การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชนแพรกหนามแดง จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2

พลิกฟื้นคุณค่าทรัพยากรบ้านเกิด

โครงการพาน้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อขยายผลสู่คนในชุมชนบ้านมั่นคง


ทีมงานรู้จักนำความรู้พื้นฐานจากการเข้าไปทำความรู้จักชุมชนในปีแรกมาใช้สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นรูปธรรมในปีที่ 2 สิ่งที่ได้ “รู้จัก” แตกหน่อออกมาเป็นการ “รู้ทำ” คือรู้ว่าจะขยายผลการทำโครงการได้อย่างไร...ปีนี้เขาทดลองนำส่วนประกอบของต้นจากมาสกัดสีย้อมผ้า การทำแผนที่ GPS ของดีแพรกหนามแดงก็เป็นการขยายวงเข้าไปทำความรู้จักทรัพยากรในขอบเขตที่กว้างขึ้น เพื่อให้รู้ว่าในชุมชนเรายังมีของดีอะไรอีกบ้าง...แล้วเชื่อมโยงสิ่งที่รู้อยู่ก่อนแล้วไปพัฒนาเป็นสิ่งใหม่ได้ พอเขารู้เขาก็พากลุ่มเด็กและเยาวชนที่สนใจไปเรียนรู้ด้วยกัน นำสิ่งที่รู้มาสร้างสรรค์ผลงานต่อยอดออกไป เป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ

ผลจากการทำโครงการพาน้องเรียนรู้ชุมชนและปลูกจิตสำนึกรักบ้านเกิด โดยกลุ่มเยาวชน P.N.D. ที่อาศัยอยู่ที่สหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง ตำบลแพรกหนามแดง อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อปีที่ผ่านมา นำพาให้ทีมงานได้มีโอกาสทำความรู้จักแผ่นดินถิ่นเกิดของตน ผ่านการลงพื้นที่สำรวจชุมชนและเรียนรู้วิถีชีวิตที่แตกต่างกันของผู้คนทั้งฝั่งน้ำจืดและน้ำเค็ม เป็นการเปิดโลกกว้างจากพื้นที่เล็กๆ รอบบ้านตัวเอง จนรู้ซึ้งถึงประโยชน์และคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและภูมิปัญญาของคนในชุมชนแพรกหนามแดง

ปีนี้ทีมงานที่ประกอบด้วย แอล–วีรวรรณ ดวงแข อ้อม–อัญชนา ดีไสว นิก-ธเนศ สร้อยทอง ฟลุ๊ค-พัชร์ศังกร ปั้นทองคำ และ เบล-สหธน ไม้คำหอม เห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้ต่อยอดงานที่สร้างไว้ในปีที่แล้วให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ด้วยเห็นว่ายังมีเรื่องราวที่ทรงคุณค่าของชุมชนอีกมากที่พวกเขายังไม่รู้...

“ปีที่แล้วเราศึกษาทุกเรื่องทั้งทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต และอาชีพ เพราะเราไม่รู้อะไรเลย แต่ข้อมูลที่ได้ก็ยังไม่ครบถ้วน ปีนี้เลยมุ่งเป้าไปที่เรื่องทรัพยากรอย่างเดียว แต่เน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าทรัพยากรในท้องถิ่นแทน” แอล เอ่ยถึงแนวคิดการทำโครงการ พร้อมให้เหตุผลที่เลือกทำเรื่องทรัพยากรเพราะแพรกหนามแดงมี 6 หมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านล้วนมีฐานทรัพยากรต่างกัน ถ้าคนส่วนใหญ่ในชุมชนรู้จักทรัพยากรหรือต้นทุนที่มีอยู่ชุมชนของตัวเองมากพอ คนในชุมชนก็จะคิดต่อยอดได้ว่าเขาสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในชุมบนได้อย่างไรให้คุ้มค่ามากที่สุด แต่เราต้องทำให้เขาเห็นเป็นตัวอย่างก่อนว่า ทำได้จริงๆ จึงเป็นที่มาของการคิดทำโครงการพาน้องเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อขยายผลสู่คนในชุมชนบ้านมั่นคง ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยเผยแพร่ของดีชุมชนแพรกหนามแดงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น

เพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของทรัพยากรในชุมชนมาก่อน ทีมงานจึงเชื่อมั่นว่า ถ้าคนในชุมชนเห็นถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้าน พวกเขาจะเห็นถึงคุณค่าและรู้สึกภาคภูมิใจในของดีที่มีอยู่ในบ้านตัวเอง

“เพราะรู้ซึงถึงคุณค่าของทรัพยากรในชุมชนมาก่อน ทีมงานจึงเชื่อมั่นว่า ถ้าคนในชุมชนเห็นถึงประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมของทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละหมู่บ้าน พวกเขาจะเห็นถึงคุณค่าและรู้สึกภาคภูมิใจในของดีที่มีอยู่ในบ้านตัวเอง”

พลิกฟื้นคุณค่าทรัพยากรบ้านเรา

เมื่อรู้ว่าต้องสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาให้เป็นรูปธรรม แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร ทีมงานจึงต้องหาความรู้เพิ่มเติมให้ตัวเอง พวกเขาเลือกโรงเรียนคลองสมบูรณ์เป็นเป้าหมายในการเข้าไปศึกษาหาความรู้ มีนิกที่กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนดังกล่าวเป็นตัวเชื่อม โชคดีที่นิกอยู่ในโครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่มีโจทย์ว่า นักเรียนต้องเฟ้นหาทรัพยากรในชุมชนของตัวเองมาเป็นโจทย์โครงงาน เพื่อทดลองและเรียนรู้จากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัว แล้วเผยแพร่ผลลัพธ์ที่ได้นั้นกลับคืนสู่ชุมชน จึงเป็น “จุดเชื่อม” ให้การทำโครงการของทีมงานมีความเป็นไปได้มากขึ้น

ผลวิเคราะห์โครงงานที่โรงเรียนทำอยู่เมื่อเทียบเคียงกับทรัพยากรที่มีในท้องถิ่น ทีมงานสนใจเรื่องการย้อมผ้าจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางธรรมชาติกับการทำน้ำยาล้างจานเป็นพิเศษ เพราะเห็นความเชื่อมโยงกันในกระบวนการทำผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ชนิด เพราะข้อมูลที่ค้นพบคือ น้ำย้อมสีจากเศษวัสดุเหลือใช้ทางธรรมชาติ เช่น โกงกาง จาก และตะบูนมีสารแทนนินซึ่งเป็นสารขจัดคราบตามธรรมชาติเป็นส่วนผสมอยู่ สารแทนนินสามารถนำมาใช้เป็นส่วนผสมแทนสารเคมีขจัดคราบในน้ำยาล้างจานได้ ทีมงานจึงลงมติว่าจะทำการทดลองย้อมเสื้อด้วยสีจากวัสดุธรรมชาติที่มีในท้องถิ่น แล้วนำน้ำที่เหลือจากการย้อมมาผสมทำน้ำยาล้างจาน

แต่ก่อนจะถึงขั้นตอนถ่ายทอดความรู้สู่ชุมชน แกนนำเยาวชนทั้งหมดทดลองย้อมสีเสื้อและผลิตน้ำยาล้างจานจนเกิดความชำนาญด้วยตัวเองก่อน ด้วยความที่ทุกคนในกลุ่มไม่เคยย้อมสีผ้ามาก่อน ทีมงานจึงนำรายงานโครงงานจากโรงเรียนมาศึกษา และหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตเพิ่ม แล้วนำมาพลิกแพลงใช้กับพืชในท้องถิ่น เช่น โกงกาง จาก ตะบูน ใบหูกวาง เป็นต้น

“ตอนแรกทดลองใช้ใบหูกวางสดแต่ไม่ติดสี เลยเปลี่ยนมาเป็นใบหูกวางแห้งทดลองทำจนได้ผ้าสีเขียวอมเหลือง ส่วนต้นจากในโครงงานของโรงเรียนจะใช้ทั้งต้น พวกเราเห็นเปลือกลูกจากหล่นอยู่กลาดเกลื่อน เลยนำมาทดลองย้อมจนได้ผ้าสีน้ำตาล” แอล กล่าว

ในส่วนของการย้อมสีเสื้อ ทีมงานตั้งใจทดลองทำเพื่อให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมแล้วสวมใส่เป็นตัวอย่างก่อน ส่วนน้ำยาล้างจานจะทำสำหรับแจกจ่ายไว้ใช้ในครัวเรือนสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง 66 หลังคาเรือน โดยวางแผนว่าหลังจากจัดกิจกรรมให้เด็กได้ให้เข้ามาเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นแล้ว ทีมงานจะขยายผลถ่ายทอดให้ผู้ใหญ่ในชุมชนต่อไป

