การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสืบทอดและสานต่อเพลงกลองยาวของชุมชน จังหวัดตรังปี 4

กลองยาวปากแจ่ม จังหวะชีวิตของชุมชน

โครงการสืบสานการเล่นกลองยาว

จากลมหายใจที่รวยรินของการกลองยาวปากแจ่ม วันนี้ทำให้ผู้คนหันมาสนใจการละเล่นกลองยาวมากขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใหญ่หันกลับมาปลุกกลองยาวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง…ปัจจุบันกลองยาวในตำบลปากแจ่ม เริ่มมีวงผู้ใหญ่ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับ ล่าสุดมี 3 วง คือสายหน้าเขา สายหนองหอย และสายคลองคุ้ย

แม้ฝนจะตกๆ หยุดๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคแต่ประการใดสำหรับการฝึกซ้อมเพลงกลองยาวของกลุ่มนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองคุ้ย ตำบลปากแจ่ม อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เพราะบทเพลงที่พวกเขาเล่น กลองที่พวกเขาตี คือสิ่งที่คนรุ่นปู่รุ่นย่า เพียรพยายามรักษาและส่งต่อสืบกันมา

นั่นหมายความว่า...การฝึกซ้อมอย่างหนักหน่วง ไม่เพียงทำให้เกิดความชำนิชำนาญในบทเพลงกลองยาว หากยังหมายถึง “วงกลองยาว” ที่เคยเป็นเหมือน “ลายเซ็น” ของบ้านปากแจ่มที่ว่า คราใดที่ชุมชนหรือหมู่บ้านละแวกใกล้เคียงมีงานบุญงานกุศลวงกลองยาวจากบ้านนี้จะมีโอกาสแสดงอวดฝีมือให้ผู้คนได้รับรู้

“เมื่อก่อนในตำบลเราเคยมีวงกลองยาววงใหญ่เป็นที่เลื่องลือ แต่ตอนหลังเริ่มหายไป” โย-ไชยโย เสนี เด็กหนุ่มช่างสังเกตจากปากแจ่มบอก พร้อมๆ กับวิเคราะห์ว่า เสียงกลองยาวที่เงียบลง เพราะคนเริ่มให้ความสำคัญกับวงดนตรีประเภทอื่น เมื่อรวมกับการขาดคนรุ่นใหม่สานต่อสืบทอด เสียงของ “กลองยาวปากแจ่ม” อันเลื่องชื่อก็ค่อยๆ จางหายไปจากชุมชน

“แต่ชุมชนยังคงต้องการกลองยาวเสมอ เพราะในชุมชนยังมีกิจกรรมด้านศาสนา หรือกิจกรรมบันเทิงต่างๆ ยังต้องอาศัยเสียงจากเครื่องดนตรีพื้นบ้านชนิดนี้ เช่น งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า งานแห่เรือ แห่พระ งานเดือนสิบ งานสงกรานต์ เหล่านี้คือวิถีของชุมชนที่กลองยาวสามารถเติมสีสันให้ประเพณีดังกล่าวมีเสน่ห์ยิ่งขึ้น” ครูวงศ์วิษณ์ แจ้งไข่ ครูโรงเรียนบ้านคลองคุ้ยที่มีความรู้และเชี่ยวชาญเรื่องดนตรีพื้นบ้าน โดยเฉพาะกลองยาว ชี้ให้เห็นความจำเป็นของชุมชนที่ยังต้องการให้มีวงกลองยาว

“แต่ปัญหาคือจะสร้างเยาวชนของเราอย่างไร ให้ภูมิใจในสิ่งที่ชุมชนมี...และร่วมกันสืบทอด”และด้วยโจทย์นี้ ครูวงศ์วิษณ์จึงพยายามตั้งวงกลองยาวเล็กๆ ขึ้นในโรงเรียนและฝึกเด็กชายหญิงที่รักและสนใจในเพลงกลองยาว หวังให้สืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนแต่กระบวนการฝึกของครูไม่ได้มีการเชื่อมโยงกับชุมชน วงกลองยาวของเด็กๆ จึงยังมีพัฒนาการไม่มากนัก และในฐานะแกนนำเยาวชนอย่างโยที่มองเห็นปัญหานี้ หากไม่คิดทำอย่างหนึ่งอย่างใด กลองยาวปากแจ่มคงเหลือเพียงตำนานที่ส่งต่อให้คนรุ่นหลัง

“ผมมองว่าถ้าไม่มีคนสืบทอด เพลงกลองยาวอาจจะหายไปเลยก็ได้”

เหตุผลแค่นี้ก็น่าจะเพียงพอที่ทำให้โยชวนเพื่อน ๆ ที่มีความสนใจและอยากจะสานต่อการตีกลองยาวมาทำงานเพื่อหาแนวทางสร้างวงกลองยาวให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ซึ่งก็เป็นจังหวะที่สงขลาฟอรั่ม เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา โยจึงรวบรวมเพื่อนๆ และน้องๆ เขียนข้อเสนอโครงการสืบสานการเล่นกลองยาว เพื่อสืบทอดและสานต่อเพลงกลองยาวของชุมชน

