การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาวิธีการปลูก และวิธีการดูแลส้มโอ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 3

การเจอปัญหาอุปสรรคนานับประการ ทั้งพัฒนาโจทย์โครงการไม่ผ่านถึง 2 ครั้ง พ่อแม่ไม่เห็นด้วยกับการทำโครงการ ที่สำคัญคือการถูกพี่โคชเทถึง 3 คน ดูเหมือนจะบั่นทอนจิตใจของทีมงานไม่น้อย จนคิดจะเลิกทำโครงการ แต่เพราะเห็นแก่คำว่า “เพื่อน” ที่ทุ่มเททำงานด้วยกันมา จึงไม่อยากทิ้งใครไว้สู้ตามลำพัง ทุกคนจึงตัดสินใจสู้ต่อ เห็นได้ว่าในช่วงวัยรุ่น หากพวกเขามีเพื่อนดีที่คอยประคับประคองกันทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก ชวนพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ก็ช่วยเหนี่ยวรั้งให้วัยรุ่นกลับมาเดินในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้

ฝันเล็กๆ และการเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่

ทุกย่างก้าวย่อมมีเป้าหมาย (Goal-Directed Persistence) และเป้าหมายในบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ระดับพลิกฟ้า เปลี่ยนแผ่นดิน โดยเฉพาะกับเด็กๆ

อยากเป็นแบบนั้นบ้าง” คงเป็นเรื่องที่ทุกคนเคยรู้สึก แต่จะมีกี่คนที่ “อยากเป็นแบบนั้น” แล้วมุ่งมั่นตั้งใจทำจนกระทั่งได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น

สำหรับน้องๆ กลุ่ม O-greenประกอบด้วย น้ำฝน-พลอยมณี เอกตวุธ ปัท-ปัทมา สุริยะ โมจิ-สิรวดี แย้มสอาด นี–วรรณี อุดมขจรกิตติ และ เต้–สมพร จันทรบัณฑิตย์ จากโรงเรียนท้ายหาด จังหวัดสมุทรสงคราม พวกเขาแค่อยากเป็นแบบรุ่นพี่ คือ ทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ด้วยเหตุผลที่ไม่สูงมากคือ อยากเที่ยว อยากรู้จักเพื่อนใหม่ อยากเห็นที่อื่นๆ ที่ไกลจากละแวกบ้าน และขอบรั้วโรงเรียน

นั่นจึงทำให้พวกเขาไม่ลังเลที่เสนอตัวเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ในวันที่ ครูแจน-วิลาวรรณ สกุลแก้ว เดินมาบอกว่าโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ปี 3 เปิดรับสมัครแล้ว

เมื่อโลกแห่งการเรียนรู้ถูกเปิด

น้องๆ จากโรงเรียนท้ายหาดรวมกลุ่มกัน 10 คน แบ่งออกเป็น 2 ทีม ๆ ละ 5 คน แม้จะเรียนชั้นเดียวกันคือ ม.3 และ ม.4 แต่บางคนก็มาจากต่างห้อง การรวมกันเป็น “ทีมงาน” ทำให้ทั้ง 10 คนต้องเริ่มต้นสร้างความสัมพันธ์ใหม่กับคนอื่นที่ไม่ใช่เพื่อน และนี่ก็เป็นสเตปแรกที่เด็กทั้ง 10 คนเริ่มก้าวพ้นจากห้องเรียนเล็กๆ และกลุ่มเพื่อนที่คุ้นเคย

และบททดสอบแรกของ “ก้าวแรก” คือการ “ค้นหาปัญหา” ของชุมชน ผ่านการทำแผนที่ชุมชนในเวทีนับ 1 เวทีส่งเสริมการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ให้

“พี่ ๆ ให้ค้นหาก่อนว่าในชุมชนมีปัญหาอะไร อาธเนศ-ชิษณุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้บริหารโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ให้วาดแผนที่ของบ้านเรา เพื่อดูว่ามีอะไรอยู่ตรงไหน อยากให้เรารู้จักชุมชนของตัวเองก่อน” และแผนที่ชุมชนนี้เองทำให้น้ำฝนและทีม เห็นภาพชุมชนชัดขึ้นมากกว่าเส้นทางจากบ้านไปโรงเรียน น้องๆ รู้ว่าสายน้ำที่ไหลผ่านชุมชนมาจากไหน รู้ว่ารอบๆ บ้านและโรงเรียนยังมีวัด มีสวนส้มโอ มีผู้รู้ มีปราชญ์ชาวบ้านเก่ง ๆ มีสถานที่สำคัญ ๆ อีกหลายแห่ง