“แม้จะมีปัญหาเรื่องเวลามาถ่วงดุลการทำงาน แต่ก็ไม่ทำให้ทีมงานย่อท้อ พวกเขาใช้ทุกโอกาสที่มีเวลาว่างลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนของตน จนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ...ถ้าคนในชุมชนเห็นคุณค่าของทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นคนดั้งเดิมหรือคนที่ย้ายมาอยู่ใหม่เพื่อทำมาหากิน ต่อให้นำทรัพยากรมาทำประโยชน์ แต่เขาจะใช้ด้วยความรัก”

ผลลัพธ์ที่งอกงามระหว่างทาง

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้แล้ว เพื่อให้รู้ลึกถึงคุณค่าของทรัพยากรท้องถิ่นอย่างแท้จริง จึงคิดทำแผนที่ GPS ระบุพิกัดของดีแพรกหนามแดงทั้ง 6 หมู่บ้าน ว่าแต่ละหมู่บ้านมีทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นจุดเด่นหรือมีผลิตภัณฑ์ชุมชนอะไรบ้าง โดยมีฟลุ๊คที่ชอบเทคโนโลยีนำความรู้ด้านนี้มาใช้ต่อยอดการทำโครงการ

ฟลุ๊ค บอกว่า ข้อมูลที่ได้แสดงขอบเขตตำบลและภาพรวมคร่าวๆ ว่าแต่ละหมู่บ้านมีทรัพยากรสำคัญอะไร แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์ เพราะตั้งใจลงไปสำรวจทรัพยากรในแต่ละหมู่บ้านอย่างจริงจังอีกครั้ง

ผลจากการออกไปจับขอบเขตเพื่อทำแผนที่ GPS ตำบลแพรกหนามแดงครั้งนั้น ทีมงานได้พบดงมะพร้าวทิ้งร้างจำนวนมากในพื้นที่หมู่ 1 และหมู่ 2 พวกเขาจึงคิดนำทางมะพร้าวมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ งานจักสานจากทางมะพร้าว เป็นไอเดียใหม่ที่ผุดขึ้นระหว่างทาง โดยมี ขนิษฐา สุขกระจ่าง แม่ของอ้อมเป็นวิทยากรหลัก รับหน้าที่สอนทักษะการจักรสานให้คนในชุมชน

นอกจากการสานเป็นรูปทรงทั่วไป อย่างเช่น ตะกร้าถือพกพาแล้ว แอลและทีมงานยังคิดดัดแปลงงานจักสานเป็นรูปทรงอื่นๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ เช่น ที่ใส่แก้วกาแฟและที่ใส่ขวดแก้ว เป็นต้น ทั้งนี้ ทีมงานตั้งใจนำผลิตภัณฑ์ไปวางขายในร้านข้าวใหม่ปลามัน ซึ่งเป็นร้านอาหารของผู้ใหญ่ใจดีในชุมชนที่ให้การสนับสนุนกิจกรรมของเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด

เห็นอย่างนี้ใช่ว่าการทำงานจะราบรื่น แม้ทีมงานจะอยู่ในชุมชนสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงด้วยกัน แต่ด้วยวัยที่ต่างกัน บางคนเรียนต่างชั้น บางคนทำงานแล้ว เวลาว่างของทีมจึงหาได้ยากย่ิง ด้วยแต่ละคนต่างมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ซึ่งภาระที่ว่าไม่ใช่แค่การเรียนเท่านั้นแต่ยังมีกิจกรรมเพื่อสังคมชุมชนที่ทีมงานแต่ละคนอาสาเข้าไปทำอีกด้วย เช่น นิกที่ดำรงตำแหน่งประธานนักเรียนต้องรับผิดชอบงานในโรงเรียนหลายอย่าง ขณะที่แอลก็ต้องรับผิดชอบงานหลายตำแหน่งในชุมชน ส่วนอ้อมที่ศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยก็มีภาระด้านการเรียนและการทำกิจกรรมร่วมกับมหาวิทยาลัยอยู่ไม่น้อย การทำโครงการจึงเดินไปได้ช้า

