ผู้สืบต่อจิตวิญญาณ “สะเนงสะเองกวย”
โครงการสืบสานสะเนง สะเองกวย
พ่อแม่ไม่อยากให้เข้าร่วมโครงการ...แต่เรากลับเจอประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ต้องขอโทษพ่อแม่ด้วยที่ทำตัวไม่ดีไม่ยอมเชื่อฟัง แต่ว่าการทำงานในครั้งนี้ทำให้หนูโต ทำให้หนูรู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างสบายใจ หนูเข้าใจแล้วว่าบทเรียนไม่ได้มีเพียงแค่คำสอนของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ข้างนอกก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่หนูต้องเจอและเก็บเกี่ยว
เสียงดนตรีที่ดังกึกก้องจากลานหมู่บ้านโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ กระตุ้นให้ผู้ที่ร่ายรำในลานประรำพิธี ออกลีลาท่ารำต่อไปอย่างต่อเนื่อง คราใดที่เสียงดนตรีแผ่วแรง ผู้ที่ร่ายรำในวงก็จะหันมาส่งเสียงเตือนให้คนเล่นดนตรีบรรเลงทำนองให้คึกคักขึ้น การร่ายรำและเสียงดนตรีจะดังต่อเนื่องกันเช่นนี้ไปอีกค่อนคืนจนรุ่งเช้าอีกวัน กว่าคนรำจะรู้สึก “อิ่ม” และวิญญาณที่สิงสู่ได้ออกจากร่างไป
>> ดนตรี พิธีกรรม คุณค่าในสายตาผู้สืบทอด
“แม้คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังคงมีความศรัทธาในเรื่องดังกล่าว แต่วิถีชีวิตของคนยุคนี้ต้องทำมาหากินไกลถิ่น ทำให้ความเชื่อเริ่มถูกสั่นคลอน การสืบทอดเริ่มเลือนหาย จนกระทั่งผู้รู้ด้านพิธีกรรมสะเนงสะเองในชุมชนเหลือเพียง 3 คนสุดท้าย ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุที่นับวันเรี่ยวแรงเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งแสดงว่า หากขาดคนสานต่อที่จะเรียนรู้การบรรเลงดนตรี พิธีกรรมอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนก็อาจจะเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา”
ด้วยความเชื่อของชาวกวยที่ว่าพิธีสะเนงสะเองเป็นการรักษาโรคผ่านเสียงดนตรี ยามใดที่คนในชุมชนเกิดการเจ็บป่วยรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันอย่างไรก็ไม่หาย คนหมู่บ้านก็จะหันมาพึ่งพาการแพทย์ทางเลือก อันเป็นความเชื่อของชาติพันธุ์กวย ด้วยการค้นหาสาเหตุของการเจ็บป่วยผ่านล่ามหรือคนทรงเพื่อคลี่คลายปัญหา หลังได้รับคำแนะนำจากการเข้าทรง ผู้ป่วยและครอบครัวก็จะบนบานต่อบรรพบุรุษโดยการผูกด้ายสายสิญจน์ไว้ที่คอขวดแก้ว หลายครั้งหลายคราที่ผู้ป่วยหายจากอาการที่เจ็บป่วยเป็นปลิดทิ้งหลังการบนบาน นับเป็นผลจากแรงศรัทธาที่สร้างขวัญและกำลังใจให้หายป่วย หลังจากนั้นผู้ป่วยและครอบครัวจะจัดพิธีกรรมสะเนงสะเองเพื่อแก้บน
ความเชื่อที่ฝังรากลึกในกลุ่มชนชาวกวยในพื้นที่ ถูกสืบทอดสืบสานผ่านกาลเวลาจนถึงปัจจุบัน แม้คนในชุมชนส่วนใหญ่ยังคงมีความศรัทธาในเรื่องดังกล่าว แต่วิถีชีวิตของคนยุคนี้ต้องทำมาหากินไกลถิ่น ทำให้ความเชื่อเริ่มถูกสั่นคลอน การสืบทอดเริ่มเลือนหาย จนกระทั่งผู้รู้ด้านพิธีกรรมสะเนงสะเองในชุมชนเหลือเพียง 3 คนสุดท้าย ซึ่งล้วนแต่เป็นผู้สูงอายุที่นับวันเรี่ยวแรงเสื่อมถอยลงเรื่อย ๆ สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นสิ่งแสดงว่า หากขาดคนสานต่อที่จะเรียนรู้การบรรเลงดนตรี พิธีกรรมอันเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของชุมชนก็อาจจะเลือนหายไปพร้อมกับกาลเวลา