การเห็นภาพกว้างของชุมชน ทำให้น้องๆ คิดที่จะทำโครงการได้หลายเรื่องหลายประเด็น รอบแรกน้องๆ จึงเสนอโจทย์เรื่องการทำน้ำตาลมะพร้าว เพราะเห็นว่าน้ำตาลมะพร้าวที่ขายๆ กันอยู่ส่วนมากทำมาจากน้ำตาลทราย แต่เมื่อมานำเสนอทีมโคชมองว่า มันยาก เกินกำลังและศักยภาพของน้อง ข้อเสนอที่ต้องการจะทำน้ำตาลมะพร้าว 100 เปอร์เซ็นต์เป็นสินค้าโอทอปของชุมชนก็เป็นอันถูกตีตกไป

“เริ่มไม่สนุกแล้ว” ปัท บอก แม้จะได้เพื่อนใหม่ ได้เที่ยวก็จริง แต่การทำงานที่ต้องมานั่งคิดแบบนี้เธอไม่ถนัด

ถึงกระนั้นก็ตาม แม้จะเริ่มถอดใจ แต่ในเวทีนับ 2 ซึ่งเป็นเวทีพัฒนาโจทย์โครงการ น้องๆ ก็มาอีกรอบ พร้อมๆ กับข้อเสนอโครงการใหม่คือ จะทำเรื่องท่องเที่ยวเกี่ยวกับวัด เนื่องจากตอนทำแผนที่ชุมชน เห็นว่าในชุมชน

มีวัดเล็กๆ เยอะ แต่ไม่ค่อยเห็นมีคนเข้าวัด จึงอยากบูรณะวัด ให้คนหันมาเข้าวัดมากขึ้น โดยหาจุดเด่นของวัดแต่ละแห่งว่ามีอะไรบ้าง จากนั้นทำเป็นโบรชัวร์แจกให้คนมาเที่ยว 9 วัดในวันเดียว ทั้งเที่ยววัดและกินน้ำตาลมะพร้าว 100 เปอร์เซ็นต์ไปด้วย

เป็นข้อเสนอโครงการที่คนฟังอาจคล้อยตาม แต่สำหรับพี่ๆ ทีมโคช มองว่า หากปล่อยให้น้องทำโครงการนี้ต่อไป คงไม่ประสบความสำเร็จ จึงแนะนำให้คิดข้อเสนอโครงการใหม่ที่เหมาะสมกับศักยภาพและความสามารถของตนเอง เพื่อให้น้องได้พบกับความสำเร็จระหว่างทาง เพื่อเป็นแรงผลักดันให้น้องๆ มีกำลังใจในการทำงานต่อไป

เลิกทำหรือไปต่อ

เมื่อโครงการท่องเที่ยว 9 วัด ถูกตีตกไปอีกรอบ เพื่อนบางส่วนถอดใจ หันหลังให้การเรียนรู้ที่พวกเขามองว่าจะพาพวกเขาไปพบกับประสบการณ์ใหม่ เพื่อนใหม่ และสถานที่ใหม่ๆ

จริงๆ แล้ว สถานการณ์จะไปต่อหรือจะหยุด เริ่มส่อแววตั้งแต่เวทีนับ 1 ซึ่งน้ำฝนบอกว่า หลังทำกระบวนการกับพี่ ๆ หลายคนบ่นว่า “ยาก” และบางคนไม่อยากไปต่อ เนื่องจากบางคนติดปัญหาทางบ้าน บางคนกลัวเรียนไม่ทัน บางคนก็พ่อแม่ไม่อยากให้มา ส่วนเธอเองก็ถอดใจ คิดจะทิ้งโครงการเหมือนกัน เพราะที่บ้านไม่เห็นด้วย อยากให้ช่วยที่บ้านทำงานมากกว่า

“ช่วงนั้นทะเลาะกับแม่ คุยกันก็ไม่รู้เรื่อง เลยพิมพ์ไลน์บอกพี่ๆ ทีมโคชว่า ขอออก ไม่ทำแล้ว” น้ำฝน เล่าสถานการณ์ตอนนั้น

เมื่อเห็นปัญหา พี่โด่งและอาจารย์ที่ปรึกษาจึงเข้ามาช่วยคลี่คลายสถานการณ์ เข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจกับผู้ปกครอง จนกระทั่งยินยอมให้เด็ก ๆ มาร่วมกิจกรรมต่อ

