เส้นทางการเรียนรู้เรื่องมะพร้าว บทเรียนจากพื้นที่ของความมั่นคงทางอาหารและทางเลือกสู่ความมั่งคั่งในอาชีพ
โครงการรวมพลังสร้างสรรค์มะพร้าวชุมชน
ผมเป็นเด็กในชุมชน โตมาในสวน รู้วิธีทำทุกอย่าง แต่ก็รู้แค่ว่านี่คือน้ำตาลมะพร้าว แต่ไม่ได้รัก ไม่ได้ผูกพันกับมัน จนมีโอกาสได้ลงพื้นที่เรียนรู้ กระทั่งเข้าใจถึงความเป็นมาและความสำคัญของน้ำตาลมะพร้าวจากคำบอกเล่าของผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ ความรักความผูกพันจึงค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในหัวใจ...ทุกวันนี้กลับไปช่วยพ่อทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างแข็งขัน เพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของอาชีพของครอบครัว และตั้งใจว่าต่อไปหากทำอาชีพหลักด้านอื่น ก็จะยังยึดการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพเสริมอย่างแน่นอน
แม้เป็นจังหวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยด้วยมีพื้นที่เพียง 260,000 ไร่ แต่สมุทรสงครามหรือเมืองแม่กลองมีความเฉพาะของระบบนิเวศที่เป็นความพิเศษคือ มีระบบนิเวศ 3 น้ำ คือ น้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม เพราะอิทธิพลของดวงจันทร์ ที่ทำให้น้ำทะเลขึ้นลงวันละ 2 เวลา ยามเช้าเรียกว่า น้ำเช้า ยามเย็นเรียกว่า น้ำเย็น ระบบนิเวศแบบนี้ทำให้พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความมั่นคงทางอาหารมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากในน้ำมีปลา ในนามีข้าว และเกลือ ในทะเลมีกุ้งหอยปูปลา ในสวนมีมะพร้าว ลิ้นจี่ ส้มโอ แต่ที่สำคัญคือ ที่นี่มีวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องปรุงอาหารหลักๆ ครบรสทั้ง เกลือ กะปิ น้ำปลา และน้ำตาล
ด้วยความอุดมสมบูรณ์เช่นนี้ ส่งให้อาชีพหลักของคนแม่กลองในอดีตมีความหลากหลาย โดยขึ้นอยู่กับสภาพของพื้นที่ กล่าวคือ คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ติดทะเลส่วนใหญ่ทำประมงชายฝั่ง จับสัตว์น้ำเป็นอาหารและจำหน่าย จับเคยมาทำกะปิ ปลาเล็กปลาน้อยใช้ทำน้ำปลา บางส่วนทำนาเกลือ ถัดจากชายฝั่งทะเลเข้ามาในแผ่นดินระยะทาง 14-15 กิโลเมตรคือ พื้นที่น้ำกร่อย อาชีพหลักคือ การทำสวนมะพร้าว โดย 70 เปอร์เซ็นต์ เก็บน้ำหวานจากงวงมะพร้าวมาทำน้ำตาล อีก 30 เปอร์เซ็นต์ เก็บลูกมะพร้าวขาย ถัดจากน้ำกร่อยเข้ามาคือ พื้นที่น้ำจืดที่มีการทำนา ทำสวนผลไม้ขึ้นชื่อของแม่กลองคือ ส้มโอและลิ้นจี่ จึงเห็นได้ว่า คนแม่กลองในอดีตประกอบอาชีพตามสภาพภูมิศาสตร์ และใช้ภูมิปัญญาทำความเข้าใจต่อระบบนิเวศในการวางแผนการผลิต
สำหรับอาชีพชาวสวนมะพร้าวถือเป็นอาชีพดั้งเดิมที่อยู่คู่กับแม่กลองมายาวนาน ผลผลิตที่ได้ถูกแปรรูปเป็นน้ำตาลมะพร้าวที่ขึ้นชื่อ สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในพื้นที่อย่างมาก จนเคยมีการบันทึกไว้ว่า พ.ศ.2500-2510 จังหวัดสมุทรสงครามเป็นจังหวัดที่เสียภาษีสูงที่สุดในประเทศ เพราะมีรายได้จากน้ำตาล โดยในรอบ 1 ปีในช่วงนั้นสามารถผลิตน้ำตาลได้ถึง 1,200,000 ปี๊บต่อปี
แต่พอถึงปี พ.ศ.2516 ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเข้ามาเยือนแม่กลอง เมื่อถนนพระราม 2 เปิดใช้ แม่กลองกลายเป็นเมืองเปิด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 อย่าง คือ คนในที่ไม่มีที่ดินทำกิน ต้องออกไปทำมาหากินนอกพื้นที่ ขณะที่คนนอกเห็นว่า เมืองแม่กลองน่าอยู่ก็อพยพเข้ามาอยู่มากขึ้น การเปลี่ยนแปลงด้านกำลังคนดังกล่าวจึงส่งผลต่อการผลิตน้ำตาล เพราะขาดแรงงาน ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการเรียนหนังสือ คนจึงนิยมส่งลูกหลานเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น เมื่อจบมามีช่องทางทำมาหากินใหม่ๆ จึงหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน ไม่หันกลับมารับช่วงอาชีพดั้งเดิมจากบรรพบุรุษ สถานการณ์การทำสวนมะพร้าวของคนแม่กลองย่ำแย่ที่สุดในปี พ.ศ. 2526 เมื่อเขื่อนศรีนครินทร์สร้างเสร็จและเริ่มเก็บกักน้ำ ทำให้ไม่มีน้ำจืดไล่ลงแม่น้ำแม่กลอง เมื่อไม่มีน้ำจืดไล่ลงมาผสมน้ำเค็ม ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้จึงไม่สมบูรณ์ โดยเฉพาะมะพร้าวที่ลูกเล็กจนคนทยอยเลิกทำสวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าว
