- ศิริส้ม (SiriSOM) ผลิตภัณฑ์ช่วยชะลอความเปรี้ยวและยืดอายุของปลาส้ม ให้ผู้ค้าในชุมชนท่าบ่อวางขายได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่เย็น ผลงานของน้องๆ ชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษฏ์
- ความก้าวหน้าและน่าสนใจของศิริส้ม คือด้วยกระบวนการทดลองที่เป็นวิทยาศาสตร์ ความตั้งใจจะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์ โลโก้ และมีกลุ่มผู้ใช้รอซื้อจริง ขาดก็เพียงการขอมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์เท่านั้น ความฝันของสมาชิกในทีมก็จะเป็นจริง
แม้แม่ช้อยฯ ไม่ได้กล่าวไว้ แต่คนส่วนใหญ่ก็รู้ดีว่า ปลาส้มที่อร่อยต้องเนื้อไม่เละ และความเปรี้ยวต้องพอดีในระดับชวนน้ำลายสอ หากปลาส้มแผงใดเปรี้ยวโดด พึงสันนิษฐานได้ทันทีว่า ปลาส้มนั้นค้างแผงนานจนใกล้เสีย
ในแง่มุมวิทยาศาสตร์ ต้นเหตุที่ทำให้ปลาส้มเปรี้ยวเจียนเสีย คือแลกติกแอซิดแบคทีเรียที่มากเกินไป เจ้าแบคทีเรียนี้ยิ่งมีมาก ปลาส้มยิ่งเสียเร็ว ถ้าแม่ค้าขายไม่ทันก็เท่ากับทุนหายกำไรหด ถ้าลูกค้าโชคร้ายหยิบไปก็สูญเงิน และอาจได้อาการท้องเสียเป็นของแถม
‘จะดีกว่าไหม ถ้าเราจะลองใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยคุมปริมาณแลกติกแอซิดแบคทีเรีย เพื่อยืดอายุให้ปลาส้ม แม่ค้าและลูกค้าจะได้แฮปปี้กันถ้วนหน้า’
คือสิ่งที่ 3 สาวและ 3 หนุ่มจากโรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ คิดออกมาดังๆ ก่อนจะเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ออกไปทดลองทำจริงๆ เพื่อพบว่า มีความสำเร็จและผิดพลาดมากมายรออยู่หลังประตูบานนั้น...
+ทดลองเข้มข้น จากรุ่นสู่รุ่น
ศิริส้ม (SiriSOM)ผลิตภัณฑ์ช่วยชะลอความเปรี้ยวและยืดอายุของปลาส้มโดยไม่ต้องแช่เย็น เป็นผลงานของน้องๆ ชุมนุมนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษฏ์ ที่พัฒนาต่อเนื่องกันมาถึง 3 รุ่น ซึ่งแต่เดิมเคยทำโครงงานเรื่องการนำน้ำเหลือทิ้งมาทำปลาส้ม จนมาถึงรุ่นของมายด์-ชยมล ลิปูหนอง ชั้นปีที่ 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สานต่อโปรเจกต์ดังกล่าวจนได้รางวัลในการประกวดนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และต่อยอดมาถึงรุ่นปัจจุบัน ที่ทำโครงงานเรื่องการยับยั้งแลกติกแอซิดแบคทีเรียในปลาส้ม
“ตอนทำโครงงานรุ่นแรก เรามีองค์ความรู้เรื่องสารที่สามารถยับยั้งแบคทีเรียได้ รุ่นหนูเลยคิดต่อยอดไปเรื่องการตลาด เริ่มจากไปสัมภาษณ์คนทำปลาส้มว่า ‘นอกจากปัญหาน้ำทิ้งแล้วมีปัญหาอะไรอีกบ้าง?’ ก็เจอปัญหาหนึ่งคือ ปลาส้มเปรี้ยวเร็ว วางขายแค่ 2-3 วันก็เสีย สังเกตได้จากแผงว่าจะมีปลาเก่ากับปลาใหม่ ราคาจะต่างกัน ปลาเก่าคือตัวที่เปรี้ยวมาก ราคาจะถูกกว่า เราเลยนำเรื่องนี้มาเป็นหัวข้อหลักในการทำโครงงาน” มายด์เล่าถึงที่มาของโครงงาน ที่เป็นการยกระดับผลงานเพื่อช่วยแก้ปัญหาธุรกิจปลาส้ม จากระดับกระบวนการผลิต ไปสู่ระดับการตลาด
แต่ด้วยภารกิจที่ต้องพัฒนาโปรเจกต์โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับเด็กและเยาวชน (Junior Science Talent Project: JSTP)ของตัวเอง และเพื่อนร่วมทีมก็อยู่ในช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัย มายด์จึงส่งต่อผลงานศิริส้ม ซึ่งตอนนั้นอยู่ในขั้นผลการทดลอง ให้รุ่นน้องอย่างต๋อง-ภานุพงษ์ อินทะศรี ชั้นม. 5, โม-ชญานิกานต์ เจนการค้า ม.6 และ เมย์-พิมลวรรณ สุพะสอน ม.6 โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ แต่ทั้ง 3 ก็ต้องทำต่อเพื่อส่งแข่งขันโครงงานของนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ (Young Scientist Competition: YSC) โดยมายด์ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงเพื่อส่งต่อองค์ความรู้ สนับสนุนงานเอกสาร และมีอาจารย์ที่ปรึกษาช่วยสนับสนุนการทดลอง และแม้ต้องทิ้งงานของตัวเองเพื่อมารับช่วงต่อจากรุ่นพี่ และไม่ใช่สิ่งที่ทั้ง 3 คิดฝันไว้ แต่ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่กลุ่มผู้ใช้จะได้รับ ทั้งสามจึงเข้ามารับงานศิริส้มอย่างเต็มตัว
“ตอนนั้นเราทำโครงงานอื่นอยู่ แต่โครงงานนี้มีกลุ่มผู้ใช้ชัดเจนคือ คนในชุมชนท่าบ่อ เลยทิ้งโครงงานเดิมมาทำโครงงานนี้ ตอนนั้นพวกหนูก็ยังไม่รู้ว่าต้องทำยังไง พี่มายด์ต้องสอนงานใหม่หมด ดูค่า pH ก็ยังไม่เป็น ไม่รู้สีอะไรเป็นสีอะไร แยกไม่ออก ก็ต้องทำใหม่เรื่อยๆ” โมเล่าอย่างอารมณ์ดี
โปรเจกต์ศิริส้มมีเป้าหมายอยู่ที่การพัฒนาสารเพื่อช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียในปลาส้ม ทำให้ปลาส้มมีอายุยาวนานขึ้น ให้ผู้ค้าในชุมชนท่าบ่อสามารถวางจำหน่ายได้นานขึ้นโดยไม่ต้องแช่น้ำแข็ง ซึ่งสิ่งที่ทีมต้องทำก็คือ พิสูจน์สมมติฐานว่า อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์(อนุภาคของซิงค์ออกไซด์ที่มีขนาด 25 – 50 นาโนเมตร) สามารถยับยั้งเชื้อราและกำจัดแบคทีเรียมารถยับยั้งปริมาณแบคทีเรียกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria) ได้จริงหรือไม่ และถ้าสามารถยับยั้งได้ ต้องใช้ในปริมาณความเข้มข้นเท่าไหร่
“ตอนแรกเราวัดผลแค่ตอนปลาย คือวัดค่า pH กับการไทเทรต (Titration) หาความเข้มข้นของกรด เพราะแบคทีเรียเพิ่มปริมาณได้จากกรด เราจึงทดลองจากสมมติฐานแรกคือ ถ้าเราใส่ปริมาณซิงค์ออกไซด์ที่เท่าไหร่ มันจะให้ความเข้มข้นที่ต่างกัน แล้วมันจะสามารถยับยั้งได้ที่ปริมาณความเข้มข้นที่เท่าไหร่ ทีแรกผลที่ได้อยู่ที่ 1% แต่ถ้าใช้กับของที่เป็นอาหาร ปริมาณ 1% ถือว่าสิ้นเปลือง จะเพิ่มต้นทุนมากกว่าลดต้นทุน และอาจตกค้างในร่างกายจากการที่มันแตกตัวไม่หมด เราเลยทดลองสมมติฐานเพิ่มว่า ถ้าปริมาณน้อยกว่า 1% จะเป็นอย่างไร แล้วเราก็ทดลองลดความเข้มข้นไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 0.1% จนพบว่าช่วงประมาณ 0.1-0.3% สามารถลดปริมาณแบคทีเรียได้เหมือนกัน” มายด์เล่าถึงกระบวนการทำงานของทีม ซึ่งกว่าจะได้ปริมาณความเข้มข้นที่เหมาะสม ต้องผ่านการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าหลายร้อยรอบ
