การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อปลุกจิตสำนึกรักบ้านเกิด ผ่านการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชนยามู จ.ปัตตานี ปี 4

ย้อนรอยยามูเรียนรู้ชุมชน

โครงการย้อนรอยยามู

การที่เด็กและเยาวชนรุ่นหลังหันมาสนใจภูมิลำเนาของตัวเอง สร้างความชื่นใจให้กับผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะต่างสัมผัสได้ว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่สนใจเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นตนเอง สนใจแต่โลกภายนอกหรือใช้เวลาส่วนใหญ่กับอินเทอร์เน็ต จนกลายเป็นว่า เด็กจะไม่รู้ประวัติศาสตร์ที่มาของภูมิลำเนาตนเองว่ามีจุดกำเนิดมาอย่างไร...จนลืมบ้านเกิด แต่ถ้าเราเริ่มต้นให้ความรู้เด็กเกี่ยวกับบ้านเกิด ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาจะกลับมาหาถิ่นกำเนิดของตัวเอง

จากพื้นฐานความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูกับนักเรียนตั้งแต่การทำโครงการธนาคารขยะในโรงเรียน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสถาบันคีนันแห่งเอเชีย เมื่อครูฮานาดีห์ ดูมีแด ชวนลูกศิษย์ร่วมโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา บะห์-มีสบะห์ นิมะ นี-อารีนี อาแว นูรีซา มาหะ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และซอพัต-ศอฟียะห์ แวหามะ อัยซะ- อาอีซะห์ สาเรป รุ่นพี่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์วิทยาจึงตกปากรับคำอย่างเต็มใจ

“แค่ชื่อหมู่บ้าน “ยามู” ก็ดึงดูดความสนใจของทีมงานแล้ว เมื่อสอบถามกับผู้ใหญ่ในชุมชนจึงรู้ว่า คำว่า “ยามู” เป็นภาษายาวี แปลว่า “ชมพู่” ด้วยในอดีตบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน มีต้นชมพู่ขึ้นอยู่หนาแน่น จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ทีมงานทุกคนเห็นร่วมกันว่าจะทำโครงการย้อนรอยยามู เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และของดีในชุมชน”


แรงดึงดูดของประวัติศาสตร์

ข้อเสนอโครงการแรกที่ทีมส่งเข้าไปคือโครงการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ที่ครูปูทางไว้ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาโครงการของสงขลาฟอรั่ม ที่ให้ทีมงานได้ทบทวนสุขทุกข์ของชุมชน จึงตระหนักว่า ปัจจุบันคนรุ่นหลังไม่ค่อยรู้จักประวัติศาสตร์ชุมชนตนเอง จึงเปลี่ยนมาทำโครงการศึกษาประวัติศาสตร์แทนโดยมีเป้าหมายเพื่อปลุกจิตสำนึกรักและหวงแหนบ้านเกิด 

แค่ชื่อหมู่บ้าน “ยามู” ก็ดึงดูดความสนใจของทีมงานแล้ว เมื่อสอบถามกับผู้ใหญ่ในชุมชนจึงรู้ว่า คำว่า “ยามู” เป็นภาษายาวี แปลว่า “ชมพู่” ด้วยในอดีตบริเวณที่ตั้งของหมู่บ้าน มีต้นชมพู่ขึ้นอยู่หนาแน่น จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของชุมชน ทีมงานทุกคนเห็นร่วมกันว่าจะทำโครงการย้อนรอยยามู เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และของดีในชุมชน ซึ่งครูฮานาดีห์ก็เห็นดีด้วย “ตอนกลับมาบอกครูว่าจะเปลี่ยนโครงการ ครูบอกว่าพวกเราเป็นคนทำ ชอบสิ่งไหนก็ทำสิ่งนั้น” บะห์เล่า

