การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อจัดการขยะในชุมชนตันหยงลุโละ จังหวัดปัตตานี ปี 4

เปลี่ยนชุมชนด้วยพลังคนตัวเล็ก

โครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ

โครงการนี้ทำให้เธอรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทั้งยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการลุกขึ้นมาจับไม้กวาดกวาดบ้าน จนเป็นเหตุให้พ่อแม่แปลกใจกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกสาวซึ่งเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

บ้านตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ประกอบด้วย 2 หมู่ คือ หมู่ 1 และหมู่ 2 เป็นชุมชนมุสลิมริมทะเล ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงและทำนาเกลือ บ้านเรือนอาศัยอยู่อย่างแออัด มีขยะเกลื่อนกลาด ส่งผลต่อทัศนียภาพในชุมชน แม้ภาพขยะที่เห็นจะชินตา แต่กลับไม่ชินใจ เมื่อแบมะ-มูฮำหมัด กะอาบู รุ่นพี่ที่เป็นไอดอลของเด็กๆ ในชุมชนที่มีผลงานทำโครงการเพื่อพัฒนาชุมชนมาโดยตลอด ชวนทำโครงการเพื่อแก้ปัญหาชุมชนร่วมกัน กลุ่มเยาวชนที่ประกอบด้วย ดา-สุไฮดา ลาเตะ ไอนี-นูร์ไอนี นิอาลี ซัน-นูรีซัน ดือราแม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 

โรงเรียนดรุณศาสน์วิทยา และซู-ซูนีรา เจะสะมะแอ มูนีเราะ-แวมูนีเราะ แวกูโน ซีฬา-ฟาซีฬา หะยีหามะ ยัง-ซีตีมาเรียม มะตีเยาะ อัสรี เจ๊ะมะ และมาเรียม ดือราซอ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนจงรักสัตย์วิทยา และ เฮง-อิบรอเฮง ดาม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนกีฬาจังหวัดยะลา มัยซน-เจ๊ะมัยซน อับดุลราฮิม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศาสนูปถัมภ์ หวัง-รฎดวน บราเฮง นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคปัตตานี จึงรวมตัวกันทำโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ โดยมีแบมะเป็นที่ปรึกษา 

ซู บอกว่า เธอเคยเขาร่วมกิจกรรมกับเแบมะบ่อยครั้ง เมื่อแบมะชวนทำโครงการจึงตกลง แม้ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำโครงการอะไรก็ตาม ดา เสริมว่า ส่วนตัวเธออยากเข้าร่วมโครงการมานานแล้ว แต่ยังไม่มีโอกาส พอแบมะมาชวนก็เหมือนเป็นใบเบิกทางสู่เส้นทางการทำงานกับชุมชน จึงไม่รีรอที่จะคว้าโอกาสไว้ พร้อมชวนเพื่อนๆ สมัยเรียนประถมศึกษาเข้าร่วมทีม 

เช่นเดียวกับมาเรียม ที่เล่าว่า ชอบทำกิจกรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว โดยเฉพาะกิจกรรมพัฒนาชุมชน และอยากทำงานกับเพื่อนๆ ที่เคยสนิทกันตั้งแต่สมัยประถม เพราะหลังจากแยกย้ายกันไปเรียนต่อต่างโรงเรียน ความห่างหายจึงกลายเป็นความห่างเหิน แม้จะอยู่ชุมชนเดียวกันแต่ก็ไม่ได้พูดคุยหรือสนิทสนมเหมือนก่อน 

“ปัญหาขยะมีหลายสาเหตุ 1) มาจากตัวเราเองที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ กินที่ไหนทิ้งที่นั่น และทิ้งไม่ลงถัง 2) มาจากหมู่บ้านซึ่งแออัดมาก ปลูกอยู่ติดกันจนรถขนขยะเข้าออกไม่ได้ ชาวบ้านเลยทิ้งขยะไม่ถูกที่... 3) พฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนที่ซื้อขายกันโดยใช้ถุงพลาสติก โฟม ทำให้ปริมาณขยะเยอะตามไปด้วย”

­

ค้นหาโจทย์ชุมชน

หลังรวบรวมทีมทำงานได้แล้ว พื้นที่ กศน.ของหมู่บ้านถูกใช้เป็นกองบัญชาการรวมพลทำกิจกรรม เริ่มตั้งแต่ประชุมหาโจทย์โครงการที่ตอนแรกมีประเด็นที่อยากทำมากถึง 3 เรื่อง ได้แก่ ป่าชายเลน ยาเสพติด และขยะ แต่เมื่อไล่เรียงแต่ละปัญหาเพื่อหาข้อสรุป จนในที่สุดมาลงตัวที่เรื่องขยะ

