เปลี่ยนตีป้อม (ROV) มานั่งล้อมวงเล่นดนตรีพื้นเมือง
เรื่องวุ่นๆ ของเด็กวัยรุ่นบ้านห้วยโป่งสามัคคี อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน บอล-กรีฑาพ วงศ์ษายะ, ลีโอ-ธนภัทร ใจทัน, อายตา-ธีราภรณ์ ตันคำ และณัฐ-ณัฐพล ต่อกัน ตัวแทนเยาวชนโครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นบ้าน ถ้าให้บอกกิจกรรมยามว่างของวัยรุ่นยุคนี้ คงหนีไม่พ้นโลกออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และเกม ROV
แต่เสียงประกาศตามสายจากผู้นำชุมชนที่ดังทั่วหมู่บ้านในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พวกเขาก้าวเดินออกมาจากโลกของ ROV มาเข้าร่วมกิจกรรมตามนัดหมาย ที่เยาวชนกว่า 30 ชีวิตมารวมตัวกันคิดและทำโครงการเพื่อชุมชน และนี่คือจุดเริ่มต้นการรวมตัวกันของพวกเขาภายใต้โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมือง
ดนตรืพื้นเมืองเรื่องง่ายๆ ใครก็เล่น!
หลังแม่ครูทองดีประกาศว่า โครงการปลุกจิตสำนึกสร้างพลังเสริมศักยภาพเยาวชนเมืองลำพูนกำลังจะเปิดรับสมัคร แม่ครูทองดีถามเอากับเด็กกลุ่มนี้ว่า อยากเริ่มทำอะไรกับชุมชนดี หลังช่วยกันระดมความคิด ได้ข้อสรุปออกมา 3 เรื่องคือ ป่า, จักสาน และ ดนตรีพื้นเมือง ข้อสรุปมาลงเอยที่ข้อสุดท้าย ลีโออธิบายเหตุผลว่าเพราะต้องการ ‘อนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง’ ให้อยู่คู่กับชุมชนบ้านห้วยโป่งสามัคคี และเพราะแกนนำส่วนใหญ่มีพื้นฐานการเล่นดนตรีไทยประกอบกับรู้จักครูผู้รู้ ไม่น่าจะยากถ้าคิดจะทำเกี่ยวกับเรื่องดนตรีพื้นเมือง
“ครูที่โรงเรียนท่านหนึ่งซึ่งเคยสอนดนตรีพื้นเมืองเกษียณออกไปแล้วจึงไม่มีคนสานต่อเรื่องนี้ เราเลยอยากฝึกดนตรีพื้นเมืองให้ชำนาญขึ้นจะได้สอนน้องๆ ในชุมชนต่อได้ รวมทั้งเราเล่นกันอยู่แล้ว แค่มาพัฒนาทักษะเพิ่มสักหน่อยก็ไปสอนน้องๆ ได้” ลีโออธิบาย
หลังได้กำลังคนและเรื่องที่จะทำแล้ว ทั้งหมดเริ่มจึงเริ่มตีป้อม! ออกตามเก็บข้อมูลผู้รู้ด้านดนตรีพื้นเมืองที่มีอยู่ในชุมชน
“ก่อนลงพื้นที่ พวกเราประชุมชี้แจงผู้นำก่อนแล้วจึงทำแผนที่ชุมชนสำหรับใช้เป็นข้อมูลในการลงพื้นที่ เสร็จแล้วเราก็ลงไปสัมภาษณ์ผู้รู้เก็บรวบรวมว่าแต่ละหมู่บ้านมีใครเล่นดนตรีชนิดไหนบ้าง” บอลเล่าขั้นตอนการทำงานในช่วงที่ผ่านมา
เล่นดนตรีพื้นเมืองอะไร ทำไมถึงชอบดนตรีพื้นเมือง เล่นมาแล้วกี่ปี ใครสอนเล่น มีการสืบทอดการเล่นให้ใครบ้าง เหล่านี้เป็นคำถามที่พวกเขาออกแบบสำหรับสอบถามผู้รู้ครูดนตรี พวกเขาเวียนกันเข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้อยู่ร่วมอาทิตย์จึงสืบค้นข้อมูลครบทุกบ้าน ผลลัพธ์คือได้รู้จักกับผู้รู้เรื่องดนตรีพื้นบ้านในชุมชนราว 11 คน ช่วยกันถ่ายทอดองค์ความรู้เรื่อง ซึง สะล้อ ขลุ่ย ฉิ่ง ฉาบ กลอง กรับไม้
เมื่อสิ่งที่หวังไม่ได้มาง่ายอย่างที่คิด!
