การเรียนรู้ที่เขาเทียมดา
โครงการศึกษาระบบนิเวศเขาเทียมดา
สิ่งที่ได้เรียนรู้เปลี่ยนชีวิตทีมงานจากเด็กที่ไม่ค่อยรับผิดชอบ กลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถจัดสรรเวลาในการทำหน้าที่นักศึกษา หน้าที่ลูก หน้าที่เพื่อน หน้าที่ในโครงการ ฯลฯ ได้ดีขึ้น โดยภาระที่เพิ่มจากโครงการไม่กระทบกับการเรียน โดยทีมงานบอกว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่โดดเรียนมาทำโครงการ
“เขาเทียมดา” ชื่อเรียก ภูเขา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเทือกเขาในอำเภอเมืองสงขลา ที่ประกอบด้วยเขารูปช้าง เขาน้ำกระจาย เขาแก้ว เขาเกาะโมงควรติน ในพื้นที่ตำบลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ยอดเขาเทียมดามีความสูงจากระดับน้ำทะเล 298 เมตร อยู่ห่างจากตัวเมืองสงขลาราว 8 กิโลเมตร บนเขามีสภาพเป็นป่า และมีการทำเกษตรกรรม คือ สวนยางพาราและสวนผลไม้ (พุทธพร ส่องศรี, www.gotoknow.org/posts/607873)
ปลุกสำนึกรักป่าต้นน้ำ
โมน่า-โซเรดา ทิ้งปากถ้ำ หนึ่งในแกนนำที่อาศัยอยู่ในเขตชุมชนสวนตูน บริเวณตีนเขาเทียมดา แต่เธอกลับไม่เคยรู้เลยว่า เขาเทียมดาเกี่ยวข้องอะไรกับชีวิต และสำคัญกับชุมชนอย่างไร รู้แต่ว่ามันตั้งตระหง่านอยู่ตรงนั้นมานานแสนนาน เมื่อ ผอ.กศน. ซึ่งเป็นลูกค้าประจำร้านอาหารของพ่อเอ่ยปากชักชวนให้ทำโครงการเพื่อศึกษาระบบนิเวศเขาเทียมดาในช่วงปิดเทอม ขณะรอผลสมัครเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา
แม้ยังไม่รู้รายละเอียดว่าการทำโครงการคืออะไร แต่รู้สึกสนใจ คิดว่าดีกว่าอยู่ว่างๆ ประกอบกับเป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับธรรมชาติที่เธอสนใจอยู่แล้ว จึงเป็นตัวตั้งตัวตีรวบรวมเพื่อนอีก 4 คน คือ เฟิร์น-ณัฐซีตา ชูสาย เพียว-ศรัณยู ชูศรี เลย์-ภาณพัช รอดคง และ ผึ้ง-ชนิสรา เจริญวงศ์ เข้ามาเป็นทีมงาน โดยต่างมโนกันไปว่า จะได้ไปเที่ยวเล่นร่วมกัน
โมน่า บอกต่อว่า ตอน ผอ.มาชวนทำโครงการ คิดว่าคงเป็นกิจกรรมปลูกป่าที่ทำวันเดียวจบ เช่นเดียวกับเฟิร์น ที่มโนภาพการทำโครงการที่คุ้นชินสมัยเรียนอยู่โรงเรียนเก่า คือ เป็นกิจกรรมจิตอาสาที่ทำเสร็จภายในวันสองวัน จนกระทั่งได้พบกับทีมพี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่ม ที่บอกว่า โครงการนี้ต้องทำงานต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน และทีมงานต้องมีความรับผิดชอบในการทำงาน ด้วยความที่ว่างจึงรู้สึกว่า เป็นเรื่องท้าทาย จึงตกลงปลงใจทำโครงการ แม้การเริ่มต้นจะปนเปไปด้วยความงุนงงสับสนก็ตาม
กระบวนการพัฒนาโครงการจึงเต็มไปด้วยคำถามกระตุ้นต่อมคิดจากพี่เลี้ยงที่พยายามซักไซ้ไล่เรียงว่า อยากทำเรื่องอะไร ทำไมต้องทำ ช่วยสร้างความชัดเจนต่อเป้าหมายในการทำโครงการ ซึ่งในที่สุดก็สรุปลงตัวที่ โครงการศึกษาระบบนิเวศเขาเทียมดา โดยมีเป้าหมายคือ อยากให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำ ที่มีผลต่ออ่างเก็บน้ำในบริเวณ กศน.ที่คนเมืองสงขลาเก็บไว้ใช้ในยามขาดแคลนน้ำ