“ป่าชายเลนแบมะทำอยู่แล้ว ส่วนยาเสพติดหากต้องหาข้อมูล เราต้องเข้าไปพูดคุยกับคนติดยา พวกเรายังเด็กก็รู้สึกกลัวอันตราย เลยลงตัวที่ปัญหาขยะซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เราควรช่วยกันทำ เพื่อให้ชุมชนน่าอยู่ยิ่งขึ้น” มาเรียมเล่าถึงแนวคิดก่อนจะมาเป็นโครงการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญเมื่อเห็นตรงกันว่าจะทำเรื่องการจัดการขยะในชุมชน จึงให้ทุกคนกลับไปคิดว่าขยะมีสาเหตุมาจากอะไร จากนั้นนัดประชุมอีกครั้งเพื่อทำแผนที่ความคิด (Mind Mapping) ถึงสาเหตุและที่มาของขยะ

“ปัญหาขยะมีหลายสาเหตุ 1) มาจากตัวเราเองที่ทิ้งขยะไม่เป็นที่ กินที่ไหนทิ้งที่นั่น และทิ้งไม่ลงถัง 2) มาจากหมู่บ้านซึ่งแออัดมาก ปลูกอยู่ติดกันจนรถขนขยะเข้าออกไม่ได้ ชาวบ้านเลยทิ้งขยะไม่ถูกที่ แม้ อบต.จะจัดเตรียมถังขยะไว้ให้ก็ยังไม่เพียงพอ 3. พฤติกรรมการบริโภคของคนในชุมชนที่พ่อค้าแม่ค้าใช้ถุงพลาสติก โฟม ทำให้ปริมาณขยะเยอะตามไปด้วย” ซู วิเคราะห์ถึงปัญหาและที่มาของขยะ

หลังเห็นที่มาของปัญหา กิจกรรมแรกที่ทีมงานคิดทำคือ ตั้งตะแกรงรับซื้อขยะจากชุมชน โดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมขยะ ซึ่งทุกคนลงความเห็นว่าเป็นวิธีที่เหนื่อยน้อยที่สุด แต่พี่น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี พี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่ม ตั้งคำถามชวนคิดว่า นี่คือการสร้างขยะเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?

“ความตั้งใจแรกคือ ตั้งตะแกรงให้คนในหมู่บ้านเอาขยะที่แยกไว้มาทิ้ง พอถึงวันหยุดพวกเราก็จะไปรับซื้อขยะและเอาไปขาย และคิดว่าทำแบบนี้คนในชุมชนน่าจะเข้ามามีส่วนร่วม รายได้ก็นำเข้ามัสยิด แต่พี่น้ำนิ่งถามว่า หากทำแบบนี้เท่ากับเราส่งเสริมให้ชาวบ้านสร้างขยะมาให้เราหรือเปล่า พวกเขาเลยช่วยกันคิดหาวิธีใหม่มาสรุปลงตัวที่การจัดกิจกรรม Big Cleaning day มีการเปรียบเทียบผลก่อนหลัง และจัดให้มีบ้านตัวอย่างเพื่อเป็นแกนนำในการรักษาความสะอาดในชุมชน” ดา เล่าแนวคิดการแก้ปัญหาขยะในชุมชน

“บ้านตัวอย่างที่เล็งไว้คือ บ้านกำนัน บ้านโต๊ะอิหม่าม บ้านผู้นำ อบต.เนื่องจากมีชาวบ้านมาหาตลอดเวลา หากสามารถนำมาเป็นบ้านตัวอย่างได้โครงการน่าจะประสบผลสำเร็จ เพราะถือว่ามีผู้นำเป็นแบบอย่างในเรื่องการรักษาความสะอาด”


หลากกลยุทธ์จัดการขยะ

ทีมงานวางแผนจัดกิจกรรม Big Cleaning day 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดก่อนเดือนรอมฎอน ก่อนจัดกิจกรรมทีมงานได้ประชาสัมพันธ์โครงการผ่านเสียงตามสายของมัสยิด และลงพื้นที่เชิญชวนเด็ก เยาวชน และคนในชุมชนด้วยตัวเอง อาศัยโอกาสนี้สอบถามชาวบ้านถึงที่มาและปริมาณขยะด้วย ซึ่งข้อมูลที่พบคือ ชาวบ้านส่วนใหญ่รู้ว่าขยะมาจากไหน และมีปริมาณมากเพียงไร สำหรับเหตุผลที่ทีมงานสอบถามชาวบ้านเช่นนี้ ก็เพื่อค้นหาบ้านกลุ่มเป้าหมายที่จะใช้เป็นบ้านต้นแบบเรื่องการจัดการขยะในชุมชน

ซู เล่าเพิ่มเติมว่า บ้านตัวอย่างที่เล็งไว้คือ บ้านกำนัน บ้านโต๊ะอิหม่าม บ้านผู้นำ อบต.เนื่องจากมีชาวบ้านมาหาตลอดเวลา หากสามารถนำมาเป็นบ้านตัวอย่างได้โครงการน่าจะประสบผลสำเร็จ เพราะถือว่ามีผู้นำเป็นแบบอย่างในเรื่องการรักษาความสะอาด และแล้วก็ถึงวันจัดกิจกรรม Big Cleaning Day ครั้งแรก ปรากฎว่ามีเด็กและเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 60 คน จากเดิมที่ทีมตั้งเป้าไว้แค่ 32 คน ไม่รวมผู้ใหญ่หลายๆ คนที่รอเก็บขยะอยู่หน้าบ้าน รวมทั้งพี่ๆ จากโครงการเกลือหวานตานีที่อยู่ในชุมชนก็อาสาเข้ามาร่วมทำกิจกรรมด้วย

“ก่อนทำกิจกรรมเราประชุมแบ่งบทบาทหน้าที่กันว่าใครจะทำอะไร ไอนีรับผิดชอบเรื่องลงทะเบียน มาเรียมซื้ออุปกรณ์ ซู ดา และอิบรอเฮง ประสาน อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และมีคนไปสั่งข้าวและสั่งน้ำให้กับเด็กๆ” มาเรียมเล่า

เช้าวันทำกิจกรรม ทีมงานแบ่งสายเดินเก็บขยะออกเป็น 4 สาย ได้แก่ สาย 1 ไปทางหมู่ที่ 2 ซึ่งเป็นเส้นทางที่บ้านเรือนไม่ติดกันมาก ยาวไปจนถึงสนามเด็กเล่น แกนนำกลุ่มได้แก่ มูนีเราะ อัสรี และนุรมี สาย 2 บริเวณมัสยิดและชุมชนแออัด แกนนำ ได้แก่ ดา ซู และหวัง สาย 3 ไปทางนาเกลือ ซึ่งตั้งอยู่หมู่ที่ 1 แกนนำ ได้แก่ ไอนี ซัน และมาเรียม และ สาย 4 ไปทางหมู่ที่ 1 บริเวณลานสนามฟุตบอล แกนนำ ได้แก่ เฮง ซีฬา และมัยซน โดยแต่ละสายจะมีลูกทีมซึ่งเป็นเยาวชนและคนในชุมชนเข้าร่วมทีมๆ ละ 15 คน พร้อมถุงดำ และถุงมือ 

การทำกิจกรรมเหมือนจะผ่านไปด้วยดี มาเสียท่าตรงที่อาหารที่สั่งจากร้านค้าในหมู่บ้านบรรจุด้วยกล่องโฟม ทีมงานทุกคนยอมรับว่า รู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์นั้น “เราทำเรื่องขยะ แต่เรากลายเป็นคนสร้างขยะเสียเอง” แต่ก็แก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว นอกจากนำประสบการณ์ดังกล่าวมาเป็นบทเรียนสำหรับการทำงานครั้งต่อไป ซึ่งดายอมรับว่า การทำโครงการที่เกี่ยวกับชุมชนต้องมองให้รอบด้านถึงผลกระทบทั้งด้านลบและด้านบวก และต้องมีความรอบคอบให้มากกว่านี้

หลังเก็บขยะในพื้นที่ที่รับผิดชอบเสร็จแล้วนำมาชั่ง ปรากฏว่าเก็บขยะได้กว่าร้อยกิโลกรัม ปฏิบัติการครั้งนี้จึงเหมือนการเปิดเผยจำนวนขยะครั้งแรกของชุมชนตันหยงลุโละ ทำให้คนในชุมชนเริ่มตื่นตัวว่า ปัญหาขยะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เมื่อ “กระตุก” ให้ชาวบ้านเห็นปัญหาแล้ว ทีมงานจึงพากันไปที่โรงเรียนบ้านตันหยงลุโละเพื่อถอดบทเรียนการทำกิจกรรมครั้งนี้

ดูเหมือนกิจกรรมแรกจะประสบผลสำเร็จด้วยดี แต่ยังมีเสียงสะท้อนกลับจากผู้ใหญ่บางคนว่า “ทำไปทำไม ทำไปขยะก็เยอะอยู่ดี” ดา เลยตอบไปว่า ถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาทำแล้วใครจะทำ แล้วชุมชนเราจะสะอาดได้อย่างไร แม้คำพูดดังกล่าวจะบั่นทอนกำลังใจของทีมงานไปบ้าง แต่ทุกคนก็ไม่เก็บเอามาคิดใส่ใจ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าทำโครงการต่อไป

“แต่ละบ้านจะมีวิธีลดขยะไม่เหมือนกัน เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก หันกลับไปใช้ถุงผ้าแทน หรือเวลาซื้อน้ำก็เอาแก้วของตัวเองไป พยายามใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะน้อยที่สุด มีการแยกขยะที่บ้านตัวเอง นำขวดที่ใช้แล้วไปทำเป็นโมบายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น”


สร้างกติกาสู่การสร้างสำนึก

หลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรม Big Cleaning day ครั้งแรก กิจกรรมต่อมาคือการทาบทามบ้านตัวอย่างที่เล็งไว้ตอนลงไปประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อเป็นบัดดี้คู่กับบ้านแกนนำในทีมที่อยู่ในละแวกเดียวกัน เพื่อให้ชาวบ้านตะหนักถึงการรักษาความสะอาดและเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรม โดยมีแบมะเข้ามาช่วยพูดคุยทำความเข้าใจกับบ้านตัวอย่างก่อนในเบื้องต้น เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือของโครงการ ซึ่งก็ได้ผลมีบ้านตัวอย่างเข้าร่วมมากถึง 10 หลัง

ซู เล่าว่า เหตุผลที่เลือกบ้านกำนัน บ้านผู้นำศาสนา เป็นบ้านตัวอย่าง เพราะสังเกตว่าจะมีชาวบ้านเข้ามาปรึกษากับกำนันและโต๊ะอิหม่ามเป็นจำนวนมาก น่าจะเป็นกระบอกเสียงช่วยขยายผลการทำโครงการของพวกเราได้ ถ้าใช้บ้านแกนนำอย่างเดียว ก็จะรู้แค่เฉพาะบ้านแกนนำเท่านั้น การเป็นบ้านตัวอย่างนอกจากต้องรักษาความสะอาดบริเวณโดยรอบของบ้านแล้ว แต่ละบ้านยังต้องเสนอกติกาการรักษาความสะอาดและการลดขยะในแบบฉบับของตัวเอง โดยจัดทำเป็นป้ายไวนิลติดไว้บริเวณบ้าน จากนั้นกลุ่มแกนนำจะลงพื้นที่ทุกสัปดาห์เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของบ้านแต่ละหลัง

“แต่ละบ้านจะมีวิธีลดขยะไม่เหมือนกัน เช่น ลดการใช้ถุงพลาสติก หันกลับไปใช้ถุงผ้าแทน หรือเวลาซื้อน้ำก็เอาแก้วของตัวเองไป พยายามใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะน้อยที่สุด มีการแยกขยะในบ้านตัวเอง นำขวดที่ใช้แล้วไปทำเป็นโมบายหรือนำกลับมาใช้ใหม่ เป็นต้น” ดาเสริม และบอกต่อว่า ผลจากการลงพื้นที่ดูบ้านตัวอย่างพบว่า สะอาดและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น ขณะที่เพื่อนบ้านหลายคนก็แวะเวียนมาเยี่ยมชม แล้วนำกติกาของบ้านที่ตัวเองชอบกลับไปใช้กับบ้านตัวเองบ้าง

3 เดือนผ่านไป กิจกรรม Big Cleaning day ครั้งที่ 2 ก็เริ่มขึ้น แต่ครั้งนี้มีจิตอาสาในชุมชนเข้ามาร่วมเก็บขยะเพิ่มขึ้น ทั้ง อบต. อสม. และผู้นำศาสนา รวมถึงขยะที่เก็บได้มีปริมาณลดลง “ครั้งแรกกับครั้งนี้แตกต่างกันมาก ครั้งแรกเห็นแพมเพิสทิ้งอยู่ในคูและท่อระบายน้ำ แต่ครั้งที่สองไม่มีเลย” มาเรียม เล่าประสบการณ์ที่พบเจอ

ด้านซูบอกว่า เห็นชัดเจนว่า ก่อนทำกิจกรรม Big Cleaning day ครั้งแรก ชาวบ้านทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่พอครั้งที่ 2 ชาวบ้านกลางซอยที่รถเก็บขยะเข้าไม่ถึง เริ่มนำขยะออกมาทิ้งที่หน้าปากซอยให้รถขยะมาเก็บ แถมยังมีการคัดแยกขยะแต่ละประเภทเพื่อนำไปขายยังร้านรับซื้อด้วยเมื่อถามว่าให้คะแนนความสะอาดในครั้งนี้เท่าไร...ทุกคนนิ่งคิดครู่หนึ่งและพร้อมใจกันตอบว่า ให้ 8.5 คะแนน ส่วนที่หายไป 1.5 คะแนน เนื่องจากการทำความสะอาดที่ยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะบริเวณนาเกลือ ซึ่งเป็นจุดที่เก็บยากที่สุด เพราะพื้นที่บริเวณนั้นเป็นดินโคลนมีขยะทับถมกันหลายชั้น ทำให้ยากต่อการเก็บ

“พ่อไม่เห็นด้วยกับการทำโครงการนี้ พ่ออยากให้ตั้งใจเรียนหนังสือมากกว่า แต่วันนี้เธอบอกพ่อได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า นอกจากผลการเรียนของเธอจะดีขึ้นแล้ว ประสบการณ์ที่ได้จากการทำโครงการยังสอนให้เธอมีความรับผิดชอบ และมีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ว่า เธอสามารถบริหารจัดการเวลาเรียนและเวลาทำกิจกรรมได้ดี”


เรียนรู้สู่การเปลี่ยนพฤติกรรม

“เมื่อก่อนกินที่ไหนก็ทิ้งที่นั่น เดี๋ยวนี้ถ้าจะทิ้งก็ระมัดระวังมากขึ้น กินเสร็จก็จะทิ้งให้เป็นที่ หากไม่มีถังขยะก็จะเก็บไว้ในกระเป๋าก่อน เราเป็นแกนนำ ถ้ากินแล้วทิ้ง เราจะไปบอกให้คนในหมู่บ้านร่วมมือได้อย่างไร” เฮง สะท้อนถึงพฤติกรรมของตัวเองที่เปลี่ยนไป พร้อมทั้งระบุว่า แม้จะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าทีมก็ใช่ว่าจะสั่งคนอื่นทำ แต่ต้องร่วมมือและเดินหน้าไปพร้อมๆกัน เพราะทุกคนคือทีมเดียวกัน

ส่วนดา ซึ่งเป็นคนชอบทำกิจกรรมอยู่แล้วเป็นทุนเดิม บอกว่า การมีส่วนร่วมของคนในชุมชนคือพลังสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเดินหน้าและพัฒนาต่อไปได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาหน่วยงานของรัฐ“ถามว่าถ้าเราไม่ทำโครงการนี้ได้ไหม ได้ค่ะ เพราะมี อบต.เขาก็ทำอยู่แล้ว เมื่อตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่เขาบอกให้เก็บขยะหนูก็เก็บ แต่ไม่ได้คิดอะไร มาวันนี้หนูอยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน อยากเป็นตัวอย่างที่ดี ส่วนการเปลี่ยนแปลงของหนู อาจารย์ที่โรงเรียนบอกว่า พอเข้าโครงการนี้หนูมีความรับผิดชอบมากขึ้น การพูดจากับผู้ใหญ่ก็ดีขึ้น รู้จักคิดก่อนตัดสินใจทำ” 

ด้านซู บอกว่า พ่อเธอไม่เห็นด้วยกับการทำโครงการนี้ พ่ออยากให้ตั้งใจเรียนหนังสือมากกว่า แต่วันนี้เธอบอกพ่อได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า นอกจากผลการเรียนของเธอจะดีขึ้นแล้ว ประสบการณ์ที่ได้จากการทำโครงการยังสอนให้เธอมีความรับผิดชอบ และมีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ว่า เธอสามารถบริหารจัดการเวลาเรียนและเวลาทำกิจกรรมได้ดี “นอกจากผลการเรียนที่ดีขึ้นแล้ว การได้นำเสนอโครงการกับสงขลาฟอรั่ม ยังส่งผลให้วิธีการพูด วิธีการนำเสนอของเราดีขึ้น สามารถนำไปปรับใช้ที่โรงเรียน โดยนำเสนอข้อมูลได้กระชับและเข้าใจง่ายขึ้น”

ขณะที่มูนีเราะ บอกว่า การทำโครงการนี้ทำให้เธอรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ทั้งยังปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยการลุกขึ้นมาจับไม้กวาดกวาดบ้าน จนเป็นเหตุให้พ่อและแม่แปลกใจกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูกสาวซึ่งเป็นไปในทางที่ดีขึ้น “เมื่อก่อนหนูเป็นคนมักง่ายทิ้งขยะไม่เป็นที่ ไม่เคยกวาดขยะเลย เรียนเสร็จกลับมาก็เข้าห้อง บ้านหนูอยู่ไกลจากหมู่บ้านด้วย ได้เข้ามาทำโครงการนี้ทำให้รู้จักคนในหมู่บ้านมากขึ้น และคนในหมู่บ้านก็รู้จักหนูมากขึ้น ทำให้หนูรู้สึกว่าหนูมีตัวตนอยู่ในหมู่บ้านนี้ มีอะไรก็ขอความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น”

เช่นเดียวกับไอนี ที่ยอมรับว่า เมื่อก่อนเป็นคนที่กินแล้วชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่ แต่เมื่อเป็นแกนนำโครงการที่เกี่ยวกับขยะ เธอต้องปรับเปลี่ยนนิสัยและบุคลิกภาพ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีแก่น้องๆ ส่วนเรื่องเรียนเธอก็มีพัฒนาการเรื่องการใช้ภาษาและการเรียบเรียงคำได้ดีขึ้น ผลการเรียนก็ดีขึ้น“โครงการนี้ทำให้เราได้เปลี่ยนแปลงตัวเอง ทิ้งขยะลงถัง ลดการใช้ถุงพลาสติก หันไปใช้กระเป๋าไปใส่ของแทน”

ส่วนมาเรียม บอกว่า ตัดสินใจไม่ผิดที่เข้าร่วมโครงการนี้ เพราะทำให้เธอได้ความเป็นเพื่อนกลับคืนมา“ทุกคนเป็นเพื่อนกันตั้งแต่เล็ก พอโตขึ้นต่างคนต่างแยกย้ายไปเรียนคนละโรงเรียน ก่อนจะทำโครงการ อย่างอิบรอเฮงอยู่หมู่บ้านเดียวกัน เจอกันก็ไม่ค่อยยิ้ม คอยหลบหน้าไม่ทักทาย จะได้คุยกันแค่ซูและมูนีเราะเท่านั้น เพราะเรียนที่เดียวกัน แต่หลังจากทำโครงการเพื่อนทุกคนก็กลับมาทักทายพูดคุยกันมากขึ้น ดีใจที่ความสัมพันธ์ในวัยเด็กฟื้นคืนกลับมา จนตอนนี้ก็เฮฮาทักทายกันเหมือนเดิม”

การทำโครงการนอกจากจะทำให้ทีมงานเกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองทั้งการเรียนและการดำเนินชีวิตที่ทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เรียนดีขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก ช่วยงานที่บ้านมากขึ้น และมีสำนึกเพื่อส่วนรวมแล้ว การทำโครงการยังช่วยหมุนเกลียวความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองและเพื่อนในวัยเยาว์ให้กลับมาเหนียวแน่นเหมือนเดิม นอกจากนี้ กระบวนการทำงานยังช่วยปรับระดับความสนใจต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมของคนในชุมชน รวมใจรวมพลังร่วมแก้ปัญหาของชุมชนเพื่อพัฒนาชุมชนตันหยงลุโละบ้านเกิดของพวกเขาต่อไป การเปลี่ยนแปลงจึงเริ่มได้จากพลังเล็กๆ จากคนเล็กๆ ที่มีสำนึกดี สำนึกรักในชุมชนตนเอง ด้วยการเปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ เพราะความสะอาดนั้นเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา...


โครงการ : เปลี่ยนขยะให้เป็นบุญ

ที่ปรึกษาโครงการ : มูฮำหมัด กะอาบู

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

( สุไฮดา ลาเตะ ) ( นูร์ไอนี นิอาลี ) ( นูรีซัน ดือราแม ) ( ซูนีรา เจะสะมะแอ ) ( มาเรียม ดือราซอ ) ( แวมูนีเราะ แวกูโน ) ( ฟาซีฬา หะยีหามะ ) ( ซีตีมาเรียม มะตีเยาะ ) ( อัสรี เจ๊ะมะ ) (อิบรอเฮง ดาม ) ( รฎดวน บราเฮง ) ( เจ๊ะมัยซน อับดุลราฮิม )