เพื่อเป็นการยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัยให้มีความสามารถหรือทักษะการเป็นโค้ช มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) .องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ TOT ทบทวนและยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย 5 อปท. จังหวัดสุรินทร์ภายใต้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 4 ภาค ระยะที่ 3 : ขับเคลื่อนกลไกเพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนด้วยหลักการจัดการความรู้และกระบวนการวิจัย เฟรส 2 ระหว่างวันที่ 17 - 21 กรกฎาคม 2562 ณ เรือนกะยอมเฮาส์แอนด์รีสอร์ท อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี

สุทิน ศิรินคร ผู้จัดการโครงการต่อยอดและพัฒนาเครือข่ายเยาวชน มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงเป้าหมายของโครงการนี้ว่า... “เพื่อยกระดับสมรรถนะของพี่เลี้ยงวิจัย (ประกอบด้วยผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ อปท. นักถักทอชุมชน แกนนำชุมชนและแกนนำเยาวชน) ซึ่งเป็นทีมนักวิจัยหลักเฟรสที่ 1 โดยใช้โครงการวิจัยเยาวชนเป็นเครื่องมือในการเพิ่มพูนความรู้ ความสามารถหรือทักษะในการโค้ช ให้คำปรึกษา และสามารถออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อขับเคลื่อนกลไกด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น 5 อปท. จังหวัดสุรินทร์..” จึงเป็นที่มาของการจัดอบรมในครั้งนี้

สำหรับวัตถุประสงค์การอบรมครั้งนี้ 1.เพื่อให้พี่เลี้ยงวิจัยของแต่ละ อปท. มีความเข้าใจ เกิดการเรียนรู้ผ่านชุดประสบการณ์เกี่ยวกับสถานการณ์และแนวคิดการพัฒนาเด็กและเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ตลอดจนพัฒนาการของเด็กและเยาวชนในแต่ละช่วงวัย2.เพื่อให้พี่เลี้ยงวิจัยของแต่ละ อปท. .เพื่อทบทวนกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นแบบมีส่วนร่วมและยกระดับสมรรถนะขีดความสามารถหรือทักษะโคชของทีมพี่เลี้ยงวิจัยโครงการหลัก และ 3.เพื่อให้พี่เลี้ยงวิจัยโครงการหลักสามารถออกแบบและจัดกระบวนการเรียนรู้ให้แก่ทีมวิจัยเยาวชนของแต่ละแผนงาน/โครงการย่อยตลอดจนได้แผนงานและปฏิทินการทำงานร่วมกันของพี่เลี้ยงแต่ละตำบล

โดยมีทีมวิทยากรหลักจากมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน ประกอบด้วย รศ.สุจินต์ สิมารักษ์ ประธานมูลนิธิ , อาจารย์บุญเสริฐ เสียงสนั่น และอาจารย์วิเชียร สอนจันทร์ ซึ่งทำงานพัฒนาบุคลากรร่วมกับโครงการมาตั้งแต่เฟสที่ 1 มาเป็นผู้ให้การอบรมในครั้งนี้ และมีทีมวิทยากรร่วมเติมเต็ม คือ อาจารย์คะทาวุธ แวงชัยภูมิ

สำหรับพื้นที่เป้าหมายจังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ เทศบาลตำบลเมืองแก อำเภอท่าตูม , เทศบาลตำบลกันตวจระมวล อำเภอปราสาท , องค์การบริหารส่วนตำบลสลักได อำเภอเมือง , องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอียอ อำเภอสนม และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสนิท อำเภอจอมพระ จังหวัดสุรินทร์

อาจารย์บุญเสริฐ เสียงสนั่น มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน กล่าวว่าการอบรมครั้งนี้ได้จัดกระบวนการเรียนรู้โดยเน้น “กระบวนการจัดการเรียนรู้ผนวกกับกระบวนการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น” เพราะทั้งสองสิ่งนี้เป็นพื้นฐานของทีมพี่เลี้ยงนักวิจัย “การออกแบบการอบรมครั้งนี้คือ หนึ่ง การทบทวนเรื่องความรู้เดิมที่มีอยู่ สอง คือการพยายามเติมเต็มเรื่องความรู้ ทัศนคติเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ สาม การเสริมสร้างความรู้ทักษะ เทคนิคในการทำงาน ความรู้ทักษะในการทำงานจะใช้แกนเนื้อหาของงานวิจัยเป็นตัวเดินเรื่อง

อาจารย์บุญเสริฐ คลี่การออกแบบเรียนรู้ให้ฟังในแต่ละวันว่าเติมเต็มความรู้ ทักษะใดบ้าง “เริ่มวันแรก เป็นการทบทวน วันที่สอง การทำงานแบบนักจัดกระบวนการเรียนรู้ มีขั้นตอนอย่างไร วันที่สามและวันที่สี่ สร้างการเรียนรู้เรื่องทักษะ เทคนิค ความรู้ วันที่ห้า เป็นกระบวนการปฏิบัติการ”

“สำหรับผู้เข้าร่วมมีทั้งคนที่มีประสบการณ์และมีพื้นฐานเรื่องงานวิจัยท้องถิ่น และมีส่วนหนึ่งที่ได้ร่วมงานกับมูลนิธิสยามกัมมาจลมาพอสมควร เห็นว่า เขามีทักษะและชุดประสบการณ์อยู่ เพียงแต่ว่าการอบรมครั้งนี้ เราพยายามดึงเอาชุดประสบการณ์มาสร้างการเรียนรู้ร่วมกับคนใหม่ๆ ที่เข้ามา การอบรมครั้งนี้เป็นงานที่ต้องมาช่วยกันทำงาน มากกว่ามานั่งฟังว่าเข้าใจ ไม่เข้าใจ”

สุดท้ายคอร์สนี้ อยากเห็นสองเรื่องหลักให้เกิดคือ หนึ่ง มีชุดหลักสูตรในการหนุนงานของโครงการวิจัยในพื้นที่ มี 5 หลักสูตรได้แก่ หลักสูตรที่หนึ่งการศึกษาข้อมูลบริบทชุมชน ซึ่งทุกทีมจะมีงานนี้ หลักสูตรที่ 2 ไปหนุนให้ทีมวิจัยย่อยซึ่งเป็นทีมวิจัยเยาวชนมีความรู้ทักษะในการศึกษาข้อมูลประเด็นเฉพาะของโครงการ ซึ่งในแต่ละตำบลจะมีประเด็นเฉพาะ 3 โครงการแล้วแต่ว่า ในแต่ละพื้นที่จะมีเรื่องเฉพาะอะไร หลักสูตรที่ 3 เป็นการสรุปวิเคราะห์ข้อมูล เมื่อได้ข้อมูลมาแล้ว ทีมวิจัยเยาวชนจะไปสร้างกระบวนการให้ทีมวิจัยได้สามารถสรุปวิเคราะห์ข้อมูลอย่างไร รวมทั้งพอได้ข้อมูลมาแล้วจะออกแบบปฏิบัติการของเขาอย่างไร หลักสูตรที่ 4 คือหลักสูตรสนับสนุนการติดตามการปฏิบัติการ เมื่อไปศึกษาเรียนรู้ข้อมูลมาวางแผนแล้ว การปฏิบัติการของทีมเยาวชนจะทำอย่างไร ถ้าจะมีการติดตาม ระบบสนับสนุนการบันทึกผลนี่ เขาจะทำอย่างไรในส่วนของทีมวิจัย ฉะนั้นทีมชุดนี้จะไปจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ทีมวิจัยเยาวชนมีระบบติดตามบันทึกผล หลักสูตรสุดท้าย การสรุปผลกับการเขียนรายงาน การหนุนให้ทีมวิจัยของเยาวชนเขียนรายงานของตนเอง เมื่อได้ข้อมูลแล้ว สรุปผลแล้ว ระบบการเขียนรายงานของเยาวชนขนาดไหนอย่างไร ห้าหลักสูตรนี้จากคอร์สนี้ ทั้ง 5 อปท. ลองไปปรับใช้ว่าจะเหมาะสมสอดคล้องกับพื้นที่ของตัวเองอย่างไร

เรื่องที่ 2 ช่วงสุดท้ายอาจมีการปรึกษาหารือกันว่า ภายใต้ชุดโครงการ แต่ละพื้นที่จะมีแผนการปฏิบัติการหลังจากนี้อย่างไร หลักสูตรจะไปทำช่วงไหนอย่างไร ระบบการติดตามจะทำกันอย่างไร ระหว่าง 5 อปท.จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันช่วงไหน อย่างไร ” อาจารย์บุญเสริฐ กล่าว

