สัมภาษณ์พี่เลี้ยง Best Practice : โครงการคนกล้าดี

พี่เลี้ยงเด่นโครงการคนกล้าดี

1. นางสาววิระมล ประวัติ (พี่ส้ม) อายุ 35 ปี

คณะกรรมการหมู่บ้าน (สภาชุมชน) พี่เลี้ยงโครงการเยาวชน

­

2. นายจำลอง บุญลา (จำลอง) อายุ 54 ปี

เจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี

(ผู้จัดการฝ่ายการศึกษาและอภิบาลสังคม)

­

           คุณจำลอง บุญลา และ แม่ส้ม วิระมล ประวัติ เป็นพี่เลี้ยงของเยาวชน “โครงการคนกล้าดี” ที่เด็กๆ สนใจทำเรื่องความมั่นคงทางอาหารในหมู่บ้านทับคริสต์ อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี

            คุณจำลอง บุญลา เป็นเจ้าหน้าที่ศูนย์สังคมพัฒนามูลนิธิคาทอลิกสุราษฎร์ธานี ทำงานชุมชนกับเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในพื้นที่ตำบลคลองชะอุ่น อำเภอพนม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงโครงการ ดูแลยุทธศาสตร์ กระบวนการ และอำนวยการเรียนรู้ตลอดโครงการ คุณจำลองนั้นมีแนวคิดอยากให้คนในชุมชนเป็นพระเอกในการทำงาน เขาจะฝึกพี่เลี้ยงประมาณ 2-3 คนในแต่ละชุมชน โดยสอนเรื่องการประสานงาน ความสัมพันธ์ในชุมชน การเก็บข้อมูล การพูดคุย หลังจากที่ได้ทำงานในชุมชนมาสักระยะ การทำโครงการครั้งนี้เขาจึงเลือกให้แม่ส้มเป็นพี่เลี้ยงให้กับเด็กๆ ในพื้นที่

           แม่ส้ม วิระมล ประวัติ เป็นคุณแม่ของน้องฟ้า หนึ่งในสมาชิกโครงการคนกล้าดี และเป็นคณะกรรมการชุมชนซึ่งปีนี้เป็นปีที่สองแล้ว ทำงานเกี่ยวกับการผู้สูงอายุ โดยจะออกเยี่ยมผู้สูงอายุทุกเดือน ดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียง รวมถึงทำงานอื่นๆ ของชุมชนที่ต้องการความร่วมมือ เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเยาวชนทำโครงการโดยการชักชวนของคุณจำลอง โดยแม่ส้มบอกว่าไม่เคยมีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงให้เยาวชนทำโครงการมาก่อน แต่เธอมีต้นทุนที่สามารถช่วยเด็กๆ ได้คือ เธอรู้จักคนเยอะมากในหมู่บ้าน และใกล้ชิดกับเด็ก

          ในบทบาทการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ เนื่องจากแม่ส้มอยู่ในพื้นที่ จึงจะเป็นหลักในการประสานงานระหว่างครูจำลองกับเด็ก ๆ ช่วยทำอาหารเวลาเด็กๆ จัดกิจกรรม พร้อมทั้งช่วยหาข้อมูล ความรู้ จากอินเทอร์เน็ต สำหรับเด็ก ๆ ที่เลือกปลูกพืชใหม่ ๆ ที่ไม่มีใครให้คำปรึกษาได้ เช่น เมล่อน แม่ส้มลงชุมชนเวลาเด็ก ๆ ไปหาข้อมูลเสมอ เรียนรู้การทำงานจากการพูดคุย และลงมือทำทุกกระบวนการ

          “เขาจะเข้ามาถามเราบางเรื่องที่เขาทำไม่ได้ เช่น น้องฟ้าเข้ามาถามเรื่องการดูแลน้อง ๆ ว่าจะประสานงานกับน้องอย่างไรที่จะทำให้น้อง ๆ ให้ความร่วมมือ พี่แนะนำว่าเวลาเข้าหาผู้ใหญ่หรือเข้าหาเด็กเราต้องมีวิธีพูด ต้องดูว่าเราจะพูดอย่างไรให้เด็ก ๆ เข้าใจ และเวลาที่ลงชุมชนเราจะไปกับน้อง ๆ และไปดูว่าเขาควรจะสัมภาษณ์อย่างไร คอยแนะนำสิ่งที่เรารู้ให้กับน้อง” แม่ส้ม เล่าถึงบทบาทพี่เลี้ยงโครงการ

          เมื่อถามถึงเทคนิคในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ แม้ส้มบอกว่า “ต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวของเด็ก บอกพ่อแม่ของเขาว่าสิ่งที่เด็กๆ กำลังทำจะช่วยในเรื่องของการดำรงชีวิตของเขา ให้เขาอยู่รอด จึงเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้และลงมือทำ” และเพื่อให้พ่อแม่ให้ความร่วมมือ แม่ส้มสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง เวลามีอะไรจะปรึกษาพ่อแม่ของเด็ก ๆ รวมถึงพี่เลี้ยงนั้นต้องมีมิตรสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชนและเด็กอีกด้วย

           นอกจากนี้ เธอบอกว่าพี่เลี้ยงต้องใจเย็น รับฟัง ร่วมลงมือทำ ไม่สั่งการ เปิดพื้นที่ให้เด็ก ๆ ได้ลอง และเรียนรู้ด้วยตัวเอง และพี่เลี้ยงต้องรู้จักชุมชน เข้าใจบริบทชุมชน

           “ต้องใจเย็นให้มาก บางทีเด็กดื้อและไม่ค่อยฟัง เราต้องใจเย็นที่สุด พี่เลี้ยงต้องรู้ว่าชุมชนอยู่กันแบบไหน ต้องเข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด ต้องอยู่ร่วมกับชุมชนและสัมผัสให้รู้ว่าชุมชนเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจชุมชนว่าชุมชนอยู่แบบไหนอย่างไร เราก็ไม่สามารถทำให้เด็กเข้าไปทำงานในชุมชนนั้นได้ เราจะไม่สามารถช่วยต่อ ยอดเด็กได้”

          พี่เลี้ยงทั้งสองท่าน ดีใจและภูมิใจ ที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ในชุมชน ที่พวกเขามีความรับผิดชอบต่องาน ใช้เวลาว่างอย่างสร้างสรรค์ และคนในชุมชนกลับมาใกล้ชิดกันมากขึ้น แม้จะเหนื่อยจากการทำงานประจำและมีหลายบทบาทหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ แต่ไม่ท้อ เพราะรู้ว่าเด็ก ๆ ได้มากกว่าผลผลิตที่เพาะปลูก แต่เป็นการปลูกฝัง เป็นความยั่งยืนที่เกิดขึ้นในตัวเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ ยิ่งเด็กหยั่งรากลึก ยิ่งมั่นคง ทั้งสองจึงเต็มใจในหน้าที่นี้ เหมือนการรดน้ำ พรวนดินในหัวใจเด็ก ๆ ให้งอกงาม

          ครูจำลอง สะท้อนว่าการทำงานคู่กับพี่เลี้ยงชุมชนเป็นข้อดี พี่เลี้ยงชุมชนคือความยั่งยืนอย่างหนึ่งในงานพัฒนา เพราะเขาเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่ ใกล้ชิด ประสานงานได้ทันที หากทำงานอย่างเข้าใจ มีใจ พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ มีกระบวนการทำงานให้ทุกคนมีส่วนร่วม และเห็นภาพรวม ต่อไปจะขึ้นมาเป็นแกนนำหลัก เนื่องจากต่อไปครูจำลองมองว่าตัวเองก็ต้องขยายการทำงานในชุมชนอื่นต่อ ครูจำลองจึงวางบทบาทตัวเองให้เป็นพี่เลี้ยงเพื่อสร้างพี่เลี้ยงในชุมชน ซึ่งน่าจะเป็นทางเลือกที่ทำให้ชุมชนขับเคลื่อนเองได้ต่อไป

­

ความโดดเด่น

  • วางบทบาทกันอย่างชัดเจน ประสานงานและเห็นภาพรวมเดียวกัน
  • เข้าใจบริบท เด็ก เยาวชน ชุมชน และสังคม เพื่อวางแผนการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ ให้เด็ก เยาวชน กล้าคิด กล้าทำ กล้าลองผิดลองถูก เพราะการลงมือทำจะทำให้เด็ก ๆ เข้าใจและจดจำ

