก ๆ เข้ามาจากหลายแหล่ง จนมีใบสมัครเพิ่มขึ้น จาก 8 คน เพิ่มขึ้นในศูนย์เกือบ 400 กว่าชีวิต ขนาดใหญ่เหมือนเป็นโรงเรียน เป็นกิจกรรมที่ดี ภาครัฐอาจยังมองไม่เห็น จากเด็ก 8 คน ที่มีกลุ่มแกนนำเท่านั้น เมื่อก่อนกลุ่มเด็กประชุมวางแผนการทำโครงการใต้สวนปาล์ม จนผู้ใหญ่ในชุมชนเห็น พ่อแม่น้องบอมเข้ามามีส่วนร่วมช่วยกันจนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้
ถามขอให้ครูวิเคราะห์ว่าทำไมถึงขยายผลโรงเรียนไปอย่างรวดเร็ว อะไรเป็นปัจจัยให้เกิดเครือข่าย นักเรียนเพิ่มขึ้นจนเป็น 400 คน
ตอบ ผมคิดว่าเพราะความเปลี่ยนแปลงของเด็ก จากเด็กที่ศูนย์จากกลุ่มแกนนำไปสู่น้องๆ ผู้ปกครองของเด็กเห็นการเปลี่ยนแปลง เริ่มไปบอกต่อกันในกลุ่มญาติพี่น้อง ว่าที่ศูนย์นอกจากเป็นแบบนี้ ผมสอนให้เด็กอยู่ร่วมกับคนในชุมชน ในชุมชนเด็กบางคนประสบปัญหาครอบครัวขาดทุนทรัพย์ เด็กรู้จักแบ่งปันกัน โดยใครทำอะไรได้ก็ไม่หวังผลตอบแทนอย่างเช่น เคสล่าสุด มีเยาวชนสองพี่น้อง คุณแม่ของเขาเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งไปเมื่อประมาณตอนช่วงที่เราทำโครงการ ตอนนี้คุณพ่อก็เป็นมะเร็งระยะลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง น้อง ๆ ในศูนย์กระตือรือร้นที่แบ่งปันกัน เช่น จัดกิจกรรมหาข้าวสารไปให้น้องหาอุปกรณ์อะไรไปช่วยน้องช่วยเหลือน้อง ติดต่อพัฒนาสังคม ติดต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่ตัวเองรู้จัก คนละไม้คนละมือ ใครที่มีญาติพี่น้องที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ก็แจ้งเขาว่าสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง ติดต่อพัฒนาสังคมให้มาพาเด็ก 2 คน ที่เขาไม่มีคนดูแลแล้ว เด็ก ๆ รู้จักแบ่งปันเอื้อเฟื้อ
ถาม เด็ก ๆ เกิดการเปลี่ยนแปลง มีความรู้ ศักยภาพอะไรในตัวพวกเขาที่เพิ่มมากขึ้นบ้าง
ตอบ ผมเห็นเขารู้จักรักสิ่งที่เขามีอยู่ เอาสิ่งที่ตัวเขามีอยู่ออกมาใช้ให้เป็น เดิมทีเด็กหลายคนไม่กล้าแสดงออก ตอนนี้เขากล้าแสดงออกขึ้น บางคนมีการเปลี่ยนแปลงทางความคิด จากที่มีปมว่าหนูไม่สวย หนูรำโนราห์ไม่ได้ ตอนนี้เขามีความมั่นใจและพัฒนาตัวเอง
มีครูพี่เลี้ยงอีกท่านหนึ่งเป็นครูภูมิปัญญา แม่ครูมโนราห์ สมทรง เทพทองศิลป์ คณะมโนราห์พี่เสือรามจันทร์ น้องสิงห์ ศิลป์ชัย ลูกสาวของท่านทั้ง 2 คนเป็นแกนนำ สิ่งที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงของเขา คือ เริ่มมีความมั่นใจกล้าสื่อสารมากขึ้นจากเป็นเด็กที่ไม่กล้าแสดงออกเลยเพราะคิดว่าตัวเองหน้าตาไม่ดี เขาก็กล้าแสดงออกมากขึ้น
ถาม สิ่งที่ครูสอนหรือกระบวนการที่เด็กได้เรียนรู้ไปเสริมคุณค่าภายในของเขามากกว่าภายนอก ที่เป็นเรื่องรูปร่างหน้าตา ทำให้เขาเห็นคุณค่าว่าเขาทำได้
ตอบ การจัดกิจกรรมของ สก.สว. ทุกครั้งพัฒนาให้เขาเพิ่มความมั่นใจ เพิ่มกระบวนการว่ามนุษย์ทุกคนมีจุดเด่น ให้เขาเอาจุดเด่นของตัวเองออกมาใช้ เขาจะมีความมั่นใจ เริ่มจากนำจุดเด่นไปกลบจุดด้อย ของเขาเอง
ถาม โครงการของคุณครู มีระบบพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนที่ชัดเจนมาก ครูเป็นการพัฒนาเขาเชิงบวกอาจจะด้วยเพราะว่าภูมิหลังที่มาของเขาก็คือเด็กบางคนก็ลำบาก สถานการณ์ชุมชนที่คุณครูเกริ่นให้เราฟังว่ามีความล่อแหลมสุ่มเสี่ยง คุณภาพชีวิตที่มีข้อจำกัด คุณครูใช้วิธีการประยุกต์ภูมิปัญญามโนราห์ คุณครูไม่ได้ทำแบบมโนราห์โบราณที่มีความเชื่อเต็ม 100 แต่ว่าคุณครูคัดเลือกแล้วก็หยิบเอาส่วนที่เป็นการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ที่จะทำอย่างไรให้เขามีความมั่นอกมั่นใจ ให้เขามีระบบคิด ให้เขามีมุมต่อการสร้างอนาคตชีวิตคุณภาพชีวิตที่ดี คุณครูเลือกหยิบระบบมโนราห์ พี่สอนน้องเข้ามาใช้งานตรงนี้ ซึ่งคือไฮไลท์ที่โดดเด่นของโครงการนี้ที่สำคัญคือมีรูปธรรมที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ชัดเจน ตั้งอยู่ในชุมชน แม้ช่วงแรกคนอาจจะไม่ได้เห็นด้วยหรือสนับสนุน การทำไปเรื่อย ๆ ค่อย ๆ ทำไป เด็กมีพัฒนาการเห็นความเปลี่ยนแปลงจาก 8 คน เป็นหลายร้อยไม่ธรรมดา พอเป็นรูปธรรมขึ้นมา แหล่งทุนที่เป็นทุนของกลไกหลักในชุมชน เช่น รพ. สต. ก็เดินเข้ามาหา เพื่อจะเป็นส่วนหนุนให้กับโครงการของคุณครู ได้ขับเคลื่อนพัฒนาดูแลเด็ก ซึ่งไม่ได้ดูแลแค่การพัฒนาศักยภาพแค่นั้น แต่ดูแลไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ ช่วยแนะนำแนวทางให้เขาได้เดินตามความฝันของเขาด้วย
ตอบ ใช่ครับ