การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องการอ่านออกเขียนได้ โรงเรียนพังเภา จังหวัดสงขลาปี 4

สำนึกความเป็นครู เรียนรู้จากนักเรียน

โครงการครูเดลิเวอร์รี่

กระบวนการทำงานของทีมที่เน้นการรับฟังและกัน ทำให้การดำเนินงานราบรื่น การเติมไฟแก่กันยามหมดแรงยังช่วยสร้างพลังให้ทีมงานสามารถไปสร้างการเรียนรู้แก่น้องได้ทุกครั้ง แต่ที่ดีที่สุดคือ กระบวนการดังกล่าวย้อนคืนให้ทีมงานทุกคนมีผลการเรียนดีขึ้น เพราะการทำโครงการนอกห้องเรียนเป็นสนามทดลองความรู้ที่หนุนเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี

หลังว่างเว้นการทำโครงการครูเดลิเวอร์รี่ไป 1 ปี กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 1 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ประกอบด้วย แม็ก-ธนกร บริพันธ์ อาย-เกศสินี พรหมราช มิมิ-ศศิประภา คงทอง นิว-สาริทธิ์ คงเกิด และมุก-ณัฐธิดา พฤษการณ์ จึงรวมตัวกันทำโครงการนี้อีกครั้ง หลังได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยทำโครงการในปีก่อน แม้ตอนแรกยังไม่ตกลงใจว่าจะทำหรือไม่ แค่ตอบรับคำชวนของรุ่นพี่ไปดูโรงเรียนพังเภา ตำบลจะทิ้งพระ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ทำโครงการมาก่อน แต่พอได้เห็นสภาพโรงเรียน ทุกคนคิดตรงกันว่า “อย่างไรก็ต้องทำ” 

“เหตุผลที่เลือกทำโครงการที่โรงเรียนพังเภา เพราะเป็นฐานงานเดิมที่รุ่นพี่เคยทำไว้...อยากลองสัมผัสปัญหาให้ลึกซึ้งกว่านี้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม และไว้ใช้เป็นประสบการณ์หลังเรียนจบ”


โจทย์ปัญหาท้าทายความเป็นครู

“พังเภา” โรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ในอดีตเคยเป็นโรงเรียนประจำชุมชน แต่เมื่อ 4 ปีที่แล้วนักเรียนในโรงเรียนเริ่มลดจำนวนลงเรื่อยๆส่งผลให้โรงเรียนพังเภาเกือบถูกยุบจากนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ ที่เคยมาทำกิจกรรมค่ายอาเซียน นำโครงการครูเดลิเวอร์รี่เข้ามาช่วยเหลือโรงเรียนด้วยการสอนวิชาการแทนครูตู้(การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม)จนโรงเรียนผ่านพ้นวิกฤติไปได้ปีต่อมาจึงสานต่อโครงการครูเดลิเวอร์รี่อีกครั้งแต่เปลี่ยนเป้าหมายไปที่การติวเข้มเพื่อเพิ่มคะแนน O-net 

ทำให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนมีคะแนนติดอันดับต้นๆ ของตำบล แต่ด้วยค่านิยมของผู้ปกครองรุ่นใหม่ที่มีฐานะมักส่งบุตรหลานไปเรียนในเมืองที่มีความพร้อมมากกว่า โรงเรียนพังเภาจึงกลับสู่ภาพเดิมเหมือนเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ขณะที่สถานการณ์ในชุมชนล้วนเต็มไปด้วยอบายมุข ทั้งยาเสพติด และการพนัน ประกอบกับเหลือครูผู้สอนเพียง 2 คน ซึ่งไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน จึงส่งเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เข้าไปเรียนในตัวอำเภอแทน จึงมีนักเรียนเหลืออยู่ในโรงเรียนเพียง 30 คนเท่านั้น 

