การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเรียนรู้ชุมชนและพัฒนาศักยภาพของตนเอง ชุมชนกะลูแป จังหวัดปัตตานีปี 4

เรียนรู้ชุมชน สร้างคนกะลูแป

โครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชนกะลูแป

การทำโครงการเป็นการเปิดโอกาสและเปิดโลกการเรียนรู้ของทีมงาน เยาวชนในหมู่บ้าน และคนในชุมชน...เมื่อต้องผ่านเวทีของสงขลาฟอรั่ม ทำให้ทีมงานมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น...จนกล้าที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไป ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็เริ่มเห็นความสามารถของเยาวชน เห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งมิติศาสนา และการพัฒนาชีวิต นับเป็นผลกระทบทางบวกของโครงการที่เปลี่ยนแปลงบรรยากาศของชุมชนให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของเยาวชนอย่างถูกที่ถูกทางมากขึ้น

การเข้ามาของคนนอกเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงสู่ชุมชน ดังเช่น โครงการบัณฑิตอาสาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่ส่งบัณฑิตลงไปฝังตัวเรียนรู้ และช่วยเหลือชุมชนในพื้นที่ต่างๆ สร้างรูปรอยที่กระตุ้นให้คนในได้คิด ได้เรียนรู้ และเปลี่ยนแปลง “เมื่อก่อนคิดว่าปัญหาต่างๆ ในประเทศของเรา ต้องรอให้ผู้ใหญ่เป็นคนแก้ไข พอได้ทำโครงการ เรามองว่า แม้เราเป็นเยาวชน เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความต้องการของชุมชนจริงๆ”

เปิด “โอกาส”

ชุมชนกะลูแป ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี เป็นชุมชนขนาดกลางที่มีสมาชิกเพียง 800 คน หรือ 112 ครัวเรือน เป็นหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองที่ถูกแบ่งเป็น 2 ฟากฝั่ง มีถนนใหญ่ตัดผ่านกลาง ประชากร 100 เปอร์เซ็นนับคือศาสนาอิสลาม เป็นชุมชนที่ยึดถือวิถีปฏบัติของมุสลิมอย่างเคร่งครัด ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเย็บใบจากขาย บางส่วนเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่าย และที่นี่ยังเป็นพื้นที่ปฏิบัติการของ อะห์-ซารียะห์ อาแวกะจิ บัณฑิตอาสา 

จึงทำให้เธอคุ้นเคยกับสมาชิกในชุมชน โดยเฉพาะเยาวชนในพื้นที่เป็นอย่างดี แม้เธอจะมีประสบการณ์ทำงานในชุมชนมาบ้าง แต่สิ่งที่ปลุกเร้าสำนึกพลเมือง สำนึกการทำดีของเธออย่างเข้มข้น คือการเข้ามาทำโครงการบุหรี่คือฮารอม ร่วมกับเพื่อนๆ ในมหาวิทยาลัยเมื่อปีที่แล้ว 

“เมื่อก่อนคิดว่าปัญหาต่างๆ ในประเทศของเรา ต้องรอให้ผู้ใหญ่เป็นคนแก้ไข พอได้ทำโครงการ เรามองว่า แม้เราเป็นเยาวชน เราก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาได้ แต่ต้องทำงานอยู่บนพื้นฐานความต้องการของชุมชนจริงๆ” อะห์ บอกเล่าถึงความคิดที่เปลี่ยนไปหลังทำโครงการเมื่อปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2558) จึงเกิดความคิดว่า น่าจะสนับสนุนให้น้องๆ เยาวชนในชุมชนกะลูแปได้เรียนรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองผ่านการทำโครงการในปีนี้ (พ.ศ.2559) เพื่อจะได้เป็นแกนนำช่วยดูแลชุมชนของตนต่อไป เธอจึงอาสาเป็นตัวกลางประสานงานระหว่างสงขลาฟอรั่มกับเยาวชนในพื้นที่เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในชุมชนได้ทำโครงการ