+ เมื่อความผิดพลาดกลายเป็นความคุ้นชิน
นอกจากโม-เมย์-ต๋อง ยังมีมาร์ค - ชาญชล ลิปูหนองและกุ้ง - ณัฐภัทรไชยกา โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ เข้ามาร่วมทีมในช่วงเข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 6 ได้เปิดโลกของการเรียนรู้หลายๆ อย่าง แต่อย่างหนึ่งที่ชัดเจนโดดเด่นที่สุดสำหรับพวกเขาก็คือ การฝึกปรือเทคนิคการทดลองทางวิทยาศาสตร์
“หนูไม่เคยทำโครงงานมาก่อน ไปแข่งแค่โครงงานคณิตศาสตร์ก็แทบไม่ได้ทำอะไรเลย รอไปนำเสนอเฉยๆ (หัวเราะ) พอมาทำงานนี้ พี่สอนให้ทำเองทุกอย่าง เขาจะไม่ทำการทดลองให้ แต่จะสอนและซัพพอร์ตอยู่ห่างๆ เราต้องลงมือทำเองหมด ถ้าเราทำผิดพลาดเราก็ต้องเริ่มทำใหม่เอง เหนื่อยมาก สมมติฐานแรกเราทดลองกัน 20-30 ครั้ง ซึ่งมันเฟล ซื้อปลาส้มมาเต็มตู้เย็นจนแช่อย่างอื่นไม่ได้เลย” โมเล่าด้วยเสียงหัวเราะ
“ตอนเข้ามาแรกๆ ผมยังทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ไม่เคยทำแล็บวิทยาศาสตร์ ก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ ทำให้ได้เรียนรู้วิธีชั่งสารว่าต้องทำอย่างไร รวมทั้งกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ด้วย” ต๋องเสริม
“ก่อนจบ ม.6 หนูถ่ายทอดทุกสิ่งที่มีให้น้อง ทั้งการผสมสารแต่ละสูตร วิธีเลี้ยงเชื้อ วิธีการไทเทรต วิธีหาความเข้มข้น การใช้เครื่องมือต่างๆ สอนเกือบครึ่งเดือน ทำการทดลองซ้ำๆ วัดปริมาณกรดและทดลองการเลี้ยงเชื้อว่ามันสามารถยับยั้งเชื้อที่เราเลี้ยงได้ไหม” มายด์กล่าว
ใครที่ไม่เคยทำแล็บวิทยาศาสตร์ อาจนึกภาพไม่ออกว่าการทดลองซ้ำๆ ของนักวิทย์นั้นเขาทำกันมากน้อยแค่ไหน เมื่อได้ยินคำถามนี้ โมก็หัวเราะและตอบอย่างร่าเริงว่า
“ถ้านับเป็นชุดการทดลองเราทำหลายรอบมาก ความเข้มข้นที่ 1% ทำ 3 ชุดการทดลอง ชุดละ 3 ครั้ง ก็ 9 ชุดแล้ว และมีชุดควบคุมอีก 3 ชุด ตีว่า 1 ชุดความเข้มข้นเราต้องทดลอง 9 +3 ครั้งตลอด แล้วลดความเข้มข้นไปทีละ 0.1% รวมแล้วเราทดลองประมาณ 500 ครั้งที่ได้ผล กับอีกประมาณ 300 ครั้งที่ไม่ได้ผล ใช้ปลาส้มในการทดลองไปประมาณ 800 ตัว”
การทดลองเหยียบ 1,000 ครั้งถือว่าไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับนักเรียน ม.ปลาย อย่างพวกเขา หนำซ้ำในการทดลอง 800 กว่าครั้งนั้นก็ไม่ใช่จะสำเร็จไปทุกครั้ง หากแต่พวกเขาต้องประสบกับความผิดพลาดไปถึง 300 ครั้ง
พวกเขารับมือกับความพลาดหวังดังกล่าวกันอย่างไร?
“ถ้าเราทำผิดพลาดเราก็ต้องเริ่มทำใหม่” คือประโยคที่โมทวนให้ฟังอีกรอบด้วยน้ำเสียงสบายๆ เหมือนคุ้นชินไปแล้วกับความผิดพลาดที่เจอเป็นประจำ
“สิ่งที่ทำให้เรารู้ว่ามันเฟลคือ จะมีปลาที่เน่าตอนวันที่ 4 หรือ 5 หลังการทดลอง ซึ่งจริงๆ มันต้องไม่เน่าเพราะมีแบคทีเรียที่ผลิตกรดอยู่แล้ว เราก็ต้องไปดูว่าช่วงระหว่างนั้นทดลองยังไง ผิดตรงไหน ใส่อะไรแปลกไป หรือเปิดฝาทิ้งไว้ ก็ต้องสืบจากคำบอกของน้องว่าทำอะไรไปบ้าง ต้องหาให้ได้ว่าผิดพลาดตรงจุดไหน แล้วทำใหม่ บางครั้งก็ไม่รู้สาเหตุจริงๆ ว่าเกิดจากอะไร ก็ทำใหม่” มายด์เสริม
อย่างไรก็ตาม แม้จะต้องพบกับความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนกลายเป็นความคุ้นชิน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาหยุดยั้งการทดลอง ส่วนหนึ่งก็เพราะว่ามีผู้ใช้ที่รอคอยผลงานของพวกเขาอยู่
“เราเอาผลงานลงไปเสนอให้ร้านค้าปลาส้มลองใช้ ตอนนี้มี 2 เจ้าแล้วที่ลองแล้วเวิร์ค เขาชอบ ทีแรกพวกหนูต้องการแก้ปัญหาแค่เรื่องน้ำแข็ง แต่เขาฟีดแบคกลับมาว่ามันแก้ปัญหาเรื่องถุงได้ด้วย คือปกติถุงที่เขาซีลปลาส้มไว้มันจะพองลม เพราะแบคทีเรียไม่ได้ผลิตแค่กรดอย่างเดียว แต่มันผลิตแก็สด้วย พอผลิตแก็ส ถุงก็จะพอง ทำให้เขาต้องเปลี่ยนถุงใหม่เรื่อยๆ เพราะถุงไม่สวยใครก็ไม่อยากซื้อ ซึ่งถุงมีราคาแพงมาก ถ้าต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็เพิ่มต้นทุน อีกอย่างพอใส่น้ำแข็งถุงก็แตก ตรงนี้เลยเป็นผลพลอยได้ เพราะทีแรกเราคิดแค่ยับยั้งกรด แต่พอแบคทีเรียน้อยแก็สมันก็น้อยลงด้วย” มายด์เล่าอย่างภาคภูมิใจ
+ ความผิดพลาดครั้งใหญ่ กับความฝันที่ยังไม่หายไป
ดูจากพัฒนาการของผลงานแล้ว กล่าวได้ว่าศิริส้มเป็นโปรเจกต์ที่มีความก้าวหน้าชนิดน่าจับตามอง ด้วยกระบวนการทดลองที่เป็นวิทยาศาสตร์ ความมุ่งมั่นตั้งใจในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์ที่เป็นรูปธรรม มีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โลโก้ และมีกลุ่มผู้ใช้รอซื้อจริง ขาดก็เพียงการขอมาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์เท่านั้น ความฝันของสมาชิกในทีมก็จะเป็นจริง
“ตอนค่ายสองโคชบอกว่า ผลงานของเราเป็นของกิน ต้องส่งขอ อย. ก็ได้ไปจ้างแล็บของห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ระหว่างนั้นเราก็พัฒนาแพ็กเกจไปเรื่อยๆ” มายด์เล่า
ขณะที่โมขยายความต่อ “ตอนค่ายสามมีผลแล็บประมาณหนึ่งแล้ว พี่โบ้ (สิทธิชัย ชาติ นักวิชาการ งานพัฒนาเยาวชนและเขตพื้นที่ด้านไอที ฝ่ายสนับสนุนการวิจัย NECTEC และหัวหน้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่) ก็ให้ไปศึกษาวิธีการขอ อย. ว่าต้องผ่านอะไรบ้าง หนูก็ไปค้นหาในอินเทอร์เน็ตว่าผลิตภัณฑ์นี้สามารถยื่นประเภทไหนได้บ้าง เขาบอกว่ามันเป็นประเภทเจือปนในอาหาร ก็ไปดูว่าต้องผ่านเกณฑ์อะไรบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องใหม่ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน แต่ก็อยากทำให้ได้ เพราะส่วนหนึ่งที่ชุมชนยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในผลงานเรา เพราะเรายังไม่มี อย. ติดข้างขวด”
รูปการณ์เหมือนจะผ่านไปได้ด้วยดี แต่ในวันสุดท้ายก่อนที่จะปิดค่ายโครงการต่อกล้าฯ ทีมก็ได้รับข่าวร้ายที่ไม่มีใครคาดคิด
“กรรมการและทีมโคชเรียกให้เข้าไปคุยในห้องประชุม หนูก็ชิลล์ๆ เข้าไปนั่ง แต่ก็กะว่าต้องมีเรื่องแล้ว เพราะเห็นทุกคนหน้าตาจริงจังมาก แล้วเขาก็แจ้งว่าทางศูนย์นาโนเทคโนโลยีฯ แจ้งมาว่า สารที่เราใช้ มันใช้กับภายนอกได้ แต่ยังไม่มีผลวิจัยที่บอกว่าสามารถกินได้ คือไม่ได้บอกว่ากินไม่ได้ แต่ยังไม่มีผลวิจัยมารองรับว่ากินได้ มันก็เลยยังไม่ควรกิน” มายด์เล่าถึงข่าวร้ายที่ทีมได้รับ
“ตอนนั้นรู้สึกเสียใจ เพราะอีกนิดเดียวมันก็จะเสร็จแล้ว สุดท้ายโคชบอกว่าให้ลองเปลี่ยนจากอนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์เป็นสารอื่นที่สามารถกินได้ แต่ตอนนั้นเราก็แบบ… อุตส่าห์ทำแทบตาย” โมเล่าถึงอารมณ์ในตอนนั้น
ขึ้นชื่อว่าความพลาดหวัง เป็นภาวะที่ไม่มีใครอยากพบเจอ แม้แต่ผู้ใหญ่ที่ผ่านโลกมาโชกโชน ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะพาตัวเองข้ามผ่านความผิดหวังครั้งใหญ่ไปได้ แต่สำหรับสมาชิกทั้งหกที่มีภูมิคุ้มกันเรื่องความผิดพลาดมาอย่างโชกโชน แม้จะเสียใจ แต่น่ายินดีที่พวกเขายังไม่ท้อ
“เสียใจ แต่ไม่ท้อ มันน่าเสียดายแต่ก็ไม่ถึงกับสูญเปล่า ถ้าให้เทียบก็เหมือนจากที่ทำมาได้ 99% แล้ว อยู่ดีๆ ก็ถูกตัดออกไปเหลือแค่ 50% ก็คิดกันเสียว่าเหลืออีก 49% ที่ต้องมาลองทำกันใหม่” โมเผยความรู้สึก
เพราะกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์สอนพวกเขาว่า ความผิดพลาดคือผลลัพธ์อย่างหนึ่งในการทดลอง แม้ความผิดพลาดครั้งล่าสุดนี้จะทำให้โครงงานของพวกเขาสะเทือน แต่ที่สุดแล้วมันก็คือความสำเร็จอย่างหนึ่งที่พบว่า อนุภาคนาโนซิงค์ออกไซด์ยังไม่ใช่สารที่สามารถใช้ในโปรเจกต์นี้ได้ในเวลานี้ และขั้นตอนต่อไปก็คือ การทดลองหาสารตัวใหม่มาใช้ทดแทน
“คิดว่าไม่เป็นไร แค่ทดลองใหม่ หนูก็กลับมาหาข้อมูลใหม่ เพราะหนูก็ชอบทำอะไรพวกนี้ อ่านไว้ประดับความรู้ ได้ประโยชน์ก็บอกต่อ ก็เจอว่าตัวที่ยับยั้งแบคทีเรียได้มันมีหลายสาร แต่ตอนแรกที่เราไม่เลือกแทนนิน (Tannin) เพราะแทนนินบริสุทธิ์ยังไม่มีขาย ต้องมาสกัดเอง เป็นเรื่องยุ่งยาก และแทนนินมีรสฝาด ถ้าใส่ในปลาส้มมันจะไม่เปรี้ยว มันจะกลายเป็นขม เราก็ต้องมาเทสต์เรื่องรสชาติ เรื่องประสิทธิภาพ และการทำซ้ำมันก็ไม่ใช่เรื่องยาก อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าทำแบบนี้ เทคนิคนี้ มันก็จะไม่ยาก ก็แค่ทำใหม่” มายด์กล่าว
แม้จะฟังดูเป็นคำพูดง่ายๆ แต่เราก็รู้สึกได้ถึงน้ำหนักของความสัตย์จริงในคำพูดนั้น เพราะถึงที่สุด นอกจากความผิดพลาดและความสำเร็จจากการทดลองแล้ว สิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อนให้ผลงานศิริส้มพัฒนาต่อเนื่องเรื่อยมาก็คือความฝันของทั้งหก ที่อยากเห็นศิริส้มถูกพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขายได้จริง
“เราอยากให้ผลงานพัฒนาไปถึงจนขอ อย. เสร็จแล้วขายได้ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของเรา” โมสำทับความฝันของทีม
เพราะกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์สอนพวกเขาว่า ความผิดพลาดคือผลลัพธ์อย่างหนึ่งในการทดลอง ความผิดพลาดในความหมายทางวิทยาศาสตร์จึงไม่ใช่ความล้มเหลว หากแต่มีคุณค่าในระดับที่เป็นความสำเร็จชนิดหนึ่ง เพราะมันอาจนำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ที่ไม่เคยรู้มาก่อน
นักวิทยาศาสตร์ผู้คุ้นชินกับความผิดพลาด จึงไม่ยี่หระอะไรนักเมื่อการทดลองสะดุดจากผลที่ไม่เป็นไปดังใจ หากแต่มองความผิดพลาดนั้นเป็นความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ให้กว้างออกไป
เพื่อพบว่า มีนวัตกรรมที่ดีกว่ารออยู่หลังประตูบานนั้น...
- ++
ผลงาน : ศิริส้ม SiriSOM ผลิตภัณฑ์ช่วยชะลอความเปรี้ยวและยืดอายุของปลาส้มโดยไม่ต้องแช่เย็น
สมาชิกทีม :
- นางสาวชยมล ลิปูหนอง (มายด์) ปี 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
- นางสาวชญานิกานต์ เจนการค้า (แตงโม) ม.6 โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ.นครพนม
- นางสาวพิมลวรรณ สุพะสอน (เมย์) ม.6โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ.นครพนม
- นายภานุพงษ์ อินทะศรี (ต๋อง) ม.5โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ.นครพนม
- นายชาญชล ลิปูหนอง (มาร์ค) ม.5โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ.นครพนม
- นายณัฐภัทร ไชยกา (กุ้ง) ม.6โรงเรียนสหราษฎร์รังสฤษดิ์ จ.นครพนม