หลังจากที่ครูแอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร ครูประจำชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์ ได้ชักชวนลูกศิษย์ซึ่งประกอบด้วย ทัด-ธนากร แก้วลอย โด่ง-ธิติวุฒิ เรืองดี เบียร์-ชนิกานต์ วันนุบล เก๋-ชนิดา โพธิสาร เหมย-โชติมา งอนสวรรค์ หนิง-ศิริรัตน์ โพธิสาร เข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ โดยยกตัวอย่างบทเรียนการทำงานของกลุ่มเยาวชนบ้านแต้พัฒนาในปีที่ผ่านมาที่ทำโครงการดักแด้ แตกใหม่ ทอรักทอไหม สายใย (โซดละเว) เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทอผ้าไหมโซดละเวของชุมชน แกนนำเยาวชน ทั้ง 6 คน ต่างสนใจที่จะทำโครงการด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าสนุก และเป็นประสบการณ์ใหม่ของชีวิต จึงรวมตัวกัน พร้อมชักชวนน้อง ๆ ซึ่งได้แก่ เว็น-สมัต เรืองคำ แม็ค-ฐิติวัฒน์ โพธิสาร ฟลุ๊ค-สิษฐ์พล โพธิ์กระสังข์ เฟรม-ณัฐภูมิ วรรณทอง ร่วมกันทำโครงการสืบสานสะเนง สะเองกวย เพื่อศึกษาเรื่องราวของพิธีกรรมสะเนง สะเองของชุมชนที่เคยพบเห็นมาแต่เด็กพร้อมทั้งรวมตัวกันขอเป็นศิษย์เพื่อเรียนรู้การบรรเลงดนตรี สะเนงสะเองจากผู้รู้ ด้วยหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสืบทอดภูมิปัญญาของชุมชนให้คงอยู่ต่อไป
“เราชวนน้อง ๆ ร่วมทีมด้วย เพราะคิดว่า หากเราได้สอนน้อง ๆ แล้วน้อง ๆ ก็จะได้ไปสอนรุ่นน้องต่อไปอีก” เบียร์บอกเหตุผลของการชวนน้องร่วมเรียนรู้ตั้งแต่ต้นทาง
เนื่องจากเป็นทีมงานใหม่ที่ยังขาดประสบการณ์ในการทำงาน ครูแอ๊ดซึ่งเป็นที่ปรึกษาของโครงการจึง ออกแบบการเรียนรู้ของเยาวชนกลุ่มกอนกวยโซดละเว และเยาวชนทีมสะเนงสะเองกวย ให้ทำงานคู่ขนานกันเพราะทำงานในหมู่บ้านข้างเคียงกัน
>> จากสิ่งที่เคยเห็น สู่การรู้จักให้ลึกซึ้ง
การทำงานของทีมงานสะเนงสะเอง เริ่มจากการประชุมภายในทีมเพื่อทำความเข้าใจโครงการร่วมกัน ก่อนจะจัดประชุมชี้แจงโครงการแก่ชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจถึงที่มาและเป้าหมายของโครงการ พร้อมทั้งขอความร่วมมือจากคนในชุมชน ชาวบ้านซึ่งพอจะรับทราบการทำงานของเยาวชนในพื้นที่บ้านแต้พัฒนาในปีที่ผ่านมาแล้ว จึงเห็นดีเห็นงามสนับสนุนให้เยาวชนในหมู่บ้านของตนเองทำกิจกรรม
แม้จะเป็นพิธีกรรมที่เห็นมาตั้งแต่เกิด แต่ทีมงานทั้งหมดซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ยังไม่ทราบถึงรายละเอียดของพิธีกรรม จึงวางแผนที่จะลงพื้นที่ไปสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพิธีกรรมสะเนงสะเองจากผู้รู้ในชุมชน โดยกำหนดประเด็นที่สนใจไว้ 2 ด้านคือ ด้านดนตรี และด้านพิธีกรรม ก่อนจะประสานงานนัดหมายผู้รู้เพื่อขอสอบถามข้อมูล
ผู้รู้ 4 ท่านที่มีความรู้เกี่ยวกับพิธีกรรมสะเนงสะเองประกอบด้วย ตาพรมมา โพธิ์กระสังข์ ซึ่งเป็นผู้รู้เกี่ยวกับเครื่องดนตรีและการบรรเลงดนตรีประเภทเป่า ตาทิพย์ ทองละมุล เป็นผู้รู้ด้านเครื่องดนตรีและการบรรเลงดนตรีประเภทตี เช่น โทน ยายกัณหา จันทะสน เป็นผู้รู้ด้านการประกอบพิธีกรรมในฐานะแม่ครู และพี่อดิเรก โพธิสาร ผู้รู้ด้านการประกอบพิธีกรรมซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้รู้มาได้ไม่นานนัก
เพราะเงื่อนไขว่า การสืบทอดบทบาทการเป็นแม่ครูสะเนงสะเองผ่านทางสายเลือด ทำให้การสืบทอดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการประกอบพิธีกรรมเหลือเพียงทางเลือกในการเรียนรู้ขั้นตอนพิธีการ เครื่องประกอบพิธี และดนตรีที่ใช้บรรเลง โดยใช้จังหวะที่มีการจัดพิธีกรรมสะเนงสะเองในชุมชน ขอเข้าร่วมเพื่อสังเกตการณ์ โดยชี้แจงกับเจ้าภาพว่า ทำโครงการเรื่องนี้ ขอเข้าร่วมเพื่อเก็บข้อมูล เมื่อได้รับอนุญาตจึงอยู่ช่วยงานตั้งแต่การเตรียมการ การจัดประรำพิธี ทั้งช่วยทำ ทั้งดู และถ่ายวิดีโอ รวมทั้งสอบถามจากผู้รู้ไปเรื่อยๆ ในจังหวะที่แม่ครูและผู้ร่วมพิธีหยุดพัก โดยมีหนิงทำหน้าที่จดบันทึก โด่งถ่ายวิดีโอและถ่ายภาพ ทีมงานคนอื่นๆ ช่วยกันสอบถามเรื่องประวัติ พิธีกรรม ข้อห้าม แล้วไปรู้จักกับครูภูมิปัญญาด้วย
เบียร์เล่าว่า พวกเราไปสอบถามกับคนที่เขาเคยรำ เคยเล่นดนตรี คือ ตาพรมมา สอนเรื่องปี่และแคน ยายกัณหา จันทะสน สอนเรื่องสะเอง เพราะยายเป็นแม่ครูสะเองและแม่ครูรำ เรื่องที่ถาม เช่น ห้ามเล่นสะเนงสะเองวันไหนบ้าง เขาบอกว่า ห้ามเล่นวันเข้าพรรษา หรือวันพระ เป็นต้น
“ผู้รู้ที่ตีโทน เราเก็บข้อมูลเรื่องจังหวะการตี มันจะมีจังหวะ พรึ๊บ ๆ โจ๊ะ แต่จังหวะโจ๊ะ มันจะยาก มันต้องใช้สันมือตี ถ้าใช้มือตีทั้งหมดมันจะเป็นเสียงธรรมดา ไม่เป็นเสียงโจ๊ะ” ทัดเล่าถึงเทคนิคการตีโทนที่ได้เรียนรู้
ตาพรมมา เล่าให้ทีมงานฟังว่า พิธีกรรมสะเนงสะเองมีต้นกำเนิดจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้าสู่ประเทศไทยทางภาคเหนือ โดยมีชาวกวยที่อาศัยอยู่แถบลุ่มน้ำโขงรับเอาความเชื่อการเล่นสะเนงสะเองมาด้วย ดังจะเห็นได้จากในการประกอบพิธีกรรมจะมีบทขับร้องเป็นภาษาลาว สะเนงสะเองมี 2 ประเภท คือ สะเองเลียง และสะเองโรง สะเองเลียงคือ การจัดสะเองครั้งแรกและครั้งที่ 2 ส่วนสะเองโรงคือ การจัดสะเองครั้งที่สามหรือการเลี้ยงสะเอง ซึ่งการจัดพิธีกรรมสะเองไม่นิยมจัดในช่วงเข้าพรรษา หรือวันพระ การสืบทอดความรู้ในการประกอบพิธีกรรมเป็นการสืบทอดทางสายเลือด ผู้ที่มีเชื้อสายสะเองเท่านั้นจึงจะเป็นแม่ครูได้ เครื่องดนตรีในพิธีกรรมสะเนงสะเองประกอบด้วย โทน 2 ใบ ฆ้อง 1 ใบ ปี่ 1 เลา โดยการรำตอนจัดพิธีกรรมจะไม่มีการเปลี่ยนทั้งคนรำ คนเล่นดนตรี แต่จะมีการพักกินข้าวตอนเที่ยงคืน หรือหากเหนื่อยจะหยุดให้พักนอนสักครู แล้วร่ายรำต่อจนเช้า
แต่เมื่อจะเริ่มเรียนดนตรี ก็ต้องเสาะหาเครื่องดนตรี การหาโทนทำได้ไม่ยาก เพราะยังสามารถซื้อหาได้จากอำเภอขุขันธ์ที่ยังมีคนผลิตขาย ส่วนปี่นั้นต้องขอให้ผู้รู้ทำให้ เพราะปี่ที่ใช้ในพิธีกรรมเรียกว่า ปี่แม่มด มีเฉพาะที่นี่เท่านั้น โดยปี่แม่มดของบ้านโพธิ์กระสังข์มี 6 รู ไม่มีรูข้างล่าง แต่จะใส่ใบไผ่ไว้ให้เกิดเสียง ซึ่งต่างจากปี่แม่มดของเขมรที่มี 6 รู และมีรูข้างล่าง ที่บ้านโพธิ์กระสังมีตาพรมมาเป็นผู้รู้คนสุดท้ายที่เป่าปี่ได้ และทำปี่เป็น ภาระในการทำปี่ให้เยาวชนทั้งหมดจึงเป็นของคุณตาพรมมาที่เต็มอกเต็มใจอย่างยิ่งที่จะถ่ายทอดวิชาความรู้และทำปี่แม่มดให้กับลูกหลานได้ฝึกเรียน
ทีมงานทั้งหมดพากันไปฝากตัวเป็นศิษย์กับผู้รู้ และเริ่มเรียนการตีโทนที่บ้านของผู้รู้ ในวันหยุดเสาร์อาทิตย์ โดยมีโด่งทำหน้าที่บันทึกวิดีโอระหว่างการสอนของผู้รู้ เพื่อเก็บไว้เปิดดูตอนฝึกซ้อมกันเอง ทีมงานก็ได้สัมผัสกับความอัศจรรย์ใจเกี่ยวกับการเรียนรู้ว่า การเล่นดนตรีเป็นพรสวรรค์ประจำตัว จึงสอดคล้องกับความเชื่อของทีมงานที่ว่า ถ้าไม่มีพรประจำตัวไปฝึกตีอย่างไรก็ตีไม่เป็น ดังเห็นจากแม็คที่เพียงแค่ได้เห็นลีลาการตีของผู้รู้ ก็สามารถจับจังหวะและสามารถตีโทนได้อย่างคล่องแคล่วในครั้งแรกของการฝึก ส่วนทัดต้องฝึกตีจนโทนแตกไป 1 ใบ
“อยู่ๆ ก็ตีเป็น ทั้งๆ ที่ไม่เคยเล่นดนตรีอื่นมาก่อน ดูครั้งเดียวก็เป็นเลย” แม็คเล่าถึงทักษะที่เป็นพรประจำตัว ซึ่งเพื่อน ๆ ที่รายรอบเสริมว่า เพราะมีความเชื่อว่า ปู่ ทวดที่เขาเคยเล่นแล้วเขาตายไป มาเกิดเป็นแม็ค และด้วยฝีมือการตีเข้าจังหวะที่สุดทำให้แม็คกลายเป็นมือวางอันดับหนึ่งในหมู่ทีมงาน
ความสามารถทางดนตรีเป็นสิ่งที่ต้องใส่ใจฝึกฝนเป็นประจำ ทีมงานจึงได้รวมตัวกันฝึกซ้อมการตีโทนเป็นประจำทุกวันยามเย็น โดยอาศัยวิดีโอที่ถ่ายทำมาเป็นแนวทางในการฝึก
การเรียนรู้ทำให้ทีมงานยังได้สัมผัสกับข้อห้ามตามความเชื่อต่าง ๆ ที่ผู้รู้เพียรบอกสอน เช่น ห้ามตีโทนบนรถ เพราะเป็นการหลบหลู่ครู เวลาทำพิธีจริง ๆ แถนจะไม่เข้า ห้ามตีฆ้องในบ้าน หรือห้ามตีเล่นเฉย ๆ ถ้าจะตีต้องมีเครื่องดนตรีครบวง ฯลฯ ความเชื่อที่หากพิจารณาในเชิงเหตุผลก็พอจะเข้าใจได้ว่า ห้ามตีโทนบนรถ เพราะอาจทำให้คนตีและคนขับรถเพลิดเพลินจนลืมระวังตัว ห้ามตีฆ้องในบ้าน หรือถ้าตีต้องมีเครื่องดนตรีครบวง เพราะในอดีตการตีฆ้องคือ การให้สัญญาณบอกเหตุ เป็นต้น
ส่วนการรำสะเอง ซึ่งจะเป็นท่ารำเฉพาะตัวที่ปู่ย่าตายายรำอย่างไรลูกหลานก็รำอย่างนั้น เปรียบเสมือนเป็นมูลมรดกที่สืบทอดให้ลูกหลานต่อไป เช่นเดียวกับผ้านุ่งในการรำที่จะถูกส่งต่อรุ่นต่อรุ่น สำหรับคนที่ไม่ใช่อยู่ในตระกูลสะเองอาจจะรำแม่มดได้ถ้าอยู่ในพิธีแล้วรู้สึกอยากร่ายรำตามเสียงดนตรี ดังเช่นฟลุ๊คและแม็คที่ลุกขึ้นรำร่วมกับผู้ใหญ่ในขณะที่มีการจัดพิธีกรรมอย่างไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย หรือขลาดอายทั้งๆ ที่ยามปกติค่อนข้างจะขี้อาย
“พิธีกรรมสะเนงสะเอง เริ่มตั้งแต่การไปสืบค้นสาเหตุ ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่คนป่วยไปหาหมอแผนปัจจุบันแล้วไม่หาย ก็จะมีการกลับมาถามคนทรง แล้วถ้าคนทรงบอกว่า ผีแถนทำ ให้เราบนด้วยการผูกสายสิญจน์ที่คอขวดแก้ว บอกว่า ถ้าหายถึงจะเล่น ถ้าไม่หาย ไม่เล่น ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าเจ็บป่วยเพราะผีแถนทำจริง อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคจากกรณีนี้จะเป็นไข้ร้อนๆ จะเดินไม่ได้ ต้องนอนอยู่บนเสื่อ ถ้าผีแถนทำจริง ๆ ภายใน 3-4 วันก็จะขยับตัวได้ เดินได้ เขาก็จะทำพิธีแก้บนเลย แต่ก่อนจะทำพิธีก็ต้องไปถามคนทรงเพื่อสำรวจดูวันที่เหมาะสมแก่การประกอบพิธี โดยต้องไม่ใช่วันพระกับวันในช่วงเข้าพรรษา เมื่อได้วันแล้วต้องไปเชิญแม่ครู หมอโทน หมอปี่ แล้วจึงเตรียมประรำพิธีในบริเวณบ้านผู้ป่วย เตรียมอุปกรณ์ต่างๆ” ทัดเล่า
ความเชื่อเกี่ยวกับการเตรียมประรำพิธียังมีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ต้องทำจากก้านมะพร้าวและไม้ไผ่ โดยหันปลายไปทางทิศตะวันตกทุกก้าน โดยมีความสูงประมาณ 2.5 หรือ 3.0 เมตร เพื่อไม่ให้โดนศีรษะเวลาร่ายรำ นอกจากนั้นเครื่องประกอบในพิธีกรรมคือ ขันห้าและขันแปดเป็นเครื่องเซ่น อย่างละ 2 ชุด มีดอกจำปา แป้ง กระจก หนังสือ กระบุง 4 อันภายในมีกล้วย ข้าวต้ม ข้าวตอก ในพิธีจะใช้เทียนอย่างเดียวไม่ใช่ธูป
การเชิญแม่ครูสะเอง จะต้องจัดกรวย 2 อัน ซึ่งภายในจะมีกล้วย ข้าวต้ม น้ำส้ม เหล้า หมากพูล นำไปเชิญแม่ครู ส่วนการเชิญคนรำร่วมและหมอปี่ หมอโทนใช้กรวยคนละ 1 อัน ในการรำต้องมีครอบครัวและตัวผู้ป่วยร่วมอยู่ในบริเวณพิธีด้วย
ความเชื่อเรื่องพิธีกรรมสะเนงสะเองนั้น ชาวกวยเชื่อถือศรัทธาอย่างหมดจิตหมดใจ เพราะพลังความความเชื่อส่งผลให้กายหายป่วย ทีมงานซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ก็เชื่อด้วยเช่นกัน เพราะเคยประสบพบเห็นกับตาของตนเองมาแล้ว
“มันมีประโยชน์คือ เป็นกำลังใจในการดำเนินชีวิต” เว็นบอกถึงประโยชน์ที่ได้รับ
การประกอบพิธีสะเนงสะเอง ยังสามารถเป็นอาชีพเสริมได้เหมือนการแพทย์ทางเลือกทั่วไป แม้ว่า โดยส่วนมากแล้วแม่ครู นางรำ และหมอปี่ หมอโทนจะไม่ได้คิดเรื่องการหารายได้จากการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ แต่ทุกครั้งที่ร่วมพิธี ทางเจ้าภาพก็มักมีการสมนาคุณเป็นสินน้ำใจอยู่เสมอ
“การทำพิธีแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง ไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท เฉพาะค่าคนเล่นดนตรีเป็นคนบ้านเราก็ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท แต่ถ้าเป็นคนบ้านอื่นมาเล่นจะสูงถึง 7,000 บาทขึ้นไป ไม่เกี่ยวกับสินน้ำใจที่จะมอบให้แม่สะเอง ไม่รวมอุปกรณ์ การเลี้ยงข้าว เหมือนทำบุญ บางครั้งเจ้าภาพที่มีฐานะดีจัดแต่ละทีเป็นแสน” ทัดเล่า
“การทำงานของทีมงานยังอยู่ในขั้นตอนของการฝึกเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะปี่ที่กำลังรอให้ตาพรมมาทำให้ครบ แต่ถ้าถามว่า ถ้าต้องจัดพิธีกรรมสะเนงสะเอง ทีมงานทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวว่า สามารถจัดเตรียมเองได้ทุกขั้นตอน และมั่นใจว่าจะสามารถสืบทอดภูมิปัญญาเรื่องนี้ให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไปได้แน่นอน”
>> ความงอกงามของผู้สืบทอด
การทำงานของทีมงานยังอยู่ในขั้นตอนของการฝึกเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะปี่ที่กำลังรอให้ตาพรมมาทำให้ครบ แต่ถ้าถามว่า ถ้าต้องจัดพิธีกรรมสะเนงสะเอง ทีมงานทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวว่า สามารถจัดเตรียมเองได้ทุกขั้นตอน และมั่นใจว่าจะสามารถสืบทอดภูมิปัญญาเรื่องนี้ให้คงอยู่คู่กับชุมชนต่อไปได้แน่นอน เพียงแต่ว่าจะเป็นใครที่อยู่ในสายตระกูลสะเองที่จะถูกเลือกให้สืบทอดตำแหน่งแม่ครู อันเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับโชคชะตาฟ้ากำหนดไม่อาจกะเกณฑ์เอาเองได้
จากเด็กที่ไม่เคยสนใจเรื่องราวความเป็นไปใด ๆ ของชุมชน ใช้ชีวิตเรียนและเล่นไปวันๆ ยามว่างก็เอาแต่นอน หรือบางคนก็เล่นเกมจนติดงอมแงม แต่เพราะได้มีโอกาสทำโครงการนี้จึงทำให้พวกเขาเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้ตัว
โดยเฉพาะโด่งที่บอกว่า เมื่อก่อน วันหยุดเขามักจะขลุกตัวอยู่แต่ในบ้าน ไม่ค่อยสนใจคนอื่น ดูทีวีไร้สาระไปวันๆ แต่วันนี้เขาลุกขึ้นมารวมตัวกับเพื่อนทำงานเพื่อชุมชน (ตัวเองไม่เคยมีพื้นฐานการบรรเลงดนตรีเลย ) เพียงแค่ว่าเราเปิดใจ ลองทำดูสักตั้ง จนสามารถบรรเลงดนตรีกับเพื่อนๆ ได้ ไม่เคยนึกมาก่อนว่าเราจะมาได้ขนาดนี้ การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ทำให้เขามีทักษะการคิดแก้ไขปัญหา และเปิดใจยอมรับฟังความเห็นของคนอื่นมากขึ้น เอาใจเขามาใส่ใจเรา "เพียงแค่ว่าเราเปิดใจ และทำมันลงไปอย่างเต็มที่"
“ต้องขอโทษพ่อแม่ด้วยที่ทำตัวไม่ดีไม่ยอมเชื่อฟัง แต่ว่าการทำงานในครั้งนี้ทำให้หนูโต ทำให้หนูรู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างสบายใจ หนูเข้าใจแล้วว่าบทเรียนไม่ได้มีเพียงแค่คำสอนของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ข้างนอกก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่หนูต้องเจอและเก็บเกี่ยว"