ระหว่างที่กำลังจะเริ่มงาน รุ่นพี่ทั้งสองคนเรียนจบ ออกไปเรียนต่อต่างถิ่น ทำให้ทีมงานต้องหาสมาชิกเพิ่ม ครูฮานาดีห์จึงเป็นคนกลางชวน หม๊ะ-กาสอหม๊ะ เซ็ง และยัด-อัลฮายะห์ เจะหะ รุ่นพี่ที่กำลังจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าร่วมทีม ด้วยเห็นว่า ทั้งคู่ชอบทำกิจกรรมช่วยเหลืองานของโรงเรียนอยู่แล้ว ซึ่งทั้งคู่ก็ยินดีเข้าร่วม “ปกติผมชอบช่วยเหลืองานโรงเรียนและชุมชนอยู่แล้ว พอครูชวนก็สนใจเข้ามาทำโครงการ” ยัดเล่า โดยมีหม๊ะเล่มเสริมว่า “โครงการนี้มีน้องๆ เป็นแกนนำอยู่ก่อนแล้ว ตอนครูชวนก็ขอกลับไปคิดก่อน คิดว่าตัวเองน่าจะชอบ เลยเข้าร่วมด้วย แต่ส่วนตัวไม่เคยสนใจประวัติศาสตร์ชุมชนเลย”

“รู้สึกดีใจที่ได้สืบค้นและรู้ประวัติชุมชน ผมรู้มาก่อนว่าปัตตานีเป็นเมือง 3 วัฒนธรรม แต่ไม่รู้มาก่อนว่ายามูก็เป็นเมือง 3 วัฒนธรรมเหมือนกัน คือมีทั้งคนจีน ไทยพุทธ และมลายู อาศัยอยู่ร่วมกัน ...”


ที่นี่มีเรื่องเล่า...

ทีมงานตั้งใจจะศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชน และสถานที่สำคัญๆ ที่มีอยู่ในชุมชน จึงเริ่มต้นระดมความคิดในกลุ่มว่า ในตำบลมีสถานที่สำคัญตรงไหนบ้าง พร้อมกับมองหาผู้รู้ในชุมชนที่มีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ โดยสถานที่สำคัญที่ทุกคนคิดว่าต้องทำการศึกษาคือ วังยะหริ่ง ซึ่งเป็นวังของเจ้าผู้ครองเมืองในอดีต โดยผู้รู้ที่ทีมงานรู้จักคือ เจ๊ะฆู-อับดุลรอมัน มามะ ครูสอนตาดีกา  หลังจากระบุสถานที่และผู้รู้ได้แล้ว 

ทีมงานขอร้องให้ครูฮานาดีห์ช่วยประสานงานติดต่อผู้รู้ แม้ทีมงานจะเคยเป็นลูกศิษย์ของเจ๊ะฆูมาก่อน แต่ด้วยความที่เป็นเด็กจึงรู้สึกเกรงใจและไม่กล้า เมื่อผู้รู้ตอบรับ การนัดหมายเพื่อสัมภาษณ์จึงเริ่มขึ้น ความรู้สึกของทีมงานตอนนั้นคือ “แค่ได้ออกไปคุยกับเจ๊ะฆู ก็เหมือนได้ออกไปผจญภัยแล้ว ตอนแรกไม่รู้ว่าบ้านของเจ๊ะฆูอยู่ตรงไหน สอบถามจากชาวบ้านไปเรื่อยๆ จนหาเจอ”

การพูดคุยกับเจ๊ะฆูยิ่งทำให้ทีมงานเห็นความสำคัญเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องราวของชุมชน โดยเฉพาะคำถามของเจ๊ะฆูที่กระตุกใจทีมงานว่า เราเป็นคนอำเภอยะหริ่ง ฉะนั้นสิ่งแรกที่คนจะถามคือ วังยะหริ่งสำคัญอย่างไร ถ้าเราตอบไม่ได้ว่าวังยะหริ่งมีความเป็นมาและสัมพันธ์กับท้องถิ่นอย่างไร หรือมีคนนอกรู้เรื่องนี้มากกว่าคนในชุมชน ถือเป็นเรื่องน่าอายมาก 

