"...อยู่บ้านไม่ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านนอนตื่นสาย ไม่ไปเรียนหนังสือ ขี้เกียจ ไม่กล้าแสดงออก ฯลฯ..” นี่คือเสียงสะท้อนคุณสมบัติเด็ก-เยาวชนไทยที่ไม่พึงประสงค์ที่นับวันจะเพิ่มทวีคูณขึ้น และลุกลามไปทุกหมู่บ้าน ทุกตำบลของเมืองไทย กลายเป็นอุปสรรคที่จะพัฒนาเยาวชนไทยให้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะพัฒนาคนของชาติ ให้เป็นกำลังสำคัญที่จะนำพาประเทศก้าวสู่ Thailand 4.0


ตลอดระยะเวลา 12 ปี สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ ภายใต้ชุมชนนิเวศเอเชีย ได้จัดค่ายพัฒนาแกนนำเยาวชนขึ้นเป็นจำนวนมากมายหลายแบบ หลายครั้ง และพบว่าค่ายที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก่เยาวชนมากที่สุดคือ ค่ายยุวโพธิชน หรือ ค่ายฤดูร้อน ที่ใช้ระยะเวลาถึง 21 วัน นอกจากเยาวชนจะได้แรงบันดาลใจและแนวทางแล้ว พวกเขายังมีเวลามากพอที่จะบ่มเพาะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตนเองไปทางบวกทั้งในด้านความเป็นผู้นำ การทำงานแบบมีส่วนร่วม ใฝ่เรียนรู้ การมีจิตใจอาสารับใช้สังคมเป็นต้น เนื่องจากเล็งเห็นศักยภาพของการจัดค่ายต่อเนื่อง 21 วันที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กและเยาวชนได้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สถาบันยุวโพธิชน มูลนิธิสัมมาชีพ สถาบันเสริมสร้างการเรียนรู้เพื่อชุมชนเป็นสุข (สรส) มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สำนักงานกองทุนสนับสุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นและมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด(มหาชน) จึงได้ร่วมกันจัด “ค่ายสร้างเครือข่ายและพัฒนาภาวะการนำของแกนนำเด็กและเยาวชน : สร้างไฟฝันปั้นอุดมคติให้เบ่งบาน” ระหว่างวันที่ 18 มีนาคม - 7 เมษายน 2560ณ ศูนย์เรียนรู้ชาวดิน ต.หว้าทอง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ภายใต้การดำเนินโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 : การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กและเยาวชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาของชุมชนตนเองร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนอย่างเต็มกำลัง มีส่วนร่วมคิด ตัดสินใจ และลงมือทำเคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใหญ่ในชุมชน


กลุ่มเป้าหมาย แกนนำเยาวชนในพื้นที่ อบต.หนองอียอ และ เทศบาลตำบลเมืองแก จ.สุรินทร์ จำนวน 25 คน เป้าหมายของค่ายเพื่อพัฒนาภาวะการนำของแกนนำเด็กและเยาวชนให้เป็นผู้นำรุ่นใหม่ที่มีแรงบันดาลใจ และเครื่องมือในการฝึกฝนตนเอง สามารถนำหลักธรรมมาใช้ในชีวิตประจำวัน เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงที่มีจิตอาสารับใช้สังคม รวมถึงการเป็นผู้สามารถคิดวิเคราะห์แยกแยะคุณค่าแท้คุณค่าเทียมได้ และนำไปสู่การตัดสินใจเลือกการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม จัดกระบวนการเรียนรู้สำหรับแกนนำเด็กและเยาวชนเพื่อให้เกิดความรักและเห็นคุณค่าของชุมชนท้องถิ่น มีแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาปฏิบัติการเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง และเสริมทักษะการสืบค้นและจัดเก็บข้อมูลรวมถึงการบริหารจัดการโครงการอย่างมีส่วนร่วมสำหรับแกนนำเยาวชน เพื่อให้สามารถสนับสนุนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นร่วมกับผู้ใหญ่ในชุมชนของตนเองได้


