สัมภาษณ์โครงการ Best Practice การเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านโครงการเพื่อชุมชน PBL : โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง

โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอย อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง


          เด็ก เยาวชน คนในชุมชนบ้านมดตะนอยเติบโตและผูกพันมากับธรรมชาติ ด้วยชุมชนตั้งอยู่บริเวณน้ำล้อม มีลักษณะคล้ายเกาะ ด้านหน้าชายหาดติดทะเล ด้านหลังชุมชนเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ทำให้คนในชุมชนส่วนใหญ่ทำอาชีพประมง หาปลาและหอย ในหน้ามรสุมไม่สามารถหาปลาออกทะเลได้ จะหาหอยที่ชายหาดและป่าชายเลน อดีตหอยในบริเวณบ้านมดตะนอยมีจำนวนมาก หาง่ายนอกจากหาเพื่อบริโภค ยังมีมากพอจะจำหน่ายสร้างรายได้ในกับคนในชุมชน แต่ปัจจุบันหอยมีจำนวนลดลงไปมากเนื่องจากคนหาหอยเก็บหอยขนาดเล็ก อีกทั้งยังมีคนภายนอกชุมชนเข้ามาหาหอยโดยไม่คำนึงถึงขนาดของหอย ใช้อุปกรณ์ตาถี่ โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอยจึงเข้ามาศึกษา เพื่อให้วิถีชีวิตของผู้คนยังคงดำเนินชีวิตควบคู่กับการอนุรักษ์หอย และดูแลแหล่งอาหารทะเลอย่างยั่งยืน

         แกนนำเยาวชนบ้านมดตะนอยศึกษาข้อมูลปลูกจิตสำนึกในกับเด็กและเยาวชน โดยศึกษาข้อมูลกับผู้ใหญ่ในชุมชน ทำโมเดลหอยและข้อมูลแผ่นพับเพื่อในเด็ก ๆ รู้จักหอยแต่ละชนิด ทำปฏิทินหอยที่แสดงช่วงหาหอยในแต่ละเดือน วิธีการเก็บที่ควบคู่กับการอนุรักษ์ พวกเขาสร้างความเข้าใจ ทำกิจกรรมเชิงบวกที่ทำให้เด็กและเยาวชนรู้สึกรัก หวงแหน และอยากดูแลธรรมชาติ จึงชวนกันทำป้ายและเดินรณรงค์เพื่อการอนุรักษ์หอยในชุมชน เมื่อเด็ก เยาวชนได้สื่อสารบอกเล่าเรื่องประชากรหอยที่ลดลง จนหอยบางชนิดที่เคยมีบริเวณบ้านมดตะนอยในอดีต แต่ตอนนี้ไม่มีเหลือแล้ว และพวกเขาอยากเห็นของจริงมากกว่าเพียงเห็นในแผ่นภาพ ทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนตื่นตัว และตระหนักถึงการอนุรักษ์อย่างจริงจังอีกครั้ง

          เดิมในชุมชนมีกติกาแต่ไม่ชัดเจนและไม่มีการปฏิบัติจริง โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอย ประสานความร่วมมือกับผู้ใหญ่ในชุมชนประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน อพ.ปร. อสม. หมอหนึ่ง หมอสมโชค (รพ.สต.) สก.สว.(รุ่นใหญ่) พี่เลี้ยงโครงการ จ๊ะปู่เตะ จ๊ะแหวน จ๊ะเฉ กลุ่มแม่บ้านและคนในหมู่บ้าน เพื่อออกกฎกติการอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ห้ามจับหอยชักตีนที่มีขนาดเล็กกว่า 3 เซ็นติเมตร ห้ามจับหอยตลับที่มีขนาดเล็กกว่า 4 เซ็นติเมตร ห้ามจับหอยที่มีเปลือกบาง ห้ามเก็บหอยในช่วงฤดูวางไข่ เยาวชนสังเกตว่าช่วงที่หอยชักตีน จะมีไข่ติดอยู่ตามหญ้าทะเล ห้ามใช้อวนตาถี่บริเวณริมตลิ่ง เป็นต้น

          ทั้งนี้มีการตั้งด่านหน้าหมู่บ้าน เพื่อคัดกรองเครื่องมือที่ใช้จับสัตว์น้ำโดยทีม อพ.ปร. หมู่บ้านมดตะนอยมีทางเดินรถเข้าออกทางเดียวทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจตรา เฝ้าระวัง เก็บบันทึกจากคนเฝ้าด่านหน้าของหมู่บ้านว่า ในแต่ละวันมีคนนำเครื่องมือผิดกติกาเข้ามาในชุมชนไหม จากการเก็บข้อมูลในช่วง 3 – 4 เดือนพบว่าคนที่ทำผิดกฎมีจำนวนน้อยลง บางสัปดาห์ไม่มีคนทำผิดกฎเลย หลังจากทำโครงการ แกนนำเยาวชนลงไปสำรวจที่ทะเล พบปริมาณหอยตัวเล็กที่มีเปลือกบางเยอะขึ้น หอย ปู ปลาหญ้าทะเลริมตลิ่งเริ่มกลับมามีจำนวนมากขึ้น

          แกนนำเยาวนของโครงการฯ สร้างสรรค์กิจกรรมที่สนุกและมีส่วนร่วม เช่น กิจกรรมนักสืบสายหอยให้สมาชิกโครงการรู้สึกเหมือนเป็นนักสืบ ช่วยเป็นหูเป็นตา สืบหาข้อมูลหอยโดยบันทึกว่า ใครไปเจอหอยชนิดไหน บริเวณไหน จำนวนเท่าไร มารวบรวมเป็นข้อมูล กิจกรรมที่ปฏิบัติการหาหอยและนำหอยมาสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ โดยเด็ก ๆ เป็นคนคิดส่วนผสม ปรุงรสและรับประทานร่วมกัน กิจกรรมทำให้รับรู้ถึงรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนประทับใจและสร้างการตระหนักรู้ พวกเขารับรู้ว่ามีสิ่งมหัศจรรย์ใกล้ตัว มหัศจรรย์พันธุ์หอยจะยั่งยืน โดยมีทุกคนในชุมชนร่วมดูแล

