ปัญหาเด็ก เยาวชนที่องค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)ทั่วประเทศกำลังเผชิญอยู่คือปัญหาพฤติกรรมเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นทุกปี อปท.แต่ละพื้นที่ได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหานี้กันอย่างเร่งด่วน ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ได้มีเครือข่ายที่รวมตัวกันทุกภาคส่วน ได้แก่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) สนับสนุนการจัดค่ายสร้างเครือข่ายและพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชน สู่ความเป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์ ภายใต้โครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 : การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนจัยเพื่อท้องถิ่นโดยมีเพื่อนๆ 4 พื้นที่ได้แก่ อบต.หนองอียอ อ.สนม ,อบต.สลักได อ.เมือง,ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม และทต.กันตวจระมวล อ.ปราสาท เข้าร่วม ข้อค้นพบคือค่าย 15 วันสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กกลุ่มเสี่ยงไปในทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากพื้นที่อบต.หนองอียอ จ.สุรินทร์ ที่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนของเยาวชนกลุ่มนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล ขอนำเสนอเพียงหนึ่งตัวอย่างที่สะท้อนความเปลี่ยนแปลงนี้

นายวีระพล หมื่นราม 


นายวีระพล หมื่นราม หรือ เกม วัย 19 ปี เยาวชนนอกระบบ เด็กหัวโจกจากอบต.หนองอียอ อ.สนม จ.สุรินทร์ หนึ่งในตัวอย่างเด็กกลุ่มเสี่ยงที่เข้าค่ายสร้างเครือข่ายและพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์ ในครั้งนี้สะท้อนว่าค่าย 15 วัน สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับตนเองเป็นอย่างมาก ในอดีตตนเองเคยมีพฤติกรรมเสี่ยง สร้างความเดือดร้อนให้กับครอบครัวและชุมชน กลายเป็นที่ระอาของทุกคน ทั้งไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ไม่เรียนหนังสือ นอนอยู่บ้านเฉยๆ กินเหล้าเมาเละเทะไปวันๆ แถมยังขอเงินไปกินเหล้าอีก แม้พ่อแม่จะตักเตือนอย่างไรก็ไม่ฟัง ทะเลาะกับพ่อแม่ทุกวัน นั่นคือสิ่งที่ “เกม” สะท้อนตัวเองออกมา แต่เมื่อกลับจากค่าย เจ้าตัวได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่สร้างความประหลาดใจให้กับครอบครัวและชุมชน

นายสุธรรม หมื่นราม พ่อของเกม มาร่วมเปิดใจและสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของลูกว่า ตนเองคาดหวังกับลูกไว้เยอะ เพราะสร้างงาน สร้างทุกอย่างไว้ก็เพื่อลูก วางรากฐานอาชีพไว้หลายอย่าง ทั้งนาข้าว ไร่อ้อย หวังให้เขาใช้เป็นอาชีพต่อไป ตอนลูกออกจากโรงเรียนก็รู้สึกเสียใจมาก เพราะอยากให้เขาเรียนอย่างน้อยก็จบ ม.6 แต่เขาก็ออกกลางคันผมก็ไม่พอใจ อยากให้เขาเรียนเพื่ออนาคตเขา อยากให้เขามีความรู้ เมื่อก่อนตอนเขาออกจากโรงเรียนก็ไม่ค่อยเอางานเอาการ พ่อแม่ว่าอะไรก็ไม่ได้ ก็รู้สึกน้อยใจ แต่หลังกลับจากค่าย เขาก็เปลี่ยนไปเยอะ เช่น เรื่องของอารมณ์ เมื่อก่อนคุยกันก็ไม่ค่อยได้ แต่ตอนนี้เขากลับมาบอกเองว่าอยากทำงาน อยากรับผิดชอบงานแทนให้ ก็ทำได้อยู่ เขาเปลี่ยนไปเยอะ ผมคิดว่าในวันข้างหน้า ผมก็มั่นใจว่าถ้าเขาทำตัวดีแบบนี้เขาก็ทำได้ครับ หากเขาอยากทำอะไร ผมก็บอกเขาว่ามีพ่อแม่คอยประคองอยู่ข้างหลัง เขาอยากเป็นช่างตัดผม ผมก็สนับสนุนให้ทำครับ อยากให้ลูกทำได้ พ่อก็แก่แล้วก็หวังจะอาศัยลูกเหมือนกัน ผมก็ขอบคุณล่วงหน้าครับที่มี อบต.หนองอียอ เข้ามาช่วยเหลือ ผมก็ภูมิใจมากที่ชักชวนลูกผมมาทางนี้” นายสุธรรมเผยความรู้สึก