“ไม่คิดว่าความเขียวขจีที่มองเห็นจากเบื้องล่างจะเป็นต้นยางพารา... ไม่รู้ว่าการมีหรือไม่มีต้นยางพาราจะสร้างความแตกต่างให้พื้นที่ป่าต้นน้ำได้อย่างไร แต่ก็ตั้งใจว่า จะรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำให้จงได้ เพราะหาไม่แล้วในอนาคตอาจจะส่งผลต่อแหล่งน้ำที่ชาวเมืองต้องใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง”
เมื่อป่าไม่เป็นเช่นที่เห็น
แม้จะตกลงใจทำเรื่องป่าต้นน้ำ แต่เพราะทีมงานไม่เคยรู้จักสภาพของป่ามาก่อน ทั้งทีมงานและพี่เลี้ยงพากันเดินสำรวจป่าบนภูเขา โดยมียามประจำสำนักงาน กศน.ช่วยนำทาง
โมน่า เล่าต่อว่า หากมองจากข้างล่างขึ้นไปบนภูเขาจะเห็นต้นไม้เขียวขจีเต็มพื้นที่ แต่เมื่อได้ไปสำรวจจริงๆ จึงพบว่า บนเขามีแต่สวนยางพารา และสวนมะนาวที่ชาวบ้านขึ้นไปบุกเบิกทำเป็นอาชีพ จะเหลือบริเวณที่มีต้นไม้ดั้งเดิมเป็นหย่อมๆ อยู่ไม่มาก แต่ก็พอจะบอกว่าเดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าดิบแล้ง บนเขายังมีน้ำตกถึง 3 สายคือ น้ำตกโตนลาด น้ำตกไร่ลุงใหม่ น้ำตกวังไทร ซึ่งทั้งสามสายจะไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำใน กศน.
สิ่งที่ได้เห็นสร้างความแปลกใจให้แก่ทีมงานเป็นอย่างมาก เพราะไม่คาดคิดมาก่อนว่า ความเขียวขจีที่มองเห็นจากเบื้องล่างจะเป็นต้นยางพารา โมน่าสารภาพว่า การเห็นภาพจริงในครั้งนั้นเธอยังไม่รู้สึกอะไร ไม่รู้ว่าการมีหรือไม่มีต้นยางพาราจะสร้างความแตกต่างให้พื้นที่ป่าต้นน้ำได้อย่างไร แต่ก็ตั้งใจว่า จะรณรงค์ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของป่าต้นน้ำให้จงได้ เพราะหาไม่แล้วในอนาคตอาจจะส่งผลต่อแหล่งน้ำที่ชาวเมืองต้องใช้ประโยชน์ในฤดูแล้ง
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การทำโครงการเดินไปถูกทิศทาง ก่อนทำกิจกรรมทุกครั้ง ทีมงานจะประชุมร่วมกับพี่มีนี-นูรอามีนี สาและ เจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่ม ที่กระตุกให้แต่ละคนช่วยกันคิดวางแผนกิจกรรมและกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัด
หลังลงสำรวจพื้นที่ไม่นาน ทีมงานขอให้ยามของ กศน. พาลงชุมชนสวนตูน ซึ่งเป็นชุมชนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับ กศน.และเขาเทียมดา เพื่อสอบถามข้อมูลประวัติความเป็นมาของเขาเทียมดา การใช้ประโยชน์ และความเปลี่ยนแปลงของเขาเทียมดาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยคุ้นเคยกับคนในพื้นที่นี้เป็นอย่างดี ทำให้ยามสามารถพาทีมงานลัดเลาะเข้าบ้านนั้นออกบ้านนี้ พูดคุยกับคนในชุมชนได้เต็มที่ “เขาเทียมดาเมื่อก่อนชื่อเขาเทวดา ชาวบ้านมีความเชื่อว่าต้องจัดประเพณีรับเทวดาทุกปี โดยการจัดเครื่องเซ่นไหว้ขึ้นไปทำพิธีบนเขา เพราะเชื่อว่า เทวดาจะลงมาทุกปี แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนประเพณีดังกล่าวหายไป หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนชื่อเป็นเขาเทียมดา”
เฟิร์นเล่าเรื่องราวที่ได้รับรู้มาจากชาวบ้าน
การสอบถามข้อมูลจากชาวบ้าน ทีมงานจะเริ่มด้วยคำถามว่า เป็นคนดั้งเดิมในพื้นที่หรือไม่ ก่อนที่จะสอบถามเรื่องอื่นๆ เพราะการอยู่ในพื้นที่มานานอาจจะรู้ข้อมูลเกี่ยวกับเขาเทียมดามากกว่าคนที่เพิ่งย้ายมาอยู่ คำถามที่เรียงร้อยกันอย่างต่อเนื่อง เช่น เขาเทียมดาในอดีตเป็นอย่างไร ทำไมถึงเรียกว่าเขาเทียมดา แล้วชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์อย่างไร สภาพอดีตและปัจจุบันต่างกันเยอะไหม ซึ่งคนส่วนใหญ่พูดเสียงเดียวกันว่า เมื่อก่อนกับปัจจุบันเขาเทียมดามีสภาพไม่ต่างกันมาก เพราะมีการขึ้นไปทำสวนยางพารามาตั้งแต่ในอดีต แต่ป่าบนเขาไม่ได้มีสภาพแห้งแล้งมากเหมือนปัจจุบันนี้
“ก่อนทำโครงการไม่เคยไปคุยกับชาวบ้านแบบนี้ ถึงบ้านจะอยู่ในชุมชนสวนตูน แต่ก็ไม่ได้รู้จักใครมากมาย” โมน่า บอกว่า การจะสอบถามข้อมูลได้อย่างลื่นไหลนั้น พวกเราต้องมีชุดคำถามเก็บไว้ในหัว โดยจะชวนชาวบ้านคุยไปเรื่อยๆ ตามหัวข้อที่อยากรู้ แต่ก็ยอมรับว่า บางครั้งก็ต้องแอบดูโพยคำถามบ้างเหมือนกัน หลังกลับจากลงพื้นที่จึงแบ่งกันถอดเทปเสียงสัมภาษณ์ เมื่อนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบร่วมกันก็พบว่า ข้อมูลที่ได้กับสิ่งที่อยากรู้ยังไม่ครบ โดยเฉพาะเรื่องของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เขาเทียมดา
เว้นวรรคการทำโครงการ บริหารจัดการชีวิต
ถึงช่วงเปิดเทอม เฟิร์นและโมน่าตัดสินใจเลือกเรียนต่อในระดับ ปวส.สาขาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ที่วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ แม้จะสอบติดมหาวิทยาลัยในพื้นที่ก็ตาม เพราะเห็นว่า การเรียนการสอนในสาขาวิชาดังกล่าวเป็นโปรแกรมภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัว อีกทั้งการเรียนในระดับ ปวส.น่าจะมีทางเลือกในตลาดแรงงานในอนาคตดีกว่าการเรียนจบปริญญาตรี ซึ่งถ้าจบไปหากต้องการวุฒิปริญญาตรีก็ยังสามารถเรียนต่อได้
“คนเรียนมหาวิทยาลัยตกงานกันเยอะ ปวส.น่าจะมีลู่ทางมากกว่า” โมน่าเล่าถึงเบื้องหลังการตัดสินใจ เฟิร์น เสริมว่า การเรียน ปวส.ทำให้เธอโอกาสได้ฝึกฝนการทำงานจริง ขณะที่การเรียนปริญญาตรีส่วนมากเรียนแต่ทฤษฎี เรียน ปวส. จบแล้วค่อยเรียนต่อปริญญาตรี ทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยก็ยังได้
เมื่อเข้าไปเป็นน้องใหม่ในวิทยาลัย ทีมงานต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวอยู่พักใหญ่ ด้วยการเรียนโปรแกรมภาษาอังกฤษมีเนื้อหาที่ต้องเรียนรู้มาก ชนิดที่ว่าขาดเรียนชั่วโมงใดชั่วโมงหนึ่ง อาจกลับมาต่อไม่ติด และที่สำคัญคือ ถ้าอาจารย์ประจำวิชาสั่งงานในชั่วโมงใด หากขาดเรียนชั่วโมงนั้น ก็จะไม่สามารถไปของานทำได้ เพราะอาจารย์มีนโยบายว่า “งานชั่วโมงไหนทำชั่วโมงนั้น” จึงเป็นอันรู้ว่า คะแนนก็จะหายไปพร้อมกับเวลาเรียนที่ขาดไป นอกจากการเรียนที่เข้มข้นและเข้มงวดแล้วกิจกรรมน้องใหม่ของวิทยาลัยก็ดึงดูดเวลาในชีวิตของทีมงานไปหมดสิ้น
การทำงานของโครงการที่เริ่มไว้จึงขาดช่วง จนกระทั่งทีมงานตกลงใจได้ว่า ต้องใช้เวลาช่วงเย็นหลังเลิกเรียนทำงานโครงการ เพราะหากจะรอให้มีวันว่างจริงๆ เวลาก็คงล่วงเลยไปเรื่อยๆ ประกอบกับไร้ประสบการณ์ ทั้งเชิงกระบวนการและเนื้อหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ทีมงานจึงร้องขอการหนุนเสริมจากพี่เลี้ยงของสงขลาฟอรั่มอยู่บ่อยครั้ง มีบ้านพี่มีนีเป็นที่รวมพลเพื่อประชุมงาน การร้างลาจากการทำโครงการไปนาน ทำให้ทีมงานต้องกลับมาทบทวนกิจกรรมที่ได้ทำไปแล้วใหม่อีกครั้ง จึงรู้ว่านอกจากข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ยังเก็บรายละเอียดได้ไม่ครบถ้วนแล้ว พวกเขายังขาดข้อมูลเกี่ยวกับระบบนิเวศ ที่เป็นประเด็นหลักในการทำโครงการ ซึ่งทีมงานก็ยอมรับว่า ไปไม่เป็น จับต้นชนปลายไม่ถูกว่าต้องเริ่มเก็บข้อมูลอะไร อย่างไร
“หลังจากติดอาวุธทางปัญญา พอจะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานอยู่บ้าง ทีมงานจึงเริ่มชักชวนเพื่อนๆ ในวิทยาลัยร่วมกันสำรวจป่าบนเขาเทียมดาอีกครั้ง โดยตั้งใจว่าการพาเพื่อนไปสัมผัสของจริง จะทำให้เพื่อนๆ รับรู้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของป่า และนำไปสู่การสร้างความตระหนักต่อสภาพปัญหาที่อาจจะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาในภายหน้า”
เติมความรู้ในการทำงาน
เมื่อเห็นว่า น้องไม่มีความรู้เรื่องระบบนิเวศ พี่มีนีจึงได้ประสานอาจารย์เป้-ผศ.ดร.สมปรารนา ฤทธิ์พริ้ง นักวิชาการที่สนับสนุนการทำงานของสงขลาฟอรั่มมาให้ความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการศึกษาระบบนิเวศ เช่น จีพีเอส การวัดความสูงของต้นไม้และความชันของเขา ด้วยการให้ทีมงานวาดแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศ เพื่อให้รู้จักภาพรวมของเขาเทียมดา แล้วยังให้ความรู้เกี่ยวกับการรักษาความชุ่มชื้นของป่า ซึ่งจะสัมพันธ์กับการเกิดตาน้ำ ทำให้ทีมงานเริ่มเกิดความคิดที่เชื่อมโยงไปถึงสภาพของสวนยางพาราบนเขาเทียมดาว่า คงไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมกับการรักษาความ
ชุ่มชื้นของป่า เพราะการทำสวนยางพาราต้องดายหญ้าให้เตียน ดังนั้นเมื่อเวลาฝนตก มีน้ำหลาก ก็จะเกิดการชะล้างหน้าดินออกไป ยิ่งถ้าพื้นที่มีความลาดชันมาก การพังทลายของหน้าดินยิ่งสูง ซึ่งไม่น่าจะดีต่อการรักษาความชุ่มชื้นของพื้นที่ อีกทั้งเมื่อพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาที่เดิมคิดกันไว้ว่า จะทำฝายชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น ก็ไม่น่าจะเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงเช่นนี้ ทีมงานจึงคิดว่า ก่อนที่จะตัดสินเลือกแนวทางแก้ปัญหาใดๆ ควรมีข้อมูลที่พร้อมสมบูรณ์ก่อน เพื่อจะได้ใช้เป็นฐานในการวิเคราะห์หาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากความรู้เชิงเนื้อหาที่ถูกเติมเต็มแล้ว ทีมงานยังได้บทเรียนด้านกระบวนการทำงาน ที่อาจารย์เป้ช่วยชี้ให้เห็นจุดอ่อนของทีมว่า “เก่ง หัวไว แต่ด้อยเรื่องการจัดการ” เนื่องจากเห็นทีมงานมักยกโขยงกันไปทำงาน โดยไม่มีการแบ่งบทบาทหน้าที่ หรือกระจายงานให้แต่ละคนรับผิดชอบ ยิ่งบวกกับพฤติกรรมมาสาย ไม่ตรงต่อเวลา ทำให้งานที่ควรจะทำเสร็จกระจุกตัวอยู่ เพราะรอกัน ข้ออ่อนที่ถูกสะกิดให้รู้ตัว เป็นสิ่งที่ทำให้ทีมงานรู้สึกเศร้า แต่ก็ยอมรับและเก็บมาคิดใคร่ครวญว่า เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พวกเขาต้องปรับปรุง
หลังจากติดอาวุธทางปัญญา พอจะมีเครื่องไม้เครื่องมือในการทำงานอยู่บ้าง ทีมงานจึงเริ่มชักชวนเพื่อนๆ ในวิทยาลัยร่วมกันสำรวจป่าบนเขาเทียมดาอีกครั้ง โดยตั้งใจว่า การพาเพื่อนไปสัมผัสของจริง จะทำให้เพื่อนๆ รับรู้ถึงสถานการณ์ที่แท้จริงของป่า และนำไปสู่การสร้างความตระหนักต่อสภาพปัญหาที่อาจจะสร้างผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขาในภายหน้า
“ตอนชวนเพื่อนไป เราไม่บังคับ ใช้ความสมัครใจเป็นหลัก เพราะคิดว่าถ้าเราบังคับให้เขามาทำ แล้วเขาไม่เต็มใจ งานก็จะออกมาไม่ดี ถ้าเขาชอบด้านนี้จริงๆ เขาก็มาเอง” เฟิร์นเล่าถึงหลักการทำงานที่อาศัยความสมัครใจของผู้ร่วมขบวน การพาเพื่อนมาเรียนรู้ ทำให้ทีมงานมีโอกาสได้ใช้ความรู้ที่ได้จากอาจารย์เป้ เพราะพากันเดินเรื่อยเปื่อยจนหลงทาง ความรู้เรื่องการใช้จีพีเอส จึงถูกนำมาใช้เพื่อหาทางลงจากเขาได้อย่างปลอดภัย
“การออกจากโครงการของเพื่อนส่งผลกระทบต่อทีมอย่างมาก อาการท้อจู่โจมให้รู้สึก แต่สำนึกในตัวบอกว่า ต้องทำต่อไป เพราะได้รับโอกาสมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบทำให้เสร็จ...เราทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ เราทุ่มเทไปมากแล้ว เป้าหมายของเราคือ ต้องทำให้สำเร็จ แม้ที่บ้านจะไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยก็ตาม”
เว้นวรรคการทำโครงการ 2
แต่การจัดการชีวิตใช่ว่าจะง่าย ทีมงานต้องทิ้งช่วงการทำงานอีกครั้ง เมื่อเพื่อนในกลุ่ม 2 คนขอถอนตัวออกจากโครงการ เพราะภาระหน้าที่ในการเรียนและกิจกรรมของวิทยาลัยที่รัดตัว การออกจากโครงการของเพื่อนส่งผลกระทบต่อทีมอย่างมาก อาการท้อจู่โจมให้รู้สึก แต่สำนึกในตัวบอกว่า ต้องทำต่อไป เพราะได้รับโอกาสมาแล้วก็ต้องรับผิดชอบทำให้เสร็จ ซึ่งก็โชคดีที่เพื่อนในห้องอีก 2 คน อาสาเข้ามาช่วยเสริมทีม
“เราอยากทำให้สำเร็จ เพราะสิ่งที่เราทำมาตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนี้ เราทุ่มเทไปมากแล้ว เป้าหมายของเราคือ ต้องทำให้สำเร็จ แม้ที่บ้านจะไม่เข้าใจและไม่เห็นด้วยก็ตาม” โมน่า เล่าถึงแรงผลักที่ท้าทายให้ฝ่าฟัน เมื่อถูกกระตุ้นจากพี่เลี้ยงถึงความคืบหน้าของงาน ทีมงานจึงตั้งหลักใหม่อีกครั้ง คราวนี้ต้องการเสริมความรู้เรื่องการศึกษาระบบนิเวศป่า พี่มีนีจึงเป็นตัวกลางประสานงานกับคุณวัลลภ หมัดโส๊ะ ที่ปรึกษาโครงการศึกษาระบบนิเวศแหลมสนอ่อนเมืองสงขลา มาให้ความรู้เกี่ยวกับการวางแปลงศึกษา และการเก็บตัวอย่างพันธุ์พืช เพื่อเก็บข้อมูลความหลากหลายในพื้นที่ ไปพร้อมๆ กับการศึกษาวัฎจักรของน้ำตกบนเขาเทียมดา
“ถ้าเราวางแปลงเปรียบเทียบเราต้องรู้ความชันของพื้นที่ ซึ่งอาจารย์เป้เคยสอนไว้แล้ว แต่เมื่อพิจารณาร่วมกับลุงวัลลภก็ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า เป็นวิธีการที่อาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันค่อนข้างมาก ทีมงานจึงได้ลงมือถ่ายภาพลำต้น เก็บใบ เมล็ด พืชที่ไม่รู้จักเพื่อนำไปอัดแห้ง ก่อนจะส่งไปให้นักวิชาการในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาลัยเขตหาดใหญ่ ระบุชนิดต่อไป”
ทีมงานรวบรวมพันธุ์พืชได้ 41 ชนิด และสามารถเดินขึ้นไปจนถึงต้นน้ำบนยอดเขา การได้สัมผัสกับป่าของจริงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตอนนี้ทีมงานสามารถแยกแยะได้ว่า ป่าตรงไหนเป็นป่าดั้งเดิม ตรงไหนเป็นสวนยางพาราได้จากภาพถ่ายทางอากาศที่ดูจากกูเกิลเอิร์ธ
“ตอนแรกคาดว่าป่าที่ต้นน้ำต้องอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อเราไปเห็นแล้วก็รู้สึกว่า มันไม่อุดมสมบูรณ์เลย ความอุดมสมบูรณ์ในความคิดของเราคือ ระบบนิเวศดี มีสัตว์นานาชนิด มีต้นไม้เยอะ ถ้าเรามองจากข้างล่างตอนนี้รู้แล้วว่า ตรงไหนเป็นป่าเดิม ตรงไหนเป็นป่าใหม่” โมน่า บอก
“รู้สึกเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เดิมอยู่ไปวันๆ ไม่คิดอะไรมาก แต่เมื่อมาทำโครงการนี้ การได้เจอเพื่อน เจอผู้ใหญ่ ทำให้รู้ว่าคนเราจะอยู่ในสังคมได้ต้องรู้จักแบ่งปัน พูดคุย และรับฟังกัน นอกจากนี้ยังตรงต่อเวลาและรับผิดชอบมากขึ้น เมื่อก่อนเป็นคนสายตลอด ไม่เคยตรงเวลาเลย การบ้านก็กองไว้ก่อน ถึงเวลาค่อยทำ แต่เดี๋ยวรับผิดชอบมากขึ้นทั้งเรื่องตรงต่อเวลาและการทำบ้าน”
ประสบการณ์ช่วยพัฒนาทักษะ นิสัย
เมื่อเริ่มสนุกกับข้อมูลที่ได้สืบค้น ทีมงานก็รู้ว่า ขอบเขตของการศึกษาระบบนิเวศป่านั้นกว้างเกินกว่าที่พวกเขาจะทำได้ในกรอบระยะเวลาของโครงการ เพราะต้องศึกษาทั้งเรื่องดิน น้ำ ป่า และสัตว์ป่า ความคิดที่ว่าจะนำข้อมูลระบบนิเวศที่ได้ไปบอกเล่า เพื่อสร้างความตระหนักจึงถูกเก็บไว้เป็นแผนระยะยาว โดยแผนระยะสั้นที่ทีมงานตั้งใจว่าต้องทำให้สำเร็จคือ การจัดระบบข้อมูลที่มีเป็นหมวดหมู่ให้ดีก่อน
“ระยะเวลาของโครงการสิ้นสุดไปแล้ว แต่งานยังไม่เสร็จ มีปีแรกก็ต้องมีปีที่ 2 ปีแรกข้อมูลต้องแน่น ก่อนจะไปจัดเวทีชาวบ้าน เราต้องหาหลักฐาน ปีนี้เราทำได้แค่รวบรวมชนิดพันธุ์ไม้ รู้การใช้ประโยชน์อ่างเก็บน้ำ สิ่งที่ขาดคือ เรายังไม่สามารถอธิบายระบบนิเวศได้” โมน่าเล่า เมื่อตระหนักรู้อยู่เต็มอกว่า งานยังไม่เสร็จ แต่เฟิร์นกับโมน่าก็บอกว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้เปลี่ยนชีวิตของเธอจากเด็กที่ไม่ค่อยรับผิดชอบ กลายเป็นคนที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น สามารถจัดสรรเวลาในการทำหน้าที่นักศึกษา หน้าที่ลูก หน้าที่เพื่อน หน้าที่ในโครงการ ฯลฯ ได้ดีขึ้น โดยภาระที่เพิ่มจากโครงการไม่กระทบกับการเรียน ทั้งสองคนบอกว่า ถึงอย่างไรก็จะไม่โดดเรียนมาทำโครงการ
“รู้สึกว่ามีกระบวนการในการทำงานมากขึ้น เช่น เวลาทำงานกลุ่ม เรารู้เลยว่าต้องประชุมก่อน ต้องคุยกันก่อนว่าเป้าหมายของงานนี้คืออะไร ต้องแบ่งหน้าที่ให้ชัดเจน” โมน่าเล่าถึงการปรับใช้ประสบการณ์จากทำโครงการในการเรียนขณะที่ เฟิร์น บอกว่า เธอรู้สึกเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เดิมอยู่ไปวันๆ ไม่คิดอะไรมาก แต่เมื่อมาทำโครงการนี้ การได้เจอเพื่อน เจอผู้ใหญ่ ทำให้รู้ว่าคนเราจะอยู่ในสังคมได้ต้องรู้จักแบ่งปัน พูดคุย และรับฟังกัน นอกจากนี้ยังตรงต่อเวลาและรับผิดชอบมากขึ้น “เมื่อก่อนเป็นคนสายตลอด ไม่เคยตรงเวลาเลย การบ้านก็กองไว้ก่อน ถึงเวลาค่อยทำ แต่เดี๋ยวรับผิดชอบมากขึ้นทั้งเรื่องตรงต่อเวลาและการทำบ้าน”
มีนี เจ้าหน้าที่สงขลาฟอรั่ม ที่หนุนเสริมการทำงานของทีมมาโดยตลอด สะท้อนว่า โครงการนี้เป็นการเปิดพื้นที่เรียนรู้ในตัวน้องๆ เป็นอย่างมาก เขาเข้ามาทำโครงการเพราะผู้ใหญ่ชวน ในฐานะพี่เลี้ยงที่ไม่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องระบบนิเวศ เราก็ได้เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้บทบาทของเธอจึงเป็นคนกลางที่ช่วยประสานหาคนที่มีความรู้มาเติมเต็มให้น้องเป็นระยะๆ
การทำงานที่แม้กระท่อนกระแท่นไปตามจังหวะชีวิต ภาพการทำงานที่ดูเหมือนจะล้มลุกคลุกคลาน แต่แท้จริงแล้วนี่คือเงื่อนไข คือแบบฝึกหัด ที่มีห้องเรียนคือชุมชนและเขาเทียมดา ที่ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้การทำงาน มีทักษะการทำงาน ทั้งการหาความรู้ แก้ปัญหา บริหารจัดการเวลา เพื่อให้งานนั้นประสบความสำเร็จ ตามสัญญาที่ตนได้แสดงเจตจำนงค์ไว้ การฝึกคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะ มีสำนึกต่อส่วนรวม และมุ่งมั่นทำงานให้สำเร็จจึงเกิดขึ้นได้ไม่ยากเพียงเอื้อโอกาส และมีพี่เลี้ยงคอยประคับประคอง เรียนรู้ร่วมกันกับเยาวชน ดังที่เยาวชนและพี่เลี้ยงของกลุ่มนี้ได้แสดงให้เห็นแล้ว
โครงการ : ศึกษาระบบนิเวศเขาเทียมดา
ที่ปรึกษาโครงการ
ทีมทำงาน : นักศึกษา ปวส.1 สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์
( โซเรดา ทิ้งปากถ้ำ ) ( ณัฐซีตา ชูสาย ) ( ศรัณยู ชูศรี )
( ภาณพัช รอดคง ) ( ชนิสรา เจริญวงศ์ )