เกลือหวานตานี นาเกลือผืนสุดท้ายในแหลมมาลายู
โครงการเกลือหวานตานี
โครงการนี้ทำให้ความรับผิดชอบของเขาเริ่มก่อตัวทีละน้อย จนรู้สึกว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และที่สำคัญคือรู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้นว่ามีของดีอะไรบ้าง...ก่อนหน้านี้เป็นคนไม่ค่อยเอาใจใส่งาน ไม่ค่อยมีจิตสาธารณะ การเข้ามาเป็นทีมทำงาน จึงเพิ่มศักยภาพตัวเองไปในตัว จากเดิมไม่เคยคิดทำอะไรนั่งอยู่บ้านไปวันๆ ก็รู้สึกว่าต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมมากขึ้น
ภาพเกลือสีขาวส่องประกายระยิบระยับกองเรียงราย คือภาพชินตาของคนในชุมชนตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี แต่เป็นภาพแปลกตาสำหรับคนต่างถิ่น เพราะไม่คิดว่าจะมีนาเกลืออยู่บนแหลมมลายูแห่งนี้
สืบค้นคุณค่าเกลือหวานตานี
“ตันหยงลุโละ” คำว่าตันหยงแปลว่า แหลม และคำว่าลุโละแปลว่า เพชรพลอยที่เป็นประกาย ในอดีตตำบลตันหยงลุโละ และตำบลบานา จังหวัดปัตตานี ขึ้นชื่อเรื่องการทำนาเกลือ ถึงขั้นมีการเปรียบเปรยว่า ที่นี่เป็นถิ่นเกลือหวานหรือ ฆาแฆ ตานิง มานิฮฺ ในภาษามลายู ซึ่งแปลว่า เกลือหวานปัตตานี ในอดีตคนในชุมชนตันหยงลุโละประกอบอาชีพทำนาเกลือและประมงเป็นหลัก จากประวัติศาสตร์ของจังหวัดปัตตานี บันทึกไว้ว่ามีกษัตริย์องค์หนึ่งเดินทางรอนแรมมาทางทะเลโดยนำเรือมาจอดที่อ่าวปัตตานี
พอลงจากเรือเท้าของกษัตริย์ที่ย่ำทรายกลับมีดินเหนียวติดมาด้วย และพบว่าตรงพื้นที่รอยเท้าเหยียบลงไปมีเกล็ดสีขาวส่องประกายระยิบระยับ ซึ่งก็คือเกลือนั่นเอง เมื่อเห็นว่าที่นี่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงตั้งรกรากเป็นเมืองปัตตานี มีการแลกเปลี่ยนสินค้ากับทั่วโลก เช่น จีน ชวา อินเดีย อาหรับ โปรตุเกส ฯลฯ อาชีพการทำนาเกลือจึงเกิดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ปัจจุบันอาชีพการทำนาเกลือเริ่มลดน้อยลง เหลือคนทำนาเกลือเพียงแค่ 20 เจ้าเท่านั้น
เพราะต้องการอนุรักษ์อาชีพดั้งเดิมซึ่งเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษไว้ กลุ่มเยาวชนบ้านตันหยงลุโละ ที่ประกอบด้วย ฮาฟิส-อับดุลฮาฟิส แวอาลี รอกิ-อับดุลอาซิส แม มาโจ้-นีมูหัมหมัด นิเดร์หะ นักศึกษาสาขาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ณา-สุรีณา เจสะมะแอ นักศึกษาสาขาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และเฮาะ-อิสเฮาะ เจะมามะ เยาวชนในพื้นที่ รวมตัวกันทำโครงการเกลือหวานตานี โดยมีเป้าหมายคือ สร้างการเรียนรู้ให้เด็กเยาวชน และคนในชุมชน ตระหนักและเห็นคุณค่าของการทำนาเกลือ จนเกิดการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำนาเกลือให้คงอยู่กับชุมชนต่อไป โดยมี แบมะ-มูฮำหมัด กะอาบู เป็นที่ปรึกษาโครงการ
“อาชีพทำนาเกลือก็เป็นอาชีพหลักในชุมชนที่กำลังจะสูญหายไป ยิ่ง 5-6 ปีที่ผ่านมา แปลงนาหลายแปลงถูกทิ้งร้าง บางคนก็ขายนาเกลือไปสร้างบ้านเช่าแทน จึงอยากรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านการทำนาเกลือไว้”
ฮาฟิส เล่าที่มาของคำว่าเกลือหวานว่า ที่เรียกเกลือหวานเพราะเกลือในพื้นที่ตันหยงลุโละขึ้นชื่อว่าเป็นเกลือที่มีคุณภาพดี มีรสชาติกลมกล่อมกว่าที่อื่น ไม่เค็มจัด เคยมีงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ บอกว่าน้ำทะเลที่นี่มีสารคนละชนิดกับน้ำทะเลภาคกลาง จึงทำให้ได้เกลือที่มีรสชาติแตกต่างกันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะปัตตานี หากนำเกลือที่นี่มาดองผักหมักปลาจะมีรสชาติอร่อย เพราะไม่เค็มจัด แต่ปัจจุบันอาชีพทำนาเกลือเหลือน้อยเต็มที ยิ่งคนรุ่นใหม่ยิ่งเทใจออกห่าง ยอมทิ้งอาชีพเก่าแก่
เพราะเห็นว่าเป็นอาชีพที่เหนื่อยยาก ต้องตรากตรำทำงานกลางแดดที่แผดเผาเนื้อตัว ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยเหมือนแต่ก่อนและราคาเกลือที่ตกต่ำ หลายครอบครัวตัดสินใจขายนาเกลือไป เพราะไม่มีคนสืบทอด เมื่อแบมะรุ่นพี่ในชุมชนชวนทำโครงการพร้อมกับตั้งคำถามชวนคิดว่า “บ้านเรามีของดีอะไรอยู่” โครงการเกลือหวานตานีจึงเป็นโจทย์แรกที่ทุกคนในกลุ่มเห็นร่วมกัน
“ตอนนั้นมีเรื่องอยากทำอยู่ 3 เรื่องคือ กีฬาต่อต้านยาเสพติด นาเกลือ และขยะ แต่พอคิดว่า เรื่องกีฬาจะจัดเมื่อไหร่ก็ได้ วันรายอก็มีกีฬาได้ ที่โรงเรียนก็ยังมีกีฬาสี ส่วนเรื่องขยะก็มีน้องๆ อีกกลุ่มทำไปแล้ว พอแบมะชวนคุยเรื่องเกลือหวาน ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าทำโครงการเกลือหวานน่าจะดี เพราะคนภายนอกอาจจะยังไม่รู้ และอาชีพทำนาเกลือก็เป็นอาชีพหลักในชุมชนที่กำลังจะสูญหายไป ยิ่ง 5-6 ปีที่ผ่านมา แปลงนาหลายแปลงถูกทิ้งร้าง บางคนก็ขายนาเกลือไปสร้างบ้านเช่าแทน จึงอยากรักษาภูมิปัญญาพื้นบ้านการทำนาเกลือไว้” ฮาฟิสเล่า
เมื่อโจทย์และเป้าหมายชัด ทีมงานจึงชวนกันออกแบบกิจกรรมเรียนรู้การทำนาเกลือ ตั้งแต่การพาเด็กและเยาวชนในชุมชนศึกษาประวัติการทำนาเกลือ และเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนและคนนอกชุมชนเข้ามาร่วมเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำนาเกลือในลักษณะ One Day Trip
“กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถสะท้อนถึงความสำคัญของนาเกลือ เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีอาชีพของบรรพบุรุษผ่านแผนที่และการพูดคุยได้เป็นอย่างดี และเด็กทุกคนเห็นตรงกันว่าอยากให้มีการทำนาเกลือในชุมชนต่อไป”
เรียนรู้ที่มา คุณค่านาเกลือ
สำหรับการศึกษาประวัติการทำนาเกลือ ทีมงานได้นัดกันลงพื้นที่สืบค้นข้อมูลว่ามีปราชญ์ชาวบ้านที่พอจะให้ความรู้เรื่องประวัติและวิธีการทำนาเกลืออยู่ที่ไหนบ้าง และจะใช้พื้นที่ใดเป็นแหล่งเรียนรู้ จนได้รู้จักกับบังฟุรกอน สาและ ชายวัย 30 ต้นๆ ที่ยังคงทำอาชีพรักษาความเค็มต่อจากพ่อ ทีมงานจึงขอความช่วยเหลือจากบังฟุรกอนเป็นวิทยากรให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนในชุมชนก่อน เพราะคิดว่าการพาน้องๆ เรียนรู้ในครั้งนี้จะช่วยให้เขารู้ประวัติการทำนาเกลือของชุมชน และสร้างความตระหนักรู้ให้คนในชุมชนหันมาสนใจและใส่ใจภูมิปัญญาการทำนาเกลือมากขึ้น
“การประชาสัมพันธ์เพื่อรับสมัครเด็กและเยาวชนในตำบลตันหยงลุโละ อายุ 13-18 ปี เข้าร่วมกิจกรรม One Day Trip เป็นไปอย่างเรียบง่าย ใช้วิธีปากต่อปาก แจกใบปลิว และติดบอร์ดประชาสัมพันธ์บริเวณ กศน.ซึ่งเป็นที่รวมพลของคนในหมู่บ้าน ในที่สุดมีเยาวชนสนใจเข้าร่วมกิจกรรม 15 คน” ทีมงาน เล่า
สำหรับกระบวนการเรียนรู้แบบ One Day Trip ที่ทีมงานออกแบบไว้ เริ่มต้นด้วยการพาเด็กๆ เดินดูสภาพของนาเกลือไปพร้อมกับฟังปราชญ์ชาวบ้านบรรยายถึงประวัติความเป็นมา และวิธีการทำนาเกลือในเบื้องต้น แล้วให้เด็กๆ กลับมาวาดแผนที่นาเกลือที่บริเวณร้านน้ำชา เพื่อทดสอบว่าเด็กแต่ละคนได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับนาเกลือบ้าง จากนั้นมีการถอดบทเรียนเพื่อสะท้อนความคิดที่ได้จากการลงพื้นที่
เฮาะ เสริมต่อว่า บังฟุรกอนจะอธิบายเป็นภาษามลายูที่เด็กเข้าใจได้ไม่ยาก กระบวนการดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะอย่างน้อยเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการสามารถสะท้อนถึงความสำคัญของนาเกลือ เรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีอาชีพของบรรพบุรุษผ่านแผนที่และการพูดคุยได้เป็นอย่างดี และเด็กทุกคนเห็นตรงกันว่าอยากให้มีการทำนาเกลือในชุมชนต่อไป
หลังจากพาคนในชุมชนเรียนรู้วิถีการทำนาเกลือแล้ว ก็ถึงเวลาพาคนนอกเข้ามาเรียนรู้บ้าง ด้วยต้องการทดลองเปิดให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชน ซึ่งเป็นความฝันของทีมงาน จึงรับสมัครเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัย โดยวางบทบาทเป็นนักท่องเที่ยวต่างถิ่นจำลองเข้ามาเรียนรู้ชุมชนและวิถีการทำนาเกลือ ซึ่งเพื่อนหลายคนที่มาจากต่างถิ่นรู้สึกตื่นเต้นว่า ปัตตานีมีนาเกลือด้วยหรือ...
ความสนุกสนานและการค้นหาคำตอบในวิถีนาเกลือจึงเริ่มขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้ดูเหมือนประสบความสำเร็จกว่าครั้งที่ผ่านมา เพราะนอกจากได้ดูวิถีนาเกลือแล้ว ทีมงานยังจัดให้นักท่องเที่ยวต่างถิ่นจำลองกลุ่มนี้เรียนรู้วิถีชุมชน รวมถึงสถานที่สำคัญของชุมชน เช่น ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว มัสยิดกรือแซะ เพื่อให้เข้าใจวิถีชุมชนอย่างลึกซึ้ง
ขณะที่ปราชญ์ชาวบ้านก็อธิบายเรื่องราวเป็นภาษาไทยได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมทั้งสอดแทรกเกร็ดความรู้ เรียกรอยยิ้มและเสียงปรบมือได้ไม่น้อย โดยบังฟุรกอนเล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของนาเกลือในอดีตและปัจจุบัน อุปกรณ์และวิธีการทำนาเกลือ ความแตกต่างของเกลือที่นี่กับเกลือภาคกลาง รวมไปถึงช่องทางการจำหน่ายหรือราคาเกลือที่ในอดีตพุ่งขึ้นราวกับทองคำ
ถอดรหัสเกลือหวานตานี
เราพาคนอื่นเรียนวิถีการทำนาเกลือ แล้วทีมงานรู้วิธีการทำนาเกลือหรือไม่?
ทีมงานแย่งกันตอบว่า รู้ครับ พวกเรารู้ว่า สายลมและแสงแดดคือปัจจัยหลักในการทำนาเกลือ ถ้าไม่มีลมเกลือจะไม่จับกันเป็นก้อน ดอกเกลือไม่แตกหน่อ และหากฝนตกทุกอย่างก็จบลงโดยปริยาย ดังนั้นขั้นตอนกว่าจะได้เกลือมากินนั้นไม่ง่ายเลย
เฮาะ เสริมว่า ก่อนเริ่มทำนาเกลือ ชาวบ้านจะต้องปรับพื้นที่ซึ่งเป็นดินเหนียวโดยยกเป็นแปลงๆ คล้ายๆ นาข้าวเพื่อใช้ขังน้ำทะเล มีคันนากว้างพอให้คนเดินผ่านไปมาได้ การทำนาเกลือเริ่มขึ้นในช่วงฤดูแล้งโดยในหนึ่งปีจะแบ่งเป็น 2 รอบ รอบแรกตั้งแต่เดือนกุมพันธ์-มีนาคม และรอบสองตั้งแต่ เมษายน-มิถุนายน ซึ่งในรอบสองนี้ชาวนาเกลือไม่ต้องปรับสภาพผิวดิน ทำเพียงแค่ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในบางจุดเท่านั้น
วิธีการทำนาเกลือขั้นตอนแรกชาวนาจะสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำหัวพญานาคผันน้ำทะเลเข้านา จากนั้นตากให้แห้งจนเห็นดินแตกระแหง ใช้ลูกกลิ้งๆ ไปมาให้แน่น ยิ่งดินแข็งมากเท่าไรยิ่งทำให้เกลือขาวสะอาดมากขึ้น พอน้ำแห้งสูบเข้านาใหม่อีกรอบเพื่อให้แปลงนาเกิดความเค็มอย่างต่อเนื่อง
ข้อสังเกตที่ปราชญ์ชาวบ้านให้ข้อมูลคือ หากดินเริ่มเค็มจะเห็นเป็นสีขาวจากนั้นเติมน้ำเข้านาอีกประมาณ 3 ครั้ง ตากให้น้ำแห้งจนเห็นประกายแววใส นั่นหมายความว่าเกลือตกผลึกแล้ว ยิ่งแดดแรงและลมดีเท่าไรเกลือที่ได้จะสวยใสและมีรสชาติดีขึ้น จากนั้นเกษตรกรชาวนาเกลือจึงใช้เครื่องมือคราดกวาดมากองไว้อย่างเบามือเพื่อไม่ให้มีดินปะปน เกลือที่ได้เก็บขายกันเป็นกระสอบหรือแบ่งขายเป็นกันตังๆ ละ 70 บาท (1 กันตังเท่ากับ 4 ลิตร)
ฮาฟิส เสริมต่อว่า หลังจากเก็บเกลือแล้วจะมีการปรับหน้าดินเพื่อรอฤดูกาลถัดไป ผลพวงจากการปรับหน้าดินแต่ละรอบจะได้เกลือปุ๋ยซึ่งเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นเลิศที่เกษตรกรการันตีว่าคุณภาพดีกว่าปุ๋ยเคมี เพราะมีสารอาหารครบถ้วนที่พืชผลทางการเกษตรต้องการ “เขาว่าเป็นปุ๋ยอย่างดี คนจากจังหวัดยะลาก็มาซื้อ เพราะปุ๋ยทั่วไปกระสอบละ 600-700 บาท ในขณะที่เกลือปุ๋ยกระสอบละ 100 บาท นิยมนำไปโรยใส่ต้นลองกอง หรือต้นปาล์มทำให้ออกดอกออกผลดีมาก”
“นอกจากประสบการณ์ในการทำงานที่มีมากขึ้นแล้ว โครงการนี้ยังทำให้เขาสามารถทลายกำแพงบางๆ ระหว่างคนในชุมชน กล้าพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่รู้หน้าไม่รู้ใจก็ได้รู้จักกันยิ่งขึ้น”
รู้จักชุมชน...รู้จักตนเอง
ความสำเร็จจากกิจกรรม One Day Trip ทั้ง 2 ครั้ง ทำให้ทีมงานกลับมาขบคิดต่อเรื่องการต่อยอดโครงการ เฮาะบอกว่า นอกจากการเรียนรู้ภูมิปัญญาการทำนาเกลือในท้องถิ่นแล้ว เขาอยากให้คนทั่วไปรู้จักเกลือหวานตานีในรูปแบบการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือช่องทางการขายเกลืออื่นๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงผลพลอยได้จากการทำนาเกลืออย่างเกลือปุ๋ย เพื่อให้เกลือหวานตานีเป็นที่รู้จักและอาชีพนาเกลืออยู่คู่ชุมชนตลอดไป
ด้านฮาฟิส สะท้อนว่า เขาอยากรักษาภูมิปัญญาการทำนาเกลือเอาไว้ แต่ให้ทำเองคงทำไม่ได้ เพราะยังขาดทักษะความรู้และความเชี่ยวชาญ ซึ่งต้องอาศัยชั่วโมงบินสูงว่านี้ และนอกจากประสบการณ์ในการทำงานที่มีมากขึ้นแล้ว โครงการนี้ยังทำให้เขาสามารถทลายกำแพงบางๆ ระหว่างคนในชุมชน กล้าพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนมากขึ้น จากเดิมที่รู้หน้าไม่รู้ใจก็ได้รู้จักกันยิ่งขึ้น ส่วนรอกิ บอกว่า โครงการนี้ทำให้ความรับผิดชอบของเขาเริ่มก่อตัวทีละน้อย จนรู้สึกว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และที่สำคัญคือรู้จักชุมชนของตัวเองมากขึ้นว่ามีของดีอะไรบ้าง
“ก่อนหน้านี้เป็นคนไม่ค่อยเอาใจใส่งาน ไม่ค่อยมีจิตสาธารณะ การเข้ามาเป็นทีมทำงาน จึงเพิ่มศักยภาพตัวเองไปในตัว จากเดิมไม่เคยคิดทำอะไรนั่งอยู่บ้านไปวันๆ ก็รู้สึกว่าต้องเสียสละเพื่อส่วนรวมมากขึ้น มีทักษะในการทำงานและการติดต่อประสานงานมากขึ้น” นอกจากนี้ รอกิยังบอกว่า วิชาเศรษฐศาสตร์ที่เขาร่ำเรียนมาสามารถนำมาปรับใช้กับการทำนาเกลือได้ โดยเฉพาะในเรื่องการ “เปิดตลาด” เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายใหม่
“ผมเคยคิดอยากเปิดตลาดให้ชุมชนมาก คิดว่าทำอย่างไรให้เกลือของเราสามารถเข้าไปอยู่ในเซเว่นอีเลฟเว่น หรืออยู่ในห้างได้ รวมทั้งการแปรรูปเกลือหลากหลายรูปแบบ พยายามคิดอยู่ว่าจะผลักดันอย่างไร ให้เกลือมีมูลค่าสูงขึ้น เคยคิดถึงขนาดว่าตั้งโรงงานผลิตเกลือดีไหม เพราะนอกจากจะได้เรื่องการตลาดแล้ว ยังช่วยสร้างอาชีพให้คนในชุมชนมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอีกด้วย ที่ยังค้างคาใจอยู่ทุกวันนี้ว่า ทำอย่างไรเกลือหวานตานีจึงจะเป็นที่รู้จักมากกว่านี้” รอกิ กล่าวทิ้งท้ายประโยคด้วยโจทย์คำถาม
เมื่อถูกตั้งคำถาม “กระตุกต่อมคิด” ว่าบ้านเรามีอะไรดี นำไปสู่การรวมกลุ่มของเยาวชนบ้านตันหยงลุโละที่อาสาลุกขึ้นมาสืบค้นคุณค่าความหมายของ “เกลือหวานตานี” นาเกลือผืนสุดท้ายของแหลมมลายูอย่างลึกซึ้งแล้ว พวกเขายังส่งต่อความรู้ให้คนทั้งในและนอกชุมชนได้รับรู้ถึงคุณค่าภูมิปัญญาการทำนาเกลือที่นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที ทั้งยังคิดต่อยอดสร้างมูลค่าเกลือหวานตานีให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น เพื่อให้อาชีพทำนาเกลือคงอยู่คู่แหลมมลายูตลอดไป
โครงการ : เกลือหวานตานี
ที่ปรึกษาโครงการ : มูฮำหมัด กะอาบู
ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านตันหยงลุโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
( อับดุลอาซิส แม ) ( อับดุลฮาฟิส แวอาลี ) ( นีมูหัมหมัด นิเดร์หะ ) ( สุรีณา เจสะมะแอ )
( อิสเฮาะ เจะมามะ )