เสียงสะท้อนของครอบครัวทำให้เห็นชัดว่า “เกม” เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ส่วนเจ้าตัวนั้นก็คิดว่าผมคิดว่าผมได้ทำตัวดีขึ้น ผมมีความคิดมากขึ้นที่จะทำอะไรก็ทำเป็นชิ้นเป็นอัน รู้สึกว่ารักพ่อ-แม่มากขึ้น สิ่งนี้ทำให้ผมน้ำตาไหลตั้งแต่กลับมา หลังกลับจากค่ายผมก็เห็นพ่อแม่มีความสุขไม่เหมือนแต่ก่อน ตอนนี้ผมคิดว่าพ่อแม่ภูมิใจในตัวผมแล้ว ผมคิดว่าเขาภูมิใจที่ลูกคิดได้ มีความรับผิดชอบมากขึ้น เช่น ถ้าพ่อแม่จะไปทำงานตัดอ้อย แล้วพ่อแม่บอกว่าจะไปเอาควายลงน้ำ เมื่อเห็นพ่อแม่มา ผมรู้ว่าว่าหน้าที่ผมต้องต้องไปเอาควาย เอาวัวเข้าคอก ผมก็มารอมาทำให้พ่อแม่ ทั้งที่เมื่อก่อนไม่เคยทำอะไรเลย” เกมสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของตนเอง

หลังจากนี้ตนเองอยากมีอาชีพที่มั่นคง สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ “สามารถทำให้ตัวเองใช้ชีวิตแบบมีความสุข อยากเห็นพ่อแม่ภูมิใจในตัวผม อยากเห็นรอยยิ้มของพ่อแม่ อยากมีร้านตัดผมเป็นของตัวเอง หรือ ร้านซ่อมรถ” ตอนนี้ถึงแม้ยังไม่ได้มีร้านตัดผมเป็นของตนเอง แต่อบต.หนองอียอก็สนับสนุนให้ลองฝึกฝีมือตัดผมกับน้องๆ ซึ่งได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ และเริ่มปลูกข้าวโพดร่วมกับเพื่อนๆ ที่ไปค่ายมาด้วยกัน หวังว่าเป็นการปูพื้นฐานการทำอาชีพอีกทางหนึ่ง นอกจาก “เกม” จะกลับมาเปลี่ยนแปลงตนเองแล้ว ยังกลายเป็นเยาวชนจิตอาสาที่ไปช่วยดูแลน้องๆ ในชุมชนร่วมกับอบต.หนองอียอ และเป็นหนึ่งในทีมงานวิจัยของอบต.หนองอียอ อีกด้วยเพราะผมเคยผ่านสิ่งไม่ดีมาก่อน ผมสามารถบอกน้องๆ ได้ว่าอะไรดี ไม่ดี จะชักชวนน้องๆ มาช่วยกันทำอาชีพ เช่น มาปลูกข้าวโพดด้วยกัน ผมคิดว่าผมสามารถดึงน้องๆ กลับมาได้


