วิถีศาสนานำพาชีวิต
โครงการศาสนานำพาชีวิต
นอกจากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวทีมงานแล้ว โครงการนี้ยังส่งผลต่อชุมชนบ้านสะนอ หมู่ 1 ที่มีบรรยากาศของความสัมพันธ์อันดีระหว่างทีมงานและชาวบ้าน ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกิดขึ้นในใจของทีมงาน จากเดิมที่เคยไปช่วยงานชุมชนอยู่บ้าง ก็ทำบ่อยขึ้นในทุกๆ หน้าที่โดยไม่เกี่ยงงอน…จนกลายเป็นแรงงานสำคัญของชุมชน แรงกระเพื่อมเล็กๆ จากกิจกรรมของทีมงานสะกิดให้ผู้ใหญ่และผู้นำชุมชนเริ่มรู้สึกว่าเวลาแล้วที่จะต้องลงมือแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างจริงจัง
เพราะเป็นแกนนำคณะกรรมการนักเรียนและเคยทำโครงการสะนอสวยด้วยมือเราภายใต้โครงการฮาระปันกัมปงร่วมกับสถาบันคีนันแห่งเอเชียในการศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ของชุมชนมาก่อน ทีมงานซึ่งประกอบด้วย ไซดี-มูฮำหมัดไซดี ประดู๋ อลิฟ-อนันต์มา กาซอ ดา-รูไอดา หะพีเก๊ะ มูนี-นุชฮัยณี ประดู๋ ซารา-ซีตีซารา บือราเฮง เซ็ง-อับดุลลา เจ๊ะหามะ รอซะ-อับดุลรอซะ หะยีเต๊ะ มันโซร์ ยามูสะนอ และเจฟฟี นวลจันทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสะนอพิทยาคมอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี จึงรู้ซึ้งถึงคุณค่าและปัญหาของชุมชนมาโดยตลอด
ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาชุมชน
เมื่อโครงการใกล้จะจบมีรุ่นพี่แนะนำให้รู้จักโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ไซดีจึงชวนเพื่อนๆ ในห้องเรียนทำโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริมให้เด็กเยาวชนในชุมชนห่างไกลยาเสพติด ด้วยเห็นว่า หากไม่ป้องกันไว้ก่อน เด็กและเยาวชนในพื้นที่อาจจะหลงผิดก้าวเข้าสู่เส้นทางการเสพสิ่งเสพติด เนื่องด้วยเป็นที่รับรู้กันว่า ในชุมชนเป็นแหล่งผลิตน้ำกระท่อม
เพื่อนๆ ต่างเห็นดีด้วย แม้จะกังวลถึงความยากในการทำโครงการ แต่ความปรารถนาที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ มีเหนือกว่า จึงรวมตัวกันพัฒนาข้อเสนอโครงการศาสนานำพาชีวิต ที่มีเป้าหมายเพื่อลดกลุ่มเสี่ยงจากการติดสารเสพติดในชุมชน โดยนำวิถีทางศาสนามาเป็นเครื่องมือเพราะในพื้นที่ 2.99 ตารางกิโลเมตรของตำบลสะนอ ที่มีประชากร 5,662 คน อาศัยอยู่ใน 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ 1 บ้านสะนอ หมู่ 2 บ้านยามูเซ็ง หมู่ 3 บ้านบือแนดาแล หมู่ 4 บ้านคางา มีสถาบันการศึกษาปอเนาะรวม 4 แห่ง โรงเรียนตาดีกา 5 แห่ง มัสยิด 7 แห่ง บาลาเซาะห์/สุเหร่า 8 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบลสะนอ www.sanor.go.th นับได้ว่าเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศาสนาอย่างแท้จริง
ทีมงานกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรกเป็นเด็กเยาวชนในโรงเรียนสะนอพิทยาทุกระดับชั้น รวมทั้งหมด 200 กว่าคน กลุ่มที่สองเป็นเด็กเยาวชนในชุมชน โดยเน้นไปที่บ้านสะนอ หมู่ 1 เป็นกลุ่มเยาวชนที่ไม่ได้เรียนหนังสือ และบางส่วนทำงานแล้ว บางคนมีอาชีพรับจ้างตัดไม้ บางคนไปทำงานร้านอาหารในมาเลเซีย รวมเกือบ 100 คน ซึ่งทีมงานทราบมาว่า ติดยาเสพติดประมาณ 20 คน
“ปัญหาดำเนินมารุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่วัยผู้ใหญ่ต่อมาจนถึงเด็กและเยาวชน คนในชุมชนส่วนหนึ่งไม่อยากให้ลูกหลานเรียนต่อ เมื่อจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ก็ออกไปทำงานเลย พื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรงส่วนใหญ่คนประกอบอาชีพตัดไม้ซึ่งต้องใช้แรงงานในการทำงาน เมื่อต้องใช้แรงจึงหันมาใช้ยาเสพติด เพราะเข้าใจผิดว่าการใช้บุหรี่ กระท่อม และยาบ้าแล้วจะมีแรง สามารถทนแดดทนร้อนได้ดี” ไซดีเล่าถึงสภาพปัญหาในชุมชน
ประสบการณ์ตรง...ประสบการณ์ตน
ทีมงานยังเล่าต่อไปว่า แม้จะอยู่ในวัยเดียวกัน และอยู่ในชุมชนเดียวกันกับกลุ่มเยาวชนที่ติดสารเสพติด แต่เพราะได้รับการอบรมสั่งสอนจากครอบครัว และการปฏิบัติศาสนกิจที่มัสยิดอย่างสม่ำเสมอทำให้รู้ว่า การยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเป็นบาปประเภทหนึ่ง จึงไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทีมงานได้ช่วยกันสะท้อนประสบการณ์ตรงของตนเองกับสิ่งเสพติดว่า “บ้านผมอยู่ใกล้กับแหล่งมั่วสุม แต่ครอบครัวสอนมาตลอดว่า อย่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เพราะเป็นบาป ทุกครั้งที่มีเพื่อนชวนผมจะนึกตลอดว่าเป็นบาปจะไม่เข้าไปยุ่งด้วย” เจฟฟี่สะท้อนความคิดของตนเอง
“ผมเคยลองสูบบุหรี่เพราะเพื่อนชวน แรกๆ ก็คิดเหมือนคนอื่นว่า การสูบบุหรี่มันเท่ แต่พอสูบไปก็รู้สึกว่าเปลืองเงินเปล่าๆ วันละ 50 บาททุกวัน ลองสูบอยู่ประมาณหนึ่งเดือน ตอนถอนตัวก็อยู่แต่ในบ้าน ไม่ออกไปเจอเพื่อน พ่อดุด้วย ผมเลยยิ่งกลัว” อาลีฟเล่าประสบการณ์เสี่ยงของตนเอง สำหรับมันโซร์สารภาพว่า เขาเคยติดบุหรี่อยู่ 2-3 ปี ด้วยความอยากลองอยากรู้ พอเพื่อนชวนสูบก็ลองจนติด จนได้มาเจอเพื่อนอีกกลุ่มบอกว่า บุหรี่ไม่ดีมีแต่โทษ เขาก็ยอมรับฟัง พยายามเลิก แต่ก็เลิกไม่ได้สักที พยายามอยู่หลายครั้ง ถ้าเกิดรู้สึกอยากสูบบุหรี่ขึ้นมาก็จะซื้อลูกอมมาแทน แล้วทำเหมือนสูบบุหรี่ ใช้เวลา 1 สัปดาห์ถึงเลิกได้ เพิ่งเลิกได้ก่อนเข้ามาทำโครงการนี้
ขณะที่ไซดี เสริมว่า เพื่อนในห้องด้วยกันตอนนี้ไม่มีใครสูบบุหรี่เลย เคยไปเที่ยวด้วยกัน แล้วมีเพื่อนที่สูบอยู่เราจะบอกเลยว่า ถ้าจะสูบบุหรี่ไม่ต้องมานอนห้องเดียวกัน เพราะมันเหม็น
ปฏิบัติการลดสารเสพติดในโรงเรียน
เพราะตระหนักรู้ถึงโทษภัยว่า ยาเสพติดเป็นสิ่งที่ผิดและบาป ไม่ว่าจะพิจารณาจากมุมมองทางด้านกฎหมาย สุขภาพ หรือศาสนา ทีมงานจึงไม่อยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้าสู่แวดวงของการเป็นผู้เสพ แต่การจะเข้าไปทำงานตรงๆ กับผู้เสพยานั้นเป็นเรื่องเสี่ยง และคงไม่ได้รับความร่วมมือ ทีมงานจึงต้องออกแบบกิจกรรมที่สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายที่ตั้งไว้ 2 รูปแบบคือ กิจกรรมในโรงเรียน และกิจกรรมในชุมชน การทำโครงการเริ่มต้นด้วยการประชุมวางแผนการทำงาน แบ่งบทบาทหน้าที่ว่าใครต้องทำอะไร
ดา ซาร่า และมูนี รับหน้าที่ช่วยกันหาข้อมูลเกี่ยวกับยาเสพติดทั้งประเภทและโทษของยาเสพติดทางอินเทอร์เน็ตจากหลายๆ แห่ง เพื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกัน ก่อนที่จะสรุปข้อมูลที่มีเนื้อหาสอดคล้องไว้ใช้งาน ส่วนไซดี รับหน้าที่ลงไปสอบถามข้อมูลจากผู้รู้ซึ่งเป็นครูสอนศาสนาในชุมชน ข้อมูลที่ไซดีสอบถามส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับสาเหตุที่ทำให้คนเสพยา หลักศาสนาอิสลามเกี่ยวกับยาเสพติด จากนั้นนำข้อมูลทั้ง 2 ฝ่ายมารวมกัน การทราบถึงสาเหตุที่ทำให้คนเสพยา หรือสูบบุหรี่ทำให้ทีมงานเข้าใจภาพชีวิตของผู้เสพในมิติอื่นๆ มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทีมงานรู้ดีว่านักเรียนในโรงเรียนล้วนเคยเรียนรู้เกี่ยวกับโทษของยาเสพติดกันมาแล้ว ครั้นจะไปบอกซ้ำอีกก็ไม่น่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก จึงคิดออกแบบกิจกรรมให้นักเรียนในโรงเรียนได้มีส่วนร่วมกับโครงการ ด้วยการสร้างเงื่อนไขให้นักเรียนแต่ละห้องจัดบอร์ดเกี่ยวกับโทษของยาเสพติด เพื่อประกวดชิงรางวัล โดยทางทีมงานจะจัดเตรียมอุปกรณ์และเนื้อหาข้อมูลไว้ให้
ไซดี บอกเหตุผลที่ให้นักเรียนแต่ละห้องจัดบอร์ดว่า ถ้าทำบอร์ดกลางบอร์ดเดียว นักเรียนคงรับรู้ข้อมูลไม่ทั่วถึง แม้เนื้อหาบอร์ดของแต่ละห้องจะเหมือนกัน แต่อย่างน้อยสมาชิกในแต่ละห้องก็ได้มีส่วนร่วมจัดบอร์ด ถึงจะไม่อ่านแต่ก็ได้เห็นภาพปัญหาทุกวันก็น่าจะซึมซับไปได้บ้าง ทีมงานนำแนวคิดนี้ไปหารือกับที่ปรึกษาโครงการให้ขออนุญาตผู้อำนวยการโรงเรียน เมื่อได้รับอนุญาตทีมงานจึงเดินหน้าประชาสัมพันธ์กิจกรรมโครงการด้วยการประกาศหน้าเสาธง และโพสต์ในเฟซบุ๊ก
เมื่อทีมงานประกาศให้ตัวแทนแต่ละห้องมารับอุปกรณ์สำหรับจัดบอร์ดประกวด ก็ยินเสียงพร่ำบ่นของน้องๆ เข้าหูมาว่า “เพิ่มภาระให้อีกแล้ว” แต่เมื่อทีมงานเดินให้กำลังใจ กระตุ้นด้วยรางวัลที่จะได้รับ และสร้างบรรยากาศของการแข่งขันระหว่างห้องเรียน จึงปลุกความคึกคักในการทำกิจกรรมมากขึ้น “ก่อนลงมือทำได้ยินเสียงบ่นว่า งานอื่นก็มี ต้องมาทำอย่างนี้ด้วยหรือ ทุกคนบ่นจริงๆ แต่พอทำบอร์ดออกมาสวย กลายเป็นว่าทุกคนประหลาดใจ ไม่คิดว่าตัวเองทำได้ ทุกมุมที่จัดบอร์ดกัน ไม่ใช่แค่ฝีมือของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นฝีมือของทุกคนในห้อง ที่แสดงถึงความสามัคคี” ไซดีเล่า