“เราใช้วิธีเอาตารางงานแต่ละคนมากางดูว่าวันไหนว่างตรงกัน แล้วก็นัดกันทำกิจกรรมเลย ถ้าไม่ทำแบบนี้คงไม่สามารถทำโครงการได้ตามแผนที่วางไว้” นิก กล่าวถึงวิธีการแก้ปัญหา

อย่างไรก็ตามแม้จะมีปัญหาเรื่องเวลามาถ่วงดุลการทำงาน แต่ก็ไม่ทำทีมงานย่อท้อ พวกเขาใช้ทุกโอกาสที่มีเวลาว่างลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชนของตน จนเกิดความรู้สึกรักและหวงแหนสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชน ดังคำกล่าวที่แอล บอกไว้ว่า “ถ้าคนในชุมชนเห็นคุณค่าของทรัพยากรไม่ว่าจะเป็นคนดั้งเดิมหรือคนที่ย้ายมาอยู่ใหม่เพื่อทำมาหากิน ต่อให้นำทรัพยากรมาทำประโยชน์ แต่เขาจะใช้ด้วยความรัก ด้วยการปลูกใหม่ขึ้นมาทดแทนเพื่อช่วยรักษาไม่ให้หมดไป มันจะไม่มีทางหมดลงมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะทุกคนรู้และร่วมมือกัน”

“การได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก เปลี่ยนการใช้ชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง จากคนที่ไม่คิดอะไร กลายเป็นคนชอบคิด คิดเยอะ และคิดมากขึ้น แม้จะตอบไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นข้อดีหรือข้อเสีย แต่เธอบอกว่า การคิดมาก คิดเยอะทำให้เธอได้ทดลองทำ เพื่อค้นหาคำตอบ และสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง”

“กล้าใหม่” สร้างสรรค์ชุมชน

ผลของการทำโครงการนอกจากจะสร้างความรักความหวงแหนในทรัพยากรของแผ่นดินถิ่นเกิดแล้ว ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในตัวทีมงานไม่น้อย

แอล บอกว่า การได้มีโอกาสเข้าร่วมโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก เปลี่ยนการใช้ชีวิตของเธอไปอย่างสิ้นเชิง จากคนที่ไม่คิดอะไร กลายเป็นคนชอบคิด คิดเยอะ และคิดมากขึ้น แม้จะตอบไม่ได้ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นข้อดีหรือข้อเสีย แต่เธอบอกว่า การคิดมาก คิดเยอะทำให้เธอได้ทดลองทำ เพื่อค้นหาคำตอบ และสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างจากอดีตอย่างสิ้นเชิง

เมื่อถามว่า การทำงานในโครงการวิจัยของผู้ใหญ่กับการทำโครงการของตนเองแตกต่างกันอย่างไร แอลบอกว่า ใช้ทักษะแตกต่างกัน งานวิจัยผู้ใหญ่นำเราตาม ส่วนงานโครงการเราต้องคิดและลงมือทำด้วยตนเอง ผู้ใหญ่จะคอยดูให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ ต้องเข้าใจบทบาทหน้าที่และเข้าใจเนื้องานที่รับผิดชอบ

แอล บอกอีกว่า ปีแรกที่ทำโครงการ ยากมาก ทั้งหวาดกลัวและหวาดเกรงว่าจะทำไม่ได้ จำได้ว่าตอนที่ต้องโทรติดต่อประสานงานกับผู้รู้ให้เข้ามาช่วยเหลือโครงการ ไม่รู้จะพูดอธิบายอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจว่าพวกเรากำลังทำอะไรเพื่อชุมชนแพรกหนามแดง แต่การไม่วางเฉยต่องานที่ต้องรับผิดชอบในสถานการณ์เฉพาะหน้า ความไม่เกี่ยงงาน และความช่างสังเกต ทำให้แอลได้พัฒนาทักษะการทำงาน จนมีความกล้ามากขึ้น จนถึงตอนนี้เธอสามารถติดต่อประสานงานกับผู้รู้และคนแปลกหน้าได้คล่องแคล่วและไม่รู้อึดอัดเหมือนที่ผ่านมา