­

บทสัมภาษณ์

ถาม ช่วยแนะนำตัวเอง

พี่ส้ม สวัสดีค่ะ ชื่อนางสาววิระมล ประวัติ ชื่อเล่นส้ม เป็นคณะกรรมการชุมชนและเป็นพี่เลี้ยงโครงการเด็ก เด็กในซอยนี้ส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกัน

­

ถาม ช่วยเล่าประวัติการทำงานกับชุมชนก่อนหน้านี้

พี่ส้ม ตอนแรกเข้ามาทำงานเป็นคณะกรรมการชุมชม ทำงานเกี่ยวกับการผู้สูงอายุ ได้เข้าไปดูแลผู้สูงอายุที่ติดเตียงจะออกเยี่ยมผู้สูงอายุทุกเดือน พี่ทำงานกิจกรรมของชุมชนที่เขาอยากให้เราเข้าไปมีส่วนร่วม เช่น วันสงกรานต์มีประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ พี่ถูกคัดเลือกจากชุมชนให้เป็นคณะกรรมการชุมชนปีนี้เป็นปีที่สอง

­

ถาม มาเข้าร่วมโครงการนี้ได้อย่างไร

พี่ส้ม ครูจำลองและครูศิลป์เขารู้จักเราและเขาเห็นว่าในซอยมีเด็กจำนวนมาก จึงลองชวนมาทำกิจกรรม ตอนแรกมาคุยกับเด็ก ๆ ว่าสนใจทำไหม พอคุยไปคุยมาเด็กสนใจ เราเลยได้เข้าร่วมโครงการกับครูจำลองและครูศิลป์

­

ถาม มีลูกหลานของเราเข้าร่วมในโครงการไหม

พี่ส้ม มีค่ะ

­

ถาม เคยทำงานในบทบาทพี่เลี้ยงมาก่อนไหม

พี่ส้ม ไม่เคยค่ะ

­

ถาม บทบาทพี่เลี้ยงในโครงการที่ทำมีอะไรบ้าง

พี่ส้ม คอยประสานงานระหว่างครูจำลองกับเด็ก ๆ ช่วยทำกับข้าวให้เด็กรับประทาน เวลาที่เด็กถามอะไรถ้าเรามีความรู้เราก็แนะนำให้เขา เช่น เขาอยากรู้เรื่องการเลี้ยงปลาดุกปลาสลิด เราก็แนะนำเขา การปลูกเมล่อน เราไม่เคยปลูกเองต้องไปศึกษาจาก YouTube เพื่อมาบอกเขา ลองศึกษาข้อมูลแล้วมาทดลองทำแต่ไม่ได้ผลที่ดีสักเท่าไร เนื่องจากสภาวะฝนฟ้าอากาศไม่เหมาะสมกับการปลูกเมล่อน อะไรที่เราไม่รู้เราก็ถามครูจำลอง เราไปร่วมกิจกรรมพร้อมกับเด็กในช่วงเวลาที่เครือข่ายจัด การที่เราไปด้วยเป็นเหมือนการให้กำลังใจกับเด็ก

เรื่องทำอาหารทำกับข้าวให้น้อง ๆ ที่ทำเพราะว่าเราเป็นพี่เลี้ยงและเป็นแม่ของเด็กในโครงการ เราเป็นตัวหลักที่จะดูแลพวกเขาเพราะว่าบางทีครูจำลองไม่มีเวลา เวลาที่เราทำกับข้าวให้เด็กพวกเขาก็จะมีความสุขไปด้วย หลังทำกิจกรรมเสร็จแล้วเราจะกินข้าวร่วมกัน การที่เราอยู่กับน้อง ๆ นอกเหนือเวลาทำโครงการแบบนี้ช่วยในการประสานงาน เพราะว่าบางทีครูจำลองไม่มีเวลา เราเป็นคนในพื้นที่ เรามีส่วนช่วยในการดูแลเด็กตรงนี้ เราสามารถดูแลได้ทุกวันเป็นการเพิ่มความสัมพันธ์ของเราและเด็ก ๆ เวลาที่เด็ก ๆ เขามีอะไรเขาสามารถมามาบอกเราได้

