ผสานพลังต่อชีวิตเส้นทางน้ำห้วยสงสัย
โครงการน้ำต่อชีวิต
นอกจากการยอมรับฟังความคิดเพื่อนแล้ว ทักษะด้านการพูดคือ ความเปลี่ยนแปลงที่ทีมงานทุกคนสัมผัสได้ จากที่ไม่กล้าพูดเพราะกลัว ถึงตอนนี้กลับสามารถพูดหน้าเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลแก่คนในชุมชนได้ นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้น้ำก็เปลี่ยนไป...เมื่อก่อนเปิดน้ำทิ้งไว้ ไม่เคยสนใจว่าน้ำจะล้นหรือไม่ แต่หลังจากทำโครงการนี้ก็ไม่เคยทำแบบนั้นอีกเลย เวลาเห็นน้ำในโรงเรียนเปิดทิ้งไว้ก็จะเดินเข้าไปปิดทันที
ย้อนกลับไปกว่า 20 ปี พื้นที่ตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี เคยเผชิญหน้าปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค กระทั่งราษฎรทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาถึงความเดือดร้อนเรื่องการใช้น้ำ เมื่อความทรงทราบถึงสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ครั้งนั้นทรงพระราชทานฎีกาให้กรมชลประทานดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอย่างเร่งด่วนช่วงปี พ.ศ.2535-2536 ปัญหาการขาดแคลนน้ำจึงคลี่คลายลง แต่กลับเกิดปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำในพื้นที่ทั้ง 14 หมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่ 1, 3, 5 และ 7 ขึ้นแทน ซึ่งเป็นผลมาจากคนในชุมชนขาดความรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำ
ความขัดแย้งมีต่อเนื่องมาโดยตลอด จนถึงปี พ.ศ. 2545-2546 ประชาชนส่วนหนึ่งจัดตั้งกลุ่มพื้นฐานผู้ใช้น้ำ ร่วมกับกรมชลประทานขึ้นมาเป็นตัวกลางพูดคุยเพื่อหาทางแก้ปัญหา กระทั่งได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2546 เกิดเป็นโครงการขุดลอกอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ทำให้อ่างเก็บน้ำสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้น
“ทุกวันนี้คนในชุมชนใช้น้ำฟุ่มเฟือยมากขึ้น แม้แต่เราเองหลายครั้งชอบเปิดน้ำทิ้งไว้ ทั้งที่ชุมชนเคยมีปัญหาขาดแคลนน้ำมาก่อน เลยคิดว่าถ้าเราทำโครงการนี้แล้วนำข้อมูลออกไปเผยแพร่จะช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำ ตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องการใช้น้ำมากขึ้น”
ส่งต่อสำนึกรักษ์น้ำให้คนใกล้ตัว
เมื่อคนในชุมชนขยายพื้นที่ทำกินทางการเกษตรอย่างต่อเนื่อง ความต้องการใช้น้ำจึงเพิ่มมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งในระยะหลังเกษตรกรต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้งจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการน้ำที่ยังไม่เข้ารูปเข้ารอย ความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำจึงเกิดขึ้นเป็นระยะ โดยเฉพาะพื้นที่หมู่ 9 ซึ่งเป็นที่ตั้งอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย กลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เหนืออ่างใช้เครื่องสูบน้ำดึงน้ำขึ้นมาใช้ สร้างความไม่พอใจแก่คนในพื้นที่เนื่องจากต้องรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงเดินเครื่องสูบน้ำ ส่วนพื้นที่หมู่ 1 ทางใต้ซึ่งเป็นลำห้วยตามธรรมชาติ มักประสบปัญหาขาดแคลนน้ำใช้เมื่ออ่างเก็บน้ำทางตอนเหนือปิดกั้นประตูระบายน้ำ กันไม่ให้น้ำออกจากอ่าง