ด้านคนที่อพยพเข้ามาอาศัยในแม่กลอง เริ่มตั้งแต่การเข้ามาซื้อที่ดินเพื่ออยู่อาศัย เพราะที่ดินราคาถูก จนกระทั่งในปี พ.ศ.2548 การฟื้นคืนของตลาดน้ำอัมพวา ด้วยจุดขายนิเวศวิถีที่คนยังอยู่กับระบบนิเวศดั้งเดิม จุดกระแสความนิยม นำพานักท่องเที่ยวเข้ามา พร้อมๆ กับผู้ประกอบการที่มีทุนรอนและหัวคิดทางธุรกิจจากต่างถิ่น เข้ามาพัฒนาธุรกิจจนเปลี่ยนแปลงสภาพตลาดน้ำอัมพวาไปตลอดกาล
“ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่พัฒนาไปตามยุคสมัย แต่ส่งผลกระทบต่อภูมิปัญญาและวิถีของท้องถิ่น เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ แม้กระทั่งกลุ่มเยาวชนในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกที่เมื่อได้ทบทวนเรื่องราวของชุมชนตนเองจึงได้รับรู้ถึง การล่มสลายของวิถีท้องถิ่น โดยเฉพาะการลดลงของสวนมะพร้าว... จึงเกิดความสนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว อันเป็นพืชหลักของบรรพบุรุษ”
รู้ลึก...เพื่อบ้านเรา
ความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองที่พัฒนาไปตามยุคสมัย แต่ส่งผลกระทบต่อภูมิปัญญาและวิถีของท้องถิ่น เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ แม้กระทั่งกลุ่มเยาวชนในโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตกที่เมื่อได้ทบทวนเรื่องราวของชุมชนตนเองจึงได้รับรู้ถึง การล่มสลายของวิถีท้องถิ่น โดยเฉพาะการลดลงของสวนมะพร้าวและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่เปลี่ยนมือไปเป็นของนายทุน ที่รุกคืบเข้ามาสร้างตึกแถว ห้องพัก ห้างสรรพสินค้า และรีสอร์ท กำลังเปลี่ยนแปลงภาพเมืองที่แสนสงบและแสนพิเศษแห่งนี้ จึงเกิดความสนใจประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าว อันเป็นพืชหลักของบรรพบุรุษ
ทีมท่าคาเรียนเจอร์ ที่ประกอบด้วย นัด-ชนม์สวัสดิ์ ฉิมเชื้อ ปอย-ปิยวัฒน์ วัชนุชา หนุ่ม-ธรรมนธี สุนทร พีท-ชาตรี ลักขณาสมบัติ และ แอม-เจนจิรา เกิดอารีย์ ที่สนใจต่อยอดการทำงานในปีที่ผ่านมา ด้วยการทำโครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา เพื่อปลูกจิตสำนึกและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนให้เห็นคุณค่าของอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าว
ด้านทีม THN CoCoOli ที่ประกอบด้วย บีม-วิชาดา รินทิวารัตน์ หมวย-เมธาพร กิจธนโชค
พรีม-ชมพูนุช ฉัตรพุก เมย์-พรนภา วริศสิริวัฒน์ มิ้น-กาญจนา กสิโอฬาร ติน-ธนวัฒน์ บัวทอง
แคท-บุษกร จันทร์สว่าง ทำโครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าว ที่มีเป้าหมายเพื่อ ศึกษาถึงคุณค่าและประโยชน์ของมะพร้าว เพื่อสร้างความตระหนักรู้แก่ลูกหลานชาวสวนมะพร้าว
ส่วนทีมปลายโพงพางรักษ์ถิ่น ที่ประกอบด้วย ใหม่-สวรินทร์ นาคนิ่ม ออย-ณัฐพร เลิกเสือ
ตี๋-ธีรโชติ ทับทิม ตูน-จรินยา บำรุงไทย และเต้ -ณัฐวุฒิ สุดปราการ เห็นว่าคนในพื้นที่บ้านสี่แยกหมู่ 8 ตำบลปลายโพงพางไม่สนใจอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวเหมือนเดิม จนปัจจุบันเหลือคนที่ทำอาชีพนี้เพียง 3 ครัวเรือน จึงอยากเรียนรู้ถึงวิถีและวิธีการทำน้ำตาลมะพร้าว เพื่อจะได้เก็บรวบรวมไว้เป็นข้อมูลของชุมชน ด้วยการทำโครงการศึกษาเรียนรู้น้ำตาลมะพร้าวเพื่อสืบสานอาชีพในท้องถิ่นตำบลปลายโพงพาง
สำหรับทีม A.B.G.M.T. ถาวรานุกูล ที่เกิดจากการรวมตัวของ ต้นน้ำ-ธีรภพ อิ่มเสมอ กันต์-คณิศร บุญบาล อั๋น-นพรุธ เลิศเสถียรพงศ์ มีน-กรกมล ธนานุรักษ์ และ บัว-จุฬารัตน์ ผมภูเขียว เห็นถึงปัญหาเปลือกมะพร้าวที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศจึงไม่นิ่งดูดาย ลงมือศึกษาต้นสายปลายเหตุเพื่อหาทางแก้ทางออก ผ่านการทำโครงการร่วมพลังสร้างสรรค์มะพร้าวชุมชน
“จากที่เคยนึกจะทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องเตรียมการใดๆ การทำงานในโครงการได้เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของเด็กและเยาวชนไปสู่การทำงานที่มีระบบ ระเบียบ มีการจัดประชุมวางแผน และแบ่งบทบาทหน้าที่ ความชัดเจนของแผนงานที่ร่วมกันคิด ทำให้เวลาที่ต้องลงมือทำทุกสิ่ง ทุกคนจึงทำงานสอดประสานกัน ผลที่เกิดจึงเป็นไปอย่างที่ตั้งใจ”
เรียนรู้ชุมชน...เรียนรู้ตนเอง
การทำงานของเยาวชนเกือบทุกกลุ่ม เริ่มต้นด้วยการทบทวนข้อมูลชุมชนของตนเอง เพื่อค้นหาโจทย์ในการทำงานที่สอดคล้องกับปัญหาของชุมชน และเหมาะสมกับศักยภาพของตนเอง ยกเว้นทีมท่าคาเรียนเจอร์ที่เคยทำโครงการสำรวจท่าคาตามหาน้ำตาลมะพร้าวในปีที่แล้ว ที่เริ่มต้นการทำงานด้วยการทบทวนสิ่งที่ยังทำไม่สำเร็จ เพื่อหาโจทย์สำหรับต่อยอดการทำงานในปีนี้
