การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า จังหวัดสงขลา ปี 4

ไรน้ำนางฟ้า...จากความรู้ในตำราสู่การปฏิบัติจริง

โครงการไรน้ำนางฟ้า

ตั้งแต่วันแรกที่รู้เพียงชื่อกับข้อมูลเรื่องไรน้ำนางฟ้า จนกระทั่งสามารถเพาะเลี้ยงไรน้ำฟ้าได้เป็นผลสำเร็จ แต่ทีมงานมองว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องเรียนรู้ต่อ เช่น การควบคุมแสงและอุณหภูมิในการเลี้ยง การศึกษาไรน้ำนางฟ้าในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะหากจะเปิดแหล่งเรียนรู้ต้องมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อจะได้ถ่ายทอดความรู้ได้เต็มที่ โดยแผนงานต่อไปที่ทีมงานวางไว้คือ การประมวลความรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้าจัดทำเป็นแผ่นพับสำหรับแจกในแหล่งเรียนรู้ และรวบรวมเป็นรูปเล่มไว้ที่ห้องสมุด เพื่อเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ให้ผู้สนใจใช้ประโยชน์ต่อไป

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งเพาะพันธุ์ปลาสวยงามติดอันดับโลก เพราะมีภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และมีแหล่งน้ำที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของปลาหลากหลายสายพันธุ์ ทว่าผู้ทำธุรกิจเพาะเลี้ยงปลาสวยงามส่วนใหญ่ยังประสบกับปัญหาต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ราคาอาหารปลาสำเร็จรูปที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอาหารมีชีวิต ที่มีคุณภาพดีอย่างอาร์ทีเมีย (Artrmia) ก็ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลต่อผู้ค้าที่ต้องแบกรับต้นทุนดังกล่าว

กระทั่งปี 2536 ประเทศไทยได้มีการค้นพบไรน้ำนางฟ้า สัตว์น้ำจืดที่สามารถนำมาเป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงามได้ดี เพราะมีโปรตีนสูงกว่าอาร์ทีเมีย ทั้งยังช่วยสร้างสีสันสดใสแก่ปลา และไม่เป็นพาหะนำโรคแบบไรแดง หรือหนอนขี้หมูที่เป็นที่นิยม แต่การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้ากลับไม่ได้รับความนิยม เนื่องจากเพาะพันธุ์ยาก เพราะมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง

จึงเป็นคำถามที่นักศึกษาจากวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ซึ่งประกอบด้วย ปลา-เปรมกมล กาญจนาราษฎร์ สมาย-ขนิษฐา แก้วยอด เนย์-ธัญญา ทองขำ ศิริพงษ์ อินทะเสม และกีรติ หัสรังซี อยากค้นหาคำตอบด้วยการทดลองเพาะเลี้ยง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้วิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าให้ผู้เลี้ยงปลาสวยงามเข้ามาเรียนรู้ เพื่อช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงปลาสวยงาม และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันปลาสวยงามในตลาดให้มากขึ้น

“โชคดีที่ทีมงานมีความรู้และช่างสังเกตจึงสามารถไขปัญหาที่แก้ไม่ตกได้ การค้นพบครั้งนี้ยังทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ว่า ความรู้ในหนังสือบอกไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด เพราะปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทฤษฏีเป็น

1.อาหารที่ใช้เลี้ยงปลาสวยงามมี 2 อย่าง ได้แก่ อาหารไม่มีชีวิต คือ อาหารเม็ดสำเร็จรูปที่มีส่วนประกอบของแป้งและสารอาหารต่างๆ มาผสมกันในรูปแบบเม็ดหรือแผ่น ส่วนอาหารมีชีวิต เป็นสัตว์ตัวเล็กที่ปลากินเป็นอาหารได้ เช่น ลูกน้ำ ไรทะเล ไรน้ำจืด หนอนนก ฯลฯ ปลาจะชอบอาหารเหล่านี้มากกว่าอาหารไม่มีชีวิต

2. สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจำพวกกุ้งชนิดหนึ่ง เรียกกันว่า ไรทะเล พบได้ทั่วโลกตามแหล่งน้ำเค็ม นิยมนำมาเป็นอาหารเลี้ยงปลาสวยงาม เพราะมีโปรตีนสูง โดยในประเทศไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

3. สัตว์น้ำจืด รูปร่างคล้ายกุ้ง แต่ไม่มีเปลือกแข็งหุ้ม พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน ตามแหล่งน้ำจืดที่มีขนาดเล็ก อุดมด้วยโปรตีน จึงนิยมใช้เป็นอาหารปลา

เพียงแนวความรู้ที่ต้องต่อยอดด้วยการลงมือปฏิบัติ เพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริง”


หาข้อมูลความรู้ก่อนลงมือทำ

“ปีที่แล้วที่หนูทำงานอยู่องค์การนักศึกษา มีรุ่นน้องมาขอทำโครงการบิ๊กอุยช่วยเพื่อน มีโอกาสได้เข้าไปดูและช่วยทำ เพราะน้องต้องการแรงงานจำนวนมาก” ปลา เล่าถึงครั้งแรกที่เธอได้รู้จักโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ก่อนเท้าความต่อว่า พอปีนี้อาจารย์มลฤดี พิชัยยุทธ์ ที่ปรึกษาโครงการ ชวนทำโครงการ เนื่องจากเห็นว่าเธอกำลังศึกษาเรื่องไรน้ำนางฟ้า แต่ขาดแคลนทุนสนับสนุน รู้สึกสนใจ แม้ตอนนั้นจะยังไม่รู้ว่าพลเมืองคืออะไร แค่รู้ว่าเป็นโครงการเกี่ยวชุมชนสังคมเท่านั้น

ด้านสมายกับเน บอกเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการว่า เป็นเพื่อนที่เรียนในสาขาเดียวกัน และต่างก็เลี้ยงปลาสวยงามอยู่ พอปลามาชวนจึงสนใจ โดยเฉพาะสมายที่เลี้ยงปลาสวยงามเป็นอาชีพยิ่งสนใจว่าไรน้ำนางฟ้าจะช่วยสร้างสีสันให้ปลาสวยงามของเธอได้จริงหรือไม่

อย่างไรก็ตามเนื่องจากแต่ละคนไม่ได้มีความรู้ลึกซึ้งเกี่ยวกับไรน้ำนางฟ้า และในห้องเรียนก็ไม่มีสอนเรื่องนี้ ทีมงานจึงเริ่มหาความรู้จากหนังสือในห้องสมุด ทว่ายิ่งค้นก็ยิ่งหนักใจ เพราะแทบไม่มีหนังสือเล่มใดเขียนเรื่องไรน้ำนางฟ้ามากพอ จึงเปลี่ยนไปสืบค้นจากงานวิจัยก็ยังไม่ได้ผลเท่าไร ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นกราฟที่ต้องถอดความเป็นตัวหนังสือเพื่อทำความเข้าใจอีกที กระทั่งไปพบข้อเสนอแนะจากงานวิจัยว่า “ยังไม่มีการเลี้ยงในภาคใต้” ทำให้ทีมงานยิ่งสงสัยในข้อมูลการเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า และมุ่งมั่นค้นหาข้อมูลมากขึ้น

เมื่อตำราไม่อาจให้คำตอบ ทีมงานเปลี่ยนเป้าหมายไปดูของจริงที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุง เพื่อศึกษาการเพาะเลี้ยงคลอเรลลา (Chlorella)สาหร่ายน้ำจืดขนาดเล็กที่เป็นอาหารของไรน้ำนางฟ้า เหตุที่ต้องดูการเพาะคลอเรลลาก่อน เนื่องจากการเรียนประมงจะสอนให้รู้จักอาหารที่สัตว์จะกิน ก่อนเรียนรู้ว่าสัตว์ชนิดนั้นเลี้ยงอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะเลี้ยงไม่รอด

ปลา เล่าสาเหตุที่เลือกมาเรียนรู้ที่นี่ เพราะพบข้อเสนอจากงานวิจัยเกี่ยวกับคลอเรลลาว่าควรมีการเลี้ยงในบ่อดิน และที่พัทลุงก็ใช้ระบบบ่อดินขนาดใหญ่ที่มีระบบการจัดการที่ดีมาก หลังจากนั้นจึงลงพื้นที่สำรวจร้านขายปลาสวยงามว่ามีร้านไหนใช้ไรน้ำนางฟ้าเป็นอาหารปลา เหตุเพราะการศึกษาจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดพัทลุงให้ได้แต่แนวความรู้ แต่ไม่สามารถปรับใช้จริงได้ทั้งหมด ขณะที่ร้านขายปลามีต้นทุนที่ต้องคำนึง ซึ่งนำมาปรับใช้กับการทำโครงการภายใต้งบประมาณที่จำกัดได้

4. สาหร่ายสีเขียวขนาดเล็ก เติบโตได้ดีในน้ำกร่อย มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องอยู่รวมกันมากๆ ถึงจะเห็นเป็นสีเขียว จึงนิยมเรียกกันว่า น้ำเขียว”

ทีมงานเริ่มต้นสำรวจจากร้านของรุ่นพี่ที่เป็นศิษย์เก่าของวิทยาลัย เพราะคุ้นเคยและติดต่อสะดวก โดยเตรียมคำถามไว้คร่าวๆ เช่น เลี้ยงปลาอะไรบ้าง ใช้อาหารมีชีวิตชนิดใด เพาะเองหรือไม่ ส่วนคำถามนอกเหนือจากนี้จะดูตามสถานการณ์ เพราะคาดว่าแต่ละร้านน่าจะมีเรื่องราวให้สอบถามต่างกัน หลังจากนั้นจึงขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ว่าควรไปร้านไหนต่อ และเดินสุ่มเข้าไปเองบ้าง 

ผลสำรวจพบว่า บางร้านใช้ไรน้ำนางฟ้าในการเลี้ยงปลา แต่ไม่มีร้านไหนเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าเอง เพราะเคยเลี้ยงแล้วไม่สำเร็จ เนื่องจากวิธีการเลี้ยงส่วนใหญ่เป็นวิธีที่ใช้ได้ในภาคอีสาน ที่ต่างจากภาคใต้ที่มีสภาพอากาศและน้ำต่างกัน จึงต้องนำเข้าไรน้ำนางฟ้าจากนอกพื้นที่ ทำให้ราคาของปลาสูงขึ้นตามต้นทุน ระหว่างที่กำลังเก็บข้อมูล ทีมงานเริ่มลงมือทดลองเลี้ยงไรน้ำนางฟ้าไปพร้อมกัน โดยนำความรู้ที่ได้จากการเก็บข้อมูลมาใช้ แต่ด้วยความไม่สมบูรณ์ของข้อมูล ทำให้ทีมงานเริ่มถอดใจ 

“เมื่อได้ข้อมูลมาก็ทดลองทำกันทันที ช่วงแรกเลี้ยงเท่าไรก็ตาย ทั้งที่หลักวิชาการบอกว่า ไรน้ำนางฟ้ามีอายุ 24 วัน แต่พอทดลองทำจริงแค่ 10-15 วันก็ตาย เลี้ยงกันจนท้อเลย เหนื่อยมาก คุยกันว่าไม่เลี้ยงแล้ว เลิกทำดีกว่า” สมาย เล่า 

เมื่อไม่เห็นหนทางไปต่อ ทีมงานตัดสินใจล้างบ่อทิ้ง แต่ขณะล้างบ่อกลับเจอบางอย่างที่มีสีขาว ลักษณะเป็นแผง เมื่ออิงกับความรู้เดิมที่เคยเลี้ยงปลาสวยงาม จึงคาดกันว่าน่าจะเป็นไข่ไรน้ำนางฟ้า จึงนำมาฟัก ปรากฏว่า เกิดเป็นไรน้ำนางฟ้าจริงๆ ทีมงานดีใจมากที่เพาะพันธุ์สำเร็จ โชคดีที่ทีมงานมีความรู้และช่างสังเกตจึงสามารถไขปัญหาที่แก้ไม่ตกลงได้ การค้นพบครั้งนี้ยังทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ว่า ความรู้ในหนังสือไม่สามารถนำมาใช้ได้ทั้งหมด เพราะปัจจัยแวดล้อมที่แตกต่างกัน ทฤษฏีเป็นเพียงแนวความรู้ที่ต้องต่อยอดด้วยการลงมือปฏิบัติ เพื่อค้นหาคำตอบที่แท้จริง

“ขณะกำลังรวบรวมข้อมูลและทดลองเลี้ยง ทีมงานตระหนักว่า ต้องหาแกนนำมาสานต่อการดำเนินการ ไม่เช่นนั้นองค์ความรู้ที่พวกเขาเพียรพยายามค้นหาจนประสบผลสำเร็จอาจสูญหายไปเมื่อพวกเขาจบการศึกษา จึงชักชวนน้องๆ ในชมรมเกษตรผสมผสานมาเข้าร่วมกิจกรรม สร้างเงื่อนไขให้น้องๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำเช่นเดียวกับทีมงาน เพราะรู้ดีว่า ถ้าเอาแต่บรรยายให้น้องฟังไม่นานก็ลืม แต่ถ้าได้ลงมือทำจะจำได้ขึ้นใจ”


ส่งต่อความรู้การเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า

ขณะกำลังรวบรวมข้อมูลและทดลองเลี้ยง ทีมงานตระหนักว่า ต้องหาแกนนำมาสานต่อการดำเนินการ ไม่เช่นนั้นองค์ความรู้ที่พวกเขาเพียรพยายามค้นหาจนประสบผลสำเร็จอาจสูญหายไปเมื่อพวกเขาจบการศึกษา จึงชักชวนน้องๆ ในชมรมเกษตรผสมผสานมาเข้าร่วมกิจกรรม สร้างเงื่อนไขให้น้องๆ ได้เรียนรู้จากการลงมือทำเช่นเดียวกับทีมงาน เพราะรู้ดีว่า ถ้าเอาแต่บรรยายให้น้องฟังไม่นานก็ลืม แต่ถ้าได้ลงมือทำจะจำได้ขึ้นใจ 

ปลา บอกว่า วิธีการถ่ายทอดความรู้เริ่มจากกระตุ้นความสงสัยของน้องว่าไรน้ำนางฟ้าคืออะไร เพาะเลี้ยงอย่างไร จากนั้นอธิบายรายละเอียดโครงการไรน้ำนางฟ้า แล้วชวนน้องดูดตะกอนในบ่อ จนน้องๆ ชุดแรกไปชวนเพื่อนมาช่วยกันทำเพิ่มอีกประมาณ 10 คน เห็นภาพน้องๆ ตั้งใจเรียนรู้ ทีมงานรู้สึกสบายใจและมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น ภูมิใจที่สามารถถ่ายทอดความรู้แก่น้องได้ จากตอนแรกที่น้องไม่มีความรู้เกี่ยวกับไรน้ำนางฟ้าเลย แต่ตอนนี้น้องสามารถตอบคำถามได้อย่างชัดถ้อยชัดคำ

ออย-ศิรินทิพย์ จันทโร หนึ่งในแกนนำรุ่นน้องที่เข้าร่วมโครงการบอกว่า ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการกับพี่ๆ เพราะอยากรู้ว่าไรน้ำนางฟ้าคืออะไร พอได้ลงมือทำก็รู้สึกสนุกและอยากทำต่อไปเรื่อยๆ ถึงมีบางช่วงที่ขี้เกียจ แต่พี่ๆ ก็ไม่ได้ต่อว่า กลับช่วยกระตุ้นให้รู้สึกอยากทำต่อ อยากสานต่องานดูแลแหล่งเรียนรู้ เพราะเสียดายถ้าความรู้ที่เกิดขึ้นจะหายไป

นอกจากความรู้เกี่ยวกับโครงการแล้ว ทีมงานยังถ่ายทอดประสบการณ์ที่ได้เผชิญด้วย ปลาเล่าว่า อยากให้เพื่อนคนอื่นหรือแกนนำรุ่นน้องรู้ว่า กว่าจะทำสำเร็จพี่ๆ ต้องผ่านปัญหามากขนาดไหน ปัญหาในโครงการเป็นแค่แบบจำลองชีวิต แต่ในชีวิตจริงยังมีปัญหาอีกมากมายให้พบเจอ ถ้าเราไม่ต่อสู้ก็จะกลายเป็นคนหนีปัญหา และกระบวนการเรียนรู้จากโครงการยังสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนและการทำงานได้ในอนาคต

ตั้งแต่วันแรกที่รู้เพียงชื่อกับข้อมูลเรื่องไรน้ำนางฟ้า จนกระทั่งสามารถเพาะเลี้ยงน้ำฟ้าได้เป็นผลสำเร็จ แต่ทีมงานมองว่ายังมีอีกหลายเรื่องที่พวกเขาต้องเรียนรู้ต่อไป เช่น การควบคุมแสงและอุณหภูมิในการเลี้ยง การศึกษาไรน้ำนางฟ้าในแหล่งน้ำตามธรรมชาติ เพราะหากจะเปิดแหล่งเรียนรู้ต้องมีข้อมูลรอบด้าน เพื่อจะได้ถ่ายทอดความรู้ได้เต็มที่ โดยแผนงานต่อไปที่ทีมงานวางไว้คือ การประมวลความรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้าจัดทำเป็นแผ่นพับสำหรับแจกในแหล่งเรียนรู้ และรวบรวมเป็นรูปเล่มไว้ที่ห้องสมุด เพื่อเก็บไว้เป็นองค์ความรู้ให้ผู้สนใจใช้ประโยชน์ต่อไป

ทีมงานเล่าความคาดหวังที่ทำให้ทุ่มเทกับการทำงานโครงการว่า “เราอยากให้คนที่เข้ามาศึกษาสามารถนำความรู้กลับไปทำเอง เพราะคนขายปลาสวยงามส่วนใหญ่กังวลเรื่องต้นทุนอาหารค่อนข้างมาก ถ้าปลาอยู่ไม่ได้ คนขายก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน” 

ปัจจุบันเริ่มมีผู้สนใจเข้าศึกษาดูงานที่วิทยาลัยมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการประชาสัมพันธ์ผ่านศิษย์เก่าที่มีอาชีพขายปลาสวยงาม และเฟซบุ๊กส่วนตัวของทีมงาน โดยกระบวนการถ่ายทอดความรู้ของทีมงานจะใช้รูปแบบเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ให้คนที่มาดูงานได้ลงมือทำตั้งแต่การเลี้ยงคลอเรลลา เพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า จนสามารถนำกลับไปปฏิบัติได้เองทั้งหมด 

“เริ่มทำกิจกรรมตอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ค่อยๆ พัฒนาบุคลิกตัวเอง กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าเผชิญสถานการณ์ รู้จักแก้ไขปัญหา แต่เมื่อเข้ามาทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาก็ยิ่งได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้น เพราะได้ฝึกทักษะชีวิตทุกด้าน ที่สำคัญคือฝึกคิดและจัดระบบข้อมูลเพื่อสื่อสารออกไปให้คนอื่นเข้าใจ คล้ายกับการวัดความรู้ของตัวเองด้วยว่า รู้มากแค่ไหน และรู้แล้วถ่ายทอดได้หรือไม่”


ก้าวย่างของการเติบโต

ตลอดเส้นทางของการทำโครงการ นอกจากจะได้เรียนรู้เรื่องราวภายนอกแล้ว ทีมงานยังค้นพบบทเรียนภายในที่มีคุณค่าต่อตัวเอง จนพูดได้เต็มปากว่า ถ้าไม่ตัดสินใจทำโครงการในวันนั้น อาจไม่ถูกหล่อหลอมให้เป็นเช่นวันนี้

ปลายอมรับว่า เธอเป็นคนที่พูดตรงและแรง ช่วงแรกที่มาทำงานด้วยกัน จึงมักทำให้เพื่อนโกรธบ่อยๆ แต่เมื่อทำงานด้วยกันนานขึ้น เธอค่อยๆ ลดความตรงและแรงของตัวเองลง ส่วนเพื่อนก็เริ่มเข้าใจว่า ปลาไม่มีเจตนาร้ายในคำพูด แค่เป็นคนพูดไม่หวาน ทำให้เห็นว่าทั้ง 2 ฝ่ายค่อยๆ ปรับตัวเข้าหากัน เพราะรู้ว่าการทำงานจะประสบผลสำเร็จได้ ทีมต้องเป็นทีมที่พร้อมร่วมหัวจมท้าย ให้อภัย และจับมือกันเดินไปข้างหน้า

สมายบอกว่า เมื่อก่อนทำอะไรก็โดนพ่อแม่ตำหนิตลอด เพราะดื้อ ติดเกม ไม่ช่วยงานที่บ้าน จนกลายเป็นว่าไม่อยากคุยกับพ่อแม่ ทั้งที่เป็นคนพูดมากเวลาอยู่กับเพื่อน วันหนึ่งทนไม่ไหวจึงบอกพ่อแม่ว่า ให้หยุดด่า แล้วจะทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันให้ดู จึงเริ่มเลี้ยงปลากัด ทั้งที่ไม่มีความรู้เลย แค่เห็นว่าขายได้ราคาแพงเท่านั้น สุดท้ายก็ขาดทุนหมด

เหตุผลที่เข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากได้ความรู้ไปต่อยอดเพื่อเลี้ยงปลากัดใหม่อีกครั้ง และก็ไม่ผิดหลัง เธอนำกระบวนการที่ทำในโครงการมาปรับใช้ในการเพาะพันธุ์ปลากัด จนมีรายได้สัปดาห์ละ 1,500-2,000 บาท สามารถส่งตัวเองเรียนได้โดยไม่รบกวนทางบ้าน และกลับมาปรับความเข้าใจพูดคุยกับพ่อแม่มากขึ้น แต่ที่สำคัญคือ โครงการนี้ทำให้สมายรู้เป้าหมายในชีวิตที่จะใช้ประกอบอาชีพในอนาคต นั่นคือการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามขายนั่นเอง

ส่วนเน บอกว่า โครงการนี้พลิกชีวิตของเธอไปตลอดกาล “เดิมหนูเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบพบปะผู้คน เพราะมีปมเรื่องร่างกาย แต่เมื่อปลามาชวนทำโครงการก็อยากลอง ครั้งแรกที่ไปนำเสนอโครงการมีแค่หนูกับสมาย กังวลและกลัวจนนั่งร้องไห้มาตลอดทาง เพราะปลารู้เรื่องโครงการมากที่สุด แต่ติดฝึกงาน ไม่ได้ไปด้วย ตอนคณะกรรมการซักถาม จำได้ว่ามือสั่นมาก พยายามตอบตามที่ปลาเคยบอกว่า ให้พูดความตามขั้นตอนที่ได้ทำ ปรากฏว่าตอบได้ จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนให้หนูกล้าเข้าสังคม กล้าแสดงออก และกล้าพบปะผู้คนมากขึ้น”

ด้านปลา บอกว่า การทำกิจกรรมช่วยปรับเรื่องการมองโลกของเธอที่เดิมมองทุกอย่างในแง่ลบ เพราะพื้นฐานครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์ จนใครๆ ก็มองว่าเป็นเด็กมีปัญหา พอเริ่มทำกิจกรรมตอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็ค่อยๆ พัฒนาบุคลิกตัวเอง กล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าเผชิญสถานการณ์ รู้จักแก้ไขปัญหา แต่เมื่อเข้ามาทำโครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลาก็ยิ่งได้พัฒนาตัวเองไปอีกขั้นที่มากกว่าโครงการอื่น เพราะได้ฝึกทักษะชีวิตทุกด้าน ที่สำคัญคือฝึกคิดและจัดระบบข้อมูลเพื่อสื่อสารออกไปให้คนอื่นเข้าใจ คล้ายกับการวัดความรู้ของตัวเองด้วยว่า รู้มากแค่ไหน และรู้แล้วถ่ายทอดได้หรือไม่

­


ไม้ผลัดของความหวังดี

“ทีมงานไม่ปล่อยให้สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นหยุดอยู่ที่ตัวเอง พวกเขายังส่งต่อกระบวนการเรียนรู้ให้รุ่นน้องในวิทยาลัยได้มีโอกาสพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองเช่นกัน”

ผลจากการลงมือทำเพื่อค้นหาคำตอบไปคลี่คลายความหนักใจของผู้จำหน่ายปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา กระทั่งเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ ที่เปิดกว้างพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจทุกคนแล้ว ทีมงานยังไม่ปล่อยให้สิ่งดีๆ ที่เกิดขึ้นหยุดอยู่ที่ตัวเอง พวกเขายังส่งต่อกระบวนการเรียนรู้ให้รุ่นน้องในวิทยาลัยได้มีโอกาสพัฒนาและเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเองเช่นกัน 

“กระบวนการที่ได้เรียนรู้จากพี่ๆ สงขลาฟอรั่มเป็นเรื่องดีมาก พวกเราเลยนำมาปรับใช้กับน้องๆ ในโครงการ เช่น การใช้คำถามชวนคิดว่า สิ่งที่น้องทำเกิดประโยชน์กับตัวเองอย่างไร แล้วไปช่วยคนอื่นอย่างไร หรือการยกตัวอย่างว่า ถ้าลงมือทำแล้วทำไม่ได้น้องจะพยายามต่อไหม พอน้องตอบว่าพยายาม ก็ชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าผลลัพธ์ของโครงการเป็นอย่างไร สิ่งที่น้องจะได้อย่างแน่นอนคือ การเรียนรู้เรื่องความเพียรพยายาม การคิดวิเคราะห์ การคิดอย่างเป็นกระบวนการ เกิดทักษะชีวิต ที่สำคัญคือเห็นคุณค่าของการนำความรู้ไปตอบแทนสังคม”

ปลา เล่าถึงกระบวนการพาน้องเรียนรู้ นอกจากสอนผ่านคำพูดแล้ว ทีมงานยังให้ความสำคัญกับการสังเกตพฤติกรรมของน้องระหว่างทำงานด้วย เช่น น้องบางคนพื้นฐานเดิมไม่สนใจเรียน แต่พอมาทำโครงการมีความพยายามจะเรียนรู้หรือไม่ หรือน้องคนไหนที่เก่งอยู่แล้ว มีความกระตือรือร้นค้นหาข้อมูลมาเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ แล้วเติมเต็มในส่วนที่ขาด จนน้องสามารถส่งต่อความรู้และสิ่งดีๆ สู่คนอื่นได้

และนี่คือบทพิสูจน์เรื่อง “การเรียนรู้จากการลงมือทำ” เพียงแค่ผู้ใหญ่เปิดโอกาสเปิดพื้นที่ให้ ก็สามารถสร้างการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนทั้งความรู้เชิงวิชาการและทักษะชีวิต ที่อิงอยู่บนพื้นฐานข้อมูลความรู้ จนรู้จริง ทำเป็น และยังคิดขยายผลความรู้สู่รุ่นน้องและแหล่งเรียนรู้ของวิทยาลัยเพื่อให้องค์ความรู้ที่พวกเขาค้นพบไม่สูญเปล่าแต่เกิดการใช้ประโยชน์จริงแล้ว การทำโครงการยังทำให้พวกเขาค้นพบเส้นทางเดินของชีวิตในอนาคต

วิธีการเพาะเลี้ยงไรนำ้นางฟ้า

นำไข่ไรนำ้นางฟ้าที่ผ่านการตากแดดจนแห้งแล้วใส่ลงในนำ้สะอาด จากนั้นปิดฝาภาชนะ เพื่อควบคุมอุณหภูมิในภาชนะ เนื่องจากการฟักไข่ต้องการอุณหภูมิสูง ทิ้งไว้ 1 คืนจะเห็นจุดสีขาว นั่นคือไรนำ้นางฟ้าที่เพิ่งเกิด จากนั้นให้แง้มฝาออก ใช้ไฟส่องเพื่อล่อไรนำ้นางฟ้ามารวมกัน แล้วนำไรน้ำนางฟ้าออกไปใส่นำ้ที่มีคลอเรลล่า ส่วนภาชนะฟักไข่ให้เก็บไว้อีก 2 คืน เผื่อมีไข่ที่ยังไม่ฟักตัวหลงเหลืออยู่ เพราะไข่ที่มาจากต่างพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จะฟักไม่พร้อมกัน

สำหรับไรนำ้ที่ฟักเป็นตัว ให้เพาะเลี้ยงในนำ้ที่มีคลอเรลล่า โดยหมั่นดูดตะกอนออกทุกวัน เพื่อให้คลอเรลล่าซึ่งเป็นแพลงก์ตอนพืชได้สังเคราะห์แสง เพราะถ้าคลอเรลล่าเติบโตดีแสดงว่าไรนำ้นางฟ้าจะมีอาหารกินอย่างพอเพียง ประมาณ 3-4 วันก็เริ่มนำไปให้อาหารปลาได้ โดยดูจากชนิดและขนาดปากของปลา หากปากเล็กอาจให้ไรนำ้นางฟ้าที่อายุไม่มาก ตัวเล็ก แต่ถ้าปลาปากกว้างอย่างปลาทองก็สามารถให้ไรนำ้นางฟ้าขนาดโตเต็มวัยได้

หากต้องเพาะเลี้ยงไรนำ้นางฟ้าต่อ ให้แยกเลี้ยงระหว่างตัวที่จะเป็นอาหารกับตัวที่จะทำเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เนื่องจากไรนำ้นางฟ้ามีวงจรชีวิตเพียง 15 วัน โดยตัวเมียออกไข่แล้วตาย ตัวผู้จะตายเมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ส่วนตัวที่จะนำไปเป็นอาหารปลาต้องให้แบบที่มีชีวิตอยู่ และถ้าให้ตัวที่มีไข่แล้วแก่ปลา จะเป็นการสูญเสียไข่ไปอย่างไม่คุ้มค่า


โครงการ : ไรน้ำนางฟ้า

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์มลฤดีพิชัยยุทธ์ ครูชำนาญการ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์

ทีมทำงาน : นักศึกษา ปวส.2 แผนกวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์

( เปรมกมล กาญจนาราษฎร์ ) ( ขนิษฐา แก้วยอด ) ( ธัญญา ทองขำ ) ( ศิริพงษ์ อินทะเสม )

กีรติ หัสรังซี )