 “เหตุผลที่พวกเรายังเลือกทำโครงการที่โรงเรียนพังเภา เพราะเป็นฐานงานเดิมที่รุ่นพี่เคยทำไว้ การสานต่องานไม่น่าจะยาก เท่าที่ผมสังเกตเห็นปัญหาของที่นี่มี 2 ส่วนคือ ครูไม่พอ กับไม่มีกิจกรรมเสริมให้เด็กทำ ครูมีแค่ 2 คนแถมยังต้องดูแลงานธุรการของโรงเรียน จนไม่มีเวลาสอนนักเรียน เด็กจึงต้องเรียนกับครูตู้แทน ส่งผลให้เด็กขาดการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนและครูผู้สอน บางคนก็นั่งเรียน บางคนก็ลุกวิ่งเล่น ดูวุ่นวายมาก หลังเลิกเรียน เวลา 14.30 น. ก็ไม่มีกิจกรรมเสริมให้ทำ เด็กจึงใช้เวลาว่างมั่วสุมอบายมุขที่หาได้ง่ายในชุมชน” แม็ก บอกเหตุผลที่ต้องการสานต่อโครงการครูเดลิเวอร์รี่

ส่วนมุกกับอายเสริมว่าเห็นสภาพการเรียนรู้ของน้องๆที่แตกต่างจากพวกเธอซึ่งเรียนจบโรงเรียนในเมือง มีครอบครัวที่พร้อมสนับสนุนทุกเรื่อง จึงอยากลองสัมผัสปัญหาให้ลึกซึ้งกว่านี้เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาให้น้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นภาระของสังคม และไว้ใช้เป็นประสบการณ์หลังเรียนจบ

เมื่อตกลงใจว่าจะทำโครงการครูเดลิเวอร์รี่ต่อ หลังลงพื้นที่ทีมงานกลับมาพูดคุยเพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานไว้ 2 ส่วน คือ 1) พัฒนาการเรียนรู้ของนักเรียนในโรงเรียนพังเภา ผ่านการสอนวิชาพื้นฐานให้อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น และการพัฒนาทักษะชีวิตที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เพื่อลดพฤติกรรมก้าวร้าวที่ถูกหล่อหลอมมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว และ 2) ค้นหาตัวตนความเป็นครูของทีมงาน

อายบอกต่อว่า เป้าหมายเรื่องพัฒนาการเรียนรู้ให้น้องๆ ที่เน้นเรื่องการอ่านออกเขียนได้และคิดเลขเป็น ยึดหลักสูตรของโรงเรียนเป็นหลัก ให้ทีมงานแต่ละคนจะเลือกสอนตามความถนัด อย่างอายเคยเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยน จึงขอจองวิชาภาษาอังกฤษ มุกสอนภาษาไทยกับสังคม นิวสอนคณิศาสตร์กับสุขศึกษา มิมิช่วยนิวสอนคณิตศาสตร์ ส่วนแม็กสอนประวัติศาสตร์และดูภาพรวม จากนั้นแต่ละคนก็ไปสืบค้นเทคนิคการสอนหรือความรู้เพิ่มเติมทางอินเทอร์เน็ต เพื่อเตรียมแผนการสอนแก่น้อง

สำหรับการพัฒนาทักษะชีวิตจะเป็นกิจกรรมเสริมที่นำหลักคุณธรรมพื้นฐาน 8 ประการของกระทรวงศึกษาธิการ มาวิเคราะห์และจัดหมวดหมู่เป็น 3)ด้านที่สอดคล้องกับเป้าหมายการทำงาน ได้แก่ 1) คุณธรรมและจริยธรรม 2) ความกล้าแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ 3) ความมีระเบียบวินัยและความสามัคคี จากนั้นจึงค้นหากิจกรรมต่างๆ มาเป็นเครื่องมือให้น้องเรียนรู้เพราะคาดว่าน้องน่าจะชอบและมีความสุขกับการทำกิจกรรมมากกว่าการเรียนในห้องเรียนแบบเดิมๆ 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้การพัฒนาการเรียนรู้ของน้องๆบรรลุผลตามที่ตั้งไว้หลังทำแผนและเตรียมกิจกรรมเสร็จทีมงานจึงลงพื้นที่อีกครั้งเพื่อเปิดโอกาสให้น้องบอกเล่าสิ่งที่อยากจะทำและสิ่งที่ทำแล้วมีความสุข แล้วมาปรับให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ทีมงานวางไว้ ก่อนลงพื้นที่สอนจริง ทีมงานได้สำรวจความพร้อมของตัวเอง พบว่า ด้วยกำลังของทีมงาน 5 คนคงไม่เพียงพอต่อแผนการสอนที่จะจัดขึ้นทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ จึงเปิดรับอาสาสมัครจากเพื่อนในคณะศึกษาศาสตร์จำนวน 20 คนเข้าร่วมทีม แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มเป้าหมายตามแผนการพัฒนาทักษะชีวิตมีหัวหน้ากลุ่มย่อยทำหน้าที่ประสานงานกับทีมแกนนำโดยมีเงื่อนไขว่าคนเป็นหัวหน้ากลุ่มย่อยต้องไม่ใช่ทีมแกนนำเพราะต้องการเปิดโอกาสให้อาสาสมัครได้ฝึกภาวะความเป็นผู้นำ ส่วนแกนนำจะกระจายตัวลงไปให้คำปรึกษาพร้อมทำงานร่วมกันทุกกลุ่ม

หลังจัดทัพจัดทีมเสร็จ เหล่าว่าที่ครูได้จัดทำสมุดบันทึกพัฒนาการด้านต่างๆ ของน้องแต่ละคน เพื่อให้ทุกกลุ่มรู้พื้นฐานและพัฒนาการของน้องไปพร้อมกัน การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของกระทรวงศึกษาธิการที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีความรู้ และอยู่ดีมีสุข จึงให้นโยบายเร่งปลูกฝังคุณธรรม 8 ประการแก่เยาวชน ได้แก่ ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ มีวินัย สุภาพ สะอาด สามัคคี มีน้ำใจ

“การหาข้อมูลและเทคนิคการสอนเพิ่มนอกจากจะสร้างความสนุกสนานให้น้องๆ แล้ว ยังทำให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเองถือเป็นการเตรียมตัวในการเดินเข้าสู่เส้นทางสายวิชาชีพครูที่ต้องขวนขวายสร้างประสบการณ์ให้ตัวเองตลอดชีวิต ไม่ใช่รู้แค่ในตำราอย่างเดียว เพราะในชีวิตจริงของครูยังมีเรื่องต่างๆ ให้จัดการและแก้ไขอีกมาก”


สอนความรู้ในตำรา เสริมทักษะนอกห้องเรียน

แม็กเล่าว่า การเรียนการสอนจะทำควบคู่กันไปทั้งวิชาการและทักษะชีวิต ช่วงเช้าจะสอนตามตารางเรียนปกติของน้อง แต่กระชับขึ้น เพราะต้องรวบวิชาช่วงบ่ายขึ้นมาเรียนด้วย เพื่อให้ครึ่งวันหลังมีเวลาทำกิจกรรมสร้างทักษะชีวิตแม้แต่ละคนจะไม่ได้สอนตรงตามสาขาวิชาที่เรียน แต่ทีมงานบอกว่าไม่ใช่เรื่องยาก สามารถนำความรู้เดิมสมัยมัธยมศึกษามาใช้ได้ บวกกับหาข้อมูลและเทคนิคเพิ่ม การสอนจึงทำได้ง่ายขึ้น

นิวยกตัวอย่างวิธีสอนของตัวเองให้ฟังว่า“เวลาสอนวิชาสุขศึกษาที่ต้องมีการอธิบายเรื่องร่างกาย ผมจะหารูปภาพใหญ่ๆ มาประกอบการสอน ถ้าพูดอย่างเดียว น้องไม่เข้าใจแน่ หรือวิชาคณิตศาสตร์ก็หาเทคนิคการคิดง่ายๆ เช่น การใช้บัตรคำเป็นภาพแอปเปิ้ล 50 ผล บวกกับ ภาพส้ม 50 ผล รวมเป็น 100 ผล แทนที่จะสอนว่า 50+50=? ผมว่าการใช้ภาพมันง่ายสำหรับเด็กนะ”

ทีมงานเห็นตรงกันว่าการหาข้อมูลและเทคนิคการสอนเพิ่มนอกจากจะสร้างความสนุกสนานให้น้องๆ แล้ว ยังทำให้พวกเขาได้พัฒนาตัวเอง ถือเป็นการเตรียมตัวในการเดินเข้าสู่เส้นทางสายวิชาชีพครูที่ต้องขวนขวายสร้างประสบการณ์ให้ตัวเองตลอดชีวิตไม่ใช่รู้แค่ในตำราอย่างเดียว เพราะในชีวิตจริงของครูยังมีเรื่องต่างๆให้จัดการและแก้ไขอีกมาก 

สำหรับช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมสร้างทักษะชีวิตทีมงานหยิบยกเรื่องความกล้าแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาทำเป็นประเด็นแรกใช้โอกาสในงานกีฬาสีของโรงเรียน ฝึกทักษะความกล้าแสดงออกและความคิดสร้างสรรค์ให้น้อง ทั้งซ้อมกีฬาและเชียร์ลีดเดอร์ ฟังดูเหมือนเป็นงานง่ายๆ แต่ทีมงานกว่าครึ่งบอกว่า ไปไม่เป็นกันเลยทีเดียว 

“ตั้งแต่จำความได้ ชีวิตของผมก็อยู่แต่กับตำราเรียน เป็นเด็กเรียนจ๋า ไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมในโรงเรียนเลย กระทั่งวิธีจับไม้วิ่งผลัดก็ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร โชคดีที่ได้เพื่อนเอกพลศึกษาอาสาเข้ามาช่วยสอน” แม็กเล่าส่วนคนอื่นๆก็ออกตัวว่าไม่ถนัดงานแบบนี้เหมือนกัน ยกเว้นอาย ที่เป็นนักกิจกรรมตัวยง เธอจึงอาสาเข้ามาเป็นแม่งาน แบ่งเพื่อนๆ เป็นฝ่ายกีฬา ฝ่ายพาเหรด และฝ่ายกองเชียร์ ทำให้งานราบรื่นขึ้น

ความพิเศษของงานกีฬาสีที่โรงเรียนพังเภา คือ เด็ก ป.4-6 ที่ถูกส่งตัวไปเรียนโรงเรียนในตัวอำเภอ มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมทำให้งานมีสีสันมากขึ้น แต่กลับเป็นอุปสรรคให้ทีมงานต้องหาทางแก้ไข เนื่องจากน้องๆ ไม่ได้รู้จักพี่ๆ มาก่อนจึงไม่ให้ความร่วมมือ บางคนก็แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ทีมงานพยายามหากิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์กับน้อง เช่น สอนตีกลอง ชวนเล่นกีฬา รวมทั้งพูดกระตุ้นให้เขาทำตัวเป็นตัวอย่างแก่รุ่นน้องในที่สุดกำแพงระหว่างพี่กับน้องก็ค่อยๆ ทลายลงจากความพยายามของพี่ๆ ที่เลือกบอกสิ่งที่ถูกต้องให้น้องทำ มากกว่าการตำหนิ ติเตียน จนน้องเปิดใจยอมรับผลลัพธ์ของความเพียรพยายามและอดทนของพี่ๆ นอกจากทำให้น้องๆ กล้าแสดงออกสมดังเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้แล้ว กิจกรรมนี้ยังสร้างความสามัคคี การเคารพกฎกติกา และการรับฟังผู้อื่นให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียนได้อีกด้วย 

หลังงานกีฬาเสร็จสิ้น ทีมงานได้เสริมทักษะความกล้าแสดงออกเพิ่มขึ้น ด้วยการให้น้องออกมาเล่าเรื่องครอบครัวหน้าชั้นเรียน ซึ่งเป็นกุศโลบายหนึ่งที่ทำให้ทีมงานได้รับรู้สภาพความเป็นอยู่ของน้อง แม็ก บอกว่า ระหว่างที่น้องๆ เล่า ทีมงานจะนำกีต้าร์มาเล่นสลับบ้างบางคร้ัง แล้วให้น้องร่วมกันร้องเพลงจนความเขินอายของน้องๆละลายหายไปกลายเป็นสายใยความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่กับน้อง 

สำหรับเป้าหมายเรื่องคุณธรรมและจริยธรรม ใช้กิจกรรมทำไข่เค็ม สมุดบันทึกความดี ทำถังขยะ กระปุกออมสิน และการจัดห้องสมุด ซึ่งกิจกรรมแรกมาจากความต้องการของน้อง ทีมงานจึงนำมาโยงเข้ากับเรื่องความรับผิดชอบให้น้องนำไข่มาจากบ้านเองส่วนเป้าหมายเรื่องระเบียบวินัย ใช้กิจกรรมปรับทัศนียภาพหน้าห้องเรียน เพื่อให้น้องตระหนักถึงความเป็นเจ้าของที่ต้องรักและช่วยกันดูแลโรงเรียนและกิจกรรมทำแปลงเกษตรที่สะท้อนชัดเจนเรื่องความรับผิดชอบและความตั้งใจทำงาน 

แม็กเล่าว่า งานปลูกผักเกิดจากสิ่งที่น้องบอกว่าอยากทำ พวกเราจึงโยงเข้ากับเป้าหมายเรื่องการฝึกระเบียบวินัยและความรับผิดชอบ พอลงมือทำก็เห็นชัดว่าน้องมีทักษะด้านการเกษตรดีมาก สามารถดายหญ้า ยกร่อง ทำแปลงได้อย่างคล่องแคล่ว จึงปล่อยให้น้องทำเต็มที่ หลังทำแปลงเสร็จพวกเราหายไปเกือบเดือน เพราะติดงานที่มหาวิทยาลัย กลับมาอีกทีพบว่า ผักงอกงามดี โดยผักส่วนหนึ่งถูกนำไปประกอบอาหารในโรงเรียน น้องจะแบ่งหน้าที่กันว่า ใครจะดูแลช่วงเวลาไหน เข้ามารดน้ำทุกเย็น แม้แต่วันที่โรงเรียนปิดก็เข้ามารดน้ำแปลงผัก บางคนนำมูลวัวจากบ้านมาใส่เป็นปุ๋ย เห็นชัดว่าน้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่มาก และรู้จักช่วยเหลือกัน

ทีมงานบอกว่าการทำกิจกรรมฝึกทักษะชีวิต ทำให้พวกเขาเห็นว่าจริงๆ แล้วน้องเป็นเด็กที่ฉลาดและมีความรับผิดชอบขอเพียงมีโอกาสที่เหมาะสมหยิบยื่นให้และนอกจากน้องจะได้เรียนรู้แล้วทีมงานที่ออกตัวว่าไม่ค่อยถนัดด้านการทำกิจกรรมก็ยังได้เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องด้วย เช่น กิจกรรมปลูกผัก ที่พี่ๆ ยินดีเรียนรู้จากน้อง เหมือนต่างคนต่างเป็นครูซึ่งกันและกัน เพราะห้องเรียนที่แท้จริงคือ ครูต้องเปิดพื้นที่และรับฟังนักเรียน 

“โครงการนี้ทำให้ได้เตรียมตัวเป็นครูในอนาคตทั้งเตรียมแผนการสอนและฝึกฝนทักษะที่จำเป็น เช่น การแบ่งเวลา การจัดการในห้องเรียน การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เข้าถึงหัวอกของคนเป็นครูจริงๆ”


นักเรียนคือครู...ของครู

ตลอดระยะเวลาการทำโครงการเหล่าว่าที่ครูทุกคน บอกเป็นเสียงเดียวกันว่าเหนื่อยมาก เพราะต้องประชุมวางแผนงานกันค่อนข้างบ่อยแล้วหลังลงพื้นที่เสร็จทุกครั้งยังต้องมาพูดคุยสรุปบทเรียนการทำงาน เพื่อบันทึกความก้าวหน้าทางวิชาการ ทักษะชีวิต และเรื่องราวทางบ้านของน้องที่ได้รับรู้มาแต่ด้วยกระบวนการทำงานของทีมที่เน้นการรับฟังและกันทำให้การดำเนินงานราบรื่น 