การค้นหาโจทย์ที่ใช่นั้น เป็นเรื่องไม่ง่ายสำหรับทีม A.B.G.M.T. ถาวรานุกูล เพราะเริ่มต้นจะทำในสิ่งที่ไกลตัวคือเรื่องนาเกลือ ซึ่งไม่มีครอบครัวของคนในทีมคนใดทำนาเกลือ หรือมีบ้านอยู่ในพื้นที่ที่ทำนาเกลือ จึงขาดข้อมูล เมื่อไปร่วมกิจกรรมของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เมื่อถูกพี่ๆ ซักถามจึงตอบอะไรไม่ได้ จนกระทั่งได้ลงสำรวจพื้นที่ในชุมชนจึงพบประเด็นที่เป็นปัญหาของชุมชนตนเอง
เครื่องมือที่กลุ่มเยาวชนใช้ในการทบทวนข้อมูลชุมชนส่วนใหญ่ใช้การสำรวจชุมชน ซึ่งเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้สู่ชีวิตจริง การได้ลงมือทำในสิ่งที่ไม่เคยทำเป็นประสบการณ์ที่สร้างบทเรียนให้กับทุกทีมเป็นอย่างมาก เพราะใช่ว่า ครั้งแรกของทุกทีมที่ลงพื้นที่จะประสบความสำเร็จ
ทีม THN CoCoOli เล่าว่า เพราะไม่ได้เตรียมตัวให้ดี ขาดการเตรียมคำถาม การลงพื้นที่ครั้งแรกจึงไปเหมือนไม่มีจุดมุ่งหมาย สะเปะสะปะ จนแทบจะไม่ได้ข้อมูลอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งเป็นประสบการณ์เดียวกันกับทีม A.B.G.M.T. ถาวรานุกูล ที่ครั้งแรกของการลงชุมชนเป็นการทำงานที่ทีมบอกว่า เละเทะ ไม่เป็นระบบ วกไปวนมา ส่งผลให้ชาวบ้านที่ไม่ค่อยว่างเกิดอาการไม่อยากให้ความร่วมมือในการตอบคำถามจนรู้สึกได้
ในขณะที่การทำแผนที่เดินดินในชุมชน เพื่อสำรวจข้อมูลผู้รู้ ภูมิปัญญา ของน้องเล็กอย่างทีมปลายโพงพางรักษ์ถิ่น ทำให้ทีมงานรับรู้ถึงสภาพความเป็นอยู่ การปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว และสาเหตุของการเลิกทำน้ำตาลมะพร้าวของคนในชุมชน ความรู้ชัดเจนในเรื่องของชุมชนอย่างน้อยในสิ่งที่เกี่ยวข้องกับมะพร้าวยืนยันได้จากคำบอกเล่าของหนุ่ม จากโครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา “ปีที่แล้วตอนทำแผนที่เดินดิน ผมจำได้ทุกบ้านเลย เรียกว่าผมเป็นแผนที่ได้เลย บ้านนี้อยู่ไหน บ้านไหนมีเตาตาล หรือบ้านไหนมีเตาแล้วไม่ทำ ถามมาผมตอบได้หมด”
เมื่อทุกทีมศึกษาเรื่องราวที่เป็นประเด็นงานของตนเอง สิ่งที่ได้คือ ข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้เข้าใจสภาพปัญหาและสาเหตุ เพื่อใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นในการทำโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการคลี่คลายปัญหา หรือการเผยแพร่เรื่องราวสู่วงกว้าง
เมื่อมีบทเรียนไม่ได้เรื่องในครั้งแรก ทีม A.B.G.M.T. ถาวรานุกูล จึงปรับตัววางแผนการทำงานให้รอบคอบกว่าเดิม ขอแผนที่จาก อบต.คลองเขินมาเป็นตัวช่วยในการวางแผนเส้นทางสำรวจปริมาณเปลือกมะพร้าวในหมู่บ้านต่างๆ เป็นการปรับใช้บทเรียนที่ทำให้การทำงานในครั้งนี้ราบรื่นขึ้น
จากที่เคยนึกจะทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องวางแผน ไม่ต้องเตรียมการใดๆ การทำงานในโครงการได้เปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานของเด็กและเยาวชนไปสู่การทำงานที่มีระบบ ระเบียบ มีการจัดประชุมวางแผน และแบ่งบทบาทหน้าที่ ความชัดเจนของแผนงานที่ร่วมกันคิด ทำให้เวลาที่ต้องลงมือทำทุกสิ่ง ทุกคนจึงทำงานสอดประสานกัน ผลที่เกิดจึงเป็นไปอย่างที่ตั้งใจ
“เงื่อนไขการเติมเต็มจากที่ปรึกษาโครงการนอกจากช่วยให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการทำงาน แล้ว ยังกระตุ้นให้งานก้าวหน้า การช่วยประสานงานในเรื่องที่เกินกำลังของเด็กๆ การให้กำลังใจยามท้อแท้ การช่วยชี้ช่องเพื่อคลี่คลายจุดติดขัด ล้วนแต่เป็นบทบาทหนุนแต่ไม่นำ ที่เสริมพลังให้การทำงานของทีมเยาวชนได้เป็นอย่างดี...การถอดบทเรียนการทำงานที่พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เป็นกระบวนการที่ถูกใช้เพื่อทบทวนการทำงานของทีมงานแต่ละโครงการ ทั้งที่อยู่ในภาวะที่ดำเนินไปด้วยดี และที่อยู่ในภาวะประสบปัญหา ล้วนทำให้เห็นทั้งงาน เห็นทั้งทีม และเห็นตนเอง จึงเป็นการกด save สิ่งที่ได้เรียนรู้”
อิสรภาพของการเรียนรู้
ตอนเริ่มแรกทำงาน ทุกทีมต่างบอกว่า ไม่คุ้นชินกับความอิสระที่ได้รับ หวังจะให้อาจารย์ หรือผู้ใหญ่ที่เป็นพี่เลี้ยงช่วยคิดให้ และทำนำ การทำงานที่ต้องคิดเอง ทำเอง เป็นประสบการณ์ใหม่ให้ทีมงานได้สัมผัสถึงความสามารถของตนเอง จนก่อเกิดเป็นความมั่นใจในทักษะที่ได้ฝึกฝน กลายเป็นทักษะใหม่ติดตัวให้แต่ละคนได้นำไปปรับใช้
“การที่อาจารย์และพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ปล่อยให้เราทำงานเอง ตอนแรกก็คิดว่าไม่ดี แต่ตอนหลังก็คิดได้ว่า มันดีที่ทำให้เราได้มีโอกาสคิดและทำด้วยตนเอง” พรีม จากโครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าว กล่าว
การจัดกิจกรรมพาเพื่อนๆ น้องๆ วัยเดียวกันไปเรียนรู้เกี่ยวกับการจัดการสวนมะพร้าวและการทำน้ำตาลมะพร้าวของทีมท่าคาเรียนเจอร์และทีม THN CoCoOli ที่ต่างทีมต่างจัดให้กลุ่มเป้าหมายของตนเอง เป็นกิจกรรมที่หวังว่า การได้สัมผัสของจริง เห็นกระบวนการทำงานของชาวบ้าน จะจุดประกายให้เยาวชนเห็นคุณค่าอาชีพของบรรพบุรุษ
เงื่อนไขการเติมเต็มจากที่ปรึกษาโครงการนอกจากช่วยให้เกิดการเรียนรู้ผ่านการทำงาน แล้ว ยังกระตุ้นให้งานก้าวหน้า การช่วยประสานงานในเรื่องที่เกินกำลังของเด็กๆ การให้กำลังใจยามท้อแท้ การช่วยชี้ช่องเพื่อคลี่คลายจุดติดขัด ล้วนแต่เป็นบทบาทหนุนแต่ไม่นำ ที่เสริมพลังให้การทำงานของทีมเยาวชนได้เป็นอย่างดี
การถอดบทเรียนการทำงานที่พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ เป็นกระบวนการที่ถูกใช้เพื่อทบทวนการทำงานของทีมงานแต่ละโครงการ ทั้งที่อยู่ในภาวะที่ดำเนินไปด้วยดี และที่อยู่ในภาวะประสบปัญหา ล้วนทำให้เห็นทั้งงาน เห็นทั้งทีม และเห็นตนเอง จึงเป็นการกด save สิ่งที่ได้เรียนรู้ หลายๆ คราที่การถอดบทเรียนช่วยคลี่คลายปัญหาที่เป็นจุดติดขัดของการทำงาน
การเติมเต็มความรู้เชิงประเด็นในเรื่องน้ำตาลมะพร้าว ด้วยการให้ดูคลิป ก่อนจะพาไปเรียนรู้กับลุงปรีชา เจี๊ยบหยู เกษตรกรผู้พลิกฟื้นเตาตาลมิตรปรีชา เป็นการเปิดโลกทัศน์ให้แก่ทีมงานท่าคาเรียนเจอร์ ทีม A.B.G.M.T. ถาวรานุกูล และทีม THN CoCoOli ได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมาของแม่กลอง ตั้งแต่ยุครุ่งเรืองของน้ำตาลมะพร้าวไปจนสู่ยุคล่มสลายของกิจการเตาเคี่ยวตาลในพื้นที่ กระทั่งการฟื้นฟูกิจการเตาจนประสบความสำเร็จในทุกวันนี้ ล้วนเป็นความรู้ใหม่ที่ทำให้เยาวชนได้เห็นช่องทางอาชีพของชุมชน
รู้ทางเลือกที่เป็นทางรอด
ทีมงานทุกทีมได้เห็นถึงช่องทางการแก้ปัญหาที่เป็นโจทย์ใหญ่ของการสืบสานอาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวในชุมชน ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากร เพราะคนทำอาชีพนี้ส่วนใหญ่เข้าสู่ช่วงปัจฉิมวัยของชีวิต ถูกแก้ไขโดยระบบกลุ่ม แบ่งงานกันทำตามหน้าที่ เจ้าของที่ดินปลูกมะพร้าว คนขึ้นตาลเก็บตาลเสร็จส่งไม้ต่อให้คนเคี่ยวแล้วพักผ่อน คนเคี่ยวทำจนเสร็จก็มีเวลาเหลือ คนเก็บฟืนหาฟืนให้พอใช้ ทุกคนทำงานไม่เหนื่อยเกินไป มีเวลาพักผ่อน รายได้แบ่งปันตามสัดส่วนที่ตกลงกัน
ปัญหาอันตรายจากการปีนขึ้นไปเก็บน้ำตาลบนต้นมะพร้าวที่สูง ที่เป็นความเสี่ยงของอาชีพที่ทำให้คนไม่กล้าเข้ามาทำงานนี้ ถูกแก้ไขด้วยการหามะพร้าวต้นเตี้ยมาปลูกแทน แม้น้ำหวานจากงวงมะพร้าวที่ได้แต่ละวันจะลดลงบ้าง แต่ก็ยังพอเพียงต่อการนำมาเคี่ยวเป็นน้ำตาล ที่สำคัญคือ คนทำงานไม่ต้องเสี่ยงภัยเหมือนเดิม
การสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นทางออกของปัญหาราคาน้ำตาลตกต่ำ กลุ่มเตาตาลมิตรปรีชาเลือกที่จะผลิตน้ำตาลแท้ทั้งในรูปแบบ โคโคนัทเล็กต้า (ลักษณะคล้ายไซรับ) น้ำตาลแบบผง และน้ำตาลก้อน แทนการลงไปแข่งขันในตลาดน้ำตาลหลอมที่มีผู้ประกอบการหลายราย เมื่อประกอบกับการได้รับการหนุนเสริมด้วยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่พิสูจน์และการันตีสรรพคุณน้ำตาลแท้ของกลุ่ม ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำเพียง 35 ในขณะที่น้ำตาลทรายขาวมี 100 น้ำผึ้ง 60 น้ำตาลทรายแดง 80 กลายเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้สามารถเจาะกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีกำลังซื้อสูงได้ จึงเป็นแรงหนุนที่ทำให้สามารถตั้งราคาสินค้าได้เอง จำหน่ายเอง โดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทุกวันนี้ผลิตสินค้าได้ไม่ทันกับความต้องการของผู้บริโภค
“การลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพชุมชนและเรียนรู้ภูมิปัญญา นอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ยังทำให้เด็กวัยเรียนที่มีโลกส่วนตัวแคบๆ ในโรงเรียนและครอบครัว ได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมใกล้ตัวมากขึ้น มิตรภาพที่มีกับผู้ใหญ่ในชุมชนหลายๆ คน ที่ได้ไปสอบถาม พูดคุย จนกลายเป็นสายใยที่ทำให้เยาวชนไม่รู้สึกแปลกแยกจากท้องถิ่นเหมือนเคย”
พลังที่ต่อเติมกันและกัน
ความสนใจของกลุ่มเยาวชนที่เข้าไปเรียนรู้กับชุมชน เป็นเสมือนพลังที่เติมเต็มให้แรงใจที่กำลังอ่อนล้าของชาวสวนมะพร้าวให้กลับมามีความหวัง ที่คนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและใส่ใจกับอาชีพของตน ไม่ว่าลุงปรีชา ปู่และญาติๆ ของตินจากโครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าว พี่ป้าน้าอาที่ล้งมะพร้าวที่ออย จากโครงการศึกษาเรียนรู้น้ำตาลมะพร้าวเพื่อสืบสานอาชีพในท้องถิ่นตำบลปลายโพงพาง ทำงานพิเศษช่วงปิดเทอม พลังใจที่ได้รับจึงกลับคืนมาจึงแปรเปลี่ยนเป็นความยินดีที่จะบอกเล่า ถ่ายทอดเรื่องราว องค์ความรู้ ภูมิปัญญาให้อย่างเต็มใจ
“ดีใจมากๆ ไม่ว่าจะเป็นคนสูงอายุหรือเยาวชนเข้ามาถาม คุยได้ทั้งวัน รู้สึกดีใจ เพราะมันเป็นแรงบันดาลใจทางอ้อมว่า สิ่งที่เราทำสามารถทำให้คนอื่นสนใจ และยินดีให้ความรู้อย่างเต็มใจ ไม่อยากให้สิ่งที่เรารู้ตายไปกับเรา ต้องให้เขาเอาไปต่อยอดให้ได้ ไม่ใช่เฉพาะน้ำตาลมะพร้าวเท่านั้นที่ทำได้ แต่พืชผักอย่างอื่นก็ทำได้หมด ถ้ารวมตัวกันเหนียวแน่น ทำระบบกลุ่มให้เข้มแข็ง ก็จะสามารถกำหนดราคาได้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สุดยอดของเกษตรกร สุดยอดของการทำธุรกิจที่ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของใคร” ลุงปรีชากล่าว
ทีมผู้ใหญ่ซึ่งประกอบด้วยนางกัญจนา ปานาพุฒ นายนิพล บังแสง นายสมศักดิ์ เกียรติประดิษฐ์ นางสำรวย สุขพิศาล ลุง ป้า น้า อา ชาวบ้านท่าคาคือ ตัวแทนของชาวบ้านที่ยินดีสนับสนุนการทำกิจกรรมของทีมท่าคาเรียนเจอร์ เพราะทุกคนต่างเห็นว่า การปลูกจิตสำนึกให้เยาวชนรักษ์ถิ่นฐานเป็นสิ่งสำคัญ ในขณะที่อดีตที่ผ่านมาชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นว่า อาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพที่ลำบาก เหนื่อยยาก ไม่อยากให้ลูกหลานสืบทอด จึงพยายามส่งเสริมให้ลูกหลานเรียนหนังสือ ไม่ต้องช่วยเหลืองานบ้าน คนรุ่นใหม่จึงไม่ชินต่อการทำงานในครัวเรือน
ทีมงานผู้ใหญ่ได้ฝากข้อคิดข้อเสนอว่า การจะสืบสานอาชีพการทำน้ำตาลมะพร้าวให้คงอยู่สืบไปนั้น ต้องช่วยกันหลายฝ่าย เริ่มตั้งแต่ครอบครัวที่ต้องปลูกฝังลูกหลาน ให้ความรู้ สร้างทักษะในการทำน้ำตาลมะพร้าวด้วยการให้ลูกหลานช่วยงานของครอบครัว ในขณะที่สถานศึกษาก็ต้องสนับสนุนโดยนำเข้าไปในหลักสูตรการเรียนรู้ ซึ่งถ้าจะให้ดีก็ต้องเพลาๆ การบ้านงานเรียนลง เพื่อที่เด็กๆ จะได้มีเวลาช่วยเหลืองานของครอบครัว ด้านเยาวชนเองก็ต้องรวมกลุ่มทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างสัมพันธ์กับชาวบ้าน ซึ่งการทำงานของทั้ง 4 ทีมงานคือตัวอย่างอันน่าชื่นใจ ที่เด็กรุ่นใหม่สนใจสานต่อภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงอยากให้มีการทำโครงการในลักษณะนี้ต่อไปเรื่อยๆ โดยทีมผู้ใหญ่จะคอยสนับสนุนอย่างเต็มใจ
การลงพื้นที่เพื่อสำรวจสภาพชุมชนและเรียนรู้ภูมิปัญญา นอกจากจะช่วยสร้างความสัมพันธ์กับผู้คนในชุมชน ยังทำให้เด็กวัยเรียนที่มีโลกส่วนตัวแคบๆ ในโรงเรียนและครอบครัว ได้เห็นวิถีการดำเนินชีวิตในสังคมใกล้ตัวมากขึ้น มิตรภาพที่มีกับผู้ใหญ่ในชุมชนหลายๆ คน ที่ได้ไปสอบถาม พูดคุย จนกลายเป็นสายใยที่ทำให้เยาวชนไม่รู้สึกแปลกแยกจากท้องถิ่นเหมือนเคย
“ชาวบ้านเขาก็มีความทุกข์ เขาก็ไม่รู้จะไปพูดให้ใครฟัง การที่เราเข้าไป เราไปรับฟังความทุกข์ ความรู้สึกของเขา เขาก็ได้ระบาย ถามว่า เราจะทำอะไรได้ไหม เราแค่เด็ก ม.5 คงทำอะไรได้ไม่มาก ขอเพียงเรารับฟังก็เหมือนการแก้ปัญหาคือ เขาได้ระบายความอัดอั้นตันใจไปส่วนหนึ่งแล้ว” เป็นคำบอกเล่าที่มาของความรู้สึกต่อเนื่องที่ตินบอกว่า สนใจทุกข์สุขของชาวบ้านมากขึ้น
เพราะได้คุยกับผู้สูงอายุ จึงได้สัมผัสถึงความว้าเหว่ในวัยชรากระตุกความรู้สึกในหัวใจให้ทีมงานหันกับมาทบทวนพฤติกรรมของตนเองถึงความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว “ตอนพูดคุยกับชาวบ้าน เขาก็บอกว่า เขาก็อยากคุยกับลูกหลาน ก็เลยนึกได้ว่า ที่บ้านก็คงอยากคุยกับเราเหมือนกัน จากที่ไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่เท่าไร เรียนเสร็จกลับบ้านทำการบ้านเสร็จก็นอนเลย พอคิดได้ก็เริ่มหาเวลาคุยกับพ่อแม่มากขึ้น พอได้คุยกับที่บ้านก็รู้สึกอบอุ่นขึ้น มันดูเหมือนสนิทกันมากกว่าเดิมยิ่งขึ้น” มีน จากโครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าว เล่าถึงการเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองที่เป็นเสมือนกับขันนอตความสัมพันธ์ในครอบครัวให้แนบแน่นยิ่งขึ้น
คืออาชีพที่มีอนาคต
การได้ศึกษาทั้งสาเหตุของการล่มสลายของอาชีพน้ำตาลมะพร้าวที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่และข้อจำกัดต่างๆ และทางเลือกทางออกของการฟื้นฟูอาชีพนี้ ทำให้ทีมงานได้มีโอกาสไตร่ตรองถึงความเป็นไปได้ของการสืบสานภูมิปัญญา ซึ่งทุกทีมบอกว่า ถึงจะมีข้อจำกัดเพียงใด แต่ก็มีตัวอย่างของทางออกในการสกัดจุดอ่อนในอาชีพ จึงเป็นทางเลือกที่น่าจะรอด จนเกิดความมั่นใจว่าการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพที่มีอนาคต
“ผมเป็นเด็กในชุมชน โตมาในสวน รู้วิธีทำทุกอย่าง แต่ก็รู้แค่ว่านี่คือน้ำตาลมะพร้าว แต่ไม่ได้รัก ไม่ได้ผูกพันกับมัน จนมีโอกาสได้ลงพื้นที่เรียนรู้ กระทั่งเข้าใจถึงความเป็นมาและความสำคัญของน้ำตาลมะพร้าวจากคำบอกเล่าของผู้หลักผู้ใหญ่ในพื้นที่ ความรักความผูกพันจึงค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในหัวใจ” ปอย จากโครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา เล่า และเสริมว่า ทุกวันนี้เขากลับไปช่วยพ่อทำน้ำตาลมะพร้าวอย่างแข็งขัน เพราะรู้ซึ้งถึงคุณค่าของอาชีพของครอบครัว และตั้งใจว่าต่อไปหากทำอาชีพหลักด้านอื่น ก็จะยังยึดการทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพเสริมอย่างแน่นอน
ส่วนตินมองว่า อาชีพทำน้ำตาลมะพร้าวเป็นอาชีพอิสระ แม้จะเหนื่อยแต่ก็เป็นนายตนเอง ต่างจากการทำงานเป็นลูกจ้างในโรงงานที่ต้องยืนหลังขดหลังแข็งทั้งวันตั้งแต่เช้าจรดค่ำ “การทำงานแบบนี้ เช้า ตีสี่ตี่ห้าตื่นเก็บตาลแล้วเอามาเคี่ยว พอเสร็จเราก็มีเวลาพักผ่อน อีกอย่างหนึ่งมะพร้าวที่แถวบ้านต้นไม่สูงมาก จึงง่ายต่อการเก็บมากขึ้น”
เช่นเดียวกับพรีมที่บอกว่า เดิมครอบครัวขุดสวนมะพร้าวทำบ่อเลี้ยงกุ้ง แต่ตอนนี้กำลังจะถมที่กลับมาทำสวนมะพร้าวเหมือนเดิม เพราะอาชีพทำนากุ้งทำรายได้ไม่ดีเหมือนในอดีต ดังนั้นการได้มีโอกาสมาเรียนรู้เรื่องราวการจัดการสวนมะพร้าวและการทำน้ำตาลมะพร้าวจึงทำให้เห็นช่องทางใหม่ๆ ในการสร้างความมั่นคงในอาชีพซึ่งพรีมได้นำกลับไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง
“เมื่อก่อนเป็นคนเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ ไม่ค่อยรับฟังคนอื่น มักเกิดอาการโมโหบ่อยๆ เมื่อเพื่อนติดธุระกระทันหันไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้...เมื่ออยู่กับเพื่อนๆ ที่คอยเตือนสติ และกระบวนการที่พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาชนฯ สร้างการเรียนรู้จากการถอดบทเรียน ทำให้ลดความเจ้าอารมณ์ลงได้...ฟังเพื่อนมากขึ้น แต่ถ้าตอนไหนไม่ไหวจริงๆ จะใช้วิธีเงียบไว้ก่อน แล้วจะค่อยมาคุยกันทีหลัง เพราะถ้าคุยต่อเราอาจจะเกิดอารมณ์มากกว่านี้ การจัดการอารมณ์ได้ดีต่อชีวิตคือ ทำให้เราไม่พาลกับคนรอบข้าง”
ปฏิบัติการสร้างทักษะ
ความรู้เชิงกระบวนการทำงาน เป็นความรู้นอกระบบที่เชื่อมั่นได้ว่า หากไม่ทำโครงการคงไม่ได้เรียนรู้ บทเรียนมากมาย ตั้งแต่การเลือกเพื่อนร่วมทีม การเลือกโจทย์การทำงาน การเก็บข้อมูล การลงพื้นที่ในชุมชน การประสานงาน การแก้ปัญหาระหว่างทาง การแบ่งเวลา การจัดการทีม รวมถึงการจัดการอารมณ์ตนเอง ฯลฯ เป็นประสบการณ์ตรงที่เพิ่มพูนจากการลงมือทำ สร้างทักษะอย่างที่หาไม่ได้จากห้องเรียน โดยเฉพาะได้เรียนรู้วิธีการทำงาน ที่ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น
บีม จากโครงการเรียนรู้สู่วิถีมะพร้าว บอกว่า ถ้าเราไม่ฟังกันมันจะทำงานลำบาก เราต้องฟังความคิดเห็นของเพื่อนด้วย เพื่อที่จะได้ความเห็นที่สมบูรณ์ที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังทำให้เข้าใจเพื่อนมากขึ้น ให้กำลังใจกันเวลาเกิดปัญหา จึงรักและผูกพันกันมากขึ้น ซึ่งนั่นเป็นความรู้สึกเดียวกันกับพรีมที่บอกว่า “ชอบการประชุมทีม ที่ทุกคนได้ออกความคิดเห็นได้พูดคุยกัน”
การทำงานที่เป็นระบบ มีการประชุม มีการวางแผนว่าจะทำอะไรก่อนหลัง เป็นแบบฝึกหัดให้ได้คิดวิเคราะห์ ที่มาพร้อมๆ กับการวางแผนและลงมือทำ เป็นกระบวนการที่หมวย บอกว่านำไปปรับใช้ในการเรียนได้ “เราเปลี่ยนแปลงจากการที่ไม่ชอบคิดอะไร ก็คิดมากขึ้นว่า สิ่งที่จะทำมันดีไหม และทำไปเพื่ออะไร ประโยชน์ที่จะได้รับคืออะไร ที่คิดแบบนี้ได้เป็นเพราะโครงการสอนให้เรารู้จักวางแผนขั้นตอนการทำงาน คิดวิเคราะห์ ถ้าเราทำอะไรโดยที่ไม่คิด เหมือนที่ผ่านมา มันจะเละเทะไปหมด ตอนนี้เราจึงรู้จักคิดมากขึ้น”
นั่นเป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกับพีท จากโครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าค่า ที่บอกว่า การคิดเชิงระบบ คือ สิ่งที่ได้เรียนรู้ และทำให้เข้าใจเงื่อนไขความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ทำให้ใคร่ครวญให้เห็นเหตุและผลได้อย่างชัดเจน “เวลาเราคิดจะทำอะไรสักอย่าง เราต้องคิดว่า ถ้าเราทำแบบนี้ต่อไปจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเหมือนลูกโซ่ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้นำมาใช้ในการวางแผนชีวิตตนเองได้”
เรื่องความสัมพันธ์ภายในทีมเป็นเรื่องใหญ่ เพราะการจะบริหารงานให้มีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ในทีม
บัว จากโครงการรวมพลังสร้างสรรค์มะพร้าวมชุมชน ซึ่งสารภาพว่าเคยเป็นคนเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจ ไม่ค่อยรับฟังคนอื่น มักเกิดอาการโมโหบ่อยๆ เมื่อเพื่อนติดธุระกระทันหันไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ บอกว่า เมื่ออยู่กับเพื่อนๆ ที่คอยเตือนสติ และกระบวนการที่พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ สร้างการเรียนรู้จากการถอดบทเรียน ทำให้เธอลดความเจ้าอารมณ์ลงได้
“มีอยู่ครั้งหนึ่งที่พี่ๆ เข้ามาทำกิจกรรมเกมกระดาน ซึ่งทุกคนต้องเดินไปพร้อมๆ กัน ต้องเข้าเส้นชัยพร้อมกัน เหมือนกับว่าเราต้องรอเพื่อน ถ้าเกิดเราเข้าเส้นชัยก่อนมันก็เหมือนกับเราทำโครงการคนเดียวโดยไม่รอเพื่อน เลยใช้อารมณ์น้อยลง ฟังเพื่อนมากขึ้น แต่ถ้าตอนไหนไม่ไหวจริงๆ จะใช้วิธีเงียบไว้ก่อน แล้วจะค่อยมาคุยกันทีหลัง เพราะถ้าคุยต่อเราอาจจะเกิดอารมณ์มากกว่านี้ การจัดการอารมณ์ได้ดีต่อชีวิตคือ ทำให้เราไม่พาลกับคนรอบข้าง” บัวเล่า
ในขณะที่อั๋น ซึ่งมีภาระต้องหารายได้ระหว่างเรียน ก็ต้องปรับเสียสละเวลาในการทำมาหากินมาช่วยเพื่อนๆ ทำงานมากขึ้น “ต้องสละเวลาตนเอง แม้จะขาดรายได้ เพื่อทีม เพื่อการทำงานไปได้ด้วยดี เราต้องเสียสละ” ความเสียสละที่ทำไปไม่ได้สูญเปล่า อั๋น บอกว่า หน้าที่จดบันทึก ทำให้ได้ฝึกการจับใจความสำคัญ ทักษะการฟังที่เกิดขึ้นนั้น อั๋นมั่นใจว่าจะเป็นทักษะที่จำเป็นแก่การทำงานในอนาคตอย่างแน่นอน เพราะเมื่อฟังแล้วจับใจความได้ ก็ทำให้งานมีประสิทธิภาพขึ้น
การได้สัมผัสกับผู้คนในชุมชน เป็นการฝึกฝนโดยตรงที่ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้น ต้นน้ำ เล่าว่า ทักษะที่คิดว่าเก่งขึ้น คือ การพูด การถาม เพราะได้ฝึกทำ จึงได้เรียนรู้เทคนิคการถาม ว่า ถามอย่างไรให้ได้ข้อมูลมากที่สุด ถามอย่างไรให้คนอยากตอบ ถามอย่างไรให้เป็นลำดับเป็นระบบ
“เรื่องพวกนี้นำกลับไปใช้ในการเรียน การดำเนินชีวิตได้ เช่น ได้ทักษะการพูด ทำให้พูดดีขึ้น ทั้งบุคลิกและคำพูดทีรื่นไหลไม่ติดขัด เพราะได้ฝึกฝนในโครงการ ได้สอบถาม ได้ฟังบ่อยๆ จดบ่อยๆ ทุกสิ่งที่ทำล้วนช่วยเพิ่มความรู้ให้แก่ตัวเรา”
ส่วนกันต์ที่เป็นคนขี้อาย ไม่มั่นใจ เพราะพูดติดอ่าง ก็มีความกล้ามากขึ้น ที่พัฒนาได้เพราะทุกคนในทีมพูดได้ ก็คิดเพื่อนยังทำได้ เราก็ต้องทำได้ เลยพยายามหัดพูด หัด ถามในสิ่งที่เราอยากรู้ ซึ่งพอทดลองทำก็ทำได้ จนเดี๋ยวนี้กล้าพูด กล้าเข้าหาผู้ใหญ่มากขึ้นได้
สำหรับ นัด จากโครงการบอกกล่าวเล่าขานน้ำตาลมะพร้าวท่าคา ในฐานะคนกุมสภาพของการทำงานของทีม บอกว่า กระบวนการทำงานกับผู้ใหญ่คือ บทเรียนสำคัญที่ได้เรียนรู้ “ปีนี้ผมได้เรียนรู้กระบวนการทำงานมากขึ้น เพราะทำงานกับผู้ใหญ่ต้องทำงานอีกแบบ เราต้องอ่อนเข้าหาเขา แต่ทำงานกับเด็กเราต้องใช้ความสนุกสนานเข้าหาเขา แต่ช่วงวัยเด็กจะมีความสนใจไม่เหมือนกัน คนจะทำงานกับเด็กต้องเปิดใจรับธรรมชาติของเด็กให้ได้”
ด้านกลุ่มปลายโพงพางรักษถิ่น ที่ทำโครงการศึกษาเรียนรู้น้ำตาลมะพร้าวเพื่อสืบสานอาชีพในท้องถิ่นตำบลปลายโพงพาง แม้จะเป็นน้องเล็ก แต่ก็ยังได้ประสบการณ์จากการทำงานที่ต้องฝ่าฟันทั้งความไม่เข้าใจของครอบครัว การต้องแบ่งเวลาจากภาระการเรียนการทำงานช่วยเหลือครอบครัว ทำให้ค้นพบวิธีการทำงานที่สอดคล้องกับชีวิตจริง เมื่อไม่สามารถจัดเวลาเพื่อเก็บข้อมูลได้ จึงปรับใช้ช่วงเวลาการทำงานไปที่ล้งมะพร้าว ขออนุญาตนายจ้างให้ทีมงานได้เข้าไปพูดคุยเก็บข้อมูลในขณะที่ทำงานไปพร้อมๆ กัน
“การหนุนเสริมจากโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ซึ่งเป็นโครงการหลักช่วยให้กลุ่มเยาวชนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมนับ 1-5 หมายถึงการเติมเต็มมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ให้ทีมงานเกิดพลังในการขับเคลื่อนงานของตนเอง ตัวอย่างที่ได้เห็นจากเพื่อนๆ พี่ๆ โครงการอื่น ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับโครงการของตนเอง ทั้งยังสร้างแรงผลักดันให้ฮึดสู้อีกครั้ง”
พลังหนุนกระบวนเรียนรู้
เบื้องหลังความสำเร็จของการเรียนรู้ของกลุ่มเยาวชนคือ การให้โอกาสและการประคับประคองของผู้ใหญ่ ทั้งพี่เลี้ยงในชุมชน พี่เลี้ยงจากองค์การบริหารส่วนตำบล คุณครูในโรงเรียน และพี่เลี้ยงจากโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ
ทีม THN CoCoOli ซึ่งเคยจมอยู่ในกับดักของการตีตราในฐานะเด็กห้องท้าย บอกว่า เมื่อได้รับโอกาสจากอาจารย์พยอม ยุวะสุต ชวนทำโครงการ จึงรู้สึกว่า เป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง เพราะปรกติวิถีการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ ที่ต้องแข่งขันกันสร้างชื่อเสียง นักเรียนที่ถูกเลือกให้เป็นตัวแทนในการทำกิจกรรมมักจะเป็นเด็กที่เรียนเก่งอยู่ในห้องต้นๆ ของระดับชั้น ซึ่งโอกาสที่ได้รับทำให้ทีมงานได้เรียนรู้ และเกิดความมั่นใจในศักยภาพของตนเอง จนไม่หวั่นไหวต่อสถานะภาพเด็กห้องท้ายอีกต่อไป
การทำงานที่สะดุดเป็นพักๆ ของทีมปลายโพงพางรักษ์ถิ่น ได้รับการช่วยเหลือจากป้าวี-รวีวรรณ ประพฤติกิจ เจ้าหน้าที่อบต.ปลายโพงพาง และป้าแหม่ม-ฐิตาภา คงศรี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 พากันฝ่าฟันอุปสรรคจากความไม่เข้าใจของผู้ปกครอง
“คนในชุมชนและพ่อแม่ผู้ปกครองจะเชื่อพี่แหม่ม แต่เราไม่ใช่คนในชุมชนบางทีผู้ปกครองเขาจะไม่ค่อยไว้ใจว่า จะดูแลลูกเขาได้ปลอดภัยหรือไม่ แต่ถ้ามีพี่แหม่มมาด้วยเขาก็จะโอเค หากเวทีไหนไม่มีพี่แหม่มก็จะยากหน่อย คือ ต้องเอาคนในชุมชนไปด้วย เพราะเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้มีปัญหาเฉพาะเรื่องเวลาของเขา แต่ยังมีปัญหาเรื่องการประกอบอาชีพ ที่ต้องช่วยผู้ปกครองทำงานหารายได้ด้วย” ป้าวีเล่า
บทเรียนนี้จึงสะท้อนภาพความเป็นจริงของสังคมไทย ที่ป้าวีบอกว่า เงื่อนไขสำคัญของการทำงานกับเยาวชนคือ ต้องเริ่มตั้งแต่ผู้ใหญ่ในชุมชนที่ต้องเห็นชอบ และสนับสนุน ดังนั้นการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ปกครองจึงเป็นเรื่องสำคัญ การบอกเล่าถึง เป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนโดยการยกตัวอย่างเยาวชนในชุมชนที่เคยผ่านการทำกิจกรรมเช่นนี้แล้วประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นการชี้แจงขั้นพื้นฐานที่ต้องทำ และอาจจะต้องเสริมการชี้แจงเรื่องค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทที่เด็กๆ ต้องช่วยงานในครอบครัว บางครั้งผู้ปกครองก็จะเกิดความกังวลว่า ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรม “การคุยกับผู้ปกครองของเด็ก อาจจะต้องบอกละเอียดว่า แม้ไม่ได้เงินได้ทอง แต่ก็ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ก็จะบอกเขาว่าเอาเด็กมาฝึกให้มีทักษะประสบการณ์ติดตัว”
การหนุนเสริมจากโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ซึ่งเป็นโครงการหลักช่วยให้กลุ่มเยาวชนเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมนับ 1-5 หมายถึงการเติมเต็มมุมมอง แนวคิด ประสบการณ์ให้ทีมงานเกิดพลังในการขับเคลื่อนงานของตนเอง ตัวอย่างที่ได้เห็นจากเพื่อนๆ พี่ๆ โครงการอื่น ทำให้สามารถนำมาปรับใช้กับโครงการของตนเอง ทั้งยังสร้างแรงผลักดันให้ฮึดสู้อีกครั้ง ดังเช่นคำยืนยันจากคนตัวเล็กๆ ที่เคยจะบอกเลิกการทำโครงการหลายครั้งหลายครา เช่น “มันมาถึงขนาดนี้แล้วยังไงก็ต้องทำให้เสร็จ กลัวเสียชื่อหมู่บ้านของเรา” ใหม่ จากโครงการศึกษาเรียนรู้น้ำตาลมะพร้าวเพื่อสืบสานอาชีพในท้องถิ่นตำบลปลายโพงพาง กล่าว โดยมีตูน เสริมว่า “แม้รู้สึกว่ามันเป็นภาระแต่เพราะเราได้รับหน้าที่นี้มาแล้ว เราต้องทำให้เสร็จ”
การเรียนรู้ทั้งหมดทั้งมวลถูกเคี่ยวให้เข้มข้นจากกระบวนการถอดบทเรียนของพี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ที่หนุนให้ทีมงานได้คิดวิเคราะห์ทบทวนการทำงาน จนตกตะกอนเป็นความรู้ ทักษะ จนเกิดสำนึกรักและภาคภูมิใจในถิ่นกำเนิด วันนี้เยาวชนทั้ง 4 กลุ่มได้เรียนรู้เรื่องราวของสวนมะพร้าว และการทำน้ำตาลมะพร้าว เพื่อให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนแม่กลองไม่สูญสลายหายไปกับกาลเวลา หากแต่ถูกจดจารทั้งในสมองและหัวใจของเยาวชนแต่ละคน ที่รู้แล้วว่า แผ่นดินถิ่นเกิดของตนมีดีอย่างไร เพราะเมืองแม่กลองมีความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงในอาชีพการทำสวนมะพร้าวและน้ำตาลมะพร้าวที่อิงแอบบนฐานนิเวศวิถีที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การสืบสานคงอยู่ต่อไปตราบนานเท่านาน
โครงการร่วมพลังสร้างสรรค์มะพร้าวชุมชน
ที่ปรึกษาโครงการ : รัตนา ฉีมพาลี
ทีมทำงาน : มัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนถาวรานุกูล อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
- ธีรภาพ อิ่มเสมอ
- อดิศร บุญบาล
- นพรุธ เลิศเสถียรพงศ์
- กรกมล ธนานุรักษ์
- จุฬาลักษณ์ ผมภูเขียว