          โครงการฯ ได้จุดประกายความคิดของคนทั้งหมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรที่มีในชุมชนมากขึ้น อยากอนุรักษ์พันธุ์หอย ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของการหาหอยและสัตว์ทะเล ร่วมกันสื่อสาร เฝ้าระวัง ให้ความรู้ถึงเครื่องมือและวิธีการหาหอยที่ถูกต้องให้กับนักท่องเที่ยวและคนภายนอกหมู่บ้าน ในอนาคตจะพัฒนาเป็นชุมชนต้นแบบให้คนมาศึกษาดูงานด้านการการอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิต


ความโดดเด่น

  • โครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย บ้านมดตะนอยเริ่มจากการสืบค้น ทำข้อมูล สร้างการตระหนักให้เห็นความสำคัญของหอยและสิ่งแวดล้อมรอบหมู่บ้าน หาแนวทางในการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน โดยประสานความร่วมมือเพื่อออกกฎกติกาของชุมชน จากคนทุกฝ่ายของชุมชน
  • โครงการฯ ได้จุดประกายความคิดของคนทั้งหมู่บ้าน ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรที่มีในชุมชนมากขึ้น
  • กิจกรรมที่ออกแบบสร้างความสนุก มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกคน


ผู้ให้สัมภาษณ์

นายธัญวรินทร์ หวังดี (นาน) อายุ 22 ปี  ตำแหน่ง: หัวหน้าโครงการ


บทสัมภาษณ์

ถาม ขอให้ช่วยแนะนำตัว

ตอบ สวัสดีค่ะ ชื่อนายธัญวรินทร์ หวังดี ชื่อเล่น นาน อายุ 22 ปี ตอนนี้กำลังศึกษานอกระบบ ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ กศน. ตำบลนาเกลือ ทำโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย ตำแหน่งหัวหน้าโครงการ


ถาม ทำไมถึงสนใจทำประเด็นเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธ์หอย

ตอบ ในช่วงแรกเราใช้เวลาคิดหลายรอบกว่าจะมาเป็นโครงการนี้ หมู่บ้านมดตะนอยได้รับทุน 2 โครงการแรก คือ โครงการโกงกางสานรัก เราคิดกันว่าจะทำโครงการอะไรที่สามารถเชื่อมโยงกับโครงการโกงกางสานรักได้ จึงทำโครงการมหัศจรรย์พันธุ์หอย พวกเราเติบโตมากับสิ่งแวดล้อมในชุมชนตั้งแต่เด็ก เราเติบโตมากับธรรมชาติและผูกพันกับหอย น้องทุกคนในกลุ่มเติบโตมากับวิถีชาวประมงที่หากินกับท้องทะเล น้องทุกคนไม่มีใครไม่เคยหาหอย ในช่วงหน้ามรสุมที่เราไม่สามารถหาปลาได้ เราจะลงไปที่หน้าชายหาดเพื่อหาหอย เราเข้าไปในป่าชายเลนเพื่อหา ปู ปลา หอย ที่พบในแนวน้ำตื้นแทนการหาปลา

สิ่งที่เราต้องการขับเคลื่อน คือ เรื่องการอนุรักษ์ สมัยก่อนเราสามารถพบหอยในจำนวนที่มากกว่านี้ มีหอยบางชนิดหายไปจากหมู่บ้าน เราอยากอนุรักษ์พันธุ์หอยต่าง ๆ ไม่ให้สูญพันธุ์ไป ปริมาณของหอยบางชนิดมีจำนวนลดลง เราอยากรู้ข้อมูลที่แท้จริงว่าหอยแต่ละชนิด มีการเติบโตอย่างไร เมื่อเทียบปริมาณของหอยในสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบันจำนวนของหอยมีมากน้อยเท่าไร


ถาม ช่วยเล่าถึงวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่ผูกพันกับหอย

ตอบ หมู่บ้านของเราตั้งอยู่บริเวณที่มีน้ำล้อมรอบ มีลักษณะคล้ายเกาะ มีสะพานเชื่อมต่อเข้าไปในตัวหมู่บ้าน ด้านหลังเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ด้านหน้าเป็นชายหาดติดกับทะเล เราสามารถหาหอยได้ที่ชายหาดและป่าชายเลน ในช่วงมรสุมที่มีคลื่นทะเลสูง ชาวบ้านไม่สามารถออกเรือประมงเพื่อไปหาอาหารได้ แต่เราสามารถหาอาหารจากหน้าชายหาดและป่าชายเลนได้ ทำให้หมู่บ้านของเราไม่ขาดแคลนอาหาร หอยเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของคนในหมู่บ้าน ส่วนใหญ่คนในชุมชนจะหาหอยเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน หอยบางชนิดมีปริมาณไม่มากถูกนำมาเป็นอาหารในครอบครัว มีหอยบางส่วนที่หาได้จำนวนมากจะถูกนำไปขายเพื่อเป็นรายได้เสริมภายในครอบครัวซึ่งไม่ใช่รายได้หลัก รายได้หลักของคนในชุมชน คือ การขายปลา ปู กุ้ง และหมึก


