การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อพัฒนาทักษะวิชาชีพครู ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ปี 4

ปลุกไฟในหัวใจให้โชกโชน สู่ครูในศตวรรษที่ 21

โครงการครูเพื่อศิษย์

โครงการนี้นอกจากประโยชน์จะเกิดกับนักศึกษาแล้วยังตอบโจทย์ของคณะครุศาสตร์ในแง่กิจกรรมเสริมความเป็นครูซึ่งมีอยู่ 21 กิจกรรมที่คณะต้องทำตามระเบียบของคุรุสภา และตอบโจทย์ที่เป็นพันธกิจของคณะที่ต้องให้การสนับสนุนโรงเรียนตำรวจตระเวนขายแดนในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสตูลแล้วยังตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัย คือ หล่อหลอมให้นักศึกษาเป็นคนดี มีทักษะชีวิต มีจิตสาธารณะ

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วที่โครงการครูเพื่อศิษย์ยังคงทำงานอย่างเข้มข้น เพื่อทดสอบใจว่า พวกเขา “มีจิตวิญญาณความเป็นครู” จริงหรือไม่ 

รวมพลังครูเพื่อศิษย์

เพราะเคยเข้าร่วมกิจกรรมของโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 1 ปี 2 ทำให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา จากหลากหลายชั้นปี คือ เขน-วิศวะ กลับกลาย และ จอม-ทรงภพ เทพโอสถ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นัด-ศักรินทร์ จันทร์ทอง และ รุ่ง-รุ่งฤดี หนูม่วง นักศึกษาชั้นปีที่ 3 นุ-วิศนุ ชูแสง รัน-สิทธิชัย จันทร์เพ็ญ และริส-เจตพล หวันเรา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 เห็นสิ่งดีงามที่รุ่นพี่สร้างไว้ 

โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์รักในวิชาชีพครู โดยไม่ใช้การสอน การสั่ง หรือการบอกให้รัก แต่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสกับการลงมือทำ ซึ่งเป็นการปลูกจิตสำนึกความเป็นครูให้อยู่ในหัวใจ จึงรู้สึกยินดีเมื่อพี่ๆ ส่งไม้ต่อให้เป็นแกนนำทำโครงการในปีนี้เขน บอกเหตุผลของการทำโครงการว่า ยอมรับไม้ต่อจากรุ่นพี่ เพราะเห็นควรว่าต้องสืบทอดเจตนารมณ์ที่รุ่นพี่ทำไว้เป็นต้นแบบให้กับนักศึกษา ถ้าเรารับช่วงต่อและพัฒนาต่อให้ดีขี้นก็คงจะเป็นประโยนชน์ต่อนักศึกษาในคณะและมหาวิทยาลัย

“เห็นสิ่งดีงามที่รุ่นพี่สร้างไว้ โดยเฉพาะการสร้างความตระหนักให้นักศึกษาคณะครุศาสตร์รักในวิชาชีพครู โดยไม่ใช้การสอน การสั่ง หรือการบอกให้รัก แต่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้สัมผัสกับการลงมือทำ ซึ่งเป็นการปลูกสำนึกความเป็นครูให้อยู่ในหัวใจ จึงรู้สึกยินดีเมื่อพี่ๆ ส่งไม้ต่อให้เป็นแกนนำทำโครงการในปีนี้” 

นัด ซึ่งร่วมเรียนรู้การทำโครงการตั้งแต่ปีแรก โดยตอนนั้นรับหน้าที่ทำอาหาร แบกน้ำ สอนวิชาสังคมและภาษาไทย บอกว่า ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้เขารู้สึกมีความมั่นใจในการสอนนักเรียนมากขึ้น มั่นใจว่าเมื่อต้องออกไปฝึกสอนในปีที่ 5 เขาจะทำหน้าที่ครูได้ดียิ่งขึ้น และปีนี้นัดยังคงตามติดเข้ามาเรียนรู้กับโครงการ โดยอาสาเข้ามาเป็นทีมงานเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการโครงการ เพื่อให้ตนเองมีความรู้ที่ครบเรื่องมากขึ้นทั้งงานสอนและงานบริหารจัดการ

ขณะที่นุ ริส และรัน สมัครเข้ามาเรียนรู้ในโครงการเพราะเห็นว่า เป็นการ “เปิดประสบการณ์” ทำให้มีทักษะความเป็นครูมากขึ้น “พวกเราเรียนคณะครุศาสตร์ ถ้าไม่เข้าร่วมกิจกรรมแบบนี้ ก็ถือว่าขาดทุนประสบการณ์” รัน เล่าว่า เขาอยากเป็นครูมาก พยายามสอบอยู่ 3 ครั้งก็ยังไม่ได้ สอบติดคณะอื่นก็ยอมไม่เรียน จนครั้งที่ 4 จึงสอบติดและได้เรียนครูสมใจ เหตุผลที่อยากเป็นครูมากขนาดนี้ เพราะภาพจำในวัยเด็ก ที่แม้ครูจะดุ แต่ก็เอาใจใส่นักเรียน พยายามสอนให้นักเรียนทุกคนอ่านออกเขียนได้ จึงเป็นความประทับใจที่หล่อหลอมให้อยากเป็นครู

จอม ที่เพิ่งเข้าร่วมโครงการตอนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์สอนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จนเด็กมีพัฒนาการสามารถจดจำพยัญชนะได้ และมีหลักในการอ่านหนังสือมากขึ้น จากที่เคยสงสัยว่าจิตวิญญาณความเป็นครูคืออะไร ก็ได้รับคำตอบจากการทดลองสอน เมื่อได้มีโอกาสไปสอนน้องอนุบาล ที่น้องจะซนมาก ไม่นิ่ง ต้องใช้เวลาพักหนึ่งกว่าจะคุมเขาอยู่ แต่สุดท้ายก่อนกลับ ผมได้ยินเด็กหนึ่งบอกว่า “เขาอยากให้เรามาเป็นครูของเขา ปีหน้าถ้าพี่มาอีก มาสอนนะ หนูจะรอ” ได้ฟังแล้วความรู้สึกข้างในตอนนั้นคือ เราอยากกลับมาสอนเขาอีกจริงๆ อยากกลับมาหาเขา ความเหนื่อยที่มีอยู่หายไปหมดเลย เพราะคำพูดของน้องๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราอยากเป็นครูมากขึ้น เมื่อรุ่นพี่ชวนเข้ามาร่วมทีม เพราะมีความสามารถด้านการจัดการงานเอกสาร จึงรับปากอย่างเต็มใจ

สำหรับเขน มีโอกาสเข้ามาร่วมกิจกรรมของโครงการครูเพื่อศิษย์ในช่วงท้ายๆ ของการเรียนในชั้นปีที่ 2 หลังจากสิ้นสุดงานในฐานะกรรมการสโมสรนักศึกษาของมหาวิทยาลัย จึงได้กลับมาช่วยงานในคณะ ประจวบเหมาะกับเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการสรรหาประธานโครงการครูเพื่อศิษย์พอดี “ตามธรรมเนียม ประธานโครงการนี้จะต้องเป็นของนายกหรือรองนายกสโมสรคณะครุศาสตร์ แต่ปีนี้นายกฯ ไม่รับ ผมจึงได้รับโอกาสดีจากคณะให้เป็นประธานโครงการครูเพื่อศิษย์ แม้ตอนนั้นจะยังลังเลอยู่บ้าง เพราะเราไม่ได้เข้าร่วมตั้งแต่แรก แต่พอไปศึกษาและสอบถามจากน้องนัดและผู้เข้าร่วมคนอื่นที่ต่างบอกว่า เป็นโครงการที่ดี อยากให้ลงไปช่วยกันพัฒนาเด็กในถิ่นทุรกันดาร ผมตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด”

ด้วยความเข้มข้นในการทำโครงการที่รุ่นพี่สร้างมาตรฐานไว้ดีมาก การที่เขน ไม่ได้ผ่านประสบการณ์การทำงานในโครงการต่อเนื่องเหมือนเพื่อนคนอื่น จึงพยายามเรียนรู้เนื้องานของโครงการผ่านการอ่านรายงานของปีก่อนๆ สอบถามจากสมาชิก และรุ่นพี่ แต่สิ่งที่สร้างความเข้าใจให้ได้มากที่สุด คือ การได้ลงพื้นที่จริง เพื่อสังเกตการณ์ในมิติของการบริหารจัดการว่าต้องทำอะไร อย่างไรบ้าง “โครงการครูเพื่อศิษย์เป็นค่ายสอน ตอนแรกเคยคิดว่าทำค่ายสร้าง แต่มันก็ซ้ำกับโครงการอื่น เราเป็นครู เราน่าจะหันมาสร้าง “ใจ” ให้เขาเป็น “ครู” ที่สมบูรณ์แบบ ผมว่ามันจะยั่งยืนมากกว่าการสร้างวัตถุสิ่งของ”


เข้มข้นตั้งแต่คัดเลือก

แม้เป็นการทำงานในปีที่ 2 แต่เป้าหมายของโครงการยังยืนพื้นอยู่ที่การพัฒนา “จิตวิญญาณความเป็นครู” ที่สะท้อนอยู่ในกระบวนการทำโครงการในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกสมาชิกจากจำนวนผู้สมัครเกือบ 150 คนให้เหลือเพียง 50 คน เพราะต้องการ “เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณ”

เขน บอกว่า ตอนแรกคิดจะเปิดเป็นชมรม แต่พอไปดูระเบียบแล้วพบว่า ถ้าเปิดเป็นชมรมเราจะไม่มีสิทธิ์คัดเลือกนักศึกษาเลย ใครจะเข้ามาก็ได้ เลยคิดว่าทำเป็นโครงการครูเพื่อศิษย์เหมือนเดิม แต่ทำให้เข้มข้นขึ้น ความเข้มข้นที่ว่า คือ กระบวนการคัดเลือกที่มีมากถึง 3 ขั้นตอน คือ 1. ให้นักศึกษาที่สนใจเขียนใบสมัคร โดยท้ายใบสมัครจะมีคำถามเชิงจิตวิทยาเกี่ยวกับความเป็นครูว่าเป็นอย่างไร มีคณะกรรมการที่แต่งตั้งไว้ 7 คน ประกอบด้วย ประธานและรองประธานรุ่นที่ 1-3 และอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ 

อ่านใบสมัครแล้วให้คะแนน 2. การสัมภาษณ์ โดยให้คณะกรรมการตั้งคำถามต่อเนื่องจากเนื้อหาที่ผู้สมัครแต่ละคนเขียนไว้ในใบสมัคร กรรมการแต่ละคนจะมีแนวทางการซักถามของตนเอง ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่บอกว่า เป็นบรรยากาศที่ดุเดือด ตื่นเต้นมากกว่าการสอบสัมภาษณ์เข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยเสียอีก นอกจากนี้ยังมีคำถามสำคัญที่ใช้ตรวจสอบทัศนคติ ความคิด ความรู้สึกของผู้สมัครคือ “ถ้าหากเราไม่เปรียบครูกับกระดาษทราย เรือจ้าง แสงเทียน คุณจะเปรียบครูกับสิ่งใด” ด้วยความเข้มข้นเช่นนี้

ทำให้ระหว่างทางมีผู้สมัครถอดใจถอนตัวไปเอง โดยสละสิทธิ์เข้ารับการสัมภาษณ์ แต่กระนั้นจำนวนผู้สมัครที่คณะกรรมการต้องสัมภาษณ์ก็ยังคงอยู่ในจำนวนเกือบๆ 150 คน ซึ่งต้องใช้เวลาในการสัมภาษณ์นานถึง 3 วัน จากขั้นตอนการคัดกรองใบสมัคร และการสัมภาษณ์ เข้าสู่ขั้นตอนที่ 3. ดูความประพฤติในเฟซบุ๊ก ถือเป็นชั้นความลับของการทำงาน ด้วยทีมงานเห็นว่า การเขียนใบสมัครคนที่เขียนเก่งจะได้เปรียบ

