การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อศึกษาแนวทางฟื้นฟูสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยผาก จังหวัดราชบุรี ปี 2

โอกาสสร้างสำนึกพลเมือง

โครงการศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมการจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยผาก


เมื่อเห็นว่าสิ่งไหนดีก็จะนำมาปรับใช้ เช่น เรื่องการพูดจาที่เพื่อนๆ ต่างพูดจาดี สุภาพ ตรงต่อเวลา...การทำงานเพื่อสังคมแม้บางครั้งต้องขาดงาน ขาดรายได้ แต่ทั้งคู่ก็ยอมทำ เพราะตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง จึงพาตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยง บ่อยครั้งที่เวลาไปทำงานที่น้ำตกเก้าโจนแล้วพบวัยรุ่นต่างหมู่บ้านที่เป็นอริเก่า ก็มักจะเดินหนี หลบไปอีกทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการยั่วยุที่จะทำให้เกิดการปะทะ แต่ทั้งคู่ยอมรับว่า ยังชอบขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเหมือนเดิม เพียงแต่การขี่มอเตอร์ไซค์ในปัจจุบันเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมบริจาคสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ของกลุ่มบิ๊กไบค์ หาใช่การแว้นที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแก่ผู้อื่น

ชีวิตวัยรุ่นที่เคยก้าวพลาดเพราะรักเพื่อน เรื่องตีรันฟันแทง เหล้ายาเอาหมด เมื่อพบหน้าวัยรุ่นต่างบ้านที่เขม่นกันจึงมีเรื่องให้ทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันเป็นประจำ จนถูกนำตัวเข้าไปปรับพฤติกรรมและบำบัดในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน แต่วันนี้ชีวิตของ ชล-ชาลชล คะอี้ และทองแดง วงศ์ทอง กำลังเริ่มต้นใหม่ไปพร้อมๆ กับการเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่อเป็นคนดีของสังคม

“เมื่อก่อนผมไม่ฟังใคร ดื้อ รั้นมาก เพื่อนชวนไปตีรันฟันแทงอะไรไปหมด จุดพลิกผันของชีวิตคือ การต้องไปอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เจอครูฝึกโหดมาก เลยคิดได้ พอออกมาจากศูนย์ฝึกฯ ชาญชลชวนเข้าร่วมกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านห้วยผาก” ทองแดง เล่าที่มาของการเข้ากลุ่ม

เพราะได้เข้ามาทำงานเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยที่น้ำตกเก้าโจนหรือน้ำตกเก้าชั้น ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คณะกรรมการหมู่บ้านมอบหมายให้เยาวชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานหารายได้ ทำให้ทองแดงได้พบกับป้าทิพย์-พรทิพย์ สำเภา และลุงเจี๊ยบ-สุขสันต์ สำเภา ที่ให้โอกาสเขาได้เข้าร่วมกิจกรรมอื่นๆ ของกลุ่มเด็กและเยาวชนบ้านห้วยฝาก จึงได้ซึมซับวิธีคิด วิธีทำ และวิธีดำเนินชีวิต จนกระทั่งพาเข้ามาเรียนรู้ร่วมกับโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกในที่สุด

“ปี พ.ศ. 2557 กลุ่มเด็กและเยาวชนรักษ์เก้าโจนร่วมกับแกนนำชุมชน และทหารช่วยกันแก้ปัญหาน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น...แต่ปัญหาน้ำเน่าเสียกลับมาอีกครั้งในฤดูแล้งในปีถัดมา เป็นเหตุให้กลุ่มเยาวชนสนใจศึกษาหาสาเหตุและแนวทางฟื้นฟูสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยผาก เพื่อให้มีแหล่งน้ำสะอาดสำหรับคนในชุมชนได้ใช้อุปโภคตลอดไป”

แก้ปัญหาอ่างเก็บน้ำของชุมชน

บ้านห้วยผาก หมู่ 7 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับกับที่ราบริมลำห้วย พื้นที่ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าไผ่ ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง สภาพดินส่วนใหญ่เป็นดินลูกรัง และดินทราย มีแหล่งน้ำที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ น้ำตกเก้าโจน ธารน้ำร้อนบ่อคลึง ห้วยผาก และลำภาชี มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กในชุมชน 2 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำห้วยผากหลังวัด และสวนหย่อม เนื่องจากไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง ประชากรส่วนใหญ่จึงมีอาชีพรับจ้างเป็นคนงานในร้านค้า รีสอร์ท สวนหรือไร่ขนาดใหญ่ บางส่วนมีอาชีพค้าขาย ทำการเกษตร และเก็บของป่าตามฤดูกาล

อ่างเก็บน้ำห้วยผากอยู่บริเวณหลังวัดเป็นแหล่งน้ำขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน เพื่อเก็บกักน้ำในลำน้ำห้วยผาก และเป็นแหล่งน้ำใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาหารเช่น กุ้ง หอย ปู ปลาและพืชผักริมน้ำ ให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยได้อาศัยพึ่งพา ทั้งยังเป็นแหล่งน้ำที่ใช้ในการอุปโภค เช่น อาบน้ำ ซักผ้า ล้างรถ และเป็นแหล่งน้ำสำหรับเลี้ยงสัตว์ เช่น วัวและแพะ ซึ่งน้ำที่ผ่านการใช้แล้วได้ไหลกลับลงอ่างเก็บน้ำ กระทั่งประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา บริเวณป่าเหนืออ่างเก็บน้ำเร่ิมมีการทำไร่อ้อย และมีการทิ้งขยะบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำมากขึ้น จนน้ำเน่าเสีย ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของคนในชุมชน

ในปี พ.ศ. 2557 กลุ่มเด็กและเยาวชนรักษ์เก้าโจนได้ร่วมกับแกนนำชุมชน และทหารช่วยกันแก้ปัญหาด้วยการใช้น้ำจุลินทรีย์ และจุลินทรีย์ก้อนเพื่อบำบัดน้ำในอ่างเก็บน้ำ ทำให้คุณภาพน้ำดีขึ้น คือ น้ำใสขึ้น ไม่มีกลิ่นเหม็น แต่ปัญหาน้ำเน่าเสียกลับมาอีกครั้งในช่วงฤดูแล้งในปีถัดมา จึงเป็นเหตุให้กลุ่มเยาวชนสนใจศึกษาหาสาเหตุและแนวทางฟื้นฟูสภาพอ่างเก็บน้ำห้วยผาก เพื่อให้มีแหล่งน้ำสะอาดสำหรับคนในชุมชนได้ใช้อุปโภคตลอดไป

พี่ทิพย์ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ บอกว่า เดิมทีโครงการนี้เริ่มต้นมาจากป่าหวาย จะบุ้ง ที่เห็นประโยชน์จากการทำโครงการเมื่อปีที่แล้ว ปีนี้จึงอยากสานงานต่อ แต่หาเพื่อนๆ ในโรงเรียนร่วมทีมยาก จึงมาปรึกษาขอทำงานร่วมกับกลุ่มเยาวชนรักษ์เก้าโจนที่ทำกิจกรรมสม่ำเสมอ โดยขอเพื่อนเยาวชนเข้าร่วมทีม 3 คน เลยชวนชลและธนากร บุญกร เข้าร่วมทีม ตอนแรกป่าหวายอยากทำโครงการเกี่ยวกับการปลูกป่า เพื่อฟื้นฟูน้ำตกเก้าโจน แต่พอคิดวิเคราะห์ดูเห็นว่าระยะเวลาที่ทำโครงการกับการปลูกป่าเป็นหน้าแล้งพอดี ไม่น่าจะทำได้ พี่เลยชวนป่าหวายคุยเรื่องอ่างเก็บน้ำที่มีปัญหาน้ำเน่าเสียทุกปีตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 เป็นต้นมา ป่าหวานก็สนใจเลยเกิดเป็นโครงการศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมการจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยผากขึ้น

“เมื่อทีมเหลือเพียง 3 คน เพื่อให้งานเดินหน้า จึงต้องแบ่งหน้าที่กันให้ชัดเจน ชลที่รู้จักคนเยอะ เข้าหาคนง่ายรับผิดชอบประสานงาน ธนากรเป็นคนจดบันทึก เพราะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนทองแดงทำหน้าที่กุมสภาพการทำงานของกลุ่ม โดยมีเพื่อนๆ จากโครงการพาน้องเรียนรู้ผักพื้นบ้านฯ ซึ่งในช่วงสุดท้ายทั้งสองโครงการต่างทำงานคู่ขนานกัน ช่วยเหลือเอามื้อเอาแรงกันจนสิ้นสุดโครงการ”

สานต่องานที่ว่างเว้น

หลังรวมทีมได้ไม่นาน การทำงานก็หยุดชะงักลง เมื่อป่าหวายในฐานะตัวตั้งตัวตีต้องย้ายไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ไม่สามารถทำโครงการต่อไปได้ จึงส่งต่อโครงการให้แตน-สุชาดา บูทอ เพื่อนในโรงเรียนเดียวกันสานงานต่อ

แม้การทำงานจะสะดุดไปบ้าง แต่ทีมงานที่เหลือก็ไม่ท้อ ชลที่เข้าร่วมทีมตั้งแต่เวทีนับ 1 สร้างสำนึก ปลุกพลังพลเมือง บอกว่า ก่อนเริ่มงานทีมงานจัดประชุมทีมและประชุมชาวบ้านพร้อมกับทีมที่ทำโครงการพาน้องเรียนรู้ผักพื้นบ้านในชุมชนห้วยผาก มีแตนเป็นคนชี้แจงรายละเอียดไปของโครงการ ส่วนเขาทำหน้าที่สอบถามผู้ใหญ่ในชุมชนถึงประวัติความเป็นมาของอ่างเก็บน้ำว่า มีมาตั้งแต่เมื่อไร น้ำเริ่มเสียตอนไหน เป็นต้น

หลังจากการชี้แจงโครงการกับชุมชนเสร็จ แตนได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียนโรงเรียนสวนผึ้งวิทยา ต้องรับผิดชอบกิจกรรมในโรงเรียนค่อนข้างมาก จึงห่างหายไปจากการทำโครงการ เมื่อหัวหน้าทีมไม่ว่าง ลูกทีมก็ได้แต่รอจนกิจกรรมหยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง ส่อแววว่าการทำงานจะล่าช้ากว่าโครงการอื่นๆ จนพี่ทิพย์ต้องปรึกษากับพี่ๆ ในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เพื่อหาทางออก นำไปสู่การจัดวงพูดคุยระหว่างทีมงานกับที่ปรึกษาโครงการ จนปัญหาคลี่คลายลงได้

“แตนยอมรับว่า ภาระงานที่โรงเรียนมีมากเธอจึงต้องเลือกทำงานโรงเรียนให้เสร็จก่อน เพราะเป็นงานที่เธออาสาเข้าไปทำ จึงต้องรับผิดชอบทำให้เต็มที่ ทำให้ไม่มีเวลาทำโครงการ เพื่อให้การทำโครงการเดินหน้า เธอจึงตัดสินใจยกโครงการให้กลุ่มเยาวชนรักษ์เก้าโจนขับเคลื่อนต่อ เมื่อทีมงานเหลือ 3 คน จึงต้องหาสมาชิกเพิ่ม ทองแดงซึ่งเป็นพี่ใหญ่ที่ช่วยดูแลน้องๆ ในกลุ่มเวลาทำกิจกรรมต่างๆ ถูกทาบทามเข้ามาสานงานต่อ เพราะตลอดเวลาที่ทำกิจกรรมของโครงการทองแดงก็ได้รับทราบและเข้าร่วมมาโดยตลอด แม้จะไม่ใช่แกนนำที่รับรู้ภาพรวมของงานทั้งหมดก็ตาม” ชล เล่าถึงปัญหาของทีมงาน

เมื่อทีมเหลือเพียง 3 คน เพื่อให้งานเดินหน้า จึงต้องแบ่งหน้าที่กัน ให้ชัดเจน ชลที่รู้จักคนเยอะ เข้าหาคนง่ายรับผิดชอบประสานงาน ธนากรเป็นคนจดบันทึก เพราะเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ส่วนทองแดงทำหน้าที่กุมสภาพการทำงานของกลุ่ม โดยมีเพื่อนๆ จากโครงการพาน้องเรียนรู้ผักพื้นบ้านฯ ซึ่งในช่วงสุดท้ายทั้งสองโครงการต่างทำงานคู่ขนานกัน ช่วยเหลือเอามื้อเอาแรงกันจนสิ้นสุดโครงการ

โชคดีที่ทีมงานยังเก็บกระดาษปรู๊ฟบันทึกการประชุมและแผนงานไว้ เมื่อต้องเข้ามาสานต่อการทำงาน ทองแดงเริ่มต้นด้วยการนำข้อมูล และตัวโครงการมานั่งศึกษาร่วมกับน้องๆ ในทีม เพื่อดูว่าที่ผ่านมาทำโครงการไปถึงไหน และควรจะทำอะไรต่ออย่างตั้งใจ หลังศึกษาข้อมูลแล้ว ทีมงานเริ่มต้นสำรวจรอบๆ อ่างเก็บน้ำ และน้ำตกเก้าโจนเพื่อดูแหล่งต้นน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำห้วยผาก

เรียนรู้คู่การแก้ปัญหา

การสำรวจรอบๆ อ่างเก็บน้ำห้วยผาก เป็นกิจกรรมที่ทำคู่ขนานไปกับโครงการพาน้องเรียนรู้ผักพื้นบ้านฯ ที่พาเยาวชนในชุมชนสำรวจผักพื้นบ้านรอบๆ อ่างเก็บน้ำ แต่ในส่วนของทีมงานตั้งใจจะสำรวจกิจกรรมการใช้ประโยชน์พื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำ ไปพร้อมๆ กับการเก็บขยะที่ถูกทิ้งไว้ในบริเวณดังกล่าว

“รอบๆ อ่างมีคนมาตกปลา ซักผ้า ล้างรถ เลี้ยงสัตว์ น้ำในอ่างเริ่มมีสีเขียวและเริ่มส่งกลิ่นเหม็นเน่า คนที่ใช้น้ำในอ่างต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เกิดอาการแพ้จากการใช้น้ำในอ่างจนเกิดผื่นคัน” ทองแดงเล่าถึงสภาพปัญหา

โดยชล เสริมว่า เขาเดินเก็บขยะรอบอ่าง ขยะที่พบส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ถุงขนม หลังเก็บขยะเสร็จพวกเราจึงกำหนดกันว่า จะเก็บขยะ 2 สัปดาห์ครั้ง พร้อมเตือนคนที่อยู่อาศัยรอบอ่างเก็บน้ำว่า อย่าทิ้งขยะลงอ่างด้วย ซึ่งระยะหลังสังเกตเห็นว่า ขยะรอบอ่างลดลง

การเดินขึ้นไปสำรวจน้ำตก ทำให้ทีมงานทราบว่า บริเวณที่น้ำตกไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำ มีการทำไร่อ้อย มีการปรับพื้นที่เตรียมสร้างรีสอร์ทอีก 3 แห่ง และมีการเตรียมที่จะกั้นน้ำให้ไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของรีสอร์ท ซึ่งหากเป็นจริงคงส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยผากแน่นอน ทีมงานจึงตั้งใจจะจัดประชุมชาวบ้านเพื่อหารือถึงแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

สำหรับวิธีแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียนั้น ทีมงานบอกว่า ตั้งใจบำบัดน้ำเสียโดยใช้จุลินทรีย์ และวางแผนจัดประชุมผู้ใช้น้ำเพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน โดยประเด็นที่อยากสื่อสารกับชุมชนคือ ถามว่าใช้น้ำแล้วเป็นอย่างไร เช่น ดีขึ้น หรือมีผื่นคันหรือไม่ เพื่อให้รู้สาเหตุและหาทางแก้ปัญหาให้ดีขึ้น

ทั้งนี้ทีมงานกำหนดช่วงเวลาจัดประชุมไว้หลังกิจกรรมนับ 4 Check Point พลเมือง โดยประสานงานเชิญผู้ที่ใช้ประโยชน์จากอ่างเก็บน้ำห้วยผาก และคณะกรรมการที่เคยมีการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ดูแลอ่างเก็บน้ำเข้าร่วมด้วย เพราะต่างประสบปัญหาจากการใช้น้ำเหมือนกัน แต่พอถึงวันนัดหมาย เกิดอุบัติเหตุกับนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวน้ำตก ทีมงานและชาวบ้านส่วนหนึ่งต้องไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยว เวทีที่ตั้งใจจะพูดคุยหาทางออกเรื่องน้ำจึงต้องเลื่อนออกไป

“การกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของ กศน. คือ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในชีวิตของทองแดง ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนตนเองสู่เส้นทางอนาคตที่ดี ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้ชลเลือกที่จะเรียนต่อ กศน.เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามทั้งคู่ยอมรับว่า เส้นทางการปรับตัวต้องอาศัยระยะเวลาที่จะพิสูจน์ตนเองกับชาวบ้านคนอื่นๆ เพราะชื่อเสียที่ติดตัว ทำให้ชาวบ้านยังมองว่า เขาเป็นเด็กเกเร บางครั้งแม้จะตั้งใจไปช่วยงานในชุมชน ก็มักถูกกีดกันออกไป เพราะชาวบ้านกลัวว่าจะไปมีเรื่องทะเลาะต่อยตีกับวัยรุ่นคนอื่นๆ”

โอกาสสร้างสิ่งดีๆ

เมื่อได้รับโอกาสในการทำสิ่งดีๆ ให้แก่ชุมชน ทำให้รู้สึกว่ามีพื้นที่ มีตัวตน ทองแดงและชลจึงตั้งใจปรับเปลี่ยนตนเองใหม่ ตั้งใจทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างดีที่สุด และหลบเลี่ยงพื้นที่เสี่ยงที่จะทำให้กระทำผิดอีก แต่กระนั้นชลก็ยอมรับว่า แอบเครียดเหมือนกันเมื่อป่าหวายและแตนออกไป

“เพื่อนออกไป เพื่อนหายไป ก็เครียด เพราะเขาเป็นหัวหน้ากลุ่ม ที่เครียดเพราะเราไม่ได้รู้เรื่องการทำโครงการมาก ก็โกรธเขานิดๆ แม้เพื่อนจะทิ้งไปก็ไม่เป็นไร แต่ผมยังเดินหน้าทำโครงการต่อ เพราะหน้าที่ผมยังไม่เสร็จ มันเป็นความรับผิดชอบ เป็นโครงการของผมที่อยากให้ชุมชนมีน้ำสะอาดไว้ใช้” ชล ย้ำความคิดที่ต้องการทำโครงการต่อ

ขณะที่ทองแดง บอกว่า เหตุผลที่เขาเข้าร่วมโครงการนี้เพราะอยากเห็นชุมชนดีขึ้น

นอกจากนี้การทำโครงการยังเป็นการเปิดโลกกว้างสู่การเรียนรู้ ที่ชลและทองแดงต่างบอกว่า ทำให้เขาได้รู้จักเพื่อนๆ จากต่างโครงการ มีเพื่อนเยอะขึ้น ทั้งยังได้เรียนรู้ประสบการณ์จากโครงการอื่นๆ ที่เมื่อเห็นว่าสิ่งไหนดีก็จะนำมาปรับใช้ เช่น เรื่องการพูดจาที่เพื่อนๆ ต่างพูดจาดี สุภาพ ตรงต่อเวลา ก็เป็นตัวอย่างที่ทั้งคู่นำมาใช้ปรับปรุงตนเอง การทำงานเพื่อสังคมแม้บางครั้งต้องขาดงาน ขาดรายได้ แต่ทั้งคู่ก็ยอมเพราะสิ่งที่ทำทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง

เมื่อตระหนักในคุณค่าของตนเอง ทั้งคู่จึงพาตัวเองออกจากพื้นที่เสี่ยง บ่อยครั้งที่เวลาไปทำงานที่น้ำตกเก้าโจนแล้วพบวัยรุ่นต่างหมู่บ้านที่เป็นอริเก่า ก็มักจะเดินหนี หลบไปอีกทาง เพื่อหลีกเลี่ยงการยั่วยุที่จะทำให้เกิดการปะทะ แต่ทั้งคู่ยอมรับว่า ยังชอบขี่มอเตอร์ไซค์เที่ยวเหมือนเดิม เพียงแต่การขี่มอเตอร์ไซค์ในปัจจุบันเป็นการเข้าร่วมกิจกรรมบริจาคสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ของกลุ่มบิ๊กไบค์หาใช่การแว้นที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญใจแก่ผู้อื่น

“ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าเที่ยวเล่นไปวันๆ ดีกว่าเดินเตะฝุ่น เมื่อก่อนเขาเรียกพวกผมว่านักเตะฝุ่น แต่ตอนนี้เขาเรียกพวกผมว่า นักสิ่งแวดล้อม รู้สึกภูมิใจมาก” ทองแดงกล่าว

การเปลี่ยนแปลงตนเอง และการที่สามารถควบคุมตนเองได้ดีขึ้น นอกจากเพราะวัยที่เติบโตขึ้นแล้ว การเข้าร่วมกิจกรรมที่มีกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ เป็นการเปิดโอกาสให้ได้กลับตัวกลับใจ อีกทั้งยังมีป้าทิพย์กับลุงเจี๊ยบที่กลายเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตและให้ความรักความอบอุ่น จึงยากที่ทั้งคู่จะเผลอใจพลั้งทำผิดอีก และรู้จักยั้งคิด เพราะรู้ว่า หากทำไปแล้วคนที่จะเดือดร้อนคือ ป้าทิพย์และลุงเจี๊ยบ

การกลับมาเรียนหนังสืออีกครั้งในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ของ กศน. คือ การซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในชีวิตของทองแดง ที่ตั้งใจจะเปลี่ยนตนเองสู่เส้นทางอนาคตที่ดี ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ทำให้ชลเลือกที่จะเรียนต่อ กศน.เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามทั้งคู่ยอมรับว่า เส้นทางการปรับตัวต้องอาศัยระยะเวลาที่จะพิสูจน์ตนเองกับชาวบ้านคนอื่นๆ เพราะชื่อเสียที่ติดตัว ทำให้ชาวบ้านยังมองว่า เขาเป็นเด็กเกเร บางครั้งแม้จะตั้งใจไปช่วยงานในชุมชน ก็มักถูกกีดกันออกไป เพราะชาวบ้านกลัวว่าจะไปมีเรื่องทะเลาะต่อยตีกับวัยรุ่นคนอื่นๆ

“เขายังมองว่าเราร้าย เราก็รู้สึกแย่ แต่ระยะหลังๆ ก็ไม่ค่อยเจอแล้ว ประวัติไม่ดีก็อย่างนี้แหละ เราต้องพิสูจน์ตัวเองกับชาวบ้านว่าเราไม่ใช่คนแบบนั้นอีกแล้ว” ทองแดง กล่าว

“การหนุนเสริมการทำงานของทีมงาน จะใช้วิธีกระตุ้นให้คิด ให้คุย ให้วางแผนก่อนการทำงาน สนับสนุนให้ลองฝึกฝนในบทบาทหน้าที่ต่างๆ เมื่อทำงานเสร็จก็จะชวนถอดบทเรียนการทำงานที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจริง”

ผู้ให้ความรักและโอกาส

พี่ทิพย์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ เล่าว่า เหตุผลที่เธอชักชวนให้เยาวชนในหมู่บ้านทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก เพราะอยากให้เด็กรู้จักรับผิดชอบงานของตนเอง จึงคิดใช้โครงการนี้เป็นโอกาสและแรงผลักในการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนบ้านห้วยผาก

“เด็กแบบสองคนนี้มีเยอะในหมู่บ้าน คนในชุมชนก็รำคาญเด็กดื้อ เด็กเกเร เขาจึงไม่พื้นที่ในการแสดงออก คิดว่าเราควรจะให้โอกาสเด็ก เพราะถ้าเราไม่ให้แล้วใครจะให้โอกาสเขา อีกประเด็นคือ เราเป็นคนนอกพื้นที่ จึงอยากให้ลูกมีเพื่อนในหมู่บ้านเยอะๆ ในอนาคตเขาจะอยู่ตรงนี้ได้ต้องมีความสัมพันธ์เป็นพื้นฐาน”

สำหรับการหนุนเสริมการทำงานของทีมงาน พี่ทิพย์ใช้วิธีกระตุ้นให้คิด ให้คุย ให้วางแผนก่อนการทำงาน สนับสนุนให้ลองฝึกฝนในบทบาทหน้าที่ต่างๆ เมื่อทำงานเสร็จก็จะชวนถอดบทเรียนการทำงานที่เกิดจากการปฏิบัติจริง

ส่วนสิ่งที่พี่ทิพย์ได้รับจากบทบาทการเป็นที่ปรึกษาโครงการคือ การฝึกตน

“สมัยก่อนพี่เรียนมหาวิทยาลัยพี่ยังเขียนชาร์ตไม่เป็น สมัยนี้เด็กเรียนประถมศึกษาปีที่ 5-6 เขียนชาร์ตได้แล้ว เด็กสมัยนี้โชคดีที่มีโอกาสได้ฝึกฝนตนเองตั้งแต่เล็กๆ เราก็พยายามกระตุ้นเขาว่า การฟังเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ แต่ด้วยความเป็นเด็กเขาก็มักจะคุย เล่นกัน เราก็ต้องใจเย็น ลดความเป็นตัวเราลง ฝึกจิต ฝึกใจที่จะต้องอดทนรอ และต้องให้โอกาสเด็กตลอดเวลา”

การเป็นที่ปรึกษาอย่างเข้าใจความเป็นเด็ก ทำให้ได้รับความเคารพ รัก และไว้วางใจจากเด็กและผู้ปกครอง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ ทองแดง ที่ตอนเข้าร่วมกิจกรรมช่วงแรกมีอาการต่อต้านมาก แต่เมื่อรู้ว่า สิ่งที่ได้ทำคือการได้รับโอกาส เขาจึงพยายามเปลี่ยนแปลงตนเอง

“การทำงานกับเด็กก้าวพลาด มีจุดที่ต้องระวัง คือ เวลาที่เขาทำผิดพลาดผู้ใหญ่มักไม่ยอมรับ คือผิดแล้วผิดเลย จึงกลายเป็นตราบาปติดตัว แต่พอเราเปิดโอกาสให้เขาจะไม่กล้าทำผิดอีก เนื่องจากกลัวลุงเจี๊ยบกับป้าทิพย์โดนด่ากลายเป็นว่าเขาต้องระมัดระวังตนเอง เพราะห่วงความรู้สึกของเรา”

นอกจากนี้การเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ยังทำให้พี่ทิพย์เห็นมุมมองและวิธีการทำงานกับเยาวชนที่หลากหลาย ทั้งการจัดการงาน การเล่นเกม การเขียนชาร์ต ฯลฯ ล้วนแต่เป็นการเรียนรู้ที่ทำให้รู้สึกว่าได้รับการพัฒนาตลอดเวลา และความรู้เหล่านั้นก็จะถูกนำมาปรับใช้กับเยาวชนในพื้นที่ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นโตที่ต้องเข้ามาสานต่อการทำกิจกรรมของเด็กและเยาวชนในชุมชนต่อไป

วันนี้รอบๆ อ่างเก็บน้ำห้วยผากปราศจากเศษขยะที่สร้างความสกปรกรกรุงรัง แม้น้ำในอ่างเก็บน้ำยังรอวันที่จะใสสะอาดหลังการบำบัดด้วยจุลินทรีย์ และมีการดูแลอย่างต่อเนื่องให้คงคุณภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างปลอดภัย สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการกระตุ้นจากทีมงานซึ่งเป็นเยาวชนในชุมชน กล่าวได้ว่าโครงการศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมการจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยผาก เป็นโครงการของเด็ก เพื่อเด็ก โดยเด็กอย่างแท้จริง เพราะเปิดโอกาสให้เยาวชนที่เคยก้าวพลาดสามารถมีที่อยู่ ที่ยืนในสังคม จนกลายเป็น “พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง” ที่ทำให้ใครบางคนได้ก้าวออกมาจากมุมมืดของชีวิต สู่เส้นทางใหม่ที่มีเป้าหมายว่า จะมีอนาคตที่สดใสและเป็นคนดีของสังคมได้อย่างมั่นใจ


โครงการศึกษาแนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมการจัดการอ่างเก็บน้ำห้วยผาก ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

ที่ปรึกษาโครงการ : พรทิพย์ สำเภา

ทีมทำงาน : เยาวชนในชุมชนบ้านห้วยผาก ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

  • ชาลชล คะอี้
  • ทองแดง วงศ์ทอง
  • ป่าหวาย จะบุ้ง
  • สุชาดา บูทอ
  • ธนากร บุญกร
  • ศิลากร มีกอง