การที่เด็กเยาวชนได้มีพื้นที่ มีโอกาสให้ลองคิดเอง ทำเอง จะแปรเปลี่ยนเป็นความกล้าคิด กล้าลองทำสิ่งที่ท้าทาย และหากได้ทำซ้ำหลายรอบ ก็จะนำไปสู่ความมั่นใจในการทำ รู้จักคิดวางแผน วิเคราะห์ และประเมินงาน หรือก็คือการ “คิดเป็น ทำเป็น”นั่นเอง
กล้าคิด กล้าทำ + ทำซ้ำ = คิดเป็น ทำเป็น
ความคาดหวังพื้นฐานของพ่อแม่ และผู้ปกครองส่วนใหญ่ คือ ต้องการให้บุตรหลานเติบโตขึ้นมาเป็นคนดี ไม่ทำความเดือดร้อนแก่สังคม และหากเป็นไปได้ก็อาจแอบหวังเพิ่มขึ้นอีกนิดว่าขอให้เขาเป็นคนเก่ง ฉลาด เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ แต่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน พ่อแม่ผู้ปกครองอาจต้องย้อนกลับมาถามตัวเองเหมือนกันว่า เคยมีส่วนในการสร้างความดี ความเก่ง หรือนิสัยอื่นๆ แก่บุตรหลานแค่ไหน หรือหากอยากมีส่วนในการสร้างควรทำอย่างไร ดังเช่น ครูรุ้ง-สิริลักษณ์ อินทรบุตร คุณครูจากโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม ที่อยากมีส่วนในการสร้างนิสัยที่ดีให้ลูกศิษย์ เธอจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 หลังจากปีแรกที่เธอเข้ามาร่วม ตามนโยบายของทางโรงเรียนที่รับมาจากองค์การบริหารส่วนตำบลบางจะเกร็ง แต่เมื่อได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นของลูกศิษย์ ความจำใจทำจึงเปลี่ยนเป็นเต็มใจทำ
ยิ่งทำ ยิ่งเข้าใจ
“โครงการนี้ช่วยพัฒนาเด็กให้เกิดความคิดว่าเขาอยากทำอะไร ทำแล้วส่งผลอย่างไร และทำให้เขากลายเป็นเด็กที่มีจิตสาธารณะ อาสาช่วยงานของโรงเรียนด้วยตัวเอง นึกถึงเรื่องของคนอื่นบ้างนอกจากตัวเองต่างจากเมื่อก่อนที่เขาไม่ได้สนใจจะช่วย จะทำ” ครูรุ้ง เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของลูกศิษย์หลังทำโครงการ ซึ่งกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธอทำต่อ เพราะมองว่าเด็กนักเรียนส่วนใหญ่ในโรงเรียนต่างมีภาระในครอบครัวที่อาจทำให้ไม่มีโอกาสเรียนต่อสูงๆ แต่หากมีทักษะการคิด การแก้ปัญหา และทักษะชีวิตก็น่าจะเป็นภูมิคุ้มกันในการใช้ชีวิตแก่ลูกศิษย์ของเธอได้ การเริ่มต้นทำงานเป็นปีที่ 2 นี้มีทีมงานชุดเก่าเพียงคนเดียวคือ แง-ณฎฐพล ยังอยู่ ส่วนที่เหลือ ได้แก่ เพ็ญ-ปวีณา บุญเชิด ฝน-ธนัชพร โหมดตาด วุ้น-ธารีสวัสดิ์ ดิษฐสมบูรณ์ หมู-วินัย ชลภูมิและภัทร-ภัทรพล จันทร์แย้ม ล้วนเป็นสมาชิกใหม่ ที่ครูรุ้งชวนเข้ามาร่วมงานกลางทาง หลังจากที่ทีมงานชุมเดิมจบการศึกษา และต้องย้ายโรงเรียนไป “พวกเราเคยเห็นพวกพี่เขาทำ ตอนที่ไปลงพื้นที่นำข้อมูลมารวมกัน เห็นพี่เขาได้รู้จักกับคนใชุมชนมากขึ้นก็อยากทำบ้าง พอครูรุ้งมาชวนทำต่อจากพี่ๆ เลยตกลงใจทำโครงการพาน้องเรียนรู้วิถีจุ๊เมิญและวัฒนธรรมชาวมอญ” ทีมงานชุดใหม่เล่าถึงเหตุผลที่ตอบตกลงกับครูรุ้งอย่างง่ายดาย ทว่าในที่สุดแง ซึ่งเป็นสมาชิเก่าเพียงคนเดียวก็ตัดสินใจออกจากโครงการอีกคนด้วยเหตุผลส่วนตัว ทีมงานที่เหลืออยู่จึงเป็นสมาชิกใหม่ทั้งหมด
แม้การทำงานจะสะดุดจากการที่เพื่อนออก แต่ทีมงานก็ตั้งหลักใหม่ด้วยการเดินหน้าลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีจุ๊เมิญเพิ่มเติม เพราะมองว่าข้อมูลเดิมในปีที่แล้วน่าจะมีความเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้รู้บางคนเสียชีวิตลง ประกอบกับพวกเขาเป็นทีมงานใหม่จึงอยากเรียนรู้ชุมชนและประเพณีจุ๊เมิญด้วย ข้อมูลที่ทีมงานต้องการเพิ่มจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา วันเวลาที่จัดพิธีกรรม การแต่งกาย เครื่องเซ่นไหว้ ข้อห้าม โดยเน้นสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีเชื้อสายมอญ
ทีมงานแบ่งบทบาทกันรับผิดชอบ เพ็ญกับวุ้นทำหน้าที่สัมภาษณ์ ฝนเป็นคนจดบันทึก ส่วนภัทรกับหมูถ่ายวิดีโอและถ่ายรูป ซึ่งทุกครั้งหลังเก็บข้อมูลเสร็จทีมงานจะหาเวลานำข้อมูลที่ได้มาเทกอง แล้วเทียบกับข้อมูลเก่า เพื่อตรวจสอบว่าข้อมูลไหนที่ข้อมูลชุดเดิมมีอยู่แล้ว ตรงกันหรือไม่ ข้อมูลไหนที่ได้มาเพิ่ม และข้อมูลไหนที่ยังขาด โดยข้อมูลที่สมบูรณ์จะถูกจดบันทึกเก็บไว้ ส่วนไหนที่ยังขาดจะหยิบมาใส่ในแผนสำหรับการลงพื้นที่ครั้งต่อไป หลังจากลงพื้นที่ซ้ำกว่า 20 ครั้ง ทีมงานจึงได้ข้อมูลที่เป็นที่พอใจ ขณะเดียวกันก็ได้พัฒนาทักษะการทำงาน อย่างเป็นขั้นตอน พร้อมกับค่อย ๆ เกิดนิสัยรอบคอบมากขึ้น ช่วงเวลาที่ทีมงานชุดใหม่เข้ามาร่วมโครงการใกล้เคียงกับการจัดเวทีกิจกรรมนับ 4 ของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ที่จะให้แต่ละทีมลงมือทบทวนกิจกรรมและเขียนสตอรี่บอร์ด เพื่อนำกลับไปใช้ในการถ่ายทำวิดีโอ สื่อสารการทำงานของโครงการ ซึ่งทำให้ทุกคนในทีมจุ๊เมิญรู้สึกกังวลกับภาระงานชิ้นนี้พอสมควร แต่เพราะมีข้อมูลจากรุ่นพี่ทีมงานชุดเดิม และได้ลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลด้วยเอง ทำให้สตอรี่บอร์ดของทีมงานสามารถบอกเล่าประเพณีจุ๊เมิญได้ครบถ้วนและน่าสนใจ จนได้รับคำชมจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทำให้พวกเขาใจชื้นขึ้นมาบ้าง บทเรียนที่ทีมงานได้รับจากการทำสตอรี่บอร์ดคือ “การจัดระเบียบความรู้” ที่ต้องจัดลำดับข้อมูล ให้สามารถนำมาเล่าได้อย่างกระชับ และมีกลุ่มเป้าหมายผู้รับสารที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้ดูสตอรี่บอร์ดแล้วเข้าใจง่าย นอกจากการทำสตอรี่บอร์ด เวทีดังกล่าวยังเป็นเวทีแรกที่ทีมงานได้มาทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ จากโครงการอื่น ทำให้พวกเขามีโอกาสได้พูดคุย แสดงความคิดเห็น และนำเสนองานต่อหน้าคนหมู่มาก แม้ช่วงแรกอาจกล้าๆ กลัวๆ แต่ทีมงานก็ค่อยๆ ขยับขีดความกล้ามากขึ้น