วราภรณ์ หลวงมณี


ค่าย 15 วัน ใช้ชื่อว่าโครงการสร้างเครือข่ายและพัฒนาแกนนำเด็กและเยาวชนสู่ความเป็นนักถักทอชุมชนรุ่นเยาว์ ที่มีกระบวนกรมือดี อ้อย - วราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน เล่าถึงกรอบคิดในการจัดค่ายครั้งนี้ว่า ต้องการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนใน 4 พื้นที่ให้ลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการร่วมพัฒนาชุมชนของตนเอง ค่ายนี้จึงต้องการสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กก่อน เมื่อพวกเขามีแรงบันดาลใจแล้ว เมื่อพี่ๆ อบต.มาชวนให้เขาทำอะไรเขาก็อยากทำ เพราะเขามีแรงบันดาลใจที่อยากจะทำ อยากจะพัฒนาตนเองและชุมชน แต่ถ้าหากเขาไม่มีแรงบันดาลใจ พี่ๆ.มาชวนทำอะไรเขาก็ไม่อยากทำ เพราะเขาไม่เห็นประโยชน์ และต้องการให้เขาได้มีวิธีคิด และมีเครื่องมือที่สามารถนำกลับไปทำงานชุมชนร่วมกับผู้ใหญ่ได้ เป็นการเตรียมให้เขามีความพร้อมที่จะทำให้ผู้ใหญ่ยอมรับและเชื่อมั่นในตัวพวกเขาได้

­

ดังนั้นเป้าหมายของค่ายจึงเน้นกระบวนการให้เกิดขึ้นทั้งภายใน(ใจ)และทักษะ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง “เราคิดว่าจะทำให้พวกเขามองเห็นเรื่องของความจำเป็นของการที่จะอยู่ในสังคมนี้ให้ได้ และได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมแบบไหนที่ทำแล้วตนเองมีความสุข ชื่นชม เห็นคุณค่าและเคารพในตนเอง แต่ทำได้ต้อง ฝึกฝืนตนเองให้ได้เสียก่อนเพื่อให้เกิด ความเคยชินกับพฤติกรรมดีนำกลับไปทำซ้ำๆ จนกลายเป็นนิสัย พฤติกรรมดีของเด็กๆ แบบง่ายๆ เช่น การไหว้ พูดจาเพราะ ช่วยแม่ทำงานบ้าน รับผิดชอบตนเองได้ คือสิ่งที่ค่ายนี้จะบ่มเพาะให้ แต่เนื่องจากค่ายนี้มีระยะเวลา 15 วัน สิ่งที่ทำได้คือ ทำให้เด็ก เยาวชน ได้เรียนรู้ได้แค่ในระดับความคิด ดีและคิดว่าตนเองทำได้ ในช่วงที่ลงมือทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมดีให้เกิดขึ้นได้อย่างถาวรนั้น จึงต้องกลับไปฝึกทำต่อที่บ้าน และโรงเรียน ถ้าหากเด็กคนไหนที่ออกจากค่ายแล้วไม่สามารถ “ฝึกฝืน” ตนเองได้ คนรอบข้างต้องช่วยเขา ทั้ง พ่อแม่ ครู เพื่อน หากเด็กทำไม่ได้เขาก็จะไหลไปตามกระแสสังคม เหมือนที่เราเห็นๆกันอยู่ ”

แรงบันดาลใจมีความสำคัญกับเด็ก การที่เขาถูกกำหนดหรือบังคับให้ทำ ทำได้แค่ชั่วครั้งชั่วคราว เพราะเป็นอำนาจจากภายนอก แต่แรงบันดาลใจเป็นอำนาจภายในที่ผลักดันให้เขาทำด้วยตัวเขาเอง แล้วมีพลัง มีความสุข ทำให้เห็นคุณค่าในตนเองและจะทำให้มองเห็นคุณค่าของคนอื่น เรื่องการรู้ว่าเราเก่งหรือถนัดอะไร เขาไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร เป็แรงบันดาลใจให้เขาทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด แต่ถ้าเขาค้นไม่พบ เขาก็จะมีความสุขต่อเมื่อเขาทำได้เหนือคนอื่น เมื่อเขาถูกเปรียบเทียบว่าเขาดีกว่า แต่ถ้าเขายังรู้สึกเสมอหรือต่ำกว่า เขาก็จะไม่มีความสุข การรู้จักตนเองในแง่ 2 ด้านนี้จึงสำคัญกับพวกเขามาก