ถาม ปริมาณหอยที่ลดลงเกิดจากอะไร

ตอบ เกิดจากคนหาหอยเก็บหอยที่มีขนาดเล็กไปทำอาหาร ทำให้ประชากรหอยเติบโตไม่ทัน มีทั้งคนในชุมชนและคนนอกพื้นที่เข้ามาบุกรุกพื้นที่อาศัยของหอย ยกตัวอย่างหอยชักตีน คนในหมู่บ้านจะเลือกเก็บหอยตัวที่โตเต็มวัย มีเปลือกหนา ถ้าเป็นคนนอกพื้นที่ เขาเก็บไปให้เยอะที่สุด เก็บหอยไปทุกขนาด เพราะเขาคิดว่ามันคืออาหารสามารถกินได้หมด โดยไม่ได้นึกถึงการเจริญเติบโตของหอย คนภายนอกไม่รู้วิธีเก็บหอยเหมือนคนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านของเราเก็บหอยและอนุรักษ์หอยไปด้วย


ถาม สถานการณ์ของชุมชนเกี่ยวข้องกับประเด็นที่ทำอย่างไร

ตอบ ถ้าย้อนหลังไป 6 ปี ก่อนหน้านี้ เราลงไปเก็บหอยกับม๊ะ (แม่) หอยมีจำนวนมาก เช่น หอยปูน (ลักษณะคล้ายหอยหลอดคนในชุมชนเรียกว่า หอยปูน) เขาจะนำกิ่งมะพร้าวกับปูนมาหยอดที่รูเพื่อหาหอย 3 ปี ก่อนหน้านี้จากข้อมูลที่เราศึกษา หอยปูนสูญพันธุ์ไปจากหมู่บ้าน ช่วงหลังมานี้หอยปูนเริ่มกลับเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านแล้ว แต่มีจำนวนไม่มาก ส่วนหอยสันขวาน หอยหวาน มีจำนวนลดลงทุกปี

คนที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนหอยที่ลดลง คือ กลุ่มม๊ะในหมู่บ้านซึ่งเป็นแม่บ้านที่ไม่ได้ทำอาชีพอื่น พวกเขาหาหอยเพื่อเป็นรายได้หลัก นำมาขายให้คนในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง ตอนนี้กลุ่มแม่บ้านมีรายได้ลดลงจากแต่ก่อน หนูไปคุยกับพวกม๊ะ เขาบอกว่า “ช่วง2-3ปี หอยมีจำนวนลดลง เมื่อก่อนหอยหาง่าย สามารถพบตามชายหาด แต่ตอนนี้การเก็บหอยต้องเดินออกไปไกลขึ้น หอยที่พบจะมีขนาดเล็ก หอยขนาดใหญ่หายาก” จำนวนหอยที่พบขึ้นอยู่กับช่วงเวลาช่วงน้ำขึ้นน้ำลง สภาพแวดล้อม

คนในชุมชนก็ได้รับผลกระทบ จากเดิมที่เรากินหอยเป็นอาหาร ตอนนี้เราต้องซื้อวัตถุดิบจากที่อื่นเข้ามา บางครั้งเราต้องซื้อปลาจากหมู่บ้านอื่นหรือในเมือง เพื่อมากินแทนหอยที่ขาดแคลน

อีกหนึ่งผลกระทบคือ เมื่อก่อนเด็กหาหอยใกล้ ๆ หมู่บ้าน แต่ตอนนี้พวกเด็ก ๆ ต้องออกไปหาหอยไกลขึ้น ทำให้ผู้ปกครองเป็นห่วงลูกหลาน

หนูคิดว่าสาเหตุที่ทำให้หอยมีจำนวนลดลง เกิดจากคนในชุมชนและนอกชุมชนจับหอยที่มีขนาดเล็ก ส่วนนักเที่ยวท่องที่มาเที่ยวในหมู่บ้าน เขาไปทำลายหญ้าทะเลโดยการดึงหญ้าทะเลเล่น ทำให้แหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่ของหอยเกิดความเสียหาย ซึ่งตอนนี้ในหมูบ้านต้องช่วยกันเพาะพันธุ์หญ้าทะเลขึ้นเพื่อฟื้นฟูแหล่งที่อยู่ของหอย


ถาม บทบาทของเยาวชนในโครงการช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชนอย่างไร

ตอบ ตอนแรกที่ทำโครงการพวกเราแค่นึกสนุก อยากรู้แค่ข้อมูลของหอยในแต่ละชนิด ว่ามีหอยอะไรบ้าง จำนวนเท่าไร แต่พอได้ศึกษาข้อมูลเชิงลึก พวกเราเกิดความคิด อยากทำเรื่องการอนุรักษ์พันธุ์หอย อยากเพาะพันธุ์หอยชนิดต่าง ๆ เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ อยากให้เกิดผลในระยะยาวกับชุมชน เราอยากได้ข้อมูลมาเชิงลึกว่า จากจำนวนหอยที่ลดลงทำให้ชาวบ้านในชุมชนขาดรายได้หลัก รายได้เสริมต่อปีไปจำนวนเท่าไร อยากทำข้อมูลเป็นสถิติให้คนในหมู่บ้านเห็น

ตอนนี้เราเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกให้กับน้องที่อยากเข้าร่วมโครงการกับเรา เราทำโมเดลและข้อมูลแผ่นพับของหอยแต่ละชนิดให้น้อง ๆ ดูและนำข้อมูลไปศึกษา จากการที่เขาได้อ่านข้อมูลเหล่านี้ อยากให้เขารู้สึกรักและหวงแหนทรัพยากรของหมู่บ้าน ตอนที่เราไปศึกษาข้อมูลกับพวกม๊ะในหมู่บ้าน พวกเขาได้รับผลกระทบ พวกเขาอยากร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์หอย ซึ่งเขาเห็นด้วยกับโครงการที่เราทำ เพราะว่าหอยแต่ละชนิดหายากขึ้นและมีจำนวนลดลง ทำให้เขาอยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์หอย เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืนให้กับคนในชุมชน