ในขณะที่ทัดบอกว่า การทำโครงการเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ทำให้ไม่มีเวลาไปเลาะเที่ยวเล่น ไร้สาระ ทั้งยังทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อพิธีกรรมสะเนงสะเองลึกซึ้งมากขึ้น ว่าเป็นความเชื่อที่ยึดโยงจิตวิญญาณที่อ่อนแอของผู้คนให้แข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งนั่นส่งผลต่อร่างกายที่เจ็บป่วยได้ฟื้นตัว การมีความเชื่อเป็นพื้นฐานจึงทำให้รู้สึกมั่นใจมีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิต
ส่วนหนิง บอกว่า เธอเป็นคนหนึ่งที่อยู่ในกรอบมากที่สุด พ่อแม่ไม่อยากให้เข้าร่วมโครงการ แต่เธอก็ดื้อเข้ามาจนได้ และเมื่อได้เข้ามาทำโครงการเธอรู้สึกว่าตัวเองมีความสุข ไม่เคยคิดเลยว่าการทำโครงการในครั้งนี้จะทำให้เธอได้บทเรียนมากมาย ตอนไปเก็บข้อมูลเราคิดว่าทำอย่างไรดีจึงจะสามารถเก็บข้อมูลได้มากที่สุด "รู้สึกกังวลใจ" แต่เพื่อน ๆ บอกว่าให้เขียนไปก่อนตามปราชญ์ผู้รู้เล่ามา แล้วค่อยๆ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ร่วมกัน เพียงแค่ความไว้ใจจากเพื่อนในทีม ทำให้เราเกิดกำลังใจในการทำโครงการ และฝ่าฟันอุปสรรคกับเพื่อนในทีมจนทำงานสำเร็จ ทุกย่างก้าวที่ก้าวร่วมกันกับเพื่อนทำให้เราเกิดความสามัคคีกับเพื่อนในทีม สามารถแก้ไขปัญหาร่วมกันได้
"ดื้อรั้นเพียงนิดเดียว แต่เรากลับเจอประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ ต้องขอโทษพ่อแม่ด้วยที่ทำตัวไม่ดีไม่ยอมเชื่อฟัง แต่ว่าการทำงานในครั้งนี้ทำให้หนูโต ทำให้หนูรู้จักความรับผิดชอบมากขึ้น และสามารถทำงานร่วมกับคนอื่นได้อย่างสบายใจ หนูเข้าใจแล้วว่าบทเรียนไม่ได้มีเพียงแค่คำสอนของคนในครอบครัวเท่านั้น แต่ข้างนอกก็ยังมีอะไรอีกมากมายที่หนูต้องเจอและเก็บเกี่ยว"
>> คือผู้สืบทอดจิตวิญญาณสะเนงสะเอง
พระครูพิพัฒน์โพธิคุณ เจ้าอาวาสวัดโพธิ์กระสังข์ ในฐานะพี่เลี้ยงชุมชน เล่าว่า การทำโครงการเป็นประโยชน์ต่อทั้งชุมชนและเยาวชน ชุมชนได้ผู้สืบทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรม ส่วนเยาวชนได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ลดปัญหาการแว้น หรือมั่วสุมยาเสพติด การรวมกลุ่มทำงานของเยาวชนยังทำให้เกิดความสามัคคี ซึ่งไม่เฉพาะในกลุ่มเยาวชนเท่านั้น แต่คนในชุมชนที่ช่วยสนับสนุนงานของกลุ่มเยาวชนเองก็ได้เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างกันด้วย
“แม้สะเองจะไม่ใช่ความเชื่อทางศาสนา แต่ก็เป็นความเชื่อที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของผู้คน ทำให้มีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิต และประคับประคองชีวิตในอยู่ในเส้นทางแห่งความกตัญญู”
นพดล โพธิ์กระสังข์ ผู้ใหญ่บ้านแต้พัฒนา ผู้ที่ได้สัมผัสการทำงานของทีมงานสะท้อนความรู้สึกว่า เป็นเรื่องดีที่เด็กเยาวชนคิดที่จะอนุรักษ์วัฒนธรรมของชุมชนไว้ แม้ว่าการเป็นสะเนงสะเองใช่ว่าใครก็เป็นได้ แต่สิ่งที่เยาวชนช่วยรักษาไว้ได้คือ เรื่องของดนตรีที่บรรเลงในการประกอบพิธีกรรม
“ถ้าสะเองหายไปจากหมู่บ้าน มันก็คงสูญเสียวัฒนธรรมประจำชนเผ่าที่พ่อแม่ตาทวดทำมาตั้งแต่โบราณ เพราะผมเกิดมาก็เห็นเลย แล้วผู้รู้ก็แทบไม่เหลือแล้ว โชคดีที่เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีความคิดที่จะอนุรักษ์ไว้”
ด้านครูแอ๊ด พี่เลี้ยงชุมชนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการทำโครงการว่า เขาเป็นครูที่ปรึกษาประจำห้อง จึงชักชวนให้ลูกศิษย์ทำโครงการ โดยยกตัวอย่างข้อดีของการทำงานที่ได้สัมผัสมาด้วยตนเองในปีที่ผ่านมา เมื่อลูกศิษย์สนใจจึงได้เริ่มกระบวนการพัฒนาข้อเสนอโครงการ
“ผมจะถามเขาว่า อยากจะทำเรื่องอะไรก่อน ให้เขาคิดกัน โดยให้คิดถึงสิ่งใกล้ตัว เขาก็บอกว่า เรื่องดนตรีพื้นบ้านที่ใช้ในพิธีกรรม ถ้าไม่มีคนสืบทอดอาจจะหายไปก็เลยทำเรื่องนี้ เขาอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง”
การหนุนเสริมการทำกิจกรรมของทีมงานนั้น ครูแอ๊ดใช้การเรียนรู้ร่วมไปพร้อมๆ กันกับทีมกอนกวยโซดละเวซึ่งมีประสบการณ์ในการทำโครงการมาก่อน รู้ขั้นตอนวิธีการทำงาน จึงสามารถช่วยแนะนำแก่ทีมสะเนงสะเองได้ ซึ่งครูแอ๊ดได้ใช้วิธีการสอบถามเพื่อติดตามความคืบหน้าของงาน รวมทั้งการพาไปเรียนรู้กับโครงการอื่นๆ ในพื้นที่ เพื่อเปิดประสบการณ์ให้กับทีมงาน ซึ่งการทำงานของทีมงานยังมีจุดอ่อนเรื่องการตั้งคำถามเพื่อเก็บข้อมูล และการประสานงานที่ยังเข้าหาผู้ใหญ่ไม่เป็น เขาจึงต้องทำหน้าที่เป็นตัวช่วย
“ผมว่าน้อง ๆ มีพัฒนาการดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อก่อนเด็กกลุ่มนี้ติดเกมมาก และชอบเที่ยวเตร่เถลไถล โดยเฉพาะทัด เขาติดเกมมาก พอได้ร่วมทำโครงการเขาก็เปลี่ยน สนใจงานมากขึ้นกว่าเดิม มีความรับผิดชอบมากขึ้น” ครูแอ๊ดเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงของทีมงานที่สัมผัสได้
สายตายามเฝ้ามองการร่ายรำในพิธีกรรมอย่างสนใจ สองมือที่ช่วยตีโทนให้จังหวะบวมแดงเหมือนจะเจ็บปวด แต่ไม่ได้ทำให้เยาวชนเลิกราต่อการฝึกฝน การเรียนรู้ลงลึกในสิ่งที่เคยคุ้น นำมาสู่ความรักอย่างลึกซึ้งต่อวัฒนธรรมของชนเผ่าที่บรรพบุรุษถ่ายทอดสืบมา และเกิดสำนึกรักถิ่นกำเนิด จึงเชื่อได้ว่า ความรักที่มีนั้นจะยึดโยงให้เสียงดนตรีสะเนงสะเองยังคงดังก้องสร้างแรงใจให้ผู้คนในบ้านโพธิ์กระสังข์สืบไป
รู้จักพิธีกรรมสะเนงสะเอง
คุณค่าของสะเนงสะเอง
การจัดพิธีกรรมสะเองเกิดจากการที่มีผู้เจ็บป่วยและบนบานไว้ จนผู้ป่วยหายป่วยจริงจึงจัดขึ้นเพื่อความสบายใจและมีกำลังใจในการดำเนินชีวิต ซึ่งชาวกวยในตำบลโพธิ์กระสังข์ ยังคงยึดถือและปฏิบัติกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย
ประเภทของสะเนงสะเอง มี 2 ประเภท คือ
- สะเองเลียง คือ การจัดสะเองครั้งแรกหรือครั้งที่สอง
- สะเองโรง คือ การจัดสะเองครั้งที่สาม หรือเลี้ยงสะเอง ซึ่งเป็นการจัดพิธีไหว้ครูบอกกล่าว หากละเลย แถนสะเองอาจจะทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย
ขั้นตอนในการประกอบพิธีกรรม
- ไปพบคนทรงเพื่อหาฤกษ์งามยามดีที่เหมาะสมในการประกอบพิธี
- นัดหมายวันทำพิธี โดยไม่นิยมเล่นสะเองในช่วงเข้าพรรษาและวันพระ
- โปงขะเหวือน คือ การเลี้ยงพระแม่ธรณี บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางก่อนจัดปะรำพิธี ประกอบไปด้วยสำรับข้าว 1 สำรับ หมากพลู เหล้าน้ำส้ม เซ่นไหว้บอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง
- วอโตบ คือ การทำปะรำพิธี นิยมใช้ใบมะพร้าวมุงเป็นหลังคาโดยให้ปลายใบมะพร้าวชี้ไปที่ทิศตะวันตกทุกก้าน