เหตุนี้เองในปี พ.ศ.2553 อาสาสมัครจากแต่ละหมู่บ้านจึงลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาน้ำร่วมกันอีกครั้ง ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 9 จังหวัด (โครงการเติมน้ำเติมชีวิต) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยอาสาสมัครได้ผ่านการอบรมให้ความรู้ด้านการวิจัยและการดำเนินโครงการในฐานะนักวิจัยท้องถิ่น จนสามารถสมานสามัคคีให้กลุ่มผู้ใช้น้ำในชุมชนได้ สถานการณ์ความขัดแย้งจึงคลี่คลายลง
เมื่อต้องทำโครงการต่อในระยะที่ 2 ทีมวิจัยท้องถิ่นจึงคิดดึงเด็กและเยาวชนในชุมชนเข้ามารับรู้สิ่งที่ผู้ใหญ่ทำ เนื่องจากเห็นว่าปัญหาเรื่องการจัดการน้ำเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะน้ำคือชีวิต หากไม่สร้างความเข้าใจให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนรู้ว่า ชุมชนมีกระบวนการแก้ปัญหาเรื่องน้ำอย่างไร ในอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้น พวกเขาจะได้รับมือและหาทางแก้ไขได้ถูกต้องและทันท่วงที จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการชักชวนเด็กเยาวชนในชุมชนเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โดยมีเป้าหมายแฝงคือ การส่งต่อองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการน้ำให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชน
“เราอายุมากกันแล้ว ถ้าเราไม่ถ่ายทอดความรู้ๆ ก็จะหายไปกับเรา ถ้าเกิดปัญหาขึ้นมาอีก เท่ากับสิ่งที่ผู้ใหญ่ต่อสู้ฝ่าฟันกันมาสูญเปล่า” ฉาย นาวารัตน์ สมาชิกกลุ่มผู้ใช้น้ำและนักวิจัยท้องถิ่น กล่าว
ขณะที่ เฉลิมพล ช้างเผือก เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน ผู้ทำหน้าที่ดูแลอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยและที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า การพัฒนาชุมชนจะยั่งยืนได้ต้องเริ่มจากคนในชุมชนลุกขึ้นมาพึ่งพาตนเองก่อน หากรอให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลืออาจไม่ทันการณ์ ที่ผ่านมาคนในตำบลเขากระปุกได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ชุมชนสามารถบริหารจัดการตนเองได้ ขั้นตอนต่อไปคือ ผู้ใหญ่ต้องถ่ายทอดทั้งวิธีคิด วิธีทำ และสำนึกรับผิดชอบให้เด็กและเยาวชนรับรู้
โครงการน้ำต่อชีวิต ดำเนินการโดยกลุ่มเยาวชนซึ่งเป็นลูกหลานของกลุ่มผู้ใช้น้ำในชุมชน ได้แก่ นุช- กัญญารัตน์ แก้วเมืองเพชร กบ-วนิดา ยากำจัด นัน-ปรียานันท์ เย็นเปิง นุ่น-ศิริรัตน์ แก้วเมืองเพชร และกุ้ง-อภิสิทธิ์ ยากำจัด มีเป้าหมายเพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของชุมชน และเพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เข้ามาเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำร่วมกับผู้ใหญ่ แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ปากต่อปากแก่ผู้ปกครองและคนในชุมชน และเพื่อช่วยตอกย้ำให้ชุมชนเข้าใจถึงสถานการณ์การใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยในปัจจุบัน
“ทุกวันนี้คนในชุมชนใช้น้ำฟุ่มเฟือยมากขึ้น แม้แต่เราเองหลายครั้งก็ชอบเปิดน้ำทิ้งไว้ ทั้งที่ชุมชนเคยมีปัญหาขาดแคลนน้ำมาก่อน เลยคิดว่าถ้าเราทำโครงการนี้แล้วนำข้อมูลออกไปเผยแพร่จะช่วยกระตุ้นให้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำได้ จะทำให้คนในชุมชนตระหนักและให้ความสำคัญเรื่องการใช้น้ำมากขึ้น” นัน กล่าว
ทีมงานลงพื้นที่เก็บข้อมูลประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต อาชีพ รวมถึงสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทั้ง 14 หมู่บ้าน โดยมีผู้นำชุมชนแต่ละหมู่บ้านเป็นเป้าหมาย นัน ให้เหตุผลว่า ที่ต้องสัมภาษณ์ผู้นำชุมชนก่อน ก็เพื่อให้ผู้นำชุมชนแนะนำต่อว่าควรไปสอบถามข้อมูลจากใครต่อ เนื่องจากทีมงานไม่ได้เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกันจึงต้องใช้วันหยุดเสาร์อาทิตย์ที่ทุกคนว่างตรงกันลงพื้นที่วันละ 3–4 หมู่บ้าน ใช้เวลาลงพื้นที่ 4 ครั้งจึงครบ
“การลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลแต่ละครั้ง ทีมงานจะเตรียมคำถามไว้ก่อน เลือกสำรวจหมู่บ้านที่อยู่ไกลก่อน
...คนในชุมชนส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือดี มีบ้างที่ไม่เข้าใจว่าเราถามทำไม ก็มีการต่อว่าทีมงานเล็กน้อย แต่พวกเราก็ไม่คิดมากนำสิ่งที่เขาบ่นว่ามาเป็นแรงผลักดันในการทำงานต่อไป เพราะอยากให้เขาเห็นผลลัพธ์จากสิ่งที่เราทำ” นุ่น อธิบาย
ลุงฉาย กล่าวว่า ตอนที่ทีมผู้ใหญ่เริ่มทำงานวิจัยชุมชนยังสำรวจพื้นที่ไม่ครบ 14 หมู่บ้านเหมือนทีมเด็ก ดูเด็กๆ เขามีความมุ่งมั่นตั้งใจมาก ซึ่งอาจเป็นเพราะเขาอยากให้กลุ่มผู้ใช้น้ำและคนในชุมชนเห็นว่า พวกเขาให้ความสำคัญกับคนในทุกพื้นที่เท่าเทียมกัน
“เราวางแผนกันว่าอยากไปช่วยผู้ใหญ่เก็บข้อมูลน้ำ แต่ไม่รู้วิธีการใช้เครื่องมือ เลยขอให้ผู้ใหญ่มาช่วยสอน และคิดต่อว่าแทนที่จะสอนพวกเราไม่กี่คน น่าจะชวนเพื่อนในชุมชนมาเรียนรู้ไปพร้อมกัน หลังเรียนรู้เสร็จพวกเราอาสาช่วยผู้ใหญ่เก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำในชุมชน”
เรียนรู้พื้นที่...เรียนรู้การบริหารจัดการน้ำ
ชุมชนบ้านเขากระปุกตั้งอยู่ในพื้นที่หมู่ 3 เป็นสถานที่ที่กลุ่มนักวิจัยท้องถิ่นใช้ทำงานอยู่ก่อน ผลจากการเก็บข้อมูลทำให้ทีมงานรู้ถึงที่มาที่ไปของชุมชน รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งเรื่องการใช้น้ำตั้งแต่ต้นน้ำคือ พื้นที่เหนืออ่าง หมู่ 9 บริเวณกลางน้ำ คือ สายท่อเกษตร หมู่ 3 5 และ 7 และปลายน้ำ คือ บริเวณลำห้วยตามธรรมชาติ หมู่ 1 ตำบลเขากระปุกมีสภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูงสลับด้วยภูเขา ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย ความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำสวนทำไร่ เช่น สับปะรด อ้อย มะพร้าว กล้วยและมะละกอ หรือพืชผักสวนครัว เช่น พริกและมะนาว นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงสัตว์ เช่น หมูหลุม แพะ และวัว อีกด้วย
นอกจากเก็บข้อมูลชุมชนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ทีมงานยังจัดเวทีอบรมการใช้เครื่องมือการวัดปริมาณน้ำฝน น้ำในอ่างเก็บน้ำ และการวัดอุณหภูมิโดยมีที่ปรึกษาโครงการซึ่งเป็นเจ้าหน้ากรมชลประทานเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ครั้งนั้นทีมงานได้ชวนเพื่อนในชุมชนเข้าร่วมเรียนรู้ด้วย ถึงวันอบรมมีเพื่อนๆ เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 18 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่ทีมงานพอใจ
“เราวางแผนกันว่าอยากไปช่วยผู้ใหญ่เก็บข้อมูลน้ำ แต่ไม่รู้วิธีการใช้เครื่องมือ เลยขอให้ผู้ใหญ่มาช่วยสอน และคิดต่อว่าแทนที่จะสอนพวกเราไม่กี่คน น่าจะชวนเพื่อนในชุมชนมาเรียนรู้ไปพร้อมกัน หลังเรียนรู้เสร็จพวกเราอาสาช่วยผู้ใหญ่เก็บข้อมูลสถานการณ์น้ำในชุมชน” กบ กล่าว
ขณะที่กุ้ง อธิบายว่า การวัดอุณหภูมิต้องทำทุกวันๆ ละ 2 ครั้ง เวลา 6 โมงเช้า และ 5 โมงเย็น ส่วนการบันทึกปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำจะวัดทุกวันเวลา 5 โมงเย็น เพื่อแสดงให้เห็นถึงปริมาณการใช้น้ำในแต่ละวัน สำหรับอุณหภูมิสามารถนำมาพยากรณ์การใช้น้ำได้ กล่าวคือ ถ้าอุณหภูมิสูง (อากาศร้อน) ปริมาณการใช้น้ำมีแนวโน้มสูงกว่าวันที่มีอุณหภูมิต่ำ ทั้งนี้ข้อมูลที่เก็บได้จะถูกนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อใช้เป็นข้อมูลจัดสรรน้ำสำหรับการอุปโภคบริโภคในชุมชนต่อไป
แม้คิดทำสิ่งดีๆ เพื่อชุมชน แต่ก็ยังมีเสียงบ่นจากผู้ปกครองแว่วมาให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง ประชุม เดชวัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่3 บอกว่า เป็นเพราะผู้ปกครองไม่อยากให้ลูกเสียเวลามาทำกิจกรรม เขาจึงรับหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองในเวทีประชาคม เพราะมองว่าโครงการนี้มีประโยชน์ช่วยส่งเสริมประสบการณ์ชีวิตให้แก่เด็กในชุมชน ที่สำคัญคือทำให้เด็กเห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เพราะมีโอกาสได้ลงไปสัมผัสคลุกคลีกับผู้คนและทรัพยากรในท้องถิ่น
“ทีมงานผู้ใหญ่ทำงานนี้กันมานาน ค่าจ้างอะไรก็ไม่ได้ เราทำเพราะอยากช่วยชุมชนของเราให้ดี จึงอยากถ่ายทอดวิธีคิดเช่นนี้ให้เด็กด้วย การจะปลุกเด็กสักคนให้ลุกขึ้นมาสนใจเรื่องแบบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเขายังมองว่าไม่ใช่หน้าที่ของเขา แม้แต่ผู้ปกครองบางคนก็ไม่อยากให้ลูกมาทำโครงการ เพราะคิดว่าทำแล้วไม่ได้อะไร ทำไมต้องมาทำ เด็กยังต้องเรียนหนังสือ ยิ่งเด็กที่ออกไปเรียนนอกชุมชนยิ่งไม่รู้สึกว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เมื่อเด็กชุดนี้อาสาเข้ามารับไม้ต่อ เราในฐานะผู้ใหญ่ก็ต้องสนับสนุน จึงพยายามไปอธิบายให้ผู้ปกครองคนอื่นๆ เข้าใจ” ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 กล่าว