ก่อนหน้านี้คนในชุมชนไม่สนใจเรื่องคนนอกพื้นที่ที่เข้ามาหาหอย ตอนนี้คนในชุมชนเริ่มตั้งกฎกติกาขึ้นมา เช่น ห้ามเก็บหอยที่มีขนาดเล็ก หอยที่มีเปลือกบาง ห้ามเก็บหอยในช่วงฤดูวางไข่ มีการตรวจสอบขนาดของหอยก่อนออกจากชุมชน ห้ามทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยของหอย พวกหญ้าทะเลและป่าโกงกาง


ถาม ช่วยขยายความถึงบทบาทของเรา เราทำอะไร ร่วมกับใครบ้าง ผลที่ได้รับเป็นอย่างไร

ตอบ เราทำโมเดล ทำปฏิทินหอย ทำสมุดเล่มใหญ่ที่เกี่ยวกับหอย ทำแผ่นข้อมูลมีภาพประกอบ เนื้อหาเกี่ยวกับหอยแต่ละชนิด ชื่อ รูปร่างลักษณะของหอย วิธีการเก็บหอย จำนวนที่พบ เพื่อให้น้อง ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในโครงการได้ศึกษาข้อมูล เราได้อธิบายถึงการอนุรักษ์หอยที่มีจำนวนน้อยลง เราอยากให้น้องมีส่วนร่วม เราลองถามเขาว่า “ถ้าทำป้ายรณรงค์มีกิจกรรมร่วมเดินรณรงค์เพื่ออนุรักษ์ เขาอยากมีส่วนร่วมไหม” ซึ่งพวกเขาให้ความสนใจอยากมีส่วนช่วยกันผลักดันและออกกฏกติกาในหมู่บ้าน เราอยากให้คนในหมู่บ้านมีข้อมูลความรู้เกี่ยวกับหอย เห็นความสำคัญของหอย ช่วยกันรักษาหอยให้อยู่กับหมู่บ้านของเรา

ตอนที่เราลงชุมชนเพื่อหาข้อมูล เราได้ไปสัมภาษณ์พวกม๊ะที่อยู่ในชุมชน เราบอกจุดประสงค์ของโครงการให้ม๊ะฟัง ทั้งเราและม๊ะต่างเติบโตมากับทรัพยากรในท้องถิ่น ทำให้เราหวงแหนและผูกพันกับทรัพยากรที่มีในชุมชนทั้งป่าชายเลน ต้นโกงกาง ลำคลอง ชายหาด เราใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านี้มามาก หลังจากที่พวกม๊ะได้ฟัง พวกเขาคิดเหมือนกับเราว่าอยากดูแล รักษา ตอบแทนธรรมชาติ เมื่อก่อนเขาอยากทำแต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร พวกเขาอยากช่วยกันปลูกต้นไม้ทดแทน อยากช่วยดูแลหอย อยากร่วมกันอนุรักษ์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ ได้เห็นหอยตัวจริงว่ายังมีอยู่ ไม่ใช่แค่เพียงรูปภาพ พวกม๊ะเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมออกกฏกติกาเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรให้กับหมู่บ้าน เวลาที่พวกเขาเห็นคนนอกพื้นที่หรือนักท่องเที่ยวทำผิดกฏกติกา พวกเขาคอยช่วยเตือน พวกเราไปจุดประกายให้กับพวกม๊ะมาเป็นแนวร่วมกับโครงการของเรา

เรื่องการตั้งกฏกติกาในหมู่บ้าน คนที่ร่วมกับเรามี ทีม สก.สว. พี่เลี้ยงโครงการ จ๊ะปู่เตะ จ๊ะแหวน จ๊ะเฉ ผู้ใหญ่บ้าน หมอหนึ่ง หมอสมโชค พวกม๊ะและคนในหมู่บ้าน ก่อนหน้านี้หมู่บ้านเคยออกกฎกติกามาแล้ว แต่ยังไม่ชัดเจนและไม่นำมาปฏิบัติจริง พอเรามาทำโครงการนี้ เราปรึกษากับพี่เลี้ยงโครงการถึงเรื่องกฏกติกาในหมู่บ้าน หลังจากนั้นพี่เลี้ยงได้ปรึกษากับผู้ใหญ่บ้าน ในชนชุมมีการพูดกันปากต่อปากถึงเรื่องนี้ กฏกติกาที่ออกมาตอนนี้ คือ ห้ามจับหอยขนาดเล็ก ซึ่งจะมีรายละเอียดของหอยแต่ละชนิดต่างกันออกไป เช่น ห้ามจับหอยชักตีนที่มีขนาดเล็กกว่า 3 เซ็นติเมตร ห้ามจับหอยตลับที่มีขนาดเล็กกว่า 4 เซ็นติเมตร ห้ามจับหอยที่มีเปลือกบาง ห้ามเก็บหอยในช่วงฤดูวางไข่ เราสังเกตได้จากช่วงที่วางไข่ของหอยชักตีน จะมีไข่ติดอยู่ตามหญ้าทะเล ห้ามใช้อวนตาถี่บริเวณริมตลิ่ง ก่อนหน้านี้มีคนนอกหมู่บ้านนำอวนตาถี่มาลาก ซึ่งเป็นการทำลายหญ้าทะเล หอยที่มีขนาดเล็กจะติดเข้าไปในอวน เราตั้งด่านหน้าหมู่บ้าน เพื่อคัดกรองเครื่องมือที่ใช้จับสัตว์น้ำ หมู่บ้านของเรามีทางเดินรถที่ต้องเข้าออกทางเดียว ทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบ ก่อนหน้านี้จะมี อพ.ปร. คอยช่วยตรวจสอบ คนที่มาจับปลาในช่วงฤดูวางไข่หรือใช้อวนตาถี่ พอเราทำโครงการนี้ เราเพิ่มกฏกติกาในการตรวจสอบเรื่องหอยเข้าไป เน้นย้ำเรื่องการใช้อวนตาถี่เพราะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของหอย ปลา ปูที่มีขนาดเล็ก