“จริงๆ แม่ยอมให้มาก็ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือโดนเพื่อนๆ ในกลุ่มด่าว่า จะทิ้งเพื่อนเหรอ ทำมาตั้งแต่นับ 1 แล้ว นี่มันนับ 2 แล้ว อีกแค่ 3 นับจะทิ้งกันเหรอ ด่าหนูเละเลย หนูก็มานั่งทบทวนตนเอง คิดว่าหากเราทิ้งเพื่อนก็เหมือนเห็นแก่ตัว ทิ้งให้เพื่อนเหนื่อย มันก็ไม่ใช่ ถึงแม้ว่าโครงการจะไม่ผ่าน แต่เพื่อนอีก 4 คนยังอยู่ หนูจะทิ้งคนเดียวมันก็เห็นแก่ตัวเกินไป”

ระหว่างพูดคุย ทบทวน ตัดสินใจ และการต่อว่าต่อขานจากกลุ่มเพื่อน ทำให้ทีมกลับมาครบ 5 คนอีกครั้ง ภายใต้คำมั่นสัญญว่า “จะไม่ทิ้งกัน” ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม

“พวกเราเดินไปบอกพี่ที่เป็นโคชประจำทีมว่า จะทำต่อ พี่เขาก็บอกว่าถ้าพวกเราอยู่ต่อ เขาก็จะอยู่สู้กับเราด้วย แต่สุดท้ายพี่เขาก็ออกไป มีพี่คนใหม่เข้ามาเป็นโคชแทน และบอกว่าเดี๋ยวพี่ช่วย พี่จะไม่ทิ้งน้องแน่นอน สุดท้ายพี่เขาก็ออกเหมือนกัน แล้วก็มีพี่โคชอีกคนเข้ามาแทนอีก มาบอกว่า ไม่เป็นไรถึงพี่ 2 คนเขาจะออกไปแล้วก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวพี่จะอยู่ช่วยเอง แต่สุดท้ายพี่เขาออกไปอีกคน ตอนนั้นก็คุยกันในกลุ่มว่าจะทำต่อหรือจะเลิกดี ยุบกลุ่มดี โกรธโคชที่ทิ้งเราไปหมด ตั้งใจว่าจะไม่ทำแล้ว ในเมื่อพี่ทิ้ง พวกหนูก็จะทิ้งไม่เอาแล้ว” โมจิ เล่าย้อนไปในวันที่ ถูกพี่ๆ ทิ้งไว้กลางทาง

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้กลุ่มระส่ำอีกรอบ เมื่อโคชที่ร่วมหัวจมท้ายมาแต่แรก ลาออกกลางทาง พวกเขาเหมือนขาดกำลังใจ ขาดที่ปรึกษาในการทำงาน และ 2 ใน 5 คน อยากเลิก อีก 3 คนที่เหลือก็ต้องพยายามหาทางให้เพื่อนอยู่ต่อ เพื่อสานฝันของกลุ่มให้สำเร็จ

ปัท บอกว่า เธอพยายามรั้งเพื่อนให้อยู่ต่อ ไลน์ไปถามเพื่อนว่า จะเลิกจริงๆ เหรอ มาถึงขนาดนี้แล้วนะ แม้ตอนแรกเธอจะไม่อยากทำก็ตาม แต่มาเพราะเพื่อน และกระบวนการในค่ายนับ 1 นับ 2 ทำให้เธอปรับตัวและเรียนรู้เรื่องการทำโครงการมาเรื่อยๆ จนทำให้เด็กอย่างเธอรู้จักความอดทน เข้าใจเรื่องการวางแผน และการแบ่งเวลาเรียน เวลาทำงาน และเวลาทำโครงการได้อย่างดี แม้จะยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพมากนักก็ตาม

ในท้ายที่สุด การพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล โดยเฉพาะประโยค “ไหนๆ ก็ทำมาขนาดนี้แล้ว เหลืออีก 2 นับก็จบ” ทำให้ทุกคนกลับมารวมทีมกันอีกรอบ

เมื่อเด็ก ๆ ตั้งใจแน่วแน่ อาธเนศก็ให้ พี่อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ มาเป็นโคชให้ทีมอีกครั้ง

แม้จะเจอปัญหาอุปสรรคนานับประการ ทั้งพัฒนาโจทย์โครงการไม่ผ่านถึง 2 ครั้ง พ่อแม่ไม่เห็นด้วยกับการทำโครงการ ที่สำคัญคือการถูกพี่โคชเทถึง 3 คน ดูเหมือนจะบั่นทอนจิตใจของทีมงานไม่น้อย จนคิดจะเลิกทำโครงการ แต่เพราะเห็นแก่คำว่า “เพื่อน” ที่ทุ่มเททำงานด้วยกันมา จึงไม่อยากทิ้งใครไว้สู้ตามลำพัง ทุกคนจึงตัดสินใจสู้ต่อ เห็นได้ว่าในช่วงวัยรุ่น หากพวกเขามีเพื่อนดีที่คอยประคับประคองกันทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก ชวนพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ก็ช่วยเหนี่ยวรั้งให้วัยรุ่นกลับมาเดินในเส้นทางที่ถูกต้องเหมาะสมได้

สรุปว่า...ลุยต่อ

อย่างไรก็ตาม แม้ทีมจะตัดสินใจทำโครงการต่อ แต่ก็มีข้อตกลงร่วมกันว่า หากเสนอโครงการในเวทีนับ 3 ผ่าน จะเลิกทำ แต่ผลที่ได้รับผิดไปจากที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากพวกเขานำโครงการเดิมของรุ่นพี่เรื่องการทำจัดแผนที่สวนส้มโอที่มาปัดฝุ่นใหม่ใช้ชื่อว่าโครงการส้มโอแม่กลอง ที่มีการเพิ่มรายละเอียดเรื่องการศึกษาวิถีชีวิตของชาวสวนส้มโอ ศึกษาวิธีการปลูก และวิธีการดูแลส้มโอของแต่ละสวนว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร อีกทั้งหาจุดเด่นของส้มโอแต่ละสวน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาจัดทำเป็นสื่อออนไลน์ เผยแพร่ให้กับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้รู้จักส้มโอแต่ละสวน เพราะเห็นว่า ชาวสวนส้มโอถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง ไม่สามารถกำหนดราคาเองได้

“ข้อมูลที่พบตอนลงพื้นที่ ชาวสวนบอกว่าขายส่งกิโลกรัมละ 25 บาท พ่อค้านำไปขายกิโลกรัมละเอาไป 40-50 บาท บางช่วงขายส่งกิโลกรัมละ 10 บาท พ่อค้าคนกลางก็เอาไปขายก็ราคา 40-50 บาทอยู่ดี หนูมองว่ามันไม่ยุติธรรม เลยจะทำโครงการที่ทำให้ผู้บริโภคกับชาวสวนได้มาเจอกัน โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ให้นักท่องเที่ยวไปซื้อไปชิมที่สวนเลย” ทีมงาน เล่าแนวคิดการทำโครงการ

ความภาคภูมิใจที่นำเสนอโครงการผ่านมาเยือนได้ไม่นาน เป็นจังหวะที่ “งานเข้า” มาเยอะมาก ทั้งเรื่องสอบ การบ้าน กิจกรรมของโรงเรียน งานกีฬาสี ขณะที่สมาชิกในทีมบางคนก็ต้องทำงานระหว่างเรียนไปด้วย เวลาว่างก็ไม่ตรงกัน ประเมินแล้ว หากไม่วางแผนงานให้รัดกุม การทำโครงการต้องไม่ทันแน่ๆ จึงใช้วิธีนัดประชุมแจกแจงรายละเอียดการทำงาน กำหนดบทบาทหน้าที่แต่ละคนให้ชัดเจน เตรียมตั้งคำถามให้พร้อม เมื่อลงพื้นที่จะได้ข้อมูลครอบคลุมทุกด้าน แต่เน้นไปที่วิธีการปลูกที่แตกต่างของแต่ละสวน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะนำมาจัดทำเป็นสื่อเผยแพร่ 2 รูปแบบคือ ในเฟซบุ๊ก และแผนที่ เป็นการแนะนำ “จุดเด่น” ของส้มโอแต่ละสวน อาทิ รสชาติ การปลูก และการดูแล ให้นักท่องเที่ยวใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

ฝันเล็กๆ ฝันได้และไปถึง

การทำโครงการอาจจะยังไม่เห็นผลว่าชาวบ้านจะขายส้มโอได้ในราคาที่เป็นธรรมตามเจตนารมณ์หรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ทีมทุกคนได้ออกไปสัมผัสกับโลกกว้างตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ แม้ระยะทางไกลสุดจะเป็นเพียงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม และวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดราชบุรีก็ตาม นอกจากนั้นพวกเขายังได้เพื่อนใหม่ ๆ ได้รู้จักพี่ ๆ ได้เรียนรู้ขั้นตอนและกระบวนการทำงานที่หลากหลาย ได้ฝึกความอดทนกับการนำเสนอโครงการไม่ผ่านถึง 2 รอบ และถูกพี่โคชเทถึง 3 คน อุปสรรคเหล่านี้ได้หล่อหลอมให้ทีมกลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง จนกระทั่งกลายเป็นเด็กดื้อ แรงเยอะของพวกพี่ๆ ทีมโคช

นอกจากความอดทน อดกลั้นต่อปัญหาที่พบเจอ ความจริงอีกเรื่องที่น้องกลุ่มนี้สะท้อนออกมาก็คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตัวเอง

เต้บอกว่า เขามีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งเพื่อน ๆ ในกลุ่มก็ช่วยยืนยันกับการเปลี่ยนแปลงนี้ และการเปลี่ยนดังกล่าวก็ส่งผลไปถึงเรื่องของการเรียนที่มีความรับผิดชอบทำงานส่งครู จนผลการเรียนเทอมนี้จึงดีกว่าเทอมก่อน

ส่วนนี บอกว่า เธอเพิ่งจะเข้าใจคำว่า “สำนึกพลเมือง” ซึ่งหมายถึง “หน้าที่ของเราที่เราต้องทำ” ชัดเจนหลังทำโครงการเสร็จ

“ตอนแรกที่ฟังพี่ๆ พูดเรื่องสำนึกพลเมืองเธอไม่เข้าใจว่ามันหมายความว่าอย่างไร ถึงตอนนี้รู้แล้วว่า เป็นจิตสำนึกข้างในของเราที่ถูกปลูกฝังมาอยู่แล้ว แต่เราไม่รู้ คิดไม่ได้ เหมือนกับทุกเช้าที่เราตื่นมาแล้วเราต้องกวาดบ้าน ไม่ต้องรอให้แม่บอก แต่มันเป็นหน้าที่ของลูกที่ต้องทำ”

ไม่เพียงเข้าใจในนิยาม “สำนึกพลเมือง” เท่านั้น บางวันที่มีค่ายดังเช่นวันนี้ (เวทีอบรมการผลิตสื่อ) เธอยอมเสียรายได้ 350 บาท เพื่อมาร่วมเรียนรู้กับเพื่อน ๆ

“มันเป็นหน้าที่ มันเป็นความรับผิดชอบของเราด้วย เราทำมาแล้ว เราก็ต้องมา มาแล้วเราได้รับความรู้ใหม่ๆ จากคนอื่น ได้ความคิดของคนอื่นมา เมื่อเรามีเราก็ให้คนอื่น คนอื่นมีก็ให้เรา”

ใครจะรู้ว่าแค่ความฝันว่า อยากเที่ยว อยากรู้จักเพื่อนใหม่ อยากเห็นที่อื่นๆ ที่ไกลจากละแวกบ้าน และขอบรั้วโรงเรียน คือแรงบันดาลใจชั้นดีที่นำพาทีมงานให้ก้าวข้ามปัญหาอุปสรรคภายนอกที่ถูกทิ้งถูกเทจากโคช พ่อแม่ไม่เห็นด้วย พัฒนาโจทย์ไม่ผ่าน และอุปสรรคภายในจิตใจที่อยากทิ้งโครงการ ให้กลับมามุ่งมั่นตั้งทำงาน แม้ผลลัพธ์จะยังไม่เกิดขึ้นดังตั้งใจ แต่กระบวนการทำงานที่ทีมได้เรียนรู้ทั้งความผิดหวัง เสียใจ และสมหวัง คือประสบการณ์การเรียนรู้ที่ยิ่งใหญ่ที่จะทำให้พวกเขาก้าวเดินไปข้างหน้าได้อย่างมั่นใจ


โครงการส้มโอแม่กลอง

ที่ปรึกษาโครงการ :

  • วิลาวรรณ สกุลแก้ว

ทีมงาน

  • พลอยมณี เอกอาวุธ 
  • ปัทมา สุริยะ
  • สิรวดี แย้มสะอาด 
  • วรรณี อุดมขจรกิตติ
  • สมพร จันทรบัณฑิตย์