การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาชุมชมเพื่อสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว อำเภอเบตง จังหวัดยะลาปี4

ปลูกพลังคนรุ่นใหม่ ทำดีให้ถิ่นเกิด

โครงการกุนุงจนองใส่ใจธรรมชาติ

เข้าใจมากขึ้นว่า พลเมืองคืออะไร ปกติก็เรียนวิชาหน้าที่พลเมือง แต่ก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร สิ่งที่ได้จากการทำโครงการคือ ทำให้เราอยากทำให้ตนเองดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่ตนเองคนเดียว ทำให้เราเคารพสิทธิของผู้อื่น มีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว สังคม โรงเรียน และประเทศชาติ

“กุนุง” ในภาษามลายูแปลว่า ภูเขา ส่วน “จนอง” แปลว่า เอียง “กุนุงจนอง” จึงแปลว่า “ภูเขาเอียง” อันสะท้อนถึงลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นของพื้นที่ จนกลายมาเป็นชื่อของชุมชนมุสลิม ขนาด 200 กว่าหลังคาเรือน มีประชากรกว่า 1,200 คน ในพื้นที่ใต้สุดของประเทศไทยที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

ใคร่ครวญ ก่อนลงมือทำ

“กุนุงจนอง” เป็นชุมชนที่อยู่ในเขตเทศบาลเบตง ได้รับการยอมรับว่า เป็น 1 ในชุมชนที่มีความเข้มแข็งมากที่สุดในบรรดา 27 ชุมชนในเขตเทศบาลเบตง เพราะมีกลุ่มผู้นำ ชาวบ้าน และเยาวชนที่มีความสามัคคีกัน แม้จะไม่ได้มีโครงสร้างอย่างเป็นทางการ แต่ไม่ว่าจะมีกิจกรรมใดๆ ของชุมชน กลุ่มเยาวชนจะอาสาเข้ามาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการช่วยเหลืองานต่างๆ อย่างเต็มใจ จนกระทั่งการเข้ามาของบัณฑิตอาสาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ชักชวนให้เยาวชนทำกิจกรรมเพื่อดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 

ภายใต้ชื่อโครงการสองวัยใส่ใจสุขภาพติดต่อกันถึง 2 ปี จึงเป็นการก่อรูปสร้างรอยการรวมตัวของกลุ่มแกนนำเยาวชนในพื้นที่ คือ มิ้น-ศันศนีย์ ดามาอู มูนี-นูมูนีเราะห์ ฆอแด๊ะ เบน-อาราฟัตร์ แดเมาะ และ อิมรอฮีม ฆอแด๊ะ เมื่อใกล้จะจบโครงการ ฟะห์-ซารีฟะห์ นิหลง บัณฑิตอาสา ซึ่งเคยทำโครงการบุหรี่คือฮารอมมาก่อน แนะนำให้น้องๆ ได้รู้จักโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ด้วยมีประสบการณ์การตรงที่ได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองจากโครงการ

ปะห์-ซารีป๊ะ ฆอแด๊ะ ซึ่งเป็นรุ่นพี่ในชุมชนจึงอาสาเป็นที่ปรึกษาโครงการ และร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับน้องๆ ตอนที่ฟะห์ถามว่าสนใจจะทำโครงการไหม เราก็คิดถึงน้องๆ ทันที ถ้าไม่ทำโครงการ ก็ไม่มีอะไรทำ นานๆ จึงจะรวมตัวกันทำงานในชุมชนครั้งหนึ่ง ตอนนั้นคิดแค่ว่า ถ้าน้องเขาสนุกอยู่ก็อยากทำต่อ แต่ยังไม่ได้คิดว่าชุมชนจะได้ประโยชน์อะไร แค่อยากให้น้องได้รวมตัวกันเท่านั้น

 “การจะทำให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้นั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งคนและทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นต้องไม่ทำลายแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชุมชนด้วย การจะไปสู่จุดนั้นได้ ทีมงานต้องศึกษาเรื่องราว วิถีชีวิต และทุนเดิมของชุมชนให้ถ่องแท้ก่อน เพื่อที่จะได้นำเสนอสิ่งดีๆ สู่สาธารณชน และสงวนวิถีของชุมชนให้อยู่ในจุดที่พอเหมาะพอควร”