หลังจากที่คนในชุนเริ่มช่วยกันสร้างกฏกติกา พวกเขาเริ่มเสนอกฎที่เกี่ยวข้องกับการจับปูม้า ปลา ห้ามตัดต้นไม้ เพิ่มเติมเข้าไปอีกด้วย กฏกติกาเดิมที่เคยมีในหมู่บ้าน เคยถูกบังคับใช้ไปบ้างแล้ว แต่ไม่ชัดเจนและเคร่งครัด ทำให้มีคนลักลอบฝ่าฝืนกฏ โครงการนี้ทำให้กฏกติกาที่มีแต่เดิมและกฏใหม่ที่คนในชุมชนช่วยกันตั้งขึ้นมีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เริ่มต้นจากเด็กเยาวชนเห็นและเป็นกระบอกเสียงให้กับผู้ใหญ่ในชุมชน เด็ก ๆ เยาวชนมีส่วนร่วมในการช่วยตรวจตรา เช่น เราไปหาหอย ถ้ามีคนนอกพื้นที่มาจับปูม้า จับหอยตัวเล็ก ตัดต้นไม้ เราสามารถเป็นหูเป็นตาให้กับผู้ใหญ่ในหมู่บ้านได้ เราคอยสอบถามคนเฝ้าด่านหน้าหมู่บ้านว่า ในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์มีคนทำผิดกฏไหม เราเก็บบันทึกเป็นข้อมูล

เรานำข้อมูลของโครงการไปแลกเปลี่ยนกับเครือข่ายและทีมเด็กตังยังหรอย พวกเขาสนใจมาเข้าร่วมกิจกรรมกับเรา เนื่องจากโครงการต่าง ๆ ในเครือข่ายมีพื้นที่ที่แตกต่างกัน เช่น บางหมู่บ้านติดภูเขา บางหมู่บ้านติดทะเล บางกลุ่มเขาอยากมาหาหอย กินหอยที่หมู่บ้านของเรา เราจัดกิจกรรมชวนเครือข่ายมาร่วมกันหาหอย ดูแลป่าชายเลน ทำอาหารจากหอย มีทั้งเมนูในอดีตและเมนูใหม่ที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง เป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้ามพื้นที่จากภูเขาถึงทะเล เราคุยกันว่าจะทำโครงการต่อยอดร่วมกัน คือ “โครงการหอยบ้านฉันผักหวานบ้านเธอ” บ้านเขามีผัดสด บ้านเรามีหอยสด เราน่าจะทำโครงการอะไรร่วมกัน


ถาม สิ่งที่พวกเราเล่ามาข้างต้นทำให้ชุมชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตอบ อย่างน้อยกฎกติกาที่เคยหละหลวมไม่ถูกปฏิบัติอย่างจริงจัง มีการอย่างปฏิบัติเข้มงวดจริงจังมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด คือ จิตสำนึกของคนในชุมชน ทั้งสมาชิกในกลุ่ม เด็ก เยาวชน คนในหมู่บ้าน หรือ คนในเครือข่าย พวกเขาอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ เป็นปากเสียงและดูแลชุมชนมากขึ้น ก่อนหน้านี้ถ้าพวกเขาเห็นคนทำผิดกฏ จะไม่ใส่ใจปล่อยให้ผ่านไป แต่พอกฏกติกาเคร่งครัดมากขึ้น เวลาพวกเขาเห็นคนที่ฝ่าฝืน เขาจะเข้าไปตักเตือน และบอกผู้ใหญ่ในชุมชนให้รับรู้

จากการที่เราเก็บข้อมูลช่วง 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา เราพบว่าคนที่ทำผิดกฎมีจำนวนน้อยลง บางสัปดาห์ไม่มีคนทำผิดกฏเลย คนต่างหมู่บ้านและนักท่องเที่ยวบางส่วนทำตามกฏกติกาที่เราตั้งไว้ คนต่างหมู่บ้านเริ่มเปลี่ยนแปลงวิธีการเก็บหอย บริเวณจุดคัดกรองที่อยู่ตรงสะพานทางเข้าหมู่บ้าน จะตรวจสอบหอย ปู ที่พวกเขาหาได้ ถ้าไม่ได้มาตราฐาน เราจะนำกลับมาปล่อยที่ทะเล คนที่ทำผิดกฏจะรู้สึกเสียเวลา เมื่อคนในหมู่บ้านเคร่งครัด พวกเขาเองต้องเคารพกฏกติกาของหมู่บ้าน

ตอนนี้พอเป็นกฏกติกาที่ใช้ในระยะยาว ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชุมชนที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาด้วย หลังจากทำโครงการ เราลงไปสำรวจที่ทะเล พบปริมาณหอยตัวเล็กที่มีเปลือกบางเยอะขึ้น ในช่วงที่เกิดโรคโควิด เราได้สำรวจทรัพยากรในทะเล พบว่าเป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติได้รับการพักผ่อน หอย ปู ปลาหญ้าทะเลริมตลิ่งเริ่มกลับมามีจำนวนมากขึ้น อาจจะเป็นเพราะนักท่องเที่ยว หรือ คนต่างหมู่บ้านไม่มาหาหอยในช่วงนี้ ทรัพยากรในชุมชนกลับมาดีขึ้นอย่างชัดเจน


ถาม เสียงสะท้อนของคนในชุมชนว่าอย่างไร

ตอบ จากที่ฟังผู้ใหญ่สะท้อนมา พวกเขาบอกว่า ดี การสร้างจิตสำนึกที่ดีที่สุดคือทำให้เยาวชนและคนในหมู่บ้านได้รับรู้ เราเริ่มจากการสร้างจิตสำนึกให้กับเด็ก เยาวชนในหมู่บ้านก่อน เพื่อให้เขาได้ไปบอกต่อพ่อกับแม่ เขาเล่าให้พ่อแม่ฟังว่า “พวกพี่ ๆ ในโครงการทำเรื่องการอนุรักษ์หอย ช่วยสร้างกฏและข้อบังคับใช้ในหมู่บ้าน ห้ามจับหอยตัวเล็ก” พ่อแม่ของน้อง ๆ คนในชุมชนมีเสียงชื่นชมโครงการของเรา พวกเขาเห็นว่าโครงการของเราได้จุดประกายความคิดให้คนในหมู่บ้าน ให้หันกลับมาอนุรักษ์ทรัพยากรในท้องถิ่น หวงแหนแหล่งอาหารและแหล่งทำมาหากินของคนในชุมชน

ตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น พวกเราในชุมชนต้องช่วยกันอีกเยอะ หลังจากหมดโรคระบาดโควิด เราเปิดหมู่บ้าน จังหวัดเริ่มเปิดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามา เราต้องช่วยกันเฝ้าระวังเรื่องการบังคับใช้กฏให้มากขึ้น ช่วงนี้ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดี เนื่องจากตอนนี้หมู่บ้านปิดอยู่ ทุกคนปฏิบัติตามกฏได้ง่ายขึ้น อยู่ในช่วงที่เราหาข้อมูลเพิ่ม มีหลายเรื่องที่เรายังไม่ได้ข้อมูลที่ชัดเจน


ถาม ปัจจัยที่ทำให้โครงการสำเร็จคืออะไร

ตอบ ทุกคนในหมู่บ้าน คนที่จุดประกายคือพวกเรา แต่จะให้พวกเราทำฝ่ายเดียวคงไม่ได้ ทุกคนช่วยกัน ผู้ใหญ่บ้านช่วยเราออกกฏกติกา ประสานงานกับ อพ.ปร. เช่นเดียวกับโครงการโกงกางสานรัก ผู้ใหญ่บ้านช่วยประสานกับกรมป่าไม้ คนที่มาช่วยเรามีทั้งคนในหมู่บ้าน อสม. สก.สว. (รุ่นใหญ่) พวกเขามีฐานการวิจัยเดิมเกี่ยวกับวัฒนธรรม วิถีชีวิตในชุมชนอยู่ก่อนแล้ว พวกเขาช่วยกันสื่อสารสิ่งที่พวกเราทำ รวมทั้งสื่อสารกฏกติกาของหมู่บ้าน ทำให้คนในหมู่บ้านเริ่มหันมาใช้กฏกติกามากขึ้น เจ้าหน้าที่ รพ.สต. พี่หมอหนึ่ง คุณหมอสมโชคและพี่เลี้ยง คอยแนะนำเรื่องการหาข้อมูล การจัดกิจกรรม บางกิจกรรมเราคิดว่าจะทำดีไหม ทำแล้วจะเป็นอย่างไร พวกเขาคอยช่วยชี้แนะว่าควรทำอะไรก่อนหลัง เราเห็นผู้ใหญหลายคนที่ช่วยเหลือพวกเรา มันทำให้รู้ว่า พวกเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ยังมีผู้ใหญ่ในหมู่บ้านพร้อมให้การสนับสนุน


ถาม จุดเด่นของโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีใครทำเรื่องหอยแล้วสนุก แต่พอเรามาทำเรา เราใส่รายละเอียดในกิจกรรม ทำให้เกิดกิจกรรมสนุกและน่าสนใจ ก่อนหน้านี้ถ้าใครทำกิจกรรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ น้อง ๆ จะเบื่อ แต่เราทำ เราจะพาเขาลงเรือไปดูสถานที่จริง ไปดูหอย มีข้อมูลเป็นภาพประกอบ เราผลิตสื่อหนังสั้นเกี่ยวกับเรื่องหอย เราคิดกันเองทำกันเอง ทำให้น้องรู้สึกไม่เบื่อและสนใจอยากรู้ข้อมูลมากขึ้น

จุดเด่นอีกอย่างคือ พวกเรามีเครือข่าย พวกเราแกนนำตั้งกลุ่มนักสืบสายหอย เพื่อไปสำรวจหอย ซึ่งตอนนี้เราอยากเปิดรับสมาชิกในกลุ่มเพิ่ม เพื่อช่วยกันหาเป็นหูเป็นตาให้กับชุมชน และสืบหาข้อมูลเกี่ยวกับหอยเพิ่มเติม ใครไปเจอหอยชนิดไหน บริเวณไหน จำนวนเท่าไร มารวบรวมเป็นข้อมูลเก็บไว้ เรามีทีมนักสายน้ำ (แกนนำโครงการโกงกางสานรัก) ที่คอยช่วยเหลือเรา เขาเป็นเครือข่ายที่ช่วยเราหาข้อมูล เช่น เวลาที่เขาเจอหอย เขาจะถ่ายรูปและเก็บข้อมูลมาให้เรา ถ้าเราเข้าไปในป่า บางครั้งเราก็เก็บข้อมูลไปให้เขา

จุดเด่นสำคัญคือ พวกเรารู้จักและผูกพันกับวิถีชีวิตและทรัพยากรในท้องถิ่น ทุกคนในหมู่บ้านผูกพันกับชายหาด สายน้ำ ลำคลอง เราใช้ประโยชน์จากมันทุกวัน โครงการที่เราทำไปปลุกจิตสำนึกของคนในหมู่บ้าน ให้หันมันสนใจและร่วมกันรักษา เราไปลงพื้นที่จริง ทำจริง มันทำให้คนในหมู่บ้านทุกคนได้เห็นว่าพวกเราทำจริง สามารถต่อยอดเพื่อชุมชนได้


ถาม ปัญหาอุปสรรคในการทำโครงการคือเรื่องอะไร

ตอบ ความไม่เข้าใจและความคิดเห็นที่แตกต่างกันของคนในทีม เช่น ตอนที่เรากิจกรรมเราให้สมาชิกในทีมนำเสนอ มีคนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราจะบอกน้อง ๆ มีอะไรให้พูดกันตรง ๆ ไม่พูดลับหลังกัน บางครั้งมีน้องบางคนน้อยใจ นานจะเข้าไปพูดกับเขาแบบตรงไปตรงมา มีเรื่องอะไรที่ทำให้เขาไม่พอใจ ไม่สบายใจไหม น้องเขาก็จะตอบเหตุผลกลับมา คิดว่าการพูดคุยทำให้เรายอมรับความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เวลาที่เราประชุมงานกันเราใช้พื้นที่ของ รพ.สต. บางครั้งพี่เลี้ยงเขามาช่วยไกล่เกลี่ยได้ ตอนที่นานได้รับเลือกเป็นหัวหน้า นานจะบอกน้องว่า “เราสร้างทีมด้วยคนในทีม เราสามารถล้มทีมด้วยคนในทีมได้เหมือนกัน ถ้าเราไม่สามัคคีกัน” เราแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยการที่เราให้พวกเขาเสนอความคิดมา ใช้การโหวตแบบประชาธิปไตย มีทางเลือกให้ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยและให้บอกเหตุผล หลักจากนั้นเลือกเสียงข้างมากและทำตามข้อเสนอนั้น ส่วนข้อเสนอไหนไม่ได้ถูกเลือกจะเก็บไว้ก่อน

อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องเวลา ทำให้กิจกรรมที่ทำไม่ต่อเนื่อง เพราะน้อง ๆ ติดเรียนหนังสือ เรียนออนไลน์ ติดทำกิจกรรมของโรงเรียน ทำให้รวมตัวกันยาก พอมามีโรคระบาดโควิด และ เดือนรอมฎอน ทำให้โครงการหยุดชะงัก เพราะออกไปหาข้อมูลจากข้างนอกไม่ได้ ในช่วงรอมฎอน น้องบางคนบวช เขาจะไม่มีแรงทำกิจกรรม


ถาม หลังจากที่ทำโครงการ เราค้นพบคุณค่าอะไรในชุมชนเพิ่มมากขึ้น

ตอบ น้องบางคนสะท้อนว่า ทรัพยากรที่เขาเห็นอยู่ทุกวัน แต่เขาไม่เคยได้ใส่ใจ รู้สึกเฉย ๆ พอหลังจากทำโครงการทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหนมากขึ้น ตัวเราจากที่ไม่ได้ใส่ใจอะไร ไม่เคยคิดจะมาร่วมกลุ่มทำกิจกรรม เราเริ่มสนใจเกี่ยวกับทรัพยากรมากขึ้น เห็นความสำคัญของหอยว่าสำคัญกับหมู่บ้านอย่างไร หรือว่า ป่าโกงกางสำคัญกับหมู่บ้านอย่างไร ถ้าไม่มีหอย ไม่มีป่าโกงกาง หมู่บ้านของเราจะเป็นอย่างไร


ถาม ความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรของหมู่บ้านเกิดขึ้นจากสถานการณ์ไหน

ตอบ เกิดขึ้นตอนที่หาข้อมูล ค้นพบข้อมูลเชิงลึกจากผู้รู้ในชุมชน ยกตัวอย่าง เรื่องป่าชายเลน เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว มีโรงเผาถ่านอยู่ในหมู่บ้าน ทำให้ป่าโกงกางในหมู่บ้านลดลงไปมาก เพราะคนตัดไม้มาทำถ่าน พอเราศึกษาข้อมูล เราค้นพบว่าคนในหมู่บ้านต้องต่อสู้กับนายทุน กว่าจะได้พื้นป่าที่อุดมสมบูรณ์แบบนี้กลับคืนมา ตอนที่เราศึกษาข้อมูลเราทำงานร่วมกับชาวบ้าน ชาวบ้านเริ่มยอมรับ ให้ความสำคัญในสิ่งที่พวกเราทำ ให้ความร่วมมือพร้อมให้ข้อมูลกับเรามากขึ้น พอเราเริ่มรู้ข้อมูลเชิงลึก เรารู้สึกผูกพันและหวงแหนทรัพยากรที่มีอยู่ในหมู่บ้านมากขึ้น จากแต่ก่อนที่ไม่เคยสนใจ พอได้รับรู้ถึงความยากลำบากของคนในหมู่บ้าน กว่าจะมีสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ พวกเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง จากความรู้สึกหวงแหนแค่ 10 ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น100


ถาม เยาวชนในโครงการเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร

ตอบ ตอนแรกกลุ่มของเรา นานเป็นคนเดียวที่กล้าคิด กล้าแสดงออก ส่วนน้องเล็กที่สุดในทีมเขา น้อง...... (อายุ13ปี) เขาเป็นคนไม่กล้าแสดงออก ไม่แสดงความคิดเห็น เขาเป็นสายลุย ชอบลงพื้นที่ พอมาทำโครงการ เขากล้านำเสนอข้อมูล การแสดงออกมากขึ้น จากแต่ก่อนเป็นคนที่ไม่กล้าถาม เก็บความสงสัยไว้คนเดียว กลายเป็นคนที่มีส่วนร่วมในการหาข้อมูลมากขึ้น น้องเริ่มปรับเปลี่ยนความคิด มุมมอง ไว้ใจเพื่อนร่วมทีมมากขึ้น น้องเล็กสุดในทีมอายุประมาณ 12 ถึง 13 ปี มี 2 คน พวกเขาจะกล้าพูดแค่กับเรา แต่พอไปเวทีเด็กตรังยังหรอย น้องโอมเขาไม่กล้าพูด หลังจากการเข้าค่ายครั้งที่ 2 น้องเขาเปลี่ยนไปมาก กล้าแสดงออก กล้านำเสนอความคิด

การแลกเปลี่ยนทัศนคติกับคนในกลุ่มและนอกกลุ่ม เราได้เจอเพื่อนต่างหมู่บ้านทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง เวลาที่เราไปเข้าค่ายอบรม นานและน้องศร (อายุ 17 ปี) น้องเนย (อายุ 18 ปี) จากแต่ก่อนพวกเราจะมองว่าโครงการที่เราทำ พวกเราทำไม่ได้ รู้สึกว่ายาก พอเราได้แลกเปลี่ยนกันกับเพื่อนโครงการอื่น เรารู้สึกว่าไม่ใช่แค่โครงการของเราที่ยาก บางโครงการก็เคยล้มเหลวมา เรารู้สึกมีพลังที่จะผลักดันโครงการของเรามากยิ่งขึ้น

เราได้แลกเปลี่ยนมุมมองความคิด ได้เห็นว่าโครงการที่ประสบความสำเร็จต้องทำอย่างไร เราจะนำมาปรับใช้กับโครงการของเราอย่างไร เราได้ความรู้จากโครงการอื่น ๆ ที่มีพื้นที่ต่างกันกับเรา เช่น หมู่บ้านของเราเป็นป่าชายเลน ไม่ใช่ พื้นที่ป่าดิบชื้นเหมือนกลุ่มตะเหมก เราสนใจอยากลองไปแลกเปลี่ยนและร่วมทำกิจกรรมกับพวกเขา หนูคิดว่าสิ่งที่ทำให้น้อง ๆ ในโครงการเปลี่ยนคือการที่พวกเขาได้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนต่างกลุ่ม และ พี่เลี้ยงต่างกลุ่ม มันทำให้เราเห็นสิ่งที่แตกต่างไปจากบ้านของเรา ได้เห็นมุมมอง วิถีชีวิต บริบทชุมชน สิ่งแวดล้อม และของดีในท้องถิ่นของแต่ละหมู่บ้าน โครงการที่น้อง ๆ เขาให้ความสนใจมาก คือ โครงการ “เรือพลีส เรือเร็วแห่งสายน้ำ” เพราะว่าในชุมชนของเราไม่มีเรือพลีส เราได้รู้ว่าเขาใช้เรือพลีสในการดำรงชีวิตและใช้ในการแข่งขัน ใช้ในป่าชายเลน น้อง ๆ เขาสนใจโมเดลของกลุ่มนี้ เรามีความคิดต่อยอด ที่จะนำเรือพลีสมาเป็นพาหนะในการศึกษาข้อมูลในป่าชายเลนของเรา


ถาม เป้าหมายในอนาคตหลังจากจบโครงการนี้เป็นอย่างไร

ตอบ เรายังคงเน้นเรื่องการอนุรักษ์อยู่ เราอยากทำเรื่องการนำหอยมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้หลักของคนในชุมชน อยากทำเรื่องเพาะพันธุ์หอยขนาดเล็กเพื่อส่งขายคนข้างนอก เป็นการเพิ่มรายได้ให้คนในชุมชนอีกทางหนึ่ง เราจะสร้าง Facebook Page เกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรในหมู่บ้าน และสื่อสารเรื่องกฏกติกาของหมู่บ้านเพื่อให้คนในหมู่บ้านได้เข้ามาดูข้อมูล เพราะบางคนไม่รู้ข้อมูลเชิงลึกเหมือนพวกเรา

เราอยากเปิด Page ที่เกี่ยวกับอาหารแปรรูปของคนในชุมชนมดตะนอย เราจะขายผลิตภัณฑ์ผ่านวิธีการ Live สด เราอยากนำเรื่องของโซเชียลเข้ามาใช้กับหมู่บ้านมากขึ้น สำหรับเรื่องการอนุรักษ์ อยากให้หมู่บ้านของเราเป็นชุมชนต้นแบบเพื่อให้คนภายนอกมาศึกษาดูงาน เราอยากต่อยอดโครงการนี้ ด้วยการเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้เรื่องการอนุรักษ์พันธุ์หอย เพื่อให้ชุมชนอื่น ๆ ได้ร่วมกันอนุรักษ์พันธุ์หอยในท้องถิ่นตัวเอง


ถาม ทำไมเด็กและเยาวชนต้องมีจิตสำนึกต่อชุนชนของตัวเอง

ตอบ โครงการที่เราทำเกี่ยวกับการอนุรักษ์พันธุ์หอยที่กำลังจะสูญพันธุ์และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว เราอยากให้คนรุ่นหลังรับรู้ว่าการทรัพยากรในชุมชนสร้างรายได้หลักให้กับคนในชุมชน ให้เด็ก ๆ ได้เห็นและรู้จักหอยจริง ๆ ไม่ใช่แค่ภาพในอินเตอร์เน็ต


ถาม รู้สึกอย่างไรที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรและคนในชุมชน

ตอบ รู้สึกทึ่งและดีใจมาก ที่โครงการของเราต่อยอดมาได้ไกลขนาดนี้ เริ่มต้นจากที่ทำกันเองในกลุ่ม ปรึกษากับพี่เลี้ยงและหัวหน้า รพ.สต. ไม่คิดว่าโครงการเราเป็นตัวจุดประกายความคิด ปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนที่มีต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรที่มีในชุมชนมากขึ้น เราอยากอนุรักษ์พันธุ์หอยและดึงคนในชุมชนแค่บางส่วนมามีส่วนร่วม ไม่คิดว่าจะเป็นการจุดประกายคนทั้งหมู่บ้าน ให้เขาอยากร่วมกันอนุรักษ์และมีส่วนร่วมในการออกกฏกติกา สิ่งที่ดีใจมาก คือ การที่เห็นน้อง ๆ ได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง กล้าคิด การกล้าแสดงออก มีความคิดสร้างสรรค์ ปรับเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง ดีใจที่น้องปรับเปลี่ยนไปในแนวทางที่ดีขึ้น