- ตูมซอม คือ การห่อข้าวต้มมีทั้งใบมะพร้าว (ซอมทางตูง) ใบกล้วย (ซอมคลาเปลียด) ในการห่อข้าวต้ม มักจะห่อเป็นจำนวนมากเพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรมและแม่สะเองทุกคนที่ได้เชิญมา
- เตรียมกรวย 2 คู่ เทียน 1 คู่ นำไปเชิญแม่ครูสะเอง
- เชิญลูกศิษย์ลูกหาของแม่ครูมาเล่นในพิธีกรรมที่บ้านคนป่วย
- มาเตรียมสิ่งของที่จะประกอบพิธีไว้ที่โตบหรือปะรำพิธี ประกอบด้วย ขันห้า ขันแปด 2 ถาด เหล้าเบียร์อย่างละขวด ถาดเล็กถาดใหญ่ ถาดใหญ่ 500 ถาดเล็ก 250 ผ้าไหม ผ้าถุง ผ้าโสร่งอย่างละผืน ข้าวสาร กล้วย ข้าวต้ม ขันครูของหมอปี่หมอโทนอย่างละขัน กรวย 2 คู่ เหล้า 1 ขวด เทียน 1 คู่ เงิน 25 บาท ค่าขันครู
การจัดขันดอกไม้เพื่อแห่พิธีกรรม
- หิ้ง 1 อัน น้ำขมิ้น 1 ขัน มัดเชือกฟาง 1 รอบประรำพิธี เพื่อใช้มัดกล้วย ข้าวต้ม ดอกจำปา มีดดาบ กระะบุง 4 ใบ น้ำขมิ้น 4 ขวด กระจก แป้ง ตะเกียง หวี น้ำมันมะกอก
- โดยผู้ที่จะมาร่วมพิธีกรรม ต้องเตรียม กระปุกน้ำอบ หูช้างกับอาหารช้าง ข้าวสาร 1 ขัน กรวย 2 คู่
เมื่อแม่ครูประทับทรง
- เจ้าบ้านต้องมานั่ง 1 คน คนที่อยู่รอบๆ ตบมือ เพื่อเรียกแถนให้เข้าทรง แม่ครูก็เรียกวิงวอนให้แถนเข้าทรง ถ้าเข้าร่างทรงมือจะสั่นและสั่นแรงไปเรื่อยๆ มือจะตบเข่าซ้ายกับเข่าขวา เมื่อเข้าเต็มองค์แล้วจะลุกขึ้นเลือกผ้าไหมชุดที่จะนุ่งเป็นเครื่องชุดประจำกายของแถนคนนั้น บริวารทุกคนจะมาเล่นเข้าทรงกันแล้วลุกขึ้นมาร่ายรำ
- พอถึงเที่ยงคืนแล้วก็หยุดเซนปี่เซนโทน (เซ่นปี่เซ่นโทน) แล้วก็พักกินข้าวต้มเพื่อให้มีแรงในการเล่น แม่ครูเชิญผีบรรพบุรุษลงให้ลูกหลานถามว่าอยู่สบายไหมลำบากไหม แล้วแต่วิบากกรรมของแต่ละคน แล้วจึงร่ายรำต่อ พอถึงตี 4 ตี 5 ใกล้จะสว่าง แถนทุกคนก็บอกกันว่าจะเล่นวัวเล่นควาย
- เมื่อสว่างแล้วเด็ดเอาข้าวต้ม กล้วย ดอกจำปา ที่แขวนไว้ใส่ในในกระบุงเผื่อจะมีคนแย่ง แล้วก็แห่ขันดอกไม้ 3 รอบ และร่ายรำอีกสักพัก จึงไหว้หมอปี่หมอโทน เพื่อไหว้อำลา เอาหูช้างก้มไหว้เทวดาอยู่เบื้องบนผู้ใหญ่ ผีแถนออกจากร่างทรงกลับไปที่หิ้งเดิม แล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี
เพลงในการเล่นสะเองหรือที่เรียกว่าพญา
- “ฆ้องๆ น้อยดังมาให้มันหม่วนเคาะบาทหนึ่งให้ดังก้องทั่วนะพา เคาะบาทสองนั้นให้ดังก้องทั่วโลกา เคาะบาทสามนั้นให้ดังก้องทั่วพะยาแถน สาธุเด้อให้อยู่แดนพูค้า ข้างใด๋ก็ให้มันเฟื่อง ดังๆ ท้อนซึอพูขาให้ร้อนาม สาธุเด้อให้มีคนเกร่งถามทั่งสามให้มันดังเด้อ แม่ครูบาเอ๋ย”
ดนตรีในการประกอบพิธีกรรมสะเอง เครื่องดนตรีในการเล่นสะเอง มี 3 ชนิด คือ
- ปี่ ทำจากต้นกู่ มี 6 รู
- ฆ้อง วิธีการเล่น ใช้ตี 1 จังหวะตามทำนอง
- โทน วิธีการเล่น ตี 3 จังหวะ จังหวะช้า จังหวะกลาง จังหวะเร็ว หนังที่ใช้หุ้มโทน (ฉะขลอล) ใช้หนังงูใหญ่ หนังตัวเงินตัวทอง
การไหว้ครูดนตรี
- ก่อนการประกอบพิธีกรรมสะเองจะมีการเซ่นไหว้ครู เครื่องเซ่นประกอบไปด้วย หมากพลู กล้วย ข้าวต้ม สำหรับข้าว 1 สำรับ
- การเซ่นไหว้ครูช่วงที่ 2 ช่วงเที่ยงคืน เครื่องเซ่นไหว้ ประกอบไปด้วย ไก่ต้ม 1 ตัว หมากพลู กล้วย ข้าวต้ม เหล้า 1 ขวด น้ำส้ม 1 ขวด เบียร์ 1 ขวด กับข้าว 1 สำรับ ในช่วงนี้จะมีการเสี่ยงทายด้วยคางไก่และไข่ต้ม
โครงการสะเองสะเนงกวย
พี่เลี้ยงชุมชน :
- พระครูพิพัฒน์ โพธิคุณ (เจ้าอาวาสวัดโพธิ์กระสังข์)
- สิบเอกวินัย โพธิสาร
ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