สมเกียรติ สาระ


เพื่อไม่ให้เด็กกลับสู่ร่อง(นิสัย)เดิมของตนเอง ดังนั้นเมื่อกลับมาในพื้นที่ การติดตาม/ประเมินผลและสนับสนุนต่อยอดจึงเป็นสิ่งสำคัญ ความร่วมมือระหว่าง อบต.หนองอียอ อ.สนม ,อบต.สลักได อ.เมือง,ทต.เมืองแก อ.ท่าตูม และทต.กันตวจระมวล อ.ปราสาท มูลนิธิยุวโพธิชน มูลนิธิสยามกัมมาจลยังคงมีต่อเนื่อง โดยมีโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 : การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนจัยเพื่อท้องถิ่น เป็นพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองให้ต่อเนื่อง โดยเข้ามามีส่วนร่วมในการทำหน้าที่เป็นผู้เก็บข้อมูลให้กับงานวิจัย ตลอดระยะเวลา 1ปี 6 เดือน ขั้นตอนนี้จึงมีความสำคัญที่จะบ่มเพาะให้พวกเขาฝึกฝืนตนเองให้เป็นคนใหม่ให้สำเร็จจนได้ในที่สุด

ด้านอบต.หนองอียอ นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอ ร่วมสะท้อนความว่า นี่เป็นครั้งแรกที่เราค้นพบวิธีการปรับเปลี่ยนเด็กนอกระบบให้มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น เมื่อเห็นแนวทางแล้วเราจะทำการขยายผลให้ครบทุกหมู่บ้าน ทุกคน หลังจากนี้อบต.ก็จะหนุนเรื่องต่างๆ ที่เด็กอยากทำ เช่น อยากทดลองทำเกษตรปลูกข้าวโพด เราก็สนับสนุนพื้นที่ พันธุ์ข้าวโพด ปุ๋ย เราต่อยอดความรู้ให้เด็ก เด็กอยากฝึกอาชีพช่างยนต์ ช่างไฟ เราก็ประสานภาคีให้ เราส่งเสริมแต่เราไม่ได้ทำกิจกรรมแยกเด็กนอกระบบออกจากชุมชน เป็นกิจกรรมรวมของชุมชนใครสนใจอยากฝึกอาชีพเข้ามาได้ เราอยากให้เด็กนอกระบบเขาได้คลุกคลีกับคนในชุมชน

­

อบต.พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมใหม่ให้พวกเขาได้สัมผัส ได้ทำอะไรให้ต่อเนื่องเพื่อพฤติกรรมดีๆ จะได้ดำเนินต่อไปจนกลายเป็นนิสัย กิจกรรมที่อบต. ให้เข้าร่วม อาทิ โครงการวิจัย ให้มาเก็บข้อมูล ทำแผนที่เดินดิน ให้สอบถามคนในชุมชน เขาได้กลายมาเป็นฐานกำลังสำคัญในการทำงานให้กับเรา และเขายังช่วยดูแลเด็กในชุมชนอีกด้วย “ปลายเดือนเมษายนนี้เรากำลังจะทำค่ายผู้ปกครอง เพราะถ้าเราพัฒนาเด็กเพียงลำพัง เขาก็กลับไปเจอสภาพแวดล้อมเดิมๆ พ่อแม่อาจจะเคยชินกับพฤติกรรมเดิมๆ เราจึงไปเสริมตรงนี้จัดค่ายให้พ่อแม่เข้ามาพูดคุย”

ผลดีที่เกิดขึ้นในชุมชน ได้กลุ่มเด็กมาทำงานชุมชน ลดปัญหาครอบครัว เช่น เกมก็ลองการทะเลาะวิวาทกับพ่อแม่ ลดเด็กกลุ่มเสี่ยง เขากลายเป็นเด็กที่มาช่วยเราในด้านอื่นๆ ด้วย ทำงานจิตอาสาต่างๆ แล้ว ชุมชนก็รู้สึกว่าเขาเห็นคุณค่าของเด็กมากขึ้น เขาหันมามองเด็กกลุ่มนี้มากขึ้น

นี่คือตัวอย่างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่รวมพลังกันสร้างสรรค์พื้นที่พัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยเพื่อรองรับการไทยแลนด์ 4.0 นั่นเอง

ชมกิจกรรมค่ายได้ที่นี่