บอร์ดความรู้หน้าห้องเรียนทั้ง 12 ห้อง มีเนื้อหาเหมือนๆ กัน แต่รูปแบบการตกแต่งแตกต่างกันไปตามความคิดสร้างสรรค์ เมื่อต้องเห็นอยู่ทุกวันๆ เนื้อหาข้อมูลจึงถูกซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว และเป็นเสมือนสิ่งเตือนใจให้นักเรียนในโรงเรียนตระหนักถึงโทษของยาเสพติด เมื่อเสร็จจากกิจกรรมจัดบอร์ดที่จะมีการตัดสินให้รางวัลในช่วงปลายเทอม ทีมงานจัดอบรมให้ความรู้เรื่องอิสลามกับยาเสพติด เน้นกลุ่มเป้าหมายนักเรียนชายทุกคนในโรงเรียนที่มีอยู่ 90 กว่าคน เชิญผู้นำศาสนาในชุมชนและเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลยะรังมาเป็นวิทยากร ในการอบรมมีการบรรยายให้ข้อคิดเกี่ยวกับศาสนาโดยผู้นำศาสนา ที่อ้างอิงถึงอัลกุรอ่านและอัลฮาดิษที่เกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลให้ความรู้เรื่องโทษของยาเสพติด
นอกจากการบรรยายของวิทยากรแล้ว ทีมงานยังจัดกิจกรรมเพิ่มเติมเป็นเวทีตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นยาเสพติด เพื่อสร้างความสนใจและสร้างการมีส่วนร่วมกับเพื่อนนักเรียน ก่อนที่จะสิ้นสุดการอบรมได้มีการรวมนักเรียนผู้หญิงในโรงเรียนให้มาร่วมละหมาดฮายัต เพื่อขอพรให้กิจกรรมดำเนินไปด้วยดีตามความเชื่อของศาสนาอิสลาม และมีการอ่านตะเลม (อ่านเพื่อให้ความรู้แก่ผู้อื่น) ซึ่งเป็นการยกคำสอนในอัลฮาดิษมาแปลความหมายแล้วพูดถึงในประเด็นที่เชื่อมโยงกับยาเสพติด
ปฏิบัติการลดผู้เสพในชุมชน
สำหรับกิจกรรมในชุมชน ทีมงานนำข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการของสงขลาฟอรั่มมาใช้ นั่นคือการเข้าไปชี้แจงรายละเอียดของโครงการและขอความร่วมมือจากผู้นำศาสนา โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์โครงการในวันละหมาดทุกสัปดาห์ กิจกรรมสำคัญที่ทีมงานตั้งใจจัดขึ้นในชุมชนคือ การเดินวาดะห์ (การเดินสัญจรโดยมีผู้นำศาสนาและตัวแทนทีมงานเดินให้ความรู้ตามบ้านแต่ละหลังในชุมชน) โดยตั้งใจเดินวาดะห์ในวันพฤหัสบดี 2 ครั้ง ซึ่งแต่ละครั้งจะแวะ 3 จุดเป็นอย่างน้อย เน้นไปที่การเยี่ยมเยือนบ้านของผู้เสพยาเสพติด โดยขอให้ผู้นำศาสนาเป็นผู้นำกิจกรรม มีทีมงานคอยสอดแทรกให้ความรู้เรื่องยาเสพติด
“ตอนแรกพวกเราคิดรวมกิจกรรมนี้เข้ากับการเดินให้ความรู้ทางศาสนาปกติที่ผู้นำทางศาสนาทำอยู่แล้วทุกวันเสาร์ แต่ผู้นำศาสนาแนะนำว่า จุดประสงค์ของการเดินวาดะห์ไม่เหมือนกัน ไม่ควรนำมาปะปนกัน เราเลยเปลี่ยนมาเดินวาดะห์ทุกวันพฤหัสบดีซึ่งเป็นคาบชุมนุมแทน โดยทีมงานผู้ชายรับหน้าที่ลงพื้นที่พูดคุย สอบถาม และให้ความรู้เรื่องยาเสพติด เพราะหากให้ผู้หญิงไปอาจจะอันตรายเกินไปและดูไม่เหมาะสม” ไซดี อธิบายถึงแผนการลงพื้นที่ชุมชน
ทีมงานยอมรับว่า การทำงานในชุมชนเป็นเรื่องยาก เพียงแค่เหลือบเห็นพวกเขาลงไปในพื้นที่ กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้เสพต่างหลบกันไปคนละทิศละทาง ด้วยรู้ว่าทีมงานทำกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องอะไร แต่ทีมก็ไม่ท้อถอย เพราะอย่างน้อยก็ยังได้พูดคุยกับคนในครอบครัวของกลุ่มเป้าหมาย “ผมอยากเห็นรุ่นน้องหรือเด็กเยาวชนในชุมชนเข้าไปข้องเกี่ยวกับยาเสพติดน้อยลง แม้จะไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม ผมคิดว่าความสำเร็จไม่ได้หมายถึงให้ทุกคนทำตามเราทั้งหมด แค่บางส่วนที่ยอมฟังและเปลี่ยนแปลงทำตามก็ถือว่าสำเร็จแล้ว” ไซดีเล่า
“ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ในชุมชน เป็นการเปิดโลกของทีมงานออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม การได้สัมผัสกับคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ เปิดมุมมองต่อชีวิตที่หลากหลาย ปัญหาเรื่องยาเสพติดกลายเป็นปลายทางของปัญหาอื่นๆ ในชีวิต ที่หลายคนประสบแล้วหาทางออกหรือขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มุมมองต่อผู้เสพจึงเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือโดยไม่ตีตรา ท่าทีของการเปิดใจยอมรับเช่นนี้ทำให้เพื่อนที่ติดบุหรี่ หรือเสพยาบางคนกล้าที่จะเข้ามาเลียบๆ เคียงๆ สอบถามทีมงานผู้ชายเกี่ยวกับวิธีการเลิกเสพ”
เรียนรู้ความต่างอย่างเข้าใจ
นอกจากการหลบเลี่ยงของกลุ่มเป้าหมายแล้ว การจัดการความคิดเห็นที่แตกต่าง และการจัดการเวลาภายในทีมเป็น 2 ปัญหาหลักที่ทีมงานประสบ แต่ก็ก้าวข้ามมาได้ด้วยการสร้างข้อตกลงในการทำงานร่วมกัน ใช้เวลาในคาบชุมนุมรวมตัวกันทำโครงการ โดยทีมงานผู้ชายจะบอกเล่าเรื่องราวที่ได้พบเจอจากการลงพื้นที่ให้เพื่อนผู้หญิงรับรู้ภาพรวมการทำงาน หรือถกเถียง แลกเปลี่ยน รับฟังกันและกัน จนได้ข้อสรุปที่กลายเป็นแผนงานที่ทุกคนเห็นชอบร่วมกัน
ไซดี บอกว่า การทำงานต้องฟังความคิดของคนส่วนมาก เราเป็นหัวหน้า แต่ความคิดเราอาจจะไม่ดีก็ได้ เราทำงานกลุ่มฉะนั้นเราต้องฟังคนอื่น การที่ต้องเติบในสังคมที่มีการแพร่ระบาดของยาเสพติด เยาวชนอาจจะมีโอกาสเข้าไปข้องเกี่ยวได้หากไม่มีหลักยึดที่ดี ดังนั้นการได้รับรู้ข้อมูลทั้งทางโลกเกี่ยวกับโทษภัยของยาเสพติด และทางศาสนาซึ่งกล่าวถึงบาปจากการเสพสารเสพติด จึงเป็นการสร้างเกราะป้องกันตัวให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งที่อยู่ในโรงเรียนและในชุมชนได้
ประสบการณ์จากการลงพื้นที่ในชุมชน เป็นการเปิดโลกของทีมงานออกจากห้องเรียนสี่เหลี่ยม การได้สัมผัสกับคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นจริงๆ เปิดมุมมองต่อชีวิตที่หลากหลาย ปัญหาเรื่องยาเสพติดกลายเป็นปลายทางของปัญหาอื่นๆ ในชีวิต ที่หลายคนประสบแล้วหาทางออกหรือขาดที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มุมมองต่อผู้เสพจึงเปลี่ยนเป็นความเข้าใจ พร้อมให้ความช่วยเหลือโดยไม่ตีตรา ท่าทีของการเปิดใจยอมรับเช่นนี้ทำให้เพื่อนที่ติดบุหรี่ หรือเสพยาบางคนกล้าที่จะเข้ามาเลียบๆ เคียงๆ สอบถามทีมงานผู้ชายเกี่ยวกับวิธีการเลิกเสพ
“แม้ผลที่เกิดกับกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่มยังวัดผลเชิงรูปธรรมได้ยาก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวเอง เป็นสิ่งที่ทีมงานสะท้อนได้ชัดเจนว่า จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดโดยเด็ดขาด นอกจากนี้การทำงานโครงการยังเป็นการพัฒนาทักษะการทำงาน พัฒนาความกล้าและความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง”
เปลี่ยนตัวเอง...เปลี่ยนชุมชน
สิ่งที่ทำแม้จะเห็นผลในเชิงความร่วมมือของนักเรียนในโรงเรียน ส่วนผลที่เกิดกับกลุ่มเป้าหมายทั้งสองกลุ่มยังวัดผลเชิงรูปธรรมได้ยาก แต่ผลลัพธ์ที่เกิดกับตัวเอง เป็นสิ่งที่ทีมงานสะท้อนได้ชัดเจนว่า จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งเสพติดโดยเด็ดขาด นอกจากนี้การทำงานโครงการยังเป็นการพัฒนาทักษะการทำงาน พัฒนาความกล้าและความมั่นใจในการแสดงความคิดเห็นของตนเอง เจฟฟี่ บอกว่า เมื่อก่อนเขาไม่กล้าพูดถึงความรู้สึกและความคิดเห็นของตัวเอง พอได้ทำโครงการหลายๆ โครงการก็มีความกล้ามากขึ้นในการออกไปนำเสนองาน และการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง
ขณะที่มันโซว์บอกว่า “ได้เปลี่ยนชีวิตใหม่เลยครับ เมื่อก่อนเคยคบเพื่อนที่สูบบุหรี่ เพื่อนก็บอกว่าเดี๋ยวนี้ทำไมไม่สูบ ทั้งที่เมื่อก่อนสูบเยอะกว่าคนอื่นด้วยซ้ำ ส่วนเพื่อนใหม่ก็บอกว่า ดีนะที่เลิกได้ พอเข้าโครงการได้มาเรียนรู้ถึงโทษของยาเสพติด ยิ่งไม่อยากเข้าไปยุ่งอีกเลย อยากพาคนที่ติดยาไปบำบัดจริงจังจะได้เลิกได้”
การทำงานร่วมกันยังสร้างความรู้สึกดีๆ ที่เชื่อมโยงไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเซ็ง ที่บอกว่า “เมื่อก่อนขี้เกียจ เฉื่อยชา ปัจจุบันขยันมากขึ้น เพราะมีเพื่อนคอยช่วยเหลือเรื่องการเรียนทำให้ตั้งใจเรียนมากขึ้น” ด้านไซดี ที่แม้จะมีประสบการณ์การทำกิจกรรมมาอย่างโชกโชน ก็ยังได้รับประโยชน์จากการทำงานในครั้งนี้คือ เรื่องการพูด ที่เมื่อก่อนพูดแล้วจะออกเศร้า เคร่งเครียดจริงจัง การพูดเฮฮาให้เพื่อนนั่งยิ้มนี่ทำไม่ได้เลย กลับกลายเป็นว่าพอมาทำโครงการแล้ว เห็นเพื่อนเครียด คิดไม่ออก จึงเปลี่ยนวิธีพูดใหม่เพื่อให้เพื่อนทำงานได้อย่างสนุกมากขึ้น
นอกจากสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวทีมงานแล้ว โครงการนี้ยังส่งผลต่อชุมชนบ้านสะนอ หมู่ 1 ที่มีบรรยากาศของความสัมพันธ์อันดีระหว่างทีมงานและชาวบ้าน ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเกิดขึ้นในใจของทีมงาน จากเดิมที่เคยไปช่วยงานชุมชนอยู่บ้าง ก็ทำบ่อยขึ้นในทุกๆ หน้าที่โดยไม่เกี่ยงงอน ทั้งกวาดพื้น เสิร์ฟน้ำ เสิร์ฟอาหาร จนกลายเป็นแรงงานสำคัญของชุมชน แรงกระเพื่อมเล็กๆ จากกิจกรรมของทีมงาน สะกิดให้ผู้ใหญ่และผู้นำชุมชนเริ่มรู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องลงมือแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนอย่างจริงจัง
“ครูเคยนำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาให้เด็กดู เช่น สาเหตุของการติดยาเสพติด เราบอกเด็กได้ว่ามาจากอะไร แต่พอได้เขาไปคุยกับคนที่ติดจริงๆ เด็กจะรู้ว่าสาเหตุไม่ได้มีแค่ที่ครูบอก สาเหตุไม่ใช่แค่ตามเพื่อนอย่างเดียว สาเหตุอาจจะมาจากปัญหาครอบครัวหรือสาเหตุอื่นๆ ด้วย เด็กที่ทำโครงการก็จะได้รู้สาเหตุจริงๆ ที่เกิดขึ้น”
เรียนรู้จากการลงมือทำ
ครูยา-สุรยาณี และแย ที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า โครงการที่ทีมงานทำมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับวิชาสุขศึกษาที่ครูสอนอยู่ การหนุนเสริมจึงเป็นการอำนวยความสะดวกในการทำงานแก่ทีมงาน รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานกับผู้บริหารและคณะครูในโรงเรียนให้รับรู้ รับทราบกิจกรรมของโครงการ กระบวนการทำงานของทีมงาน ทำให้ครูเห็นถึงความแตกต่างของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นว่าสิ่งที่ครูสอนในห้องเรียน ไม่ชัดเจนเท่าสิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้จากการลงมือทำ
“ครูเคยนำภาพจากอินเทอร์เน็ตมาให้เด็กดู เช่น สาเหตุของการติดยาเสพติด เราบอกเด็กได้ว่ามาจากอะไร แต่พอได้เขาไปคุยกับคนที่ติดจริงๆ เด็กจะรู้ว่าสาเหตุไม่ได้มีแค่ที่ครูบอก สาเหตุไม่ใช่แค่ตามเพื่อนอย่างเดียว สาเหตุอาจจะมาจากปัญหาครอบครัวหรือสาเหตุอื่นๆ ด้วย เด็กที่ทำโครงการก็จะได้รู้สาเหตุจริงๆ ที่เกิดขึ้น” ทั้งนี้ครูยาบอกว่า การได้รู้สาเหตุที่แท้จริงจะทำให้แก้ปัญหาได้ง่ายและตรงจุดยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือ ทำให้นักเรียนลดการตัดสินตีตราผู้เสพ ซึ่งเป็นการปรับทัศนคติและมุมมองที่ทำให้ท่าที่ในการทำงานเปลี่ยนไป เป็นบทเรียนที่จะทำให้เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากกว่าการตัดสินจากสิ่งที่เห็นเพียงอย่างเดียว
เรื่องยากๆ ที่ทีมงานเอาตัวและใจเข้าไปเกี่ยวข้อง เกิดจากเจตนาดีต่อเพื่อนๆ วัยใกล้เคียงกัน การเรียนรู้จากการลงมือทำด้วยตนเอง ทั้งการสืบหาความรู้ สืบสาวสาเหตุ ถกเถียงบนความแตกต่างอย่างเคารพต่อความคิดเห็นของกันและกันเพื่อหาข้อสรุป การปรับใช้ศาสนาที่เป็นวิถีความเชื่อของชุมชนท้องถิ่นในการเข้าหาผู้เสพ ทำให้ทีมงานได้สัมผัสแง่มุมใหม่ๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจ จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนท่าทีต่อกัน การทำงานร่วมกับผู้นำศาสนาได้พาตนไปสัมพันธ์กับชุมชน จนกลายมาเป็นแรงผลักดันในการปรับบทบาทเด็กและเยาวชนที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนได้อย่างกลมกลืน สิ่งเหล่านี้ล้วนหาไม่ได้จากการเรียนในห้องเรียน แต่ที่สำคัญคือ การเรียนรู้จากการลงมือทำคร้ังนี้ส่งผลลึกซึ้งสู่สำนึกของทีมงานที่ตั้งใจว่าจะไม่ข้องแวะกับยาเสพติด และปวารณาตนที่จะเป็นคนดีของสังคมตลอดไป
โครงการ : ศาสนานำพาชีวิต
ที่ปรึกษาโครงการ : ครูสุรยาณี และแย โรงเรียนสะนอพิทยา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
ทีมทำงาน : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสะนอพิทยา อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
( มูฮำหมัดไซดี ประดู๋ ) ( อนันต์มา กาซอ ) ( รูไอดา หะพีเก๊ะ ) ( นุชฮัยณี ประดู๋ )
( ซีตีซารา บือราเฮง ) ( อับดุลลา เจ๊ะหามะ ) ( อับดุลรอซะ หะยีเต๊ะ )
( มันโซร์ ยามูสะนอ ) ( เจฟฟี นวลจันทร์ )