ส่วนการสัมภาษณ์คนที่พูดเป็นก็จะได้เปรียบ คิดว่าควรมีการตรวจสอบผ่านกิจกรรมที่อิสระเสรี นั่นก็คือการโพสต์เฟซบุ๊ก ที่คณะกรรมการจะต้องใช้สปายในคณะที่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกับผู้สมัครแต่ละรายให้ช่วยดูด้วย

“เราพบว่า นักศึกษาบางคนพูดดี เขียนดี แต่เมื่อไปดูในเฟซบุ๊ก บางคนกลับมีพฤติกรรมการแสดงออกในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพหวิว โพสต์คำหยาบบ้าง ส่วนนี้ถ้าพบเราจะตัดเลย เพราะถือว่า “ความเป็นครู” ของเขาไม่มี การเอามาบ่มเพาะน่าจะยากมากๆ” เขนเล่า การคัดออกใช่ว่าจะตัดขาด คณะกรรมการมองว่า การบ่มเพาะนักศึกษาที่ยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมต้องทำผ่านกระบวนการครูอาสาที่คณะครุศาสตร์จัดขึ้น เพื่อให้เขาเห็นความสำคัญของความเป็นครูก่อน

“นักศึกษาในคณะครุศาสตร์ทุกคนต้องผ่านโครงการครูอาสา ซึ่งเป็นค่ายสร้าง แต่ครูเพื่อศิษย์เป็นค่ายสอน ตอนแรกเคยคิดว่าทำค่ายสร้างก็ได้ แต่มันก็ซ้ำกับโครงการอื่น เราเป็นครู เราน่าจะหันมาสร้าง “ใจ” ให้เขาเป็น “ครู” ที่สมบูรณ์แบบ ผมว่ามันจะยั่งยืนมากกว่าการสร้างวัตถุสิ่งของ” เขนเล่าความต่างของเนื้องาน

หลังผ่านการคัดกรองอย่างเข้มข้น มีสมาชิกที่ผ่านเข้าโครงการ 55 คน มี 10 คนที่ต้องการเข้ามาเรียนรู้เรื่องงานบริหาร ซึ่งกลุ่มนี้มีเกณฑ์พิเศษว่า จะต้องเข้าร่วมกิจกรรมอย่างน้อย 80-90 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป เพราะต้องเห็นภาพรวมของการดำเนินงานโครงการทั้งหมด

เติมความรู้ก่อนออกสู่สนาม

สำหรับปีนี้ ทีมงานออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนใหม่ เน้นการบูรณาการระหว่างรายวิชา โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มวิชาหลักคือ กลุ่มเอ บูรณาการระหว่างวิชาภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ กลุ่มบี พลศึกษากับวิทยาศาสตร์ กลุ่มซี ภาษาอังกฤษกับสังคมศึกษา เพราะเห็นว่า การสอนวิชาเดียวอาจจะน่าเบื่อ จึงผนวกรายวิชาที่มีความเหมือนหรือเกี่ยวข้องกันไว้ด้วยกัน อาทิ วิชาภาษาไทยกับคณิตศาสตร์ ถ้าเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เขาก็จะไม่เข้าใจโจทย์คณิตศาสตร์ จึงใช้การบูรณาการเนื้อหาของสองวิชานี้เข้าด้วยกัน เช่น การไปซื้อของ การสนทนาพูดคุย เป็นต้น

แต่ก่อนจะไปออกสู่สนามจริง งานที่ทีมงานให้ความสำคัญอีกอย่างคือ การเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิก เขน เล่าว่า การประชุมในครั้งแรกทีมงานจัดให้สมาชิกได้มีโอกาสสานสัมพันธ์กันก่อน เพราะมาจากต่างสาขาวิชาเอก หลังจากนั้นจึงชี้แจงกระบวนการทำงานที่ต้องมีการบูรณาการการสอน แล้วจึงให้สมาชิกเลือกสอนในแต่ละกลุ่มวิชาตามความถนัด จากนั้นจึงให้แต่ละกลุ่มช่วยกันออกแบบกิจกรรมและสื่อที่จะใช้ในการเรียนการสอน

นอกจากนี้ยังมีการเสริมความรู้ โดยเชิญรองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และอาจารย์ในคณะจากแต่ละสาขาวิชา มาให้ความรู้เรื่องการบูรณาการหลักสูตร เพื่อให้สมาชิกเข้าใจหลักการบูรณาการรายวิชา ก่อนที่จะช่วยกันออกแบบกระบวนการและสื่อร่วมกันต่อไปภายใน 2 สัปดาห์ หลังสร้างสื่อเสร็จแต่ละกลุ่มต้องมาทดลองจัดการเรียนการสอนให้คณะกรรมการและที่ปรึกษาโครงการดู เพื่อให้ข้อเสนอแนะ และกลับไปปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในเวลา 1 สัปดาห์

“แต่ละกลุ่มต้องมาทดลองให้ดูว่าจะจัดการเรียนการสอนแบบไหน ซึ่งบางกลุ่มก็โดนกลับไปแก้ เพราะการทำสื่อมีรายละเอียดเยอะ อาทิ เรื่องความเหมาะสม ความยากง่าย และขนาดของสื่อที่ไม่เหมาะสมกับระดับชั้นที่จะลงไปจัดกิจกรรม เป็นต้น” จอม บอกรายละเอียด

นัดในฐานะหัวหน้ากลุ่มซี ที่รับผิดขอบสอนสังคมศึกษากับภาษาอังกฤษ บอกว่า กลุ่มนี้จะแบ่งการสอนตามระดับชั้นคือ ประถมศึกษาปีที่ 1-2 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องการเคารพสิทธิหน้าที่ของตนเอง และเน้นเรื่องครอบครัว ประถมศึกษาปีที่ 3-4 เนื้อหาเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ อากาศ ประถมศึกษาปีที่ 5-6 เนื้อหาเรื่องอาเซียน โดยช่วงท้ายออกแบบให้มีการเล่นเกมด้วย “แต่ละกลุ่มชั้นจะทำสื่อส่งให้ผมนำไปให้รุ่นพี่ดู หากมีปัญหาก็จะส่งให้กลุ่มกลับไปแก้ไข ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะมีคนที่รับผิดชอบหลักอยู่แล้ว”

แม้สมาชิกจะมาจากต่างสาขาวิชา แต่ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน ทำให้เกิดการหลอมรวมความคิด เรียนรู้ข้ามศาสตร์ เติมเต็มซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี “ค่าย 3 วัน 2 คืน คือสนามฝึกว่าที่ครูกว่า 50 ชีวิต โดยกิจกรรมในค่ายจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ระบบโรงเรียนเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กิจกรรมยืนรับนักเรียนหน้าโรงเรียน กิจกรรมหน้าเสาธง หลังจากนั้นจึงเป็นการจัดการเรียนการสอนตามบทบาทหน้าที่ ไม่มีการบังคับว่าต้องตื่นกี่โมง แต่ 7 โมงต้องพร้อมที่จะรับน้องหน้าโรงเรียน ฉะนั้นทุกคนต้องรับผิดชอบตนเองทั้งเวรทำอาหาร กินข้าว อาบน้ำ เราจะต้องบริหารจัดการตัวเอง เพราะเพื่อนร่วมทีมทั้งหมด 55 คน ใครจะตื่นตอนไหน จะอาบน้ำตอนไหน จะกินข้าวตอนไหน ต้องคิดจัดการเอง”


สัมผัสเด็ก...สัมผัสใจตนเอง

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านส้านแดง ตำบลควนกาหลง อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล คือ พื้นที่เป้าหมายของการทำงานครั้งนี้ ด้วยคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มีพันธกิจที่ต้องเป็นที่ปรึกษาทางวิชาการแก่ครูในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่พัทลุงและสตูล มีการจัดอบรมให้กับครูแทบทุกเดือน จึงเป็นโอกาสดีที่ที่ปรึกษาโครงการจะได้สอบถามปัญหาและความต้องการหนุนเสริมของแต่ละโรงเรียน เมื่อทราบความยากลำบากในการทำงานของ ร.ร.ตชด.บ้านส้านแดง ทีมงานจึงตัดสินใจเลือกให้เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ แม้พื้นที่จะอยู่ไกลจากมหาวิทยาลัยถึง 150 กิโลเมตรก็ตาม

ทีมงานรับทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนไม่ถึง 100 คน แต่สภาพที่ไปเห็นคือ อาคารเรียนแบ่งพื้นที่เป็นช่องๆ มีกระดานกั้นระหว่างห้อง หากครูห้องไหนสอนดัง ก็จะได้ยินกันทั่วทั้งบริเวณ พอฝนตก ลมพัดหลังคาปลิว นักศึกษาก็ต้องช่วยกันปีนขึ้นไปซ่อมหลังคา ข้างหลังโรงเรียนเป็นสวนพฤษศาสตร์ มีบ่อปลา เมื่อฝนตกน้ำล้นเอ่อออกมาจากบ่อพร้อมๆ กับปลาที่เลี้ยงไว้ นักเรียนก็ออกไปจับปลากันอย่างสนุกสนาน” เขน เล่าบริบทโรงเรียน

ค่าย 3 วัน 2 คืน คือสนามฝึกว่าที่ครูกว่า 50 ชีวิต โดยกิจกรรมในค่ายจะเป็นกระบวนการเรียนรู้ระบบโรงเรียนเต็มรูปแบบ ตั้งแต่กิจกรรมยืนรับนักเรียนหน้าโรงเรียน กิจกรรมหน้าเสาธง หลังจากนั้นจึงเป็นการจัดการเรียนการสอนตามบทบาทหน้าที่ที่ได้เตรียมไว้ตลอดทั้งวัน จนถึงเวลาเลิกเรียนนักศึกษาจะจัดกิจกรรมนันทนาการร่วมกับนักเรียน ส่วนภาคกลางคืนเป็นกิจกรรมเปิดใจแจกความดี กิจกรรมไหว้ครู และการสะท้อนตัวตนของแต่ละคน ซึ่งเป็นกิจกรรมสร้างจิตวิญญาณความเป็นครู โดยกิจกรรมตลอดทั้งวันจะคู่ขนานไปกับกิจกรรมบริการอื่นๆ เช่น การทำอาหาร การอำนวยความสะดวกของทีมบริหารจัดการ

“ไม่มีการบังคับว่าต้องตื่นกี่โมง แต่ 7 โมงต้องพร้อมที่จะรับน้องหน้าโรงเรียน ฉะนั้นทุกคนต้องรับผิดชอบตนเองทั้งเวรทำอาหาร กินข้าว อาบน้ำ เราจะต้องบริหารจัดการตัวเอง เพราะเพื่อนร่วมทีมทั้งหมด 55 คน ใครจะตื่นตอนไหน จะอาบน้ำตอนไหน จะกินข้าวตอนไหน ต้องคิดจัดการเอง” นัดเล่าบรรยากาศการใช้ชีวิตในค่าย

ภาพการทำงานของสมาชิกทั้งหมดนับว่าทำได้ดี เพราะสามารถจัดการภาระส่วนตัว ภาระส่วนรวมได้ตรงเวลา แต่ในส่วนการเรียนการสอนนั้น ทีมงานยอมรับว่า ทำได้ไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับว่านักเรียนจะรับได้แค่ไหน โดยภาพรวมของการสอนส่วนใหญ่จะสอนได้เพียง 80 เปอร์เซ็นต์ของที่เตรียมมา เมื่อจบค่ายแต่ละกลุ่มจะมอบสื่อให้โรงเรียนไว้ใช้งานต่อไป

การได้สอนจริงในบริบทจริงของโรงเรียน ทำให้สมาชิกได้เรียนรู้วิธีจัดการเรียนการสอน การจัดบรรยากาศการเรียนรู้ การจัดการปัญหาในห้องเรียน ซึ่งริสเล่าว่า เห็นนักเรียนไม่ร่วมกิจกรรมกับเพื่อนๆ ในห้อง แต่เขาไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร ก็ได้เรียนรู้จากรุ่นพี่ที่เข้าไปแก้ปัญหาโดยการสอบถามนักเรียนคนนั้นโดยตรง นี่เป็นประสบการณ์ตรงในการแก้ปัญหาในห้องเรียน ที่ริสบอกว่า จะต้องจำไปปรับใช้ในอนาคตแน่นอน

เขน บอกต่อว่า นักศึกษาบางคนบ้านอยู่ในเมือง ครอบครัวมีความพร้อม เรียนจบจากโรงเรียนชั้นนำในจังหวัด ค่ายสอน 3 วัน 2 คืนสำหรับบางคนจึงเป็นการเปิดภาพสังคมในมิติอื่นๆ ให้ได้สัมผัส ผ่านการได้เห็นความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของครู ตชด.


เติมสำนึกความเป็นครู

เสร็จจากกิจกรรมค่าย สมาชิกทั้งหมดได้เข้าร่วมกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ “ครูสามภูมิ” คือ ครูที่มีภูมิรู้ ภูมิธรรม ภูมิฐาน ภูมิรู้คือ ความรู้วิชาการที่ต้องมีในการเป็นครู ภูมิธรรมคือ คุณธรรม จริยธรรมในสิ่งที่ครูควรจะเป็น ภูมิฐานคือลักษณะ บริบท บุคลิกภาพ การอบรมเชิงปฏิบัติการนี้เดิมจะรับเฉพาะนักศึกษาในโครงการ แต่ทีมงานประเมินว่า การเรียนรู้บุคลิกของคนเป็นครูที่ดีควรเป็นอย่างไรเป็นเรื่องสำคัญ จึงขยายโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในคณะครุศาสตร์ทั้งหมดได้ร่วมเรียนรู้ด้วย

“ทั้งสามสิ่งนี้ที่เราเอามาใช้กับครู เพราะคิดว่าการเป็นครูต้องเป็นตลอด 24 ชั่วโมง ตัวอย่างง่ายๆ เช่นเรื่องการแต่งกาย บางคณะอาจให้อิสระเรื่องการแต่งกาย แต่คณะเราเรียนครู เพราะฉะนั้นการแต่งกายจึงเป็นสิ่งสำคัญตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-5 ต้องทำใจเรื่องการแต่งกายที่เรียบร้อย สุภาพ และต้องสร้างวินัยให้ตนเองตั้งแต่เริ่มต้น จึงให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ได้เรียนรู้บริบทของการเป็นครูก่อนว่า การเป็นครูต้องเป็นอย่างไร โดยใช้วิธีบรรยายในช่วงเช้า ส่วนช่วงบ่ายเรียนรู้เรื่องครูสามภูมิและครูพลเมืองผ่านการบรรยายและชมคลิปวิดีโอครูผู้สร้างแรงบันดาลใจในช่วงบ่าย”

ทีมงาน บอกว่า กิจกรรมครูพลเมืองต้องการสื่อถึงบทบาทของครูต่อบ้านเมือง เพราะครูอยู่ในสถานะที่เป็นความหวังของสังคม ดังนั้นคนเป็นครูต้องรู้บริบทของพื้นที่ที่จะลงไปสอน ทั้งยังต้องสละเวลาและอุทิศตนเองให้กับสังคม ต้องให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ช่วยเติมเต็มในสิ่งที่ชุมชนขาดได้ และต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนนั้นๆ ให้เจริญยิ่งขึ้นวันนี้กิจกรรมในโครงการครูเพื่อศิษย์เสร็จสิ้นลงแล้ว เหลือเพียงการจัดนิทรรศการเผยแพร่ผลงาน ที่ทีมงานตั้งใจสงวนไว้เพื่อจัดร่วมกับกิจกรรมวันครูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเท่านั้น


เมื่อจิตวิญญาณความเป็นครูลุกโชน

“เราไม่ได้เอาวิชาการไปสอนเขาเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องทำให้เขาได้ทั้งความรู้ คุณธรรม และจริยธรรมด้วย พอเราได้รับประสบการณ์การสอนและการทำกิจกรรมแล้ว จะเสริมแรงให้เรามีความมั่นใจในการเป็นครูยิ่งขึ้น”

กิจกรรมที่ได้ร่วมเรียนรู้เป็นการเติมเต็มประสบการณ์ที่มีค่ายิ่งในความคิดของทีมงาน ยิ่งทำกิจกรรมทีมงานส่วนใหญ่ยิ่งเรียนได้ดีขึ้น เกรดเพิ่มขึ้น หรือบางคนก็ยังสามารถรักษาระดับการเรียนไว้ได้คงที่ การเรียนมีประสิทธิภาพขึ้น เพราะรู้จักจัดการและแบ่งเวลา รู้ตัวว่าต้องใช้เวลาทำกิจกรรม จึงต้องทำหน้าที่ในฐานะนักศึกษาให้ดี เวลาเรียนก็ตั้งใจเรียนอย่างเต็มที่ มีเวลาว่างก็จะสรุปเนื้อหาสิ่งที่ได้เรียนแต่ละวิชาไว้เป็นโน้ตย่อ ทำให้เข้าใจเนื้อหาสาระที่ได้เรียนได้ดียิ่งขึ้น และช่วยประหยัดเวลาในการทบทวนบทเรียนก่อนสอบเป็นอย่างมาก จึงยังสามารถใช้ชีวิตวัยรุ่นได้ตามความสนใจ

ส่วนในมุมส่วนตัวของแต่ละคนนั้น เขนบอกว่า การทำหน้าที่คณะกรรมการบริหารโครงการทำให้เขาพัฒนาศักยภาพเรื่องกระบวนการทำงานที่เป็นระเบียบขั้นตอนที่ดีขึ้น การได้สัมผัสกับโรงเรียนในชุมชนห่างไกลทำให้ได้เห็นสภาพสังคมที่แตกต่างกัน ดังนั้นการได้เข้าไปมีส่วนในการพัฒนาการเรียนการสอนให้กับ ร.ร.ตชด.บ้านส้านแดง จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนานักเรียน และแบ่งปันความสุขระหว่างกัน

รุ่ง ซึ่งเข้าร่วมโครงการต่อเนื่องมา 3 ปี บอกว่า มีความรู้สึกผูกพันกับพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่ได้ทำงานร่วมกัน แม้จะเรียนรู้มาตลอด แต่ก็รู้สึกว่าความเป็นครูเติมไม่เต็ม สามารถเพิ่มพูนทักษะความสามารถ และเก็บเกี่ยวประสบการหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณความเป็นครูได้เรื่อยๆ ปีนี้รุ่งได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ในการเป็นทีมบริหารงาน ได้สอนงานเพื่อส่งไม้ต่อให้น้องรุ่น ส่วนเรื่องจิตวิญญาณความเป็นครูที่เติบโตในหัวใจ ปีนี้รุ่งอาสาสอนพิเศษฟรีให้แก่เด็กด้อยโอกาสในเมืองสงขลา โดยยอมสละเวลาพักผ่อนของตนเอง ทั้งๆ ที่มีภาระเรื่องการหารายได้เพื่อส่งเสียตนเองในการเรียนระดับมหาวิทยาลัยก็ตาม

“หนูเคยไปรับจ้างสอนพิเศษด้วย แต่ความรู้สึกมันแตกต่างกัน ตอนสอนพิเศษอยู่ในห้องแอร์ อุปกรณ์ทุกอย่างครบ เด็กไม่ต้องลำบากเลย อุปกรณ์ทุกอย่างครูเตรียมให้หมด แต่ความตั้งใจของคนที่เรียนยังไม่เท่ากับน้องที่ด้อยโอกาส น้องจะมองที่หนูตลอดเวลา สนใจใฝ่รู้มาก การที่เราเสียสละเวลาวันละชั่วโมงสองชั่วโมงมันมีค่ามากกว่าการไปสอนพิเศษชั่วโมงละร้อยสองร้อยบาทมากมายนัก”

สำหรับจอมนั้น ประสบการณ์ตรงในการสอน ช่วยสร้างความมั่นใจให้เขาที่จะต้องออกไปฝึกสอนและเมื่อจบไปเป็นครูมากขึ้น การนำศาสตร์เกี่ยวกับวิชาครูที่ได้เรียนไปใช้ในบริบทของโรงเรียนจริงๆ ทำให้รู้ว่า การเรียนการสอนจะเกิดผลต่อการพัฒนานักเรียนได้นั้น “ครูต้องใช้หัวใจในการสอน”

“เราไม่ได้เอาวิชาการไปสอนเขาเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องทำให้เขาได้ทั้งความรู้ คุณธรรม และจริยธรรมด้วย พอเราได้รับประสบการณ์การสอนและการทำกิจกรรมแล้ว จะเสริมแรงให้เรามีความมั่นใจในการเป็นครูยิ่งขึ้น” จอม ยังเล่าเสริมว่า บรรยากาศการทำงานในโครงการที่มีการเติมเต็มความรู้จากอาจารย์ พี่ๆ การช่วยเหลือกัน และความสามัคคีของเพื่อนๆ เป็นบรรยากาศของการทำงานที่อบอุ่น จึงรู้สึกมีความสุขทุกครั้งที่ได้ร่วมกิจกรรมของโครงการนี้

การเป็นหัวหน้าในกลุ่มบูรณาการกลุ่มซี ทำให้นัดได้ประสบการณ์ของการเป็นผู้นำ โดยเฉพาะการรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนๆ ในกลุ่ม การเปลี่ยนแปลงของน้องๆ ที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการเป็นสิ่งหนึ่งที่นัดภูมิใจ เพราะการที่คนเป็นครูมีจิตวิญญาณความเป็นครูจะส่งผลต่อการเรียนการสอนที่เต็มเปี่ยมด้วยความรักและความปรารถนาดี ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข และมีพัฒนาการที่ดี

ส่วนริสนั้น การร่วมกิจกรรมช่วยพัฒนาทักษะพื้นฐานของการเป็นครูคือ เรื่องของการนำเสนอหน้าชั้นเรียน ที่เมื่อผ่านการฝึกฝนแล้วจึงสามารถนำเสนอได้ดีขึ้น “เมื่อก่อนตอนนำเสนอเสร็จผมจะถามเพื่อนว่า ผมพูดเป็นอย่างไร เพื่อนก็บอกว่ารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง แต่ตอนนี้เพื่อนบอกว่าพูดรู้เรื่องขึ้น ฟังได้ดีขึ้นกว่าเดิม เป็นการพัฒนาที่เกิดขึ้นมาจากการทำกิจกรรมโครงการนี้และโครงการอื่นด้วย เพราะพอไปสอน เราต้องพูดหน้าชั้นให้นักเรียนฟัง ถ้าเรายังพูดไม่รู้เรื่องก็จะไม่สามารถถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียนได้ ก็ต้องฝึกตัวเอง ต้องพัฒนา ในอนาคตเมื่อเราออกไปเป็นครูแล้วยังไม่ปรับปรุงตัวเองก็จะเป็นครูที่ดีลำบาก จึงเป็นแรงผลักดันให้ต้องเร่งปรับปรุงตนเอง”

ทีมงานเล่าว่า สาเหตุที่พวกเขาทำงานได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั้น นอกจากการบริหารจัดการในทีม การดูแลของรุ่นพี่และที่ปรึกษาแล้ว พี่ๆ จากสงขลาฟอรั่มก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเคี่ยวให้ความคิดของทีมงานตกผลึกในหลายเรื่อง เพราะทุกครั้งที่ทำกิจกรรมเสร็จจะสรุปรายงานส่งให้พี่ๆ ช่วยดู ซึ่งมักจะได้รับข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ให้ปรับปรุงแก้ไขจนสมบูรณ์ คำถามชวนทบทวนการทำงานยังช่วยชี้ให้เห็นจุดอ่อน จุดแข็งที่จะต้องนำไปใช้ปรับปรุงการทำงานในครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น การมีคนช่วยให้คำแนะนำอยู่เคียงข้างจึงเป็นการประคับประคอง ทีมงานให้สามารถดำเนินโครงการอยู่ในเส้นทางที่ถูกที่ควรได้อย่างมั่นใจ

กันต์-บรรพต มณีโรจน์ แกนนำผู้ริ่เริ่มโครงการครูเพื่อศิษย์เมื่อ 3 ปีก่อน นั่งฟังทีมงานเล่าประสบการณ์การทำงานอย่างปลาบปลื้มใจ เพราะแม้ไม่ได้ลงมือทำเอง เนื่องจากเรียนอยู่ชั้นปีที่ 5 ต้องฝึกสอน แต่ผลงานที่ประจักษ์ยืนยันว่า การส่งไม้ได้รับการสานต่อเป็นอย่างดีนั่นเป็นเพราะระบบการบริหารโครงการที่จัดให้มีการเรียนรู้ร่วมกันมาโดยตลอดของทีมงาน

“จากปี 1-3 โครงการนี้ผ่านอะไรมามากมาย ตอนนั้นอาจารย์มนตรียังไม่ได้เป็นคณบดี ผมและทีมแกนนำ 5 คนตอนนั้นไม่มีใครมองเห็นเลยว่า โครงการครูเพื่อศิษย์จะเดินทางมาจนถึงปีที่ 3 ในวันนี้ หลายครั้งที่ถูกตั้งคำถามว่า โครงการนี้ทำอะไรกันนักหนา ทำแล้วจะได้อะไร จำได้ว่าวันที่ผมไปยื่นข้อเสนอให้สงขลาฟอรั่ม ผมนั่งตุ๊กตุ๊กไป ฝนก็ตก อาจารย์ในมหาวิทยาลัยก็ยังไม่ค่อยรู้จัก จะไปขอความอนุเคราะห์ใช้รถก็ไม่กล้า เพราะยังไม่เป็นที่ยอมรับ พอผ่านจุดนั้นมาได้ จนถึงปีนี้รู้สึกว่าเราเติบโตขึ้นมาก”

น้ำตาของความปีติของกันต์ไหลอาบหน้าเมื่อทบทวนความหลัง เปลี่ยนไปรอยยิ้มเมื่อพูดถึงโครงการครูเพื่อศิษย์ที่ได้รับการยอมรับจากบุคลากรในคณะและมหาวิทยาลัยในวันนี้ แต่ที่กันต์บอกว่าชื่นใจที่สุดคือ การที่เห็นรุ่นน้องสานต่อการทำงานได้ดีมากกว่าที่คาดคิดเอาไว้ “ผมยิ่งภูมิใจมากว่า เรามีส่วนช่วยให้เขาเติบโตคิดทำสิ่งที่ดีงามกับสังคมต่อไป”

“โครงการนี้ช่วยเสริมเติมเต็มนักศึกษาให้มีทักษะความรู้เกี่ยวกับการเป็นครูมากขึ้น เราไม่ได้ต้องการไปพัฒนาโรงเรียน เป้าหมายของเราคือ พัฒนานักศึกษาครูให้มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีเจตคติที่ดีต่อความเป็นครู โดยมีน้องๆ ในโรงเรียนเป็นสื่อ”


ประโยชน์ส่วนตัวสู่ประโยชน์ส่วนรวม

ดร.มนตรี เด่นดวง รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการตั้งแต่ปีแรก เล่าว่า ในฐานะที่ปรึกษาเขาทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างทีมงานชุดเก่า กับทีมงานชุดใหม่ และให้แนวคิดเพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์ เลือกสรรวิธีทำงาน เช่น การตั้งคำถามต่อวิธีการสอนรายวิชากับการสอนแบบบูรณาการ ทำให้ทีมงานได้ฉุกคิดและสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆ ในการจัดกิจกรรม

“โครงการนี้ช่วยเสริมเติมเต็มนักศึกษาให้มีทักษะความรู้เกี่ยวกับการเป็นครูมากขึ้น เราไม่ได้ต้องการไปพัฒนาโรงเรียน เป้าหมายของเราคือ พัฒนานักศึกษาครูให้มีจิตวิญญาณความเป็นครู มีเจตคติที่ดีต่อความเป็นครู โดยมีน้องๆ ในโรงเรียนเป็นสื่อ” 

 โครงการนี้นอกจากประโยชน์จะเกิดกับนักศึกษาแล้วยังตอบโจทย์ของคณะครุศาสตร์ในแง่กิจกรรมเสริมความเป็นครูซึ่งมีอยู่ 21 กิจกรรมที่คณะต้องทำตามระเบียบของคุรุสภา และตอบโจทย์ที่เป็นพันธกิจของคณะที่ต้องให้การสนับสนุน ร.ร.ตชด.ในพื้นที่จังหวัดพัทลุงและสตูลแล้ว ยังตอบโจทย์ของมหาวิทยาลัย คือ หล่อหลอมให้นักศึกษาเป็นคนดี มีทักษะชีวิต มีจิตสาธารณะ

“โครงการนี้ตอบทั้งสามอย่างเลย แน่นอนเด็กเราเป็นคนดี เพราะเราตั้งใจฟูมฟักสอนให้เขาเป็นคนดีที่สังคมต้องการ มีทักษะชีวิต ซึ่งการทำงานร่วมกันทำให้เด็กมีทักษะชีวิตอยู่แล้ว ทั้งทักษะในศตวรรษที่ 21 ผมว่าน่าจะสอดคล้องทุกตัว ทั้ง 3R 7C ส่วนจิตสาธารณะ โครงการนี้มุ่งให้นักศึกษามีความเป็นครู มีเจตคติที่ดีต่อวิชาชีพครู แต่สิ่งหนึ่งที่ได้จากโครงการนี้คือ ความมีจิตสาธารณะที่ช่วยเพิ่มโอกาสให้นักเรียนด้อยโอกาสในโรงเรียน ตชด.ที่ทุรกันดาร”

ดร.มนตรี บอกต่อว่า การทำงานในโครงการยังช่วยพัฒนาทักษะอื่นๆ ของนักศึกษา เช่น งานธุรการ การสื่อสาร การประสานงาน การเขียนโครงการ ฯลฯ ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นต่อชีวิตการทำงานในอนาคต เพราะเฝ้ามองมาโดยตลอด อาจารย์จึงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของทีมงาน โดยเฉพาะการพัฒนาทักษะการนำเสนอที่ทุกคนมีพัฒนาการขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งเมื่อได้ลงมือทำงานก็เกิดความโดดเด่น ผลงานได้รับการยอมรับในวงกว้าง และถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ สร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัย ผลลัพธ์ที่ได้ยังย้อนกลับคืนสู่ทีมงาน

“เมื่อน้องๆ ทำงานก็เกิดความโดดเด่น เวลามหาวิทยาลัยเฟ้นหานักศึกษารางวัลพระราชทาน นักศึกษาเหล่านี้ก็จะเข้าคุณสมบัติ เพราะมีข้อมูลเชิงประจักษ์ คณะก็ให้การสนับสนุน”ในแง่การเรียนรู้ของอาจารย์ สิ่งที่นักศึกษาทำในโครงการสามารถตอบโจทย์ความอยากรู้ของอาจารย์เช่นกัน เช่น ปีนี้ที่นักศึกษาทำกิจกรรมการสอนแบบบูรณาการ อาจารย์ก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับนักศึกษา สิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้นำไปต่อยอดสอนนักศึกษาในชั้นเรียนได้

“ผมอยากรู้ว่านักศึกษาจะทำได้ไหม พอได้ลองทำ เขาก็ทำได้ ผมก็ได้รู้ว่าถ้าเราวางแผนให้ดี กำหนดโจทย์ให้ชัด ร่วมกันวางแผนกับนักศึกษา เขาก็สามารถทำได้ เพียงแต่เราต้องกำหนดโจทย์ให้ชัดว่า เราต้องการอะไร นักศึกษาต้องการอะไร ปีหน้าผมอยากให้พวกเขาสอนแบบโปรเจ็คเบสได้ ผมก็ต้องหาตัวอย่างมาให้นักศึกษาดูว่า ทำอย่างไร เขาจะทำได้ไหม จะชวนเขามานั่งวิเคราะห์เปรียบเทียบว่าแบบไหนมีจุดเด่นจุดด้อยอย่างไร”

ดร.มนตรี เล่าต่อว่า เขาได้เรียนรู้จากการที่พี่เลี้ยงของสงขลาฟอรั่มเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของทีมงาน ซึ่งทุกครั้งอาจารย์จะเข้าร่วมด้วย เพื่อสังเกตกระบวนการและคำถามที่พี่ๆ ใช้ในการกระตุ้นความคิดของนักศึกษา

“บางอย่างดูเหมือนเป็นประเด็นเล็กประเด็นน้อยแต่มันก็มีความสำคัญ ทำให้เขาได้เรียนรู้ พี่ๆ มาชวนคุย ถามนั่นถามนี่ เด็กก็จะพบเองว่า สิ่งที่ต้องทำ ต้องปรับมีอะไรบ้าง เขาจะ “เอ๊ะ” ขึ้นมาในประเด็นที่เขามองข้าม ผมเองก็ได้ความรู้ไปพร้อมกัน เช่น การแนะนำหนังสือให้น้องอ่าน หรือเราไม่จำเป็นต้องจัดอบรมทุกครั้งก็ได้ อาจใช้คลิปที่สะท้อนถึงความเป็นครู เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่น้องได้เรียนรู้จากพี่ๆ สงขลาฟอรั่ม ซึ่งเวลามีกิจกรรมแบบนี้ผมจะบอกให้นักศึกษาพาน้องๆ คนอื่นมานั่งฟังด้วย จะได้เรียนรู้ร่วมกัน เวลารุ่นนี้ออกไป รุ่นอื่นเข้ามาจะได้ไม่เหนื่อยมาก น้องๆ ก็จะได้เรียนรู้วิธีการถอดบทเรียนไปด้วย”

การจับโจทย์เรื่อง “จิตวิญญาณความเป็นครู” ซึ่งเป็นหัวใจของวิชาชีพ มาเป็นโจทย์ในการทำงาน ทำให้ทีมงานมีเป้าหมายที่ชัดเจน ผนวกกับบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการทำโครงการ ตั้งแต่ผู้บริหาร อาจารย์ นักศึกษา และทีมงาน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงได้ดั่งใจที่มุ่งหวังของทุกฝ่าย ตอบโจทย์วิชาเรียนของนักศึกษา ตอบโจทย์วิชาการของคณะ ตอบโจทย์พันธกิจของมหาวิทยาลัย และที่สำคัญตอบโจทย์ของสังคมในศตวรรษที่ 21 ที่จะได้ครูที่เต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ออกไปเป็นครูผู้สร้างพลเมืองที่มีคุณภาพให้แก่ประเทศชาติของเราต่อไป

ล้อมกรอบ

ทักษะของคนในศตวรรษที่ 21 แจกแจงออกได้เป็น 3Rs + 7Cs (วิจารณ์ พานิช, 2555)
3Rs คือ Reading (อ่านออก), (W)Riting (เขียนได้), (A)Rithemetics (คิดเลขเป็น)
7Cs ได้แก่ 

Critical Thinking and Problem Solving (ทักษะด้านการคิดอย่างมีวิจารณญาณ และทักษะในการแก้ปัญหา)
Creativity and Innovation (ทักษะด้านการสร้างสรรค์ และนวัตกรรม)
Cross-cultural Understanding (ทักษะด้านความเข้าใจความต่างวัฒนธรรม ต่างกระบวนทัศน์(
Collaboration, Teamwork and Leadership (ทักษะด้านความร่วมมือ การทำงานเป็นทีม และภาวะผู้นำ)
Communications, Information, and Media Literacy (ทักษะด้านการสื่อสารสารสนเทศ และรู้เท่าทันสื่อ(
Computing and ICT Literacy (ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)
Career and Learning Skills (ทักษะอาชีพ และทักษะการเรียนรู้


โครงการ  : ครูเพื่อศิษย์

ที่ปรึกษาโครงการ : ดร.มนตรี เด่นดวง รองคณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

ทีมทำงาน : นักศึกษาคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

  • วิศวะ กลับกลาย นักศึกษาชั้นปีที่ 4
  • ทรงภพ เทพโอสถ นักศึกษาชั้นปีที่ 4
  • ศกรินทร์ จันทร์ทอง นักศึกษาชั้นปีที่ 3
  • รุ่งฤดี หนูม่วง นักศึกษาชั้นปีที่ 3
  • วิษณุ ชูแสง นักศึกษาชั้นปีที่ 2
  • สิทธิชัย จันทร์เพ็ญ นักศึกษาชั้นปีที่ 2
  • เจตพล หวันเรา นักศึกษาชั้นปีที่ 2