เมื่อคิดทำโครงการ ทีมงานนำเสียงสะท้อนจากคนภายนอกที่เข้ามาเห็นสภาพของชุมชนแล้วต่างชื่นชมว่า สะอาด น้ำในคลองที่ชาวบ้านใช้อยู่ในชีวิตประจำวันยังคงสวยใส มีภูเขาที่มีเอกลักษณ์ มีถ้ำ มีหน้าผาที่น่าจะพัฒนา

เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้มาเป็นจุดตั้งต้นทำโครงการประเด็นการพัฒนามัคคุเทศก์ชุมชน แต่เมื่อไปพัฒนาข้อเสนอโครงการร่วมกับสงขลาฟอรั่ม พี่เลี้ยงและคณะกรรมการชวนคิดว่า การเป็นมัคคุเทศก์ชุมชนนั้น จำเป็นต้องมีการเตรียมพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนก่อน ทีมงานทุกคนจึงถอยหลังกลับมาทบทวนเป้าหมายการทำโครงการของกลุ่มใหม่อีกครั้ง และปรับเปลี่ยนเป็นการศึกษาทุนเดิมของชุมชนที่สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ด้วยหวังว่า กระบวนการศึกษาชุมชนจะทำให้ทีมงานได้พัฒนาศักยภาพในการทำงาน และทำให้คนในชุมชนเกิดความรักทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่นของตนเองมากขึ้น

ความชัดเจนของโครงการกุนุงจนองใส่ใจธรรมชาติจึงเกิดจาก “เงื่อนไข” ในกระบวนการตั้งคำถามจากพี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่ม ที่ทำให้ทีมงานได้ใคร่ครวญถึงขั้นตอนไปสู่การจัดการท่องเที่ยวในชุมชน จนตระหนักได้ว่า การจะทำให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้นั้น ต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งคน และทรัพยากรในพื้นที่ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว ขณะเดียวกันการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้น ต้องไม่ทำลายแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชุมชนด้วย แต่การจะไปสู่จุดนั้นได้ ทีมงานต้องศึกษาเรื่องราว วิถีชีวิต และทุนเดิมของชุมชนให้ถ่องแท้ก่อน เพื่อที่จะได้นำเสนอสิ่งดีๆ สู่สาธารณชน และสงวนวิถีของชุมชนให้อยู่ในจุดที่พอเหมาะพอควร

­

กระบวนการเรียนรู้ของพี่กับน้อง

หลังใคร่ครวญถึงการทำงานให้รอบด้านมากขึ้นแล้ว ทีมงานจึงจัดประชุมเพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรม และแบ่งบทบาทหน้าที่ โดยกิจกรรมหลักๆ คือ การพาเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านสำรวจของดีในชุมชน

“จัดวงคุยกันเฉพาะแกนนำว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง ใครจะทำอะไร อย่างไร จากนั้นจึงเริ่มต้นหาข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้านว่า ภูเขากุนุงจนองมีประวัติความเป็นมาอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่พวกเราพอรู้อยู่บ้างว่าใครรู้เรื่องอะไร เหตุผลที่เราต้องศึกษาข้อมูลก่อน เพื่อที่จะได้ชวนน้องพูดคุยได้ถูกต้อง” เบนเล่าถึงการเตรียมตัวของแกนนำ นอกจากลงพื้นที่พูดคุยกับผู้นำชุมชนและปราชญ์ชาวบ้านแล้ว ทีมงานยังเลือกใช้ไลน์กลุ่มของสมาชิกในหมู่บ้านสืบค้นข้อมูลชุมชนด้วย เพราะเคยเห็นชาวบ้านบางคนถ่ายรูปสถานที่ต่างๆ แล้วนำมาโพสต์ลงในไลน์กลุ่ม ทำให้ทีมงานหาผู้รู้ได้ไม่ยากว่าเรื่องไหนควรถามจากใคร 

จากนั้นจึงได้ประสานงานขอความอนุเคราะห์จากผู้รู้ให้มาช่วยเป็นผู้นำในการสำรวจพื้นที่ พร้อมประสานกับผู้นำชุมชนช่วยประชาสัมพันธ์กิจกรรมสำรวจชุมชน เชิญชวนเด็กและเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม แต่ด้วยภาระงานที่มากมายของผู้นำ บ่อยครั้งที่ทีมงานต้องเป็นผู้ประกาศเสียงตามสายเอง โดยคนที่รับหน้าที่นี้คือ อิมราฮีม และมิ้น เสียงใสๆ ของมิ้นที่ประกาศประชาสัมพันธ์โครงการ คือ เรื่องแปลกใหม่ในชุมชน เพราะส่วนใหญ่หน้าที่นี้มักเป็นบทบาทของผู้นำชุมชน ไม่ค่อยมีเยาวชนเข้ามาทำหน้านี้ ยิ่งเยาวชนผู้หญิงด้วยแล้วยิ่งหาได้ยาก

มิ้นเล่าว่า รู้สึกตื่นเต้นมาก กว่าจะพูดได้เธอต้องเขียนร่างไว้ก่อน มีพูดสดๆ แต่เสียงจะสั่นมาก เวลาประกาศจะใช้ภาษาไทยผสมภาษายาวี ก่อนประกาศตอนแรกต้องสลามก่อน แล้วจึงบอกเวลาและสถานที่ให้เยาวชนมาร่วมทำกิจกรรม เด็กเยาวชนร่วม 30 คนมารวมตัวตามนัดหมาย ทีมงานแบ่งเยาวชนเป็น 4 กลุ่ม พร้อมมอบหมายหน้าที่ให้แต่ละกลุ่มทั้งจดบันทึกที่ผู้รู้บรรยายในแต่ละจุด และให้ผู้เข้าร่วมแต่ละคนถ่ายรูปจุดที่ประทับใจเพื่อที่จะได้นำมาแลกเปลี่ยนระหว่างกัน


ได้เห็นจึงรู้ค่า

การเดินทางสำรวจสถานที่ที่คาดว่าน่าจะมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว นำโดยผู้รู้ในชุมชนพาเยาวชนทั้งหมดเดินเลาะเที่ยวชมธรรมชาติในชุมชน วันนี้สิ่งที่เคยเห็นชินตากลับมีความหมายมากขึ้นในความรู้สึก ในขณะที่น้องๆ เพลิดเพลินกับการชมธรรมชาติจนลืมจดบันทึกสิ่งที่ผู้รู้บรรยาย ทีมงานที่กระจายตัวแทรกอยู่ในแต่ละกลุ่มย่อยก็ต้องทำหน้าที่บันทึกอย่างละเอียด เพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูล

“บางที่ก็ไม่เคยไป อย่างพวกหนูก็รู้แค่ว่ามีถ้ำ แต่ก็ไม่เคยไป แต่พอทำโครงการนี้ก็ได้ไป ระหว่างการสำรวจ ให้แต่ละคนถ่ายรูปจุดที่ตนเองชอบ แล้วให้มาคุยกันว่า ทำไมชอบตรงนี้ จากนั้นทำข้อมูลที่ได้มาเผยแพร่ในเฟชบุ๊กและไลน์” มิ้นเล่า หลังการสำรวจ ทีมงานให้น้องแต่ละกลุ่มสรุปข้อมูล แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน พร้อมทั้งนำภาพถ่ายของแต่ละคนโพสต์ลงเฟชบุ๊กของหมู่บ้าน บอกเล่าของดีในชุมชน ทั้งแหล่งธรรมชาติ เช่น ภูเขาเอียงซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ถ้ำน้ำลอด หน้าผา ลำคลอง แหล่งของกิน เช่น โรตีกรอบ ร้านกาแฟโบราณ การทำข้าวเหนียวหลาม ผักกูด หวาย ฯลฯ สถานที่สำคัญ อาทิ ถ้ำที่มีพระสงฆ์มาปฏิบัติธรรมอย่างสงบสุขท่ามกลางชุมชนอิสลาม หรือสัตว์ป่า เช่น ชะนี ลิง กระรอก เม่น ฯลฯ

“เราให้น้องๆ แต่ละกลุ่มสรุปข้อมูลที่ได้ให้ฟัง เพราะถ้าไปเฉยๆ น้องเขาก็จะไปสนุกแล้วก็ลืม เราไม่อยากให้สนุกเฉยๆ อยากให้มีสาระด้วย” ปะห์เล่า นอกจากเห็นสถานที่ต่างๆ ที่น่าจะดึงดูดนักท่องเที่ยวแล้ว ทีมงานยังได้เห็นความไม่พร้อมของสถานที่ต่างๆ เช่น เส้นทางการท่องเที่ยวที่ยังรกรุงรัง เต็มไปด้วยหลุมบ่อ จำเป็นต้องมีการปรับปรุง หน้าผาที่มีศักยภาพในการจัดกีฬาปีนหน้าผา ที่ยังต้องสำรวจเรื่องความปลอดภัย ส่วนข้อมูลจากการสำรวจก็ยังขาดการเรียบเรียงจัดหมวดหมู่ให้เป็นระบบ รวมทั้งการจัดการอื่นๆ ก็ยังต้องมีการเตรียมความพร้อม

โครงการที่ตั้งใจว่า จะสิ้นสุดที่การทดลองจัดนำเที่ยว เพื่อให้แกนนำเยาวชนได้มีโอกาสทดลองสวมบทบาทเป็นมัคคุเทศก์ก็ยังไม่ได้จัด เนื่องจากทีมงานแต่ละคนต่างมีภารกิจชีวิต ที่ไม่อาจจัดสรรเวลาให้ตรงกัน ปะห์เล่าว่า เธอต้องทำงาน จึงไม่ค่อยมีเวลาว่าง ตอนแรกคิดว่า อยู่ชุมชนเดียวกันน่าจะรวมกลุ่มทำงานได้ไม่ยาก แต่ในความเป็นจริงทีมงานแต่ละคนต่างมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ ไหนจะเรื่องเรียน หรือกิจกรรมในโรงเรียนที่ค่อนข้างมาก ทำให้การนัดหมายทำกิจกรรมร่วมกันกลายเป็นสิ่งที่ยากเย็นอย่างไม่น่าเชื่อ


“คำถาม” กระตุ้นคิด

ภาวะหลุดหายไปตามวิถีทางของแต่ละคนทำให้การทำงานถูกทิ้งช่วง และไม่สามารถสิ้นสุดตามกรอบเวลาที่ตั้งไว้ การเข้ามากระตุ้นของพี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มทำให้ทีมงานตื่นตัว โดยเฉพาะคำถามถอดบทเรียนถึงกิจกรรมที่ได้ลงมือทำไปแล้ว ทำให้ทีมงานฉุกคิด

“เห็นข้อมูลที่น้องเก็บมายังสะเปะสะปะ แถมน้องยังไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่เก็บมาจะถูกต้องหรือไม่ เพราะผู้รู้แต่ละคนเล่าไม่เหมือนกัน เราก็ถามน้องต่อว่า เวลาเราถามเราฟังเขาเรื่อยๆ ใช่ไหม ก็ชวนเขากลับมาคุยว่า การทำงานต้องมีการวางแผน เมื่อทำกิจกรรมเสร็จแล้วต้องกลับมาคุยกัน เช่น ชาวบ้านเล่าว่า ปีหนึ่งน้ำในลำธารเน่าเสีย เพราะทุกคนถ่ายหนักเบา ทิ้งขยะจนน้ำมันเน่าเสีย ชาวบ้านก็ชวนกันหาทางแก้ปัญหา ดึงหน่วยงาน ดึงคนในชุมชนมาร่วมกันดูแล จนลำธารกลับมาใช้ประโยชน์ได้ 

เราก็ชวนน้องคิดต่อว่า เขาเห็นอะไรจากเรื่องนี้บ้าง เขาก็บอกว่าเห็นความพยายามที่ปู่ย่า ตา ยายของเขาพยายามรักษาสิ่งเหล่านี้ให้เราได้ใช้ แล้วก็ถามเขาอีกว่าแล้วเห็นอะไรอีก เขาก็บอกว่าเห็นความเป็นพลเมืองของคนรุ่นปู่รุ่นย่า เราต้องเอาสถานการณ์ที่เขาพบเจอมาเชื่อมให้เขาเห็น” มีนี-นูรอามีนี สาและ เจ้าหน้าทีสงขลาฟอรั่มเล่าถึงการหนุนเสริมของทีมงาน

การตั้งคำถามจากเรื่องเล่าถึงความเป็นมาของชุมชน ทำให้เยาวชนสัมผัสได้ถึงความเป็นพลเมืองของบรรพบุรุษ ขณะเดียวกันก็นำไปสู่ปฏิบัติการของกลุ่มเยาวชนที่เห็นว่า ริมคลองบางจุดยังมีเศษขยะถูกทิ้งขว้าง จึงหารือกันเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไข โดยการเก็บขยะ ทำความสะอาดสถานที่บริเวณดังกล่าว แล้วทำป้ายประกาศให้คนรักษาความสะอาด ซึ่งเป็นบทบาทการขับเคลื่อนในจุดเล็กๆ ที่สะท้อนความใส่ใจต่อบ้านเมืองของทีมงาน 

การได้สัมผัสถึงสิ่งดีๆ ของชุมชน ทำให้ทีมงานทุกคนเห็นช่องทางการสร้างอาชีพในชุมชน โดยมองว่า หากพัฒนาระบบการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนขึ้นมาได้ จะเป็นทางออกในการแก้ปัญหาการว่างงานของคนในชุมชนได้ด้วย แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น การเตรียมความพร้อมแค่การศึกษาของดีของชุมชนในโครงการนี้ยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีการต่อยอดพัฒนาต่อไปอีก

“รู้สึกสนุกกับการทำงาน ทั้งการลงพื้นที่และการทำกิจกรรมร่วมกัน การทำงานทำให้เธอได้เรียนรู้วิธีการจัดการตัวเองได้โดยเฉพาะเรื่องแบ่งเวลา การได้ไปเห็น ได้ไปสัมผัสทำให้เธอเกิดความรู้สึกรักสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง”


ประสบการณ์จากการเรียนรู้

แม้การทำงานจะยังไม่เสร็จสิ้น แต่ระหว่างทางของการเรียนรู้ทำให้ทีมงานได้ฝึกฝนตนเอง มิ้นเล่าว่า การทำโครงการมีทั้งสนุกและไม่สนุกปนกัน ส่วนที่สนุกคือการได้ลงพื้นที่ ได้เห็นธรรมชาติ และได้พัฒนาตนเองในเรื่องการพูด เห็นชัดว่ามีความมั่นใจในการพูดมากขึ้น แต่ส่วนที่ไม่สนุกคือ เวลาเรียกประชุมแล้วแกนนำมาบ้างไม่มาบ้าง

“เราต้องเริ่มจากแกนนำก่อน แกนนำต้องแข็งแรงกว่าเยาวชน บางทีเรียกประชุมแล้วถ้าแกนนำไม่มาก็ต้องประชุมเท่าที่มาไปก่อน แม้จะโกรธเพื่อนที่ไม่มาแต่ก็ต้องปล่อยวาง อาจจะมีการบ่นว่าเพื่อนบ้าง แต่บ่นแล้วก็จบไม่ถึงขั้นทะเลาะกัน” มิ้นสะท้อนความรู้สึก 

เบน บอกว่า รู้สึกสนุกที่ได้พาน้องๆ เที่ยวในชุมชนของตนเอง ส่วนที่ไม่สนุกคือ เวลาที่น้องไม่ฟัง “เราต้องพยายามชักจูงให้น้องสนใจโครงการก่อน โดยจะบอกน้องว่า ทำงานก่อนเดี๋ยวค่อยมาเล่น บางคนก็ฟัง บางคนก็ไม่ฟัง ผมก็ปล่อยให้เขาเล่นไปก่อน เพราะอย่างน้อยเขาก็มีส่วนเข้ามาเรียนรู้” ส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง คือ การพัฒนาความกล้าแสดงออก ซึ่งเป็นผลจากการที่ได้เข้าไปเรียนรู้กับเพื่อนๆ ในเครือข่ายเยาวชนพลเมืองสงขลา

แต่สำหรับอิมราฮีม สารภาพตรงๆ ว่าการทำโครงการนี้ไม่ค่อยสนุก เพราะความรับผิดชอบที่ต้องเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีทั้งงานบ้าน งานโรงเรียน และกิจกรรม โดยเฉพาะการเป็นนักฟุตบอลซึ่งกินเวลาชีวิตไปบางส่วน แต่ก็ยอมรับว่า การทำงานเป็นการฝึกความรับผิดชอบที่มากขึ้น ช่วยให้แบ่งเวลาได้ถูก

“รู้จักวางเป้าหมายในการทำงาน แม้จะอยู่เฉยๆ แต่สมองเราก็คิดว่า เราต้องทำอะไร ที่ไหน พยายามแบ่งเวลา บางช่วงก็ทำได้ดี บางช่วงก็แผ่วๆ เรื่องการจัดการเวลายังทำได้ไม่ดีเท่าไร บางทีซ้อมบอลกลับมาก็เหนื่อย หลับยาว เมื่อก่อนเป็นคนที่ไม่ค่อยปฏิเสธใครเลย เพราะเกรงใจเขา ใครชวนไปไหนรับหมด แต่เดี๋ยวนี้ต้องดุก่อนว่าติดอะไรไหม ว่างไหม กล้าปฏิเสธมากขึ้น” อิมราฮีมเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงตนเองเมื่อมีการประเมินศักยภาพ

อิมราฮีม บอกอีกว่า เข้าใจมากขึ้นว่า พลเมืองคืออะไร ปกติก็เรียนวิชาหน้าที่พลเมือง แต่ก็ไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร สิ่งที่ได้จากการทำโครงการคือ ทำให้เราอยากทำให้ตนเองดีขึ้น เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ไม่ใช่ตนเองคนเดียว ทำให้เราเคารพสิทธิของผู้อื่น มีความรับผิดชอบมากขึ้นต่อตนเอง ครอบครัว สังคม โรงเรียน และประเทศชาติ 

“ผมคิดว่า ถ้าเราเป็นพลเมืองที่ดี ทำหน้าที่พื้นฐานของพลเมือง ก็จะทำให้สังคมดีขึ้น”

ส่วนมูนีบอกว่า รู้สึกสนุกกับการทำงาน ทั้งการลงพื้นที่และการทำกิจกรรมร่วมกัน การทำงานทำให้เธอได้เรียนรู้วิธีจัดการตัวเองได้โดยเฉพาะเรื่องแบ่งเวลา การได้ไปเห็น ได้ไปสัมผัสทำให้เธอเกิดความรู้สึกรักสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนของตนเอง 

“การอาสาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เป็นการสร้างโอกาสให้น้องๆ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแกนนำรุ่นใหม่ให้กับชุมชน ถ้าเราไม่ทำ น้องๆ อาจจะถูกตัดโอกาส แต่พอเขาได้ลงมือทำก็จะมีการต่อยอดไปเรื่อยๆ ท้ายสุดประโยชน์ก็เกิดกับตัวน้องๆ และคนในชุมชนเอง”


“ผู้เอื้อ” แรงใจที่รายรอบ

ปะห์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการบอกว่า การจัดสรรเวลามาดูแลน้องๆ ยังทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เพราะภาระงานประจำ ทำให้ไม่สามารถลางานมาร่วมกิจกรรมของน้องได้บ่อยๆ จึงต้องปล่อยให้น้องทำงานกันเอง 

ปะห์มองว่า การอาสาเข้ามาเป็นที่ปรึกษาโครงการ เป็นการสร้างโอกาสให้น้องๆ เกิดการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเอง เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแกนนำรุ่นใหม่ให้กับชุมชน ถ้าเราไม่ทำ น้องๆ อาจจะถูกตัดโอกาส แต่พอเขาได้ลงมือทำก็จะมีการต่อยอดไปเรื่อยๆ ท้ายสุดประโยชน์ก็เกิดกับตัวน้องๆ และคนในชุมชนเอง

สะอารี สะรี คณะกรรมการมัสยิด และครูสอนตาดีกา เล่าถึงสถานการณ์ของเด็กและเยาวชนในชุมชนว่า เด็กที่นี่ไม่ค่อยมีปัญหา สังเกตจากการที่เขามาเรียนตาดีกา พวกเขาค่อนข้างมีความตั้งใจ ชุมชนก็ส่งเสริมให้ได้รับการศึกษาทั้งด้านศาสนาและสามัญ นอกจากทำโครงการของกลุ่มเยาวชนแล้ว พวกเขายังมีจิตอาสาเข้ามาช่วยงานชุมชนด้วย

“ถ้าเยาวชนรุ่นนี้ไม่ทำตรงนี้ ชุมชนเราก็คงไม่มีผลงานมากขนาดนี้ ที่เห็นได้ชัดคือการมีเยาวชนจิตอาสา ซึ่งในเทศบาลยังไม่มีเหมือนเรา ทั้งๆ ที่เราก็ไม่ได้มีงบประมาณอะไร เวลาชุมชนหรือโรงเรียนตาดีกามีงาน เด็กๆ ก็จะมาช่วยทันที” 

อูมาบี อัง ประธานชุมชน สะท้อนความรู้สึกต่อโครงการของเยาวชนว่า เป็นโครงการที่ต่อยอดจากโครงการที่แล้วของบัณฑิตอาสา ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดีที่ให้เด็กได้รวมกลุ่มกันทำกิจกรรมในชุมชน ยิ่งโครงการนี้ทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยว หมู่บ้านกุนุงจนองมีศักยภาพ แต่ยังขาดหน่วยงาน องค์กรที่จะเข้ามาสนับสนุน คิดว่าการทำโครงการอาสากุนุจนองใส่ใจธรรมชาตินี้จะเป็นจุดเริ่มต้นพื้นฐานในการพัฒนาระบบการท่องเที่ยวของชุมชนต่อไป

การเปิดพื้นที่ เปิดโอกาสจากชุมชนและโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา บวกกับความตั้งใจของเยาวชนที่คว้าโอกาสเรียนรู้รากเหง้าและสัมผัสสิ่งดีๆ ในชุมชน ด้วยหวังไกลๆ ในฐานะคนรุ่นต่อไปที่จะลุกขึ้นมาดูแลชุมชนว่าอยากให้ชุมชนเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อให้ไปถึงฝันอันไกล วันนี้เขาได้ “เริ่มต้น” เรียนรู้ ฝึกบริหารจัดการ แก้ปัญหา และผูกหัวใจตนเองให้รัก และรู้จักชุมชนบ้านเกิด เพื่อสานฝันดูแลชุมชนต่อในวันข้างหน้า


โครงการ : อาสากุนุงจนองใส่ใจธรรมชาติ

ที่ปรึกษาโครงการ : ซารีป๊ะ ฆอแด๊ะ บัณฑิตอาสา

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวกุนุงจนอง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา

  • ศันศนีย์ ดามาอู ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนคอยรียะห์วิทยามูลนิธิ 
  • นูมูนีเราะห์ ฆอแด๊ะ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนคอยรียะห์วิทยามูลนิธิ
  • อิมรอฮีม ฆอแด๊ะ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนคอยรียะห์วิทยามูลนิธิ
  • อาราฟัตร์ แดเมาะ กศน.เบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา
  • นูรฟาพีละห์ ฆอแดะห์ ศันสนีย์ ดามาอู
  • อัยซะห์ อาลีราฮีมนูรีฮัน สีกะ