สร้างคุณค่าในตน ฝึกฝนทักษะอาชีพ
โครงการงานหนังสานฝันเพื่อเยาวชน
บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้ คือ การรับฟังผู้อื่นและยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง เพื่อนำกลับมาแก้ไขและพัฒนาตัวเอง เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ฟัง ใครบอกอะไรไม่สนใจ แต่ประสบการณ์จากการทำโครงการนี้ทำให้รู้ว่า ยิ่งเราฟังคนอื่น เรายิ่งได้ความรู้ ไม่ใช่แค่ฟังครูอย่างเดียว แต่ฟังความคิดเห็นของเพื่อน ของลูกค้าและทุกคน ตรงไหนดีอยู่แล้วเราก็เก็บไว้ ส่วนตรงไหนที่ควรแก้ไขเราจะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น
เพราะเห็นตัวอย่างจากเพื่อนๆ กลุ่มจักสานที่ทำโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน ใช้เวลาว่างฝึกฝนงานหัตถกรรม และได้ออกไปทำกิจกรรมเพิ่มประสบการณ์นอกศูนย์ฝึกฯ อยู่บ่อยครั้ง จึงอยากมีโอกาสแบบเพื่อนบ้าง...นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการงานหนังสานฝันเพื่อเยาวชน
ให้โอกาสตน
ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา มีเยาวชนที่กระทำความผิดจาก 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่างอยู่รวมกันหลายร้อยคน จึงมีกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและทัศนคติ ตลอดจนเสริมสร้างทักษะในการประกอบอาชีพ มุ่งหวังให้เยาวชนมีความรู้และทักษะติดตัว เมื่อพ้นวาระของการรับโทษจะได้ออกไปประกอบอาชีพหรือดำเนินชีวิตในแนวทางที่ดี
ครูจรรยา จิตรัว เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกฯ และที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า เด็กและเยาวชนที่เข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกทุกคนต้องเรียนรู้วิชาช่างด้านต่างๆ แบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ 1) วิชาชีพระยะสั้น (ไม่ถึง 3 เดือน) สามารถเลือกเรียนช่างศิลป์ ช่างดนตรี หรือช่างยนต์ก็ได้ 2)วิชาชีพระยะยาว (มากกว่า 1 ปี) จะมีวิชาอื่นๆ ให้เลือก เช่น ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า ช่างไม้ และช่างเกษตร เป็นต้น ที่ผ่านมาถ้าเด็กไม่ได้สมัครเรียนวิชาช่างศิลป์ ก็ไม่มีโอกาสเรียนทำเครื่องหนัง แกนนำเยาวชนจึงคิดทำโครงการงานหนังสานฝันเพื่อเยาวชนขึ้น เพื่อให้เพื่อนๆ ในศูนย์ฝึกฯ ที่เรียนงานช่างอื่น แต่สนใจงานเครื่องหนังได้เข้ามาเรียนรู้ด้วย
“ตอนเรียนในวิชาเรียน เขาจะแค่เข้ามานั่งให้ครบชั่วโมงเรียนเท่านั้น ทำได้พักหนึ่งก็ทิ้ง แต่พอเป็นโครงการที่เขาริเริ่มขึ้นมาเอง เขาจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พยายามอดทนทำจนชิ้นงานเสร็จ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว เพื่อนร่วมทีมทุกคนก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน” จรรยา เล่าต่อว่า เธอสนใจเรื่องงานหนังเป็นพิเศษ และคิดว่างานแบบนี้น่าจะเหมาะสำหรับนำมาใช้พัฒนาทักษะให้เด็กและเยาวชนในศูนย์ฯ เมื่อมีโอกาสจึงเข้าไปหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเย็บหนังจากวิทยาลัยสารพัดช่างหลวงประทานราษฎร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แล้วนำทักษะความรู้ที่ได้มาดัดแปลงให้ง่ายต่อการเรียนรู้ของเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ
ขวด แกนนำรุ่นแรก เป็นผู้ชักชวนเพื่อนที่สนใจงานหนังเข้ามาฝึกฝน และช่วยถ่ายทอดความรู้ให้รุ่นน้อง บอกว่า เป้าหมายของโครงการนี้คืออยากให้เพื่อนๆ ในศูนย์ฝึกฯ ใช้เวลาว่างพัฒนาทักษะอาชีพ มีอาชีพติดตัวไปหลังได้รับการปล่อยตัว และใช้เวลาว่างมาทำประโยชน์ ลดการกระทำความผิดระหว่างอยู่ที่นี่
ขวดบอกว่า การทำโครงการเริ่มจากการศึกษาความต้องการของตลาดว่านิยมกระเป๋าลักษณะไหน จากนั้นทุกคนจะเริ่มเรียนรู้การเย็บหนังจากครูจรรยาตั้งแต่ต้นจนทำเป็น ใครทำเป็นทำคล่องก็ช่วยสอนเพื่อนต่อไป ครูจะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความสามารถในการออกแบบลวดลายและร่วมกันวิพาษ์วิจารณ์ได้เต็มที่ ขวดบอกอีกว่า เดิมทีตอนเรียนในวิชาเรียน เขาจะแค่เข้ามานั่งให้ครบชั่วโมงเรียนเท่านั้น ทำได้พักหนึ่งก็ทิ้ง แต่พอเป็นโครงการที่เขาริเริ่มขึ้นมาเอง เขาจึงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม พยายามอดทนทำจนชิ้นงานเสร็จ ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้มีแค่เขาคนเดียว เพื่อนร่วมทีมทุกคนก็เปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
“ถ้าทำไม่สำเร็จ เราจะไปสอนคนอื่นต่อไม่ได้ ยิ่งพอทำได้ ก็ยิ่งภาคภูมิใจว่าพวกเราสามารถเป็นตัวอย่างให้เพื่อนได้” จรรยา เสริมต่อว่า แม้การทำกิจกรรมจะเริ่มได้ไม่นาน เห็นได้ชัดว่า แกนนำรุ่นแรกนิ่งขึ้น มีสมาธิมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงช่วงคาบเกี่ยวระหว่างที่แกนนำรุ่นแรกกำลังได้รับการปล่อยตัว จรรยากังวลว่าโครงการจะเดินหน้าต่อไม่ได้ เนื่องจากไม่มีกลุ่มเยาวชนเข้ามาสืบต่อ แต่เมื่อเห็นศักยภาพของแกนนำรุ่นแรกที่มีภาวะผู้นำและมีความรับผิดชอบในสิ่งที่พวกเขาคิดและอยากทำ และด้วยกระบวนการเรียนรู้แบบพี่สอนน้อง ส่งผลให้วันนี้โครงการงานหนังสานฝันเพื่อเยาวชนมีแกนนำมาสานต่อ และมีถึงรุ่นที่ 3 แล้ว
สานต่องานหนัง...จากรุ่นสู่รุ่น
“เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่และอยากลองทำ” คำบอกเล่าที่แกนนำรุ่น 3 ทั้ง 5 คน คือ บาส พี่ ซีดาน ชาริฟ และ ดิ๊ป ให้เหตุผล บาส ยอมรับว่า ตอนแรกเขาไม่ค่อยสนใจงานช่างศิลป์เท่าใดนัก แต่เมื่อได้ลองฝึกฝนจนทำได้ ความภาคภูมิใจทำให้อยากผลิตชิ้นงานออกมาอีกเรื่อยๆ “ใจจริงอยากเรียนช่างตัดผม แต่ผมเข้ามาฝึกระยะสั้น เลือกเรียนช่างผมไม่ได้ เลยเลือกช่างศิลป์แทน ผมเคยไปลองทำกับกลุ่มจักสานมาแล้ว ไม่ไหว สานไปสานมาตาลายไปหมด เลยคิดว่างานหนังน่าจะเหมาะกับตัวเองมากกว่า” บาส กล่าว