เพื่อให้พี่เลี้ยงนักวิจัยเกิดความรู้ ความเข้าใจตามเป้าหมายของการอบรม ทางมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอีสาน จึงได้ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ในรูปแบบ Learning workshopทำให้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กับปฏิบัติไปด้วย แบ่งเป็น 21 หัวข้อย่อยดังนี้ 1.แนวคิด/กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 2.แนวคิด/กระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น 3. ทบทวนชุดประสบการณ์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นของ 5 อปท. 4.วงจรการจัดระบบการเรียนรู้ในงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น 5.สาเหตุ/แรงจูงใจ และวิธีการเรียนรู้ 6.เป้าหมายในการพัฒนา 7.การจัดกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ของ 5 อปท. 8.วงจรการอบรม 9. แนวคิดกระบวนการสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาเยาวชน จ.สุรินทร์ 2562 10.การวิเคราะห์ประเมินความต้องการอบรม 11.บทบาทภารกิจโค้ช(พี่เลี้ยงนักวิจัย) 12.บทบาท/ทักษะการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม 13.การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม 14.การกำหนดเนื้อหา 15. ออกแบบการจัดกระบวนการติดตาม/สนับสนุนโครงการวิจัย 16.ทักษะการเป็นวิทยากร(ฝึกพูด ฟัง จับประเด็น สังเกต) 17.คุณลักษณะของกระบวนกรที่ดี 18.ออกแบบการจัดกระบวนการการฝึกอบรม 19.สรุปบทเรียน/กิจกรรมการเรียนรู้ทักษะการสื่อสารกับเยาวชน 20. การทำงานเครือข่าย และ 22.ฝึกปฏิบัติจัดกระบวนการเรียนรู้ การสนับสนุนโครงการวิจัย

อาจารย์บุญเสริฐ ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของเนื้อหา ที่นำมาให้ผู้เข้ารับการอบรมได้เรียนรู้ ยกตัวอย่าง การกำหนดวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม “วัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม เป็นหลักการของการเรียนรู้ หรือ การฝึกอบรม เพราะงานแบบนี้มีช่วงเวลา 3 – 5 วัน ต้องหาวิธีที่จะบอกว่างานอบรมของเราบรรลุหรือไม่บรรลุ ฉะนั้น จะวัดได้ต้องเป็นเชิงพฤติกรรมที่กลุ่มเป้าหมายแสดงออก ไม่งั้นเราจะไม่สามารถวัดได้ว่างานเราบรรลุหรือไม่บรรลุ เวลาเราจัดกระบวนการจึงมีเป้าหมายชัดเจนพอสมควร เช่น ถ้าเราอยากให้เขาทำอันนี้เป็น ต้องบอกได้ว่า ทำอะไรเป็น เป็นขนาดไหน อย่างไร หรือทำให้คิดเรื่องราวพวกนี้ได้ มันต้องหาวิธีบอกได้ว่า ที่เขาคิดได้คืออะไร มันต้องเล่าไหม อธิบายไหม หรือความรู้ อันนี้เป็นพื้นฐานของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ้าสมมติเราสามารถระบุได้ว่า การจัดครั้งนี้ ถ้าจบอบรมแล้ว กลุ่มเป้าหมายต้องเป็นแบบนี้ แล้วสามารถวัดได้โดยเฉพาะเชิงพฤติกรรม คิดว่าเป็นหลักการพื้นฐานของการจัดกระบวนการเรียนรู้และถ้าทีมนี้เขาสามารถนำไปปรับใช้ในการทำงานได้ด้วย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ดี”

อาจารย์ประเสริฐ ได้ฝากทิ้งท้ายเป็นข้อคิดอย่างน่าสนใจไว้ว่า.. “เรื่องกระบวนการเรียนรู้ คนทำงานจำเป็นต้องมีพื้นฐานมีทักษะในการทำงานจึงจะไปสร้างกระบวนการเรียนรู้ได้ สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ผมคิดว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่บุคลากรของท้องถิ่นมีความจำเป็น ซึ่งที่ผ่านมาหลายส่วนพยายามสร้างเรื่องราวพวกนี้ เพียงแต่ว่าจะมีโอกาสมากน้อยต่างกัน แต่ถ้ากระบวนการที่เราทำกันทั้งแง่งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นและการจัดกระบวนการเรียนรู้นี่ ถ้าเจ้าหน้าที่ของ อปท.ไหนที่มีโอกาสทำแบบนี้ได้ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นโอกาสของชุมชนที่จะสามารถสร้างการพัฒนาบนฐานของการมีส่วนร่วม บนฐานของข้อมูลความรู้ที่จะสร้างความยั่งยืนในอนาคต”

ตลอดระยะเวลาการเรียนรู้ทั้ง 5 วัน ผู้เข้ารับการอบรมได้ร่วมสะท้อนสิ่งที่ได้เรียนรู้และสามารถนำไปใช้กับการทำงานของตนได้ เริ่มที่....

นายสุรศักดิ์ สิงห์หาร ปลัดเทศบาลตำบลเมืองแก กล่าวว่า “ทั้ง 5 วันที่ฝึกให้คือ ผมเข้าใจว่าฝึกให้เมื่อ กลับไปแล้วลุยงานต่อได้เลย วิทยากรอาจจะเครียดนิดหนึ่งว่า สิ่งที่ขาดอาจจะเยอะนิดหนึ่ง วันนี้จะเติมสิ่งที่ขาดให้เต็ม ส่วนที่สองก็คือ ถ้ามั่นใจกับเครื่องมือนี้ทั้งหมด จะทำให้ไม่พะวงกับงานประจำที่มีอยู่ เพราะส่วนใหญ่งานประจำที่มีก็บั่นทอนงานที่เรารับไปเหมือนกัน ก็ต้องฝึกเราให้แม่นก่อนแล้วเวลาลงปฏิทินงานนี่ แม้ปฏิทินงานจะทำให้ไม่ซ้ำซ้อนอย่างไร ผมเรียนว่า ผมจะเอาไปบูรณาการกับงานผมได้ ผมมีเงินบางส่วนมาสนับสนุนการทำโครงการย่อยนี้ เป็นแผนปฏิทินทำงาน เพื่อจะฝึกน้องที่มาด้วยกับผม 2-3 คน ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ ได้เครื่องมือใหม่ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมพลอยได้และน้องที่มาด้วยเป็นนักวิชาการบรรจุใหม่ สิ่งนี้จะติดตัวเขาไป กระบวนการจัดการอบรม กระบวนการจัดการเรียนรู้ที่ดีควรทำอย่างไร ตั้งแต่ อ่านไปถึงทำ ทำอย่างไรในการจัดการเรียนรู้ให้ลงมือทำมากที่สุด ผมเชื่อว่า เขาให้เราออกจากตรงนี้ไปด้วยความรู้สึกมั่นใจ กลับไปทำได้เลย ไม่มีภาระที่ห่วงกังวล”

นายไกรษร เพริศแก้ว นักวิชาการศึกษา เทศบาลตำบลเมืองแก กล่าวว่า... “การอบรมในครั้งนี้ ได้กระบวนการ และวิธีการเข้าไปหาเด็กที่ละเอียดขึ้น วิทยากรได้ขยายความเรื่องเราสามารถทำงานกับเด็กให้ดีได้ อย่างไร หลังจากเราเรียนรู้กระบวนการแล้วได้เรียนรู้เรื่องปลีกย่อย คือ เราต้องมีมิติที่สัมพันธ์กับเด็ก มีความใกล้ชิด ทำอย่างไรให้เขาไว้ใจได้ มีกระบวนการที่ปฏิสัมพันธ์กับเรา”

นายปฏิวัติ สระแก้ว รองนายก อบต.หนองอียอ กล่าวว่า... “สิ่งที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ เข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่การเป็นโค้ช ซึ่งต้องเน้นที่ตัวเรา ตัวทีมชุดนี้ จาก T (เทรนเนอร์) ตัวแรกที่เราเป็นขึ้นเป็น T (เทรนนิ่ง) ตัวที่สอง เพื่อเป็น T (ผู้ฝึกอบรม/พี่เลี้ยง) ให้นักวิจัยกลุ่มย่อยเขา โค้ชคือ เปรียบเทียบผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ทีมอีกทีมหนึ่ง สมมติเราเป็นโค้ชฟุตบอลเราก็ถ่ายทอดเรื่องฟุตบอลให้ได้”

นายสุเนตร ปทุมขวัญ หัวหน้าสำนักงานปลัด อบต.หนองอียอกล่าวว่า..."สิ่งที่ได้รับจากการอบรมในครั้งนี้ ตั้งแต่วันแรก คุยในเรื่องความคาดหวังว่า เราจะขับเคลื่อนงานสภาเด็กและเยาวชนที่เราตั้งเป้าไว้ 3 โครงการนี้ ในทิศทางใด เริ่มจะมองเห็นว่า มีวิธีการจะเข้าไปคุยกับเด็กอย่างไร ใครบ้างที่เกี่ยวข้อง คิดไว้ว่า มีการมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่รับผิดชอบ คนนี้จะรับด้านใด ด้านใดไปเพื่อให้งานออกมาชัดเจน คล้ายเป็นตัวละครที่จะแสดงบทบาทของแต่ละคน น่าจะขับเคลื่อนไปได้ดี"

นางสาวรัตนา สุขสบาย หัวหน้าสำนักงานปลัด เทศบาลตำบลกันตวจระมวล กล่าวว่า..."เข้ามาวันแรก กังวลว่าเราต้องไปเป็นโค้ช เป็นพี่เลี้ยงให้เด็กน้อย เด็กที่เข้าโครงการเน้นไปที่เด็กนอกระบบ น้องจะไม่คิด ไม่พูด ไม่บันทึก จะไม่อะไรเลย เค้าจะอยากทำอย่างเดียว แต่พออบรมทำให้ได้วิธีการแล้วว่าเราจะไปทำอะไรกับเด็กพวกนี้ หวังว่า เราจะได้ตามที่คิดหวัง ได้วิธิการไปทำกับพี่เลี้ยง เด็กกลุ่มย่อยที่โรงเรียน ทำอย่างไรโครงการนี้ถึงสิ้นสุด บรรลุวัตถุประสงค์”

นางสาวอาทิตยา บุญสม ผู้ช่วยนักวิเคราะห์นโยบายและแผน เทศบาลตำบลกันตวจระมวล กล่าวว่า..."ทักษะที่ได้จากการอบรมครั้งนี้ เป็นทักษะการฟังและการจับประเด็น จากแต่ก่อน เราได้แค่ฟัง ฟังแล้วก็สรุปข้อมูลนิดหน่อยแล้วเอามาเขียน แต่อันนี้ ให้เรารู้จักหัดสังเกตด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนที่กำลังพูด หรือคนที่เขากำลังฟังคนที่พูด เหมือนเราได้เก็บรายละเอียดในการทำงานที่ผ่านมาไปด้วย แต่ก่อนเราแค่ฟังเฉยๆ เราไม่ได้สังเกตว่า เขาพูดอย่างไร เขามีปฏิกริยาอย่างไร มีพฤติกรรมอย่างไร"

นายสมเกียรติ สาระ หัวหน้าสำนักปลัด องค์การบริหารตำบลหนองสนิท กล่าวว่า... "ความรู้ใหม่ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ เป็นในเรื่องของการเข้าถึงตัวเยาวชน แนวคิดการทำงานกับเด็ก เราจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร มีแนวคิดอย่างไรที่จะเข้าถึงตัวเด็กจริง ๆ ทำอย่างไรให้เด็กมาร่วมกิจกรรม มีข้อตกลงร่วมกัน มีข้อที่ทุกคนปฏิบัติร่วมกันอย่างไร การไม่ดุเด็ก ไม่ตัดสินเด็ก เราก็จะได้ความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อที่เราไปทำงานกับเด็กในพื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา คิดว่าเราจะได้ใช้ตรงนี้มาใช้เพิ่มเติมของเรา"

