การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาระบบนิเวศป่าสนเมืองสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏ จังหวัดสงขลาปี 4

โอบกอดสน…เพื่อปอดของเมืองสงขลา

โครงการศึกษาระบบนิเวศป่าสนเมืองสงขลา

การเปิดโลกการเรียนรู้ยังทำให้ทีมงานได้นำเครื่องมือความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้ในการศึกษาข้อมูล เช่น การใช้แผนที่เดินดินระบุจุดต่างๆ ในป่าสน ใช้ผังก้างปลาในการบันทึกข้อมูลเพื่อเสริมการเรียนรู้ระหว่างการถอดบทเรียน ความรู้ในห้องเรียนถูกปรับใช้ในบริบทใหม่ๆ จึงสามารถเชื่อมโยงกลับไปสู่ความสมบูรณ์ในการเรียนของทีมงานได้เป็นอย่างดี

การเรียนในโปรแกรมการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่ออกแบบให้นักศึกษารวมกลุ่มกันทำกิจกรรมตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 ทำให้ ปาล์ม-จีรพันธ์ ปานด้วง นิค-วชิรวิทย์ มณีศรี โอ๊ต-ภูวดล เวชชาชีวี เมโทร-ประพันธ์ จันจม และ ภพ-นันทภพ ชูเสน ได้รู้จักกับ น้ำนิ่ง-อภิศักดิ์ ทัศนี แกนนำเยาวชนกลุ่ม Beach for Life ที่ขับเคลื่อนการทำงานด้านหาดมาหลายปี แต่ยังไม่ครอบคลุมระบบนิเวศชายฝั่งของหาดชลาทัศน์ เมื่อขึ้นปี 3 ทีมงานทั้ง 5 คน จึงรวมตัวกันทำโครงการศึกษาระบบนิเวศป่าสนเมืองสงขลา โดยมีเหตุผลง่ายๆ คือ “อยากช่วยเพื่อน”

ปาล์ม บอกว่า เขาเคยเป็นอาสาสมัครวัดหาดมาก่อน พอได้ยินน้ำนิ่งพูดเรื่องระบบนิเวศป่าสน เลยอยากลองทำดู ประกอบกับเห็นว่าการทำโครงการน่าจะหนุนเสริมการเรียนรู้ในโปรแกรมการพัฒนาชุมชนได้ และอยากช่วยเพื่อน เมื่อน้ำนิ่งชักชวนอีกครั้งจึงตัดสินใจทำโครงการ ส่วน มิค บอกว่า ตอนที่น้ำนิ่งชวนเห็นว่าเป็นโครงการที่แปลกดี เลยอยากลองทำเช่นเดียวกับโอ๊ตและเมโทร

แม้จะเริ่มต้นด้วยความอยาก แต่ไร้ทั้งประสบการณ์ และความรู้ อีกทั้งบ้านของแต่ละคนแม้จะอยู่ในจังหวัดสงขลาแต่ส่วนใหญ่อยู่โซนภูเขาที่มีอาชีพหลักคือ การทำสวนยางพารา แต่กระนั้นทีมงานก็ไม่รู้สึกว่า จะทำไม่ได้ เพราะน้ำนิ่งได้ประสานคุณวัลลภ หมัดโส๊ะ ซึ่งจบวนศาสตร์ให้ช่วยเป็นที่ปรึกษาโครงการไว้แล้ว “ปัจจุบันแหลมสนอ่อนจะมีต้นสนที่ขึ้นเรียงรายอยู่ริมฝั่งอยู่ประปราย มีจำนวนหนาแน่นในบริเวณแหลมสนอ่อน บนพื้นที่ 176 ไร่ กลายเป็นป่าสนกลางเมืองผืนสุดท้ายของสงขลา ทำหน้าที่เป็นแนวกันลมพายุ รักษาระบบนิเวศชายหาด ลดการกัดเซาะของชายฝั่งจากคลื่นทะเล รวมทั้งเป็นปอดกลางเมืองที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนสงขลาและนักท่องเที่ยว แต่ต้นสนบริเวณดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ หากไม่มีการดูแลอนุรักษ์อย่างถูกวิธี”

­

แหลมสนอ่อน...ปอดผืนสุดท้ายกลางเมืองสงขลา

หลมสนอ่อน ตั้งอยู่ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา บริเวณดังกล่าวไม่มีการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย และไม่มีหน่วยงานราชการเข้ามาดูแลพื้นที่อย่างชัดเจน แต่มีการใช้ประโยชน์ เช่น ตัดต้นสนเพื่อสร้างกระต๊อบในป่าสน สำหรับเป็นที่พักอวนจากการทำประมง และบริเวณใกล้เคียงเป็นที่ตั้งของร้านอาหารที่เปิดขายให้แก่นักท่องเที่ยว