ซีดาน สะท้อนความรู้สึกว่า ช่วงเข้ามาในศูนย์ฝึกฯ 2 เดือนแรก เขาไม่อยากทำอะไรเลย แม้กระทั่งเข้าเรียน จนเข้าสู่เดือนที่ 3 เห็นกระเป๋าหนังที่เพื่อนๆ ทำเสร็จวางอยู่ในตู้ จึงอยากเข้ามาลองฝึกทำดูบ้าง ด้าน พี่ สมาชิกน้องใหม่ของโครงการ เล่าถึงเหตุผลที่เดินเข้ามาขอเป็นสมาชิกโครงการว่า เขาเดินผ่านไปผ่านมาห้องนี้เป็นประจำ เห็นเพื่อนๆ นั่งอยู่หลายคนแต่ละคนนั่งเย็บด้วยความตั้งใจและจริงจังมาก เลยสนใจอยากเข้ามาเรียนรู้บ้าง
“ถ้ามีเวลาว่างอยู่เฉยๆ ก็คิดอะไรเรื่อยเปื่อย เลยอยากหาอะไรทำ ผมเคยไปลองสานตะกร้าแล้ว แต่รู้สึกว่ายากเกินไปสำหรับผม ช่วงหลังเห็นเพื่อนๆ นั่งเย็บหนังกันดูน่าสนุก คิดว่าลองมาทำดูน่าจะดีกว่าอยู่เฉยๆ” พี่ กล่าว ส่วนแรงบันดาลใจของชาริฟในการเข้าร่วมโครงการนั้นเกิดจากความชื่นชอบส่วนตัว ที่หลงใหลการแต่งกายด้วยเครื่องหนังเป็นพิเศษ ซึ่งที่ผ่านมาเขาเสียค่าใช้จ่ายจำนวนไม่น้อยไปกับการซื้อเครื่องแต่งตัว โดยเฉพาะกระเป๋าและรองเท้าหนัง จึงอยากฝึกฝนทักษะการเย็บเครื่องหนัง เพื่อจะได้ทำไว้ใช้เอง และนำไปเป็นอาชีพเสริมหลังได้รับการปล่อยตัว “ตอนแรกผมคิดว่าตัวเองคงทำไม่ได้ เพราะไม่เคยชอบงานแบบนี้เลย แค่เห็นก็ไม่อยากจะทำแล้ว... แต่พอตั้งใจก็ทำได้ ตอนทำงานชิ้นแรกเสร็จรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก”
อดทนฝึกฝน เพื่อพัฒนาตน พัฒนางาน
เมื่อถูกถามว่า ยากไหมกว่าจะเย็บกระเป๋าได้หนึ่งใบ ทีมงานบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ยาก!!!บาส เล่าถึงขั้นตอนการฝึกเย็บหนังอย่างกระตือรือร้นว่า ประกอบด้วยการออกแบบและการเย็บ งานออกแบบเริ่มต้นจากผู้เย็บต้องหาแบบกระเป๋าด้วยตนเอง
โดยอาจดูต้นแบบของรุ่นพี่ จากหนังสือ หรือจากอินเทอร์เน็ตที่ต้องขออนุญาตครูฝึกฯ ก่อนจึงเข้าไปค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตได้ เมื่อได้แบบแล้ว จึงลงมือวาด และตัดแบบด้วยกระดาษแข็งและฝึกเย็บบนกระดาษจนคล่อง มีครูจรรยาช่วยดูความถูกต้อง เมื่อพัฒนาฝีเย็บบนกระดาษจนสวยงาม ไม่มีข้อผิดพลาด และทดสอบแล้วว่ารูปทรงกระเป๋าสามารถใช้งานได้จริง จึงนำแบบมาตัดเย็บบนหนังจริงได้
บาส บอกว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกฝนเพื่อผลิตงานชิ้นแรกของแต่ละคนใช้เวลาไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสมาธิและความพยายาม สำหรับตัวเขาเองใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์กว่าจะผลิตงานชิ้นแรกออกมาได้สำเร็จ ช่วงเริ่มต้นฝึกจึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ต้องใช้ความอดทนมากที่สุด และต้องมีสมาธิจดจ่อในสิ่งที่ทำ เพราะความอดทนและสมาธิคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาสามารถผลิตชิ้นงานออกมาได้สวยงามและใช้งานได้จริง
ส่วนเพื่อนๆ ร่วมทีม บอกว่า งานเย็บหนังนอกจากช่วยฝึกสมาธิและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แล้ว ยังช่วยฝึกสมอง เพราะผู้เย็บต้องคิดหาไอเดียสร้างสรรค์มาช่วยออกแบบกระเป๋าให้มีรูปทรงที่ทันสมัยและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค “พอทำใบแรกเสร็จ ผมดีใจและภูมิใจในตัวเองมาก ครูไม่ได้บังคับว่าเราต้องมาฝึกตอนไหน ส่วนใหญ่เรียนและทำภารกิจของตัวเองเสร็จแล้วจึงมาฝึกเย็บ
ผมเย็บไปก็เพลินไปกับงานที่ทำ ตอนที่ต้องแก้งานทีแรกรู้สึกหงุดหงิด เพราะเราทำไปไกลแล้วต้องมาเริ่มใหม่หมด แต่ผมก็ยอมแก้เพราะทำผิด ถ้าเราอยากทำให้ถูกจริงก็ต้องแก้ใหม่ เพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพ ยิ่งช่วงหลังที่พวกเราได้ไปออกงาน เราก็นำคำวิจารณ์ของลูกค้า มาปรับใช้ในงานของเราด้วย เพราะกระแสแฟชั่นเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา” บาส เล่าถึงสิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้
ส่วนดิ๊ป บอกว่า การออกแบบเป็นขั้นตอนที่เขาชอบมากที่สุด ทำให้เขามีอิสระทางความคิด เมื่อได้ค้นหาและออกแบบชิ้นงานของตัวเอง “ถ้าเจอแบบไหนซ้ำ เราก็คิดเพิ่มทำเพิ่มให้แตกต่าง หรือเวลาลูกค้ามาถามมาแนะนำแบบ เราก็จะจำไว้แล้วนำมาปรับกับแบบเก่าๆ ที่มีอยู่ เวลาออกแบบต้องคิดด้วยว่า แบบนี้เหมาะกับวัยรุ่นหรือผู้สูงอายุ เพราะแต่ละวัยชอบไม่เหมือนกัน เราก็ต้องทำทั้ง 2 อย่างเพื่อให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า” ดิ๊ป อธิบายวิธีคิด
สำหรับ ซีดาน บอกว่า ช่วงเวลาฝึกฝนในตอนแรกเป็นเวลาที่น่าเบื่อ อาจเพราะไม่เคยทำและทำออกมาได้ไม่ดี เลยไม่พอใจในผลงานของตัวเอง จนรู้สึกไม่สนุก แต่เมื่อเพื่อนตั้งใจทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง เลยอดทนทำจนผลิตผลงานออกมาได้
“ตอนแรกผมคิดว่าตัวเองคงทำไม่ได้ เพราะไม่เคยชอบงานแบบนี้เลย แค่เห็นก็ไม่อยากจะทำแล้ว ความยากอยู่ที่เวลามัดเส้นด้ายกับหนังจริง เราต้องมัดด้วยแรงที่พอดี ไม่ให้หลวมหรือแน่นจนเกินไป ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝน แต่พอตั้งใจก็ทำได้ ตอนทำงานชิ้นแรกเสร็จรู้สึกดีใจและภูมิใจมาก” ซีดาน กล่าว
เช่นเดียวกับ พี่ บอกว่า ความขี้เกียจและความรู้สึกเบื่อเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำงาน แต่เพราะมีเพื่อนๆ เป็นตัวอย่างที่ดีของความอดทนและความตั้งใจ ยิ่งเมื่อเห็นเพื่อนทำชิ้นงานออกมาได้สำเร็จ ยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองต้องกลับมารับผิดชอบทำงานที่ทำค้างไว้ให้ได้“...มีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครูบอกให้ทำก็ทำ แต่งานนี้เป็นโครงการของเรา จึงตั้งใจสร้างผลงานออกมาให้คนอื่นเห็นด้วย ยิ่งพอได้รับคำชมจากคนอื่นก็ยิ่งดีใจ หากเขาติมาเราก็ไม่โกรธ เพราะเราสามารถนำมาปรับใช้กับงานของเราได้”
เห็น “คุณค่า” ของตัวเอง เมื่อได้เป็น “ผู้ให้”
ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจฝึกฝนฝีมือจนได้มาตรฐาน หนุ่มๆ ทั้ง 5 และเพื่อนๆ อีก 3 คน ได้รับโอกาสให้ออกไปเป็นครูผู้สอนงานเย็บหนังให้กับเพื่อนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยกิจกรรมจัดขึ้นที่กองพลพัฒนาที่ 4 ค่ายรัตนพล อำคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา เป็นเวลา 5 วัน
การได้เดินทางออกนอกสถานที่ครั้งนี้ ทำให้หัวใจของทีมงานชุ่มชื่นขึ้น โดยมีคำว่า “ครูผู้สอน” เป็นน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจที่สำคัญ บาส บอกว่า เมื่อได้ทำหน้าที่ครูจึงเข้าใจหัวใจของครูจรรยาผู้สอนงานฝีมือให้พวกเขา “ครูสอนให้เราทำ เคี่ยวเข็ญเราตั้งแต่แรกๆ ให้เราพยายามฝึกปรือฝีมือ ตอนแรกพวกเราก็มาบ้างไม่มาบ้าง ทำได้บ้างไม่ได้บ้าง เพราะไม่ค่อยสนใจ สิ่งที่เราทำเป็นพฤติกรรมเดียวกับที่เพื่อนในศูนย์ฝึกฯ เขต 8 ทำกับเราตอนแรก เราเป็นคนสอนก็รู้สึกเหนื่อยที่ต้องมาคอยดูคอยแก้ให้เพื่อน แต่พอเข้าวันที่ 3 – 4 เห็นว่าเพื่อนตั้งใจฝึกจนทำได้ รู้สึกดีใจและภูมิใจมาก มันทำให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองว่าเราก็สอนได้ เราสามารถเป็นผู้ให้คนอื่นได้เหมือนกัน” บาส กล่าว
ส่วน ซีดาน บอกว่าเขารู้สึกทั้งดีใจและตื่นเต้นที่จะได้ออกไปทำกิจกรรมนอกสถานที่ แต่รู้สึกกดดันที่ได้รับหน้าที่ถ่ายทอดความรู้แก่เพื่อนจากศูนย์ฝึกฯ อื่น “ปกติแค่ได้ออกไปหน้าประตูศูนย์ฝึกฯ ผมก็ดีใจแล้ว แต่ครั้งนี้ได้ออกไปข้างนอก ผมเลยดีใจมาก ไม่มั่นใจว่าตัวเองจะสอนได้ ไปถึงวันแรกแทบไม่พูดอะไรเลย รอให้เพื่อนถามอย่างเดียว แต่ก็คิดได้ว่าถ้าเราไม่พูดไม่สอนเพื่อนจะรู้เรื่องได้ยังไง วันที่สองเลยปรับตัวเอง เริ่มพูดและทำให้เพื่อนดูเป็นตัวอย่าง” ซีดาน เล่าต่อถึงความรู้สึกขณะสอนว่า ตอนสอนรู้สึกหงุดหงิดบ้างเหมือนกัน แต่ต้องอดทน เพราะอยากให้เพื่อนทำเป็นเหมือนเรา เข้าใจความรู้สึกของครูจรรยาเลยว่า ต้องอดทนขนาดไหน เพราะครูไม่ได้สอนแค่เราคนเดียว วันสุดท้ายพอเพื่อนทำได้เอง ผมรู้สึกภูมิใจกว่าตอนที่ตัวเองทำได้อีก
ด้าน ชาริฟ ยืนยันว่า งานหนังจะออกมาสวยได้อยู่ที่การเย็บ เพราะฉะนั้นผู้สอนจึงต้องให้ความใส่ใจและไม่มองข้ามรายละเอียดของการเย็บตั้งแต่ต้นจนจบ “เวลาเราไปสอนจะเห็นว่าคนที่ตั้งใจจะทำได้เร็ว คนที่ไม่ตั้งใจก็จะทำผิดอยู่เรื่อย เรารู้เพราะเคยไม่ตั้งใจมาก่อน เราก็จะบอกเพื่อนว่าให้ตั้งใจนะ ยังไงก็ทำได้”
ส่วนความเปลี่ยนแปลงในตัวเองนั้น ชาริฟ บอกต่อว่า เขามีความรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนไม่ค่อยสนใจทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ครูบอกให้ทำก็ทำ แต่งานนี้เป็นโครงการของเรา จึงตั้งใจสร้างผลงานออกมาให้คนอื่นเห็นด้วย ยิ่งพอได้รับคำชมจากคนอื่นก็ยิ่งดีใจ หากเขาติมาเราก็ไม่โกรธ เพราะเราสามารถนำมาปรับใช้กับงานของเราได้ ขณะที่บาส บอกว่า บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้ คือ การรับฟังผู้อื่นและยอมรับข้อบกพร่องของตัวเอง เพื่อนำกลับมาแก้ไขและพัฒนาตัวเอง
“เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ฟัง ใครบอกอะไรไม่สนใจ แต่ประสบการณ์จากการทำโครงการนี้ทำให้รู้ว่า ยิ่งเราฟังคนอื่น เรายิ่งได้ความรู้ ไม่ใช่แค่ฟังครูอย่างเดียว แต่ฟังความคิดเห็นของเพื่อน ของลูกค้าและทุกคน ตรงไหนดีอยู่แล้วเราก็เก็บไว้ ส่วนตรงไหนที่ควรแก้เราจะได้ปรับปรุงให้ดีขึ้น”ส่วน ซีดาน บอกว่า การสอนทำเขาให้ได้มีโอกาสทบทวนตัวเอง เพราะเมื่อเพื่อนทำไม่ได้ ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราสอนผิดหรือเปล่า ทำไมเพื่อนยังทำไม่ได้?” “ผมเอาชิ้นงานเพื่อนมานั่งดู เขาทำผิดนิดเดียวเอง แต่งานเย็บหนังเป็นงานละเอียด ถ้าผิดยังไงก็ต้องแก้ใหม่ ผมเลยชี้จุดบอกให้เพื่อนแก้ไขตรงนั้นเลย” ซีดาน เล่าถึงวิธีการสอน
เมื่อฝึกฝน ตนเปลี่ยนแปลง
จากเป้าหมายโครงการที่ทีมงานต้องการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ดึงเพื่อนๆ ที่ก้าวพลาดมาทำกิจกรรมเพื่อปรับเปลี่ยนตัวเองนั้น ครูจรรยาบอกว่า บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งไว้แล้ว เห็นได้จากแกนนำรุ่นแรกคือ ขวดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเองชัดเจนมาก จากเดิมที่อยู่ไม่นิ่ง สมาธิสั้น พูดมาก ไม่ฟังครู ไม่ฟังเพื่อน เมื่อได้ใช้สมาธิจดจ่ออยู่กับการเย็บหนัง ทำให้เขานิ่งขึ้น มีสมาธิ และมีภาวะผู้นำมากขึ้น
ตอนไปอบรมกับสงขลาฟอรั่มครั้งแรก มีการนำเสนอโครงการต่อหน้าคณะกรรมการ เพื่อนร่วมทีมติดสอบ กศน. เหลือขวดอยู่คนเดียว แต่เขาก็สามารถนำเสนองานได้ แสดงให้เห็นว่าเขาเข้าใจกระบวนการทำงานจึงสามารถอธิบายได้ วันนี้ขวดได้รับการปล่อยตัวแล้ว และนำทักษะการเย็บหนังไปปรับใช้เป็นอาชีพแกะรองเท้าฟองน้ำอยู่ที่บ้าน
ส่วน ปอ แกนนำรุ่นที่ 1 อีกคนก็มีความรับผิดชอบ เมื่อก่อนทำงานยังไม่เสร็จก็วางไว้ตรงนั้นแล้วก็หายตัวไป มาเรียนก็แค่ให้ครบชั่วโมงเท่านั้น ไม่ได้สนใจเรียนรู้จริงจัง แต่เดี๋ยวนี้เขาทำจนเสร็จเป็นชิ้นงานได้ และหลังปล่อยตัวก็หาโอกาสมาสอบ กศน. เหมือนว่าเขามีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้น “ฝีมือและทักษะการผลิตงานของน้องๆ ไม่เป็นสองรองใคร ครูในฐานะที่ปรึกษาก็ต้องช่วยคิดต่อว่าจะพัฒนาชิ้นงานออกมาในรูปแบบไหนจึงจะขายได้ ที่ผ่านมาผลงานของน้องๆ ได้รับคำชื่นชมและได้รับความสนใจมาก งานหนังจึงเป็นโอกาสสร้างงานสร้างอาชีพให้น้องๆ ได้ หากเขาอยากสานต่อ”
ฝีเข็มแต่ละฝีที่เย็บลงบนผืนหนังได้ถักทอ “ใจ” ของทีมงานให้ตั้งมั่นอยู่บนความมีสติ สมาธิ การได้หยุดนิ่ง เย็บหนังทีละเข็มๆ อดทนจนสำเร็จ ทำให้ได้พัฒนาความคิด และอารมณ์ ภาคภูมิใจในตนเอง จนรู้คิด ว่าในอนาคตพวกเขาจะไม่ย้อนสู่เส้นทางสายเดิม กระบวนการเรียนรู้ครั้งนี้ได้หล่อหลอมให้พวกเขามั่นใจในตัวเองว่า เมื่อได้รับการปล่อยตัวพวกเขาจะสามารถก้าวเดินไปบนเส้นทางสายใหม่ได้อย่างมั่นใจเพราะรู้ดีว่าตัวเขาเองมีคุณค่าเพียงไร
โครงการ : งานหนังสานฝันเพื่อเยาวชน
ที่ปรึกษาโครงการ : จรรยา จิตรัว
เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (เขต 9) จังหวัดสงขลา
ทีมทำงาน : เด็กและเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (เขต 9) จังหวัดสงขลา