นางธัญธรณ์ พจนะแก้ว ครู กศน. ตำบลหนองสนิท เครือข่ายทำงานร่วมกับ อบต. หนองสนิท "การอบรมครั้งนี้ ได้เรียนรู้เรื่องการเติมเรื่องกระบวนการเป็นโค้ชชิ่งในการทำวิจัยให้กับเด็กรุ่นใหม่ เช่น การฟังอย่างเป็นระบบ การคิดอย่างเป็นระบบ การถ่ายทอดในเรื่องของทักษะกระบวนการคิดเป็น วางแผนอย่างเป็นระบบบนกรอบแนวคิดที่จะลงไปในพื้นที่ เราจะต้องเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนดูแล เป็นคนถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ในการที่จะไปสร้างใครสักคนที่จะไปทำหน้าที่ เชื่อมร้อยกิจกรรมได้ในกิจกรรมของการวิจัย"

นางนันทนะ บุญสอน นักวิเคราะห์นโยบายและแผน องค์การบริหารส่วนตำบลสลักได กล่าวว่า... " สิ่งที่นำไปใช้กับงานวิจัยงานเด็ก อย่างน้อยเรื่องการประชุมกลุ่ม อย่างน้อยเรื่องการสร้างความคุ้นเคยกับเด็กก่อน ให้เขาค่อยๆ เรียนรู้งาน ค่อยๆ สอนงานเขา ในเรื่องการจัดกิจกรรม จัดกระบวนการเรียนรู้ ถ้างานวิจัยเรา แรกคือ สร้างความคุ้นเคยให้เขารู้จักคิดก่อนว่าจะต้องทำอะไร อย่างไรในเรื่องของกระบวนการวิจัย"

นายสุรินทร์ อยู่ดีรัมย์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผน องค์การบริหารส่วนตำบลสลักได กล่าวว่า... " การอบรมในครั้งนี้เน้นให้เราเรียนรู้วิธีการทำวิจัยและสามารถที่จะไปเป็นโค้ชของทีมวิจัยในโครงการของเราได้ เราต้องไปเป็นอาจารย์สอนอีกรุ่นครับ โค้ชวิจัย มันเหมือนโค้ชทีมฟุตบอล มีเป้าหมายจะทำอะไร ต้องแบ่งหน้าที่ให้แต่ละคนเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย"

ในโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว กับความพยายามในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรท้องถิ่นให้มีความสามารถและทักษะใหม่ๆ ที่สำคัญในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อให้เป็นฟันเฟืองสำคัญในพัฒนาพัฒนาเด็กและเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น บุคลากรในโครงการนี้ ถือว่าเป็น “ตัวตั้งต้น” ที่สำคัญในการขยายผลทักษะ ความรู้ กระบวนการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ไปสู่ อปท.อื่นๆ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์

จึงขอฝากคำกล่าวของ รศ.สุจินต์ สิมารักษ์ ทิ้งท้ายไว้ "ความสำคัญที่จะพัฒนาท้องถิ่นทุกวันนี้ เด็กและเยาวชนของโครงการเราเป็นเด็กและเยาวชนที่เข้าไม่ถึงการศึกษาในระบบและมีเด็กในระบบส่วนหนึ่ง เด็กเหล่านี้ขาดทักษะ ต้องการอาชีพและต้องการอยู่กับชุมชนอย่างกลมกลืน แทนที่จะเป็นภาระ ถ้าเราใช้กระบวนการตรงนี้เข้าไป แล้วเด็กปรับตัวจากการเป็นภาระสังคม กลับเป็นผู้ทำให้สังคมได้รับบริการจากเขาด้วยและตัวเขาเองก็สามารถทำเป็นอาชีพได้ด้วย ตรงนี้ เป็นอานิสงค์ที่ดีสำหรับประเทศชาติ เนื่องจากที่เราบอกว่า เป็นช่องว่าง เด็กพวกนี้เป็นส่วนสำคัญต่อประเทศไทย ตอนนี้เรากำลังเข้าสู่สังคมวัยชรา หากเราไม่เตรียมคนในชุมชน ในประมาณ 10 ปีข้างหน้า เปอร์เซ็นต์คนชราจะมากกว่านี้อีก ตอนนี้ประมาณ 14% เด็กพวกนี้หากมีอาชีพ พึ่งตนเองได้และคิดว่า สังคมเป็นภาระที่เขาจะต้องดูแล นี่เป็นประโยชน์ระยะยาวที่จะเกิดขึ้น"

............................................................

บทความ อบรม TOT พี่เลี้ยง .pdf

ติดตามกิจกรรมขับเคลื่อนในเวทีได้ที่นี่