และโครงการที่เสนอ สะท้อนให้เห็นถึงการ “เอาจริง” ที่จะนำวงกลองยาวปากแจ่มให้กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง เมื่อตกลงกันว่าจะสืบทอดวงกลองยาวของชุมชน คำถามชวนคิดต่อมาคือ จะสืบทอดอย่างไรไม่ให้วงกลองยาวต้องล้มหายตายจากไปอีก ข้อเสนอของทีมคือต้องสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างคนที่ฝึกกลองยาวกับคนในชุมชน ซึ่งคนฝึกอาจไม่ได้มีแค่ทักษะการตีกลอง แต่หมายถึงการได้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาภูมิปัญญาของชุมชน ขณะที่ชุมชนก็ต้องเข้าใจว่า การเปิดโอกาสให้วงกลองยาวได้ออกไปแสดงก็หมายถึงการเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญกับมรดกของชุมชน

“เห็นวงกลองยาวมาตั้งแต่ยังเด็ก อยากเล่นเป็นบ้าง ได้อารมณ์ ครึกครื้น น่าจะสนุก พอมีโอกาสก็เข้ามาเล่น กลองยาวมีมาตั้งแต่โบราณและสมัยนี้ผู้คนไม่ค่อยเล่น อยากสืบสานเอาไว้”

รวมพลังฟื้นกลองยาว

กลุ่มกลองยาวเด็กปากแจ่มประกอบด้วยสมาชิกรุ่นเยาว์ คือ เกมส์-ดนู หนูกูล เซมเบ้-ปรานันต์ โชติรัตน์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และเหน่ง-เฉลิมศักดิ์ ชูจันทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านคลองคุ้ย ส่วนเยาวชนอีก 3 คน ประกอบด้วย โย โจ้-ธิภากร อั้นซ้าย และ อ๋อม-จักรรินทร์ บุญรงค์

พระอ๋อม ซึ่งกำลังอยู่ในเพศบรรพชิตเล่าว่า ครูวงศ์วิษณ์ชักชวนให้เข้ามาช่วยดูแลน้องๆ ในเรื่องจังหวะการเล่น เนื่องจากเห็นว่า ตัวเองพอจะมีฝีมือในการเล่นกลองยาวอยู่บ้างขณะที่ยังไม่ได้บวช แต่เมื่อครองเพศบรรพชิตแล้ว การเข้ามาช่วยงานเริ่มน้อยลง ทำได้เพียงช่วยแนะนำ รับฟังเสียง หรือจับจังหวะในบางโอกาสที่ไม่ขัดต่อกิจของสงฆ์

ส่วน เหน่ง เกมส์ และเซมเบ้ บอกว่า อยู่ในชุมนุมกลองยาวของโรงเรียนคลองคุ้ยอยู่แล้ว ซึ่งมีเพื่อน ๆ วัยเดียวกันประมาณ 10 คน มีครูวงศ์วิษณ์ช่วยดูแลและซักซ้อม พอเล่นได้บ้าง แต่ยังไม่มีวงอย่างเป็นทางการ ที่ชื่นชอบกลองยาวเพราะสนใจเครื่องดนตรีพื้นบ้าน ประกอบกับเพื่อนๆ ทุกคนที่เข้าชุมนุมนี้ชอบความสนุกสนานและจังหวะโจ๊ะๆ ของกลองยาวที่สร้างสีสันในงานพิธีต่างๆ เมื่อมีพี่ๆ เข้ามาร่วมเล่นและชักชวนให้ทำโครงการจึงสนใจ

“เห็นวงกลองยาวมาตั้งแต่ยังเด็ก อยากเล่นเป็นบ้าง ได้อารมณ์ ครึกครื้น น่าจะสนุก พอมีโอกาสก็เข้ามาเล่น กลองยาวมีมาตั้งแต่โบราณและสมัยนี้ผู้คนไม่ค่อยเล่น อยากสืบสานเอาไว้” เกมส์ อธิบายเหตุผลของการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของวงกลองยาว หลังจากรวบรวมกำลังพลเสร็จสรรพ กิจกรรมแรกคือศึกษาข้อมูลกลองยาวจากปราชญ์และผู้รู้ในชุมชน โดยครูวงศ์วิษณ์แนะนำตาเจียร เมืองราช และ ตาไข่ เซ่งย่อง ที่มีศักดิ์เป็นลุงของเซมเบ้ด้วย

บรรยากาศการพบปะพูดคุยระหว่างกลุ่มกลองยาวเด็กปากแจ่มกับปราชญ์ชาวบ้านเป็นไปอย่างสนุกสนาน ขณะที่แกนนำเล่าถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการทำโครงการ ตาเจียรและตาไข่ก็ให้คำแนะนำว่า ต้องหมั่นฝึกฝนอย่าได้ขาด และยินดีที่ช่วยสอนลูกเล่นหรือเทคนิคต่างๆ ให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