หม๊ะ บอกว่า ตอนแรกพวกเราไม่รู้จักสถานที่อื่นเลย รู้จักแต่วังยะหริ่งอย่างเดียว เลยคิดว่าจะศึกษาเฉพาะวังยะหริ่งเท่านั้น แต่พอเจ๊ะฆูบอกว่าในชุมชนยังมี ศาลเจ้าจีน สุสานจีน บ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ และสะพานข้ามแม่น้ำที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ทำให้การสืบค้นข้อมูลขยายวงออกไป นอกจากนี้การได้ลงไปสำรวจในพื้นที่ ยังทำให้ทีมงานได้สัมผัสถึงความเป็นอยู่ของคนในชุมชนที่มีทั้งคนจีน คนไทย และคนมุสลิม ที่มีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ความเชื่อ แต่ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

“รู้สึกดีใจที่ได้สืบค้นและรู้ประวัติชุมชน ผมรู้มาก่อนว่าปัตตานีเป็นเมือง 3 วัฒนธรรม แต่ไม่รู้มาก่อนว่ายามูก็เป็นเมือง 3 วัฒนธรรมเหมือนกัน คือมีทั้งคนจีน ไทยพุทธ และมลายู อาศัยอยู่ร่วมกัน หลังจากนั้นผมเลยไปถามพ่อแม่ว่าผมมีเชื้อจีนหรือเปล่า สรุปคือไม่มี” ยัดเล่าอย่างขำๆ

“ทีมงานหารือกับครูเพื่อขอตั้งชุมนุมย้อนรอยยามู เพื่อใช้เวลาในชั่วโมงชุมนุมจัดประชุม วางแผนการทำงาน และปฏิบัติการร่วมกัน” กิจกรรมแรกผ่านไปด้วยดี แม้จะขลุกขลักอยู่บ้าง เพราะพี่กับน้องเรียนคนละชั้น ว่างกันคนละเวลา ครั้นจะนัดหมายทำงานนอกเวลาก็ติดขัดที่เพื่อนบางคนบ้านอยู่ไกล ไม่สะดวก ทีมงานจึงหารือกับครูเพื่อขอตั้งชุมนุมย้อนรอยยามู เพื่อใช้เวลาในชั่วโมงชุมนุมจัดประชุม วางแผนการทำงาน และปฏิบัติการร่วมกัน 

แม้จะเริ่มโครงการได้ไม่นาน แต่ประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ร่วมกันของพี่และน้องคือ การปรับตัวเข้าหากัน เพราะรุ่นพี่ผ่านประสบการณ์การทำกิจกรรมมามาก เมื่อการทำงานที่มีรุ่นน้องเป็นหัวหน้าทีม ความเกรงใจพี่จึงเกิดขึ้นในระยะแรก แต่ท่าทีของพี่ที่ให้โอกาสน้องนำเต็มที่ และการพูดคุยไถ่ถามกันหลังเสร็จกิจกรรม เป็นสิ่งที่กระชับความสัมพันธ์ให้คลายอาการเกร็งลงได้ 

“ตอนแรกก็กลัวเหมือนกันว่าจะทำงานกับน้องได้หรือเปล่า พอไม่มีปัญหา เลยให้น้องนำเต็มที่ ให้โอกาสน้องได้ฝึกประสบการณ์ เราเป็นรุ่นพี่ผ่านประสบการณ์มาเยอะแล้ว ทั้งจากค่ายและเวทีแข่งขันต่างๆ” ยัดเล่า โดยหม๊ะเสริมถึงการคลี่คลายความรู้สึกระหว่างกันหลังกิจกรรมแรกว่า “เราถามความรู้สึกน้องเลยว่ามีอะไรไม่สบายใจไหม พวกเราทำอะไรให้ไม่สบายใจหรือเปล่า ส่วนข้อมูลความรู้ก็แชร์กัน เพื่อให้การทำงานครั้งต่อไปง่ายขึ้น”


คาราวานโชเล่...เรียนรู้ชุมชน

เมื่อตั้งชุมนุมก็ต้องมีสมาชิก ทีมงานประชาสัมพันธ์รับสมัครสมาชิกร่วมเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน กำหนดเป้าหมายสมาชิก 25 คน แต่กลับได้รับความสนใจเกินคาด เพราะมีผู้สมัครเข้าร่วมเกือบ 40 คน  “ตอนไม่มีชุมนุมนัดประชุมกันยาก เพราะแต่ละคนเวลาว่างไม่ตรงกัน สมาชิกบางคนบ้านอยู่ไกลก็มาไม่ได้ แต่พอมีชุมนุมทำให้พวกเราทำงานง่ายขึ้น ใช้เวลาในคาบชุมนุมประชุมทำโครงการได้เต็มที่”

แผนการพาสมาชิกไปศึกษาประวัติศาสตร์และความสำคัญของสถานที่ต่างๆ ที่จัดขึ้นในวันที่ 12 สิงหาคมซึ่งเป็นวันหยุด ทีมงานได้ประสานเช่าโชเล่ (รถมอเตอร์ไซค์ที่ต่อเติมให้มีที่นั่งพ่วงด้านข้าง) ของคนในชุมชนใช้เป็นพาหนะพาสมาชิกชุมนุมลงพื้นที่ พร้อมนัดหมายผู้รู้ที่จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ คือ กุโบร์ (สุสานของอิสลาม) สะพานคลองยามู ศาลเจ้าปู่จ้อ วัด สุสานจีน บ่อน้ำ วังยะหริ่ง และโรงเรียนวัดแห่งแรกของชุมชน โดยทีมงานได้จัดเตรียมใบงานให้เพื่อนๆ สมาชิกในชุมนุมบันทึกข้อมูลและความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ และจัดประกวดภาพถ่ายสถานที่สำคัญในชุมชนด้วย

ยัดเล่าถึงกระบวนการลงพื้นที่ บ๊ะห์ เสริมว่า ตอนพาสมาชิกในชุมนุมลงพื้นที่พูดคุยกับผู้รู้และสำรวจสถานที่สำคัญในชุมชน นอกจากเพื่อนสมาชิกแล้ว ยังมีเพื่อนคนอื่นๆ ที่สนใจร่วมกิจกรรม รวมทัั้งหมดเกือบ 40 คน เราให้แต่ละคนเขียนบันทึกความรู้เกี่ยวกับสถานที่แต่ละแห่ง และความรู้สึกที่ได้ร่วมทำกิจกรรมในโครงการ บรรยากาศการลงพื้นที่ของชุมนุม แม้จะเป็นกิจกรรมของนักเรียน แต่ก็สามารถปลุกความสนใจของคนในพื้นที่ให้เข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ตั้งใจ นี เล่าว่า แรกๆ เรามีผู้รู้แค่ 2 คน แต่พอสอบถามไปเรื่อยๆ ผู้รู้แต่ละท่านก็จะแนะนำคนอื่นต่อ ทำให้เรารู้จักผู้รู้ในชุมชนเพิ่มขึ้น ตอนนี้มีผู้รู้หลักๆ ทั้งหมด 4 คน ตอนไปถึงพื้นที่ก็มีผู้ใหญ่คนอื่นๆ มาให้ความรู้เสริมด้วย ถ้าเรื่องไหนไม่รู้เขาก็จะช่วยถามคนอื่นๆ ให้

“บทเรียนจากข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ทำให้ทีมงานยิ่งสนใจศึกษาประวัติชุมชนมากขึ้น และตั้งคำถามกับหลักสูตรการเรียนการสอนในห้องเรียนที่กำหนดให้นักเรียนศึกษาประวัติศาสตร์โลกและประวัติของพื้นที่อื่น แต่นักเรียนกลับไม่รู้ประวัติศาสตร์ของท้องถิ่นและชุมชนของตัวเอง” 

 

ยิ่งรู้ ยิ่งรัก และอยากเผยแพร่

หลังทำกิจกรรมเสร็จ สมาชิกรวบรวมข้อมูลใบงานส่งให้กับทีมงาน ซึ่งได้มีการสอบถามความรู้สึกของสมาชิกต่อการเข้าร่วมกิจกรรมด้วย เพื่อนหลายคนสะท้อนว่า รู้สึกดีใจที่ได้เข้าไปในสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะวังยะหริ่ง ซึ่งไม่เคยเข้าไปมาก่อน และการได้รับฟังเรื่องราวจากผู้รู้ทำให้พวกเขารู้ว่า “บ้านตนเองมีของดี”

ส่วนทีมงานได้ถอดเทปบันทึกเสียงสัมภาษณ์และการบรรยายของผู้รู้ รวมทั้งรวบรวมข้อมูลจากใบงานของสมาชิก และการบันทึกของทีมงานแต่ละคน เพื่อตรวจสอบว่า ยังมีจุดใดที่ยังไม่สมบูรณ์ เช่น ข้อมูลเกี่ยวข้องกับบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ยังขาดรายละเอียดค่อนข้างมาก และยังมีข้อมูลที่ได้รู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับต้นตะเคียนทองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่คนในชุมชนเคารพสักการะ 

ทั้งนี้ทีมงานได้ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องราวเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ศึกษาจากอินเทอร์เน็ตบางส่วนมีเนื้อหาไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้รู้ในชุมชนเล่า ทีมงานพยายามตรวจสอบข้อมูล จากพี่สาวของยัดที่เรียนสาขาประวัติศาสตร์ แต่ก็ยังไม่ได้ความชัดเจน จึงเลือกที่จะเชื่อเรื่องเล่าจากผู้รู้ที่เป็นคนในพื้นที่มากกว่า บทเรียนจากข้อมูลที่ขัดแย้งกัน ทำให้ทีมงานยิ่งสนใจศึกษาประวัติชุมชนมากขึ้น และตั้งคำถามกับหลักสูตรการเรียนการสอนในห้องเรียนที่กำหนดให้นักเรียนศึกษาประวัติศาสตร์โลกและประวัติของพื้นที่อื่น แต่นักเรียนกลับไม่รู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นและชุมชนของตัวเอง

สำหรับกิจกรรมประกวดภาพถ่ายนั้น ทีมงานเปิดให้ส่งผลงานผ่านเฟซบุ๊กของกลุ่ม แต่ก็ยอมรับว่า ประชาสัมพันธ์น้อยไป อีกทั้งนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีกล้องถ่ายรูปที่สามารถถ่ายภาพสวยๆ ได้ จึงมีภาพส่งเข้าประกวดน้อย แต่ทีมงานก็ไม่ปล่อยทิ้ง มีแผนนำภาพถ่ายดังกล่าวมาจัดแสดงร่วมกับนิทรรศการที่วางแผนจัดขึ้นในวันวิชาการของโรงเรียน เพื่อเผยแพร่เรื่องราวการทำโครงการ และบอกเล่าประวัติสถานที่สำคัญในชุมชน โดยเชิญผู้รู้มาร่วมบรรยายให้ผู้ร่วมงานฟังด้วย

“นอกจากนิทรรศการแล้ว จะมีการแสดงละครประวัติชุมชน เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม โดยขอความร่วมมือจากชุมนุมละครให้มาร่วมแสดง ซึ่งทีมงานจะเป็นผู้เขียนบทและช่วยกำกับการแสดงให้ รวมถึงนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนผ่านวิดีโอพร้อมคำบรรยาย ซึ่งคงต้องขอความร่วมมือจากรุ่นพี่ที่มีความชำนาญด้านนี้ช่วยตัดต่อให้” ยัดเล่าถึงแผนการทำงาน