“น้ำในถุงพลาสติกเปรียบเหมือนน้ำในอ่างเก็บน้ำ ถ้าต้นทางประหยัดน้ำ ปลายทางก็จะมีน้ำใช้เยอะขึ้น แต่ถ้าต้นทางใช้น้ำฟุ่มเฟือย เหมือนการเจาะถุงให้น้ำไหลออกไปโดยเปล่าประโยชน์โดยไม่คิด ปลายทางก็อาจไม่มีน้ำเหลือใช้เลยก็ได้ เกมนี้ทำให้คนในชุมชนได้ทบทวนการใช้น้ำของตัวเองไปในตัว”
เมื่อความรักษ์น้ำผุดบังเกิดขึ้นในใจ
หลังจากเก็บรวบรวมข้อมูลได้ตามแผนที่วางไว้ 2 ส่วน คือ ประวัติความเป็นมาของชุมชน และ สถานการณ์น้ำและการใช้น้ำในชุมชนครบถ้วน ทีมงานวางแผนจัดเวทีคืนข้อมูลทั้ง 14 หมู่บ้านให้เด็กเยาวชน รวมทั้งผู้ใหญ่ได้รับรู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้น้ำทุกคนเห็นถึงความสำคัญของน้ำยิ่งขึ้น
การจัดเวทีครั้งแรกพลาดเป้าไปเล็กน้อย เนื่องจากมีฝนตกลงมาในช่วงเช้า ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ ทีมงานจึงวางแผนออกไปนำเสนอข้อมูลแก่เด็กและเยาวชนภายหลัง โดยเจาะจงไปที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 เพราะอยู่ในวัยที่สามารถรับฟังข้อมูลได้อย่างเข้าใจและสามารถนำไปสื่อสารต่อถึงผู้ปกครองได้
แต่การพูดนำเสนอข้อมูลอย่างเดียวอาจดูน่าเบื่อเกินไป ทีมงานจึงคิดสร้างสรรค์เกมที่เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่ก็สนุก เพื่อให้ผู้ร่วมกิจกรรมรู้สึกผ่อนคลาย นั่นคือ “เกมเติมให้เต็ม” ที่ผู้ร่วมกิจกรรมถูกแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ยืนเรียงต่อกันเป็นแถว โดยแต่ละกลุ่มต้องประคับประคองน้ำที่บรรจุอยู่ในถุงพลาสติกในปริมาณที่เท่ากัน แต่ถูกตะปูเจาะไว้ให้ได้มากที่สุด จนถึงคนสุดท้ายเมื่อเทน้ำลงถังแล้วจึงมาวัดกันว่า กลุ่มไหนมีปริมาณน้ำเหลืออยู่มากที่สุด
เกมส่งน้ำครั้งนี้สามารถสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้ร่วมกิจกรรมได้อย่างลึกซึ้ง เพราะทุกคนมีส่วนร่วมรับส่งน้ำไปจนถึงปลายทาง เปรียบเสมือนกับสถานการณ์การใช้น้ำของคนในชุมชนในปัจจุบันที่ทุกคนต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่งหากทุกคนไม่ร่วมมือร่วมใจกันรักษา น้ำก็คงหมดไปในที่สุด
“น้ำในถุงพลาสติกเปรียบเหมือนน้ำในอ่างเก็บน้ำ ถ้าต้นทางประหยัดน้ำ ปลายทางก็จะมีน้ำใช้เยอะขึ้น แต่ถ้าต้นทางใช้น้ำฟุ่มเฟือย เหมือนการเจาะถุงให้น้ำไหลออกไปโดยเปล่าประโยชน์โดยไม่คิด ปลายทางก็อาจไม่มีน้ำเหลือใช้เลยก็ได้ เกมนี้ทำให้คนในชุมชนได้ทบทวนการใช้น้ำของตัวเองไปในตัว” กบ สรุปบทเรียนอย่างสั้นกระชับ
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การทำกิจกรรมเกิดประโยชน์กับชุมชนสูงสุด เมื่อจัดเวทีคืนข้อมูลแล้วเสร็จ ทีมงานเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้สะท้อนความคิดเห็นผ่านคำถาม 3 ข้อ ได้แก่ 1.ชุมชนอยากมีส่วนร่วมกับเยาวชนด้านใดบ้าง 2.อยากให้ทีมงานปรับปรุงเรื่องอะไร และ 3.ทุกคนในชุมชนอยากเห็นชุมชนเป็นอย่างไร
ทีมงาน บอกเหตุผลของการสะท้อนคิดว่า พวกเขาเรียนรู้การทำงานจากผู้ใหญ่ว่า การสร้างความเข้าใจจะช่วยแก้ปัญหาชุมชนได้อย่างยั่งยืน เพราะทุกคนเข้าใจปัญหาและเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้คำพูดที่ชาวบ้านสะท้อนออกมาหลังเล่นเกมก็ทำให้ทีมงานรู้สึกหายเหนื่อย และดีใจว่าสิ่งที่พวกเขาคิดทำไม่สูญเปล่า ชาวบ้านเข้าใจสิ่งที่ทีมงานพยายามสื่อสารถึงคุณค่าของน้ำและประโยชน์ของการร่วมกันดูแลจัดการน้ำของคนในชุมชน โดยบอกว่า “ไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของเส้นทางน้ำ ถ้าไม่ประหยัดต่อไปเราจะไม่มีน้ำใช้”
แต่กว่าจะประสบความสำเร็จเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย ทีมงาน บอกว่า ปัญหาใหญ่ของทีมคือ การไม่เปิดใจรับฟังความคิดของเพื่อน ทำให้ช่วงเริ่มต้นทำโครงการงานหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง แต่เพราะความรับผิดชอบและอยากทำโครงการให้สำเร็จ ทุกคนจึงต้องหันหน้าเข้าหากัน เปิดใจรับฟังกัน แล้วกลับมาคุยกันว่าจะทำอะไร ซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญให้ทีมงานก้าวพ้นปัญหาช่วงนั้นมาได้
ขณะที่สมนึก เทศอ้น ที่ปรึกษาโครงการ เสริมว่า ทุกคนเก่งไม่เหมือนกัน มีความรู้ความสามารถต่างกันออกไป เพราะฉะนั้นต้องรับฟังกัน สุดท้ายเวลามีปัญหาต้องคอยให้กำลังใจกัน เพราะปัญหาอุปสรรคที่จะเข้ามาทำให้ท้อแท้มีมาทุกระยะ แต่อุปสรรคที่บั่นทอนจิตใจมากที่สุด คือ ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความไม่เข้าใจกันภายในทีม
“ทีมผู้ใหญ่เคยเจอปัญหานี้กันมาก่อน เพราะบางครั้งต่างคนต่างคิด ไม่ฟังกัน หรือบางทีก็ไม่มีความหนักแน่นในสิ่งที่ทำมากพอ เนื่องจากมีแรงกดดันจากภายนอก แต่สุดท้ายเราข้ามผ่านมาได้ เพราะทุกคนเปิดใจรับฟังกันและช่วยประคับประคองกันมา”
นอกจากการยอมรับฟังความคิดเพื่อนแล้ว ทักษะด้านการพูดคือ ความเปลี่ยนแปลงที่ทีมงานทุกคนสัมผัสได้ จากที่ไม่กล้าพูดเพราะกลัว ถึงตอนนี้กลับสามารถพูดหน้าเวทีเพื่อนำเสนอข้อมูลแก่คนในชุมชนได้ นอกจากนี้พฤติกรรมการใช้น้ำก็เปลี่ยนไป
“เมื่อก่อนเปิดน้ำทิ้งไว้ ไม่เคยสนใจว่าน้ำจะล้นหรือไม่ แต่หลังจากทำโครงการนี้ก็ไม่เคยทำแบบนั้นอีกเลย เวลาเห็นน้ำในโรงเรียนเปิดทิ้งไว้ก็จะเดินเข้าไปปิดทันที” นุช กล่าว
“พอเด็กเข้ามา ผู้ใหญ่ก็เกิดแรงฮึดขึ้นอีกว่า สิ่งที่เราทำสำเร็จแล้ว เราจะทำให้ดีขึ้นอีกได้อย่างไร เห็นเด็กเข้ามาทำโครงการ เข้ามาช่วยเหลือผู้ใหญ่ รู้สึกดีใจมากว่าอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นในชุมชนพวกเขาจะไม่ละทิ้งชุมชนแน่นอน”
ผลลัพธ์เชิงประจักษ์
ด้านวันเพ็ญ ยากำจัด ผู้ปกครองของกุ้งและกบ บอกว่า การทำโครงการของเด็กและเยาวชนมีส่วนช่วยหนุนเสริมให้ทีมผู้ใหญ่มีแรงใจเดินหน้าทำงานต่อในระยะที่สอง จากเดิมที่รู้สึกเหนื่อยล้า อยากหยุดพักบ้าง เพราะทำงานต่อเนื่องมายาวนานถึง 5 ปี จนสามารถคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งลงได้
“พอเด็กเข้ามา ผู้ใหญ่ก็เกิดแรงฮึดขึ้นอีกว่า สิ่งที่เราทำสำเร็จแล้ว เราจะทำให้ดีขึ้นอีกได้อย่างไร เห็นเด็กเข้ามาทำโครงการ เข้ามาช่วยเหลือผู้ใหญ่ รู้สึกดีใจมากว่าอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นในชุมชนพวกเขาจะไม่ละทิ้งชุมชนแน่นอน”
วันเพ็ญ เล่าต่อว่า เธอมีลูก 4 คน รายได้ส่วนใหญ่มาจากการขายของในตลาด แต่เธอก็เสียสละเวลามาทำงานกับทีมวิจัย ที่ผ่านมาจึงพยายามเล่าให้ลูกฟังถึงกิจกรรมที่กลุ่มผู้ใหญ่ทำ แต่ลูกก็ไม่เข้าใจตัดพ้อว่า “ทำทำไมให้เสียเวลา” แม้คำพูดนั้นจะทำร้ายจิตใจไม่น้อย แต่เพราะเห็นคุณค่าและประโยชน์ในสิ่งที่ทำว่าเป็นประโยชน์เพื่อส่วนรวม คือชีวิตและปากท้องของคนในชุมชน เธอจึงยึดมั่นในสิ่งที่ทำ พยายามโน้มน้าวให้ลูกเข้ามาทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ จนถึงขนาดออกปากจ้างลูกให้มาเข้าประชุมกับพี่ๆ โครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ 300 บาท
“แต่พอเขากลับจากประชุม เขาก็บอกว่า แม่ไม่ต้องจ้างผมแล้ว ไม่เอาเงินแล้ว เพราะความรู้ที่ผมได้มีค่ามากกว่าเงินที่แม่ให้ผมอีก” วันเพ็ญ เอ่ยถึงคำพูดของลูกที่ทำให้เธอชื่นใจ เพราะเหตุนี้เธอจึงอยากให้ลูก 2 คนที่เหลือและเด็กและเยาวชนในชุมชนมาเข้าร่วมกิจกรรมด้วย เนื่องจากเห็นพัฒนาการในทางที่ดีขึ้นของกุ้งและกบ โดยเฉพาะเรื่องการมีสัมมาคารวะและความกล้าแสดงออก
“ลูกมาเล่าให้ฟังว่าไม่คิดเหมือนกันว่าวันหนึ่งตัวเองจะกล้าออกไปพูดหน้าชั้นเรียนได้” วันเพ็ญ กล่าว
เมื่อความรู้และสำนึกรักษ์น้ำจากมือผู้ใหญ่ถูกส่งไม้ต่อสู่มือเด็กเยาวชนในชุมชนบ้านเขากระปุก ความสนใจใคร่รู้ และความต้องการสานต่องานของผู้ใหญ่ นำพาให้พวกเขาเข้าไปเรียนรู้ทั้งประวัติความเป็นมาของชุมชน สถานการณ์การใช้น้ำ และสภาพภูมิศาสตร์ จนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อ่างเก็บน้ำห้วยสงสัยจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต้องมาจากความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเองแล้ว การเข้ามารับไม้ต่อในครั้งนี้ยังทำให้ผู้ใหญ่ในชุมชนคลายใจได้ว่าในอนาคตหากเกิดปัญหาขึ้นในชุมชน เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้จะไม่ละทิ้งชุมชน แต่จะลุกขึ้นมาเอาธุระหาทางแก้ปัญหาชุมชนอย่างถูกทิศถูกทาง
โครงการน้ำต่อชีวิต
ที่ปรึกษาโครงการ :
- สมนึก เทศอ้น
- เฉลิมพล ช้างเผือก
ทีมงาน : เยาวชนในชุมชนตำบลเขาประปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี
- กัญญารัตน์ แก้วเมืองเพชร มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนหนองพลับวิทยา
- วนิดา ยากำจัด มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหนองพลับวิทยา
- ปรียานันท์ เย็นเปิง มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนคงคาราม
- ศิริรัตน์ แก้วเมืองเพชร มัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนหนองพลับวิทยา
- อภิสิทธิ์ ยากำจัด มัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนหนองพลับวิทยา