การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อให้ชุมชนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ จังหวัดสงขลาปี 4

ป้องกันอัคคีภัยในชุมชน

โครงการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ

6 เดือนของการทำโครงการนอกจากจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนคลองแดนได้แล้ว การทำโครงการยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวทีมงานอีกด้วย นั่นคือ การคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักใช้คำที่เป็นแบบแผนวิชาการที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำรายงาน รู้จักควบคุมอารมณ์ เข้าใจผู้อื่น แต่ที่ดีที่สุดคือ ได้ประสบการณ์การทำงานกับชุมชนที่เป็นฐานทุนชีวิตในการทำงานต่อไป... เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างทีมงานกับชาวบ้าน เกิดจิตอาสาอยากช่วยเหลือผู้อื่นพร้อมไปกับการพัฒนาตัวเอง

การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยนอกจากการเรียนรู้ด้านวิชาการแล้ว ทักษะชีวิตเป็นอีกหนึ่งการเรียนรู้ที่มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญเพื่อเตรียมนิสิตนักศึกษาให้พร้อมก้าวสู่เส้นทางสายอาชีพได้อย่างมั่นใจ ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จึงกำหนดให้นิสิตทุกคนต้องเข้าชมรมทำกิจกรรมเพื่อชุมชนสังคม โดยมหาวิทยาลัยจัดสรรงบประมาณให้ส่วนหนึ่ง 

เลือกพื้นที่ปฏิบัติการ

เจมส์-กนต์ธร สุดชาฎา นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและสุขภาพสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ เล่าว่า เขาเลือกอยู่ “ชมรมความปลอดภัย” เพราะเห็นว่าเกี่ยวข้องกับรายวิชาที่เรียนอยู่ ซึ่งแต่ละปีก็จะทำกิจกรรมแตกต่างกันไป สำหรับปีนี้ชมรมวางแผนทำกิจกรรม 3 กิจกรรม 

คือ 1) กิจกรรมเซฟตี้อาสาพัฒนาชุมชนด้านความปลอดภัย 2) กิจกรรมอบรมขับขี่ปลอดภัยและรู้ทันกฎจราจร แต่อีกหนึ่งกิจกรรมยังไม่มีแผนชัดเจนว่าจะทำอะไร พอดีช่วงนั้นรู้จากพี่กช-กรกช มณีสว่าง เจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่ม ว่าโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาสนับสนุนให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาทำกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือชุมชนสังคม จึงรวมทีมกับเพื่อนๆ อีก 4 คนประกอบด้วย บิ๊ก-หัสธชัย แป้นแก้ว หนึ่ง-ทักษิณ แดงเพ็ง อิง-ชนิภรณ์ เก่งเที่ยว และ กวาง มรัชญาภรณ์ ทองขวัญ ทำโครงการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ ในพื้นที่ชุมชนคลองแดน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา 

ที่มีเป้าหมายเพื่อ ให้ชุมชนเห็นความสำคัญและตระหนักถึงการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ชุมชนมีความรู้และวิธีการในการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำที่ถูกต้อง รวมถึงมีหน่วยอาสาสมัครรักษาความปลอดภัยเรื่องอัคคีภัยและภัยทางน้ำ มีอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และเกิดความปลอดภัยต่อคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว โดยมีอาจารย์วันเพ็ญ ทองสุข เป็นที่ปรึกษาโครงการ

“เหตุผลที่คิดทำโครงการนี้ เพราะตอนเรียนปี 1 มีโอกาสลงพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมในชุมชนคลองแดน เห็นว่าชุมชนนี้น่าสนใจ ประกอบกับยังขาดกิจกรรมในชมรมความปลอดภัยอีก 1 โครงการ จึงคิดผนวกการทำโครงการและกิจกรรมของชมรมเข้าด้วยกัน” บิ๊กบอกเล่าถึงที่มาที่ไปของโครงการ

เจมส์ เสริมต่อว่า ชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัยมีการทำกิจกรรมร่วมกันอยู่แล้วหลายกิจกรรม และบริบทของชุมชนใกล้ๆ มหาวิทยาลัยก็ไม่ตอบโจทย์การทำโครงการที่เกี่ยวข้องกับอัคคีภัยและภัยทางน้ำ แม้ชุมชนคลองแดนจะอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดสงขลา แต่การเดินทางไม่ได้ไกลมากนัก บริบทพื้นที่ก็ตอบโจทย์มากกว่า เพราะเป็นตลาดริมน้ำมีความเสี่ยงเรื่องอัคคีภัยและภัยทางน้ำสูง ทีมงานจึงตัดสินใจเลือกชุมชนแห่งนี้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ

“ชุมชนคลองแดนเป็นชุมชนวิถีพุทธ ที่ยังคงวิถีชีวิตเรียบง่าย บ้านเรือนสร้างด้วยไม้อยู่รายรอบริมคลอง แต่เมื่อตลาดน้ำคลองแดนเริ่มได้รับความนิยม วันเสาร์อาทิตย์นักท่องเที่ยวค่อนข้างพลุกพล่าน ประกอบกับภาพจำเมื่อปี 2557 ที่เกิดเหตุไฟไหม้ที่ตลาดน้ำบางพลี ซึ่งเป็นชุมชนบ้านไม้โบราณที่มีบริบทแวดล้อมคล้ายชุมชนคลองแดน จึงคิดนำความรู้ที่มีอยู่มาใช้ป้องกันเหตุดังกล่าว” อิง บอกเล่าความห่วงใยที่มีต่อชุมชนคลองแดน

“จุดประสงค์หลักของทีมงานคือต้องการให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะแม้จะมีถังดับเพลิงอยู่ แต่หากชาวบ้านไม่รู้วิธีใช้งานที่ถูกต้องก็ถือว่าเปล่าประโยชน์”


รู้จริง ก่อนลงมือทำ

เมื่อโจทย์และพื้นที่ดำเนินการพร้อม ทีมงานวางแผนลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลชุมชน โดยนำความรู้จากวิชาอัคคีภัย อาชีวะอนามัย และความปลอดภัย รวมถึงการประเมินความเสี่ยงมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการทำงาน

“ตอนลงพื้นที่ครั้งแรก พวกเราพูดคุยกับลุงไกร-เกรียงไกร อนันตพงศ์ ประธานชุมชน ถึงรายละเอียดการทำโครงการทั้งหมด พร้อมขอให้ลุงไกรช่วยประสานงานกับชาวบ้านให้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งลุงไกรก็ยินดีสนับสนุนเต็มที่” อิง เล่าถึงการประสานงานกับผู้นำชุมชน ที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมให้ทีมงานและชาวบ้านทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น

นอกจากชี้แจงรายละเอียดการทำโครงการแล้ว ทีมงานยังใช้โอกาสนี้สำรวจอุปกรณ์ดับเพลิงและอุปกรณ์ป้องกันภัยทางน้ำไปพร้อมกัน

หนึ่ง บอกว่า ผลการสำรวจพบว่าที่นี่มีถังดับเพลิงอยู่ 18 ถัง ใช้งานจริงได้ 17 ถัง บางถังติดตั้งสูงเกินไป ไม่สะดวกที่จะนำมาใช้เวลาเกิดเหตุ บางถังก็มีสิ่งกีดขวางอยู่ ส่วนชูชีพมีแค่ 4 อัน และสภาพไม่พร้อมใช้ คือตากแดด ไม่มีเชือก และเก็บผิดวิธี ซึ่งอาจจะเป็นความเชื่อของชาวบ้านแถวนั้นที่คิดว่าบ้านอยู่ใกล้น้ำ ทุกคนก็ว่ายน้ำเป็น ถ้าเกิดเหตุก็คงจะช่วยกันได้ทัน และที่นี่ไม่เคยมีหน่วยงานภายนอกเข้ามาอบรมให้ความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านอัคคีภัยหรือภัยทางน้ำแก่ชาวบ้านเลย 

“จริงๆ แล้วถังดับเพลิงเป็นข้อกังวลสุดท้าย เพราะจุดประสงค์หลักของทีมงานคือ ต้องการให้ความรู้กับชาวบ้าน เพราะแม้จะมีถังดับเพลิงอยู่ แต่หากชาวบ้านไม่รู้วิธีใช้งานที่ถูกต้องก็ถือว่าเปล่าประโยชน์”

นอกจากสำรวจอุปกรณ์ความปลอดภัยแล้ว ทีมงานยังสำรวจจุดเสี่ยงที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดไฟไหม้ ทั้งบริเวณที่เก็บเชื้อเพลิง และสิ่งที่เป็นอันตรายเบื้องต้น เช่น การติดตั้งสายดิน เพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟช็อตหรือไฟรั่ว หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์เพื่อกำหนดแผนการทำงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริง

“ด้วยความที่ยังอ่อนประสบการณ์และรู้ตัวว่ายังมีความรู้ไม่มากพอ ทีมงานจึงเชิญวิทยากรจากศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 9 จังหวัดสงขลา เข้ามาอบรมให้ความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติแบบเจาะลึก ใช้วันเวลาที่ชาวบ้านสะดวกทำกิจกรรม โดยมีทีมงานทำหน้าที่เป็นลูกมือคอยช่วยหยิบจับอุปกรณ์ทุกอย่าง” 


จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติจริง

หลังลงสำรวจพื้นที่ครั้งแรกแล้ว ทีมงานกลับมาสรุปบทเรียนพร้อมกับออกแบบกิจกรรมในครั้งที่ 2 โดยนำวิดีโอเหตุการณ์ไฟไหม้ตลาดน้ำบางพลีไปให้ชาวบ้านดู เพื่อสร้าง “ความตระหนัก” และ “กระตุก” ให้คนในชุมชนย้อนคิดว่า หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น พวกเขาควรทำอย่างไร และจะมีวิธีป้องกันอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น ซึ่งสังเกตเห็นว่าชาวบ้านให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

เมื่อปูพื้นให้คนในชุมชนเห็นความสำคัญของการป้องกันอัคคีภัยแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการให้ความรู้ แต่ด้วยความที่ยังอ่อนประสบการณ์และรู้ตัวว่ายังมีความรู้ไม่มากพอ ทีมงานจึงเชิญวิทยากรจากศูนย์ความปลอดภัยในการทำงานเขต 9 จังหวัดสงขลา เข้ามาอบรมให้ความรู้ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติแบบเจาะลึก ใช้วันเวลาที่ชาวบ้านสะดวกทำกิจกรรม โดยมีทีมงานทำหน้าที่เป็นลูกมือคอยช่วยหยิบจับอุปกรณ์ทุกอย่าง

หนึ่ง บอกว่าการจัดอบรมต้องใช้วันเวลาที่ชาวบ้านว่าง เพราะชาวบ้านคือเป้าหมายหลักในการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านอัคคีภัยในชุมชน และการป้องกัน หากจัดกิจกรรมแล้วชาวบ้านไม่ว่างก็เปล่าประโยชน์ เมื่อถึงวันจริงจึงมีชาวบ้านสนใจเข้าร่วมมากถึง 40 คน  “เหตุผลที่เราต้องเชิญวิทยากรภายนอกเข้ามาให้ความรู้ เพราะเรายังไม่ได้เรียนและเป็นข้อมูลเชิงลึกที่ต้องอาศัยทักษะและประสบการณ์ เช่น หากเกิดเพลิงไหม้ต้องปฏิบัติตัวอย่างไร เทคนิคในการตรวจสอบไฟฟ้าช็อต การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหลังเกิดเหตุ การระงับเหตุ ที่ต้องมีทั้งการอบรมและสาธิตควบคู่กัน”

ทีมงาน บอกต่อว่า การจัดกิจกรรมวันนั้น นอกจากชาวบ้านจะได้ความรู้แล้ว ทีมงานก็ได้รับความรู้เช่นกัน เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนและการทำงานได้ในอนาคต

“เรื่องอัคคีภัยในห้องเรียนก็มีสอน แต่มีแค่ทฤษฏีเท่านั้น เช่น ลักษณะของถังดับเพลิงและการใช้งาน ไม่ได้ลงมือทำจริง ตอนพี่วิทยากรสาธิตการจุดถังแก๊สแล้วมีประกายไฟขึ้นมา ตอนนั้นผมรู้สึกตื่นเต้น เพราะเป็นการทดลองเสมือนจริง แม้ก่อนสาธิตพี่วิทยากรจะบอกไว้แล้วว่า ทุกคนต้องมีสติ อย่าตื่นตกใจเป็นอันขาด แต่ก็ยังรู้สึกกดดันอยู่ดี เพราะต้องสาธิตต่อหน้าชาวบ้าน” บิ๊ก เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น

อิง เสริมต่อว่า หลังจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้เสร็จ มีป้าคนหนึ่งบอกว่าเขาไม่เคยมีความรู้เรื่องนี้เลย เคยเห็นแต่ถังดับเพลิง ใช้อย่างไรก็ไม่เคยรู้ อยากให้มีโครงการแบบนี้ต่อ และถามว่าปีหน้ามีแบบนี้อีกไหม 


เสียงตอบรับจากชุมชน

ผลจากการจัดกิจกรรมในชุมชนอย่างต่อเนื่องของทีมงาน ตั้งแต่ลงพื้นที่สำรวจชุมชน ประชุม ฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ ทีมงานบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “มั่นใจว่าชาวบ้านมีองค์ความรู้เรื่องอัคคีภัยและภัยทางน้ำและจะสานต่อกิจกรรมที่พวกเขาทำไว้แน่นอน”

โดยอิง บอกว่า ที่มั่นใจเช่นนั้น เพราะเธอสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่า ระหว่างสาธิตเหตุการณ์ไฟไหม้ชาวบ้านมีสติแก้ไขปัญหาได้มากขึ้น แต่ที่มั่นใจมากคือมีคณะกรรมการชุมชนคนหนึ่งพูดว่า อยากให้ชุมชนมีเส้นทางการอพยพที่ชัดเจน เวลาเกิดเหตุจะได้อพยพคนได้ทันท่วงที โดยคาดว่าจะจัดทำเป็นแผนงานของชุมชนต่อไปในอนาคต

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การทำโครงการบรรลุผลตามที่ตั้งไว้ ทีมงานจึงได้จัดทำป้ายอะคริลิคแสดงวิธีการใช้งานถังดับเพลิง 1 แผ่น เพื่อเป็นตัวอย่างในชุมชน และจัดซื้อถังดับเพลิงเพิ่มเติม 4 ถัง เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ในชุมชนคลองแดน ขณะที่ชุมชนก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลตรวจสอบอุปกรณ์อย่างเอาจริงเอาจัง และจัดให้มีอาสาสมัครทำหน้าที ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านตระหนักรู้สม่ำเสมอ

“งานอัคคีภัยเป็นเรื่องอันตราย หากไม่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องการจัดการดีพอ อาจเกิดอันตรายได้ การที่พวกเขามีโอกาสได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในครั้งนี้ จึงช่วยเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ที่จะติดตัวนิสิตต่อไป เพราะนี่คือวิชาชีพของเขา”


พัฒนาการจากประสบการณ์นอกห้องเรียน

6 เดือนของการทำโครงการนอกจากจะสร้างความตระหนักรู้ให้กับคนในชุมชนคลองแดนได้แล้ว การทำโครงการยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวทีมงานอีกด้วยเจมส์ ในฐานะหัวหน้าทีม บอกว่า เมื่อก่อนไม่กล้าพูดต่อหน้าคนเยอะๆ แต่หลังจากได้ทำกิจกรรม ก็กล้าพูดมากขึ้นขณะที่กวาง บอกว่า โครงการนี้ทำให้เธอได้ฝึกฝนตัวเอง 

ปรับเปลี่ยนทัศนคติ จากเดิมที่ขี้เกียจไม่อยากทำอะไร ก็ขยันมากขึ้น มีความรับผิดชอบและมีส่วนร่วมในการทำงานกับเพื่อนมากขึ้น อิง สะท้อนว่า โครงการนี้ทำให้เธอกล้าพูดกับผู้ใหญ่และคนแปลกหน้ามากขึ้น รวมทั้งได้เรียนรู้ทักษะการคิดและการทำงานเป็นทีม รู้จักบริหารเวลาได้ดีขึ้น ทั้งการเรียน การทำงาน และการทำกิจกรรมให้สามารถทำพร้อมกันได้  “รู้สึกหัวใจพองโตที่ได้ยินเสียงตอบรับจากชาวบ้านว่าโครงการนี้มีประโยชน์ต่อชุมชน”

ส่วนหนึ่ง บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่ได้จากการทำโครงการนี้ คือ การคิดอย่างเป็นระบบ รู้จักใช้คำที่เป็นแบบแผนวิชาการที่สามารถนำไปปรับใช้ในการทำรายงาน รู้จักควบคุมอารมณ์ เข้าใจผู้อื่น แต่ที่ดีที่สุดคือ ได้ประสบการณ์การทำงานกับชุมชนที่เป็นฐานทุนชีวิตในการทำงานต่อไป ขณะที่บิ๊ก มองว่า สิ่งที่เขาได้รับจากโครงการคือ การมีแบบแผนในการดำเนินชีวิต สามารถสื่อสารกับคนอื่นได้เข้าใจยิ่งขึ้น รู้จักแบ่งเวลา เห็นความสำคัญของการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างทีมงานกับชาวบ้าน เกิดจิตอาสาอยากช่วยเหลือผู้อื่นพร้อมไปกับการพัฒนาตัวเอง

อาจารย์วันเพ็ญ ทองสุข ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า ข้อดีของโครงการนี้คือ ทำให้นิสิตได้เรียนรู้ทั้งวิชาการและวิชาชีวิต เนื่องจากข้อมูลความรู้ที่นิสิตนำมาใช้ในโครงการนี้ บางส่วนยังไม่มีการเรียนการสอนในชั้นเรียน ตามหลักสูตรกว่านิสิตจะได้ฝึกปฏิบัติจริงต้องเรียนชั้นปี 3-4 เนื่องจากงานอัคคีภัยเป็นเรื่องอันตราย หากไม่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องการจัดการดีพออาจเกิดอันตรายได้ การที่พวกเขามีโอกาสได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริงในครั้งนี้ จึงช่วยเติมเต็มความรู้และประสบการณ์ที่จะติดตัวนิสิตต่อไป เพราะนี่คือวิชาชีพของเขา

“โครงการที่นิสิตทำ เขายังมีความรู้ไม่มากพอ เพราะยังไม่ถึงชั้นปีที่เขาเรียน แต่เราเห็นความตั้งใจดีของเขา และประเด็นที่เขาทำก็น่าสนใจ เพราะเป็นความเสี่ยงของคนในชุมชน เราในฐานะที่ปรึกษาก็ช่วยแนะนำเรื่องวิธีการวางแผน ตรวจทานเอกสาร ช่วยประสานงานกับชุมชน ประสานองค์กรภายนอก และสร้างความร่วมมือ ทำให้งานเดินต่อไปได้” อาจารย์วันเพ็ญ บอกเล่าการทำงานในฐานะที่ปรึกษา

สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวทีมงานนั้น อาจารย์มองว่า ทุกคนมีจุดเปลี่ยนแปลงมากน้อยต่างกัน ยกตัวอย่าง เจมส์ในฐานะหัวหน้าทีม เขาสามารถจัดการงานเอกสารและประสานงานกับชุมชนได้ค่อนข้างดีขึ้น มีทักษะการพูดดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อิงจะมีความกระตือรือร้นและจริงจังกับการทำงานมาก ส่วนกวางจากที่พูดน้อยขี้อายก็กล้าแสดงออกมากขึ้น สำหรับบิ๊กมีกระบวนการคิดที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ขณะที่หนึ่งมีความรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าพวกเขาไม่ได้ลงมือทำด้วยตัวเอง

และนี่คือหนึ่งเรื่องราวของการอาสานำ “ความรู้” จากห้องเรียนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับชุมชนสังคม ให้ชุมชนตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของการป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ จนเกิดแนวคิดที่จะจัดทำแผนเส้นทางการอพยพหากเกิดเหตุ รวมถึงมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลตรวจสอบอุปกรณ์อย่างเอาจริงเอาจัง และจัดให้มีอาสาสมัครทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้ชาวบ้านอยู่เสมอ และ “ความรู้” นั้นยังย้อนคืนให้ทีมงานมองเห็นเส้นทางการทำงานในสายวิชาชีพด้านความปลอดภัย ที่ต้องทุ่มเททั้งความรู้ ความอดทน ความมานะพยายาม เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยจากอัคคีภัยและภัยทางน้ำ ดังคำขวัญของชมรมที่ว่า “เพิ่มการเอาใจใส่ คือเพิ่มความปลอดภัย”


โครงการ : ป้องกันอัคคีภัยและภัยทางน้ำ 

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์วันเพ็ญ ทองสุข คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา

มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

ทีมทำงาน : นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาสุขศาสตร์อุตสาหกรรมและสุขภาพสิ่งแวดล้อม

คณะวิทยาการสุขNo index entries found.Figure 1ภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

( กนต์ธร สุดชาฎา ) ( ทักษิณ แดงเพ็ง ) ( หัสธชัย แป้นแก้ว ) 

( ชนิภรณ์ เก่งเที่ยว ) ( มรัชญาภรณ์ ทองขวัญ )