การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ภูมิปัญญาการทำกาละแมมอญ ชุมชนบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม ปี 2

รู้เพื่อรักษ์กาละแมมอญบางจะเกร็ง

โครงการศึกษากาละแมมอญเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง


เพราะเป็นวัยรุ่น นิสัยใจร้อน หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน สนใจแต่ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น คือคุณลักษณะพื้นฐานที่ทีมงานทุกคนมี แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการเด็กและเยาวชนฯ ประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรมที่มากถึง 5 ครั้งกับพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาชนฯ และภาระงานที่ต้องรับผิดชอบเพื่อนำพาโครงการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้พวกเขามีความอดทนและสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของตัวเองได้ดีขึ้นตามไปด้วย เห็นได้จากเวลาต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้า หรือเมื่อต้องต่อสู้ความรู้สึกขี้เกียจซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ทีมงานทุกคนบอกว่า รับมือได้ดีขึ้น

ความรู้สึกอยากท้าทายตัวเอง และความสนุกที่ได้รับระหว่างทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกปีที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มเยาวชน Chip Munk สานต่อโครงการเป็นปีที่ 2 แม้เพื่อนร่วมทีมจะมาจากต่างโรงเรียนคือ โรงเรียนศรัทธาสมุทร โรงเรียนถาวรานุกูล และโรงเรียนอัมพวันวิทยาลัยเหมือนเดิมแต่เพราะมีประสบการณ์มาแล้ว ก่อนเริ่มทำโครงการปีนี้ ทีมงานจึงนำบทเรียนและข้อจำกัดจากปีที่แล้วมาวิเคราะห์ จนพบปัจจัยที่เป็นอุปสรรคในการทำงานคือ ระยะทาง เมื่อรู้เหตุแห่งปัญหา ปีนี้พวกเขาจึงขอแก้มืออีกครั้งด้วยการทำโครงการศึกษากะแลมอญเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง

ทีมงานเดิมเพิ่มเติมคือ “แรงใจ”

ปีนี้ทีมงานจึงมีทั้งหน้าเก่าหน้าใหม่ผสมกัน ทีมเก่าคือ นัท–สรัลพร มีนะวาณิชย์ ฝ้าย–ธนาภรณ์ พลพุก แนน–สุธารินี กลัดกลีบ และ พี–พีรกานต์ ชัยชนะ มีสมาชิกใหม่ที่เข้ามาเสริมทีม ได้แก่ กิต–กิตติ อนุวิชัยรักษา ที่สนใจเข้ามาช่วยทำกิจกรรมร่วมกับกลุ่ม Chip Munk ตั้งแต่ปีที่แล้ว

“ผลงานในปีแรกไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ ปีนี้เลยอยากทำให้สำเร็จ” นัท ฝ้าย และแนน กล่าวอย่างมุ่งมั่นและพร้อมเพรียงกัน

ด้วยวิเคราะห์แล้วว่า อุปสรรคจากการทำโครงการปีแรกคือ ระยะทาง ที่ทำให้ไม่สามารถทำงานในพื้นที่ได้ ทั้งยังต้องเสียงบประมาณไปกับค่าใช้จ่ายจากการเดินทางเป็นจำนวนมาก ประกอบกับไม่มีสมาชิกในกลุ่มอาศัยอยู่ในชุมชนเลย การทำโครงการจึงขาดความเข้มข้น ขาดปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน ปีนี้ทีมงานจึงเลือกพื้นที่ใกล้ๆ เพื่อเดินทางได้สะดวก และพื้นที่เป้าหมายต้องเกี่ยวข้องกับสมาชิกในทีมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

พื้นที่ดอนหอยหลอด ตำบลบางจะเกร็ง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม คือเป้าหมายแรกที่ทีมงานนึกถึงและกลายเป็นจุดตั้งต้นของการสืบค้นความรู้ด้านประวัติความเป็นมาและประเพณีวัฒนธรรมที่น่าสนใจของทีมงาน

ฝ้าย บอกว่า เหตุผลที่ทีมงานสนใจพื้นที่ดอนหอยหลอด เพราะเข้าถึงง่าย ไม่ไกลจากบ้านของทีมงาน และยังมีกิตสมาชิกใหม่ของทีมอาศัยอยู่ในตำบลนี้ด้วย แต่ที่สำคัญคือดอนหอยหลอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศสำคัญของจังหวัดที่กำลังประสบปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องขยะ แต่พอสอบถามข้อมูลจากเจ้าหน้าที่ที่ดูแลและอนุมัติการเข้ามาทำกิจกรรมพัฒนาในพื้นที่ดอนหอยหลอดพบว่า มีโครงการเข้ามาดำเนินงานในพื้นที่นี้เป็นจำนวนมาก เลยเปลี่ยนเป้าหมายไปทำโครงการในพื้นที่อื่นที่ยังไม่มีคนทำ จนได้ไปเจอกับผู้ใหญ่ในชุมชนที่มีความรู้เรื่องภูมินิเวศและการประมงของจังหวัดสมุทรสงคราม ทำให้ได้รู้ว่าพื้นที่ตำบลบางจะเกร็งยังมี อาชีพและวัฒนธรรมด้านอาหารการกินของชาวมอญที่น่าสนใจอยู่มาก

ข้อมูลที่ได้รับจากการสัมภาษณ์ผู้รู้เรื่องชาวมอญและการทำประมงเป็นประเด็นที่ทีมงานสนใจ แต่เพราะต้องการจำกัดหัวข้อการทำโครงการให้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น จึงตัดสินใจเลือกศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับชาวมอญเพียงอย่างเดียว โดยมุ่งเน้นไปที่วัฒนธรรมอาหารคือ “กาละแมมอญ” หรือ “กาละแมรามัญ”

นัท เสริมต่อว่า เหตุผลสำคัญที่ทีมต้องเลือกทำประเด็นเดียว เพราะตอนนี้พวกเราเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ต้องให้เวลากับการสอบเรียนต่อในชั้นอุดมศึกษา เลยเห็นด้วยกับพี่เลี้ยงว่าไม่ควรทำโครงการที่มีหัวข้อใหญ่เกินตัว ไม่เช่นนั้นจะดูแลไม่ทั่วถึง พอดีกับที่กิตเข้ามาเป็นสมาชิกใหม่เป็นคนบางจะเกร็ง บอกว่า หากไม่มีใครสืบต่อกาละแมมอญอาจสูญหายไป เพราะตอนนี้เหลือเพียงแค่ครอบครัวเดียว ทุกคนเลยลงความเห็นว่า ถ้าเราทำโครงการนี้ชุมชนบางจะเกร็งก็จะได้ประโยชน์

“การพูดคุย ตั้งคำถามเพื่อเก็บข้อมูลจากคนที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน เป็นงานที่ใช้เวลาและต้องใช้ความอดทน ยิ่งเจอสถานการณ์ตอบไม่ตรงคำถาม ไม่ให้ความร่วมมือ ก็ยิ่งต้องอดทนมากขึ้น พวกเราในกลุ่มขี้หงุดหงิดกันทุกคน การทำงานช่วงแรกๆ ระหว่างลงพื้นที่ใครรู้สึกไม่ไหวใกล้หมดความอดทนแล้ว ก็จะสลับให้คนอื่นมารับหน้าแทน แต่ช่วงหลังพวกเราปรับตัวได้ดีขึ้น อารมณ์หงุดหงิดน้อยลง มีอะไรก็ยิ้มอย่างเดียว”

เชื่อมโยงข้อมูลต่อภาพความทรงจำของชุมชน

เมื่อเอ่ยถึงเป้าหมายของโครงการศึกษากาละแมมอญเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง ทีมงานบอกว่า พวกเขาต้องการศึกษาเรียนรู้เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจวัฒนธรรมอาหาร (กาละแมมอญ) ซึ่งเป็นของดีประจำชุมชนบางจะเกร็ง และเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ดังกล่าวให้เด็กเยาวชน รวมถึงผู้ใหญ่ในชุมชน หันกลับมาเห็นคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน แล้วลุกขึ้นมาสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นดั้งเดิมอีกครั้ง

หากเทียบกับการทำโครงการในปีที่ผ่าน พัฒนาการการทำงานที่ทำให้ทีมงานรู้สึกภูมิใจมากที่สุด คือ การเข้าไปประสานงานติดต่อกับผู้คนในชุมชน ทำให้ได้รู้จักผู้รู้หลายท่านหลากบทบาทหน้าที่ จนสามารถเก็บข้อมูลได้ครอบคลุมและรอบด้าน

“ปีที่แล้วผู้รู้ที่เราเข้าไปพูดคุยด้วยเป็นคนที่พี่เลี้ยงโครงการรู้จักแล้วแนะนำให้เราเข้าไปสัมภาษณ์ แต่ปีนี้เราเข้าไปกันเอง ตั้งต้นถามจากคนในเทศบาลตำบลบางจะเกร็งก่อนแล้วได้รับคำแนะนำต่อไปเรื่อยๆ ตัวเราเองก็ได้พัฒนาทักษะการถาม การเข้าหาผู้คน ค่อยๆ เรียนรู้ไปจากการการสัมภาษณ์คนในชุมชน ยิ่งถามมากก็ยิ่งรู้มากขึ้น” นัท กล่าว

ฝ้าย บอกว่า การตั้งคำถามเพื่อสัมภาษณ์ผู้รู้ใช้วิธีถามจากข้อมูลพื้นฐานที่ทีมงานทำการบ้านมาก่อนจากการค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต รวมกับข้อมูลเป้าหมายที่อยากได้ในแต่ละครั้งที่ลงพื้นที่

“จากข้อมูลเบื้องต้นที่เตรียมมา เรามาช่วยกันคิดว่าสนใจเรื่องไหน แล้วยังขาดเรื่องใด คิดคำถามต่อยอดจากสิ่งที่ผู้รู้เล่าให้ฟัง และสิ่งที่เราสงสัยใคร่รู้ไปเรื่อยๆ” ฝ้าย อธิบายถึงวิธีการตั้งคำถาม

นัท ย้ำว่า การพูดคุย ตั้งคำถามเพื่อเก็บข้อมูลจากคนที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อน เป็นงานที่ใช้เวลาและต้องใช้ความอดทน ยิ่งเจอสถานการณ์ตอบไม่ตรงคำถาม และเมื่อคนในชุมชนไม่ให้ความร่วมมือก็ยิ่งต้องอดทนมากขึ้น

“บางครั้งผู้ใหญ่ไม่เข้าใจในสิ่งที่เราถาม เพราะภาษาที่ใช้สื่อสารคนละยุคสมัยกัน ถ้าเขาตอบไม่ตรงคำถามเราก็ต้องถามซ้ำ แต่เราก็อาจได้ข้อมูลเพิ่มเติมจากคำตอบที่ไม่ตรงคำถามนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นการถามต้องใช้ความอดทน พวกเราในกลุ่มขี้หงุดหงิดกันทุกคน การทำงานช่วงแรกๆ ระหว่างลงพื้นที่ใครรู้สึกไม่ไหวใกล้หมดความอดทนแล้ว ก็จะสลับให้คนอื่นมารับหน้าแทน แต่ช่วงหลังพวกเราปรับตัวได้ดีขึ้น อารมณ์หงุดหงิดน้อยลง มีอะไรก็ยิ้มอย่างเดียว” นัท กล่าว

ทีมงาน บอกว่า บรรยากาศการลงพื้นที่เก็บข้อมูลช่วงแรกเป็นไปอย่างราบรื่น แม้จะเป็นช่วงปิดเทอมแต่ก็สามารถจัดสรรเวลามาเจอกันได้ไม่ยาก เวลา 1 เดือนจึงหมดไปกับลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้อย่างต่อเนื่อง ทั้งประวัติชุมชน ภูมินิเวศ การประกอบอาชีพ ประเพณีและวัฒนธรรม แต่พี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชนฯ บอกว่า การเก็บข้อมูลของเรายังกระจัดกระจาย และขาดความเชื่อมโยง

“ที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะเวลาลงพื้นที่เก็บข้อมูลแต่ละครั้ง พวกเราไม่ได้มีการวางแผนว่าจะเก็บข้อมูลไหนบ้าง เราอยากรู้เรื่องอะไรก็ถามแต่เรื่องนั้น เช่น อยากรู้เรื่องการทำกาละแมก็ถามแต่เรื่องกาละแม อยากรู้ประวัติชุมชนก็ไม่ได้เชื่อมโยงไปถึงภูมินิเวศกับการประกอบอาชีพ ข้อมูลที่ได้จึงกระจัดกระจายไม่สามารถนำมารวมกันได้” ฝ้าย กล่าว

นัท เสริมว่า ตอนที่เราไปสัมภาษณ์กำนันปรีชา น้ำเงิน มีข้อมูลช่วงปี พ.ศ. 2510-2535 ขาดหายไป เพราะเป็นช่วงที่กำนันปรีชาติดเกณฑ์ทหาร เลยไม่ได้อยู่ในพื้นที่ พวกเราเลยคิดว่าน่าจะลองถามข้อมูลจากคนอื่นด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน

เมื่อเห็นช่องว่างของการเก็บข้อมูล ทีมงานจึงช่วยกันไล่เรียงข้อมูลที่เก็บมาได้อีกครั้ง เพื่อเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน แล้วหาส่วนปลีกย่อยที่ยังขาดหายไป โดยวางแผนลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้รู้เพิ่มเติม และทำแผนผังผู้รู้ในชุมชนร่วมกับชาวบ้าน ซึ่งทีมงานคาดหวังว่าข้อมูลทั้งหมดจะทำให้คนในชุมชนมองเห็นภาพรวมชุมชน ทั้งในส่วนของทรัพยากรบุคคลและคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ดูเหมือนการทำโครงการกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี แต่เมื่อถึงเวลาเปิดเทอม ด้วยภาระการเรียนที่แต่ละคนต้องมุ่งมั่นกับการหาที่เรียนต่อ ส่งผลให้การทำโครงการหยุดชะงักลง จนแผนงานล่าช้าออกไปมาก แต่ทีมงานก็ยังสามารถรวมตัวกันเก็บข้อมูลที่ตกหล่นไปได้ในที่สุด

ทีมงาน เล่าสรุปความถึงข้อมูลที่รวบรวมได้ว่า ตำบลบางจะเกร็ง ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านรามัญตะวันตก บ้านบางจะเกร็ง บ้านคลองกลาง บ้านฉู่ฉี่ และบ้านรามัญตะวันออก ประชากรส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาวมอญที่ลี้ภัยสงครามเข้ามาตั้งถิ่นฐาน โดยยึดอาชีพประมงเป็นอาชีพหลัก เนื่องจากทำเลที่ตั้งชุมชมอยู่ใกล้ริมน้ำแม่กลองเรื่อยไปจนถึงปากแม่น้ำ

ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตของคนในชุมชนเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อมีถนนตัดเข้าผ่านหมู่บ้าน ทำให้บ้านหมู่ 1 และหมู่ 5 ต้องแยกออกจากกัน นอกจากนี้การเกิดขึ้นของถนนพระราม 2 ยังทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายของคนในชุมชน กล่าวคือ เด็กและเยาวชนออกไปเรียนนอกหมู่บ้านมากขึ้น ผู้ใหญ่ละทิ้งการเกษตรออกไปหางานทำในเมือง ทิ้งคนเฒ่าคนแก่ให้อยู่ตามลำพังจนความสัมพันธ์ในครอบครัวขาดหาย ส่งผลให้การสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีต่างๆ ของชาวมอญค่อยๆ จางหายไป ในทางกลับกันสิ่งยั่วยุจากภายนอกก็ไหลเข้าสู่ชุมชน ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งสองทางทำให้คนในชุมชนค่อยๆ หลงลืมต้นทุนทรัพยากร วัฒนธรรม และความรู้เดิมในวิถีชีวิตของตนเอง

“การทำโครงการอย่างต่อเนื่อง 2 ปี ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ทั้งกระบวนการทำงานที่ต้องใช้ความเสียสละเป็นอย่างมากแล้ว ยังได้เรียนรู้การทำงานกับชุมชนว่าต้องมีความยืนหยุ่นสูง ไม่เอาความคิดของตัวเองเป็นที่ตั้ง”

บทเรียนจากงานสร้างความเข้าใจ

ข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้รู้ทำให้ทีมงานตกใจ เมื่อพบว่ากาละแมมอญ อาหารที่เป็นเอกลักษณ์ของตำบลบางจะเกร็ง ปัจจุบันเหลือเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นที่ยังคงทำกาละแมมอญเป็นอาชีพสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งก็คือครอบครัวป้านิภาที่ผลิตกาละแมมอญสดๆ จำหน่ายในวัดศรัทธาธรรม ตำบลบางจะเกร็ง จังหวัดสมุทรสงคราม

“กาละแมมอญเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว แต่กลับไม่ได้รับความสนใจจากคนท้องถิ่น” แนน กล่าว

ทั้งนี้ ทีมงาน บอกว่า กาละแมมอญมีความพิเศษกว่ากาละแมทั่วไปตรงส่วนผสมและวัสดุที่ใช้ห่อ ปกติจะห่อด้วยใบจาก แต่กาละแมมอญห่อด้วยใบหมาก แล้วนำมาตัดเป็นท่อนคล้ายเปลือกหอย

ด้วยความตั้งใจอยากสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ออกไปในวงกว้าง ทีมงานจึงบันทึกสาระสำคัญจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ลงในไทม์ไลน์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงสำหรับนำไปผลิตเป็นวิดีโอบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของตำบลบางจะเกร็งตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับสัมภาษณ์ความรู้สึกของผู้รู้ที่มีต่อการทำโครงการของทีมงาน รวมถึงผลความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของทีมงานเผยแพร่ผ่านยูทูปและเฟซบุ๊ก เพื่อเป็นความรู้และเป็นประโยชน์แก่ผู้คนทั่วไปแล้ว พวกเขาหวังว่าวิดีโอชุดนี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กและเยาวชนในชุมชนได้ย้อนรอยเรียนรู้ถึงรากเหง้าของตัวเองเหมือนพวกเขา

กล่าวได้ว่า การทำโครงการอย่างต่อเนื่อง 2 ปี ทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ทั้งกระบวนการทำงานที่ต้องใช้ความเสียสละเป็นอย่างมากแล้ว ยังได้เรียนรู้การทำงานกับชุมชนว่าต้องมีความยืนหยุ่นสูง ไม่เอาความคิดของเราเป็นที่ตั้ง

นัท อธิบายว่า สมาชิกแต่ละคนมีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่างกัน เขาเองก็มีภาระงานทางบ้านที่ต้องช่วยพ่อแม่ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวทุกวัน ส่วนวันธรรมดาต้องมาเรียนหนังสือ เพราะฉะนั้นเวลาที่มีให้กับการทำโครงการส่วนใหญ่จึงเป็นวันเสาร์อาทิตย์ แต่เมื่อตัดสินใจเข้ามารับผิดชอบทำโครงการแล้ว ทุกคนจึงต้องหาวันว่างมาทำงานด้วยกันให้ได้ ใครจะบอกว่าไม่มีเวลาเลยไม่ได้ เพราะถ้าเป็นแบบนั้นงานไม่มีทางเดินหน้าไปถึงเป้าหมายแน่นอน

“จะทำกิจกรรมแต่ละครั้ง เรามักคุยกันว่าขอแค่วันเดียว ว่างกันไหม สะดวกกันหรือเปล่า ต้องเคลียร์เวลาให้ตรงกัน แค่วันเดียวก็ยังดี ถ้าทุกคนมาและทำตามหน้าที่ของตัวเอง งานจะเสร็จเร็วและได้ตามเป้าหมายที่วางไว้” นัท เอ่ยขึ้น

ส่วน ความยืดหยุ่นในการทำงาน เป็นบทเรียนที่ทีมงานได้รับจากการเข้าไปสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน โดยเฉพาะเรื่องการนัดหมายเพื่อพบปะพูดคุยและสอบถามข้อมูลที่อาจต้องเลื่อนไปกะทันหันหรือเปลี่ยนแปลงแบบฉุกละหุก

“ครั้งแรกชาวบ้านอาจจะคิดว่าเรามาเล่นๆ เพราะเขาบอกว่าเคยมีนักเรียนหลายกลุ่มเข้ามานัดสัมภาษณ์แล้วไม่มา หรือมาแค่ครั้งสองครั้งก็กลับ พอมาถึงคราวที่เราต้องเข้าไปชวนคุยบ้าง ชาวบ้านเลยไม่ค่อยใส่ใจ แต่หลังจากผ่านครั้งแรกไปได้ การทำงานก็ง่ายขึ้น เหมือนเขาเห็นว่าเราตั้งใจจริงๆ” ฝ้าย อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน

“เมื่อก่อนไม่เคยทำกิจกรรมแบบนี้ ใช้ชีวิตปกติ พูดจาไร้สาระ แต่พอได้มาทำโครงการ ต้องคิดวางแผนงาน ต้องมีเหตุผลประกอบสิ่งที่ทำ การได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน กับเพื่อนเครือข่ายกลุ่มอื่นบ่อยๆ แถมกิจกรรมที่ทำยังเป็นสิ่งที่มีสาระและเป็นประโยชน์กับคนอื่น เลยทำให้เราพูดได้มีสาระมากขึ้น ยิ่งได้พูดกับคนจำนวนมากยิ่งทำให้เรามีความกล้า จึงมั่นใจที่จะพูดและถาม และรับรู้ได้ถึงการมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเด็กและเยาวชนฯ”

จัดการตัว จัดการใจ

เพราะเป็นวัยรุ่น นิสัยใจร้อน หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน สนใจแต่ตัวเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น คือคุณลักษณะพื้นฐานที่ทีมงานทุกคนมี แต่เมื่อได้เข้าร่วมโครงการเด็กและเยาวชนฯ ประสบการณ์เข้าร่วมกิจกรรมที่มากถึง 5 ครั้งกับพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชนฯ และภาระงานที่ต้องรับผิดชอบเพื่อนำพาโครงการไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ทำให้พวกเขามีความอดทนและสามารถจัดการกับอารมณ์ที่ฉุนเฉียวของตัวเองได้ดีขึ้นตามไปด้วย เห็นได้จากเวลาต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้า หรือเมื่อต้องต่อสู้ความรู้สึกขี้เกียจซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ทีมงานทุกคนบอกว่า รับมือได้ดีขึ้น

“ปีที่แล้วเรามีพี่เลี้ยงโครงการเด็กและเยาวชนฯ คอยช่วยทุกอย่าง พอปีนี้ไม่มีพี่เลี้ยงช่วย เราก็รู้หน้าที่ตัวเองโดยอัตโนมัติว่าใครต้องทำอะไรบ้าง คิดและวางแผนต่อได้เองว่าต้องทำอย่างไร แม้คนในชุมชนบางคนอาจไม่ให้ความร่วมมือ แต่ส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปหัวเสียหรือหงุดหงิดกับคนจำนวนน้อยที่ไม่ให้ความร่วมมือ” นัท กล่าวถึงวิธีคิดที่ช่วยให้อารมณ์ผ่อนคลายได้ดีขึ้น

ส่วนฝ้าย เสริมต่อว่า เธอใช้วิธียิ้มสู้ไว้ก่อน ต่อให้เขาบ่นมาก็ยิ้ม เราทำโครงการมา 2 ปีแล้ว คุยกับคนมาประมาณหนึ่ง เวลาเรียนจบไปทำงานจริงๆ เราน่าจะเจอภาวะกดดันมากว่านี้ ที่เจอมาถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ พอคิดได้ก็เปลี่ยนอารมณ์ให้ไม่หงุดหงิดฉุนเฉียว ยิ้มสู้อย่างเดียว การทำงานจึงง่ายขึ้น เพราะเมื่อเรายิ้มคนที่เราทำงานด้วยเขาก็จะอ่อนลงเอง ปีที่แล้วเราพลาดมาแล้ว ปีนี้เราต้องทำให้ดีขึ้น มีพี่ๆ คอยช่วยเหมือนปีก่อนก็ดี แต่ถ้าทำเองเราได้เรียนรู้และภูมิใจมากกว่า

การทำงานนอกจากจะช่วยปรับใจปรับอารมณ์กับคนในชุมชนและทีมงานแล้ว ยังก่อให้เกิดการเปลี่ยนในตัวทีมงานไม่น้อย แนน บอกว่า เธอมีความมั่นใจมากขึ้น เห็นได้จากที่เธอกล้าจับไมค์พูดในที่ชุมชนและสามารถเรียบเรียงคำพูดเพื่อสื่อสารให้ผู้ฟังเข้าใจได้

“ก่อนนี้ไม่เคยทำกิจกรรมแบบนี้ ใช้ชีวิตปกติ พูดจาไร้สาระ แต่พอได้มาทำโครงการ ต้องคิดวางแผนงาน ต้องมีเหตุผลประกอบสิ่งที่ทำ การได้เข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน กับเพื่อนเครือข่ายกลุ่มอื่นบ่อยๆ แถมกิจกรรมที่ทำยังเป็นสิ่งที่มีสาระและเป็นประโยชน์กับคนอื่น เลยทำให้เราพูดได้มีสาระมากขึ้น ยิ่งได้พูดกับคนจำนวนมากยิ่งทำให้เรามีความกล้า จึงมั่นใจที่จะพูดและถาม และรับรู้ได้ถึงการมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเด็กและเยาวชนฯ”

ส่วน นัท ที่มีโลกส่วนตัวสูงและค่อนข้างมีกำแพงต่อการปฏิสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ แต่ปัจจุบันกำแพงนั้นได้ถูกทลายลง เพราะต้องรับผิดชอบต่องานที่ทำ

“ถ้าผู้ใหญ่เดินหน้ามา นัทเดินถอยหลังทันที” ฝ้าย กล่าวเปรียบเทียบ

“ถ้าเราไม่ทำหรือมัวแต่คิดว่าไม่ชอบ ไม่อยากทำ อยากเบือนหน้าหนี เพื่อนก็ต้องทำแทนเรา ถ้าจะให้ทิ้งเพื่อน เราก็ไม่ทำแบบนั้นแน่ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องช่วยเพื่อน” นัท กล่าว

จากเด็กวัยรุ่น นิสัยใจร้อน หงุดหงิดง่าย ไม่อดทน สนใจแต่ตัวเอง ไม่สนใจผู้อื่น ไม่สนใจเรื่องราวรอบตัวใดๆ วันนี้การได้ลงมือทำโครงการที่ต้องพาตัวเองออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน ออกไปสัมพันธ์กับผู้คนที่หลากหลาย ได้ “เปิดโลกความคิด” ให้ทีมงานได้ฉุกคิดแล้วหันกลับมามองสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชนของตัวเอง เห็นคุณค่าของทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรท้องถิ่นที่อยู่รายล้อมรอบตัวแล้ว ผลนั้นยังย้อนคืนให้ทีมงานมองเห็นคุณค่าและศักยภาพของตัวเองว่า หากตั้งใจจริงและมีความรับผิดชอบ เป้าหมายที่ตั้งไว้ย่อมอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม เหมือนที่ทีมงานพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากการทำโครงการในปีนี้


โครงการศึกษากาละแมมอญเทศบาลตำบลบางจะเกร็ง

ที่ปรึกษาโครงการ : อาจารยเอ้ เอี่ยมลออ

ทีมทำงาน : โรงเรียนศรัทธาสมุทร

  • สรัลพร มีนะวาณิชย์
  • ธนาภรณ์ พลพุก
  • สุธารินี กลัดกลีบ
  • กิตติ อนุวิชัยรักษา โรงเรียนถาวรานุกูล
  • พีรกานต์ ชัยชนะ โรงเรียนอัมพวันวิทยาลัย