“วิธีทำงานก็ดูน้าแมว-นิภา บัวจันทร์ ลุงเปี๊ยก-สมศักดิ์ ริ้วทอง ว่าเวลาเขาคุยติดต่องานหรือเวลาปรึกษาหารือกันในกลุ่มผู้ใหญ่เขาพูดกันยังไง เพราะทำงานกับเขาตลอด มีครั้งหนึ่งที่ต้องทำเอง เพราะไม่มีผู้ใหญ่อยู่เลย ถ้าเราไม่ทำ งานก็ไม่เดิน เลยต้องลองทำ พอทำบ่อยครั้งก็มีความกล้ามากขึ้น เทคนิคที่ใช้คือ ตอนโทรประสานงานจะถามเขาก่อนว่า ว่างไหม ถ้าเขาว่างเราค่อยอธิบายต่อไปว่าอยากขอความช่วยเหลือเขาเรื่องอะไร แล้วเขาสะดวกมาหรือไม่”

แม้แรงผลักดันให้ต้องทำโครงการในช่วงแรกเกิดขึ้นเพราะโดนบังคับ แต่การเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิจัยกับผู้ใหญ่ นอกจากจะส่งต่อกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบแล้ว ยังส่งผ่านความสนใจใคร่รู้และจิตวิญญาณของการเป็นนักค้นหา นักทดลอง และนักเรียนรู้ให้แอลอย่างเต็มที่

“บอกไม่ได้เหมือนกันว่าความรู้สึกอยากคิด อยากลองทำสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นได้อย่างไร เห็นผู้ใหญ่ทำมาก่อน ถ้าเราทำเหมือนที่ผู้ใหญ่ทำมา เราก็ได้แค่ทำเหมือน ผลลัพธ์ที่ได้ไม่แตกต่าง เลยอยากคิดเองทำเอง คิดแล้วลองทำ เผื่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะช่วยเสริมงานของผู้ใหญ่ให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น”

ส่วน นิก แม้จะเพิ่งเข้าร่วมโครงการในปีนี้ แต่เขาไม่ใช่มือใหม่เสียทีเดียว เพราะเคยร่วมเรียนรู้กับแอลมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อแอลชักชวนให้ร่วมโครงการเขา แม้จะมาด้วยความเกรงใจ แต่อยากพัฒนาศักยภาพของตนเองด้วย ซึ่งก็ไม่ผิดหวังการทำโครงการครั้งนี้ทำให้เขามองเห็นศักยภาพของตนเองชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะภาวะความเป็นผู้นำและความกล้าแสดงออกที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จากเมื่อก่อนไม่เคยเข้าไปมีบทบาททำกิจกรรมที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนจำนวนมาก ไม่ชอบแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ แต่ปัจจุบันเขาสามารถผันตัวเองมาเป็นประธานนักเรียน ที่ต้องออกไปพูดคุยประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงได้ จากเดิมที่ยืนขาสั่นมือสั่นพูดไม่ออก จนวันนี้การพูดหน้าเสาธงกลายเป็นเรื่องง่ายสำหรับนิก

นอกจากการพูดหน้าเสาธงแล้ว ปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนอื่นก็ดีขึ้นตามไปด้วย นิก บอกว่า เมื่อก่อนโรงเรียนตลองสมบูรณ์ห้องน้ำสกปรกมาก สิ่งกลิ่นเหม็นไปทั่ว แม้แต่เขาเองยังไม่ยอมเข้าห้องน้ำโรงเรียนเลย แต่พอเป็นประธานนักเรียนก็ต้องหาทางแก้ไข เพราะโรงเรียนไม่มีภารโรง จึงใช้วิธีแบ่งเวรนักเรียนทุกระดับชั้นให้ช่วยรักษาความสะอาดห้องน้ำและจัดการขยะ จากเดิมที่ไม่ชอบคุยกับใครเวลาอยู่โรงเรียน ตอนนี้ต้องหันมาคุยกับทุกคน เพื่อให้โรงเรียนมีระเบียบเรียบร้อยขึ้น จนตอนนี้ห้องน้ำสะอาดจนเป็นที่พอใจของนักเรียนและได้รับคำชื่นชมจากคุณครู

นิก ย้ำว่า เขานำกระบวนการทำงานในโครงการมาปรับใช้กับการทำงานในฐานะประธานนักเรียนที่ไม่ได้ใช้แค่ “การออกคำสั่ง” แต่จะลงไป “ดูแลและทำงานร่วมกับนักเรียนด้วยตนเอง”

นิก เล่าย้อนไปถึงช่วงแรกที่ได้เข้าร่วมโครงการว่า เมื่อได้รับโทรศัพท์จากแอลให้ออกมาช่วยทำกิจกรรม ตนรู้สึกรำคาญอยู่พอสมควร เพราะอยากอยู่บ้านเฉยๆ มากกว่า แต่ “ความเกรงใจ” เป็นเงื่อนไขผลักดันให้ต้องออกมาและความเกรงใจก็ได้เปลี่ยนเป็น “ติดใจ” เมื่อได้มาลงมือปฏิบัติจริง

“ถ้าเราสั่งอย่างเดียว แล้วไม่ทำอะไรเลย น้องๆ ก็คงไม่ทำตาม เหมือนช่วงแรกที่ทำโครงการแม้พี่แอลจะสั่งให้เราทำ แต่พี่เขาทำให้เราเห็นด้วย จากเดิมที่เข้าร่วมโครงการด้วยความเกรงใจ ก็กลายเป็นอยากมาทำ เพราะได้ลองทำหลายอย่างที่ไม่เคยทำ เช่น การลงพื้นที่สำรวจชุมชน การพูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้ใหญ่ในพื้นที่ การทำกิจกรรมกับเด็ก ที่สำคัญคือยิ่งทำก็ยิ่งรู้จักบ้านของตัวเองมากขึ้น มาคิดเปรียบเทียบดูกับเมื่อก่อนที่อยู่บ้านเฉยๆ เห็นชัดเลยว่าที่ผ่านมาตัวเองไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากกิน ดูโทรทัศน์ แล้วก็นอน”

ด้าน เบลแม้จะเป็นเด็กเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่ติดตามมาให้กำลังใจรุ่นพี่เวลาทำกิจกรรมต่างๆ เอ่ยขึ้นอย่างน่าสนใจว่า “อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ทำอะไร แล้วก็ยังไม่ได้ความรู้ แต่มากับพี่ๆ ได้ความรู้ เพราะได้มาดูมาเห็นสิ่งพี่ๆ ทำ”

“ทำงานกับเด็กต้องทำตัวเหมือนเพื่อน เพื่อให้เด็กกล้าเขามาพูดคุยขอคำปรึกษา ขณะเดียวกันก็ต้องวางตัวให้เด็กมีความศรัทธายำเกรง ด้วยการยอมรับฟังความคิดเห็น และไม่ตั้งตัวเป็นผู้ตัดสินความคิดของเด็ก”

ผู้หนุนเสริมกระบวนการสร้างชุมชนเข้มแข็ง

ลุงชอบ-บุญชอบ พ่วงสำราญ ผู้ใหญ่ใจดีอีกท่าน บอกว่า กลุ่มงานจักรสานเปิดพื้นที่ให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้ใช้เวลาว่างมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน โดยมีทีมงานเด็กและเยาวชนเป็นกำลังเสริม ในส่วนของผู้ใหญ่จะมีการเรียนรู้ร่วมกันก่อนในทุกขั้นตอน หลังจากนั้นจึงแบ่งหน้าที่ตามความถนัด โดยลุงชอบรับหน้าที่เป็นผู้หาทางมะพร้าว และเหลาทางมะพร้าวเตรียมไว้ เพราะเป็นวัสดุสำคัญในการสาน และเตรียมขึ้นโครงไว้สำหรับการถักในลำดับต่อไป

“ผู้ใหญ่เริ่มทำงานกันมาก่อน เรารู้ถึงความเหนื่อยยากลำบาก หลายครั้งก็ท้อใจเพราะคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือ ที่ผ่านมาขนาดเป็นผู้ใหญ่ทำงานเองหลายคนยังมองว่ามีปัญญาแค่ห่างอึ่งจะมาทำวิจัยหรือมาทำงานพัฒนาชุมชนอะไรได้ แต่พวกเราก็พยายามกันมาเป็นสิบปีจนได้ผล”

เมื่อทีมงานเข้ามาขอความช่วยเหลือ ลุงชอบจึงให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพราะรู้ดีว่าการทำงานชุมชนนั้นไม่ง่ายและอยากให้เด็กและเยาวชนมีกำลังใจทำโครงการ เพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรุ่นหลังได้รู้จักชุมชนตนเอง

“ส่วนใหญ่เด็กๆ จะเข้ามาสอบถามข้อมูล เรื่องไหนที่รู้เราก็บอกเขาทันที เช่น ถามว่าพืชชนิดนี้ชื่ออะไร ใช้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง อยู่ตรงไหน เราก็พาไปดู เขาอยากได้วัตถุดิบอะไรก็หามาให้ เรื่องไหนที่เราไม่รู้ก็พาไปหาผู้รู้ที่อธิบายได้จริง ถ้าเราไม่ช่วยเหลือตรงนี้ สิ่งดีงามในชุมชนจะสูญหายไป”

ด้าน ป้าเกษมสุข หิรัญวัฒน์ ชาวบ้านในชุมชนเคหสถานบ้านมั่นคง ที่คลุกคลีกับทีมงานมาตั้งแต่เด็ก บอกว่า 2-3 ปีที่ผ่านมานี้แอลเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก เดิมเขาเป็นคนเอื่อยเฉื่อยไม่กระฉับกระเฉง ไปทำงานกับผู้ใหญ่ที่ไหนนั่งก้มหน้าตลอด แต่ตอนนี้เขาสามารถลุกขึ้นมาเป็นแกนนำเยาวชน สานต่องานจากกลุ่มผู้ใหญ่ในชุมชนบ้านมั่นคง ทั้งในเรื่องการประสานงาน การพาบุคคลภายนอกศึกษาดูงานในชุมชน รวมไปถึงริเริ่มทำโครงการภายใต้การนำของกลุ่มแกนนำเยาวชนเอง

ขณะที่ลุงชอบ เสริมว่า แต่เดิมแอลเป็นคนโผงผาง ก้าวร้าว พูดจาไม่เข้าหูคน แต่การทำงานร่วมกับผู้ใหญ่และคนหมู่มากในชุมชน รวมทั้งการทำโครงการขัดเกลาพฤติกรรมและวิธีคิดจนแอลใจเย็นและมีความสุภาพมากขึ้น คำพูดคำจาและกิริยาท่าทางเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนผู้ใหญ่ในกลุ่มบ้านมั่นคงตั้งให้แอลเป็นเลขานุการคอยช่วยขับเคลื่อนการทำงานของกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ และสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคงอีกด้วย

จากประสบการณ์ทำงานกับกลุ่มเยาวชน ลุงชอบ บอกว่า ทำงานกับเด็กต้องทำตัวเหมือนเพื่อน เพื่อให้เด็กกล้าเขามาพูดคุยขอคำปรึกษา ขณะเดียวกันก็ต้องวางตัวให้เด็กมีความศรัทธายำเกรง ด้วยการยอมรับฟังความคิดเห็น และไม่ตั้งตัวเป็นผู้ตัดสินความคิดของเด็ก

ในสายตาของผู้ใหญ่ที่ให้การสนับสนุนการทำโครงการของกลุ่มเยาวชนมาตั้งแต่ต้น น้าแมว - นิภา บัวจันทร์ และ ลุงเปี้ยก - สมศักดิ์ ริ้วทอง พี่เลี้ยงโครงการในปีแรก และเป็นทีมวิจัยท้องถิ่นพื้นที่แพรกหนามแดง ย้ำว่า ทีมงานรู้จักนำความรู้พื้นฐานจากการเข้าไปทำความรู้จักชุมชนในปีแรกมาใช้สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นรูปธรรมในปีที่ 2 สิ่งที่ได้ “รู้จัก” แตกหน่อออกมาเป็นการ “รู้ทำ” คือ รู้ว่าจะขยายผลการทำโครงการได้อย่างไร ปีแรกเด็กและเยาวชนได้รู้ว่าใบจากสามารถนำมาใช้เย็บมุงหลังคาได้ ปีนี้เขาทดลองนำส่วนประกอบของต้นจากมาสกัดสีย้อมผ้า ส่วนการทำแผนที่ GPS ของดีแพรกหนามแดงก็เป็นการขยายวงเข้าไปทำความรู้จักทรัพยากรในขอบเขตที่กว้างขึ้น เพื่อให้รู้ว่าในชุมชนเรายังมีของดีอะไรอีกบ้าง

“ปีนี้ทีมงานได้รู้ลึกขึ้น แล้วเชื่อมโยงสิ่งที่รู้อยู่ก่อนแล้วไปพัฒนาเป็นสิ่งใหม่ได้ พอเขารู้เขาก็พากลุ่มเด็กและเยาวชนที่สนใจไปเรียนรู้ด้วยกัน แล้วนำสิ่งที่รู้มาสร้างสรรค์ผลงานต่อยอดออกไปอีกซึ่งเป็นการเรียนรู้ที่ไม่รู้จบ” ลุงเปี้ยก กล่าว

นอกจากการส่งไม้ต่อเพื่อเข้ามาทำโครงการของกลุ่มแกนนำเยาวชนแล้ว ลุงเปี้ยก บอกว่า ผู้ใหญ่เองก็ต้องพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับเด็กด้วย ในปีนี้ลุงเปี้ยกจึงวางมือจากการเป็นพี่เลี้ยงโครงการเยาวชนออกมาเป็นผู้สังเกตการณ์ แล้วส่งต่อหน้านี้ให้ ผึ้ง-บังอร ช่วยชูวงค์ เข้ามาดำเนินงานต่อ จากบทบาทผู้สังเกตการณ์ในปีแรก กระทั่งได้เข้ามาทำหน้าที่พี่เลี้ยงในปีที่ 2 ผึ้ง บอกว่า เธอได้ปรับเปลี่ยนและพัฒนามุมมองความคิดที่มีต่อเด็กและเยาวชนไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมไม่เคยสนใจเด็กคนอื่นนอกจากหลานตัวเอง ปัจจุบันเธออยากเข้าไปช่วยเหลือและชักจูงเด็กและเยาวชนในชุมชนให้เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกันให้มากที่สุด เนื่องจากได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของหลานที่เป็นเด็กเกเร ไม่เชื่อฟังผู้ใหญ่ แต่หลังจากได้เข้ามาทำกิจกรรมในโครงการกลับมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นและมีความรับผิดชอบต่อตัวเอง

“เราได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับน้องๆ แกนนำ จากเดิมเป็นคนไม่ค่อยพูด ไม่แสดงความคิดเห็น ตอนนี้เราต้องพูดและแสดงความคิดเห็น เพราะเรามีหน้าที่ต้องทำและรับผิดชอบ แต่ในส่วนของการคิดวางแผนโครงการจะปล่อยให้ทีมงานคิดทำในสิ่งที่เขาอยากทำ จะไม่เข้าไปแทรกแซง คอยให้คำปรึกษาอยู่ห่างๆ เท่านั้น”

จากปีแรกที่โดนบังคับให้ทำโครงการ 1 ปีผ่านไป การบังคับเปลี่ยนเป็นการ “อาสาเข้ามาเรียนรู้” เรื่องราวของทรัพยากรในชุมชน จนก่อเกิดสำนึกรักแผ่นดินถิ่นเกิด ด้วยรู้ดีว่าบ้านเรายังมีของดีอีกมากที่ควรค่าแก่การรักษาและพัฒนาต่อยอดเพื่อให้คนในชุมชนอยู่ได้และอยู่ดีมีความมั่นคงบนฐานการพึ่งพิงทรัพยากรแบบอิงอาศัย ใช้พืชพันธุ์ในท้องถิ่นผลิตเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าให้กับชุมชนแล้ว การทำโครงการของพวกเขายังช่วยเสริมแรงการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนแพรกหนามแดงของกลุ่มผู้ใหญ่ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะความเข้มแข็งด้านกำลังคนที่มีการสานต่อคนทำงานจากรุ่นเล็กไปจนถึงรุ่นใหญ่ จนมั่นใจได้ว่าแพรกหนามแดงจะเป็นชุมชนเข้มแข็งต้นแบบแห่งหนึ่งของประเทศต่อไป


โครงการพาน้องเรียนรู้ประโยชน์จากทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อขยายผลสู่คนในชุมชนบ้านมั่นคง

ที่ปรึกษาโครงการ : บังอร ช่วยชูวงค์

ทีมทำงาน : เยาวชนสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง

  • วีรวรรณ ดวงแข ผู้ช่วยนักวิจัยท้องถิ่นในชุมชน
  • ธเนศ สร้อยทอง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านคลองสมบูรณ์
  • สหธน ไม้คำหอม ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนดรุณานุกูล
  • อัญชนา ดีไสว นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และ
  • สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี
  • พัชร์ศังกร ปั้นทองคำ วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา