การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อเผยแพร่ความรู้และเข้าใจในเรื่องการทำอาหารแพะจากกากมันสำปะหลังหมักยีสต์ให้กับเกษตรกรในตำบลหนองหญ้า จังหวัดกาญจบุรี ปี 2

เชื่อมความรู้สู่ชุมชน

โครงการส่งเสริมอาหารกากมันสำปะหลังหมักยีสต์กับเกษตรกร ผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี


นอกจากความรู้เรื่องการจัดการฟาร์มแล้ว ทักษะการจัดการชีวิตที่เพิ่มพูนขึ้นจากการทำงาน ล้วนเป็นประโยชน์กับชีวิต ทั้งการตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ การรู้จักวางแผน คือ ทักษะที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในตัวทีมงาน โดยทุกคนบอกวา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ได้คิด ได้ลงมือทำ โดยเฉพาะการได้คิดวิเคราะห์ยามสรุปงานร่วมกับพี่เลี้ยงโครงการ ถือเป็นกิจกรรมลับสมองที่ทีมงานบอกว่า ช่วยทำให้พวกเขาสามารถปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

ผลการทำงานในปีที่ผ่านมาของรุ่นพี่ที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะของเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า ด้วยการเรียนรู้กับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในชุมชน รวมทั้งได้พัฒนาคุณภาพอาหาร จัดทำปฏิทินพืชอาหารท้องถิ่นที่เหมาะสมสำหรับแพะ และปรับปรุงโรงเรือนเลี้ยงแพะให้มีคุณภาพ โดยได้นำแพะของเกษตรกรมาทดลองเลี้ยงภายในวิทยาลัยฯ จนได้สูตรอาหารที่มีคุณภาพ รักษาโรคจนหาย ทำให้แพะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แต่การขยายผลการใช้สูตรอาหารในกลุ่มเกษตรกรยังอยู่ในวงจำกัดเฉพาะเกษตรกรที่ให้ยืมแพะมาทดลอง เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่กล้าเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงแพะ

เมื่อการเรียนรู้ติดลมบนต่อเนื่องจากโครงการวิชาแพะที่รุ่นพี่ปีที่แล้วทำไว้ ปีนี้ โจ (ไม่มีนามสกุล) และโบ๊ท-รณชัย พรหมบุตร นักศึกษา ปวส. 1 เป็นตัวตั้งตัวตีรวมกลุ่มกับน้อง ปวช. 3 ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรีซึ่งประกอบด้วย กาย-สิงหา มารยาท มอส-ธีรศักดิ์ คำชู พัฒ-พัฒนา แก้วชลาลัย วิน (ไม่มีนามสกุล) และ ในใน (ไม่มีนามสกุล) เห็นช่องว่างของการทำงานดังกล่าวจึงคิดต่อยอดการทำงานในโครงการส่งเสริมอาหารกากมันสำปะหลังหมักยีสต์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

เพราะมั่นใจว่าสูตรอาหารที่ผ่านการทดลองในปีที่ผ่านมา มีสารอาหารที่ทำให้แพะเติบโตได้ดี ช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยง จึงอยากเผยแพร่ความรู้ที่มีสู่เกษตรกร เพื่อจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เพื่อนๆ ร่วมชั้นปีเรียนจบกันไปหมดแล้ว โจและโบ๊ทจึงชวนน้องในสาขาวิชาสัตวศาสตร์เข้าร่วมทีม ซึ่งน้องๆ ก็ไม่ได้อิดออดเพราะคิดว่า เป็นประโยชน์ที่จะได้เพิ่มพูนความรู้จากการปฏิบัติจริง

การประชุมทีมงานในช่วงแรก โจและโบ๊ทช่วยกันชี้แจงรายละเอียดการทำโครงการให้น้องๆ เข้าใจ พร้อมทั้งทบทวนการทำโครงการในปีที่ผ่านมา และวางแผนการทำงานในปีนี้ โดยในช่วงเริ่มต้นทีมงานสร้างความเข้าใจร่วมด้วยการพากันไปสำรวจสภาพชุมชน เพื่อให้รุ่นน้องในทีมได้เห็นสถานการณ์ปัญหา และสังเกตวิธีการเลี้ยงและดูแลแพะของเกษตรกรด้วยตนเอง

“ทุกคนเห็นร่วมกันว่า ถ้าจะถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำอาหารเสริมจากมันสำปะหลังหมักยีสต์สู่เกษตรกรให้ได้ผล ต้องลงไปทำในพื้นที่ สาธิตให้เห็นขั้นตอนวิธีการ และให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการทดลองเลี้ยงแพะด้วยอาหารเสริมที่ทำ เกษตรกรจึงจะเชื่อเพราะเห็นผลด้วยตนเอง”

เมื่อความรู้จากห้องเรียนตอบโจทย์ชุมชน

หมู่บ้านทุ่งนาคราชในตำบลหนองหญ้า คือ ชุมชนที่มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะมากที่สุด อยู่ห่างจากวิทยาลัย เพียง 9 กิโลเมตร สภาพพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเลือกเลี้ยงแพะเป็นอาชีพหลัก แต่ปัจจุบันเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะไม่ถึง 10 ราย เพราะปีที่ผ่านๆ มาประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก เมื่อแพะที่เลี้ยงหมดรุ่น เกษตรกรจึงเลิกเลี้ยงไปหลายราย เนื่องจากคำนวณค่าน้ำมันรถที่ต้องตะเวนไปตัดหญ้า ตัดกระถินให้แพะกินแล้วไม่คุ้มทุน

เมื่อคิดลงพื้นที่ทีมงานซึ่งรู้จักกันดีอยู่แล้วกับป้าหวาน-บุญมี จันทร์ดี จึงขอให้ป้าหวานช่วยประสานงานชักชวนเกษตรกรในพื้นที่มารวมตัวกัน เพื่อขอข้อมูลการเลี้ยงแพะในชุมชน ทำให้ทีมงานได้รู้สภาพปัญหาของเกษตรกร ทั้งยังได้ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนแพะ วิธีการเลี้ยง และวิธีการดูแล

โจ เล่าข้อมูลที่เก็บได้ว่า เกษตรกรในบ้านทุ่งนาคราชเลี้ยงแพะเฉลี่ยบ้านละ 50- 60 ตัว บ้านที่เลี้ยงมากที่สุดคือ 100 กว่าตัว การเลี้ยงส่วนใหญ่คือปล่อยให้แพะกินต้นไม้ใบหญ้า แต่ในช่วงฤดูแล้งขาดพืชอาหารสำหรับแพะ เกษตรกรต้องไปตัดกระถินในพื้นที่ห่างไกล นอกจากปัญหาเรื่องขาดพืชอาหารแล้ว ยังประสบปัญหาแพะเป็นโรคแท้งติดต่อ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรได้ประสานให้ปศุสัตว์อำเภอเข้ามาตรวจรักษา และการลงสำรวจชุมชนทำให้ทีมงานได้รู้จักกับป้าตุ๋ย-ลลิดา อินทรเสน ประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะบ้านทุ่งนาคราช ซึ่งต่อมากลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการประสานงานกับทีมงาน

สภาพปัญหาที่พบสอดคล้องกับความรู้ที่มี เพราะผ่านวิชาเรียน และผ่านประสบการณ์จากการทดลองของรุ่นพี่ในปีแรกมาแล้ว ทีมงานจึงหารือกับอาจารย์สำราญ พลอยประดับ ที่ปรึกษาโครงการ เพื่อหาวิธีการช่วยเหลือเกษตรกร โดยทุกคนเห็นร่วมกันว่า ถ้าจะถ่ายทอดความรู้เรื่องการทำอาหารเสริมจากมันสำปะหลังหมักยีสต์สู่เกษตรกรให้ได้ผล ต้องลงไปทำในพื้นที่ สาธิตให้เห็นขั้นตอนวิธีการ และให้เกษตรกรได้มีส่วนร่วมในการทดลองเลี้ยงแพะด้วยอาหารเสริมที่ทำ เกษตรกรจึงจะเชื่อเพราะเห็นผลด้วยตนเอง

“ปีที่แล้วเราทำอาหารในวิทยาลัยฯ นำแพะมาทดลองเลี้ยงในวิทยาลัยฯ จนได้ผลจริงจึงนำไปเผยแพร่ แต่ปีนี้เราจะไปทำกากมันหมักยีสต์ในชุมชน แล้วแบ่งให้เกษตรกรไปทดลองเลี้ยงแพะของตนเอง” โบ๊ทเล่า

เมื่อวิธีเผยแพร่ความรู้ลงตัว ทีมงานขอให้ป้าหวานและป้าตุ๋ยนัดหมายกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะทั้ง 6 รายในชุมชนเข้าอบรมการทำกากมันสำปะหลังหมักยีสต์ ซึ่งก็ได้รับความสนใจจากเกษตรกรมาร่วมเรียนรู้ เพราะมีป้าหวานซึ่งเคยเห็นผลจากปีที่ผ่านมาเป็นกระบอกเสียงยืนยันประสิทธิภาพของอาหารเสริมจากกากมันสำปะหลังหมักยีสต์ โดยเชิญอาจารย์สำราญเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้ ส่วนทีมงานเป็นผู้สาธิต เมื่อทำเสร็จแล้ว จึงแบ่งให้เกษตรกรทั้ง 6 รายนำไปหมักต่อที่บ้าน เมื่อหมักไว้จนครบกำหนด 21 วันแล้วจึงนำไปให้แพะกิน

“เราไปซื้อกากมันสำปะหลังประมาณ 500 กิโลกรัมๆ ละ 20 กว่าสตางค์ เราทำได้ประมาณ 5 - 6 ถัง แล้วแจกให้เกษตรกรตามบ้านคือ บ้านป้าหวาน อบต. คิด ป้าตุ๋ย ลุงหมาย ป้าดา และพี่หมู หลังละ 1 ถังๆ ละประมาณ 120 ลิตร เพื่อให้เกิดผลเชิงประจักษ์” โบ๊ทเล่าถึงเทคนิคการทำงานกับเกษตรกร

ทีมงานแจกกากมันสำปะหลังหมักยีสต์ให้เกษตรกรนำไปทดลองใช้ พร้อมบอกวิธีการเปลี่ยนอาหารว่า เมื่อกากมันหมักครบตามเวลาที่กำหนด ในระยะแรกที่เปลี่ยนมาให้อาหารเสริมกากมันหมักยีสต์ต้องให้ทีละน้อย แล้วค่อยๆ เพิ่มปริมาณทดแทนอาหารเดิม โดยมีข้อตกลงร่วมว่า ทีมงานจะลงพื้นที่เพื่อติดตามผลเป็นระยะๆ

หลังจากให้แพะกินอาหารเสริมจากกากมันหมักยีสต์ครบ 2 สัปดาห์ ทีมงานเข้ามาพูดคุยกับเกษตรกร และสังเกตแพะ เป็นวิธีการติดตามผลการทดลองเลี้ยงแพะด้วยกากมันหมักยีสต์ เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการเลี้ยง สามารถบอกความเปลี่ยนแปลงของแพะได้จากการสังเกตด้วยตา ผลจากการพูดคุยในการติดตามผลการทดลอง เกษตรกรทุกรายต่างบอกตรงกันว่า ช่วยลดต้นทุนการขับรถไปตัดหญ้าไกลๆ และแพะมีน้ำหนักดีขึ้น

“ระบบการติดตามเก็บข้อมูลแพะ ตอนทดลองในวิทยาลัยเราจะมีแบบบันทึก แต่กับชาวบ้านเราจะถามจากชาวบ้าน เพราะเขาสังเกตด้วยสายตาก็รู้ได้ว่าแพะตัวนี้อ้วนขึ้นหรือไม่ กินอาหารแล้วเป็นอย่างไร” โบ๊ทเล่า

“การทำงานเสริมประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้จากของจริง ยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของทีมงานอย่างมาก เพราะความรู้จากในตำราได้ผสานกับความรู้จากประสบการณ์ตรงของเกษตรกร เติมเต็มความสมบูรณ์ในวิชาชีพ ที่ทุกคนในทีมบอกว่า ทำให้มั่นใจมากขึ้นที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปประกอบอาชีพ ไม่ว่าในอนาคตจะเป็นเกษตรกรหรือเป็นผู้จัดการฟาร์ม”

เมื่อความรู้เชื่อมถึงชุมชน

ผลการทดลองตอกย้ำความมั่นใจในความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาก แต่ในขณะเดียวกันทีมงานก็ได้เรียนรู้เทคนิควิธีการเลี้ยงแพะจากเกษตรกรที่มีประสบการณ์ เช่น การแก้ปัญหาแพะท้องอืดด้วยวิธีปั๊มหัวใจซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่ชาวบ้านเรียนรู้จากประสบการณ์ ต่างจากวิธีการรักษาตามตำราที่เคยเรียนมา

“เป็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เช่น ถ้าแพะท้องอืดให้ปั๊มหัวใจ ผมก็ยังงง เพราะที่ผมเรียนมา ถ้าแพะท้องอืดให้ใช้เข็มเจาะอย่างเดียว ผมคิดว่า วิธีการของชาวบ้านได้ผลดี เพราะเขาเลี้ยงมานาน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน แต่เราก็ต้องไปศึกษาเทคนิค เพราะการปั๊มหัวใจมันต้องมีจังหวะ” โจเล่า

1 เดือนผ่าน เมื่อเห็นผลชัดเจนว่า อาหารเสริมจากกากมันสำปะหลังหมักยีสต์ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารในฤดูแล้ง ทำให้แพะมีสุขภาพดี น้ำหนักขึ้นไว กลุ่มเกษตรกรจึงรวมตัวกันจะทำกากมันสำปะหลังหมักยีสต์เพิ่ม โดยลงขันกันซื้อกากมันสำปะหลังมา 1 ตัน และประสานให้ทีมงานลงไปช่วยทำ แม้จะเป็นช่วงปิดเทอมซึ่งทีมงานกระจัดกระจายกันกลับบ้าน หรือบางคนไปฝึกงาน แต่ทีมงานทุกคนยินดีเดินทางมาช่วยชาวบ้าน

“ตอนที่คนในชุมชนโทรมาบอกให้ไปช่วยสอนหมักมันสำปะหลัง รู้สึกดีใจมากที่ความรู้ของเราเกิดประโยชน์กับชุมชน แต่แอบคิดในใจว่า หมักกากมัน 1 ตันเหนื่อยแน่ๆ ตอนนั้นปิดเทอมพอดี พวกเราแยกย้ายกันกลับบ้าน ผมอยู่สังขละบุรี เพื่อนบางคนฝึกงานอยู่สุพรรณบุรี แต่พวกเราก็ยอมสละเวลามา เพราะมันเป็นงานของเรา เป็นหน้าที่ เป็นงานส่วนรวม แม้จะไม่ใช่แพะเรา แต่เขาอุตส่าห์ไว้ใจเรา ผมลางานจากที่ฝึกงานมาเลย บอกเขาว่า มาช่วยชาวบ้านทำโครงการ” โจเล่า

เมื่อถึงวันนัดหมาย เกษตรกรต้องนั่งรอทีมงาน เพราะกว่าคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์จากสังขละบุรีระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตรจะมาถึงก็สายๆ แต่ไม่มีใครบ่น เพราะรู้ว่าทีมงานเสียสละเวลามาช่วย เมื่อถึงเวลาทำทั้งเกษตรกรและทีมงานต่างช่วยกันคนละไม้ละมือจนเสร็จ เมื่อรู้ว่าทีมงานต้องขี่มอเตอร์ไซด์กลับภายในคืนนั้นเลย ก็รู้สึกห่วงใยไปตามๆ กัน

ความผูกพันที่ก่อเกิด เพราะเกษตรกรเห็นความตั้งใจจริงของทีมงานที่อาสามาช่วยเหลือ เพราะนอกจากเรื่องอาหารเสริมแล้ว ทีมงานยังแนะนำวิธีการจัดการฟาร์ม การรักษาโรค และการดูแลป้องกันโรคที่จะเกิดกับแพะ ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรให้ช่วยแค่โทรไปทีมงานก็จะมาหามาช่วยอย่างเต็มใจ ความรู้สึกที่มีต่อทีมงานจึงเสมือนลูกหลานที่สามารถพึ่งพาได้

การทำงานเสริมประสบการณ์ให้ได้เรียนรู้จากของจริง ยังเป็นประโยชน์ต่อการเรียนของทีมงานอย่างมาก เพราะความรู้จากในตำราได้ผสานกับความรู้จากประสบการณ์ตรงของเกษตรกร เติมเต็มความสมบูรณ์ในวิชาชีพ ที่ทุกคนในทีมบอกว่า ทำให้มั่นใจมากขึ้นที่จะนำความรู้ที่ได้เรียนมาไปประกอบอาชีพ ไม่ว่าในอนาคตจะเป็นเกษตรกรหรือเป็นผู้จัดการฟาร์ม

“การเรียนในตำรากับฝึกงานในฟาร์ม มันไม่เพียงพอให้เราเป็นเกษตรที่ดีและเอาตัวรอดได้ เพราะสิ่งที่เรียนมันเป็นทฤษฎี การลงมือทำจริงแบบนี้ทำให้เราได้ประสบการณ์ในการทำงาน เมื่อจบออกไปก็สามารถทำงานได้เลย” โบ๊ทกล่าว

“จากเด็กไม่เอาไหน ขี้เกียจ เกเร โดดเรียนเป็นประจำ เมื่อพี่ๆ ชวนเข้าโครงการ ตอนแรกไม่อยากเข้าร่วม เพราะไม่คิดว่าจะได้ประโยชน์อะไร แต่เพราะมีเวลาว่างมาก จึงยอมมาร่วมกิจกรรม ซึ่งทำให้คิดได้ คิดเป็น และที่สำคัญคือทำให้ได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาว่า ที่เรียนติดศูนย์ ติด ร. เป็นประจำ เป็นเพราะอะไร จึงพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง ตั้งใจเรียนมากขึ้น”

ทักษะชีวิตที่ติดตัว

นอกจากความรู้เรื่องการจัดการฟาร์มแล้ว ทักษะการจัดการชีวิตที่เพิ่มพูนขึ้นจากการทำงาน ล้วนเป็นประโยชน์กับชีวิต ทั้งการตรงต่อเวลา ความรับผิดชอบ การรู้จักวางแผน คือ ทักษะที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในตัวทีมงาน โดยทุกคนบอกวา สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นจากการที่ได้คิด ได้ลงมือทำ โดยเฉพาะการได้คิดวิเคราะห์ยามสรุปงานร่วมกับพี่เลี้ยงโครงการ ถือเป็นกิจกรรมลับสมองที่ทีมงานบอกว่า ช่วยทำให้พวกเขาสามารถปรับปรุงวิธีการทำงานให้ดียิ่งขึ้น

การที่ต้องพักอาศัย และเรียนอยู่ในรั้ววิทยาลัยตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้ทีมงานรู้สึกว่าที่นี่เป็นเหมือนบ้านที่ต้องช่วยกันดูแล ดังนั้นยามใดที่มีงานต้องช่วยในฟาร์มของวิทยาลัย แรงงานแถวหน้าคือ ทีมงานกลุ่มนี้ที่ยินดีออกแรงช่วยดูแลรักษาบ้านหลังนี้

การได้เห็นตนเองผ่านการทบทวนการทำงานเป็นระยะๆ ส่งผลต่อการทบทวนชีวิตที่เป็นอยู่ของแต่ละคน กายเล่าว่า ความรู้เกี่ยวกับการวางแผนการทำงาน เป็นสิ่งที่นำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตและการเรียน เช่น ถ้าเรามีการวางแผน มีขั้นตอนการทำงาน เราก็จะปฏิบัติงานเสร็จไวกว่าเดิม

ส่วนในสารภาพว่า จากเด็กไม่เอาไหน ขี้เกียจ เกเร โดดเรียนเป็นประจำ เมื่อพี่ๆ ชวนเข้าโครงการ ตอนแรกไม่อยากเข้าร่วม เพราะไม่คิดว่าจะได้ประโยชน์อะไร แต่เพราะมีเวลาว่างมาก จึงยอมมาร่วมกิจกรรม ซึ่งทำให้คิดได้ คิดเป็น และที่สำคัญคือทำให้ได้ทบทวนชีวิตที่ผ่านมาว่า ที่เรียนติดศูนย์ ติด ร. เป็นประจำ เป็นเพราะอะไร จึงพยายามเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเอง ตั้งใจเรียนมากขึ้น

ด้านโบ๊ทสะท้อนบทเรียนของตนเองว่า สองปีนี้สิ่งที่ได้เรียนรู้มีมากมายหลายสิ่ง ปีก่อนเราเป็นคนตาม รุ่นพี่เป็นคนนำ เราก็คอยสังเกตว่ารุ่นพี่ทำอย่างไร พอปีนี้ขึ้นมาเป็นแกนนำก็สามารถนำรุ่นน้องได้

“การเป็นผู้ตามที่ดีนอกจากต้องเดินตามแล้วต้องหัดสังเกตด้วย จะทำอะไรต้องสังเกตแล้วทำ แล้วพัฒนาความคิดของตนเอง อย่าหยุดคิด ถ้าหยุดคิดโง่แน่ๆ ส่วนการเป็นผู้นำที่ดีก็ต้องทำดีๆ นำในทางที่ดีที่ถูกต้อง ทำให้คนตามเชื่อมั่นในตัวของเรา จากที่คิดอยู่แล้วก็ต้องคิดมากกว่าเดิม”

การได้สัมผัสกับชีวิตของเกษตรกร ยิ่งช่วยตอกย้ำความมั่นใจในเส้นทางอาชีพ โบ๊ทเล่าว่า การลงพื้นที่จริงทำให้ได้เรียนรู้ และเห็นลู่ทางในอาชีพมากขึ้น “ได้รู้ว่า ราคาแพะดีไม่ดีช่วงไหน อาหารแพะขาดแคลนช่วงไหน เหล่านี้คือ ช่องทางในอาชีพของเรา ถ้าหญ้าขาดหรืออาหารขาด เราก็หมักมันมาขายได้ ผู้บริโภคหลักที่กินแพะคือ อิสลามเขาเลี้ยงฉลองหลังศีลอด ความต้องการแพะจะเพิ่มขึ้น ส่วนอาหารแพะจะขาดแคลนช่วงหน้าแล้ง ถ้าเราจะทำมันหมักยีสต์ต้องทำก่อนหน้าแล้ง แล้วกากมันที่เราจะซื้อได้ราคาถูกคือ ช่วงที่มันออกมาเยอะๆ”

ทำงานกับเกษตรกรจนคุ้นเคยกันดี ปัญหาของเกษตรกรกลายเป็นเรื่องที่ทีมงานใส่ใจ เพราะในช่วงท้ายๆ ของการทำโครงการ โรงงานมันสำปะหลังในพื้นที่ใกล้เคียงปิดตัว ทำให้หากากมันได้ยากขึ้น ต้องไปซื้อในที่ไกลๆ การหาวัตถุดิบจากพืชชนิดอื่นๆ ทดแทนจึงเป็นโจทย์ที่เกษตรกรกำลังสนใจ เช่นเดียวกับประเด็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากแพะ ที่กลายเป็นโจทย์ให้ทีมงานนำมาขบคิดเพื่อจะช่วยหาทางแก้ปัญหาให้แก่เกษตรกรต่อไป

“ความเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ที่เห็นได้ชัดคือ เกิดทักษะในเรื่องความกล้าแสดงออก การเข้าหาผู้ใหญ่ การประสานงาน การฝึกคิด วางแผน ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะการได้ปฏิบัติจริง จนกลายเป็นทักษะติดตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต วันนี้สิ่งที่เห็นในตัวของลูกศิษย์กลุ่มนี้คือ ความมีจิตอาสา ใส่ใจงานของส่วนรวม ยินดีช่วยเหลืองานส่วนกลางของวิทยาลัยอยางเต็มอกเต็มใจซึ่งแตกต่างจากนักศึกษาทั่วไป”

เรียนรู้สภาพจริงของอาชีพ

อาจารย์สำราญ พลอยประดับ ที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า เหตุผลที่เขาสนับสนุนให้ลูกศิษย์ทำกิจกรรม เพราะอยากให้ได้ประสบการณ์จากการปฏิบัติจริงจากชาวบ้าน โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายนอกจากสมอง สองมือ และหัวใจที่ใส่ใจชุมชน

“นักศึกษาได้รู้พื้นฐานก่อนที่จะไปทำอาชีพนี้ในอนาคต ว่า อาชีพเกษตรกรต้องมีพื้นฐานอะไรบ้าง ถ้าไปทำเลยโดยไม่เคยมีประสบการณ์มันจะเจ๊ง แต่การทำโครงการนี้ทำให้นักศึกษาได้ประสบการณ์จริง เป็นการหาข้อมูลเพื่อการตัดสินใจอนาคตไปในตัว”

เพราะมีเป้าหมายเพื่อสร้างการเรียนรู้ถึงสภาพความเป็นจริงของอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งจะเป็นส่วนเติมเต็มประสบการณ์จากที่เคยฝึกปฏิบัติในฟาร์มของวิทยาลัย ที่อาจจะไม่เพียงพอ เพราะบริหารงานด้วยระบบราชการไม่ใช่ชีวิตจริงที่มีเรื่องของภาวะการขาดทุน หรือได้กำไรที่ต้องคำนึงถึง ดังนั้นในการทำงานของทีมงาน อาจารย์จึงสนับสนุนในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความคิด ยานพาหนะ รวมทั้งกำลังใจ

อาจารย์ยังมองว่า การร่วมงานในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เพราะมีการหนุนเสริม เพิ่มเติมความรู้ให้แก่ทีมงาน ทั้งเรื่องการจับประเด็น การถอดบทเรียน ซึ่งเป็นการหนุนเสริมการเรียนรู้ที่แท้จริง การไปทำงานแล้วมาสรุปว่า ได้อะไร เสียอะไร ต่างจากการเรียนในห้องเรียนที่เรียนแล้วก็จบไป โดยไม่มีการกลับมานั่งทบทวนกันเลย

สำหรับความเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ที่เห็นได้ชัดคือ เกิดทักษะในเรื่องความกล้าแสดงออก การเข้าหาผู้ใหญ่ การประสานงาน การฝึกคิด วางแผน ซึ่งล้วนแต่เกิดขึ้นเพราะการได้ปฏิบัติจริง จนกลายเป็นทักษะติดตัวซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต วันนี้สิ่งที่เห็นในตัวของลูกศิษย์กลุ่มนี้คือ ความมีจิตอาสา ใส่ใจงานของส่วนรวม ยินดีช่วยเหลืองานส่วนกลางของวิทยาลัยอยางเต็มอกเต็มใจซึ่งแตกต่างจากนักศึกษาทั่วไป

ป้าหวาน เกษตรกรผู้ร่วมเรียนรู้กับทีมงานเล่าว่า การทำงานของโครงการช่วยแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหารสำหรับแพะได้แล้ว ยังช่วยลดต้นทุนค่าน้ำมันที่ต้องขับรถไปเกี่ยวหญ้าไกลๆ ซึ่งทุกวันนี้ป้าหวานมั่นใจในการใช้อาหารเสริมจากกากมันหมักยีสต์ เพราะเห็นผลกับตนเองที่แพะน้ำหนักขึ้น โตไว ซึ่งนอกจากใช้ในการเลี้ยงแพะแล้วป้าหวานยังใช้กากมันหมักยีสต์ผสมกับหัวอาหารเพื่อเลี้ยงเป็ด เลี้ยงหมู ซึ่งก็ได้ผลดีเช่นกัน

ส่วนป้าตุ๋ย เล่าเสริมด้วยความดีใจว่า บ้านเราไม่เคยมีนักศึกษามาเลย เพิ่งมีชุดนี้แหละที่มาช่วยบ้านเรา ถึงโครงการจบแล้วก็อยากให้นักศึกษาอยู่ช่วยชาวบ้าน เวลานักศึกษาเขามาหาก็ดีใจมาก เพราะมาให้ความรู้มาแนะนำอะไรดีๆ ให้

ในความคิดของเกษตรกร ทีมงานคือ ตัวแทนของหน่วยงานที่สร้างความรู้สึกว่า วิทยาลัยฯ ไม่ทิ้งชุมชน เพราะที่ผ่านมา ชาวบ้านทุ่งนาคราชแทบไม่รู้เลยว่า วิทยาลัยฯ มีการส่งเสริมอาชีพให้แก่เกษตรกร จึงไม่กล้าเข้าไปขอความช่วยเหลือเมื่อประสบปัญหา เมื่อทีมงานเข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จึงเป็นการเปิดประตูความรู้ที่เชื่อมโยงให้ชาวบ้านและสถาบันการศึกษาได้มีปฏิสัมพันธ์และเกื้อกูลช่วยเหลือกันต่อไป

การทำโครงการสร้างทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน เกษตรกรได้ทางออกของปัญหาในอาชีพ นักศึกษาได้ปรับใช้ความรู้ในสถานการณ์ที่เป็นจริง เมื่อหอบตำรามาเรียนรู้นอกห้องเรียน จึงได้ทั้งความรู้ในมิติวิชาการ และวิชาชีพ เกิดทักษะชีวิตติดตัวที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อสังคมต่อไป


โครงการส่งเสริมอาหารกากมันสำปะหลังหมักยีสต์กับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลหนองหญ้า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารย์สำราญ พลอยประดับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี

ทีมงาน : วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกาญจนบุรี

  • รณชัย พรหมบุตร ปวส.1 โจ (ไม่มีนามสกุล) ปวส. 1
  • สิงหา มารยาท ปวช. 3 ธีรศักดิ์ คำชู ปวช. 3
  • ในใน (ไม่มีนามสกุล) ปวช. 3 พัฒนา แก้วชลาลัย ปวช. 3
  • วิน (ไม่มีนามสุกล) ปวช. 3