การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อนำซิงค์ออกไซด์ไปใช้ในการเพาะปลูกพืชของเกษตรกรบ้านบ่อหว้า จังหวัดกาญจนบุรี ปี 3

ครูต้อง “สอนการประยุกต์” (แบบไม่สอน) โดยต้องช่วยให้นักศึกษาเรียนรู้โครงสร้างความรู้อย่างลึกซึ้ง เรียนรู้หลักการที่อยู่เบื้องหลัง เรียนรู้บริบทการประยุกต์ใช้ที่แตกต่างหลากหลาย ช่วยให้นักศึกษาเชื่อมโยงความรู้และทักษะที่ตนมี เข้ากับบริบทใหม่ที่จะใช้ความรู้และทักษะนั้นได้ ดังเช่น ดร.ปกรณ์ ประจวบวัน มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ที่สอนแบบไม่สอนให้นักศึกษานำความรู้จากงานวิจัยเรื่องการใช้ซิงค์ออกไซด์(Zi0) ในแปลงทดลอง ไปสู่โรงเรือนเพาะปลูกของเกษตรผ่านการทำโครงการวิทยาศาสตร์การเกษตรเพื่อเกษตรกรปลูกพืชกินผล

สอนแบบไม่สอน

Zinc Oxide (ZiO) สินแร่สังกะสี ที่นิยมนำมาผสมในเครื่องสำอาง เนื่องจากทำให้ติดผิวได้ทน ล้างออกได้ยาก และยังใช้เป็นผสมในกระบวนการผลิตยาง รวมถึงสูตรตำรับยาทาภายนอก เพราะมีคุณสมบัติในการฆ่าหรือยับยั้งการเติบโตของเชื้อขนาดเล็ก จึงมีการนำซิงค์ออกไซด์มาใช้ในการเกษตร เช่น มะนาว มันสำปะหลัง เพื่อแก้ปัญหาเชื้อรา บวกกับผลวิจัยในห้องปฏิบัติการของ ดร.ปกรณ์ ประจวบวัน อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรีพบว่า ซิงค์ออกไซด์สามารถป้องกันการเชื้อราของแตงกวาได้ดีเหมือนการใช้สารเคมี เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ทำให้ ส้ม-ชนากาญจน์ เสาวนิตย์ อิ๋ว-ชลธิชา จำปาทอง สกาวเดือน งามยิ่ง สุชานาถ เบ็ญพาด และ แสงอโณทัย แก้วอิ่ม นำผลวิจัยในแปลงทดลองไปสู่โรงเรือนเพาะปลูกของเกษตร ผ่านการทำโครงการวิทยาศาสตร์การเกษตรเพื่อเกษตรกรปลูกพืชกินผล ในพื้นที่หมู่บ้านบ่อหว้า ตำบลดอนตาเพชร อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในแหล่งปลูกเมลอนสำคัญของกาญจนบุรี

เหตุผลที่ทีมงานคิดขยายผลการวิจัยไปสุ่ชุมชน เพราะคิดว่าเป็นการลงไปให้ความรู้แบบวันเดียวจบ แต่เมื่อได้ฟังพี่ๆ ทีมโคชพูดถึงรายละเอียดการทำงานที่ต้องใช้เวลานานหลายเดือน ก็เกิดความลังเลว่าจะทำดีไหม เพราะต้องปลูกเมลอนเพื่อเปรียบเทียบผลในเชิงตัวเลขแล้ว ยังต้องมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในชุมชนมาวิเคราะห์ เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปถ่ายทอดให้ชาวบ้าน ทีมงานพูดคุยกันถึงข้อดีข้อเสียของการทำโครงการ ได้ข้อสรุปว่าจะยังทำโครงการต่อ เนื่องจากเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร และยังทำให้ทีมงานได้ประสบการณ์ทำงานกับชุมชนจริงๆ ที่น่าจะแตกต่างจากการเป็นครูฝึกสอนในโรงเรียน

MISSION 1: เรียนรู้

เมื่อตัดสินใจทำโครงการ ทีมวางแผนการทำงานไว้ดังนี้ ลงพื้นที่พูดคุยทำความเข้าใจกับคนในชุมชน ศึกษาขั้นตอนการปลูกและวิธีการต่างๆ ของชาวบ้าน จัดเวทีถ่ายทอดความรู้ และขั้นตอนสุดท้ายคือ นำวิธีการใช้ซิงค์ออกไซด์ไปให้ชาวบ้านได้ทดลองใช้จริง เพื่อให้ชาวบ้านเปรียบเทียบการใช้ซิงค์ออกไซด์กับสารเคมี ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งแรกได้รับความสนใจจากชาวบ้านเป็นอย่างมาก แต่เนื่องจากทุกคนในทีมเป็นนักศึกษาครุศาสตร์ ที่ไม่มีประสบการณ์ในการทำงานกับชุมชนมาก่อน รวมถึงมีความรู้เกี่ยวกับการปลูกเมลอนแค่จากเอกสารและสื่อออนไลน์ อาจารย์ปกรณ์จึงประสานงานผ่านผู้ใหญ่บ้านให้ช่วยพาทีมงานไปเรียนรู้การปลูกเมลอนกับเกษตรกรผู้ปลูกเมลอน ที่ทำให้ทีมงานได้พบเทคนิคการเพาะเมล็ดเมลอนที่ต้องนำเมล็ดมาแช่น้ำอุ่นก่อน และยังช่วยกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทีมงานกับเกษตรกรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น จนเกษตรกรชวนทีมงานเข้ามาเรียนรู้ที่ฟาร์มเมลอน 5 วัน ส้ม เล่าว่า สิ่งที่เธอและเพื่อนๆ ต้องทำในช่วงเวลา 5 วัน เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ที่ทุกคนต้องตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 อาบน้ำ แต่งตัว และกินข้าวเช้าให้เสร็จ จึงเข้าไปเรียนรู้ในโรงเรือนปลูกเมลอน ช่วงบ่ายจึงออกไปพูดคุยเรื่องการใช้ซิงค์ ออกไซด์ในการปลูกเมลอนกับเกษตรกรผู้ปลูกรายอื่นในพื้นที่ โดยนำหนังสือและผลการทดลองกับแตงกวาที่ได้ผลดีเทียบเท่าการใช้สารเคมีไปนำเสนอ เพื่อให้เกษตรกรมั่นใจ แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรได้ “ตอนนั้นเราไม่ท้อค่ะ การที่เขายังไม่ยอมรับเพราะยังไม่เห็นผลลัพธ์จริงๆ ว่าการใช้ซิงค์ออกไซด์มันดีกว่าการใช้สารเคมีอย่างไร”

MISSION 2: ลงมือทำ

นอกจากไปเรียนรู้การทำเมลอนในโรงเรือนต่างๆ แล้ว พวกเขายังต้องมาช่วยกันถางหญ้า ขุดปรับหน้าดิน รวมถึงนำเมล็ดเมลอนมาเพาะ และลงแปลงปลูกให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 5 วัน ซึ่งแม้จะทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ทีมต้องปรับแผนการดำเนินงานใหม่ จากเดิมคือหลังถ่ายทอดความรู้เสร็จแล้วให้ชาวบ้านนำซิงค์ออกไซด์ไปใช้กับการปลูกเมลอน จากนั้นทีมจะกลับมาเก็บข้อมูลในแปลงปลูกแต่เมื่อไม่มีเกษตรกรคนใดสนใจ ทีมงานจึงต้องลงมือปลูกเมลอนเพื่อเป็นแปลงสาธิตให้ชาวบ้านเห็น ทีมงานจึงต้องปรับแผนการทำงานใหม่ จัดสรรคนเข้ามาดูแลเมลอน ตลอด 3 เดือน (เมลอนจะใช้เวลาปลูกประมาณ 90 วันจึงเก็บเกี่ยวได้) นั่นหมายถึงทีมงานต้องลงพื้นที่ทุกอาทิตย์ แม้จะเป็นช่วงปิดเทอมก็ตาม“ก็มีเหนื่อยบ้าง ท้อบ้าง เพราะต้องขี่มอเตอร์ไซค์จากมหาวิทยาลัยไปหมู่บ้านกว่า 30 กิโลเมตร ไปอยู่ทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดเย็น จนแม่แซวว่าไปเรียนเป็นครู แต่ทำไมหน้าดำจัง” อิ๋ว เล่า ขณะที่ส้ม เสริมว่า ตอนเปิดเทอมพวกเธอต้องเรียนและทำวิจัยควบคู่กัน หลายครั้งที่เธอต้องไปลงพื้นที่คนเดียว เพราะเพื่อนที่เหลือไม่มีใครว่าง แต่ก็ไม่ได้มีความคิดที่จะหยุดทำ เพราะคิดกันว่าหากเกษตรกรได้เห็นผลผลิตจริง เขาคงจะอยากจะเอาไปลองใช้ดูบ้าง จึงเป็นแรงผลักดันให้เราสองคนทำต่อ รวมถึงกำลังใจจากอาจารย์และพี่ทีมโคชที่ยังคอยสอบถามและให้กำลังใจพวกเธออยู่เสมอ ทำให้เธอยังสู้ต่อ

“เรานึกย้อนไปถึงช่วงตอนที่ไปอยู่ในฟาร์มกัน 5 วัน มีเพื่อนในโครงการทางเลือกใหม่ของการปลูกผักกินใบเข้ามาช่วย ทั้งที่ไม่ใช่งานของเขาเลย สิ่งนี้มันทำให้เรารู้สึกว่า ต้องทำให้สำเร็จให้ได้” อิ๋ว เสริม

MISSON 3: ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น

3 เดือนที่ทีมงานใช้เวลาเทียวไปเทียวมาดูแลเมลอน และเก็บข้อมูลในโรงเรือน ก็ถึงวันคืนข้อมูลให้กับชุมชน โดยทีมวางแผนให้ชาวบ้านที่มาดูผลงานช่วยวัดขนาดและชั่งน้ำหนักเมลอน ซึ่งปกติผลเมลอนที่ได้อายุเก็บเกี่ยวจะหนักประมาณ 1.3 กิโลกรัม แต่ผลเมลอนที่ทีมลงมือปลูก นอกจากจะไม่มีเชื้อราแล้ว ยังมีน้ำหนักมากถึง 2.3 กิโลกรัม แม้ผลลัพธ์จะออกมาดี แต่เมื่อทีมถามว่าอยากเปลี่ยนมาใช้ซิงค์ออกไซด์หรือไม่ กลับไม่มีเกษตรกรคนใดยกมือเลย

“ถามว่าเสียใจไหม ก็มีบ้าง เพราะเวทีครั้งแรกดูเหมือนจะมีคนสนใจมากกว่านี้ แต่พอมาคิดอีกที วิธีการนี้ยังเป็นของใหม่สำหรับเขา และซิงค์ออกไซด์ก็มีราคาแพงกว่าสารเคมี คือราคาประมาณ 300 บาทต่อกิโลกรัม” ส้ม บอกความรู้สึก

วันนี้แม้ผลการทดลองจะไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างที่ตั้งใจไว้ กระบวนการเรียนรู้จากการลงมือทำก็สร้างความเปลี่ยนแปลงในตัวทีมงานไม่น้อย ส้ม บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอได้เรียนรู้ว่า การจะได้รับการยอมรับจากคนอื่น เธอต้องปรับตัวเข้าหาเขาก่อน ส่วนอิ๋ว บอกว่า โครงการนี้ช่วยเปิดโลกใบใหม่ให้เธอได้รู้จักผู้คนที่หลากหลาย ถ้าอยู่ในห้องเรีน เธอก็เจอแต่โต๊ะ กระดาน ห้องแลบ ครูและเพื่อน แต่กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้ทำให้เธอได้ลงมือทำจริง ได้รู้ว่าความรู้จากตำราและความรู้ในอินเทอร์เน็ต ไม่เท่ากับความรู้ที่ได้จากการลงมือทำจริงของเกษตรกรผู้ปลูกเมลอน และได้เรียนรู้ว่า ความรู้ที่ดีที่สุดต้องมาจากการแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะทำให้เกิดการยอมรับและปรับตัวได้ดีกว่าการนำความรู้ไปเกษตรกรเพียงฝ่ายเดียว การทำงานที่ต้องมีการถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกร ทำให้ส้มที่ปกติเป็นคนขี้อาย ต้องฝึกฝนการพูดเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจ โดยเธอดูเทคนิคการพูดจากอินเทอร์เน็ต ส่วนอิ๋วที่เมื่อก่อนพูดไม่รู้เรื่อง แต่ด้วยกระบวนการในเวทีนับต่างๆ ที่ทีมโคชฝึกให้พูดแลกเปลี่ยน ทำให้เธอกล้าที่จะพูดมากขึ้น

“น้องๆ ในโครงการอื่นๆ พูดดีมาก หนูก็อยากพูดให้ดีเหมือนน้องบ้าง จึงพยายามฝึกพูดจนพูดได้ดีขึ้น จากเด็กหลังห้องที่อาจารย์ถาม ไม่ตอบ วันนี้หนูเริ่มขยับมาอยู่กลางห้องแล้ว” อิ๋ว บอกความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

นอกจากทักษะการพูดที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดแล้ว การตรงต่อเวลา คือพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของทีมงาน จากเดิมที่นัดทีไรมาสายตลอด ก็มาตรงต่อเวลา และที่สำคัญความรู้ที่ได้จากโครงการยังทำให้อิ๋วมองเห็นเส้นทางอาชีพของตนเอง เธอบอกว่า หากสอบบรรจุครูไม่ติด เธอจะนำความรู้เรื่องซิงค์ออกไซด์ไปต่อยอดในไร่อ้อยของตนเอง

เห็นได้ว่าการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ทำให้ทีมงานได้พัฒนาทักษะการพูด การคิด การทำงาน การตรงต่อเวลา รวมถึงได้ความรู้ที่สามารถนำไปต่อยอดการทำงานในอนาคตได้เป็นอย่างดี


โครงการวิทยาศาสตร์การเกษตรเพื่อเกษตรกรปลูกพืชกินผล

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • ดร.ปกรณ์ ประจวบวัน

ทีมงาน :

  • ชลธิชา จำปาทอง
  • ชลกาญจน์ เสาวนิตย์
  • แสงอโณทัย แก้มอิ่ม
  • สกาวเดือน งามยิ่ง
  • สุชานาถ เบ็ญพาด