และเพื่อสร้างการรับรู้ถึงการทำโครงการ ให้คนในชุมชนหันมาเห็นความสำคัญและสนับสนุน กลุ่มกลองยาวเด็กปากแจ่มและปราชญ์ชาวบ้านจึงร่วมกันประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติม โดยใช้วิธีบอกกล่าวปากต่อปากและใช้รถยนต์ติดป้ายไวนิลแห่ไปตามหมู่บ้าน

“ตอนนั้นกลุ่มเป้าหมายรองของเราไม่ใช่เฉพาะเด็กในโรงเรียน แต่เป็นคนที่มีความสนใจการเล่นกลองยาว สามารถเข้าร่วมทีมกับเราได้ ไม่ได้กะเกณฑ์ว่าจะต้องเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงวัย ไม่มีเกณฑ์อะไรในการคัดเลือก ขอแค่มีความสนใจแล้วมาฝึกกันอีกที ถ้าเล่นไม่ได้ก็ฝึกจนเล่นได้ ตอนนั้นมีคนนอกสมัครมา 20 กว่าคน มีทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มน้องๆ เยาวชนในโรงเรียน” โย เล่าถึงเหตุผลของการประชาสัมพันธ์โครงการและการรับสมัครสมาชิกเพิ่มเติมและผลของการทำประชาสัมพันธ์ทำให้กลุ่มกลองยาวเด็กปากแจ่มมีสมาชิกจำนวนเพิ่มขึ้นและเพียงพอที่จะตั้งวง 

“การวางตัวเด็กในตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะทำให้เด็กค้นหาตัวเองเจอมากขึ้น เพราะพื้นฐานความสามารถของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ไม่ยากที่จะสอน ขณะเดียวกันจิตวิญญาณของคนเป็นครูนอกจากให้วิชาความรู้แก่เด็กแล้ว ต้องมองให้เห็นถึงความถนัดและพรสวรรค์ของเด็กแต่ละคนด้วย”


ฝึกซ้อมเพื่อฟื้นคืน

วงกลองยาวประกอบด้วยเครื่องดนตรีหลัก ๆ ไม่กี่ชนิด คือกลองยาว ฉิ่ง ฉาบ กรับ ดังนั้นการเลือกเครื่องดนตรีที่เหมาะกับผู้เล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ แกนนำแต่ละคนถนัดกันคนละอย่าง โย โจ้ และเกมส์ถนัดตีกลอง เหน่งถนัดตีฉิ่ง ส่วนเซมเบ้ สามารถจับจังหวะได้ดีประกอบกับเพื่อนที่เป็นแม่เพลงคนเก่าออกไป ครูวงศ์วิษณ์จึงวางตัวเซมเบ้ให้เป็นแม่เพลง

“เมื่อก่อนหนูตีฉาบอยู่ สักพักครูให้ลองมาตีกลองดู ตีไปตีมา ครูเลือกหนูเป็นแม่เพลงคือ ให้เป็นคนตีกลองขึ้นจังหวะคนแรกหรือคนนำจังหวะ เพราะแม่เพลงอีกคนเขาออกไป ครูเลยให้เรามาเป็นแม่เพลงแทน” เซมเบ้เล่า ซึ่งคนในทีมการันตีว่าเซมเบ้ทำหน้าที่แม่เพลงได้อย่างเฉียบคมและหน้าที่ “แม่เพลง” นอกจากจะเป็นตัวยืนในการนำจังหวะแรกแล้ว ยังสามารถตีขัดจังหวะ หรือ เรียกว่า “ลูกขัด” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการไปขัดจังหวะ แต่หมายถึงลูกเล่นในการตี เพื่อปลุกให้เกิดความเร้าใจในจังหวะนั้นๆ มากขึ้นไปอีก ซึ่งจะทำให้จังหวะที่เล่นสอดประสานและมีความสนุกสนานมากขึ้น

ขณะที่ครูวงศ์วิษณ์บอกว่า นอกจากมองถึงความชอบของเด็กแต่ละคนแล้ว การวางตัวเด็กในตำแหน่งที่เหมาะสมสำหรับเล่นเครื่องดนตรีแต่ละชิ้นจะทำให้เด็กค้นหาตัวเองเจอมากขึ้น เพราะพื้นฐานความสามารถของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ไม่ยากที่จะสอน ขณะเดียวกันจิตวิญญาณของคนเป็นครูนอกจากให้วิชาความรู้แก่เด็กแล้ว ต้องมองให้เห็นถึงความถนัดและพรสวรรค์ของเด็กแต่ละคนด้วย