วราภรณ์ หลวงมณี ผู้อำนวยการสถาบันยุวโพธิชน ได้เผยถึงกระบวนการบ่มเพาะภายในค่ายว่า“กระบวนการค่าย 21 วัน สิ่งแรกที่ค่ายทำก็คือเรื่องของทีม เรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเน้นแบบที่ลงลึก ไม่ใช่แค่คุยกันได้ เล่นกันได้ แต่ให้มารู้จักข้างในของกันและกันด้วย สามารถเปิดเผยเรื่องราวลึกๆ ของกันได้ รับฟังความแตกต่างของตัวเองกับเพื่อนได้ ยอมรับตนเอง ยอมรับเพื่อน การสอนเรื่องทีมเราใช้วิธีให้เขาผ่านประสบการณ์ตรงและดึงการเรียนรู้มาจากตัวเขาเอง เพื่อให้เขาเชื่อมั่นในตนเองว่าเขาสามารถสร้างองค์ความรู้ของเขาเองได้ ถ้าจากเรื่องเรื่องทีม เมื่อมีฐานอยู่ในขั้นการไว้วางใจกันระดับหนึ่ง ก็มาทำเรื่องการรู้จักตนเอง เข้าใจตนเอง ที่กล้าเปิดเผยตนเองมากขึ้น และเข้าใจผู้อื่น ใช้กิจกรรมผ่านประสบการณ์ อาทิ ดูหนังเพื่อให้เห็นตัวอย่างคนที่พยายามเข้าใจตนเอง กิจกรรม “ธาตุ 4 หรือสัตว์สี่ทิศ” เป็นภูมิปัญญาโบราณที่แบ่งผู้นำออกเป็น 4 แบบ เป็นเครื่องมือในการฝึกวิเคราะห์ตนเอง ฝึกสังเคราะห์ “ชีวิตที่สมดุลทั้ง 4 แบบจะเป็นอย่างไร” เมื่อผ่านกิจกรรมนี้จะทำให้เขาสามารถที่จะสังเกตตัวเองได้ และพูดถึงได้ยอมรับตามที่เป็น และเห็นทั้งจุดแข็ง จุดอ่อน รู้ว่าตัวเองจะแก้อะไร ก็เชื่อว่าถ้าเขาเห็น เขายอมรับเขาจะแก้ แต่ถ้าเขาไม่เห็น ไม่ยอมรับ แล้วบอกให้เขาไปแก้ เป็นไปได้ยาก อีกกิจกรรมที่ใช้คือ การเรียนรู้ “นพลักษณ์” ซึ่งช่วยให้เขาได้รู้จักตัวตน เข้าใจตนเองและเปลี่ยนแปลงตนเอง เพื่อให้พ้นจากความทุกข์ที่ครอบงำชีวิต ซึ่งเกิดจากวิธีคิดและพฤติกรรมที่เป็นพิษกับตนเอง จุดประสงค์รองลงมาคือ การเข้าใจโลก เข้าใจผู้อื่น แต่มิใช่เพื่อหวังที่จะเปลี่ยนแปลงเขาให้ได้ดังใจของเรา แต่เพื่อการเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง หมายถึงการปรับตัวรวมทั้งวิธีการคิดและปฏิบัติของเราต่อเขาให้ เหมาะสมกับบุคลิกและธรรมชาติของเขามากยิ่งขึ้น เป้าหมายคือให้รู้จักตัวเองว่าถนัดอะไร เก่งอะไร แต่จริงๆ ค่าย 21 วัน บางคนยังไปไม่ถึงตรงนี้เสียทีเดียวแต่อย่างน้อยจะทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจที่จะค้นหาต่อ