­

ถาม ส่วนใหญ่เด็ก ๆ มาปรึกษาพี่เลี้ยงเรื่องอะไร

พี่ส้ม เขาจะเข้ามาถามเราบางเรื่องที่เขาทำไม่ได้ เช่น น้องฟ้าเข้ามาถามเรื่องการดูแลน้อง ๆ ว่าจะประสานงานกับน้องอย่างไรที่จะทำให้น้อง ๆ ให้ร่วมมือ พี่แนะนำน้องฟ้าว่าเวลาเข้าหาผู้ใหญ่หรือเข้าหาเด็กเราต้องมีวิธีพูด ต้องดูว่าเราจะพูดอย่างไรให้เด็ก ๆ เข้าใจ เวลาที่ลงชุมชนเราจะไปกับน้อง ๆ และไปดูว่าเขาควรจะสัมภาษณ์อย่างไร คอยแนะนำสิ่งที่เรารู้ให้กับน้อง เวลาที่ลงมือทำปุ๋ยเราลงมือทำด้วยกันกับเด็ก ๆ เราต้องทำด้วยถ้าเรายืนเฉย ๆ เด็กเขาจะเห็นว่าเราไม่ทำ ถ้าเราทำเขาจะได้เห็นว่าผู้ใหญ่มีส่วนร่วมกับพวกเขา เป็นการกระตุ้นให้พวกเขาเมื่อเห็นว่าเราทำเขาก็ทำ และเขาจะสนิทกับเรามากขึ้นด้วย

­

ถาม เทคนิคและเครื่องมือที่ใช้ในการเป็นพี่เลี้ยงโครงการคืออะไร

พี่ส้ม เราจะต้องมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อครอบครัวของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นญาติมิตรของเรา เราจะบอกพ่อแม่ของเขาว่าสิ่งที่เราทำนี้ตั้งใจทำให้เด็กเพื่อประโยชน์ของพวกเขาเอง สิ่งที่เด็ก ๆ กำลังทำจะช่วยในเรื่องของการดำรงค์ชีวิตของเขา ให้เขาอยู่รอดจึงเป็นสิ่งที่เขาต้องเรียนรู้และลงมือทำ พี่หวังดีอยากให้พวกเขาได้เรียนรู้สิ่งนี้จากการทำโครงการ

­

ถาม หลังจากที่อธิบายให้ผู้ปกครองเด็ก ๆ รับรู้ผลตอบรับเป็นอย่างไร

พี่ส้ม พ่อแม่พวกเขาให้ความร่วมมือบางครอบครัวสนใจ แต่มีบางครอบครัวไม่สนใจ เราก็คิดว่าไม่เป็นไรเรา เอาครอบครัวที่เขาสนใจมาร่วมกับกิจกรรมกับเราก่อน เพื่อน ๆ ผู้ปกครองเห็นกิจกรรมของเราผ่าน Facebook เขาสนใจ เข้ามาสอบถาม อยากให้ลูกหลานเขาร่วมกิจกรรมด้วย เราแนะนำว่า “มาเข้าร่วมกิจกรรมกับเราได้”

เราต้องมีมิตรสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชนและเด็ก ทำงานให้เขาเห็นว่าเราทำงานจริง เขาจะรู้ว่าเราเป็นอย่างไร เขาจะได้ไว้วางใจเราจนเข้ามาร่วมทำงานกับเรา

ถาม วิธีการที่สร้างการทำงานแบบมีส่วนร่วมกับผู้ปกครองของเด็ก ๆ ทำอย่างไร

พี่ส้ม เวลามีอะไรจะปรึกษาพ่อแม่ของเด็ก ๆ ว่าแบบนี้ดีไหม ทำได้หรือเปล่า ชวนพวกเขา โดยถามว่าอยากร่วมทำกิจกรรมหรือเปล่า ชวนเขาทุกกิจกรรมที่เราจัด ชวนเขามาทำกับข้าวร่วมกันถ้าเขามีเวลา

­

ถาม จุดเด่นในการเป็นพี่เลี้ยงของพี่ส้มเราคืออะไรบ้าง

พี่ส้ม มีมิตรสัมพันธ์ที่ดีจริงใจกับเขา เราเข้าไปหาและไปเยี่ยมครอบครัวเขา เข้าไปผูกมิตรไมตรีกับผู้ปกครองและลูกของเขา เวลาที่เรามีของที่สามารถแบ่งปันได้เราก็เอาไปแบ่งปันให้เขา

­

ถาม ความยากในการเป็นพี่เลี้ยงคืออะไร

พี่ส้ม ยากเป็นบางเรื่อง บางคนเขาไม่เข้าใจในจุดประสงค์ของโครงการ เราต้องทำหน้าที่อธิบายให้เขาเข้าใจว่าเราต้องการให้เด็กหรือลูกหลานเขาได้ประโยชน์จากกิจกรรมตรงนี้ เรื่องนี้ยากที่ต้องอธิบายให้เขาเข้าใจ ช่วงแรก ๆ เคยมีคนพูดว่าโครงการนี้มีแอบแฝงไม่น่าไว้ใจ พอเรามาทำตรงนี้ เราทำให้เห็นว่าเราทำจริง เรามีกิจกรรมจริง พอเขาได้เห็นได้สัมผัส เขารู้ว่าเราไม่ได้มีอะไรแอบแฝงในโครงการนี้ บางคนเขาเห็นแบบนี้แล้วเขาสนใจ อยากร่วมทำกิจกรรมที่ได้ออกไปเที่ยวมากกว่า แต่อาจจะไม่อยากเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา ซึ่งแบบนี้เราถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ เราก็บอกเขาว่า “ไม่ได้ ต้องร่วมกิจกรรมหลักด้วย”

­

ถาม รู้สึกอย่างไรกับการเป็นพี่เลี้ยงโครงการ

พี่ส้ม รู้สึกดีใจที่มีส่วนช่วยให้เด็ก ๆ ทำโครงการนี้ โครงการนี้ทำให้เด็กได้อะไรหลายอย่างจากเด็กที่ไม่เคยทำอะไร พี่อยากมีส่วนช่วยให้พวกเขามีวิถีดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ได้เห็นพวกเขาทำงานเป็นกลุ่ม มีความสามัคคีกัน มีส่วนร่วมทำงานให้กับชุมชนและเห็นพวกเขามีความสุข

­

ถาม เห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวน้อง ๆ

พี่ส้ม น้องส้ม น้องเป้ และน้องแป้ง รู้จักวิธีการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม รู้ว่าควรทำอย่างไรให้เพื่อน ๆ เข้าร่วม ต้องแสดงมิตรไมตรีกับเพื่อนอย่างไร ลูกของพี่น้องเป้กับน้องแป้งมีความรับผิดชอบต่องานมากขึ้น น้องเป้เมื่อก่อนเขาไม่ค่อยรับผิดชอบเท่าไร พอเขาเข้าร่วมโครงการนี้ เขาโตและมีความรับผิดชอบมากขึ้น รู้จักคิดรู้จักพูดมากขึ้น เมื่อก่อนเขาไม่ค่อยพูด ตอนนี้เขาเข้ากับเพื่อน ๆ ในชุมชนได้มากขึ้น เพราะว่าเขาได้ทำกิจกรรมร่วมกันซึ่งสมัยก่อนเขามีโลกส่วนตัว ไม่ค่อยได้ไปไหนชอบเล่นแต่โทรศัพท์

­

ถาม รู้สึกอย่างไรที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของเด็ก ๆ ในโครงการ

พี่ส้ม รู้สึกดีใจที่เรามีส่วนร่วมช่วยพัฒนาให้พวกเขาดีขึ้น เห็นพวกเขามีความสามารถหลายอย่างที่ใช้ในการดำเนินชีวิตได้

