การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อออกแบบวิธีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด บ้านโคกพยอม จังหวัดสตูล ปี 1

วัยใสร่วมใจจัดการ “ขยะ” ในชุมชน

ถังขยะดีไซน์แปลกตาที่ประดิษฐ์จากขวดพลาสติกเหลือใช้วางกระจายอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในชุมชนบ้านโคกพยอม ไม่ใช่ผลงานศิลปะของศิลปินท่านไหน แต่เป็นการรังสรรค์อย่างมีส่วนร่วมของ ‘กลุ่มเยาวชนคลองโต๊ะเหล็ม’ และคนในชุมชนบ้านโคกพยอม ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล

ทุกวันนี้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทุกชุมชน หนีไม่พ้นเรื่อง ‘ขยะ’ เพราะจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้น แม้บ้านโคกพยอมจะไม่ได้มีปัญหาขยะล้นถึงขั้นวิกฤต แต่พฤติกรรมการทิ้งขยะที่เกิดขึ้น ทำให้ ฮัสนา-นรินยา สาหมีด เกิดแนวคิดที่จะหาแนวทางจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมเพื่อชุมชนและสังคม

“หนูเป็นครูสอนอยู่ที่ศูนย์ตาดีกา (ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด) เวลาเดินกลับบ้านจะกลับพร้อมเด็ก ๆ ระหว่างทางมีร้านค้า เด็กมักจะแวะซื้อขนม แต่พอกินเสร็จแล้ว ก็ทิ้งห่อขนมตรงนั้นเลย พอเราเห็นบ่อย ๆ ก็เริ่มรู้สึกว่าเราควรจะแก้ปัญหาในจุดนี้ เราอยากจะให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึกในตัวเด็ก และอยากให้จำนวนขยะลดลง” ฮัสนาเล่าเหตุการณ์ที่จุดประกายความคิดให้เธออยากทำโครงการ

โครงการศึกษาสภาพปัญหาขยะเพื่อออกแบบวิธีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในศูนย์การศึกษาอิสลาม จึงถูกริเริ่มขึ้นภายใต้การดำเนินงานของ ฮัสนาและทีมคือ เขาทราย-พงษ์ศักดิ์ เจะหลัง, นลนี่-แอลนิตา นิล๊ะ, กิ๊ฟรอน-กิ๊ฟรอน หลงหัน และ ไลลา-นาตยา สาหมีด ซึ่งทั้งหมดเป็นแกนนำเยาวชนของมูลนิธิคลองโต๊ะเหล็มอะคาเดมี ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้แก่คนในชุมชนโคกพยอม พวกเขาจึงมีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมมาบ้าง

“พอบังเชษฐ์มาชวนทำโครงการ เราเปิดโอกาสให้เด็กๆ คิดกันเองว่าเขาสนใจทำเรื่องอะไร จนได้เป็นเรื่องขยะซึ่งเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมปัจจุบันที่กำลังคืบคลานเข้ามาในชุมชนของเราด้วย ความจริงขยะไม่ใช่ปัญหาหลักของชุมชนที่นี่ แต่เด็ก ๆ เคยศึกษาข้อมูล เจอวิดีโอปลาตายที่ในท้องมีถุงพลาสติก ซึ่งต้นเหตุจริง ๆ มาจากฝีมือมนุษย์ ก็เห็นว่าบ้านเราเป็นชายฝั่ง ฉะนั้นเราควรมีส่วนร่วมในการจัดการขยะ ตอนแรกเด็ก ๆ ก็ตั้งเป้าว่าจะแก้ปัญหาขยะทั้งชุมชนเลย เราก็ชวนเด็ก ๆ คิดต่อว่า สิ่งที่เขาคิดจะทำมัน ใหญ่เกินไปไหม เลยลดพื้นที่ลงเหลือแค่ในศูนย์การศึกษาอิสลามก่อน ซึ่งฮัสนาเป็นครูสอนอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว” กุ้ง-ซานียะห์ สีหมะ พี่เลี้ยงโครงการเล่าที่มาของโครงการ

­

สำรวจขยะ รณรงค์ลดการทิ้ง

แม้จะเห็นขยะอยู่จนชินตา แต่ทีมงานก็ยอมรับว่าพวกเธอไม่เคยรู้ว่าสถานการณ์ขยะรอบศูนย์ตาดีกาเป็นอย่างไร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ฮัสนาและทีมงานจึงร่วมกันออกแบบกิจกรรมที่จะนำไปสู่การจัดการขยะรอบศูนย์ตาดีกา โดยเริ่มต้นจากการศึกษาสถานการณ์ขยะในด้านต่าง ๆ ทั้งประเภทขยะ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากขยะ การแยกประเภทขยะ รวมถึงวิธีการจัดการขยะที่เหมาะสมกับชุมชน และสอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลาม พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่สำรวจขยะในศูนย์ตาดีกาและชุมชนบ้านโคกพยอม

ฮัสนา เล่าว่า เธอและสมาชิกในทีมช่วยกันคิดช่วยกันหาข้อมูลเกี่ยวกับขยะ รวมถึงค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหาขยะ บางคนหาจากอินเทอร์เน็ต บางคนหาจากหนังสือ

“พยายามหาเนื้อหาและสรุปว่าอันไหนคือเนื้อหาสำคัญจริง ๆ ที่เกี่ยวกับโครงการของเรา แล้วก็ลงพื้นที่สำรวจขยะในชุมชน ให้เด็ก ๆ เก็บขยะรอบหมู่บ้าน ในศูนย์ตาดีกา แล้วนำมาแยกประเภท ศึกษาปริมาณโดยการชั่ง เพื่อที่จะทราบว่าขยะแต่ละประเภทมีจำนวนเท่าไหร่” จากการสำรวจของทีมงานพบว่าขยะจำพวกพลาสติก ขวดแก้ว ถุงพลาสติก แก้วน้ำ ขวดน้ำ โดยถุงพลาสติกมีจำนวนมากที่สุด ส่วนขยะที่เป็นเศษอาหารพบน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านจะแยกไว้เพื่อนำไปทำปุ๋ย

“เมื่อรู้ว่าขยะส่วนใหญ่เป็นถุงพลาสติก เลยคิดวิธีการจัดการพลาสติกโดยเริ่มรณรงค์จากจุดเล็ก ๆ ก่อน เช่น ให้เด็ก ๆ ลดการใช้ถุงพลาสติกตอนไปซื้อของ ถ้าเด็กซื้อน้ำก็ให้เด็กนำแก้วไปเอง หรืออย่างที่บ้านเป็นร้านค้าก็จะบอกแม่ให้ช่วยบอกต่อกับเด็ก ๆ ว่าเวลามาซื้อน้ำ ให้นำแก้วของตัวเองมาซื้อ แล้วจะลดราคาให้ ซึ่งได้ประโยชน์สองต่อคือ ลดขยะ และลดต้นทุนการซื้อแก้วของร้านด้วย นอกจากนี้ก็จะบอกเด็กตลอดว่าเวลาไปไหนพยายามให้ใช้ถุงผ้า ซึ่งในโครงการก็คิดว่าอยากจะทำกระเป๋าผ้ากับ ๆ เด็กด้วย” ฮัสนากล่าว 