ในอดีตบริเวณริมหาดสมิหลาจะมีต้นสนขึ้นเป็นแนวตั้งแต่ชุมชนเก้าเส้งจนถึงบริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ มีต้นสนกระจายอยู่ตลอดแนวรวมกันกว่า 30,000 ต้น เป็นเนื้อที่รวมกันราว 200 ไร่ แต่หลายปีที่ผ่านมา ต้นสนบริเวณนี้ได้หักโค่นล้มตายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวาตภัยเมื่อปลาย พ.ศ.2553 มีต้นสนล้มตายไปเกือบ 10,000 ต้น

ปัจจุบันมีต้นสนขึ้นเรียงรายอยู่ริมฝั่งประปราย มีจำนวนหนาแน่นบริเวณแหลมสนอ่อน บนพื้นที่ 176 ไร่ กลายเป็นป่าสนกลางเมืองผืนสุดท้ายของจังหวัดสงขลา ทำหน้าที่เป็นแนวกันลมพายุ รักษาระบบนิเวศชายหาด ลดการกัดเซาะของชายฝั่งจากคลื่นทะเล รวมทั้งเป็นปอดกลางเมืองที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนสงขลาและนักท่องเที่ยว แต่ต้นสนบริเวณดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ หากไม่มีการดูแลอนุรักษ์อย่างถูกวิธี (สุพิชณมย์ รัตนะ. นสพ.คมชัดลึก. ที่มาของข้อมูล http://www.komchadluek.net/20130625/161830/นครสงขลาเร่งภารกิจอนุรักษ์ป่าสน.html “ความคิดแรกของผม คิดว่าป่าสนก็คือป่าสนธรรมดาที่อยู่ริมหาดทั่วไป ไม่ได้คิดอะไรมาก ปกติขับรถผ่านไปมา ก็ไม่เคยเข้าไปดู” ปาล์มเล่าถึงพื้นความรู้เกี่ยวกับป่าสน

เมื่อขาดทั้งความรู้และประสบการณ์ การทำโครงการของทีมงานจึงเริ่มด้วยการประชุมวางแผนการทำงาน มีน้ำนิ่งคอยให้ความรู้และเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทำโครงการในช่วงแรก โดยเป้าหมายโครงการคือ จุดประกายความคิดให้คนสงขลาเห็นความสำคัญของป่าสน เห็นว่าป่าสนมีประโยชน์จะได้ช่วยกันดูแลรักษา

การทำงานของทีมจึงตั้งต้นจากการทำความรู้จักกับป่าสน ผ่านการศึกษาข้อมูลว่า ป่าสนมีขนาดพื้นที่เท่าไร มีระบบนิเวศอย่างไร โดยแบ่งให้แต่ละคนไปทบทวนเอกสารข้อมูลเดิมเกี่ยวกับป่าสน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน ให้แต่ละคนได้เห็นภาพรวมของพื้นที่ ทำให้ทีมงานค้นพบว่า ข้อมูลเกี่ยวกับป่าสนทะเลมีอยู่น้อยมาก ข้อมูลส่วนใหญ่จะเป็นป่าสนเขา ดังนั้นเพื่อให้รู้จักป่าสนอ่อนอย่างลึกซึ้งมากขึ้น จะต้องลงมือศึกษาจากของจริง จึงนัดลุงวัลลภเพื่อออกแบบกระบวนการศึกษาระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสนอ่อน

“ทีมงานตั้งใจวางแผนสำรวจพื้นที่ยาวนานต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อทำความเข้าใจวัฎจักรของป่าสน แม้ว่าระยะเวลาทำงานจะยาวกว่าระยะเวลาทำโครงการก็ตาม เพราะไม่คิดจะทำโครงการเพื่อโครงการ แต่ตั้งใจที่จะศึกษาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่าสนให้คงอยู่คู่หาดสมิหลาตลอดไป” 


ศึกษาป่าสน

ด้วยความรู้จากการเรียน และประสบการณ์ที่สั่งสมในชีวิต ลุงวัลลภถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ที่พบในบริเวณป่าสน การแบ่งชั้นของพืช สอนให้ใช้เครื่องมือในการศึกษาความหลากหลายของพื้นที่ โดยการทำแปลงศึกษาเปรียบเทียบ 3 ฤดูกาล รวมทั้งวิธีการทำสัญลักษณ์เมื่อพบต้นไม้ที่ไม่รู้จักไว้ค้นหาคำตอบต่อไป

ปาล์ม เล่าสภาพพื้นที่ในป่าสนให้ฟังว่า มองเห็นไกลๆ ตอนแรกคิดว่ามีแต่ต้นสน แต่เมื่อเข้าไปใกล้ๆ กลับพบพืชต้นเตี้ยจำพวกปอทะเล ผักบุ้งทะเล และอื่นๆ รวมแล้วเกือบ 50 ชนิด บางชนิดพวกเราพอจะรู้จัก แต่ส่วนมากไม่เคยเห็นมาก่อน เพราะไม่เคยสังเกตอย่างจริงจัง

“ลุงวัลลภจะแนะนำให้เรารู้จักชื่อพันธุ์พืชแต่ละโซนก่อน ไล่มาตั้งแต่พืชริมชายหาด ว่าแต่ละชนิดมีประโยชน์อย่างไร เช่น ผักบุ้งทะเล หญ้ากลิ้งลม ที่จะช่วยยึดทรายให้แน่น หญ้ากลิ้งลมมีลักษณะเป็นเมล็ดกลมๆ มีหนามเหมือนเม่น เวลาปลิวไปที่ไหนก็จะงอกเติบโตขึ้นมาได้ เมื่อชายหาดมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเวลามีทรายมาทับถมกลายเป็นหาดงอกออกไป ต้นสนเล็กๆ ที่ปลิวมาก็จะเติบโตขึ้นในพื้นที่นั้นได้ ส่วนผักบุ้งทะเลกับหญ้ากลิ้งลมเป็นไม้เลื้อย จะเลื้อยไปปกคลุมยึดดินที่งอกขึ้นมาใหม่” ปาล์ม บอกเล่าสิ่งที่ได้เรียนรู้

การวางแปลงเพื่อศึกษาความหลากหลายของพืช ทีมงานใช้วิธีสุ่มเลือกโซนด้วยสายตาก่อน โดยเลือกโซนที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่มาก กับโซนที่มีต้นไม้ขึ้นน้อย เพื่อหาสาเหตุว่าทำไมจึงมีต้นไม้ขึ้นแตกต่างกัน แล้วจึงทำแปลงขนาด 10x10 เมตร แล้วเก็บตัวอย่างพันธุ์พืชของแต่ละแปลงมาเปรียบเทียบกันทุก 3 เดือน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติตามฤดูกาล ทั้งนี้ทีมงานตั้งใจวางแผนสำรวจพื้นที่ยาวนานต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อทำความเข้าใจวัฎจักรของป่าสน แม้ว่าระยะเวลาทำงานจะยาวกว่าระยะเวลาทำโครงการก็ตาม เพราะไม่คิดจะทำโครงการเพื่อโครงการ แต่ตั้งใจที่จะศึกษาข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ป่าสนให้คงอยู่คู่หาดสมิหลาตลอดไป

“พื้นที่แรกที่ลงวางแปลงจะมีความแตกต่างหลากหลายของพันธุ์พืชเยอะกว่า แสดงถึงแนวโน้มของการเกิดป่าที่มีมากกว่า จากที่เราศึกษามาพบว่า การเกิดป่าสนบริเวณศาลกรมหลวงฯ มี 3 ชั้น ชั้นแรกสนอ่อนริมทะเล ถัดมาเป็นชั้นป่าโกงกางจะมีเฉพาะต้นสนและร่องน้ำ ไม่มีพืชพันธุ์อื่นเลย ชั้นที่ 3 เป็นต้นสน ปอทะเล และพืชพุ่มเตี้ยชั้นต่ำอยู่ข้างล่าง” ปาล์มเล่าถึงผลการสำรวจอย่างตื่นเต้น

เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่สำรวจทั้ง 2 แปลง พบว่า แปลงที่หนึ่งมีความหลากหลายทางระบบนิเวศ เพราะมีพืชพันธุ์หลายชนิด สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่น งู กิ้งก่า เมื่อต้นสนโตขึ้นพืชชนิดอื่นก็ยังอาศัยอยู่ร่วมกันได้ ส่วนอีกแปลงหนึ่งมีเฉพาะต้นสนเท่านั้น ไม่มีพืชพันธุ์อื่นเลย บริเวณนี้จึงเป็นที่อยู่อาศัยของนกตัวเล็กๆ เท่านั้น

“ตอนที่เราเข้าไป เราได้รู้ว่าป่าสนไม่ได้มีแต่กระรอกหรือนกตัวเล็กๆ อย่างนกเอี้ยงที่เห็นทั่วไป แต่ยังมีนกสายพันธุ์อื่นที่เราไม่รู้จัก เป็นสิ่งมีชีวิตที่เกื้อกูลกัน ต้นไม้ออกผลมาเป็นอาหารให้ที่อยู่อาศัยกับนก นกก็ช่วยผสมเกสรให้กับกล้วยไม้ คือ ต้นงูกลิ้ง ซึ่งเป็นกล้วยไม้ที่พบเฉพาะบริเวณชายหาดนับจากสทิงพระลงมาเท่านั้น เป็นพันธุ์ไม้เฉพาะถิ่นที่เกิดขึ้นตามปัจจัยแวดล้อมเฉพาะที่ ไม่พบในพื้นที่อื่น"


ส่องนก ส่องความสมบูรณ์ในป่าสน

หลังลงพื้นที่สำรวจป่าสนจนได้เห็นถึงความหลากหลายของชีวิตพืชและสัตว์ โดยเฉพาะการได้เห็นนกเหยี่ยวแดงตัวใหญ่ในป่าสน ทีมงานจึงอยากให้คนสงขลาได้สัมผัสถึง “คุณค่า” ของป่าสนเหมือนพวกเขา จึงจัดกิจกรรม “ส่องนกส่องป่ากลางเมือง” ขึ้นเพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาในป่าสน โดยหวังว่า เมื่อคนได้เข้ามาสัมผัสป่าสนอย่างใกล้ชิดจะรู้สึกอยากช่วยกันดูแลป่าสนขึ้นมาบ้าง

ทีมงานประสานงานผู้เชี่ยวชาญเรื่องการดูนก ซึ่งเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาเป็นวิทยากร พร้อมๆ กับประชาสัมพันธ์กิจกรรมดังกล่าวด้วยการทำบัตรเชิญ และโพสต์ในเฟสบุ๊กแฟนเพจของกลุ่ม พร้อมประชาสัมพันธ์เชิงรุกเดินแจกบัตรเชิญเข้าร่วมงานกับคนที่มาออกกำลังกายบริเวณสวนสาธารณะ

“เจอใครก็เข้าไปคุยกับเขา บอกว่ามีกิจกรรมนี้ สนใจเข้าร่วมไหม ใครสนใจก็ให้ลงชื่อไว้ในหางบัตร ซึ่งบัตรเชิญแบ่งเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เป็นรายละเอียดกิจกรรม วันเวลาจัดงาน และส่วนหางบัตรให้ผู้ร่วมงานไว้กรอกรายละเอียด เพื่อให้ทีมงานติดต่อกลับ หากใครยังไม่มั่นใจว่าจะมาได้หรือไม่ เราก็ให้บัตรเขาไปก่อน ถ้าสนใจให้ติดต่อมาภายหลัง” เมโทร เล่าถึงวิธีการเชิญชวนคนเข้าร่วมกิจกรรม 

ปาล์ม เล่าต่อว่า เสียดายที่วันจัดงานชนกับการจัดวิ่งมาราธอน เลื่อนก็ไม่ได้ เพราะประสานวิทยากรไว้แล้ว พวกเราคาดหวังว่าจะมีคนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 30 คน แต่มีคนมาเพียง 15 คน แม้คนจะน้อยกว่าที่คาดไว้ พวกเรายังเดินหน้าจัดกิจกรรมเต็มที่ เช่นเดียวกับวิทยากรที่เต็มใจถ่ายทอดความรู้

“อาจารย์แนะนำวิธีการใช้กล้องสองตาส่องนกก่อน หลังจากนั้นจึงพาเดินไปส่องดูนกตามจุดต่างๆ ไม่เคยเห็นนกตัวใหญ่ขนาดนี้อยู่ในเมือง พอลองเดินดูเรื่อยๆ ก็ได้เห็นนกแปลกตาที่ไม่เคยเห็น นกแต่ละชนิดมีความสวยงามโดยธรรมชาติ เจอนกกว่า 20 ชนิด เช่น เขียวแดง ขมิ้นท้ายทอยดำ โพกระดก กาเหว่า ปรอด กระปูด เป็นต้น” 

หลังดูนกเสร็จ ทีมงานตั้งวงเสวนาเล็กๆ กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อสรุปบทเรียนการทำกิจกรรม เติมเต็มความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าสน และหาแนวทางการอนุรักษ์ป่าสน ซึ่งก็ได้ข้อเสนอทั้งเรื่อง การใช้กฎหมายในการช่วยดูแล การใช้ระยะถอยร่นในการกำหนดให้เป็นพื้นที่สงวนไม่ให้มีการใช้ประโยชน์ เป็นต้น

ข้อมูลที่ได้จากวงเสวนา ทีมงานวางแผนจะสรุปเป็นองค์ความรู้เพื่อนำไปเผยแพร่สู่สาธารณะ ตั้งใจว่าครั้งนี้ต้องไม่พลาดเป้าเหมือนกิจกรรมที่ผ่านมา โดยวางแผนจัดเวทีสาธารณะบนเวทีกลางของถนนคนเดินเมืองสงขลา เพื่อให้มั่นใจได้ว่า คนที่เดินไปมาบนถนนคนเดินจะได้แวะเวียนมาเรียนรู้ร่วมกัน

“อยู่บ้านก็อยู่แต่บนเขา รู้จักแต่ต้นยาง โครงการนี้นอกจากทำให้ได้รู้จักระบบนิเวศชายหาดแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เรากล้าทำให้สิ่งที่ไม่เคยทำ เพราะเมื่อเราจบไปแล้วก็ไม่รู้จะได้ทำงานตรงตามสาขาที่เรียนมาหรือเปล่า ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเรียนอย่างเดียว ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ชีวิตก็จะจมปลักอยู่กับเรื่องนั้น ไม่ก้าวไปไหน”


เมล็ดพันธุ์ที่ปลูกไว้ในหัวใจ

การก้าวข้ามความไม่รู้ของทีมงานกลายเป็นประโยชน์ต่อชีวิตนักศึกษาซึ่งเป็นลูกหลานชาวสวนยางพารา ให้มีโอกาสทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ได้รู้เรื่องที่ไม่เคยรู้มาก่อน การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงกลายเป็นทักษะชีวิตที่จะช่วยเปิดโลกกว้างที่อาจจะนำพาโอกาสดีๆ ให้แก่ชีวิตพวกเขาในอนาคต

“อยู่บ้านก็อยู่แต่บนเขา รู้จักแต่ต้นยาง โครงการนี้นอกจากทำให้ได้รู้จักระบบนิเวศชายหาดแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เรากล้าทำให้สิ่งที่ไม่เคยทำ เพราะเมื่อเราจบไปแล้วก็ไม่รู้จะได้ทำงานตรงตามสาขาที่เรียนมาหรือเปล่า ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเรียนอย่างเดียว ไม่เปิดรับสิ่งใหม่ๆ ชีวิตก็จะจมปลักอยู่กับเรื่องนั้น ไม่ก้าวไปไหน” ปาล์ม บอก

การเข้ามาเรียนรู้ป่าสนอย่างจริงจัง ทำให้ทีมงานรับรู้ได้ว่า สวนยางที่บ้านของพวกเขาไม่ได้มีระบบนิเวศที่เกื้อกูลสิ่งแวดล้อมเท่าที่ควร ทำให้พวกเขารู้สึกถึงความสำคัญของป่ามากขึ้น จนเกิดความรู้สึกอยากอนุรักษ์ป่าสนให้อยู่คู่หาดสมิหลาและเมืองสงขลาตลอดไป

แม้จะเป็นมือใหม่หัดทำโครงการ แต่ทีมงานก็ได้พัฒนาทักษะการทำงานผ่านการลงมือทำจริง เจอปัญหาจริง และหาหนทางแก้ปัญหาที่ประสบพบเจอรายทางของการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นลงพื้นที่แต่ลืมอุปกรณ์ในการทำงาน จัดงานแล้วมีคนมาร่วมน้อย นัดประชุมแล้วมาสาย การจัดการเวลา และการยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนที่เห็นต่าง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่ยากจะพบเจอได้ในห้องเรียน 

ปาล์ม เล่าว่า โครงการนี้ทำให้เขาได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มากมาย ทั้งพันธุ์พืช ชนิดของนก วิธีการหาข้อมูล การทำงานกลุ่ม การประสานงาน เมื่อทำงานเสร็จแล้วก็ต้องมาถอดบทเรียนถึงข้อดี ข้อเสีย ปัญหาอุปสรรค และวิธีแก้ไข เพื่อให้การทำโครงการบรรลุผล ส่วน โอ๊ต บอกว่า ตอนแรกเขาคิดว่าการทำโครงการก็เหมือนที่เรียนมาคือ ลงไปหาข้อมูลในพื้นที่มารวบรวมแล้วไปนำเสนออาจารย์ แต่พอมาทำจริงเราต้องเตรียมข้อมูล หาคน หาอุปกรณ์ ไม่เหมือนกับที่เรียนมาเลย ได้เรียนรู้ว่าการทำโครงการไม่ใช่แค่ทำในห้องอย่างเดียว แต่เราสามารถเรียนรู้ข้างนอกได้ด้วย ขณะที่ เมโทร บอกว่า เขามีความรู้เรื่องป่าสนและพืชพันธุ์ต่างๆ เพิ่มขึ้นว่ามีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกับป่าแถวบ้าน ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานที่ต้องวางแผนและการถอดบทเรียนต่างๆ

ความคิดที่ผุดบังเกิดเชื่อมโยงสู่สภาพป่าในถิ่นฐานบ้านเกิด ทำให้เมื่อกลับบ้านทีมงานเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของป่า และแม่น้ำลำคลองแถวบ้าน ซึ่งเมื่อใส่ใจสังเกตก็เห็นว่า ป่าเปลี่ยนแปลงไปมาก บ้านของโอ๊ตที่มีป่าต้นน้ำ ก็มีคนลักลอบตัดต้นไม้ ส่งผลต่อระบบนิเวศ น้ำในลำคลองที่มีมากตอนนี้ก็เริ่มลดลง เพราะป่าถูกทำลาย เมื่อก่อนที่รู้สึกเฉยๆ แต่เดี๋ยวนี้เห็นแล้วไม่สบายใจ

“จากที่เมื่อก่อนแค่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ไม่เคยสนใจว่าข้างในป่ามีอะไรบ้าง แต่เมื่อมีโอกาสลงไปเก็บข้อมูลที่ป่าสน ได้ลงไปเดินดู ไปวัดแปลง ไปนับต้นไม้ที่มีอยู่ในแปลง ทำให้ฉุกคิดได้ว่า ทำไมตรงนี้ถึงมีต้นไม้เยอะ ทำไมต้นไม้ถึงเกิดตรงนี้ และรู้ว่าระยะเวลาในการเจริญเติบโตของต้นสนต้องใช้เวลามาก”

โอ๊ตจึงเริ่มแปรความรู้สึกไม่สบายใจกับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าแถวบ้าน ด้วยการลงมือปลูกต้นไม้ เริ่มจากเวลาเสาร์อาทิตย์ที่กลับบ้านก็จะเก็บเมล็ดของผลไม้เช่น ลองกอง เงาะ ทุเรียน ขนุน จำปาดะ มาเพาะไว้ที่หน้าบ้าน คอยดูแลจนเมล็ดงอกเป็นต้นอ่อน แล้วจึงย้ายไปปลูกไว้ในสวนของครอบครัว แม้การลงมือปลูกจะยังไม่ได้ขยายผลไปสู่การแก้ปัญหาในป่าต้นน้ำ แต่โอ๊ตบอกว่า เป็นการทดลองปลูกเพื่อดูว่า ต้นไม้จะรอดไหม ก่อนที่คิดจะทำอะไรมากกว่านี้ แสดงให้เห็นว่าเมล็ดพันธุ์ของความรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้งอกงามอยู่ในหัวใจของเขาแล้ว

ส่วนมิค บอกว่า การทำโครงการทำให้เขาเชื่อมโยงระบบนิเวศจากภูเขาสู่ทะเลได้ว่า สรรพสิ่งล้วนเชื่อมโยงถึงกัน แม้แต่ละพื้นที่จะมีระบบนิเวศแตกต่างกันก็ตาม โดยส่วนตัวเขาชอบเรื่องต้นไม้อยู่แล้ว เมื่อได้มาทำโครงการได้เรียนรู้เรื่องการวัดแปลงและการวัดต้นไม้เพื่อเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบ ก็รู้สึกว่าต้องความรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย

“เครื่องมือบางอย่างเราใช้โดยไม่รู้ว่าเคยเรียนมา...หลายๆ อย่างเราเรียนมาแต่ไม่เคยได้ปฏิบัติจริง พอมาทำโครงการเราได้นำเครื่องมือนั้นมาใช้จริง น้ำนิ่งจะชวนคิดตลอด อันนี้เคยเรียนมาแล้วนะ จำได้ไหม พอมานั่งทบทวนเราก็ตกใจ เพราะไม่ได้คิดหรือนึกถึงเลยว่าเคยเรียนมาแล้ว กลายเป็นว่า ได้ทบทวนความรู้เพิ่มเติม จากที่เคยรู้แค่ทฤษฎี ก็ได้นำมาใช้จริง”


โลกกว้างและโลกการเรียนเชื่อมโยงกัน

การเปิดโลกการเรียนรู้ยังทำให้ทีมงานได้นำเครื่องมือความรู้ที่ร่ำเรียนมาปรับใช้ในการศึกษาข้อมูล เช่น การใช้แผนที่เดินดินระบุจุดต่างๆ ในป่าสน ใช้ผังก้างปลาในการบันทึกข้อมูลเพื่อเสริมการเรียนรู้ระหว่างการถอดบทเรียน ความรู้ในห้องเรียนถูกปรับใช้ในบริบทใหม่ๆ จึงสามารถเชื่อมโยงกลับไปสู่ความสมบูรณ์ในการเรียนของทีมงานได้เป็นอย่างดี 

“เครื่องมือบางอย่างเราใช้โดยไม่รู้ว่าเคยเรียนมา เช่น แผนที่เดินดิน Input-Output Process การคิดวัตถุประสงค์ การดำเนินงานตั้งแต่การวางแผน หลายๆ อย่างเราเรียนมาแต่ไม่เคยได้ปฏิบัติจริง พอมาทำโครงการเราได้นำเครื่องมือนั้นมาใช้จริง น้ำนิ่งจะชวนคิดตลอด อันนี้เคยเรียนมาแล้วนะ จำได้ไหม พอมานั่งทบทวนเราก็ตกใจ เพราะไม่ได้คิดหรือนึกถึงเลยว่าเคยเรียนมาแล้ว กลายเป็นว่า ได้ทบทวนความรู้เพิ่มเติม จากที่เคยรู้แค่ทฤษฎี ก็ได้นำมาใช้จริง”

ความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เมโทรรับรู้ว่า เป็นความเปลี่ยนแปลงภายในตนเอง ที่เกิดขึ้นจากการได้เรียนรู้กระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนเอกสาร การลงพื้นที่สำรวจ การมาประชุมที่ตรงต่อเวลานัดหมาย เป็นสิ่งพิสูจน์การเปลี่ยนแปลงที่ทุกคนสัมผัสได้จริง

ส่วน ปาล์ม ในฐานะหัวหน้าทีม บอกว่า เขาได้เรียนรู้กระบวนการเป็นผู้นำที่ใช่ว่าจะต้องรับผิดชอบแค่หน้าที่ของตนเอง แต่หมายรวมถึงต้องรับผิดชอบต่อเพื่อนด้วย บทบาทนี้ทำให้เขาต้องคอยกระตุกกระตุ้นเพื่อนๆ ที่เฉื่อยชาเป็นระยะๆ และที่ผ่านมาเขาไม่ชอบอยู่กับคนหมู่มาก แต่การที่ต้องรับผิดชอบงาน ทำให้เขาเกิดความกล้าที่จะเข้าไปพูดคุยกับคนแปลกหน้ามากขึ้น

“ได้ประโยชน์เรื่องกระบวนการทำงาน เราได้นำความรู้จากห้องเรียนมาปรับใช้ในการทำงาน ได้คิดหาทางแก้ไขข้อผิดพลาดจากการลงมือทำ ลดการใช้อารมณ์ในการทำงานกับเพื่อนลงได้ ยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อน มีอยู่ครั้งหนึ่งพวกเราแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เราก็เห็นว่าข้อมูลของเพื่อนถูกต้องกว่า ตอบโจทย์ ตอบคำถามมากกว่า และเข้าใจง่าย เราก็ต้องยอมรับเพราะทำงานด้วยกัน”

ทีมงานคาดหวังว่า เมื่อนำเสนอข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในเวทีสาธารณะแล้ว จะทำให้คนสงขลาได้รับรู้ความสำคัญของป่าสนที่เปรียบเสมือนปอดของเมืองได้บ้างไม่มากก็น้อย และเข้าใจได้ว่าทำไมต้องอนุรักษ์ป่าสนผืนสุดท้ายแห่งนี้ไว้  “ที่อื่นพยายามปลูกป่าใจกลางเมือง เขาต้องหาพื้นที่ ต้องขุดต้นไม้ไปปลูก ต้องใช้เวลาในการสร้างให้เกิดขึ้น แต่ที่สงขลามีพื้นที่ป่าสนธรรมชาติที่เป็นป่ากลางเมืองอยู่แล้ว ทำไมเราไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้” ปาล์มเล่าทิ้งท้าย

“เทคนิคการทำงานกับเด็กวัยนี้ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเป็นพระเอก ผู้ใหญ่มีหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยหรือผู้แนะนำ ถ้าเห็นว่าเด็กทำผิดพลาดแต่อยู่ในขอบเขตที่รับได้ ก็ปล่อยให้ทำ ให้ได้เรียนรู้ แล้วค่อยมาสรุปบทเรียนกันภายหลัง “อย่าตำหนิเขา แต่ให้กำลังใจ ช่วยเหลือ และชมเขาบ่อยๆ”


ความรู้ที่ถูกใช้

วัลลภ หมัดโส๊ะ เล่าย้อนความไปว่าราว 1-2 ปีผ่านมามีโอกาสเข้าไปเดินอ่านนิทรรศการที่เยาวชนร่วมทำโครงการเกี่ยวกับหาดทรายที่ถนนคนเดิน จึงเกิดความประทับใจและได้รู้ว่ามีกลุ่มเยาวชนในสงขลาทำโครงการดีๆ เพื่อชุมชนอยู่ กระทั่งมีเยาวชนเข้ามาหาอาสาสมัครในชุมชนเพื่อวัดหาด จึงเข้าร่วมด้วย 

จึงรู้ว่ามีน้องอีกกลุ่มหนึ่งทำโครงการเกี่ยวกับป่าสน เลยบอกน้องไปว่าถ้าวันไหนอยากได้ข้อมูลเรื่องพันธุ์ไม้ป่าสนจะไปช่วยดูให้ เนื่องจากเรียนจบวนศาสตร์ จึงสนใจเรื่องพืชพันธุ์ไม้อยู่แล้วเป็นทุนเดิม แม้ปัจจุบันจะไม่ได้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับป่า แต่อยากนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาช่วยทำกิจกรรมของโครงการ ถือเป็นการทบทวนความรู้ของตนเองไปด้วยพร้อมกัน 

“ส่วนตัวผมถนัดแค่เรื่องพันธุ์ไม้และเครื่องมือในการวัด ตอนแรกคิดว่าจะให้น้องๆ เรียนทฤษฎีก่อน แต่มาคิดดูแล้ว สู้ลงมือทำจริงไม่ได้ เลยนำอุปกรณ์ไปให้น้องทำจริงในพื้นที่เลย อยากให้เขารู้ว่าการเข้ามาศึกษาป่าไม้ไม่ใช่เรื่องยาก มีเชือกธรรมดาสำหรับใช้หมายแนวก็ทำได้แล้ว ไม่ต้องใช้ตลับเมตรก็ได้ หมายแนวทีละเมตรทีละห้าเมตรตามความยาวเชือก ส่วนทิศทางก็ใช้เข็มทิศอย่างง่าย ความสูงของต้นไม้เราก็ใช้เครื่องมือวัดธรรมดา...กว่าน้องๆ จะเริ่มคล่องก็แปลงที่สองแปลงที่สาม หลังจากนั้นเขาก็สามารถทำเองได้ เราให้ความรู้เป็นพื้นฐานก่อน ส่วนจะไปต่อยอดแบบไหนให้เขาคุยกันเองคิดกันเอง ส่วนเรื่องกระบวนการกลุ่มผมไม่ถนัด น้องๆ เลยต้องเรียนรู้ช่วยกันทำกันเอง”

ลุงวัลลภ บอกอีกว่า การมาทำกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เขานึกย้อนไปถึงตอนที่ทำค่ายกับเด็กๆ การจะสร้างคนให้เปลี่ยนแปลงความรู้สึกบางอย่าง เหมือนเราเอาเกลือใส่กะละมัง ต้องใส่ทีละนิดๆ ถ้าใส่เกลือไม่ถึงก็จะไม่เค็ม การที่เราไปช่วยเขาเหมือนเราช่วยเอาเกลือไปเติมในกะละมัง คิดว่าค่อยๆ เติมไปสักวันก็จะเค็มขึ้นมา แต่เขาเปลี่ยนเร็วเกินคาด ตอนแรกคิดว่าน่าใช้เวลาจะสักปีสองปี แต่ตอนนี้ความคิดเขาเปลี่ยนแล้ว อาจเพราะเขาได้ลงไปปฏิบัติในพื้นที่จริง

เพราะทำงานกับวัยรุ่นจึงได้เรียนรู้ว่า เทคนิคการทำงานกับเด็กวัยนี้ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเป็นพระเอก ผู้ใหญ่มีหน้าที่เป็นเพียงผู้ช่วยหรือผู้แนะนำ ถ้าเห็นว่าเด็กทำผิดพลาดแต่อยู่ในขอบเขตที่รับได้ ก็ปล่อยให้ทำ ให้ได้เรียนรู้ แล้วค่อยมาสรุปบทเรียนกันภายหลัง “อย่าตำหนิเขา แต่ให้กำลังใจ ช่วยเหลือ และชมเขาบ่อยๆ” ลุงวัลลภบอกเคล็ดลับที่จะทำให้การทำงานกับวัยรุ่นง่ายขึ้น 

ลุงวัลลภมีความเห็นว่า หากทีมงานจะต่อยอดการทำงานอนุรักษ์ป่าสน จะต้องวิเคราะห์ว่า ประเด็นใดที่จะตอบโจทย์ความสนใจของคนเมือง เช่น ป่าเป็นปอดของเมือง โดยอาจจะมีการวิจัยที่วัดผลได้อย่างชัดเจน ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะขับเคลื่อนงานต่อในทิศทางใด ก็เป็นเรื่องที่ต้องประคับประคองให้ทีมงานได้คิดด้วยตนเอง ซึ่งอาจเริ่มจากสิ่งที่พวกเขาถนัด เราไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือแนะนำให้ทำในสิ่งที่ยากเกินไป ซึ่งไม่ว่าทีมงานจะสานต่ออย่างไร เขาก็พร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะคอยสนับสนุนต่อไป

“เรื่องป่าไม้เป็นความชอบส่วนตัว การรักษาป่าไม้มีหลายมาตรการ จะใช้ไม้แข็งอย่างกฎหมายก็ได้ แต่ถ้าเราใช้ไม้อ่อนด้วยการปลูกฝังให้เด็กๆ รู้และเข้าใจ มันจะเป็นเชิงบวกและสื่อถึงคนได้ง่ายกว่า คนจะรับได้มากกว่า ที่สำคัญคือยั่งยืนและสามารถขยายผลได้ง่ายกว่า”

จากความตั้งใจที่ “แค่อยากช่วยเพื่อน” เติมเต็มความสมบูรณ์ในการศึกษาระบบนิเวศชายหาด กลับเป็นจุดที่ทำให้ทีมงานก้าวออกจากกรอบประสบการณ์เดิมๆ ของชีวิต สู่โลกการเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ จากสถานการณ์จริง จากผืนป่า จากเมืองสงขลา โลกจริงที่ต้องใช้วิทยายุทธ์หลากหลาย ทั้งเครื่องมือศึกษาชุมชนที่ร่ำเรียนมา ได้นำมาใช้จริง ทักษะการทำงานกับเพื่อนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลาย การบริหารจัดการงานให้บรรลุผล ฯลฯ ท่ามกลางความคาดหวังของการทำงานที่อยากให้คนสงขลาช่วยกันดูแล อนุรักษ์ป่าสนให้สมบูรณ์ กลับช่วยเติมเต็มความสมบูรณ์ให้กับทีมงาน ให้มีทักษะ พร้อมออกไปเผชิญโลกใหม่ใบต่อๆ ไปได้อย่างมั่นคงไปพร้อมกันด้วย


โครงการ : ศึกษาระบบนิเวศป่าสนเมืองสงขลา 

ที่ปรึกษาโครงการ : วัลลภ หมัดโส๊ะ

ทีมทำงาน : นักศึกษาช้ั้นปีที่ 3 โปรแกรมการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

( จีรพันธ์ ปานด้วง ) ( วชิรวิทย์ มณีศรี ) ( ภูวดล เวชชาชีวี ) 

( ประพันธ์ จันจม ) ( นันทภพ ชูเสน )