“เราเกิดที่นี่ เราอยู่ที่นี่ เรารักบ้านเกิดของเราเป็นเรื่องปกติ แต่พอเราได้รู้ประวัติศาสตร์ด้วย จึงเกิดความหวงแหน ไม่อยากให้ใครทำลายสถานที่ที่เรารู้จัก...ไม่อยากให้คนรู้จักแค่อยุธยาหรือวังยะหริ่ง แต่อยากให้รู้จักประวัติศาสตร์หมู่บ้านยามู และสถานที่สำคัญที่น่าสนใจและน่าศึกษา”


สำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด

การได้รู้จักสถานที่ต่างๆ ในชุมชนตนเองอย่างรู้ที่มาที่ไป ทำให้ทีมงานตระหนักถึงคุณค่า ความสำคัญของถิ่นเกิด ความรักบ้านเกิดจึงเกิดขึ้นอย่างท่วมท้น กิจกรรมที่นำพาเพื่อนๆ สมาชิกในชุมนุมออกไปเรียนรู้สถานที่ต่างๆ ทำให้นักเรียนเกินกว่าครึ่งในโรงเรียนที่เป็นคนในตำบลยามู ได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์บ้านตนเอง อีกทั้งยังจุดประกายความสนใจเกี่ยวกับชุมชนท้องถิ่นให้แก่ยัดกับหม๊ะ ซึ่งไม่ได้อยู่ในตำบลยามู อยากจะกลับไปศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชนตัวเอง

“หนูอยู่ตำบลตะเล๊าะกะโป ถึงจะทำเองไม่ได้ แต่ก็คิดว่าสามารถเสนอให้ผู้ใหญ่ช่วยหากลุ่มสภาเยาวชนมาทำโครงการลักษณะนี้ในตำบลได้ เลยคิดว่าจะไปเล่าให้ผู้ใหญ่ในหมู่บ้านฟัง” หม๊ะเล่าความตั้งใจ การทำโครงการที่ได้ฝึกคิดวิเคราะห์ เลือกสรรข้อมูล ยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนในห้องเรียน ยกตัวอย่างเช่น การทำข้อสอบในวิชาหน้าที่พลเมือง ประวัติศาสตร์ และภาษาไทย ซึ่งยัดยืนยันว่า เพิ่งผ่านการทำข้อสอบที่มีหัวข้อเกี่ยวกับการใช้ภาษา ระหว่างคนต่างวัย ต่างสถานภาพอย่างไรให้เหมาะสม ยัดที่มีประสบการณ์ลงพื้นที่พูดคุยกับคนหลายช่วงวัยจึงได้คะแนนดี

สำหรับ นูรีซา เล่าว่า บทเรียนในภาพรวมคือ ทำให้เธอเข้าใจผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ไม่เอาความคิดของตัวเองเป็นหลัก ถึงจะเป็นหัวหน้ากลุ่ม แต่ในการทำงานเธอจะให้ความเป็นกันเองกับเพื่อน เชื่อฟังและเคารพรุ่นพี่ เรียนรู้ว่าตัวเองควรปรับตัวแบบไหนให้เข้ากับคนอื่นได้ เกิดทักษะการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ว่า ควรจะสื่อสารด้วยท่าทางแบบไหน ต้องพูดยังไงให้คนสนใจ

ส่วนบะห์ บอกว่า การทำโครงการทำให้เธอรู้จักบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น แม้จะรู้อยู่แล้วว่าวังยะหริ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ แต่ยังมีอีกหลายแห่งที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน “เราเกิดที่นี่ เราอยู่ที่นี่ เรารักบ้านเกิดของเราเป็นเรื่องปกติ แต่พอเราได้รู้ประวัติศาสตร์ด้วย จึงเกิดความหวงแหน ไม่อยากให้ใครทำลายสถานที่ที่เรารู้จัก อยากให้สถานที่เหล่านี้อยู่ไปนานๆ และเป็นที่รู้จัก ไม่อยากให้คนรู้จักแค่อยุธยาหรือวังยะหริ่ง แต่อยากให้รู้จักประวัติศาสตร์หมู่บ้านยามู และสถานที่สำคัญที่น่าสนใจและน่าศึกษา เรื่องของชุมชนเราสนุกและมีให้ศึกษาเยอะ” 