ถาม การเป็นพี่เลี้ยงที่ต้องพาน้องเรียนรู้ทำอย่างไร

พี่ส้ม พี่เลี้ยงเราจะต้องใจเย็นให้มากกับเด็ก ๆ ถ้าเราใจร้อนไปกับเด็ก เราก็ไม่สามารถคุมเด็กและไม่สามารถทำกิจกรรมกับเขาได้ บางทีเด็กก็ดื้อและไม่ค่อยฟัง เราต้องใจเย็นที่สุด พี่เลี้ยงต้องรู้ว่าชุมชนอยู่กันแบบไหน ต้องเข้าถึงชุมชนให้มากที่สุด ต้องอยู่ร่วมกับชุมชนและสัมผัสให้รู้ว่าชุมชนเป็นอย่างไร ถ้าเราไม่เข้าใจชุมชนว่าชุมชนอยู่แบบไหนอย่างไร เราก็ไม่สามารถทำให้เด็กเข้าไปทำงานในชุมชนนั้นได้ เราจะไม่สามารถช่วยต่อยอดเด็กได้ ถ้าเราไม่รู้อะไรซักอย่างในชุมชนเราก็ไม่สามารถเป็นพี่เลี้ยงในชุมชนได้

­

ถาม อยากพัฒนาตัวเองในเรื่องอะไร

พี่ส้ม อยากพัฒนาความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเกษตรให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การทำปุ๋ยชีวภาพ อยากรู้ว่าต้องทำแบบไหนถึงจะดีกับพืชกับสภาพอากาศบ้านเรา

­

ถาม ช่วยเล่าถึงบทบาทการเป็นทีมวิทยากรที่นำความรู้ของชุนไปแบ่งปันให้กับชุมชนอื่นเป็นอย่างไรบ้าง

พี่ส้ม ครูจำลองกับครูศิลป์ชวนพี่เป็นวิทยากรแนะนำการทำปลาดุกร้า ซึ่งเราได้ทำมาแล้วและมีผลตอบรับที่ค่อนข้างดี พี่ไปแนะนำให้กับคนในชุมชนหมู่ 7 เพราะเขามีปัญหาทำแล้วปลาเน่า เราไปแนะนำว่าต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ปลาเน่าและส่งขายได้ พี่รู้สึกดีใจว่าเราก็ไม่เคยทำมาก่อน เราเริ่มจากการที่เราปรึกษาครูและศึกษาเองผ่าน YouTube ดีใจที่เขาไว้วางใจเรา และภูมิใจที่เราสามารถช่วยเขาได้

­

ถาม ปัญหา-อุปสรรคในการทำโครงการคือเรื่องอะไร

พี่ส้ม อุปสรรคเป็นเรื่องของเวลา เราไม่มีเวลาเพียงพอให้กับเด็ก เพราะว่าส้มมีอาชีพหลัก บางครั้งเหนื่อยแต่เราก็ต้องทำเพื่อเด็ก ๆ ถ้ามีกิจกรรมแม้ว่าเราเหนื่อยมาจากงาน เราก็ต้องช่วยทำ

­

ถาม มีวิธีการจัดการปัญหาอุปสรรคอย่างไร

พี่ส้ม คิดว่าถ้าเราร่วมโครงการนี้ต้องอดทนเพื่อเด็ก ๆ เพื่อพวกเขา แม้ว่าเราจะมีอาชีพหลัก แต่ถ้าเราเลือกที่จะทำตรงนี้แล้ว เราต้องร่วมไปให้ถึงที่สุดจนจบสิ้นโครงการ

­

ถาม ในอนาคตอยากมีส่วนรวมในการพัฒนาชุมชนอย่างไร

พี่ส้ม ช่วยเรื่องเกษตรให้มากขึ้น เพื่อให้ชุมชนและครอบครัวมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยที่เราไม่ต้องซื้อจากท้องตลาด พี่อยากช่วยตรงนี้มาก ๆ เพื่อลดภาระของแต่ละครอบครัว

­

ถาม วิธีการทำงานของครูจำลองกับพี่เลี้ยงในโครงการเป็นอย่างไร

พี่จำลอง ครั้งแรกที่เข้ามาเราจะมองคนก่อน เรามองส้มมานานแล้ว เนื่องจากเขาเป็นกรรมการหมู่บ้านที่เรียกว่าสภาผู้นำชุมชน เราเห็นตัวแทนชุมชนทุก ๆ ซอยในสภาผู้นำ เรามองดูว่าเขาเป็นคนใจเย็นอย่างที่เขาว่า เราเห็นเวลาเขาคุยกับเด็ก การปฏิสัมพันธ์กับชุมชนในทุกครัวเรือน ผมจะถามเขาว่า “เด็กคนนี้เป็นอย่างไร บ้านนี้เป็นอย่างไร ผมจะต้องเข้าไปคุยกับใคร ไปติดต่อใคร” ส้มสามารถให้คำตอบนี้กับผมได้ บางทีเราให้โจทย์เขาว่าเราอยากทำอะไร เขาก็ทำได้ เช่น เราได้แบบสัมภาษณ์มาเราจะถามว่าส้มทำไหวไหม เขาก็ชวนเด็กลงไปทำ

ผมมีกระบวนการเวลาที่ผมลงไปชุมชนพื้นที่ไหนก็ตาม เราอยากให้คนในชุมชนเป็นพระเอกในการทำงาน เราจะฝึกพี่เลี้ยงประมาณ 2-3 คนในแต่ละชุมชน เราสอนเรื่องการประสานงาน ความสัมพันธ์ในชุมชน การเก็บข้อมูล การพูดคุย เราไม่ได้สอนแบบกางตำราให้ดู แต่เราจะค่อย ๆ ให้ไปทีละอย่าง ส้มเขาเห็นผมทำงานในชุมชนมานานเหมือนกัน เราทำงานกับเด็กในโรงเรียนบ้างความสัมพันธ์อีกรูปแบบหนึ่ง เราค่อย ๆ ให้เทคนิคไป ตัวเขาเองมีเอกลักษณ์เรื่องของการมีมนุษย์สัมพันธ์ เขารู้จักทุกคนซึ่งช่วยเราเยอะมาก ผมไม่ต้องเหนื่อย ธรรมดาเราเหนื่อยต้องประสานงานกับผู้ปกครองและต้องสู้รบกับเด็ก เราต้องยุ่งกับการจัดกระบวนการกลุ่ม เมื่อเรามีพี่เลี้ยงคอยช่วย เวลาเด็กเห็นพี่เลี้ยงเด็กก็เกรงใจ เพราะว่ามีผู้ใหญ่ตัวแทนของชุมชนอยู่อยู่ใกล้ ๆ

การทำงานแบบมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ ผมไม่แยกส่วนในการทำงาน เราเอาทุกภาคส่วน ทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัยมาร่วม เราฝึกแกนนำ 4-5 คน ให้เข้ามาช่วยไม่เฉพาะแค่ส้มเท่านั้น มีทั้งผู้ชายผู้หญิงเพราะสักวันหนึ่งเราต้องถอยออกไป พวกเขาจะขึ้นมาเป็นแกนนำในการทำงาน เราเข้ามาช่วยในชุมชน 3-4 ปี พอเราถอยออกไปชุมชนก็เดินต่อไปได้ อย่างน้อยแกนหลักที่เราได้มา ได้เรียนรู้จากการชวนพูดคุยและประสบการณ์ การพาลงมือทำใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน เขาได้เห็นและผ่านการฝึกเป็นพี่เลี้ยงในรูปแบบนี้ เราเอาข้อดีของเขามาและเราหนุนเสริมเข้าไป เราพาเขาออกเวที เช่น เราพาฟ้าและแป้งเป็นตัวแทนเด็ก เข้าร่วมประชุมกับเครือข่ายที่สุราษฎร์ธานี เราให้เวทีเขาเพื่อแบ่งปันงานในชุมชนให้พี่น้องในเครือข่ายรับรู้ เราค่อย ๆ ฝึกเรื่องของการเป็นผู้นำ เรื่องการพูด การถ่ายทอด

พี่เลี้ยงเขาอยู่ในชุมชนอยู่แล้ว ตอนเย็นเด็กกลับมา พวกเขาใกล้ชิดกว่าเรา เขาสามารถที่จะถ่ายทอดให้กับเด็กได้ อย่างน้อยลูกเขาสองคนและเพื่อน ๆ ในสมาชิกกลุ่ม ส้มเขาอยู่กับเด็กตลอด 24 ชั่วโมง วันจันทร์ถึงวันเสาร์ส่วนผมมาแค่วันอาทิตย์วันเดียว นี่คือกระบวนการที่เราอยากสร้างพี่เลี้ยง ผมเองก็ต้องไปเป็นพี่เลี้ยงเพื่อสร้างพี่เลี้ยงในชุมชนต่อ ในหนึ่งปีเราเห็นผลว่ากระบวนการแบบนี้เชื่อถือได้