ช่องทางการแสวงหาแกนนำเยาวชนในชุมชน ถูกสื่อสารผ่านเฟชบุ๊ก และชักชวนน้องๆ ที่คุ้นเคยกัน คือ ณี-รุสณี สะอะ ให้ไปชักชวนเพื่อนๆ คือ ยา-ซูไรยา อุเซ็ง และซูมัย-ซูมัยยะห์ สามาแอ อีกต่อหนึ่ง ส่วน เลาะ-อับดุลเลาะ มามะ ที่สนใจกิจกรรมจิตอาสาอยู่แล้ว จึงขอเข้าร่วมโครงการกับอะห์โดยตรงทางเฟชบุ๊ก โดยมีโจทย์การทำงานในตอนแรกคือ ปัญหายาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชน เยาวชนจำนวน 116 คน มีมากกว่าครึ่งที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เด็กผู้ชายส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เรียนหนังสือเมื่อมีเวลาว่างมาก จึงมักจับกลุ่มมั่วสุมทดลองสูบบุหรี่ เสพน้ำกระท่อม และบางคนก็จมจ่อมอยู่กับโลกส่วนตัว โดยไม่สนใจสิ่งรอบข้าง 

“คนในชุมชนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน จึงไม่มีเงินส่งลูกเรียน ส่วนคนที่มีเงินแม้จะส่งลูกเรียน แต่ลูกก็ไม่เรียน เพราะไปคบกับเพื่อนที่ไม่ได้เรียน ซึ่งเป็นเด็กกลุ่มใหญ่ของชุมชน พากันมั่วสุมสารเสพติด” ซูมัย เล่าถึงสถานการณ์ของเยาวชนในหมู่บ้าน 


เรียนรู้เพื่อรักแผ่นดินถิ่นเกิด

“ที่เราชวนศึกษาชุมชน เพราะคิดว่าการเรียนไม่ใช่แค่การท่องหนังสืออย่างเดียว กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้จักชุมชนอย่างลึกซึ้ง เมื่อเด็กๆ รู้จักชุมชนอย่างลึกซึ้งจะทำให้เขารักชุมชนในที่สุด” 

แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการ พี่ๆ จากสงขลาฟอรั่มช่วยตั้งคำถามเพื่อสร้างความชัดเจน เชื่อมโยงปัญหา สาเหตุ และศักยภาพของเยาวชน ทำให้ทีมงานรู้สึกว่า เรื่องยาเสพติดเป็นเรื่องใหญ่ ที่อาจจะเกินกำลังพวกเขา และการไปชวนเพื่อนๆ ในชุมชนที่ส่วนใหญ่อยู่ในวงจรนี้มาเข้าร่วมกิจกรรมคงทำได้ยาก เมื่อนำบริบทชุมชนมาพิจารณาเห็นว่า เยาวชนส่วนใหญ่ขาดโอกาสทางการศึกษา 

จึงเห็นลู่ทางว่า น่าจะทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้ เพื่อให้เพื่อนๆ ที่ไม่ได้เรียนหนังสือได้พัฒนาทักษะชีวิต ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดในทางอ้อม ด้วยการทำโครงการเรียนรู้ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชนกะลูแป โดยมีโจทย์คือการศึกษาชุมชนตนเอง เพื่อสร้างความผูกพันกับแผ่นดินถิ่นเกิด

“การที่เด็กไม่ได้เรียนหนังสือ จะก่อให้เกิดปัญหาสังคมในอนาคต ทำให้ชุมชนไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้” เลาะ เล่าถึงเบื้องหลังความคิด โดยณีเสริมว่า การเรียนรู้แบบนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เด็กๆ เกิดกระบวนการเรียนรู้ ทำให้พวกเขารู้จักชุมชนของตนมากขึ้น

เพราะเชื่อมั่นว่า หากคนเราคิดเป็น ทำอะไรก็จะยั้งคิดถึงผลดีผลเสียได้ หากเยาวชนที่คิดไม่เป็น ก็จะอยู่ว่างๆ ล่องลอยไปวันๆ นึกจะทำอะไรก็ทำ และส่วนใหญ่มักไหลไปสู่เรื่องไม่ดี ซึ่งจะกลายเป็นการทำลายตนเอง ทำลายชุมชนของโดยไม่รู้ตัว ทีมงานจึงกำหนดเป้าหมายการทำงานโครงการเพื่อให้เยาวชนในหมู่บ้านได้ศึกษาชุมชนไปพร้อมๆ กับการพัฒนาศักยภาพของตนเอง 

การทำงานเริ่มต้นที่การประชุมทีม แบ่งบทบาทหน้าที่ และร่วมกันออกแบบกิจกรรมคร่าวๆ ว่าจะพาน้องๆ ศึกษาเรื่องราวของชุมชนอย่างไร “ที่เราชวนศึกษาชุมชน เพราะคิดว่าการเรียนไม่ใช่แค่การท่องหนังสืออย่างเดียว กิจกรรมเหล่านี้จะทำให้เด็กรู้จักชุมชนอย่างลึกซึ้ง เมื่อเด็กๆ รู้จักชุมชนอย่างลึกซึ้งจะทำให้เขารักชุมชนในที่สุด” ณี บอกเป้าหมายของการพาเด็กๆ เรียนรู้ชุมชน

เมื่อโจทย์การทำงานของทีมชัดเจน ว่าอยากรู้เรื่องราวของชุมชน อะห์ในฐานะที่ปรึกษาโครงการจึงหนุนเสริมโดยชวนเพื่อนๆ บัณฑิตอาสามาอบรมเรื่องเครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาชุมชนให้แก่น้องๆ ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาประวัติศาสตร์ของชุมชน การทำแผนที่ชุมชน และทำปฏิทินชุมชน 

แต่ก่อนเริ่มกิจกรรม ทีมงานต้องหากลุ่มเป้าหมายที่จะร่วมเรียนรู้ให้ได้ก่อน แม้เด็กในชุมชนจะมีเพียง 116 คน แต่เพื่อให้การทำกิจกรรมบรรลุผล จึงขอนำร่องทำกิจกรรมกับกลุ่มเป้าหมายวัย 8-19 ปี ซึ่งเป็นวัยอยากรู้อยากลอง โดยตั้งใจว่าจะรับสมัคร 20 คน เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพของทีมงาน มีเลาะรับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ และประสานงานกับผู้นำชุมชนคือ โต๊ะอิหม่ามขอประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายของหมู่บ้าน และทำป้ายประกาศรับสมัครโดยให้เยาวชนที่สนใจลงชื่อสมัครเข้าร่วมกิจกรรมที่บ้านของณี ซึ่งทำหน้าที่เลขากลุ่ม

ณี บอกว่า มีน้องๆ สนใจสมัครใจเข้าร่วมโครงการกว่า 30 คน ส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 8-12 ปี ถือเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทำให้ทีมงานรู้สึกแช่มชื่นที่ได้รับความร่วมมือเกินคาด ครั้งแรกของการนัดหมาย ทีมงานและน้องๆ ทำความรู้จักคุ้นเคยกันผ่านกิจกรรมสันทนาการ ซึ่งทีมงานเล่าว่า ในอดีตไม่เคยมีกิจกรรมที่รวมกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านมาก่อน จะมีแต่ในช่วงวันรายอ (หลังรอมฎอน) ที่มีงานฉลองในชุมชนให้เด็กๆ ได้แสดงละคร หรือร้องอานาซีด การรวมกลุ่มเยาวชนในโครงการนี้จึงเป็นครั้งแรกของการจัดกิจกรรมเพื่อเยาวชนโดยเยาวชน แต่เนื่องจากในชุมชนไม่มีพื้นที่กว้างพอ จึงต้องพาน้องๆ ไปเล่นเกมที่สุสานคนจีนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง 

เมื่อน้องและทีมงานสนิทสนมกันแล้ว ทีมงานจึงใช้จังหวะดังกล่าว “สร้างเป้าหมายร่วม” ชี้แจงโครงการและกิจกรรมที่จะทำร่วมกันให้น้องรับรู้ พร้อมนัดหมายกิจกรรมในครั้งต่อไป แต่กว่าจะได้ทำกิจกรรมร่วมกันอีกครั้ง เวลาก็ผ่านไปหลายเดือน เนื่องจากทีมงานแต่ละคนวุ่นกับภารกิจอื่น ยากำลังหาที่เรียนต่อหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนซูมัยและณีติดภารกิจกีฬาสีของโรงเรียน

“การศึกษาชุมชนจากผู้รู้...เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัย ผู้ใหญ่แต่ละท่านยินดีบอกเล่าเรื่องราว ให้ความรู้แก่เด็กๆ อย่างเต็มใจ บางท่านรอบรู้หลายเรื่อง ทีมงานแต่ละกลุ่มจึงต้องจัดสรรเวลา สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปพบ บางท่านไม่รู้บางเรื่องก็ยังอุตส่าห์แนะนำให้ไปสอบถามจากผู้รู้ท่านอื่น ทำให้บรรยากาศของชุมชนคึกคักและมีชีวิตชีวา”


“เครื่องมือ” เรียนรู้ชุมชน

กว่าทีมงานจะจัดสรรภารกิจชีวิตของแต่ละคนได้ลงตัว เวลาก็ผ่านไปร่วม 3 เดือน จึงกลับมามุ่งมั่นขับเคลื่อนกิจกรรมโครงการอีกครั้ง ครั้งนี้นัดหมายกันมาเรียนรู้เครื่องมือการศึกษาชุมชนจากพี่ๆ บัณฑิตอาสา และการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูล โดยแบ่งน้อง 3 กลุ่มตามประเภทของเครื่องมือเก็บข้อมูลคือ ประวัติศาสตร์ แผนที่ และปฏิทินชุมชน 

โดยมีทีมงานลงประจำแต่ละกลุ่มด้วย “หนูกับณีอยู่กลุ่มประวัติศาสตร์ก็ไปถามโต๊ะอิหม่าม เขาก็เล่าให้ฟังหลายอย่าง เช่น ทำไมชุมชนชื่อกะลูแป วิถีชีวิตชาวบ้านสมัยก่อนอยู่แบบไหน ทำอาชีพอะไร ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของชุมชนกะลูแป” ยาเล่า

ส่วนเลาะซึ่งประจำกลุ่มแผนที่ เล่าว่า เป็นครั้งแรกที่เขาได้ใช้เครื่องมือนี้ วิธีการคือเดินสำรวจรอบหมู่บ้านพร้อมจดบันทึกสถานที่สำคัญๆ แล้วจึงกลับมาช่วยกันวาดแผนที่ของหมู่บ้าน

สำหรับการทำปฏิทินชุมชนจะเน้นเนื้อหาเกี่ยวกับประเพณี วัฒนธรรม และการผลิตของชุมชน โดยเทียบเคียงเดือนในระบบสากล และเดือนในระบบของอิสลาม ทำให้ซูมัยและน้องๆ สามารถนับเดือนในระบบของอิสลามได้ และยังรู้ถึงกิจกรรมสำคัญๆ ในรอบปีของชุมชนอีกด้วย“เดือนอิสลามกับเดือนสากลไม่ได้ตรงกัน เดือนของอิสลามจะดูตามดวงจันทร์เป็นหลัก 

คือ แรม 1 ค่ำของไทย เป็นวันที่ 1 ของอิสลาม ชีวิตของมุสลิมเวลาปฏิบัติศาสนกิจ เช่น เข้าสู่ศีลอดก็ต้องดูดวงจันทร์ ขึ้นปีใหม่ก็ต้องดูดวงจันทร์ เข้าเดือนอาซารอมก็ต้องดูดวงจันทร์ ดังนั้นการนับวัน นับเดือนได้จึงสำคัญสำหรับวิถีมุสลิม” ซูมัยเล่าถึงความสำคัญของปฏิทินชุมชน การศึกษาชุมชนจากผู้รู้ ซึ่งได้แก่โต๊ะอิหม่าม โต๊ะครู และผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เป็นการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างวัย ผู้ใหญ่แต่ละท่านยินดีบอกเล่าเรื่องราว ให้ความรู้แก่เด็กๆ อย่างเต็มใจ บางท่านรอบรู้หลายเรื่อง ทีมงานแต่ละกลุ่มจึงต้องจัดสรรเวลา สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปพบ บางท่านไม่รู้บางเรื่องก็ยังอุตส่าห์แนะนำให้ไปสอบถามจากผู้รู้ท่านอื่น ทำให้บรรยากาศของชุมชนในวันดังกล่าวคึกคักและมีชีวิตชีวา

ขณะที่ศึกษาข้อมูลของชุมชนอย่างตั้งใจ น้องๆ ที่ยังเด็กถามด้วยความไม่เข้าใจว่า ทำไมเราต้องศึกษาเรื่องราวของชุมชน ทีมงานจึงสบโอกาสอธิบายความสำคัญว่า ถ้าเราไม่ศึกษาชุมชนของเราแล้วใครจะมาศึกษา แล้วคนในชุมชนถ้าไม่รู้จักชุมชนของตนเองจะเป็นอย่างไร คำตอบที่ไม่กระจ่างชัดในความรู้สึกของเด็กน้อย แต่กระบวนการที่พี่พาทำเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่เคร่งเครียด ไม่วิชาการจนเกินไป ยิ่งการสรุปข้อมูลที่ใช้เทคนิคด้านศิลปะวาดเขียน ระบายสี ยิ่งทำให้น้องๆ เพลิดเพลิน และค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวของชุมชนไปโดยไม่รู้ตัว “ก่อนทำโครงการหนูก็ไม่รู้จักประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชนก็ไม่รู้ ยิ่งขอบเขตพื้นที่อะไรอยู่ตรงไหนในชุมชนยิ่งไม่เคยรู้ และตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจอยากรู้ แต่ตอนนี้พอได้รู้แล้วก็รู้สึกภูมิใจมาก”


สร้างพื้นที่เรียนรู้ในชุมชน

หลังจากจัดกิจกรรมศึกษาชุมชน ทีมงานนำข้อมูลที่ได้มาช่วยกันสรุปให้เป็นระบบ เพื่อใช้จัดนิทรรศการเผยแพร่ในชุมชน กลุ่มที่ศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน เรียบเรียงข้อมูลความเป็นมาของหมู่บ้านตามลำดับเวลาจากอดีตถึงปัจจุบัน กลุ่มที่ศึกษาเรื่องปฎิทินชุมชน ทำตารางกิจกรรมในรอบปี โดยแสดงทั้งเดือนในระบบสากลและเดือนในระบบอิสลาม ส่วนกลุ่มแผนที่ชุมชน วาดแผนที่ขนาดใหญ่ของหมู่บ้าน แสดงเส้นทางสัญจรและสถานที่สำคัญๆ ในชุมชน 

ข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำมาจัดนิทรรศการในร้านน้ำชาของคนในชุมชน ซึ่งเป็นศูนย์กลางที่คนในชุมชนมักมาพบปะพูดคุยกัน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเจ้าของร้านน้ำชาเป็นอย่างดีทีมงานจัดทำบัตรเชิญสมาชิกในชุมชนโดยแจกไปทั่วทุกหลังคาเรือน โดยมีลูกเล่นที่บัตรเชิญแต่ละใบจะมีสิทธิได้รับของรางวัลจากการจับฉลาก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเข้าร่วมกิจกรรม ขณะเดียวกันการจัดงานดังกล่าว ยังเปิดโอกาสให้น้องๆ แสดงความสามารถตามความถนัดของตนเอง 

“เราบอกน้องว่า ในกิจกรรมจะมีนิทรรศการด้วยและการแสดง ให้น้องๆ จัดการแสดงที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตในชุมชนเพื่อให้น้องๆ ได้โชว์ศักยภาพของตนเอง ถามว่า เด็กในชุมชนกล้าแสดงออกไหม ก็กล้า เพียงแต่ว่าเขาไม่ได้รับโอกาส พวกเราก็เปิดโอกาสให้เขาได้แสดงออกเท่านั้น” ณี อธิบาย ผู้ใหญ่บ้านกะลูแปให้เกียรติเป็นประธานทำพิธีเปิดนิทรรศการ ทีมงานรับหน้าที่อธิบายเนื้อหาเรื่องราว กระบวนการที่ได้ทำการศึกษา สลับกับการแสดงความสามารถของน้องๆ ในชุมชน เด็กบางคนได้โอกาสโชว์ความสามารถให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของคนในชุมชนเป็นครั้งแรก กลายเป็นความประทับใจในความสามารถของเด็กๆ

“เขาไม่เคยได้รับโอกาสแสดงความสามารถของตนเอง พอมีโครงการนี้เขาได้โชว์ศักยภาพ เช่น ร้องอานาซีด ทำให้เขารู้ตัวว่า เขาก็มีดีเหมือนกัน ทำให้เขาเกิดแรงบันดาลใจ คนในชุมชนก็มีความสุข เพราะไม่เคยเห็นลูกหลานแสดงความสามารถเช่นนี้” ยาเล่า

การศึกษาประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชน ทำให้เยาวชนได้รู้ที่มาของชื่อบ้านนามเมืองของตนเองว่า มี 2 ที่มาคือ 1)มาจากต้นไม้ชื่อ กะลูแป ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่ง ที่ในอดีตเคยขึ้นอย่างหนาแน่นในบริเวณที่ตั้งของชุมชน แต่ปัจจุบันนี้เหลือเพียงต้นเดียว และ 2)มาจากเหรียญโบราณที่ในภาษามลายูเรียกว่า กะลูแป ซึ่งถูกขุดพบในบริเวณดังกล่าว 

ชื่อหมู่บ้าน “กะลูแป” จึงถูกบอกเล่าผ่านผู้เฒ่าผู้แก่ที่ยังคงจดจำเรื่องราวแต่หนหลังอีกครั้ง “คนในชุมชนยังไม่รู้เลยว่าในหมู่บ้านมีต้นกะลูแป มารู้กันตอนที่พวกหนูทำโครงการนี้” ซูมัยเล่าอย่างตื่นเต้น “ก่อนทำโครงการหนูไม่รู้จักประวัติศาสตร์ชุมชน ปฏิทินชุมชนก็ไม่รู้ ยิ่งขอบเขตพื้นที่อะไรอยู่ตรงไหนในชุมชนยิ่งไม่เคยรู้ และตอนนั้นก็ไม่ได้สนใจอยากรู้ แต่ตอนนี้พอได้รู้แล้วก็รู้สึกภูมิใจมาก” ณีสารภาพ

“การทำงานคือ การฝึกฝนทั้งระบบคิด และพฤติกรรม...การทำกิจกรรมแบบนี้เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง เวลาอยู่บ้านพ่อจะตามใจทุกอย่าง พอมาอยู่โรงเรียนต้องเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราให้ได้ อยู่บ้านเราจะยังไงก็ได้เพราะพ่อแม่รับได้อยู่แล้ว พอมาอยู่กับส่วนรวมถ้าเรามัวแต่ตามใจตัวเองก็ไม่สามารถเข้ากับคนอื่นได้”


ฉันทำได้ ฉันเปลี่ยนแปลงตัวเองได้

การทำโครงการจึงเป็นเวทีที่เปิดโอกาสและเปิดโลกการเรียนรู้ของทีมงาน เยาวชนในหมู่บ้าน และคนในชุมชน ความกล้าแสดงออกที่ถูกพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องผ่านเวทีของสงขลาฟอรั่ม ทำให้เลาะ และยาพูดอย่างมั่นใจว่า ตนเองมีความกล้าแสดงออกมากขึ้น เช่นเดียวกับน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมที่ได้โอกาสแสดงความสามารถในเวทีที่ทีมงานหยิบยื่นให้ ซึ่งความสามารถบางอย่างที่ส่องประกายออกมานั้นจะเป็นพื้นฐานที่ทำให้เยาวชนมีความกล้าที่จะพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไป 

ขณะเดียวกันคนในชุมชนก็ได้เห็นถึงความสามารถของลูกหลาน ไปพร้อมๆ กับได้รับรู้เรื่องราวความเป็นมาของถิ่นฐานบ้านเกิดของตน จึงเป็นที่ชัดเจนว่าการทำงานคือ การฝึกฝนทั้งระบบคิด และพฤติกรรม ดังที่ซูมัยยอมรับว่า “การทำกิจกรรมแบบนี้มันเป็นประโยชน์ต่อตัวเองคือ รู้สึกภูมิใจกับตัวเองเหมือนกัน ว่าเราตัวแค่นี้เราสามารถทำให้เด็กยอมรับได้ เวลาอยู่บ้านพ่อจะตามใจหนูทุกอย่าง พอมาอยู่โรงเรียนต้องเปลี่ยนทัศนคติของตนเอง ต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราให้ได้ ถ้าอยู่บ้านเราจะยังไงก็ได้เพราะพ่อแม่เราเขารับได้อยู่แล้ว พอมาอยู่กับส่วนรวมถ้ามัวแต่ตามใจตัวเองก็ไม่สามารถเข้ากับคนอื่นได้” เช่นเดียวกับณี ที่ต้องเรียนรู้ที่จะปรับใจ ปรับอารมณ์ของตน ที่มักรู้สึกน้อยใจเพื่อนๆ ที่ไม่มีเวลาว่าง ก็เปลี่ยนจากคนอารมณ์ร้อน เอาแต่ใจ กลายเป็นคนที่รับฟังคนอื่นมากขึ้น

“หนูเปลี่ยนแปลงตัวเองเพราะเราต้องมีส่วนร่วมกับเพื่อน ต้องยอมรับความคิดเห็นของเพื่อน ยอมรับจริงๆ ไม่ใช่เพราะเถียงไม่ได้ และการจัดการอารมณ์ของตนเองที่ทำได้นิดหนึ่ง คือรู้ตัวเอง” ณีเล่าถึงการรู้ตัวรู้ตนที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง การควบคุมอารมณ์ของตนเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ทีมงานบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่จะควบคุมน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ ทีมงานก็ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อนว่า ทำอย่างไรน้องจึงสนใจ เพราะน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่อยู่ในวันที่ทั้งแสบทั้งซน ตีก็ไม่ได้ ขู่ก็ไม่ได้ผล ต้องใจเย็น ค่อยๆ พูดโน้มน้าวหรือบางครั้งก็ต้องหลอกล่อด้วยขนมเพื่อให้น้องไปในแนวทางที่ต้องการ 

การควบคุมอารมณ์ของตนเอง เป็นสิ่งหนึ่งที่ทีมงานบอกว่า เป็นเรื่องสำคัญ เพราะการที่จะควบคุมน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ ทีมงานก็ต้องควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อนว่า ทำอย่างไรน้องจึงสนใจ เพราะน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมส่วนใหญ่อยู่ในวันที่ทั้งแสบทั้งซน ตีก็ไม่ได้ ขู่ก็ไม่ได้ผล ต้องใจเย็น ค่อยๆ พูดโน้มน้าวหรือบางครั้งก็ต้องหลอกล่อด้วยขนมเพื่อให้น้องไปในแนวทางที่ต้องการ 

“...บทบาทที่สำคัญของที่ปรึกษาคือ การให้กำลังใจ ประคับประคองการทำงานของน้องตลอดเส้นทางการทำโครงการ”


ที่ปรึกษาต้องมั่นใจในตัวเด็ก

อะห์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า เห็นโอกาสที่น้องๆ จะได้พัฒนาศักยภาพของตนเองควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพของเพื่อนๆ ในชุมชน จึงสนับสนุนให้น้องทำโครงการ ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง พวกเขาสามารถรับผิดชอบงานจนสำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี ในฐานะที่ปรึกษาจะสนับสนุนการทำงานของน้องๆ คอยแนะนำว่า ต้องทำอะไร อย่างไร ตามลำดับขั้นตอน โดยช่วงแรกจะทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างคนในทีมที่ยังไม่รู้จักคุ้นเคยกัน เช่น เลาะซึ่งเป็นผู้ชายคนเดียวในกลุ่มกับน้องๆ ผู้หญิง แต่เมื่อความสัมพันธ์ของทีมลงตัว บทบาทที่สำคัญของที่ปรึกษาคือ การให้กำลังใจ ประคับประคองการทำงานของน้องตลอดเส้นทางการทำโครงการ 

“การเป็นที่ปรึกษาต้องอย่าคิดว่าน้องทำไม่ได้ เราต้องมั่นใจว่าน้องทำได้ และต้องให้กำลังใจน้องตลอด รู้สึกภูมิใจที่น้องๆ ทำได้จนถึงทุกวันนี้”  อะห์สะท้อนว่า น้องๆ แกนนำมีความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดทั้งเรื่องความกล้าแสดงออก และความรับผิดชอบ โดยเฉพาะการเอาตัวเอง “อาสา” เข้าไปช่วยเหลือ เข้าไปเรียนรู้สิ่งต่างๆ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งในฐานะที่ปรึกษาก็จะพยายามแนะนำและเอื้อโอกาสให้น้องได้เข้าร่วมกิจกรรมที่หลากหลาย 

“ส่วนเด็กๆ เยาวชนในชุมชน หลายคนที่ไม่ได้เรียน เวลาเราลงชุมชนเด็กจะตามติดมาก ส่วนใหญ่ชอบถามว่าจะทำกิจกรรมวันไหน อยากให้มีกิจกรรมในชุมชนตลอด เหมือนเขาเหงา ถ้ามีกิจกรรมในชุมชนเขาจะได้รวมกลุ่มกัน แทนที่เราจะไปทำกิจกรรมแก้ปัญหายาเสพติดตรงๆ กิจกรรมนี้ก็เป็นกิจกรรมทางอ้อมที่ทำให้น้องๆ รวมกลุ่มกันห่างไกลยาเสพติดได้โดยที่เขาไม่รู้ตัว” อะห์ เล่าถึงผลสะเทือนเล็กๆ ที่เริ่มสร้างการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มเยาวชน 

นอกจากเด็กจะเริ่มเปลี่ยนแล้ว อะห์ยังเล่าอีกว่า ชาวบ้านในชุมชนเริ่มเห็นความสามารถของเยาวชน และเห็นความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงออกมากขึ้น เช่น ครูสอนอัลกุรอ่านคนหนึ่งที่สนับสนุนให้เด็กๆ ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ทั้งมิติศาสนา และการพัฒนาชีวิต นับเป็นผลกระทบทางบวกของโครงการที่เปลี่ยนแปลงบรรยากาศของชุมชนให้เอื้อต่อการดำเนินชีวิตของเยาวชนอย่างถูกที่ถูกทางมากขึ้น

ศักยภาพที่ถูกพัฒนาผ่านการสร้างพื้นที่การทำงานจากการปฏิบัติจริง นอกจากช่วยติดตั้งประสบการณ์และความมั่นใจแก่ผู้ลงมือทำแล้ว การทำงานยังสร้างผลสะเทือนที่ช่วยชักจูงเพื่อนๆ เด็กและเยาวชนออกจากพื้นที่เสี่ยงสู่การแสดงออกในพื้นที่สร้างสรรค์ จึงนับได้ว่าโครงการที่ร่วมกันทำเป็นการส่งไม้ต่ออย่างสมบูรณ์จากบัณฑิตอาสาซึ่งเป็นคนนอก สู่แกนนำเยาวชนซึ่งเป็นคนใน ที่จะเป็นผู้ดูแลชุมชนของตนต่อไปในอนาคต


โครงการ : เรียนรู้ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ชุมชนกะลูแป

ที่ปรึกษาโครงการ : ซะรียะห์ อาแวกะจิ บัณฑิตอาสามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ทีมงาน : ทำงานเยาวชนชุมชนกะลูแป ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี

  • อับดุลเลาะ มามะชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนรัศมีวิทยา
  • ซูไรยา อุเซ็ง ชั้นปีที่1 วิทยาลัยการอาชีพปัตตานี
  • รุสณี สะอะ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา
  • ซูมัยยะห์ สามาแอ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา
  • เจ๊ะคอลีเย๊าะ เจ๊ะตาเฮชั้นปีที่ 1 คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์
    มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี