การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อจัดการขยะและจัดการน้ำในชุมชนเขากระปุก จังหวัดเพชรบุรี ปี 3

วิธีหนึ่งที่น่าสนใจในการสร้าง Character Building คือการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ เผชิญปัญหา และค้นพบทางออกด้วยตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การหล่อหลอมความรู้ นิสัย พฤติกรรม และจิตสำนึกดีๆ ที่อาจทำให้เด็กๆ เติบโตมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการพัฒนาคนรุ่นต่อไป

เพราะเด็ก...สร้างได้

การเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งถูกหล่อหลอมขึ้นจากความรู้และประสบการณ์ จนกลายเป็นชุดความคิดที่ส่งผลต่อนิสัย พฤติกรรม และการแสดงออกต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า “จะเป็นคนอย่างไรก็ต้องดูว่าเขาเติบโตมาอย่างไร” พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็กจึงมีส่วนสำคัญมากที่จะช่วยสร้าง “Character Building” ซึ่งวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือการเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำ เผชิญปัญหา และค้นพบทางออกด้วยตัวเอง

เยาวชนกลุ่มหนึ่งจากตำบลเขากระปุก อำเภอสองยาง จังหวัดเพชรบุรี ประกอบด้วย นุช-กัญญารัตน์ แก้วเมืองเพชร นุ่น-ศิริรัตน์ แก้วเมืองเพชร กุ๊ก-ลลนา มาโชค กบ-วนิตา ยากำจัด และกุ้ง-อภิสิทธิ์ ยากำจัด ก็เด็กกลุ่มหนึ่งที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่คือ พี่นึก-สมนึก เทศอ้น และพี่โด่ง-เฉลิมพล ช้างเผือก ชักชวนเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จนพวกเขาได้เรียนรู้และเปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น ปีนี้พวกเขาตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง เพื่อพัฒนาตัวเองอีกขั้น ซึ่งทำให้พวกเขาค้นพบศักยภาพบางอย่างในตัวเองมากขึ้น

ความเชื่อมโยงของน้ำกับขยะ

จากปีแรกที่ทำเรื่องน้ำด้วยการเก็บข้อมูลและสร้างจิตสำนึก ปีนี้ทีมงานอยากปรับเปลี่ยนประเด็นมาเป็นเรื่องการจัดการขยะ เพราะมองว่ามีนักท่องเที่ยวสัญจรผ่านชุมชนค่อนข้างเยอะ การมีขยะเกลื่อนกลาดข้างทางทำให้ชุมชนไม่น่าดู เสียภาพลักษณ์ พวกเขาตั้งต้นการทำงานด้วยการระดมความคิดว่าจะจัดการอย่างไรกับปัญหาขยะ บางคนเสนอว่าจะทำธนาคารขยะ บางคนเสนอให้นำขยะมาแลกของ เช่น ไข่ น้ำ แต่แล้วทีมงานก็ต้องเปลี่ยนใจเมื่อ พี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ โคชโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก มาชวนเล่นเกมบางอย่าง ทีมงานเล่าว่า “พี่อ้วนชวนพวกเราเล่นเกม แล้วชวนวาดแผนที่ชุมชน แต่พอวาดเสร็จ พี่เขากลับขยำทิ้ง เราตกใจมาก แต่พอเขาอธิบายเปรียบเทียบกับพวกเราว่า ภาพที่ถูกขยำทิ้งก็เหมือนพวกเราที่กำลังจะทิ้งข้อมูลที่ทำมาอย่างเหน็ดเหนื่อยแล้วเริ่มนับ 1 ใหม่ ก็ทำให้พวกเราเข้าใจทันทีว่าเราควรต่อยอดโครงการ” ทีมงานกลับมาทบทวนโจทย์โครงการอีกครั้ง โดยนำข้อมูลเดิมคือแผนที่ชุมชน และทำข้อมูลใหม่คือแผนที่เส้นทางขยะมาใช้ ก่อนพบ “จุดเชื่อมโยง” ตรงที่เศษขยะเกลื่อนกลาดเหล่านั้นอาจปลิวลงไปในอ่างเก็บน้ำ แล้วเกิดอุดตัน หรือทำให้น้ำสกปรก ซึ่งอาจกลายเป็นปัญหาย้อนกลับไปทำให้เกิดปัญหาเรื่องน้ำขึ้นในชุมชนอีก ทีมงานจึงตัดสินใจทำ โครงการการจัดการขยะที่เชื่อมโยงกับการจัดการน้ำในชุมชน ในที่สุดหลังจากได้โจทย์ที่ชัดเจนแล้ว ทีมงานวางแผนเก็บข้อมูลเรื่องขยะ โดยนำชุดความรู้เดิมในการเก็บข้อมูลเรื่องน้ำมาเป็นแนวทาง แต่กลับพบปัญหาบางอย่างที่ทำให้การทำงานของพวกเขาต้องสะดุดทั้งที่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น “เราเตรียมชุดคำถามไว้ไปสอบถามชาวบ้านว่าที่บ้านแยกขยะไหม ขายขยะหรือไม่ มีวิธีการกำจัดขยะอย่างไร แต่ไม่ได้ผลที่ต้องการ เพราะเราไม่รู้ปริมาณขยะที่ชัดเจนของเขา แล้วเขาก็ไม่สามารถให้ข้อมูลขยะในพื้นที่สาธารณะได้ สุดท้ายเราจึงไม่รู้เส้นทางขยะที่แท้จริงว่ามีที่มาอย่างไร”

ปัญหาขยะ = ปัญหาของทุกคน

ทีมงานเปลี่ยนวิธีใหม่ด้วยการจัดเวทีในชุมชนเพื่อเก็บข้อมูล โดยจะจัดขึ้นใน 2 หมู่คือ หมู่ 9 ที่อยู่เหนืออ่างเก็บน้ำขึ้นไป และหมู่ 3 ที่อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำ เพราะมองว่าการจัดเวทีจะทำให้ได้ข้อมูลปัญหาขยะลึกซึ้งขึ้น ขณะเดียวกันพวกเขาก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาจับประเด็นเป็นหัวข้อให้ชาวบ้านได้เห็นปัญหาขยะที่กำลังสร้างผลกระทบกับส่วนรวม และหาแนวทางการจัดการขยะร่วมกัน ทีมงานเริ่มต้นด้วยกิจกรรมการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เคยเห็นชุมชนอื่นมีรถขยะมาเก็บขยะหน้าบ้านแต่ละหลัง และจุดต่างๆ ในชุมชน ทีมงานเล่าว่า “เราถามกลับไปว่าอยากเห็นรถขยะนี้เข้ามาเก็บขยะในหมู่บ้านเราหรือไม่ บางคนบอกอยาก บางคนตอบไม่ บางคนถามกลับว่ามีรถขนขยะแล้วต้องมีที่ทิ้งขยะด้วยใช่ไหม พวกเราจึงถามเขาต่อว่าอยากให้นำไปทิ้งที่ไหน ชาวบ้านบอกว่าทิ้งที่ที่ไม่มีคน เราเลยถามกลับอีกว่าถ้ามีคนมาซื้อที่ข้างบ้านลุงเพื่อทิ้งขยะ ลุงจะทำอย่างไร คุณลุงตอบว่าไม่อยากมี” คำถามของทีมงานทำให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมฉุกคิดถึงผลกระทบของปัญหาขยะในขั้นต้น จากนั้นพวกเขาจึงชวนคุยต่อถึงข้อดี-ข้อเสียของการจัดการขยะด้วยรถขยะ ปริมาณขยะและวิธีการจัดการขยะของแต่ละหลังคาเรือน จุดที่มีขยะภายในชุมชน และวิธีการจัดการขยะในพื้นที่สาธารณะ ผลของการจัดกิจกรรมใน 2 หมู่ หมู่ละ 2 ครั้งทำให้ทีมงานได้ข้อมูลเรื่องขยะและแนวทางแก้ปัญหาที่ชาวบ้านต้องการ ที่สำคัญคือจุดประกายให้ชาวบ้านฉุกคิดถึงผลกระทบของปัญหาขยะมากขึ้น “เวทีที่เราจัดเป็นแค่พื้นที่ที่เปิดประเด็นให้ชาวบ้านได้มาช่วยกันคิด ช่วยกันพูดถึงปัญหาเรื่องขยะที่เกิดขึ้น เพราะถ้าต่างคนต่างอยู่ ก็คงไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น ว่าเรื่องขยะกำลังค่อยๆ สร้างปัญหาให้ชุมชนเรา” ทีมงานเล่า

หลังจุดประกายให้ชุมชน องค์การบริหารส่วนตำบลที่กำลังหาแนวทางขับเคลื่อนเรื่องขยะในชุมชนก็เริ่มสนใจกิจกรรมดังกล่าว จึงชวนทีมงานเข้าไปพูดคุยรายละเอียด ทำให้ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลและวิธีการทำงานระหว่างกัน กบเล่าว่า “อบต.เขามีวิธีการจัดการที่ดีอยู่แล้ว แต่อาจเพราะความเป็นหน่วยงานจึงทำให้ชาวบ้านไม่กล้าพูดคุยตรงไปตรงมาเหมือนพูดกับพวกเรา เราจึงตกลงร่วมมือกับอบต. ที่จะช่วยกันทำให้ชาวบ้านเข้าใจถึงผลกระทบของขยะ”

บทเรียนจากปัญหา

หลังจากเวทีกิจกรรมผ่านไป ทีมงานได้เข้าร่วมอบรมการทำสื่อกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และเวทีกิจกรรมนับ 4 ซึ่งนำไปสู่การจัดทำวิดีโอ เพื่อถ่ายทอดผลกระทบจากปัญหาขยะในระยะยาว โดยทำเป็นวิดีโอการ์ตูนด้วยเทคนิค Stop Motion ทีมงานบอกว่าสื่อชุดนี้จะนำไปทำกิจกรรมต่อในการจัดเวทีสร้างจิตสำนึกเรื่องขยะให้เด็กๆ ในโรงเรียน และนำไปเผยแพร่แก่ชาวบ้าน ซึ่งอบต.จะเข้าร่วมด้วย โดยการส่งบุคลากรเข้ามาสอนวิธีการแยะและวิธีการกำจัดขยะที่ถูกต้อง ทว่ากว่าจะได้เป็นวิดีโอชิ้นนี้ ทีมงานก็ยอมรับว่า “เกือบไม่รอด” เหมือนกัน เนื่องจากพวเขาไม่ได้รีบทำตั้งแต่เนิ่นๆ แต่มาทำช่วงท้ายๆ ที่ใกล้ส่ง และเมื่อทำเสร็จแล้ว ไฟล์กลับหายไป ทีมงานต้องเร่งทำใหม่ในเวลาอันกระชั้นชิด ทำให้งานออกไม่ดีอย่างที่หวัง เรื่องนี้กลายเป็นบทเรียนสำคัญหนึ่งแก่ทีมงานคือ “การวางแผน” ในการทำงาน ที่ต้องกำหนดเวลาลงมือทำไว้ตั้งแต่เนิ่นๆ และเผื่อเวลาสำหรับเหตุการณ์ฉุกเฉินที่ไม่คาดคิด ทีมงานยังพบปัญหาของการไม่วางแผนอีกในเวทีกิจกรรมในชุมชน ที่ระหว่างพูดเพื่อนคนหนึ่งเกิดติดขัด พูดข้ามไป เพื่อนคนอื่นก็ไม่สามารถเข้าไปพูดเสริมได้ ทำให้จังหวะของกิจกรรมไม่ลื่นไหล พวกเขาบอกว่า หากมีการทำกิจกรรมแบบนี้อีก นอกจากแบ่งหน้าที่กันชัดเจนแล้ว อาจจำเป็นต้องมีแผนการสำรองในการทำงานด้วยว่าจะเข้าไปเสริมหรือช่วยเพื่อนอย่างไรให้กิจกรรมไปต่อได้อย่างราบลื่นที่สุดอีกปัญหาที่ทีมงานพบคือเรื่อง “การทำงานเป็นทีม” เนื่องจากปีนี้นุ่นจำเป็นต้องช่วยงานของครอบครัว ทำให้ไม่มีเวลามาช่วยเพื่อนในทีม จนลุกลามกลายเป็นปัญหาระหว่างเธอกับกบ นุ่นบอกว่า “เวลาทีมนัดกันทำงาน เราก็ไม่ว่างตลอด ต้องไปช่วยแม่ขายของ เลยรู้สึกผิดจนไม่กล้าคุยกับพี่กบ แล้วยิ่งเห็นพี่กบไม่พูดด้วย ก็คิดว่าเขาต้องโกรธเราแน่ๆ” ด้านกบบอกว่าที่เธอไม่พูดด้วย เพราะเห็นนุ่นหน้าเครียดตลอดจนไม่กล้าชวนคุย แล้วพอนุ่นไม่พูดด้วยบ่อยๆ แม้จะไม่เข้าใจนักว่าเธอทำผิดอะไร แต่ก็ไม่กล้าถาม จนบานปลายกลายเป็นเหตุการณ์ที่ทั้งสองไม่คุยกันอยู่นาน นุชที่เป็นคนกลางเล่าความรู้สึกในตอนนั้นว่า เธอลำบากใจมากที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น เพราะเธอต้องเป็นคนประสานงานแต่ละฝ่ายให้มาทำงานด้วยกัน แต่ในที่สุดสถานการณ์ก็คลี่คลายลงไป เมื่อทั้งคู่ยอมเปิดปากคุยกันนิดหน่อย ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ และบรรยากาศการทำงานในทีมจึงค่อยๆ กลับมาดีขึ้นอีกครั้ง เหตุการณ์นี้จึงทำให้ทีมงานรู้ว่า “การพูดคุย” เป็นสิ่งสำคัญมากที่จะทำให้การทำงานเป็นทีมสามารถเดินไปได้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิด “ความเข้าใจผิด” จากการคิดไปเอง

Character Building

การต้องจัดกิจกรรมในชุมชนถึง 4 ครั้ง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ทักษะ “การจับประเด็น” ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้ทั้ง “ศาสตร์และศิลป์” ควบคู่กันไป โดยศาสตร์คือ การชวนคุยต้องมีการเชื่อมโยงประเด็นจากคำตอบ เพื่อนำไปสู่ประเด็นที่ต้องการรู้ ส่วนศิลป์คือ การดูจังหวะที่จะดึงการพูดคุยกลับเข้ามาอยู่ในประเด็น หากการพูดคุยนั้นมีการแตกประเด็นออกไปไกลเกินไป นอกจากได้เรียนรู้ร่วมกันแล้ว ทีมงานยังได้ “บทเรียนเฉพาะของตัว” ที่ทำให้พวกเขาเห็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นของตัวเอง กุ๊ก สาวน้อยที่มีนิสัยพูดน้อย บอกว่า “ตอนจัดกิจกรรมแล้วเพื่อนพูดขาดตอน เรารู้สึกว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องพูด จึงพูดออกมา ซึ่งก็ทำได้ในระดับหนึ่ง หลังจากนั้นก็พยายามฝึกตัวเองให้กล้าพูดมากขึ้นด้วยการตัดสินใจพูดสิ่งที่คิดหรือรู้สึกออกมาเลย ทำให้เราค่อยๆ กล้าพูด และเริ่มช่วยเพื่อนแสดงความคิดเห็นได้ดีขึ้น” ความเปลี่ยนแปลงของกุ๊ก สะท้อนวิธีการสำคัญที่จะช่วยสร้าง Character Building ให้แก่เด็กคือ “ฝึก = ฝืน” เพราะนิสัยการพูดไม่ใช่พื้นฐานเดิมของกุ๊กอยู่แล้ว แต่เธอก็เลือกจะฝืนความเป็นตัวเองด้วยการพยายามพูด จนเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ “กล้าพูด” นั่นเอง สำหรับนุช ปีนี้เป็นปีที่เธอมีบทบาทรับผิดชอบภาพรวมโครงการอย่างเต็มตัว เนื่องจากการเธอเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา ทำให้เธอมีเวลาว่างมากขึ้น และอีกเหตุผลคือเธอ “อยากช่วยน้อง” “เราทำโครงการนี้มาตั้งแต่แรก แล้วน้องๆ เขายังทำอยู่ เลยคิดว่าทำอีกสักปีก็ไม่เป็นไรหรอก ไม่อยากทิ้งน้อง อยากอยู่ช่วยน้องให้ถึงที่สุด” “สถานการณ์ที่จำเป็น” เป็นหนึ่งวิธีที่ช่วยเรื่อง Character Building ให้เกิดขึ้น เช่นนุชที่จำเป็นต้องโดดเข้ามาช่วย และค่อยๆ ขัดเกลาเธอให้มี “ภาวะผู้นำ” มากขึ้น จนกลายเป็นตัวหลักที่รับผิดชอบให้งานดำเนินไป ด้านนุ่นที่มีหลายหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ทั้งงานของครอบครัว การเรียน และโครงการ ได้ช่วยสร้าง Character Building ของเธอให้กลายเป็นคนที่เอาจริงเอาจังกับการทำงานมากขึ้น เพราะ “รู้จักหน้าที่” ของตัวเองว่าเวลาไหนควรทำอะไร ส่วนกบ เพื่อนๆ สะท้อนว่าปีนี้เธอพัฒนาขึ้น “รอบด้าน”ทั้งการพูด ทักษะการทำงาน และความเป็นผู้นำ กลายเป็นตัวหลักอีกคนในการทำงาน “เวทีแรกใครๆ ก็พูดไม่ดีหรอก แต่เราเก็บคำแนะนำ เก็บประสบการณ์ เก็บบทเรียนที่ถอดตัวเองออกมา นำมาพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นในครั้งต่อไปได้ ครั้งที่ 2 ก็จะดีกว่าครั้งแรกเอง แล้วครั้งต่อไปก็จะขึ้นอีกแน่นอน” กบกล่าว สิ่งที่กบสะท้อนทำให้เห็น Character Building สำคัญอย่างหนึ่งที่เด็กๆ ทุกคนควรได้รับการปลูกฝังนั่นคือการมี “กระบวนทัศน์พัฒนา (Growth Mindset)” ที่มองว่าศักยภาพที่ตัวเองไม่มี สิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ วันนี้ “แค่ยัง” ทำไม่ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะทำไม่ได้ไปตลอด และพร้อมจะพัฒนาตัวเองให้สามารถทำให้ได้ กุ้งออกตัวว่า ปีนี้เขาไม่ได้ช่วยเพื่อนในกลุ่มบ่อยเท่าไร เพราะต้องออกไปเรียนโรงเรียนที่ไกลจากชุมชน แต่เพื่อนๆก็สะท้อนว่าจริงๆ แล้วกุ้งมีมุมมองที่ลึกกว่าคนอื่น สามารถให้ข้อเสนอแนะในการทำงานได้ดี และเป็นคนคอยกระตุ้นเตือนให้ทุกคนทำงานเวลาที่นัดกันมาทำงาน แต่ยังติดเล่น ยังไม่เริ่มทำเสียที สิ่งที่กุ้งเปลี่ยนไปในปีนี้จึงเป็น “ทักษะการประเมินสถานการณ์” ที่เขาสามารถวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่าจะนำไปสู่ผลอย่างไร ซึ่งทักษะนี้มีความสำคัญมากต่อการ “ยับยั้งชั่งใจ” ที่จะเลือกทำหรือไม่ทำสิ่งต่างๆ เพราะรู้ว่าทำแล้วจะได้-เสียอะไรบ้าง

นอกจากค้นพบความเปลี่ยนแปลงของตัวเองแล้ว ทีมงานทุกคนยังพบว่าการทำโครงการต่อเนื่อง 2 ปีต้องลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ศึกษาปัญหาชุมชน และทำกิจกรรมร่วมกับคนในชุมชน ได้เปลี่ยนแปลงหัวใจของพวกเขาให้มี “สำนึกรักบ้านเกิด” มากขึ้น พร้อมกับเกิดความตั้งใจว่าวันหนึ่งพวกเขาจะกลับมาเป็นกำลังหนึ่งในการพัฒนาชุมชนต่อไป


โครงการบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกับการจัดการขยะในชุมชน

ที่ปรึกษาโครงการ : 

  • สมนึก เทศอ้น 
  • เฉลิมพล ช้างเผือก 

ทีมงาน :

  • กัญญารัตน์ แก้วเมืองเพชร 
  • ศิริรัตน์ แก้วเมืองเพชร
  • ลลนา มาโชค 
  • วนิตา ยากำจัด
  • อภิสิทธิ์ ยากำจัด