ออกจากพื้นที่ปลอดภัย
หลังเวทีกิจกรรมนับ 4 จบลงทีมงานต้องลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่ม พร้อมๆ กับการถ่ายทำวิดีโอ แต่กลับพบจุดพลิกผันอีกครั้ง เมื่อหมูและภัทรค่อยๆ ห่างหายไปจากโครงการ เพราะติดภาระช่วยเหลืองานครอบครัว ทำให้ทีมงานเหลืออยู่เพียง 3 สาว ฝน วุ้น และเพ็ญ ฝนบอกว่าการออกไปของเพื่อนถึง 2 คนทำให้เธอรู้สึกว่าต้องมีภาระเพิ่ม แต่ก็ไม่ได้โกรธเพื่อน
“ไม่ได้เสียใจอะไร พวกเราทำงานมาถึงตรงนี้แล้ว ที่เหลือก็แค่ช่วยกันทำต่อไปให้เสร็จ อย่างน้อยก็ยังมีกันอยู่อีก 3 คนที่จะช่วยกันทำต่อ”
จากนั้นทีมงานได้ลงมือจัดกิจกรรมภายให้ความรู้เกี่ยวกับประเพณีจุ๊เมิญที่รวบรวมมาถ่ายทอดให้รุ่นน้องชั้นประถมศึกษา 2 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นน้องชั้น ประถมศึกษาปีที่ 1-3 เข้าร่วม ส่วนครั้งที่ 2 ให้น้องประถมศึกษาปีที่ 4-6 เข้าร่วม นำเกมที่พี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ โคชในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ พาเล่นในเวทีกิจกรรมนับ 4 มาใช้ในการละลายพฤติกรรมเพื่อนำเข้าสู่กิจกรรมให้ความรู้ ส่วนการประชาสัมพันธ์ ทีมงานเลือกติดต่อผ่านครูประจำชั้นให้ช่วยเชิญชวน ซึ่งก็มีน้องชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 สนใจเข้าร่วมกว่า 50 คน
ผลตอบรับจากกิจกรรมครั้งแรกทำให้ทีมงานมีกำลังใจจัดกิจกรรมต่อ เพราะน้องๆ ต่างบอกว่าสนุกและได้ความรู้ จนอยากให้พี่ๆ จัดกิจกรรมแบบนี้อีก แต่แล้วความสำเร็จแรกก็ไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จในการจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นน้องประถมศึกษาปีที่ 4-6 ที่ไม่ค่อยให้ความร่วมมือแก่ทีมงานเท่าไร เนื่องจากอยู่ในวัยใกล้เคียงกัน จึงกล้าก่อกวนการทำกิจกรรม
“เราบอกน้องว่าจะมีรางวัลให้สำหรับคนที่ตั้งใจฟังและตอบคำถามถูก แต่น้องกลับบอกว่าถ้าอยากให้ตั้งใจฟังต้องเอารางวัลมาก่อน” ฝน เล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ก่อนยอมรับว่าตอนนั้นเธอรู้สึกโกรธมาก แต่พยายามควบคุมอารมณ์ไว้ เพราะถ้าตะคอกใส่ไป อาจทำให้น้องที่เหลือมองว่าพี่ดุ แล้วพาลไม่อยากอบรม
ด้านเพ็ญก็โมโหไม่ต่างจากเพื่อน และพยายามจัดการอารมณ์ของตัวเองเช่นกัน
ท้ายที่สุดทีมงานตัดสินใจบอกกับน้องๆ ที่ก่อกวนว่า ถ้าไม่อยากอบรมก็สามารถเดินออกไปได้ ใครที่สนใจก็อยู่ต่อ แล้วดำเนินกิจกรรมต่อ แต่เพราะความวุ่นวายที่เกิดขึ้น ทำให้เวลาการทำกิจกรรมล่าช้าจนถึงเวลากลับบ้าน น้องหลายคนที่ผู้ปกครองมารับต้องรับกลับก่อนกิจกรรมเสร็จ ทีมงานจึงประเมินว่าการจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 นี้ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
แม้ผลลัพธ์ของการจัดกิจกรรมจะไม่สวยงามตามที่หวัง แต่กิจกรรมนี้ก็สำเร็จไปแล้วตั้งแต่ที่ทีมงานคิดจะก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง ที่เคยไม่กล้าพูดในที่สาธารณะ กลับกลายเป็น “กล้า” ขึ้นมาเป็นคนนำกิจกรรม แล้วแทนที่จะท้อเมื่อเจออุปสรรคก็ยิ่ง “กล้า” มากขึ้นไปอีกที่จะดำเนินกิจกรรมต่อไปจนจบ พยายามคลี่คลายสถานการณ์ และรู้จักการจัดการอารมณ์ส่วนตัวไม่ให้มากระทบกับงานส่วนรวม นั่นเพราะทีมงาน “เลือก” ที่จะจัดกิจกรรมนี้ขึ้น และได้ลงมือคิด ลงมือทำด้วยตัวเอง เมื่อเกิดความผิดพลาดหรือมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุม พวกเขาก็พร้อมเผชิญปัญหาเพื่อรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเองอย่างเต็มที่
ประสบการณ์ที่มีค่า
หลังกิจกรรมต่างๆ ผ่านไป ทีมงานต่างค้นพบนิสัยและทักษะบางอย่างที่งอกงามขึ้นภายในตัวเอง สิ่งที่เด่นชัดที่สุดคือ “ความกล้าพูด กล้าแสดงออก”
ฝน บอกข้อดีของนิสัยนี้ว่า ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างก็ต้องกล้าที่จะลงมือ กล้าจะแสดงความคิดเห็น และการที่เรากล้าขึ้นก็ทำให้รู้จักคนอื่นมากขึ้นด้วย เพราะกล้าเข้าไปพูดคุยกับเขา ซึ่งอาจทำให้ได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้น
ขณะที่เพ็ญ บอกว่า เมื่อก่อนเธอเป็นคนใจร้อน แต่หลังจากผ่านการทำโครงการ ความใจร้อนของเธอก็ค่อยๆ ลดลง จากการได้ทำงานร่วมกับคนอื่น และจากเหตุการณ์จัดกิจกรรมที่ต้องฝึกควบคุมอารมณ์ตัวเองอย่างมาก ขณะที่ผลการเรียนของเธอกลับดีขึ้น เพราะความมุ่งมั่นตั้งใจต่อการเรียนเพิ่มขึ้น
ความตั้งใจในการทำโครงการของทีมงานได้แผ่ขยายไปสู่เพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนที่เริ่มสนใจเข้ามาร่วมกิจกรรม ทั้งเข้ามาช่วยเป็นสต๊าฟฟ์ตอนที่จัดกิจกรรมให้ความรู้ในโรงเรียน และมาสอบถามข้อมูลเพราะอยากมีพื้นที่ มีโอกาสได้ทำกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาตัวเองไปพร้อมๆ กับการช่วยเหลือชุมชนส่วนรวมเช่นนี้บ้าง
จากคนที่เคยไม่กล้า แต่เมื่อได้โอกาสลองคิดเอง ทำเอง ก็กลับกลายเป็นกล้าคิด กล้าลองทำสิ่งที่ท้าทายยิ่งบวกกับการได้ทำงานอย่างเป็นระบบในการลงพื้นที่อีกหลายรอบ จึงนำไปสู่ความมั่นใจที่จะทำ รู้จักคิดวางแผน วิเคราะห์ และประเมินงาน หรือก็คือการ “คิดเป็น ทำเป็น” นั่นเอง
หากหวังให้บุตรหลาน หรือลูกศิษย์เติบโตไปสู่หนทางที่ดี พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครูอาจต้องย้อนถามตัวเองว่า วันนี้เราเปิดโอกาสให้เด็กได้ลองลงมือทำสิ่งที่สร้างสรรค์ด้วยตัวเองแล้วหรือยัง ?
โครงการพาน้องเรียนรู้วิถีจุ๊เมิญและวัฒนธรรมชาวมอญ
ที่ปรึกษาโครงการ :
- สิริลักษณ์ อินทรบุตร ครูโรงเรียนวัดศรัทธาธรรม
ทีมงาน :
- ปวีณา บุญเชิด
- ธนัชพร โหมดตาด
- ธารีสวัสดิ์ ดิษฐสมบูรณ์