­

เมื่อเด็กทำความรู้จักตนเองแล้ว ค่ายเริ่มให้เครื่องมือในการเรียนรู้ ได้แก่การฟังอย่างลึกซึ้ง การฟังด้วยใจ การคิดอย่างเป็นระบบ การพูด การตัดสินใจ การเขียนและการอ่าน “ในเรื่องการฟัง ค่ายนี้ยากและหนักมาก ผ่านไป 10 วัน เด็กกลุ่มนี้ ถึงจะนิ่งเพื่อที่จะฟังได้ ซึ่งใช้เครื่องมือหลายตัว เช่น จับกลุ่มเล่าเรื่อง ฟังแล้วให้จับประเด็น กิจกรรมสายธารชีวิต ให้ผลัดกันเล่าและฟัง เป็นต้น หลังจากฟังก็เริ่มให้เขาคิดเป็นระบบ โดยใช้เครื่องมือการตั้งคำถาม พยายามให้เขาพูดแล้วมีเหตุและผลพร้อมกันไปด้วย จากวันแรกๆ พูดเป็นคำๆ หลังๆ เขาสามารถพูดเรียงจนเป็นระบบมากขึ้น เรื่องการพูด ใช้เครื่องมือคือการยกมือพูด จากวันแรกๆ จะใช้การเวียนให้พูดทุกคน หลังๆ ให้ยกมือพูดซึ่งเป็นการพูดผ่านการตัดสินใจมาแล้ว และการพาออกไปพูดในที่สาธารณะที่ตลาดคลองถม ตลาดที่มีคนเยอะๆ ที่มีเสียงคนมากมาย แล้วไม่ได้มีใครตั้งใจฟังเรา จะทำให้เด็กเขากล้าต่อสู้กับความกลัวที่อยู่ภายในแล้วเขาก็มีวิธีการจัดการ ไม่มีคนไหนที่พูดไม่ได้ เขาขึ้นไปก็พยายามที่จะพูดไป พอลงมาเขาก็มีความเชื่อมั่นว่าตนเองทำได้ พอกลับมาก็ถอดบทเรียนกัน จากการฟัง การพูด การคิดแล้ว ก็มาถึงการเขียน จะให้เด็กๆ เขียนบันทึกก่อนนอน ใช้วิธีเขียนแบบจับเวลา 10 นาที เขียนโดยดูความคิดที่มีขึ้นมาแล้วก็เขียนตามนั้น โดยไม่ได้คำนึงว่าเขียนผิดหรือถูก ทำให้คนที่เขียนไม่เก่งกล้าที่จะเขียนมากขึ้น”

เมื่อรู้จักตนเอง รู้จักที่จะเรียนรู้แล้ว มาถึงการรู้จักธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ ว่ามีความสัมพันธ์กับตนเองอย่างไร “เราพยายามโยงให้เขาเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ ทำให้มนุษย์อยู่รอดได้อย่างไร พาพวกเขาไปที่ท้ายเขื่อน ไปหาปลา หาหอย และเรียนรู้ในป่าชุมชน 700 ไร่ พาเด็กเข้าไปเรียนในป่าร่วมกับชาวบ้าน เอาข้าวเหนียวไปกลุ่มและ 1 กิโล และแจ๋วบองแค่นั้น แล้วเขาก็เข้าไปหาของป่า ชาวบ้านเขาตัดไม้ไผ่เอามาหุงข้าว มาต้มปลา เราให้เขาได้เรียนรู้ธรรมชาติ และกิจกรรมที่นำมาใช้ช่วงนี้คือ สภาสรรพสิ่งเป็นวิชาที่ได้มาจากเรื่อง Vision Quest ให้เด็กทำหน้ากากให้ตัวเองเป็นสัตว์แล้วก็พูดในนามสัตว์ตัวนั้นว่าตัวเองได้รับผลกระทบอะไรจากมนุษย์ คล้ายๆ บทบาทสมมุติ มีกระบวนการทำให้เขาอินโดยการพาพวกเขาเข้าไปเดินในป่าตอนกลางคืน มีแต่งเรื่องราวนายพรานมายิงสัตว์ตายหมด วิญญาณสัตว์ก็เข้าสู่สภาสรรพสิ่งเข้าไปร้องเรียนเทวดาว่าตัวเองถูกมนุษย์กระทำอะไรบ้าง มีเทวดาเป็นคนซักถาม กิจกรรมนี้คือเรื่องของการเชื่อมโยงตนเองกับธรรมชาติ”

­

เมื่อเริ่มรู้จักธรรมชาติ ก็พาเด็กมารู้จักสังคม ใช้วิชาพาเด็กสำรวจชุมชน ผ่านเครื่องมือ PRA (Participatory Rural Appraisal) การวิเคราะห์ชุมชนแบบมีส่วนร่วม“ให้เด็กสำรวจชุมชน ไปคุยกับชาวบ้าน แต่ก่อนไปคุยเราก็สอนทักษะการตั้งคำถามปลายเปิด และใช้หนัง เรื่อง The Story of Stuff เป็นงานวิจัยที่ทำมา 10 ปี ทำให้เห็นระบบการทำให้ตลาดหมุนได้ เป็นระบบหมุนเวียนที่เห็นว่าโลกถูกทำลายไปเรื่อยๆ อย่างไร เราหลอมวิชาเหล่านี้ให้อยู่ในค่าย 21 วัน แต่ทุกวิชาต้องโยงกลับไปมาที่ตัวเขา เราจะไม่สอนอะไรที่มันลอยๆ ถึงแม้เขาจะเรียนรู้เรื่องโครงสร้างสังคม เขาก็ต้องโยงกลับมาที่ตัวเขาเอง ตัวชุมชนของเขาเองให้ได้ ซึ่งช่วงนี้เด็กจะได้เรียนรู้ว่า อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล)มาสัมพันธ์กันอย่างไร”


สิ่งสำคัญที่ค่ายนี้ให้เด็กเรียนรู้และ “ฝึกฝืน” ตนเองมีอีกหลายเรื่อง อาทิ การได้ทำงานในชีวิตประจำวัน “เราทำให้เป็นวิถีชีวิต เช่น เรื่องตื่นนอน ใน 21 วัน จะสามารถบ่มเพาะตรงนี้ได้ ตื่นเช้า ลุกขึ้นมาสวดมนต์ ภาวนา แล้วก็ไปเป็นลูกศิษย์พระถือปิ่นโตให้กับพระที่ไปบิณฑบาต เป็นการฝึกให้เขาตื่นเช้าทุกวัน รับผิดชอบตัวเอง เก็บที่นอน ซักผ้า ล้างจาน ทำความสะอาดที่พัก ฯลฯ และมีการสอดแทรกเรื่องคุณค่าแท้และคุณค่าเทียม เราให้เห็นความคุณค่าของการใช้แรงงาน ไม่ใช่ให้เห็นคุณค่าเฉพาะคนคิดเก่ง คนพูดเก่ง คนที่ใช้แรงงานก็สำคัญ เรื่องการเป็นผู้นำ ทำให้เขาเห็นขุมทรัพย์ภายในตัวเอง ใช้ผู้นำสี่ทิศ (เหยี่ยว/ หมี /กระทิง/หนู) เราจะบอกเขาให้นำทั้งสี่ทิศมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม ประโยชน์คือเข้าใจตนเอง และผู้อื่น และเกิดแรงบันดาลใจ ตรงนี้ไม่ได้สามารถเปลี่ยนแปลงได้แท้จริง แต่จะเป็นแรงบันดาลใจที่จะค้นหาตัวเอง ค้นหาเป้าหมายชีวิตตัวเอง รู้จักตัวเองลึกขึ้น มีแรงบันดาลใจที่จะทำงานเป็นทีม แรงบันดาลใจที่จะทำเพื่อผู้อื่น” “..แรงบันดาลใจมีความสำคัญกับเด็ก ถ้าเขาถูกบังคับให้ทำ จะทำได้เพียงชั่วคราวเพราะเป็นอำนาจจากภายนอก แต่แรงบันดาลใจเป็นอำนาจจากภายในที่ผลักดันให้เขาทำด้วยตัวเขาเอง มีพลัง มีความสุข เห็นคุณค่า พอเห็นคุณค่าตัวเอง ทำให้เห็นคุณค่าคนอื่นได้ด้วย เวลารู้จักตัวเองอย่างถึงที่สุดแล้วก็คือเพื่อ 1.การไม่ยึดมั่นในตัวตนในทางพุทธ ละความเป็นตัวตนของตัวเองลงได้ 2.เมื่อเรารู้ว่าเราเก่ง เราถนัดอะไร ทำให้ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร เป็นแรงบันดาลใจให้เขาทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุดโดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับใคร แล้วเขาก็มีความสุขกับสิ่งนั้น แต่ถ้าเขาค้นไม่พบเขาจะมีความสุขต่อเมื่อเขาทำได้เหนือคนอื่น เมื่อเขาถูกเปรียบเทียบว่าเขาดีกว่า แต่ถ้าเขายังรู้สึกเสมอหรือต่ำกว่า เขาจะไม่มีความสุข ในค่ายเราพยายามยึดหลักให้เด็กได้อะไรจากตัวพวกเขากลับไป แต่ความเข้มข้นหรือการลงแรงกับเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ก็ขึ้นอยู่กับพลังของกลุ่มนั้นๆ ด้วย”



น.ส.นิดติยา เห็นสิน (อ๋าย) อายุ 17 ปี เรียนที่วิทยาลัยการอาชีพท่าตูม เยาวชนทต.เมืองแก จ.สุรินทร์ หนึ่งในเยาวชนที่เข้าค่ายได้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในตนเองว่า“ค่ายนี้ทำให้หนูเปลี่ยนแปลงมากค่ะ ก่อนมาค่ายหนูเป็นคนที่ตื่นสาย อยู่ค่ายทำให้ตรงต่อเวลา ขยันทำงานมากขึ้น ที่พี่เขาฝึกเราอย่างนี้หนูก็ชอบเหมือนกันค่ะ เหมือนเขาฝึกให้เราใช้ชีวิตแบบพอดี ฝึกให้เราช่วยเหลือตัวเอง ทำให้เราขยัน พอเราขยันก็เกิดผลดีกับตัวเราเอง ก็รู้สึกดี จากที่เราเป็นคนขี้เกียจ แต่พอมาอยู่ค่ายนี้เราต้องฝึกทุกอย่าง ทั้งกวาดบ้าน ซักเสื้อผ้า การอยู่แบบประหยัดส่งผลดีให้กับตัวเราเอง ค่าย 21 วันหนูคิดว่าสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเราได้ กลับจากค่ายครั้งนี้หนูคิดว่าจะกลับไปเปลี่ยนนิสัยตัวเองจากที่เป็นคนขี้เกียจก็จะช่วยเหลือพ่อแม่เท่าที่ทำได้ค่ะ หนูอยากให้พ่อแม่ภูมิใจในตัวหนู จะบอกว่าหนูซักผ้า กวาดบ้านได้แล้ว เมื่อก่อนไม่เคยทำมาก่อน ตอนนี้เราทำได้แล้ว ตอนอยู่บ้านทำให้เราขี้เกียจเพราะมีพ่อแม่ทำให้หนูทุกอย่าง แต่พอมาอยู่ค่ายเราต้องเอง เพราะมีแรงกระตุ้นให้ทำ เพราะเราต้องอยู่ร่วมกับคนหมู่มาก กลัวเขาจะมองว่าเราเป็นคนขี้เกียจไม่อยากจะทำอะไร เลยทำให้หนูรู้สึกว่าเราต้องทำ ทำให้คนอื่นเห็นว่าฉันก็ขยันนะ อยู่ที่นี่เราต้องพึ่งตัวเอง ช่วยเหลือตัวเองและช่วยเหลือคนอื่นด้วย มาอยู่นี่ฝึกการช่วยเหลือตัวเองถ้าเราไม่ซักผ้าก็ไม่มีใครซักให้เรา แต่อยู่บ้านถ้าเราไม่ซักเรายังไม่แม่ แม่เห็นว่าเสื้อผ้าเราเยอะก็เก็บไปซักให้ และยังได้เรื่องของกล้าแสดงออก เมื่อก่อนเป็นที่อยู่บ้านดูแต่ทีวีคนเดียว เราไม่ค่อยได้ออกไปช่วยเหลือขุมชน แต่พอมาค่ายนี้เขาช่วยเรื่องกล้าพูด กล้าคิด และกล้าแสดงออก พอเรากล้าแสดงออกก็คิดว่าเราก็กล้าที่จะเป็นผู้นำให้กับน้องๆ ที่ชุมชน กล้าที่จะทำงานในชุมชน กลับบ้านไปจะไปชวนน้องๆ ไปเก็บขยะตามวัด ตามชุมชน แล้วมาคัดแยกขยะ ขยะไหนสามารถขายได้ก็เอาไปขายเพื่อใช้เป็นทุนต่อไป คิดว่าโครงงานนี้จะทำสำเร็จนะคะเพราะเรามีทั้งผู้ใหญ่ที่คอยช่วยเหลือ และมีน้องๆ ที่มาช่วยพวกเราทำค่ะ”



ตลอดระยะเวลา 21 วัน ที่เด็ก เยาวชนทั้ง 25 คนได้ใช้ชีวิตบ่มเพาะในค่าย เป้าหมายสำคัญคือการเตรียมความพร้อมให้เขาเหล่านี้สามารถที่จะมีเครื่องมือบางอย่าง และ สามารถที่จะคิดอะไรได้บางอย่าง เพื่อไปคุยกับผู้ใหญ่และให้ผู้ใหญ่ยอมรับและเชื่อมั่นในตัวเขาได้ ซึ่งเส้นทางเดินเริ่มจากค่ายคือจุดเริ่มต้นบ่มเพาะการเดินทางไปสู่ เยาวชนที่มี ”จิตสำนึกความเป็นพลเมือง” ค่าย 21 วัน คือพื้นที่จุดประกาย สร้างแรงบันดาลใจให้เขา แต่บ้านเกิดคือพื้นที่จริงที่พวกเขาจะต้องนำประสบการณ์ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยผ่านโครงการพัฒนาเยาวชนในชุมชนท้องถิ่น (4 ภาค) ระยะที่ 3 : การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาเยาวชนด้วยการจัดการความรู้และกระบวนวิจัยเพื่อท้องถิ่น ซึ่งมีเป้าหมายที่ปัญหาของชุมชนได้รับการแก้ไข ทั้งสองพื้นที่ อบต.หนองอียอและทต.เมืองแก จ.สุรินทร์ ได้รับช่วงต่อในการบ่มเพาะเยาวชน โดยเปิดพื้นที่ สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและชุมชนท้องถิ่นผ่านโครงงานสร้างสรรค์ชุมชน ระยะเวลากระบวนการมีส่วนร่วมเป็นเวลาหลายเดือนนั้น จะทำให้พวกเขามีความสามารถมากขึ้น และมีจิตใจอาสารักการทำเพื่อผู้อื่น และชุมชนของตนเอง เพราะการได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำอย่างเป็นระบบนั้นจะทำให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะสำคัญของพลเมืองในศตวรรษที่ 21 ที่จะทำให้พวกเขาเติบโตในสังคมนี้อย่างมีความสุข และได้ใช้ศักยภาพของตนเองอย่างเต็มภาคภูมิและเพื่อเป็นเส้นทางก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีองค์กรในท้องถิ่นเป็นกลไกสนับสนุนทั้งงบประมาณและการติดตาม ตลอดเส้นทางการใช้ชีวิตของพวกเขา นับตั้งแต่วันนี้ไป คือการบ่มเพาะให้เกิดจิตสำนึกรักชุมชนและห่างไกลจากคุณลักษณะพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์นั่นเอง ติดตามชมภาพกิจกรรมได้ที่นี่