เช่นเดียวกับโจ้ที่มีพื้นฐานการเล่นดนตรีไทยมาก่อน การตีกลองยาวจึงไม่ยากเกินความสามารถ เพราะโจ้จบศิลปกรรมศาสตร์ สาขาดนตรีไทย จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา โดยโจ้เริ่มฝึกฝนดนตรีไทยทุกประเภทมาตั้งแต่อยู่ประถมศึกษาปีที่ 4 จึงง่ายที่จะต่อเพลง เข้าจังหวะกับสมาชิกในวงสำหรับ โย ซึ่งไม่มีพื้นฐานการตีกลองมากนัก แต่ก็พร้อมเรียนรู้ “ผมเล่นไม่เป็นเลย แต่ก็ถามตัวเองว่า แล้วทำไมไม่เล่นให้เป็น จึงต้องฝึกหนักกว่าคนอื่น ๆ โดยมีครูวงศ์วิษณ์ คอยให้คำแนะนำ และฝึกสอนจังหวะการตีอย่างใกล้ชิด” 

ส่วน เหน่งและเกมส์ แม้จะแอบบ่นอยู่บ้างตามประสา เพราะการตีกลองยาวแรกๆ จะรู้สึกเจ็บมือ โดยทั้งคู่ยอมรับว่ามีท้อบ้าง แต่ก็อาศัยความคุ้นชิน พยายามทำความคุ้นเคย และเล่นอย่างต่อเนื่องจะทำให้เรียนรู้ที่จะผ่อนจังหวะการตีในส่วนของการฝึกซ้อมแกนนำจะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนเป็นเวลาฝึก มีครูวงศ์วิษณ์เป็นคนสอนหลัก มีปราชญ์ชาวบ้านมาช่วยต่อเพลงตามวาระโอกาส “เด็กๆ ตั้งใจซ้อมกันมาก นอกจากจะเข้ามาอยู่ในชมรมกลองยาวเพื่อฝึกตีกลอง หลังเลิกเรียนก็ยังซ้อมกันต่อ เห็นถึงความตั้งใจของทุกคน” 

“สิ่งสำคัญที่สุดที่น้องๆ ทุกคนต้องมีนั่นคือ สมาธิ เพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยลงถ้าเล่นได้เหมือนตอนซ้อม มีสมาธิก็จะไม่พลาด เล่นแล้วล่มบ้าง ตื่นเต้นบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะบางคนมีพ่อมาดู แม่มาดู มีญาติพี่น้องมาดูก็ทำให้ตื่นเต้นได้ เมื่อฝึกบ่อยๆ จะทำได้ดีขึ้น”


ลงสนามฝึกปรือฝีมือ

งานเปิดตัวครั้งแรก เป็นการไปช่วยงานศพของคนในชุมชนคลองคุ้ย แม้จะเป็นงานเล็กๆ แต่ก็สร้างความประหม่าให้กับทีมไม่น้อย เล่นผิดบ้างถูกบ้าง คร่อมจังหวะบ้าง แต่ในวันนั้นทำให้ทุกคนได้เห็นถึงศักยภาพของเยาวชนในท้องถิ่น จากนั้นกลองยาวทั้งวงกลับมาซ้อมใหม่ กำลังใจเริ่มมา เพราะครูวงศ์วิษณ์บอกว่าอีก 1 เดือน จะมีคิวโชว์ที่ต่างจังหวัด

และงานโชว์ตัวครั้งแรกอย่างเป็นทางการ คืองานด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องไปเล่นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยผู้จัดงานประสานผ่านครูวงศ์วิษณ์ ความตื่นเต้นยิ่งกว่าตอนเล่นในหมู่บ้านมีมากขึ้นเป็นร้อยเท่า ความประหม่าเริ่มมาเยือนทั้งวง เพราะงานนี้มีคนให้ความสนใจล้นหลาม

“พยายามพูดคุยกับน้องๆ ว่าเราเล่นได้นะ เราต้องทำได้ ตอนนั้นในทีมมีประมาณ 10 คนที่ไปเล่น พยายามสร้างขวัญกำลังใจให้น้อง บอกเขาว่าเล่นให้เหมือนตอนซ้อม มีบ้างบางจังหวะที่เล่นแล้วล่มไปเลย ชาวบ้านก็หัวเราะกัน เราก็เอาใหม่เริ่มกันใหม่ ไม่เป็นไร วันนั้นเล่นไป 2 รอบ รอบละ 20 นาที” โย เล่าถึงวิธีปลุกขวัญและกำลังใจของลูกทีมก่อนขึ้นโชว์ แม้นาทีนั้นตัวเขาเองจะรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยไปกว่าน้องก็ตาม เพราะการสร้างขวัญกำลังใจคือสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของการแสดง

"มีคนดูเยอะมาก อายด้วย ตอนซ้อมผมไม่อาย เพราะมีแต่พวกเราอีกอย่างยังด้อยประสบการณ์ ความรู้สึกวันนั้นบอกไม่ถูก ใจเต้นตึกๆๆๆ ก็คือตั้งใจทำตรงนั้นให้ดีที่สุด" เกมส์ สะท้อนความรู้สึกครั้งแรกที่ได้โชว์ตัวต่างจังหวัดเช่นเดียวกับเหน่ง บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นมาก ไม่เหมือนกับตอนซ้อม เพราะตอนซ้อมมีเฉพาะเด็กในหมู่บ้านที่มาดู แต่การไปเล่นโชว์ครั้งนี้ สำหรับตนคือการเล่นกลองยาวในแบบที่จริงจัง มีคนดูนับร้อยคน ความประหม่าย่อมมีเป็นธรรมดา

ส่วนเซมเบ้ บอกสั้นๆว่า รู้สึกอาย แต่ยังสามารถออกลีลาการตีลูกขัดได้ พร้อมยอมรับว่า แม้วันนั้นยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ทำเต็มที่และทำดีที่สุดแล้ว ขณะที่โจ้บอกว่า หากทีมได้ออกงานบ่อยๆ คงสามารถลดความตื่นเต้นลงได้ เพราะจะมีความมั่นใจในการเล่นมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาของการแสดงโชว์ แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่น้องๆทุกคนต้องมีนั่นคือ สมาธิ เพราะจะทำให้เกิดความผิดพลาดน้อยลง

“ถ้าเล่นได้เหมือนตอนซ้อม มีสมาธิก็จะไม่พลาด เล่นแล้วล่มบ้าง ตื่นเต้นบ้างเป็นเรื่องธรรมดา เพราะบางคนมีพ่อมาดู แม่มาดู มีญาติพี่น้องมาดูก็ทำให้ตื่นเต้นได้ เมื่อฝึกบ่อยๆ จะทำได้ดีขึ้น”ซึ่งการแสดงในครั้งนั้น หลายคนในทีมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ารู้สึกภูมิใจและประทับใจกับงานโชว์ครั้งแรกในต่างถิ่น “หากเล่นแล้วล่ม คุมจังหวะไม่ได้ สุดท้ายก็จะไม่รอด ทางออกคือซ้อมให้มากขึ้น รวมถึงความเป็นทีมที่ต้องสามัคคีกัน ต้องเล่นให้พร้อมกัน ขึ้นและจบพร้อมกัน จะทำให้วงกลองยาวเล่นได้อย่างมืออาชีพ ดังนั้นการกลับมาทบทวนจังหวะ ถอดบทเรียนถึงของการโชว์ครั้งก่อน ทำให้ทีมเห็นถึงความผิดพลาดและแก้ไขได้ถูกจุดยิ่งขึ้น”


ปรับจังหวะ สู่กลองยาวมืออาชีพ

“หากจะออกงานครั้งที่สอง ต้องให้เกิดความชำนาญมากกว่านี้ ถ้าไปเล่นแล้วล่ม วงเราหน้าแตกแน่ ครั้งแรกที่เกิดความผิดพลาดนั้นมองว่า เราซ้อมน้อยเกินไป ยังไม่เกิดความชำนาญมากพอ ถ้าจะไปออกงานต้องเป๊ะๆ คือต้องซ้อมให้ถึงลูกถึงคน พูดง่ายๆ คือถ้าไปเล่นโชว์ คนต้องไม่เบื่อที่จะฟัง ต้องเล่นให้คนเกิดความคึกคะนองให้ได้” โย กล่าวถึงความความมุ่งมั่นในทีม พร้อมระบุว่า หากเล่นแล้วล่ม คุมจังหวะไม่ได้ สุดท้ายก็จะไม่รอด ทางออกคือซ้อมให้มากขึ้น รวมถึงความเป็นทีมที่ต้องสามัคคีกัน ต้องเล่นให้พร้อมกัน ขึ้นและจบพร้อมกัน จะทำให้วงกลองยาวเล่นได้อย่างมืออาชีพ

ดังนั้น การกลับมาทบทวนจังหวะ ถอดบทเรียนถึงของการโชว์ครั้งก่อน ทำให้ทีมเห็นถึงความผิดพลาดและแก้ไขได้ถูกจุดยิ่งขึ้น นอกจากนี้โยและโจ้เห็นว่า การฝึกซ้อมในพื้นที่กับปราชญ์ชุมชนของตัวเองอาจจะจำเจไป จึงพากลุ่มกลองยาวเด็กปากแจ่มไปทัศนศึกษานอกพื้นที่ โดยมีเป้าหมายที่วังเทพทาโร หรือวังมังกร 88 ตัว ตั้งอยู่ที่ตำบลเขากอบ อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ซึ่งถูกสร้างขึ้นจากฝีมือของ ครูจรูญ แก้วละเอียด 

ศิลปินพื้นบ้านจังหวัดตรัง สาขานันทนาการ ประจำปี 2543 เคยตั้งคณะกลองยาวชื่อคณะบ้านเขากอบ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นคณะทวีภูมิปัญญา ซึ่งมีจุดเด่นคือการใช้ท่ารำประกอบการแสดงกลองยาว รวมทั้งได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานการแข่งขันกลองยาวรุ่นผู้ใหญ่จากสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ในปี พ.ศ.2545 

“เป้าหมายคืออยากให้น้องๆ เรียนรู้ถึงจังหวะลูกเล่นใหม่ๆ จากคนที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินแห่งชาติ ซึ่งน้องๆ ก็ได้เรียนรู้ถึงเทคนิคแพรวพราวมากขึ้น ได้ความสนุกสนานด้วย เพิ่มความมั่นใจให้เขากลับไปด้วย พอกลับมาฝึกซ้อมกันที่โรงเรียนทำให้แต่ละคนเริ่มมีพลังมากขึ้น เรากลับมาปรึกษากันว่า จังหวะที่ปราชญ์สอนจะเอามาปรับใช้ได้อย่างไร เพราะเป็นจังหวะยากและคนในกลุ่มไม่มีใครรู้มาก่อน และเราควรเอาจังหวะนี้มาลองเล่นกันในกลุ่มบ้าง” โย บอกการเรียนรู้นอกพื้นที่

หลังจากศึกษาดูงานนอกสถานที่แล้ว การซ้อมยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ผลตอบรับจากชุมชนเริ่มมีมากขึ้น ทั้งงานบุญ ทอดกฐิน แห่เทียนพรรษา งานบุญเดือนสิบ หรืองานชักพระ ความประหม่าในครั้งแรกเริ่มลดลง เมื่อชาวบ้านเริ่มเข้ามาร่วมรำในขบวนมากขึ้น ความผิดพลาดก็เริ่มน้อยลง ตามมาด้วยความสนุกสนานในงาน หลังจากจังหวะกลองยาวเข้ามาช่วยกระชับช่องว่างระหว่างวัยให้แคบลง


ชีวิตชีวาของกลองยาวปากแจ่ม

ความสนุกสนานของจังหวะดนตรีกลองยาว ถูกถ่ายทอดผ่านเรียวมือบอบบางของเด็กและเยาวชน แม้ไม่ถึงกับนับหนึ่งใหม่ แต่ก็ได้ประสบการณ์ ได้รับการกล่าวขานถึงปากต่อปาก แม้ในช่วงเริ่มต้นส่วนใหญ่จะเป็นงานเล่นฟรี ไม่มีค่าตอบแทน หรือบางทีมีบ้างที่ได้ค่าน้ำมันรถ เพราะถือว่าหาเวทีเพื่อเป็นการเปิดตัวประชาสัมพันธ์วง แต่พวกเขาก็คิดถึงรายได้ที่พอจะเป็นค่ากิน ค่าเครื่องดื่มให้กับน้องๆ หรือเป็นทุนสำหรับซ่อมแซมกลอง หรือการทำกลองขึ้นมาใช้เอง

"เรายังไม่มีช่างและอุปกรณ์ที่จะทำกลองยาวได้เพียงพอ เพราะใช้ทุนเยอะ ตอนนี้อุปกรณ์ต่างๆ ก็ใช้ของโรงเรียนส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็ซื้อจากงบประมาณโครงการ เก็บไว้ส่วนหนึ่งไว้ซ่อมบำรุงเท่านั้น” ทีมงานบอกเล่าถึงค่าใช้จ่ายของวง จากลมหายใจที่รวยรินของกลองยาวปากแจ่ม วันนี้เป้าหมายที่ทีมงานตั้งไว้เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง นั่นคือ การยอมรับจากคนในชุมชน ทำให้ผู้คนหันมาสนใจการละเล่นกลองยาวมากขึ้น และเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้ใหญ่หันกลับมาปลุกกลองยาวให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

"กลองยาวให้ความสนุกสนานต่อชาวบ้าน และวงกลองยาวอยู่คู่กับประเพณีไทยมาแต่อดีต มีงานชาวบ้านก็จะนึกถึงกลองยาวเป็นอันดับแรก ตอนนี้ไปเล่นที่ไหน สังเกตง่ายๆ ถ้ามีคนออกมาแจมด้วย รำด้วย ก็แปลว่าเราเล่นเก่งในระดับหนึ่งแล้ว" โยสะท้อนถึงประสบการณ์ที่ผ่านมาระหว่างการโชว์

ปัจจุบันกลองยาวในตำบลปากแจ่ม เริ่มมีวงผู้ใหญ่ที่ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมาเป็นลำดับ ล่าสุดมี 3 วง คือสายหน้าเขา สายหนองหอย และสายคลองคุ้ย โย อธิบายเพิ่มเติมว่า วงกลองยาวที่กำลังฟอร์มวงอยู่ตอนนี้ เป็นวงดั้งเดิมที่คลองคุ้ย ซึ่งเป็นวงของผู้ใหญ่ในชุมชน ซึ่งเวลาไปเล่นจะมีทั้งกลองยาวเยาวชนและกลองยาวสายคลองคุ้ย ที่สามารถเล่นได้เข้าขากันอย่างสนุกสนาน โดยกลองยาวสายคลองคุ้ยได้เข้ามาขอเพลงและขอจังหวะจากกลุ่มกลองยาวเด็กปากแจ่มด้วย

"ดีใจที่จะมีวงกลองยาวเกิดขึ้นมาอีกนอกจากวงของเรา ไม่เคยคิดว่าเขาจะมาเป็นคู่แข่งกับเรา เพราะก่อนหน้านี้เขาเป็นวงเก่าอยู่แล้ว เขาคงได้แรงบันดาลใจ เลยอยากปลุก อยากสร้างของเขาขึ้นมาใหม่ พอเขามาขอจังหวะเราก็ให้เขาไป ถือเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันไปทั้งจังหวะใหม่จังหวะเก่าไม่ได้ปิดบังกัน" 

“การเล่นกลองยาวทำให้เขามีสมาธิมากขึ้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนได้ ทั้งความสร้างสรรค์ การเขียนบรรยายในวิชาต่างๆ ก็ดีขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้ยอมรับว่า ไม่เป็นโล้เป็นพาย ชอบเที่ยวเล่น ยิงนก ตกปลา เมื่อมาตีกลองทำให้มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น และที่สำคัญได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์หลังเลิกเรียน”


จากจังหวะกลองยาว...สู่จังหวะชีวิต

กลุ่มกลองยาวเด็กปากแจ่มยังคงมุ่งมั่นฝึกซ้อมเพื่อสืบทอดกลองยาวปากแจ่มให้คงอยู่ต่อไป การฝึกซ้อมนอกจากจะได้ฝึกปรือฝีมือให้เชี่ยวชาญและชำนาญยิ่งขึ้นแล้ว ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวทีมงานหลายอย่าง

มีความรับผิดชอบมากขึ้น เราจะทำตัวเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะตอนนี้เราเข้าวงการ มีน้องๆ มีอาจารย์ จึงต้องปรับตัวให้ตรงต่อเวลา มีภาวะผู้นำมากขึ้น เมื่อก่อนผมเป็นคนไม่กล้าแสดงออกเลย คุยไม่เก่ง ไม่ค่อยพูด แต่โครงการนี้สร้างความมั่นใจให้ผมมากขึ้น” โย ย้อนมองตัวเองหลังถามถึงความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่ได้เรียนรู้ 

เช่นเดียวกับโจ้ ที่บอกว่า รู้สึกดีใจที่ได้รับโอกาสฝึกฝนเยาวชนให้ทำกิจกรรมร่วมกัน โครงการนี้ทำให้เขาค้นพบศักยภาพของตัวเองในการฝึกสอนเด็ก จากที่ไม่เคยคิดว่าจะทำได้ ก็ทำได้ ทำให้เขามั่นใจมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันภาพฝันที่เคยคิดว่า การละเล่นกลองยาวสามารถสร้างอาชีพให้ชุมชนได้ น่าจะเป็นจริงได้ในเร็ววัน เพราะทั้งในและนอกชุมชนมักจะมีงานบุญหรือประเพณีที่ล้วนแต่มีดนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น

ส่วน เกมส์ บอกว่า การเล่นกลองยาวทำให้เขามีสมาธิมากขึ้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนได้ ทั้งความคิดสร้างสรรค์ การเขียนบรรยายในวิชาต่างๆ ก็ดีขึ้น จากที่ก่อนหน้านี้เกมส์ยอมรับว่า ไม่เป็นโล้เป็นพาย ชอบเที่ยวเล่น ยิงนก ตกปลา เมื่อมาตีกลองทำให้มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนมากขึ้น และที่สำคัญได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์หลังเลิกเรียนเช่นเดียวกับเซมเบ้ ทายาทปราชญ์ชุมชน ที่เชื่อว่าการเล่นกลองยาวเก่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับสายเลือดหรือความเป็นทายาทเท่านั้น แต่อยู่ที่การฝึกซ้อม มีใจรัก และอดทนก็สามารถทำให้เล่นเก่งขึ้นได้

“โครงการนี้นอกจากจะทำให้ได้เล่นกลองยาว ได้สืบสานวัฒนธรรมไทยแล้ว ยังทำให้เราได้สอนน้องๆ ชั้น ป.4-ป.5 เพราะที่โรงเรียนจะมีการลดเวลาเรียน เราสามารถเอาเวลานั้นมาเอามาซ้อมและสอนน้องๆ ในวง ซึ่งที่ผ่านมาพ่อแม่ก็ให้การสนับสนุนเป็นอย่างดีในเรื่องการเล่นกลองยาว” เช่นเดียวกับเหน่ง ที่สะท้อนถึงว่า ที่ผ่านมาไม่รู้จักคำว่าการจัดการเวลา บ่อยครั้งที่เหน่งมาสาย แต่ ณ วันนี้ เขาสามารถจัดการเวลาได้ดีขึ้น เนื่องจากต้องเรียนและฝึกซ้อมกลองยาวไปด้วย แม้ว่าไม่ง่ายนักแต่เขาก็สามารถทำได้

“ได้เรียนรู้เรื่องตรงต่อเวลา รู้จักจัดลำดับความสำคัญของงานทำให้สามารถทำทุกอย่างได้ราบรื่นขึ้น เวลาพี่เขานัดมา หน้าที่ของเราคือมาให้ตรงเวลา เมื่อก่อนมาสาย เดี๋ยวนี้รู้สึกว่าจัดการได้ครับ ส่วนการเล่นกลองยาวทำให้รู้สึกดี มีความสุข และสนุกในการเล่นแต่ละครั้ง พ่อแม่ก็สนับสนุน เขาเคยมาดูผมเล่น เขาบอกว่าเก่งดี” 

ทั้งนี้ โยและโจ้ยอมรับว่า นอกจากการเติมเต็มความสามารถของลูกทีมแล้ว การยกระดับในเรื่องเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของทีม หรือการมีนางรำจะทำให้ทีมดูมีสีสันมากขึ้น รวมทั้งการนำเครื่องดนตรีชิ้นอื่นมาบรรเลงร่วมด้วยจะทำให้กลองยาวเด็กปากแจ่มสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น“ถ้าถามว่าขาดอะไร ก็ขาดคนที่จะมารำด้วยครับ ถ้ามีชุดจะช่วยยกระดับไปได้อีกขั้นหนึ่ง แต่จะดีขึ้นไปอีกถ้าโจ้เป่าปี่เป็นแล้วเอาปี่มาแจม หรือมีเครื่องดนตรีชิ้นอื่นเข้ามาแจมด้วยจะเกิดเป็นวงใหญ่ที่สนุกมากขึ้น เพราะหากใช้มุขเดิมๆ บางครั้งก็เบื่อ การประยุกต์เอาปี่ หรือคีย์บอร์ดเข้ามาแจมด้วย เหมือนตอนไปเล่นงานศพที่มีการเอาพิณมาดีดด้วย สิ่งเหล่านี้จะทำให้ทั้งคนเล่นและชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วยกันมากขึ้น สนุกขึ้น”

สำหรับการรับส่งไม้ต่อ โยและโจ้บอกว่าในปีหน้าทั้งสองคนจะวางบทบาทเป็นโคชคอยดูแลน้องๆ เป็นหลัก โดยดันเด็กรุ่นเก่าให้ขึ้นมาเป็นรุ่นพี่ที่สามารถสอนรุ่นน้องได้ และสร้างเด็กรุ่นใหม่มาเสริมวงให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันงานที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนคือการเก็บรวบรวมข้อมูลหรือองค์ความรู้เกี่ยวกับกลองยาวที่ได้มาจากปราชญ์ชุมชนให้เป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น เพื่อเป็นหลักสูตรกลองยาวของท้องถิ่นเพื่อการสืบทอดต่อไป

ส่วนใหญ่เป็นโน้ตเพลงซึ่งยังเป็นเพียงการเก็บบันทึกในรูปเล่มที่ยังไม่สมบูณ์มากนัก โดยโยเชื่อว่านี่คือการส่งต่อพลังและเป็นการสร้างเยาวชนให้สืบสานกลองยาวแบบรุ่นต่อรุ่น ทำให้วัฒนธรรมกลองยาวถ่ายทอดไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เพราะใจรักและการไม่นิ่งดูดายของกลุ่มกลองยาวปากแจ่ม บวกกับความมุ่งมั่นเรียนรู้ พยายามฝึกซ้อม ล่มบ้าง ดีบ้าง หน้าแตกบ้าง แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อ อดทนเพียรพยายาม จนวันนี้เสียงกลองยาวที่เคยหายไป หวนกลับคืนสู่ชุมชนบ้านคลองคุ้ยอีกครั้ง จังหวะดนตรีที่สนุกสนานสร้างความมีชีวิตชีวาและความเบิกบานให้แก่ชาวบ้าน การันตีได้จากรอยยิ้มยามร่ายรำไปตามจังหวะ ป๊ะเท่งป๊ะ ป๊ะเท่งป๊ะ อะ ป๊ะเท่งป๊ะ...


โครงการ : กลองยาวปากแจ่ม

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูวงศ์วิษณ์ แจ้งไข่ โรงเรียนบ้านคลองคุ้ย

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนชุมชนคลองคุ้ย ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง 

( ไชยโย เสนี ) ( ธิภากร อั้นซ้าย ) ( จักรรินทร์ บุญรงค์ ) ( ดนู หนูกูล ) ( ปรานันต์ โชติรัตน์ )

เฉลิมศักดิ์ ชูจันทร์ )