นอกจากจะรณรงค์ให้กับน้องๆ ในศูนย์ตาดีกาที่ฮัสนาสอนอยู่เป็นประจำแล้ว เธอยังมองว่าแค่เด็กในศูนย์ตาดีกาอาจจะยังไม่พอ ฮัสนาจึงมองไปที่กลุ่มเด็กทีมฟุตบอลมาร่วมทำกิจกรรมกับเธอด้วย ฮัสนามองว่าหากจะรณรรงค์แค่ปากเปล่าอาจจะเห็นผลช้า คนที่รับรู้ก็เป็นกลุ่มคนเดิมๆ นั่นคือเยาวชนที่เธอทำงานด้วย ฮัสนาจึงคิดที่จะทำป้ายติดประกาศเพื่อรณรงค์การทิ้งขยะเพื่อนำไปติดตามพื้นที่สาธารณะต่างๆ ในชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนเห็นและสะดุดตา เธอจึงเริ่มดำเนินการกิจกรรมด้วยการชักชวนน้องๆ ทั้งทีมฟุตบอลและเด็กในศูนย์ตาดีกากว่า 25 คน มาช่วยกันทำป้ายกระดาษแข็งติดกับฟีเจอร์บอร์ดเขียนข้อความ เช่น อย่าทิ้งขยะ หรือ คำคมติดตรงร้านค้า หรือจุดต่าง ๆ ในหมู่บ้าน

“ตอนทำป้ายรณรงค์เราให้น้องๆ คิดคำกันเองว่าจะเขียนข้อความอะไรดี บางคนก็วาดภาพแทนคำพูดก็มี เราคาดหวังว่าการทำป้ายรณรงค์นี้น่าจะสะดุดตาคนในชมุชนบ้าง อย่างน้อยเขาเห็นป้ายที่เราติดก็ไม่กล้าทิ้ง หรือทิ้งน้อยลง ซึ่งจากการสังเกตด้วยตาเปล่าพอเห็นอยู่ว่าขยะมีจำนวนบางตาลงค่ะ” ฮัสนาเล่าความหวังและที่มาของการทำกิจกรรมในครั้งนั้นให้ฟัง


เก็บขวดพลาสติก มาสร้าง ‘ถังขยะ’

แค่ป้ายรณรงค์อาจยังไม่เพียงพอ ฮัสนา เริ่มคิดหาไอเดียหาในการจัดการขยะร่วมกัน นั่นคือการสร้าง ‘ถังขยะรีไซเคิล’

“ตอนแรกคิดว่าจะทำอะไรที่เกี่ยวกับขยะเฉย ๆ พอดีตอนนั้นมีขยะอยู่กองหนึ่งที่เก็บไว้ในร้านค้าก็คิดว่าจะจัดการอย่างไรดี หนูเลยไปหาข้อมูลในยูทูป เจอไอเดียการทำถังขยะรีไซเคิลจากไม้ไผ่ ก็ปิ๊งไอเดียว่าขยะพลาสติกน่าจะทำเป็นถังขยะได้ ประกอบกับที่ศูนย์ตาดีกามีถังขยะน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ งบประมาณก็มีไม่มาก เลยคิดว่าในเมื่อมาทำโครงการตรงนี้แล้ว ทำถังขยะเพิ่มจะดีไหม เลยชวนเด็ก ๆ มาร่วมกิจกรรม ถือเป็นการให้ความรู้และปลูกฝังเรื่องการจัดการขยะไปในตัว ก็เลยเริ่มคุยเรื่องนี้ในแชทกลุ่ม เช่น กลุ่มแกนนำเยาวชน กลุ่มทีมนักฟุตบอล”

‘การทำงาน’ กับ ‘อุปสรรคปัญหา’ ย่อมเป็นของคู่กัน เวลาที่ไม่ตรงกันของเพื่อน ๆ ในทีมกลายเป็นชนวนความขัดแย้งให้โครงการเกือบไปไม่ถึงฝั่งที่ฝันไว้

“ช่วงหลัง ๆ เพื่อนไม่ค่อยมีเวลา งานจึงหนักอยู่ที่หนูคนเดียว เพราะบางคนต้องไปเรียนมหาวิทยาลัย บางคนไปเรียนที่อื่น เขาจะให้เราตัดสินใจเองเพราะคิดว่าหนูทำได้ แต่จริง ๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างนั้น หนูเจอปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะเรื่องการจัดงาน ยิ่งวันที่ต้องไปนำเสนอโครงการ เพื่อนกลุ่มอื่นมากันเป็น 10 คน แต่กลุ่มเรามีหนูคนเดียว รู้สึกกดดันมากว่าทำไมเราต้องแบกรับภาระอยู่คนเดียว เดินร้องไห้ไปหาบังปิงบอกว่า หนูไม่อยากทำแล้ว ไม่เอาแล้ว เหนื่อยแล้ว” ฮัสนาเล่าความรู้สึกคับข้องใจในขณะนั้น

“ไม่อยากทำ ก็ไม่ต้องทำ” คือคำพูดที่บังปิงบอกกับฮัสนาในตอนนี้ เนื่องจากรู้นิสัยกันดีว่า ถ้าเขาถูกท้าทายเช่นนี้ เขาจะกลับมาทำงานและต้องทำให้ดี ซึ่งก็ไม่ผิดไปจากที่บังปิงคิดไว้ ในที่สุดฮัสนาก็มีพลังใจกลับมาทำงานเหมือนเดิม

นอกจากความรู้สึกโดดเดี่ยวแล้ว การต้องเผชิญกับปัญหากิจกรรมสร้างถังขยะรีไซเคิลซึ่งเป็นงานที่ใหญ่และยากรุมเร้าถาโถมเข้ามา ยิ่งทำให้ฮัสนาอยากถอดใจ แต่ด้วยแรงหนุนจากพี่เลี้ยงที่คอยชี้แนะและช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง คือพลังสำคัญที่ทำให้เขาผ่านบททดสอบที่ยากนี้มาได้ 

“หลังจากที่แชทบอกเพื่อนให้มาร่วมกิจกรรมด้วยกัน ผลตอบรับคือ เพื่อนอ่านแต่ไม่ตอบอะไรกันเลย แต่หนูคิดแผนไว้ให้หมดแล้ว เพราะรู้นิสัยเพื่อนดีว่าเขาไม่ค่อยชอบมานั่งคิดอะไรเยอะ ๆ แต่ไม่ใช่หนูจะเอาความคิดตัวเองเป็นหลักนะ ในที่ประชุมถ้าเพื่อนไม่เห็นด้วยหรืออยากเสนอให้แก้ไขอะไรหนูก็ยอมรับได้ แต่ปัญหาที่หนูหนักใจมากกว่าคือ ไม่มั่นใจว่าจะมีชาวบ้านเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยหรือไม่ คิดกังวลจนเครียดไปหมด ไม่มั่นใจเลย” อัสนาเล่าความรู้สึก

ศักรินทร์ สีหมะ ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า ตลอดการทำโครงการ เราพยายามเปิดกว้างที่สุด เพื่อให้เขารู้สึกว่า เราไม่ได้อยู่ข้างหลังเขา เขาต้องกล้าชนกับทุกปัญหาที่พบเจอ เพื่อให้เด็กหลุดพ้นจากการถูกครอบงำของความกลัว ให้เด็กกล้าเผชิญกับปัญหาด้วยตัวเอง เราจะช่วยเมื่อถึงที่สุด บางกิจกรรมที่เด็ก ๆ เอาชาวบ้านไม่อยู่ เราจะคุยกันว่า ลองให้น้องสู้ดูก่อนสักตั้งหนึ่ง“ตอนที่ทำถังขยะ เป็นงานยากมาก เขาทำคนเดียวไม่ได้เพราะว่าต้องเอาลวดมาขึงขวด ทำเป็นถังขยะ เราก็แกล้งทำเฉย ๆ ดูว่าเขาจะทำยังไง ซึ่งเขาต้องพยายามดึงผู้ปกครอง ดึงรุ่นพี่ ดึงเด็ก ๆ ทีมฟุตบอลมาช่วย เขาจะใช้วิธีไหน เขานั่งรอเด็ก ๆ รอคนในชุมชนไม่ได้ แค่ทำโปสเตอร์ โพสต์ในเฟซบุ๊กเชิญชวนไม่พอ ต้องไปเคาะประตูบ้าน ไปดึงคนมา ซึ่งจริง ๆ สำหรับพวกเราง่ายมากที่จะนัดชาวบ้านมารวมกัน เพราะว่านัดเจอกันทุกวันเสาร์อยู่แล้ว เราก็ปล่อยให้เขาคิดแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จนเหลือหนึ่งวันก่อนเริ่มงาน เขาก็มาหาเราที่บ้าน คุยกับเขาตรง ๆ เลยว่า ‘มันตันแล้วจริงๆ ใช่มั้ย’ แล้วก็สอนเขาตรงนั้นเลย ชี้ให้เขาเห็นถึงปัญหาเรื่องการทำงานที่ต้องให้เขาพยายามแก้ไข พออีกวันเราก็แอบประสานงานทุกอย่างในพื้นที่ให้เขา นี่คือสิ่งที่เราพยายามช่วย แต่ไม่ช่วยโดยตรง ซึ่งกว่าจะมาถึงวันนี้ วันที่เราช่วยเขา เราปล่อยให้เขาผ่านความผิดพลาด ความล้มเหลวมาบ้างแล้ว แม้ข้างนอกเราจะแสดงออกว่าไม่ช่วยเขาง่าย ๆ หรอก แต่เอาเข้าจริง ๆ เราก็ต้องช่วย พอเห็นว่าเขาไม่ไหวแล้วก็ต้องช่วย” ศักรินทร์อธิบายแนวทางสร้างการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชน

ผลจากการชี้แนะแนวทางการทำงาน และการช่วยประสานงานของทีมพี่เลี้ยงโครงการทำให้กิจกรรมสร้างถังขยะรีไซเคิลเพื่อช่วยลดขยะในศูนย์ตาดีกาและในชุมชนสำเร็จด้วยดี มีถังขยะที่เป็นผลผลิตจากความร่วมแรงร่วมใจของเยาวชนและชาวบ้านให้ได้ใช้งานจริงหลายใบ ผลงานที่เกิดขึ้นไม่เพียงสร้างความภาคภูมิใจกับผู้ใหญ่ในชุมชนอย่างมาก อุปสรรคที่ฝ่าฟันมายังเป็นบทเรียนสำคัญในการพัฒนาตนเองให้กับพวกเขาด้วย

“อุปสรรคที่เข้ามา สุดท้ายก็ผ่านพ้นมาได้ ทำให้เวลามีปัญหาใหม่ๆ หนูก็จะคิดได้ว่าขนาดครั้งแรกยังผ่านมาได้ ทำไมครั้งนี้จะผ่านไปไม่ได้ โครงการนี้ช่วยพัฒนามากทั้งตัวเราและเด็ก ๆ เยอะมาก ทั้งกระบวนการคิด ได้คิดวิเคราะห์ ได้ทำงาน จากที่เรียนอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยม พอมีโครงการนี้เหมือนมาเปิดโลกกว้างให้กับเด็ก ที่สำคัญคือความกล้าแสดงออก ปกติเมื่อก่อนเราเป็นคนขี้อาย ไม่กล้าที่จะพูด เป็นคนกลัวไมค์ แต่การทำโครงการนี้ ผลักให้เราต้องยืนพูดคนเดียว แรก ๆ ก็สั่น แต่พอพูดไปเยอะ ๆ ก็คิดว่าไม่ได้มีอะไรน่ากลัว เราพูดให้คนอื่นฟัง รู้สึกดีมากกว่า ไม่ได้รู้สึกน่ากลัวหรือรู้สึกอายอะไรเลย จนตอนนี้กลายเป็นว่ามีงานอะไรที่ต้องนำเสนอหน้าห้อง หนูจะต้องออกไปนำเสนอ อีกอย่างโครงการทำให้ได้เจอคนหลาย ๆ แบบ อันไหนเป็นสิ่งดีก็เอามาปรับปรุงพัฒนาให้ดีขึ้น สิ่งไหนที่ไม่ดีก็ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง”

ขณะเดียวกันพี่เลี้ยงที่คอยชี้นำต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า มาถึงวันนี้เด็ก ๆ มีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก รู้สึกภูมิใจ และคิดว่านี่คือ ‘ความสำเร็จ’ “เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น การพูดคุยต่อหน้าคนเยอะ ๆ นำเสนอสิ่งที่เขาอยากทำหรือสิ่งที่กำลังทำอยู่ นี่คือความสำเร็จแล้ว เพราะเราเชื่อว่าศักยภาพของคนแสดงให้เห็นชัดเจนคือ 1.การนำเสนอ ถ้าเราทำเป็นแต่นำเสนอไม่เป็นก็จบ ซึ่งเขาก็ทำได้ดีทั้งสองอย่าง 2. การก้าวข้ามปัญหาของเขา จากตอนแรกที่เขาคิดว่าทำไม่ได้ เขาท้อ เขาเดินเข้ามาหาน้องกุ้ง มาหาก๊ะวันดี นิระ บอกไม่ไหวแล้ว เหนื่อย ทำไม่ถูกแล้ว แต่สุดท้ายเขาก็ทำได้ และ 3. มีกลุ่มเด็กเยาวชนผุดขึ้นมาหลังจากการทำโครงการมากมาย เพื่อที่จะมาเติมรุ่นนี้ต่อหรือว่ารับไม้ต่อจากทีมนี้ต่อไป” ศักรินทร์เล่าถึงสิ่งดี ๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ

สำหรับการดำเนินงานต่อจากนี้ เยาวชนคลองโต๊ะเหล็ม บอกว่า พวกเขายังอยากทำถังขยะเพิ่ม รวมถึงพาเด็ก ๆ ไปศึกษาดูงาน “อยากให้มีถังขยะในหลายๆ ที่ หลัก ๆ จะไปวางไว้ที่ร้านค้าและร้านที่เด็ก ๆ ชอบไป เพราะอยากให้คนอื่นเห็นว่านี่คือฝีมือของเด็กในหมู่บ้านเรา ส่วนขยะที่ถูกทิ้งไว้จะนำมาช่วยกันแยกประเภท เช่น อันไหนสามารถใช้ซ้ำ ได้ หรืออันไหนสามารถรีไซเคิลได้ ซึ่งเราก็มีทฤษฎีที่จะกำจัดขยะคือ 7R และขยะบางส่วนสามารถนำไปขายเป็นเงินได้ นอกจากนี้ก็ตั้งใจพาเด็ก ๆ ไปดูงานที่บ้านนางพญาเพราะมีที่เก็บขยะอยู่ เสร็จแล้วจะทำแบบสอบถามว่าเด็กที่เข้าร่วมกิจกรรมกับเราได้ความรู้อะไร และอยากทำอะไรต่อบ้าง” ฮัสนาเล่าแผนการทำงานในอนาคต

การจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในศูนย์ตาดีกา นับเป็นจุดเริ่มต้นของพลังการขับเคลื่อนที่นำไปสู่การแก้ปัญหาขยะในระดับชุมชน ไม่เพียงเท่านี้ การเติบโตที่เด็กๆ ได้รับจากการลงมือทำ การฝึกวางแผนและแก้ปัญหา รวมถึงการทำงานร่วมกับพี่เลี้ยงและที่ปรึกษาในชุมชนจะเป็นแรงผลักให้เขาอยากจะพัฒนาตนเอง และพัฒนาชุมชนบ้านเกิดต่อไป


โครงการ : ศึกษาสภาพปัญหาขยะเพื่อออกแบบวิธีการจัดการขยะแบบมีส่วนร่วมในศูนย์การศึกษาอิสลาม

ที่ปรึกษาโครงการ : 

  • ศักรินทร์ สีหมะ 

พี่เลี้ยงโครงการ

  • ซานีย๊ะห์ สีหมะ 
  • วันดี นิระ 
  • อาสัน สาหมีด 

ทีมงาน

  • นรินยา สาหมีด 
  • พงษ์ศักดิ์ เจะหลัง
  • แอลนิตา นิล๊ะ 
  • กิ๊ฟรอน หลงหัน 
  •  นาตยา สาหมีด 

­