“โคตรยากเลย ไม่เหมือนที่ครูในโรงเรียนสอนตอนเด็ก ๆ ซึ่งมันง่ายกว่านี้ครับ อันนี้โคตรยากเลยฮะ สมมติว่าเล่นเพลงเดียวกัน วิธีเล่นจะไม่เหมือนกัน ถ้าการเล่นที่โรงเรียนจะให้เสียงนิ่งๆ ธรรมดาๆ แต่วิธีการของพ่อครูจะเพิ่มเทคนิคเข้าไปด้วย ความพลิ้วของทำนองเหมือนการเล่นลูกคอ สนุกก็จริงแต่ว่ายากเหมือนกัน” โอเล่บ่นอุบเมื่อถามถึงผลของการลงไปเรียนกับครูในวันนั้น
‘บ้านพ่อตา’ คือจุดนัดพบระหว่างนักเรียนวัยโจ๋ อย่างณัฐ ลีโอ บอล อายตา และก๊วนเพื่อนกับครูสอนดนตรีพื้นเมือง เพื่อเข้ามาขอเรียนรู้กับพ่อตาครูสอนซึง “วันที่เราไปจะมีพ่อครูแต่ละชนิดเข้ามาสอนเรา เราเรียนอยู่หลายวันเหมือนกัน พ่อครูก็จะสลับกันไปมาแล้วแต่ว่าใครว่างมา แต่เราจะยึดสถานที่เรียนที่บ้านพ่อตาเป็นหลัก โดยเลือกกันว่าเราอยากเรียนเครื่องดนตรีอะไรแล้วครูจะเล่นให้เราดู” บอลอธิบายภาพบรรยากาศให้ฟัง
บอลเล่าต่อว่า “ผมเคยลองแกะทำนองเพื่อเล่นเองแต่แกะไม่ได้ และตอนแรกคิดว่าต้องเล่นแบบดูโน๊ต แต่พ่อครูจะสอนแบบไม่มีโน๊ต พ่อครูเล่นให้เราดูว่าเล่นยังไงแล้วให้เราเล่นตามไปเลย อาศัยดูและจำเอาว่านิ้วกดตรงไหน ช่วงแรกๆ เล่นไม่เป็น เล่นไปมั่วๆ สัก 2-3 วันถึงจะเริ่มได้”
พ่อครูจะประจำเครื่องดนตรีแต่ละชนิดและนั่งอยู่กลางวง จากนั้นเริ่มบรรเลงดนตรีให้กับทีมงานดู ทีมงานมีหน้าที่ดูตามพ่อครูแต่ละชนิด เล่นไปหยุดไปเพื่อบอกตัวโน๊ตให้กับทีมงาน แล้วเริ่มบรรเลงพร้อมกันอีกที ทำแบบนี้เรื่อย ๆ จนทีมงานเล่นตามได้
ทุกอย่างดูผิดแผนไปจากที่วางไว้ในตอนแรกที่คิดว่าเป็นเรื่องง่าย เพราะมีพื้นฐานการเล่นดนตรีกันมาก่อน แต่เมื่อมาเรียนกับครูดนตรีพื้นเมืองจริงๆ ทีมงานถึงขั้นอึ้งกันยกทีม แต่อาศัยทักษะที่ตัวเองพอมีติดตัว ประกอบกับความเป็นคนช่างสังเกตค่อย ๆ ดูนิ้วที่กดเครื่องเล่นแต่ละสาย จับเสียง จับสำเนียงการเล่น ค่อยๆ ฝึกฝนไปจนพอได้ในระดับหนึ่ง
เหนื่อย ท้อ หัวร้อน เรื่องซับซ้อนของวัยรุ่น
ความท้อใจบังเกิดเมื่อพบว่าการเล่นดนตรีพื้นเมืองนั้นซับซ้อนและยากกว่าที่คิด ยิ่งเล่นไม่ได้ยิ่งหัวร้อน จากที่เคยมีสมาชิกราว 15 คนในตอนแรก นานวันเข้าก็เริ่มทยอยหายไป ทุกอย่างดูไกลจากภาพฝันในตอนแรกมาก พวกเขายอมรับว่าเคยคิดที่จะหยุดทำโครงการ
“ช่วงหนึ่งเรามาประชุมกันว่าจะทำต่อหรือว่าจะยกเลิกดี เพราะมีปัญหาหลายอย่างเข้ามา ทั้งการที่เพื่อน ๆ ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือ นัดแล้วไม่มา แถมช่วงนั้นบอลประสบอุบัติเหตุจากการเล่นฟุตบอลจนต้องหยุดพักไปเกือบ 2 เดือน แต่สุดท้ายเราก็กลับมาทำต่อครับ เพราะเราทำกันมาเกือบครึ่งทางแล้ว” ลีโอและอายตาพรั่งพรูปัญหาที่พวกเขาเจอในตอนนั้นให้ฟัง
ออม-สุจิตรา ไชยคำ เล่าเสริมต่อว่า “วันนั้นลุงหนานป๋อง-ประพันธ์ สังข์ป้อม ถามว่าจะไปต่อไหม ลุงหนานป๋องบอกว่า ‘ถ้าเป็นลุง ลุงจะไปต่อ เพราะทำมาแล้วก็ทำไปให้สุด’ พอได้ยินแบบนั้นเราเลยก็ไล่ถามเพื่อนทีละคนว่าใครอยากไปต่อบ้าง เสียงส่วนใหญ่บอกไปต่อก็เลยทำมาจนถึงตอนนี้”
นอกจากเพื่อนในทีมจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับพวกเขาคือเรื่องของการเล่นดนตรีพื้นเมืองที่ไม่มีตัวโน๊ต ต้องอาศัยความจำและใจรักที่จะช่วยได้
“เวลาเราเล่น แล้วเราตามครูไม่ทัน เล่นไม่ได้ ตอนนั้นหัวร้อนมาก โมโหตัวเองว่าทำไมเล่นไม่ได้สักที เวลาโมโหมาก ๆ ก็จะเลิกเล่นเลย ไปหาอย่างอื่นทำก่อนให้เย็นลงแล้วค่อยมาเล่นใหม่ ถ้าอันไหนเล่นไม่ได้จริงๆ ก็จะไม่เล่น อาศัยว่า จังหวะไหนที่เราเล่นได้ค่อยเข้าไปเล่น” โอเล่หนุ่มหัวร้อนบอกเล่าช่วงจังหวะที่ตัวเองพยายามจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ณ ตอนนั้น
ขณะที่บอลกลับบอกว่า เขารู้สึกสนุกและชอบที่ได้มาเล่นกับผู้รู้ แต่ก็แอบไม่ชอบตรงที่มันค่อนข้างยากในการจดจำ แต่ถ้าเล่นแล้วลองกลับมาแกะเป็นโน้ตของตัวเองได้ก็น่าจะสนุกกว่านี้เพราะเราจำโน้ตได้แล้ว
จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะเรียนและเล่นดนตรีให้คล่อง เพื่อนำความรู้ที่ได้ไปถ่ายทอดให้กับน้องในชุมชนที่สนใจต้องหยุดชะงักลง เหลือเพียงตั้งใจฝึกฝนตัวเองให้ชำนาญกับท่วงทำนองของดนตรีพื้นเมืองแล้วจึงค่อยวางแผนกันต่อในอนาคต
เรียนเล่น...เรียนรู้
ถึงวันนี้ ภาพฝันกับความเป็นจริงจะดูอีกยาวไกล แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขาได้คือความผูกพันระหว่างทีมและครูผู้รู้ แม้ว่าภาพของพี่สอนน้องเล่นดนตรีพื้นเมืองจะยังไม่เกิดขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ภาพของเยาวชนกลุ่มหนึ่งในชุมชนที่มานั่งล้อมวงกับผู้สูงอายุในชุมชน บรรเลงดนตรีพื้นเมืองด้วยความรอยยิ้มและความหวัง นี่คือภาพที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ อย่างที่ลีโอบอกกับเราสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า
“ม่วน ม่วนตรงที่เล่นแล้วมีความรู้สึก เวลาเศร้าเราก็อินไปกับดนตรี นอกจากความรู้สึกขณะเล่น ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้รู้ก็พัฒนาขึ้น จากที่บางคนไม่เคยรู้จัก บางคนรู้จักแต่ก็ไม่เคยทักทายกัน เดี๋ยวนี้เวลาขับรถสวนกันก็พูดจาทักทาย รู้สึกดีมากเลยครับ”
ส่วนบอลยังแน่วแน่กับการแกะโน้ตดนตรีพื้นเมืองเพราะมีเป้าหมายในใจว่า สักวันเขาจะต้องแกะโน้ตเหล่านี้ให้ได้
“คิดว่าจะยังลองแกะโน๊ตที่พ่อครูเขาสอนมาดูก่อนครับ แต่ถ้ายากกว่านี้ก็ไม่เอาแล้ว ผมตั้งเป้าไว้ว่าอย่างน้อยก็ขอให้ตัวเองเล่นได้เก่งขึ้น เล่นแบบพ่อครูได้ แค่นั้นก็พอใจแล้ว ส่วนการสอนน้องได้ก็ถือว่าเป็นกำไร”
ด้านณัฐแม้จะไม่ค่อยพูดสักเท่าไหร่ แต่เมื่อถามถึงความรู้สึกของการได้เข้ามาเล่นดนตรีพื้นเมือง ณัฐก็สะท้อนว่า ดนตรีที่ตัวเองชอบมากที่สุดคือกลองสองหน้า
“แต่ก่อนผมเล่นซึง แต่ไม่มีใครตีกลองก็เลยต้องไปเล่น พอไปเล่น เรารู้สึกว่าการตีกลองทำให้เรานิ่ง จดจ่ออยู่กับการกำกับจังหวะ เลยรู้สึกชอบเครื่องดนตรีชนิดนี้”
แม้จะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ก่อนเริ่มโครงการ แต่การเรียนรู้ระหว่างทางที่พวกเขาได้เรียนรู้นั้นสำคัญยิ่งกว่า ความผูกพันของคนสองวัย รอยยิ้ม เสียงหัวเราะของผู้สูงอายุที่เกิดจากกลุ่มเยาวชนนี้คือเครื่องการันตีว่า ชุมชนแห่งนี้ยังมีความหวัง อย่างน้อยๆ จากเดิมเสาร์อาทิตย์ที่พวกเขาเคยนั่งอยู่แต่ในบ้าน จ้องแต่จะตีป้อม ก็เปลี่ยนมาเป็นตีกลอง ซ้อมดนตรีพื้นเมืองแทน
โครงการอนุรักษ์และสืบสานดนตรีพื้นเมือง
ที่ปรึกษาโครงการประพันธ์ : สังข์ป้อม
ทีมงาน :
- สุจิตรา ไชยคำ
- ปุณณวิช เชียงจันทร์
- ณัฐพล ต่อกัน
- กรีฑาพล วงศ์ษายะ
- ธนภัทร ใจทัน
- ธีราภรณ์ ตันคำ