การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมปันหยาบาติกบ้านวังนาใน จังหวัดสตูล ปี 1

บทเรียนยิ่งใหญ่ของคนตัวเล็กที่บ้านวังนาใน

“ตอนนั้นในกลุ่มมีกันประมาณ 7 คน แต่ไปๆ มาๆ เหลือหนูอยู่คนเดียวค่ะ” 

กันต์-ปริญญา เอียดฉิม สาวน้อยชั้นมัธยมต้นจากบ้านวังนาใน ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู จังหวัดสตูล เด็กหญิงตัวเล็กที่พยายามท่องโครงการของตนเองตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงบ่าย เพื่อจดจำเนื้อหาให้ได้มากทุกตัวอักษร เล่าย้อนถึงวันที่พี่ ๆ ทั้งทีมจำเป็นต้อง “เท” โครงการให้น้องเล็กอย่างเธอ เพราะทุกคนย้ายออกไปเรียนนอกพื้นที่ แต่นั่นกลับไม่ใช่เรื่องที่บั่นทอนกำลังใจ กันต์ยังคงเดินหน้าทำโครงการต่อ โดยมีความช่วยเหลือจากพี่เลี้ยงโครงการและโคชโครงการกลไกชุมชนสู่การพัฒนาเยาวชนจังหวัดสตูล ทำให้เธอได้สมาชิกชุดใหม่มาร่วมทีม และค่อย ๆ จับมือพาโครงการก้าวไปด้วยกัน จากคนเกือบแพ้ที่ใกล้จะมอดเป็นเถ้าถ่าน แต่เมื่อผ่านจุดที่ยากที่สุด เธอจึงกลายเป็นเพชรที่เริ่มส่องประกายการเปลี่ยนแปลง

รวมทีม ร่วมทำ 

“รู้สึกอยากทำโครงการนี้ตั้งแต่ตอนพี่ ๆ มาชวนอยู่แล้วค่ะ เพราะดูน่าสนุกและไม่เคยทำมาก่อน พี่เขามาชวนทำถ่านไม้ฟืน แต่ปรากฏว่าติดปัญหาที่ขั้นตอนการทำยากกว่าที่คิดไว้พี่เขาเลยไม่ได้ทำ แล้วก็ต้องไปเรียนต่อจังหวัดอื่นด้วย

กันต์ เล่าต่อว่า ตอนแรกเธอก็คิดจะเลิกทำ แต่เพราะพี่ไก่-ฐิติชญาฮ์ ช่วยแก้ว พี่เลี้ยงโครงการ มาชวนคุยให้เธอได้ทบทวนตัวเองจนพบว่ายังอยากทำอยู่ และแนะนำให้เธอลองมองหาน้อง ๆ ในหมู่บ้านที่อยากทำมาเสริมทีม กันต์จึงไปชวน ลูกอม-กานต์ณิชา เศียรอุ่น เจแปน-อริสรา พรมรุ่ม วีนัส-จิรกานต์ คำคง และฝ้าย-ชลดา เศียรอุ่น น้อง ๆ ชั้นประถมศึกษาตัวจิ๋วเข้าร่วมทีม

“ตอนแรกเล่าให้น้องฟังก่อนค่ะว่า เวทีเวิร์กชอปของโครงการกลไกฯ ที่หนูไปสนุกแค่ไหน ได้เล่นเกม ได้ทำกิจกรรมกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ จากหลายพื้นที่ และได้ฝึกพูดนำเสนอด้วย น้องก็สนใจและบอกว่าถ้ามีครั้งต่อไปจะขอไปด้วย”

ในที่สุดกันต์ก็ได้พลิกบทบาทจากน้องเล็กที่คอยตามพี่ มาเป็นพี่ใหญ่ของทีมที่ต้องมานำน้อง ๆ อีก 4 ชีวิต แม้จะเป็นการเริ่มต้นนับหนึ่งของทีม แต่โชคดีที่พวกเขายังมีผู้ใหญ่คอยหนุน บังปิง มาชวนคิดชวนคุยว่า นอกจากการเผาถ่านแล้ว ยังมีเรื่องอะไรที่ทีมสนใจบ้าง

ทีมงานมองไปที่การทำผ้ามัดย้อมกับการทำผ้าบาติก เพราะเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และน่าจะมีศักยภาพพอทำได้ โคชจึงช่วยติดต่อประสานงานให้พวกเธอได้ไปดูงานที่ปันหยาบาติก ที่บ้านปากละงู เมื่อเห็นขั้นตอนการทำอย่างลึกซึ้ง พวกเธอจึงตัดสินใจเลือกทำผ้ามัดย้อม

“ตอนที่ไปดูงาน หนูอยากทำทั้งผ้ามัดย้อมและผ้าบาติก แต่พอเห็นว่าผ้าบาติกต้องวาดด้วย น่าจะใช้เวลาฝึกนานกว่าจะทำได้ กลัวไม่ทันเวลาโครงการ อีกอย่างน้องในทีมมีแต่น้องเล็ก ๆ กลัวว่าจะยากไปสำหรับน้องด้วย เราทำงานกันเป็นทีม หนูจะเลือกอันที่ตัวเองอยากทำคนเดียวไม่ได้ เลยคุยกับน้องว่าทำผ้ามัดย้อมดีกว่า เพราะไม่ยากเกินไปค่ะ”

นอกจากความอยากเรียนรู้แล้ว ทีมงานวาดภาพฝันเล็ก ๆ ว่าหากพวกเธอได้ทำและพัฒนาฝีมือไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งงานมัดย้อมของพวกเธออาจถูกยกระดับเป็นของฝากจากชุมชน

“ถ้าพวกหนูทำได้ เวลานักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวจะได้ซื้อเป็นของฝากกลับไป สมมติมาจากหาดใหญ่ คนที่หาดใหญ่ก็จะได้ใช้ผ้าของพวกหนู และรู้ว่าเด็ก ๆ บ้านเราก็มีความสามารถ”


ลงมือทำ ลงมือเรียนรู้

สิ่งที่ทีมงานได้เรียนรู้จากปันหยาบาติกคือการย้อมผ้าด้วยโคลน ซึ่งเป็นสีจากธรรมชาติที่มีความสวยงามเฉพาะตัว และการมัดผ้าเพื่อนำไปย้อมเป็นลายก้นหอยกับจันทร์ทรงกลด แต่เพราะการไปดูงานใช้เวลาเพียงสั้น ๆ ทำให้ทีมงานพอ “ทำได้ ไม่ใช่ทำเป็น” เมื่อกลับมาทำเองครั้งแรกจึงเฟล!

“เราทดลองมัดแบบก้นหอยก่อนค่ะ แล้วนำไปย้อมโคลนตามแบบที่ดูงานมา เขาบอกว่าต้องต้ม 2-3 วัน แต่พวกหนูไม่มีเวลาดูตลอด เพราะไปโรงเรียน เลยต้มวันเดียว สีที่ได้ออกมาจึงอ่อน แล้วก็มัดไม่แน่น มันเลยไม่เป็นลายค่ะ” กันต์เล่าด้วยเสียงอ่อนเศร้าเมื่อนึกถึงความล้มเหลวครั้งนั้น ก่อนเล่าความรู้สึกว่า “หนูกับน้องๆ บอกป้าไก่ว่าไม่อยากทำแล้ว เราคงทำไม่ได้ แต่ป้าไก่กลับบอกว่าไม่เป็นไร ครั้งนี้ยังไม่ได้ก็ลองใหม่ครั้งหน้า สักพักเดี๋ยวก็ได้”

คำปลอบโยนทำให้ทีมงานฮึดสู้ใหม่อีกครั้ง เพราะคิดได้ว่านี่เป็นเพียงการทำครั้งแรก และไม่มีใครกดดันว่าจะต้องทำสำเร็จ นอกจากพวกเธอที่กดดันตัวเอง ทีมงานวางแผนแก้ปัญหาความผิดพลาดเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำ “เราพยายามกันอีกครั้งค่ะ เวลาจับผ้ามัดก็ช่วยกันถือ เพราะมัดคนเดียวมันยาก กลัวจะหลุดอีก ทำไปเถียงกันไป อย่างหนูเป็นคนมัดจะบอกน้องว่าถือให้ดี ๆ น้องก็ตอบว่า ถือดีแล้ว แต่ก็สนุกค่ะ ไม่ได้โกรธกันจริงจัง” กันต์เล่าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม

นอกจากนั้นพวกเธอยังขวนขวายความรู้เพิ่มเติม โดยศึกษาวิธีการมัดอย่างละเอียดจากยูทูปและเว็บไซต์ต่าง ๆ เพื่อนำมาปรับปรุงผลงาน จนได้ลายดาว และลายก้อนเมฆมาเพิ่ม ขณะเดียวกันก็ได้ประสานงานไปยังทีมโคชโครงการกลไกฯ ขอวิทยากรมาสอนการมัดย้อมอีกครั้ง ทำให้ทีมงานได้ความรู้ใหม่ๆ มากขึ้น

“วิทยากรที่พี่ออม-ปุณิกา พุณพาณิชย์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิสยามกัมมาจล เลือกมาให้น้องก็มี พี่หนุ่ย-เกรียงศักดิ์ กล่อมสกุล ซึ่งเป็นผู้ที่สร้างการเรียนรู้และทำงานเยาวชนต่อเนื่องมาหลายสิบปี ผู้ก่อตั้งกลุ่มยายกับตา เชี่ยวชาญเรื่องผ้า และสามารถเชื่อมโยงเรื่องผ้ากับมิติทางสังคมได้ รวมทั้งมีความสามารถในการทำกิจกรรมกับเยาวชนได้ดี มีวิธีการสอนที่สนุกถูกใจเด็ก และพี่นะโม-ธรวรรธ์ อินทร์สุวรรณ เจ้าของแบรนด์ นะโม สาธุ ที่เชี่ยวชาญเรื่องผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ รวมถึงมีความรู้เรื่องการใช้สีธรรมชาติ โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งวิทยากรทั้ง 2 ท่านจะพาคิดเรื่องต้นทุนการผลิต การเชื่อมโยงทุนทรัพยากรในชุมชนมาสกัดสีย้อมผ้าไปด้วยพร้อมกัน แต่ที่สำคัญคือวิทยากรทั้งคู่เชี่ยวชาญและคุ้นชินกับการทำงานกับเด็ก” พี่ออมบอกเทคนิคการเลือกวิทยากร

“ตอนแรกไม่รู้ค่ะว่านอกจากโคลนแล้ว วัสดุแถวบ้านเรายังนำมาเป็นสีมัดย้อมได้ ทั้งใบมังคุด อัญชัน ขมิ้น ดาวเรือง แล้วก็สามารถใช้สารกระตุ้นพวกด่าง ขี้เถ้า ปูนขาว น้ำส้มสายชู สารส้มได้ เพื่อให้ได้สีออกมาหลายสี เช่น ใบมังคุด ถ้ากระตุ้นด้วยปูนขาวจะได้สีเข้ม แต่ถ้าเป็นด่างขี้เถ้าจะได้สีอ่อนลง ถ้าเป็นน้ำส้มสายชูจะออกสีชมพูนิด ๆ ค่ะ พอรู้ว่าต้องใช้สารกระตุ้นได้เลยให้ป้าไก่ช่วยไปซื้อมา แล้วก็มาทดลองทำที่บ้านหนูอยู่สองรอบก็ได้ผ้าที่สีสวยๆ เห็นลายชัดๆ แบบที่เคยเห็นจากของคนอื่นค่ะ (ยิ้ม)” กันต์เล่า

ในที่สุดความพยายามก็ทำให้พวกเธอทำสำเร็จตามตั้งใจ นอกจากได้ความรู้ใหม่ในการทำผ้ามัดย้อมแล้ว ทีมงานยังได้เห็นถึงศักยภาพของตัวเอง จากตอนแรกที่มองว่าการทำผ้ามัดย้อมเป็นเรื่องยาก ไม่น่าทำได้ หรือถึงทำได้ก็คงไม่สวย แต่พอเรียนรู้จนเข้าใจและผ่านการปฏิบัติแล้ว กลับพบว่าตัวเองทำได้ ทำให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง และกล้าลงมือลองทำผ้ามัดย้อมเพิ่มอีก ขณะเดียวกันผ้ามัดย้อมก็ยังเป็น “เครื่องมือ” ที่พาพวกเธอไปเรียนรู้หลายบทเรียน ทั้งการก้าวข้ามความล้มเหลว การทำงานเป็นทีม ความอดทนละการวางแผน ซึ่งล้วนสำคัญต่อชีวิตในอนาคต

“ขั้นตอนที่ยากที่สุดเวลาทำคือการก่อไฟกับการมัดผ้าค่ะ เวลาก่อไฟมันร้อนมากและต้องรอนานกว่าจะติด พวกหนูจึงต้องอดทนมาก ๆ ส่วนการมัดก็ต้องคิดก่อนว่า ถ้าเราทำแบบนี้ ลายจะออกมาเป็นแบบไหน จึงต้องวางแผนและคิดให้รอบคอบก่อนจะลงมือ

ที่มากกว่านั้นคือแม้วันนี้ทีมงานจะมีความรู้การทำผ้ามัดย้อมระดับหนึ่งแล้ว พวกเธอก็ยังไม่หยุดที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปเรื่อยๆ“เวลามาทำด้วยกันแต่ละครั้ง ก็จะทำไปด้วย เปิดยูทูปดูไปด้วยตลอดค่ะ เพราะยังมีอีกหลายลายที่เรายังทำไม่เป็น อยากทำงานออกมาให้ดีมากขึ้นๆ ค่ะ” ปัจจุบันทีมงานสามารถทำผ้ามัดย้อมออกมาได้ถึง 5 ลาย ได้แก่ ลายก้นหอย พระจันทร์ทรงกลด ลายดาว ลายดอกไม้ และลายสก็อต สำหรับจุดเด่นของผ้ามัดย้อมสไตล์บ้านวังนาใน คือการนำพืชพันธุ์ในท้องถิ่นมาเป็นวัตถุดิบสกัดสีมัดย้อม ใช้สารกระตุ้นมาช่วยให้สีมีความหลากหลายเพิ่มอีก โดยผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่สำเร็จเป็นรูปธรรมแล้วคือ เสื้อยืดลายมัดย้อม 


ฝันที่เรามีร่วมกัน

นอกจากบทเรียนที่มีร่วมกันของทีมแล้ว กันต์ที่รับทำโครงการนี้ตั้งแต่ต้นจนเปลี่ยนสมาชิกชุดใหม่ ยังพบว่า เธอได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองหลายสิ่งที่ทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน จากน้องเล็กที่คอยเดินตามพี่ ก็ลุกขึ้นมาเป็นคนนำน้อง ๆ ทำงาน จากที่เคยก้มหน้าก้มตาท่องจำข้อมูลเพื่อนำเสนอโครงการ ก็กลายเป็นคนที่พูดจาฉะฉาน กล้าสบตาคนอื่น

“เมื่อก่อนหนูใจร้อนมากค่ะ โกรธง่าย และเหวี่ยงคนอื่นบ่อย ๆ ตอนแรก ๆ ที่ทำผ้ามัดย้อมก็ยังใจร้อนอยู่ บางทีไม่ได้ดั่งใจ เขวี้ยงผ้าทิ้งก็มี ป้าไก่จะปลอบเสมอว่าใจเย็น ๆ ค่อย ๆ ทำ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็ดีขึ้น เพราะถ้าไม่อดทนรอก็ไม่เสร็จ ถึงเสร็จก็ไม่สวย หนูเลยต้องพยายามสงบจิตสงบใจค่ะ อีกอย่างที่หนูว่าตัวเองทำได้ดีขึ้นคือการแบ่งเวลาค่ะ เพราะหนูต้องไปซ้อมรำมโนราห์ และเป็นนักกีฬาวอลเล่ย์บอลของเครือข่ายภูผาวารีด้วย ส่วนใหญ่เลยจะนัดกันทำโครงการหลังกลับจากโรงเรียนสลับกับซ้อมรำ ซ้อมกีฬาในบางวัน ส่วนการบ้านเก็บไว้ทำช่วงกลางคืน”

พี่ไก่ที่เห็นกันต์มาตลอดยืนยันว่า เธอเห็นพัฒนาการของสาวน้อยคนนี้ดีขึ้นเรื่อย ๆ “เมื่อก่อนเขาเอาแต่ใจมาก พูดจาก็ไม่เพราะ และไม่รู้จักรับผิดชอบ แต่พอต้องขึ้นมาเป็นพี่ และทำงานร่วมกับน้องๆ ก็เริ่มใจเย็นขึ้นค่ะ”

ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นตรงกับความตั้งใจของพี่ไก่ที่ตกลงตอบรับโครงการนี้มาให้เด็ก ๆ ทำ เพราะมองว่านี่เป็น “โอกาสการเรียนรู้” ที่สำคัญของเด็ก ๆ ที่จะได้คิดเองทำเอง ขณะเดียวกันสิ่งที่เด็ก ๆ อยากทำก็สอดคล้องกับสิ่งที่ชุมชนยังไม่มีคือผลิตภัณฑ์ของฝากที่เป็นของใช้ เพราะชุมชนมีแต่เครื่องแกงที่เก็บได้ไม่นาน ไม่เหมาะที่จะมาวางขาย แต่ผ้ามัดย้อมสามารถนำไปฝากขายตามรีสอร์ต เกิดเป็นรายได้เสริม และที่สำคัญคือเด็ก ๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์นอกเหนือจากการเล่นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งโครงการนี้ก็ช่วยตอบเป้าหมายที่พี่ไก่ตั้งใจไว้ได้

“เป็นความฝันของเราที่อยากให้เด็กในชุมชนออกไปเรียนรู้โลกภายนอก เพื่อให้เขามองเห็นโอกาสในชีวิตที่มากขึ้น และเป็นภูมิคุ้มกันเวลาต้องออกไปใช้ชีวิตเองเมื่อโตขึ้น เพราะตอนเด็ก ๆ เราไม่มีโอกาสแบบนี้ เลยทำให้รู้ว่าจำเป็นมากแค่ไหนสำหรับเด็ก”

ตอนนี้ทีมงานตอบได้อย่างเต็มปากแล้วว่าพวกเขามั่นใจในฝีมือการทำผ้ามัดย้อมของตัวเองว่าสามารถทำได้เป็นชิ้นเป็นอัน แต่ก็คิดว่าจะยังฝึกทำไปเรื่อย ๆ โดยหวังว่าวันหนึ่งจะสร้างแบรนด์ของกลุ่มเยาวชนขึ้นมาได้ ขณะเดียวกันก็ต้องการพัฒนาฝีมือ เพื่อเตรียมถ่ายทอดให้น้องรุ่นต่อไปได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้เช่นเดียวกับที่พวกเธอเคยได้รับโอกาสมา

ดูเหมือนว่าพี่ไก่และทีมงานต่างกำลังช่วยกันสานฝันไปในทิศทางเดียวกัน และเป็นฝันที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีต่ออนาคตของชุมชนเช่นเดียวกัน


โครงการ : พัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้ามัดย้อมด้วยวัตถุดิบธรรมชาติของกลุ่มเยาวชนวังนาใน

พี่เลี้ยงโครงการ

  • ฐิติชญาฮ์ ช่วยแก้ว 
  • คำแก้ว ทองฉีด 
  • ปราณี เอียดฉิม 
  • ประคอง เรืองหนู 

ทีมงาน

  • ปริญญา เอียดฉิม 
  • กานต์ณิชา เศียรอุ่น 
  • อริสรา พรมรุ่ม 
  • ชลดา เศียรอุ่น 
  • จิรกานต์ คำคง