ก้าวที่กล้าของเด็กหลังห้อง
โครงการสื่อเล็กๆของเด็กสงขลา
โครงการนี้ทำให้ทีมงานสามารถแยกแยะเห็นความสำคัญของคุณและโทษของโซเชียลมีเดียมากขึ้น...เมื่อก่อนเวลาต้องออกไปนำเสนอหน้าห้องก็จะก้มหน้าก้มตาพูดอย่างเดียว แต่ตอนนี้มีเทคนิคในการนำเสนอมากขึ้น โดยฝึกอ่านและทำความเข้าใจมาก่อน พอนำเสนอก็ใช้วิธีพูดจากความเข้าใจแทน ทำให้ปีนี้เกรดดีขึ้น
ในโลกโซเชียลเราอาจมีเพื่อนมากมาย กดไลค์ ส่งภาพสวัสดีในแต่ละวัน เสียงเตือนจากหน้าจอมือถือที่ดังเป็นระยะๆ บ่งบอกว่าเรามีตัวตนอยู่ในโลกเสมือนจริง แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง ความมีตัวตนของใครสักคน ไม่ได้อยู่ที่การสไลด์หน้าจอ ส่งรอยยิ้มผ่านอิโมจิ หรืออักษรภาพแสดงอารมณ์เท่านั้น การพูดคุยสื่อสารผ่านเส้นเสียงกับคนรอบข้างต่างหากที่บ่งบอกถึงความมีตัวตนของเรา
ความในใจของเด็กหลังห้อง
มล-นิรมล พวงพริก มิ้งค์-ดวงฤทัย เรืองศักดิ์ แอ๋ม-ภัทรธิดา ชมจันทร์ ดรีม-ชยพล สุขปักษา และ เอ็ม-กิตติทัต แก้วมณี คือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก) มองเห็นภัยจากโซเชียลมีเดีย จึงรวมตัวกันทำโครงการสื่อเล็กๆของเด็กสงขลา ด้วยการผลิตหนังสั้นไร้เสียง ชื่อว่า “สังคมก้มหน้า” ที่สะท้อนมุมมองการใช้โซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นพฤติกรรมทางสังคมที่ต่างคนต่างเล่นโทรศัพท์มือถือของตัวเอง จนลืมการพูดคุยสนทนากับคนในชีวิตจริง ไม่สนใจสภาพแวดล้อมรอบข้าง โดยมีอาจารย์วรรณา มณี เป็นที่ปรึกษาโครงการ
มล เล่าว่า เธอเข้ามาทำโครงการนี้ตามคำชักชวนของพี่ไหมฝ้าย-นนทกร บุญนิตย์ ที่เคยทำ โครงการนี้เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และอยากให้มีรุ่นน้องมาสานต่อโครงการ พวกเราอยู่ในชมรมศูนย์สื่อมัลติมีเดียของโรงเรียน จึงสนใจ เพราะพอมีความรู้มาบ้าง และคิดว่าน่าสนุก ดีกว่าปล่อยเวลาทิ้งไปโดยเปล่าประโยชน์
“อยากมีผลงานเป็นของตัวเอง เพราะอยู่ที่โรงเรียนเราไม่มีโอกาสแสดงความสามารถอะไรเลย เป็นเด็กหลังห้องโดยแท้ เวลาโรงเรียนมีกิจกรรมครูก็จะมองหาแต่เด็กกิจกรรม เด็กเก่ง ที่อาสาเข้ามาทำโครงการนี้เพราะอยากเป็นที่ยอมรับของครู เผื่อครูจะเห็นผลงานของเราบ้าง” เช่นเดียวกับมิ้งค์ ที่บอกว่า เธอเป็นเพื่อนสนิทกับมลตั้งแต่มัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อมลชวนเธอจึงไม่รีรอ เพราะอยากเขียนบทและออกแบบผลงานเจ๋งๆ สักเรื่องในแบบของตัวเอง
“อยากมีผลงานเป็นของตัวเอง เพราะอยู่ที่โรงเรียนเราไม่มีโอกาสแสดงความสามารถอะไรเลย เป็นเด็กหลังห้องโดยแท้ เวลาโรงเรียนมีกิจกรรมครูก็จะมองหาแต่เด็กกิจกรรม เด็กเก่ง ที่อาสาเข้ามาทำโครงการนี้เพราะอยากเป็นที่ยอมรับของครู เผื่อครูจะเห็นผลงานของเราบ้าง”สองสาวบอกว่า ตอนแรกที่ตัดสินใจเข้าร่วมชมรมศูนย์สื่อมัลติมีเดีย เพราะอยากแสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์แก่เพื่อนและครูในโรงเรียน แต่ความหวังก็ไม่เป็นจริงเสียที เมื่อพี่ไหมฝ้ายชวนให้ทำโครงการนี้ ไฟในใจของเธอจึงลุกโชนขึ้นอีกครั้ง
เมื่อได้รับโอกาสให้พิสูจน์ฝีมือ ทีมงานไม่รอช้าเดินหน้าจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์โครงการให้เพื่อนในโรงเรียนรับรู้ถึงที่มาที่ไปของโครงการสื่อเล็กๆ ของเด็กสงขลา โดยเริ่มต้นจากเพื่อนใกล้ตัว ใช้หนังสั้นที่เกี่ยวกับการใช้โชเชียลเป็นประเด็นในการล้อมวงคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อนำไปเป็นข้อมูลเบื้องต้นในการเขียนบท
“ชวนเฉพาะเพื่อนกันที่คุยกันง่ายๆ ก่อน ในกลุ่มมีแกนนำ 5 คน เราก็แบ่งกัน รับสมัครสมาชิกแล้วก็จัดวงเสวนา วันนั้นมีเพื่อนเข้าร่วมประมาณ 40 กว่าคน เริ่มต้นด้วยการให้ดูหนังสั้นเกี่ยวกับสังคมก้มหน้า ดูเสร็จก็เปิดให้เพื่อนๆ ระดมความคิดกันว่า สื่อนี้ต้องการนำเสนออะไร และรู้สึกอย่างไรที่ได้ชมสื่อนี้” มิ้งค์ เล่าถึงบรรยากาศการทำงาน
เสร็จแล้วจึงจัดทำแบบสอบถามเรื่องการใช้โซเชียลมีเดียในชีวิตประจำวัน อาทิ ช่วงเวลาที่เล่นโทรศัพท์มือถือหรืออินเทอร์เน็ต ใช้อินเทอร์เน็ตทำอะไรบ้าง เป็นต้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3-6 ชั้นละ 30 คน พบว่า ช่วงเวลาเช้าตอนตื่นนอนและช่วงเวลาระหว่างกินข้าว คือช่วงเวลาที่กลุ่มเป้าหมายใช้เล่นโซเชียลมีเดีย ทั้งเฟซบุ๊ก แชท และเกม ซึ่งข้อมูลดังกล่าวทีมงานจะนำมาใช้อ้างอิงและนำไปสู่การเขียนบทเรื่อง “สังคมก้มหน้า” ต่อไป
“ทีมงานนำบทเรียนความผิดพลาดจากครั้งแรกมาใช้ คราวนี้ถามก่อนเลยว่า ใครถนัดอะไร พร้อมกับลดจำนวนนักแสดงและตัวประกอบลง...แต่พล็อตเรื่องยังคงคล้ายเรื่องแรก เพียงแต่ทีมงานต้องเล่นเอง กำกับเอง เขียนบทเอง และจัดฉากเอง…และแล้วความชุลมุนก็เกิดขึ้น ระหว่างการถ่ายทำที่บางครั้งตากล้องต้องมาร่วมแสดงด้วย ทำให้เกิดความโกลาหลขณะเข้าฉาก เดี๋ยวคนนั้นต้องไปแสดง เดี๋ยวคนนี้ต้องไปจัดฉาก ไปกำกับมุมกล้อง ดูวุ่นวายไปหมด เหมือนกับเราวางคนไม่ตรงกับงาน”
มือใหม่หัดคัท!!!
แม้ว่าความยาวของหนังสั้นที่ทีมงานคิดทำมีเวลาเพียงแค่ 3 นาที แต่มิ้งค์ยอมรับว่า ยากพอสมควรสำหรับมือใหม่อย่างพวกเธอ ทุกอย่างดูวุ่นวายไปหมด ทั้งกระบวนการหาข้อมูล รวบรวมข้อมูลจากวงพูดคุย การทำความเข้าใจบทของนักแสดง การถ่ายทอดอารมณ์ การกำกับภาพ ฉาก รวมไปถึงการแบ่งหน้าที่ทำงานที่ไม่ลงตัว
“พล็อตที่เราวางไว้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคนที่ผิดหวังกับความรักและคนที่โดนโซเชียลหลอก ตอนทำงานครั้งแรกเราไม่ได้ถามว่าใครนัดอะไร แค่แบ่งๆ กันไป พอลงมือทำงานจริงมันเลยติดขัดไปหมด เพราะวางคนไม่ตรงกับงาน การแสดงก็ใช้คนเยอะ ต้องมีบทพูดอีก บางคนเล่นไปเล่นมาลืมบทอีกแล้ว บางคนก็เล่นแข็งๆ ดูไม่เป็นธรรมธาติ เลยเปลี่ยนเรื่องใหม่” มล เล่าปัญหาการทำงานเมื่อการถ่ายทำหนังสั้นเรื่องแรกพังครืนอย่างไม่เป็นท่า ทีมงานนำบทเรียนความผิดพลาดจากครั้งแรกมาใช้ คราวนี้ถามทีมงานก่อนเลยว่า ใครถนัดอะไร พร้อมกับลดจำนวนนักแสดงและตัวประกอบลง แก้ปัญหาโดยให้ทีมงานแสดงเอง แต่พล็อตเรื่องยังคงคล้ายเรื่องแรก เพียงแต่ทีมงานต้องเล่นเอง กำกับเอง เขียนบทเอง และจัดฉากเอง!!!
และแล้วความชุลมุนก็เกิดขึ้น ระหว่างการถ่ายทำที่บางครั้งตากล้องต้องมาร่วมแสดงด้วย ทำให้เกิดความโกลาหลขณะเข้าฉาก เดี๋ยวคนนั้นต้องไปแสดง เดี๋ยวคนนี้ต้องไปจัดฉาก ไปกำกับมุมกล้อง ดูวุ่นวายไปหมด เหมือนกับเราวางคนไม่ตรงกับงาน จึงต้องมีปรับแก้บทใหม่อีกครั้ง
“พอมาครั้งที่ 3 เราเลยทำเป็นคำพูดแล้วก็มาแสดง แต่ก็ยังติดขัดอีก เพราะเราเขียนบทพูดเยอะเกินไป เสียงนักแสดงชายก็ไม่เพราะ และเล่นแข็งเกิน รู้สึกไม่พอใจกับผลงาน พอเอาไปให้พี่อุ้ม-กมลา รัตนอุบล พี่เลี้ยงสงขลาฟอรั่มให้ช่วยแนะนำ พี่เขาบอกว่า ทำเรื่องอะไรก็ได้ที่เราสนใจ แต่สุดท้ายต้องให้ข้อคิดกับคนดู เช่น นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...จากนั้นเราก็กลับมาทบทวนความคิดกันใหม่อีกครั้งว่าจะทำเรื่องอะไรดี” มิ้งค์ เล่าย้อนถึงปัญหาที่ทีมงานพบเจอระหว่างการทำงานที่ผ่านมา
แม้จะต้องแก้บทยกชุดถึง 3 ครั้ง แต่ก็ไม่ท้อ เพราะเชื่อในศักยภาพของทีมงานว่าต้องทำได้ดีกว่าที่ผ่านมาในที่สุดความลงตัวของพล็อตเรื่องใหม่ก็เสร็จสมบูรณ์ในครั้งที่ 4 คราวนี้ทีมงานแบ่งบทบาทหน้าที่การทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยมิ้งรับผิดชอบเขียนบท มลทำหน้าที่นักแสดงนำ ส่วนดรีมเป็นตากล้อง แอ๋มกำกับแสงและฉาก ขณะที่เอ็มจะเก็บภาพนิ่งแต่ละช็อต
“ครั้งนี้การทำงานไม่ยากเท่าไร เพราะมีนักแสดงเพียงแค่คนเดียวคือมล พล็อตการเดินเรื่องก็ใช้วิธีซูม กล้องให้เห็นภาพว่า มีผู้หญิงคนหนึ่งเดินเล่นโทรศัพท์ด้วยสีหน้าที่มีความสุขมาก เขามีเพื่อนมากดไลค์และคอมเมนต์ใต้ภาพเยอะมาก แต่พอภาพซูมออกมาเรื่อยๆ จะเห็นว่ามีคนรอบข้างเยอะแยะ แต่ทุกคนดูไม่มีตัวตน เพราะเขาไม่ได้สนใจใคร ซึ่งเรื่องนี้จะเน้นการแสดงด้วยอารมณ์และหน้าตาเป็นหลัก ไม่มีบทพูด เหมือนเดินเรื่องด้วยภาพ แต่จะมีคำถามท้ายเรื่องขึ้นมาเป็นบทสรุปให้ข้อคิดถึงการใช้เทคโนโลยีอย่างพอเหมาะพอควร” มิ้งค์กล่าว
กว่าผลงานจะลงตัวเช่นนี้ นอกจากทีมงานจะได้เรียนรู้รูปแบบการทำสื่อที่อย่างลึกซึ้งแล้ว ยังทำให้พวกเขาค้นพบความสำคัญของโลกโซเชียลว่า จริงๆ แล้วโลกโซเชียลมีประโยชน์มากกว่าโทษ หากคนใช้เป็น เพราะนอกจากใช้หาข้อมูลเพื่อทำรายงาน หรือศึกษารายละเอียดการทำโครงการแล้ว การคุยกันผ่านโปรแกรมแชทเพื่อประชุมในขณะที่ไม่สามารถเรียกรวมตัวกันได้ ทำให้การทำงานสะดวกและรวดเร็วขึ้นหลังตัดต่อและลงเสียงเสร็จ จึงนำเสนอผลงานผ่านยูทูป ซึ่งเป็นช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงได้ง่าย
“อยากเลิกทำเหมือนกัน ตอนนั้นเป็นช่วงสอบพอดี งานก็เยอะ เห็นเพื่อนๆ โครงการอื่นทำเสร็จไปครึ่งทางกันแล้ว แต่ของเรายังแก้อยู่นั่นแหละ ท้อมาก ไม่อยากทำแล้ว คิดว่ายอมแพ้ดีกว่า เอ็มก็อยากออก แต่ก็คิดได้ว่า ยังไงก็ต้องสู้เพราะอยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ และอยากเห็นผลงานของตัวเองสักครั้ง”
DRAMA SCENE
กว่าจะผ่านแต่ละกิจกรรมมาได้ มิ้งค์ยอมรับว่า เธอเคยคิดที่จะถอนตัวออกจากโครงการ ด้วยความรู้สึกท้อแท้และเบื่อหน่ายกับสิ่งที่ทำ โดยเฉพาะการเขียนบทที่เขียนแล้วแก้ใหม่หลายครั้ง แต่ยังดีที่มีเพื่อนๆ คอยช่วยกันคิดหาพล็อตเรื่อง แม้ความคิดเห็นจะไม่ตรงกันบ้าง แต่ทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี
“ก็ท้อเหมือนกันแต่ก็ยังสู้ เขียนบทใหม่ 3-4 อันแล้ว รู้สึกเหนื่อยแต่มีความสุข บทแรกเขียนยาวมากเกือบ 10 หน้า ทั้งยาวทั้งซับซ้อน ตอนแสดงจริงเลยยิ่งยาก พอถึงบทที่ 2 เริ่มสั้นลง เพราะรู้ว่าการเขียนบทต้องสั้น กระชับ หนูชอบเขียน พยายามหาความรู้เรื่องเทคนิคการเขียนเพิ่มเติมตลอดเวลา ก่อนเขียนบทก็ชวนเพื่อนในทีมคุยกันให้ตกผลึกก่อนว่า บทควรจะออกมาเป็นอย่างไร เพื่อนแต่ละคนก็มีความคิดเป็นของตัวเอง อย่างเอ็มเขาอยากได้แบบลึกลับซับซ้อน เขาเป็นคนวิชาการมาก แต่มันซับซ้อนเกินไปน่าจะเขียนยาก จึงใช้วิธีโหวตกัน เมื่อเพื่อน 4 คนมีความคิดเห็นตรงกัน เอ็มก็ยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน”
ขณะเดียวกันสิ่งที่ผลักดันให้มิ้งค์ต้องเดินหน้าต่อคือ การทำความฝันของตัวเองให้สำเร็จ รวมทั้งอยากเห็นพ่อแม่ภูมิใจ“อยากเลิกทำเหมือนกัน ตอนนั้นเป็นช่วงสอบพอดี งานก็เยอะ เห็นเพื่อนๆ โครงการอื่นทำเสร็จไปครึ่งทางกันแล้ว แต่ของเรายังแก้อยู่นั่นแหละ ท้อมาก ไม่อยากทำแล้ว คิดว่ายอมแพ้ดีกว่า เอ็มก็อยากออก แต่ก็คิดได้ว่า ยังไงก็ต้องสู้เพราะอยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ และอยากเห็นผลงานของตัวเองสักครั้ง”
ขณะที่มล ยืนยันว่า หากต้องยุบทีมหรือลาออกจริงๆ เธอจะขออยู่เป็นคนสุดท้าย โดยให้เหตุผลว่า เพราะเธอเป็นตัวตั้งตัวตีชวนเพื่อนทำโครงการ จึงต้องรับผิดชอบให้ถึงที่สุด ดังนั้นการลาออกจากทีมจึงเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับมล
“เราเป็นคนชวนเขามาทำ ถ้าเราออกก็กระไรอยู่ เพราะเราเป็นตัวหลัก ตอนเอ็มจะออกเราก็บอกว่า คิดดีๆ นะ เอ็มเป็นหัวหน้า ถ้าเอ็มออกคนอื่นก็ออก ให้เขากลับไปคิด อาทิตย์สองอาทิตย์เขาก็กลับมาทำต่อ” สำหรับหน้าที่การแสดงที่ได้รับมอบหมายนั้น มลบอกว่า ไม่ยาก เพราะชื่นชอบการแสดงอยู่แล้ว โดยดูตัวอย่างจากซีรี่ย์เกาหลีแล้วนำมาปรับใช้ เน้นการสื่อสารทางอารมณ์เป็นสำคัญ ส่วนปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการทำงบประมาณ หรือการหาข้อมูล ก็มีพี่ไหมฝ้ายคอยให้ความช่วยเหลือ
จะปรึกษาพี่ไหมฝ้ายตลอด เพราะบ้านอยู่ใกล้กัน พี่เขาให้คำปรึกษาและให้กำลังใจทีมงานทุกคนเป็นอย่างดี และพยายามประคับประคองการทำงานของทีมให้เดินไปในทิศทางที่ลงตัวมากที่สุด” “เมื่อก่อนเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่ปัจจุบันกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้านำเสนอมากขึ้น แม้จะรู้สึกตื่นเต้นบ้าง แต่ทุกคนในทีมก็ให้กำลังใจ จึงพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ กลุ่มอื่น”
การเรียนรู้หลังเลนส์
เมื่อถามถึงความถี่ในการเล่นโซเชียล ทั้งคู่อมยิ้มและตอบพร้อมกันว่า เล่นบ่อยเหมือนกัน หรือเรียกว่าติดโซเชียลก็ว่าได้ เล่นครั้งละประมาณ 4-6 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นช่วงกลางคืนหลังจากทำการบ้านเสร็จแล้ว แต่เมื่อมีโอกาสเข้ามาทำโครงการนี้ ทำให้ทีมงานสามารถแยกแยะเห็นความสำคัญของคุณและโทษของโซเชียลมีเดียมากขึ้น ทั้งคู่ยอมรับว่า ที่ชอบท่องอินเทอร์เนตเพราะเป็นติ่งเกาหลี
“ติดนักร้องเกาหลี แต่ตอนนี้ลดลงแล้ว ทำการบ้านเสร็จแล้วเราก็ค่อยมาดู” มลอธิบายถึงเหตุผล ด้านมิ้งค์บอกว่า เธอก็ติดซีรีส์เกาหลีเช่นกัน เมื่อก่อนดูอย่างเดียว เดี๋ยวนี้ดูแล้วนำมาปรับใช้ในเรื่องการวิเคราะห์เชื่อมโยงความรู้ และการนำเสนอ ที่เมื่อก่อนเวลาต้องออกไปนำเสนอหน้าห้องก็จะก้มหน้าก้มตาพูดอย่างเดียว แต่ตอนนี้มีเทคนิคในการนำเสนอมากขึ้น โดยฝึกอ่านและทำความเข้าใจมาก่อน พอนำเสนอก็ใช้วิธีพูดจากความเข้าใจแทน ทำให้ปีนี้เกรดของเธอดีขึ้นไปด้วย
“การทำโครงการนี้ทำให้เธอได้ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยเฉพาะการเขียนโครงการ การคิดวิเคราะห์” เช่นเดียวกับมล เมื่อก่อนเป็นคนเงียบๆ ไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่ปัจจุบันกล้าแสดงออก กล้าพูด กล้านำเสนอมากขึ้น แม้จะรู้สึกตื่นเต้นบ้าง แต่ทุกคนในทีมก็ให้กำลังใจ จึงพยายามเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ กลุ่มอื่น
แม้การทำโครงการจะล้มลุกคลุกคลาน มีปัญหามาให้แก้ไขอยู่บ่อยครั้ง แต่พวกเขาก็ไม่ย่อท้อ อดทน พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหา ใช้บทเรียนจากความผิดพลาดมาปรับปรุงแก้ไขครั้งแล้วครั้งเล่า จนประสบผลสำเร็จ ด้วยคิดว่านี่คือ “โอกาส” ดีที่จะได้แสดงฝีมือให้พ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และเพื่อนนักเรียนรับรู้ว่าเด็กหลังห้องก็มีความสามารถไม่แพ้เพื่อนคนอื่น นอกจากได้แสดงฝีมือให้เป็นที่ประจักษ์แล้ว
การทำโครงการยังหล่อหลอมให้วิธีคิดของหนุ่มสาวทั้ง 5 เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการรู้ถึงคุณและโทษของโซเซียลมีเดีย แล้วนำมาปรับใช้กับการเรียนและการใช้ชีวิต ที่ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างมากขึ้น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก รู้จักคิดวิเคราะห์เชื่อมโยง จนทำให้เกรดปีนี้ดีขึ้น ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า เด็กหลังห้องก็ทำสิ่งดีๆ ที่มีประโยชน์ต่อชุมชนสังคมได้ เพียงแค่ผู้ใหญ่เปิดโอกาส...
โครงการ : สื่อเล็กๆ ของเด็กสงขลา
ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์วรรณา มณี โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก)
ทีมทำงาน : ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนเทศบาล 5 (วัดหัวป้อมนอก)
( นิรมล พวงพริก ) ( ดวงฤทัย เรืองศักดิ์ ) ( ภัทรธิดา ชมจันทร์ )
( ชยพล สุขปักษา ) ( กิตติทัต แก้วมณี )