การเติมไฟแก่กันยามหมดแรงก็ช่วยสร้างพลังให้ทีมงานสามารถไปสร้างการเรียนรู้แก่น้องได้ทุกครั้ง แต่ที่ดีที่สุดคือ กระบวนการดังกล่าวย้อนคืนให้ทีมงานทุกคนมีผลการเรียนดีขึ้น เพราะการทำโครงการนอกห้องเรียนเป็นสนามทดลองความรู้ที่หนุนเสริมการเรียนรู้ในห้องเรียนได้เป็นอย่างดี

ส่วนความเปลี่ยนแปลงในตัวทีมงานแต่ละคนก็มีไม่น้อยเช่นกันแม็กเล่าว่าเขาเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเองหลายอย่าง ทั้งเรื่องการจัดกิจกรรม การประสานงานกับคนอื่น มีความเป็นผู้นำมากขึ้น รู้จักควบคุมอารมณ์ของตัวเอง และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เช่น ตอนแรกวางแผนจะทำกิจกรรมเสริมทักษะอย่างเดียว แต่เมื่อไปลงพื้นที่จริงแล้วพบว่า การทำกิจกรรมต้องไม่กระทบกับการเรียนของน้อง จึงรวบวิชาคาบบ่ายขึ้นมารวมกับช่วงเช้า โดยสอนเน้นประเด็นหลักๆ ส่วนตัวรู้สึกภูมิใจมากที่ได้สอนเด็กตั้งแต่ปี 1 เพราะปกติการเรียนครูกว่าจะได้ฝึกสอนก็ต้องรอถึงปี 5 การได้ฝึกสอนครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคจนค้นพบสไตล์การสอนของตัวเอง

ส่วนมิมิบอกว่าโครงการนี้ทำให้ได้เตรียมตัวเป็นครูในอนาคตทั้งเตรียมแผนการสอน และฝึกฝนทักษะที่จำเป็น เช่น การแบ่งเวลาการจัดการในห้องเรียนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้เข้าถึงหัวอกของคนเป็นครูจริงๆ ด้านนิวที่เดิมเป็นคนเงียบๆ พอมาทำกิจกรรมก็กล้าคิด กล้าพูด กล้าสอน กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ จนเกิดความมั่นใจว่าตัวเองสามารถเป็นครูได้ และรู้จักรับผิดชอบมากขึ้น เพราะการทำงานในโครงการนี้คือสิ่งที่ชอบ จึงเป็นแรงกระตุ้นให้หันมารับผิดชอบงานอย่างดีที่สุด ใช้เวลาว่างที่เคยเล่นโซเชียลมีเดียมาค้นคว้าหาสื่อ และคิดเทคนิคการสอนแทน

สำหรับมุกที่มีความใฝ่ฝันอยากเป็นครูมาตั้งแต่เด็ก แต่ด้วยนิสัยขี้โมโห ทำให้เคยคิดว่า ถ้าเป็นครูแล้วเจอเด็กดื้อจะต้องตีเพื่อห้ามปราม พอมาทำโครงการกลับกลายเป็นคนใจเย็น และรู้สึกสงสารเด็กๆ ถ้าต้องโดนตี จึงใช้ความรู้สึกเพื่อปรามเด็กดื้อ คือเวลาปกติจะเล่นกับน้องอย่างสนุกสนาน แต่ถ้าวันไหนน้องดื้อ เธอจะเงียบและทำหน้าดุแทน ซึ่งได้ผลดีกว่าการตีที่อาจส่งผลต่อจิตใจของน้องในระยะยาวได้ นอกจากนั้นยังได้ฝึกความรับผิดชอบ เพราะเป็นกรรมการหอพักด้วย ทำให้มีเวลาลงพื้นที่น้อย จึงพยายามแบ่งเบาภาระเพื่อนด้วยการรับงานเอกสารมาทำให้ได้มากที่สุด 

“โครงการนี้ทำให้ได้พิสูจน์ว่า เราก็สามารถเป็นครูได้” อาย บอกความรู้สึกหลังทำโครงการด้วยแววตาเชื่อมั่น ก่อนจะเล่าเพิ่มว่า มาเรียนครู เพราะแม่บอกให้เรียน ด้วยเหตุผลว่า อยากให้มีความมั่นคงในชีวิต ทั้งที่ตัวเองอยากเรียนรัฐศาสตร์ ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่เมื่อก้าวเข้ามาทำโครงการนี้ทำให้รู้ว่า เธอรักการเป็นครู จากคนที่ไม่ชอบเด็ก เคยดุและตีเด็กหลายครั้งในช่วงแรกที่ลงพื้นที่ จนเด็กๆ ต่างขยาดครูอาย ก็เปลี่ยนเป็นครูที่รักเด็กและเด็กรัก เพราะคำแนะนำของแม่

 “ไปโรงเรียนแรกๆ เวลาเด็กดื้อ จนเราจัดการชั้นเรียนไม่ได้ จะตีอย่างเดียว เอะอะก็ตี จนเด็กกลัวเรามากจึงโทรคุยกับแม่ซึ่งเป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กที่มีพื้นฐานคล้ายโรงเรียนพังเภา แม่บอกว่า ถ้าตีอย่างเดียว เด็กอาจหยุด แต่ในใจเขายังต่อต้านอยู่ หากใช้วิธีการพูดคุยด้วยเหตุผลเขาจะไม่ทำซ้ำอีกแล้วยังกล้าเข้าหาเรามากขึ้นจึงลองเปลี่ยนมาพูดคุยและเล่นสันทนาการ อย่างเวลาเขาเสียงดัง เราก็จะบอกปรบมือ 1 ครั้ง ปรบมือ 2 ครั้ง น้องก็เงียบเสียงลง รวมทั้งมีรางวัลให้เวลาทำดีด้วย หลังจากนั้นเวลาลงพื้นที่เสร็จทุกครั้ง เราจะโทรหาแม่ คุยเรื่องเทคนิคการสอน แม่ก็แนะนำและให้กำลังใจตลอด”

วันนี้โครงการครูเดลิเวอร์รี่จบลงแล้วแม้พัฒนาการเรียนรู้และทักษะชีวิตของนักเรียนในโรงเรียนพังเภาจะยังไม่ปรากฎผลเด่นชัด แต่ความหวังที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้น้องๆ ในโรงเรียนพังเภาพยังไม่จบ ปีหน้าทีมงานจึงคิดสานงานต่อ เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงของน้องๆ อย่างต่อเนื่องเน้นความเข้มข้นด้านวิชาการให้มากขึ้นดึงโรงเรียนที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยที่ต้องการความช่วยเหลือเข้าร่วมโครงการหากทำสำเร็จจะได้เป็นโมเดลด้านการศึกษาสำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีกระบวนการพัฒนาเด็กด้วยวิชาการและวิชาชีวิตที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตในอนาคต

ผลจากการมองเห็นปัญหาแล้วไม่นิ่งดูดาย พาตัวเองเข้าไปสัมผัสจนเข้าใจรากของปัญหา นำทักษะความรู้ความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เข้าไปช่วยเสริมเติมแต่งให้นักเรียนในโรงเรียนพังเภามีทักษะความรู้และทักษะชีวิต โดยเฉพาะคุณธรรม จริยธรรม และความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการอยู่ร่วมกันในชุมชนสังคมให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุขแล้ว ผลของต่อเติมเสริมแต่งนั้นยังย้อนคืนสู่ตัวทีมงาน “ให้รู้และเข้าใจในบทบาทหน้าที่ความเป็นครู” ที่ไม่ใช่อิงแต่วิชาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลทั้งกายและใจเพื่อให้เด็กๆ เติบโตเป็นคนดีของสังคมต่อไป


โครงการ : ครูเดลิเวอร์รี่

ที่ปรึกษาโครงการ : ผศ.ดร.มณฑณา พิพัฒน์เพ็ญ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

ทีมทำงาน : นิสิตชั้นปีที่ 2คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

( ธนกร บริพันธ์นิสิต ) ( เกศสินี พรหมราช ) ( สาริทธิ์ คงเกิด ) ( ศศิประภา คงทอง ) ( ณัฐธิดา พฤษการณ์ )