ด้านนี สะท้อนการเรียนรู้ของตนเองว่า เธอเกิดทักษะการคิดวิเคราะห์และการคิดเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้ เช่น วังยะหริ่งกับกุโบร์ในตำบลมีผู้สร้างคนเดียวกัน พื้นที่กุโบร์ได้มาจากวังยะหริ่งบริจาคให้ ที่ดินโรงเรียนก็เป็นของเจ้าของบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ตอนที่ฟังผู้รู้เล่าให้ฟังหลายๆ ด้าน แล้วพวกเราต้องมานั่งคิดวิเคราะห์ว่าเราควรเชื่อใคร เรื่องไหนเป็นเรื่องจริง เรื่องไหนยังไม่สมบูรณ์ ขณะที่หม๊ะ บอกว่า เขาได้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็นคนกล้าคิด กล้าทำ รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนสมาชิกในกลุ่ม เพราะต้องทำงานร่วมกัน มีความเป็นผู้นำมากขึ้น โครงการนี้ทำให้ได้เรียนรู้ทักษะการคิดวิเคราะห์และการเข้าหาผู้ใหญ่ การรับฟังข้อมูลจากผู้รู้ทำให้เกิดแรงบันดาลใจว่าตำบลยามูของเราก็มีของดีเหมือนกัน ทำให้เราได้หันกลับมามองสิ่งที่เรามีอยู่ก่อนว่ามีอะไรบ้าง ก่อนที่จะไปมองคนอื่น


เรื่องเล่าจากผู้ถ่ายทอด

เจ๊ะฆู-อับดูลรอมัน มามะ ผู้รู้ในชุมชน เล่าว่า เขาเคยเป็นครูสอนตาดีกา ทีมงานบางคนก็เคยเป็นลูกศิษย์ เมื่อทีมงานอยากเรียนรู้เรื่องของชุมชน จึงรู้สึกยินดีที่จะให้ข้อมูล ความรู้ และให้คำปรึกษา “ความรู้ที่ถ่ายทอดให้ทีมงานส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ตำบลและพื้นที่โดยรอบ เพื่อเชื่อมโยงว่าแต่ละส่วนเกี่ยวข้องกันอย่างไร ยกตัวอย่าง เช่น ชื่อ “ตำบลยามู” มีที่มาจากดั้งเดิมพื้นที่นี้มีต้นชมพู่เยอะ ต้นชมพู่ ภาษามลายูหรือยาวี เรียกว่า ยามู จึงเป็นที่มาของชื่อตำบล” 

การที่เด็กและเยาวชนรุ่นหลังหันมาสนใจภูมิลำเนาของตัวเองเป็นสิ่งที่สร้างความชื่นใจให้กับผู้ใหญ่ในชุมชน เพราะต่างสัมผัสได้ว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ไม่สนใจเรียนรู้เรื่องราวท้องถิ่นตนเอง สนใจแต่โลกภายนอกหรือใช้เวลาส่วนใหญ่กับอินเทอร์เน็ต กลายเป็นว่าเด็กจะไม่รู้ประวัติศาสตร์ที่มาของภูมิลำเนาตนเอง ว่ามีจุดกำเนิดมาอย่างไร ส่วนมากเด็กจะมุ่งไปที่ศูนย์กลางคือกรุงเทพฯ จนลืมบ้านเกิด แต่ถ้าเราเริ่มต้นให้ความรู้เด็กเกี่ยวกับบ้านเกิด ไม่ว่าเขาจะไปอยู่ที่ไหน เขาจะกลับมาหาถิ่นกำเนิดของตัวเอง เจ๊ะฆู ยังบอกว่า การที่เด็กเยาวชนพยายามเข้าหาผู้ใหญ่ เพื่อสอบถามเรื่องราวของท้องถิ่นจากคนเฒ่าคนแก่ เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนและชุมชนให้แน่นเฟ้นยิ่งขึ้น

“นักเรียนกล้าเข้าหาคนในชุมชนและพูดคุยกับคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งสมัยก่อนอาจจะกล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง ทำงานเป็นระบบ มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่รู้จักงานของตัวเอง ไม่มีอะไรให้ต้องหนักใจ”


ครูผู้เอื้อโอกาส

ครูฮานาดีห์ ที่ปรึกษาโครงการมองว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนเป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้แก่นักเรียนผ่านการลงมือทำโครงการด้วยตัวเอง จึงพร้อมสนับสนุนเต็มที่ เพราะการเรียนในห้องเรียนนักเรียนมีโอกาสเรียนรู้จากการลงมือทำน้อย แต่พอมาทำโครงการนักเรียนได้เขียนโครงการเอง ได้คิดวัตถุประสงค์เอง ทำทุกอย่างด้วยตัวเอง

แต่ครูก็สารภาพว่า แอบหนักใจนิดหน่อย ตอนที่ทีมงานเปลี่ยนมาทำเรื่องการศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เพราะครูเรียนจบเคมี และไม่ได้เป็นคนยะหริ่ง จึงไม่มีความรู้ด้านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเลย แต่เมื่อลูกศิษย์สนใจทำ ครูก็พร้อมสนับสนุน และร่วมศึกษาเรียนรู้ ลองผิดลองถูกไปพร้อมกับนักเรียน  “ครูทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมมากกว่า คอยแนะนำว่านักเรียนควรลงชุมชนอย่างไร ควรสื่อสารพูดคุยทางบวกกับคนในชุมชนแบบไหน บางครั้งครูจะไปด้วยเพราะถ้าให้นักเรียนไปลงพื้นที่เอง ชาวบ้านจะงงว่านักเรียนมาทำอะไร ทำไมไม่มีผู้ใหญ่มาด้วย ครูก็จะเข้าไปช่วยอธิบายก่อนว่านักเรียนทำโครงการจะมาศึกษาประวัติของชุมชนยามู”

นอกจากช่วยประสานงานกับชุมชนในการลงพื้นที่ของนักเรียนแล้ว ครูยังมีบทบาทในการชี้แจงการทำโครงการของนักเรียนให้คณะครูและผู้บริหารโรงเรียนรับรู้ รวมทั้งการดำเนินการขอตั้ง “ชุมนุมย้อนรอยยามู” เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของทีมงาน  เพราะเฝ้าติดตามลูกศิษย์อย่างใกล้ชิด ครูฮานาดีห์จึงสัมผัสได้ชัดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ ซึ่งล้วนแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

นักเรียนกล้าเข้าหาคนในชุมชนและพูดคุยกับคนในชุมชนมากขึ้น ซึ่งสมัยก่อนอาจจะกล้าๆ กลัวๆ เพราะไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง ทำงานเป็นระบบ มีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่รู้จักงานของตัวเอง ไม่มีอะไรให้ต้องหนักใจ” 

กระบวนการศึกษา และย้อนทวนเรื่องราวหนหลัง ได้ทำงานกระตุ้นจิตสำนึกรักถิ่นเกิด รู้รากเหง้า รู้คุณค่าความหมายของสิ่งใกล้ตัว ช่วยสร้างคนยามูรุ่นใหม่ที่เข้าใจเรื่องเก่า เพื่อทำหน้าที่ส่งต่อจิตวิญญาณของชาวยามูต่อไป 


โครงการ : ย้อนรอยยามู

ที่ปรึกษาโครงการ : ครูฮานาดีห์ ดูมีแด โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์

ทีมทำงาน : นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 โรงเรียนสุวรรณไพบูลย์ ตำบลยามู อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี

( อารีนี อาแว ) ( มีสบะห์ นิมะ ) ( นูรีซา มาหะ ) ( กาสอหม๊ะ เซ็ง ) 

( อัลฮายะห์ เจะหะ ) ( ศอฟียะห์ แวหามะ ) ( อาอีซะห์ สาเรป )