การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์ผ้าไหมโซดละเว จังหวัดศรีสะเกษ ปีที่ 2

สืบสานลายไหม...มัดใจชุมชน

โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว

ผ้าไหมของกลุ่มเยาวชนที่ทอเสร็จแล้วจะถูกรวบรวมไว้ร่วมกับผ้าของสมาชิกในชุมชนที่นำมาฝากขาย โดยมีช่องทางการตลาดผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลุ่มมีเพจเฟซบุ๊กชื่อ “กอนกวยโซดละเว” เป็นหน้าร้าน ให้คนนอกชุมชนได้สั่งสินค้า และการออกบูธตามงานต่างๆ ที่กลุ่มเยาวชนได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรม โดยกลุ่มเยาวชนจะคิดค่าฝากขายสินค้า 50 บาทต่อชิ้น เพื่อเก็บไว้เป็นเงินกองกลางสำหรับทำกิจกรรมของกลุ่ม สำหรับสินค้าที่เป็นผลงานของเยาวชนเมื่อหักต้นทุนไว้แล้ว ก็จะเป็นรายได้ของผู้ทอผ้าแต่ละผืนที่ขายได้ ซึ่งทีมงานสะท้อนว่า หากคิดในแง่ของค่าแรงรายวันคงไม่คุ้ม แต่สิ่งที่เหนือกว่าในความรู้สึกคือ ความภาคภูมิใจที่สามารถทอผ้าไหมได้นั้นมีคุณค่ามากกว่านัก

จากการทำโครงการของเยาวชนปีที่ 1 ทำให้เยาวชนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านและคนนอกรู้ว่าชุมชนบ้านแต้พัฒนา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวกวย (ส่วย) ยังมีกลุ่มผู้สูงอายุ สืบทอดวัฒนธรรมการแต่งกายด้วยผ้าไหมโซดละเว หรือที่เรียกว่า “ผ้าไหมลายหางกระรอก” ปีที่ผ่านมากลุ่มเยาวชนเห็นว่า หากไม่เร่งสานต่อวัฒนธรรมการทอผ้าอาจทำให้ “ความรู้” ด้านการทอผ้าไหมสูญหายไปจากชุมชน และสูญหายไปจากชาวกวย จึงรวมตัวกันทำโครงการ “ดักแด้แตกใหม่ทอรักทอไหมสายใยโซดละเว” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมการใช้ผ้าไหมโซดละเว โดยได้ร่วมกันสืบค้นประวัติความเป็นมาของผ้าไหมโซดละเว การใช้ผ้าไหมโซดละเวในชีวิตประจำวันและในงานประเพณีต่างๆ รวมทั้งลงแรงปลูกหม่อน เลี้ยงไหม เพื่อผลิตเส้นไหมสำหรับฝึกย้อมสีและทอผ้าไหมโซดละเว

แต่งานยังไม่จบแค่นั้น...

พวกเขายังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องดำเนินงานต่อ


>> สืบเรื่องที่ต้องสานต่อ

“ปีแรกกลุ่มเยาวชนได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติความเป็นมา ตลอดจนคุณค่าและความยากลำบากของการทอผ้าไหม วิธีการทอผ้าไหมโซดละเว จนเกิดความตระหนักถึงคุณค่า เชื่อมโยงสู่ความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์และถิ่นกำเนิด ความรักและลุ่มหลงในวิถีการทอและใช้ผ้าไหมโซดละเว...ปีนี้จึงต้องการต่อยอดการเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าไหมโซดละเว ให้ครบองค์ประกอบในการใช้งานใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวกวยที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหมโซดละเว”

­

ทำให้กลุ่มเยาวชนซึ่งประกอบด้วย เต๋า-อภิชาติ วันอุบล คิด-สุกฤตยา ทองมนต์ บุ๋ม-ศรีประทุม โพธิสาร ตาล-ดาริตา โพธิสาร แตงโม-พาฝัน ไพธิ์กระสังข์ และเพื่อนๆ เยาวชนในชุมชน ต้องการต่อยอดการเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าไหมโซดละเว ซึ่งสามารถนำผ้าไหมลายมัดหมี่มาต่อกับผ้าไหมโซดละเว ทำให้เกิดเป็นลวดลายอันงดงาม ซึ่งจะทำให้ผ้าไหมโซดละเว ครบองค์ประกอบในการใช้งานใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวกวยที่ยึดถือกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหมโซดละเว อันเป็นแนวทางในการสร้างรายได้ให้แก่ผู้ทอ

­

โครงการเส้นสายลายไหมมัดหมี่มัดใจสานสายใยกอนกวยโซดละเว จึงเป็นการต่อยอดการทำงานในปีที่ 2 โดยมีเป้าหมายเพื่อศึกษาและรวบรวมข้อมูลองค์ความรู้ เกี่ยวกับผ้าไหมมัดหมี่ (บูลจ์บูลจ์ฉิปัด) ให้เป็นระบบ และหาแนวทางเพิ่มมูลค่าให้กับผ้าไหมโซดละเว ซึ่งจะเป็นช่องทางของการสร้างรายได้ระหว่างเรียนให้กับเยาวชน

­

ทีมงานซึ่งส่วนใหญ่ทำงานร่วมกันมาในปีแรก ยังคงรวมกลุ่มกันเหนียวแน่น เพราะเด็กๆ ในชุมชนมักมารวมตัวกันทำกิจกรรมที่ลานตากข้าว หรือที่บ้านเต๋าอยู่แล้ว โดยก่อนเริ่มงานทีมงานได้ประชุมทีม เพื่อทบทวนการทำงานในปีที่ผ่านมา และทบทวนโครงการที่จะทำในปีนี้ เพื่อให้ทีมงานได้รับรู้และเข้าใจแผนงานที่จะทำในปีนี้ร่วมกัน พร้อมทั้งแบ่งบทบาทหน้าที่หลัก ๆ มีเต๋าเป็นหัวหน้าทีมพาน้องๆ เรียนรู้เรื่องลายผ้าไหมโบราณจากผู้รู้ในหมู่บ้าน และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อที่จะรวบรวมเป็นความรู้และแกะลายไว้เพื่อใช้ในการฝึกทอ ส่วนคิด แม้ปีนี้จะต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย แต่ยังแวะเวียนมาช่วยน้องๆ เรื่องงานเอกสาร ส่วนน้องคนอื่นจะมอบหมายหน้าที่ตามงานในแต่ละขั้นตอนของการเตรียมวัสดุและทอผ้า


>> “เก็บ–แกะ–เกิด” กระบวนการฟื้นผ้าไหมโซดละเว

“ด้วยความช่างคิดดังกล่าว ทำให้ทีมงานสามารถปรับประยุกต์อุปกรณ์ในการมัดหมี่ และวิธีการที่จะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น เช่น อุปกรณ์ในการเวียนเส้นไหมขึ้นลำหมี่ ที่ใช้การหมุนแทนการพันรอบหลัก 2 ข้าง สิ่งประดิษฐ์จากความช่างคิดช่างสังเกตและกล้าทดลอง ช่วยลดเวลาในการทำงานจาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียงไม่ถึงชั่วโมง”

­

กระบวนการ “เก็บ-แกะ-เกิด” ทีมงานเริ่มต้นศึกษาด้วยการ “เก็บ” รวบรวมข้อมูล “เรื่องราวของผืนผ้า” จากการสอบถามจากผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้านทั้งในและนอกชุมชน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ และขณะเดียวกันก็ได้ศึกษาเรื่องของการใช้ผ้าในพิธีกรรมต่างๆ ในรอบปี ไปพร้อมๆ กับการสอบถามเรื่องลายผ้าจากผู้รู้ โดยจัดทำเป็นปฏิทินการใช้ผ้า และจากข้อมูลที่ค้นพบ แสดงให้เห็นว่า มีการใช้ผ้าไหมโซดละเวในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ใช้ประกอบเครื่องบูชาพระแม่โพสพในงานบุญข้าวเปลือก ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ใช้ห่อใบลานและพิธีกรรมนางอ้อ ในงานบุญผะเหวด หรือพิธีกรรมนางอ้อในเดือนเมษายน ใช้เป็นสิ่งของนำไปเยี่ยมญาติช่วงสารทเดือนสิบ รวมทั้งการใช้เป็นองค์ประกอบในเครื่องกฐิน เป็นต้น

­

นอกจากนั้น...กระบวนการศึกษาข้อมูลยังทำให้รู้ลึกลงไปอีกว่า ลายผ้าทอหลายผืน มักได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เช่น ลายที่มาจากงู เป็นต้น

“แกะ” คือ กระบวนการแกะลายหลังจากทีมงานรวบรวมข้อมูลได้แล้ว

“เราเข้าไปเก็บข้อมูลลายผ้าโบราณจากผู้รู้ ทั้งที่บ้านซำและผู้รู้ในหมู่บ้านของเรา วิธีการคือ เราให้ชาวบ้านวาดให้ดู บางครั้งก็เอาลายผ้าให้เขาดูว่าเป็นลายอะไรบ้าง แล้วเราก็เอามาถอดแกะลายรวบรวมไว้” เต๋าเล่าถึงการสืบค้นข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชน

­

และการแกะลายซึ่งทีมงานพอจะมีความรู้พื้นฐานบ้างเล็กน้อย จึงอาศัยการลองทำ แล้วนำไปถามผู้รู้ว่า ถูกต้องหรือไม่ การเรียนรู้ผ่านการทดลองทำ สร้างสมประสบการณ์ให้ทีมงานได้เป็นอย่างดี ทีมงานตั้งใจจะแกะลายรวบรวมไว้เพื่อใช้ในการฝึกทอ เพราะถ้ารู้ว่าลายมัดหมี่แต่ละลายต้องมัดอย่างไร ก็จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น

­

“ผมเป็นตัวหลักแกะลายให้น้องๆ ได้ แล้วน้องเขาก็จะมัดตามแบบที่แกะ ซึ่งการมัดมันจะมีกรรมวิธี ขั้นตอน การมัดต้องให้แน่น เพราะไม่งั้นเอาไปย้อมแล้วจะทำให้ผ้าผืนนั้นไม่สวย ลายมันจะเลอะ ตอนนี้แกะได้หลายลายแล้ว เช่น ลายขอใหญ่ ลายขอเล็ก ลายกากะใหญ่ ลายสังข์เคล็ด ลายโคม ฯลฯ รวมๆ ตอนนี้ 14 ลาย ตั้งใจจะแกะทุกลาย รวบรวมไว้เป็นรูปเล่มเอกสารภูมิปัญญาการทำมัดหมี่” เต๋า เล่าวิธีแกะลาย” 

นอกจากการศึกษาข้อมูลข้างต้น การทำงานส่วนใหญ่ของทีมงานอยู่บนฐานของการปฏิบัติ ทั้งการย้อมสีธรรมชาติซึ่งเป็นประเด็นที่ทีมงานสนใจต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว และการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เช่น การมัดหมี่ ซึ่งต้องมีกระบวนการทั้งมัด ทั้งการย้อม ก่อนที่จะนำไปทอเป็นผ้าผืน การวางแผนกิจกรรมในโครงการจึงล้อไปกับขั้นตอนในการเตรียมวัสดุ จนถึงการทอ โดยมีลำดับของการฝึกฝนของน้อง ๆ ในทีมจากงานที่ง่ายไปสู่งานที่ยาก โดยน้องที่มาใหม่จะเริ่มจากการกวักไหม ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ง่ายที่สุดแล้ว แต่กระนั้นถ้าคนไหนทำไม่เป็นหรือใจร้อนก็จะทำไม่ได้ และถ้าทำขาดก็ต้องเสียเวลาหาจุดที่ขาดเพื่อต่อไหม

­

“ขั้นต่อไปคือ การฟอก แล้วนำเส้นไหมมาแกว่ง ยังอยู่ในขั้นพื้นฐาน ขั้นที่ยากขึ้นไปอีกคือ การขึ้นลำ ถ้าเราจะมัดหมี่การขึ้นลำจะยาก เพราะต้องทำให้สม่ำเสมอ ถ้าทำไม่สม่ำเสมอจะเป็นลายเล็ก ใหญ่ไม่ตรงกัน แล้วถ้าเราจับแน่นไปเวลาทอจะไม่สม่ำเสมอ เมื่อขึ้นลำเสร็จก็จะเป็นการมัด ซึ่งยากขึ้นไปอีก แล้วก็เป็นการโอบ ถ้าคนโอบไม่เป็น เวลาย้อมผ้าสีจะเลอะไม่สวย หลังจากนั้นก็เอาไปย้อม แล้วนำมากวักออก แล้วจึงนำไปขึ้นไหมเครือซึ่งจะยากพอสมควร เพราะถ้าใส่ไม่ถูกช่องที่ต้องการจะใช้ไม่ได้เลย” เต๋าลำดับขั้นตอนที่ออกแบบไว้สำหรับการเรียนรู้ของน้อง” 

­

ผู้รู้เรื่องการมัดหมี่ในชุมชนที่เหลือมีกี่ราย เพราะไม่ค่อยมีคนทำมัดหมี่ แต่โชคดีที่ผู้รู้ที่ยังคงอยู่ล้วนแต่เป็นคนใกล้ตัวของทีมงาน เช่น แม่น้องกั้ง แม่น้องบุ๋ม ยายของเต๋า และพี่แอ๊ดที่ปรึกษาโครงการ การเรียนรู้การมัดหมี่จึงเป็นการสอบถามไปพร้อมๆ กับการปฏิบัติซึ่งทีมงานต้องอาศัยทักษะการสังเกตเพื่อจะทำตามได้

­

เพราะสังเกตเห็นว่า ผ้าไหมที่ซื้อจากตลาดสีสันจะไม่สวยเหมือนผ้าไหมที่ย้อมเองทอเอง ทั้งยังสีตกทำให้ผ้าซีดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเป็นเพราะกระบวนการย้อมที่ต่างกัน ทำให้ทีมงานสนใจพัฒนาความรู้เรื่องการย้อมสีธรรมชาติที่ได้เริ่มศึกษามาบ้างแล้วในช่วงท้ายๆ ของการทำโครงการในปีก่อน โดยในปีนี้เน้นการย้อมไหมด้วยสีจากธรรมชาติทั้งหมด หลังจากที่ในปีแรกยังเป็นการย้อมด้วยสีเคมี ด้วยมองเห็นว่า การย้อมด้วยสีธรรมชาติมีความปลอดภัยต่อการสวมใส่และดีต่อสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังเป็นการรื้อฟื้นภูมิปัญญาที่กำลังจะสูญหายไปและเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่ผ้าไหม วัตถุดิบจากธรรมชาติเช่น แก่นฝาง ครั่ง มะเกลือ หูกวาง จันเข เป็นสิ่งที่หาได้จากธรรมชาติใกล้ตัว

­

“ปีนี้เราได้สีธรรมชาติจากแก่นฝาง ซึ่งกรรมวิธีในการย้อมง่ายกว่า เพราะเป็นเปลือกไม้ ทำได้เลย ถ้าเป็นครั่งกว่าจะตำคั้นเป็นน้ำ ต้องใช้เวลานาน การย้อมแต่ละครั้งสีออกมาไม่เหมือนกัน ดังนั้นถ้าเราจะทออะไรก็ต้องคำนวณว่า จะต้องใช้ไหมเท่าไร แล้วจึงย้อมไปเลยครั้งเดียวในเครือเดียวกัน เพราะถ้าย้อมไว้ไม่พอแล้วต้องไปย้อมใหม่อีกจะได้เฉดสีไม่เหมือนเดิม” ทีมงาน เล่า

­

สิ่งที่ทีมงานรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้ทำต่อในปีนี้คือ การเลี้ยงไหม เพราะปีนี้ยังหาพันธุ์ไหมไม่ได้ ทั้งๆ ที่ต้นหม่อนที่นำมาปลูกไว้ในชุมชนแตกใบงามมาก ประกอบกับการทำงานที่มีรายละเอียดที่ต้องเรียนรู้มากขึ้นทั้งการย้อมสีธรรมชาติ การมัดหมี่ ทำให้ต้องเลือกที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไหม ที่ใช้ในการทำฝึกมัดหมี่ และฝึกทอจึงเป็นไหมที่สะสมไว้ตั้งแต่การทำโครงการในปีแรก และขอซื้อเพิ่มจากพ่อแม่พี่น้องในชุมชน

­

การรื้อฟื้นความรู้และวิธีการย้อมสีธรรมชาติของกลุ่มเยาวชน เป็นตัวกระตุ้นความสนใจของคนในชุมชน ยาย ป้า น้า อาบางคนเริ่มเสาะแสวงหาวัสดุที่ให้สีจากธรรมชาติมาย้อมไหมของตนเองบ้าง โดยเฉพาะการย้อมสีเหลืองจากแก่นไม้ที่ทำได้ง่ายสามารถหาได้ในท้องถิ่น แม้ว่าสีอื่น ๆ ที่มีขั้นตอนการย้อมที่ซับซ้อนยากขึ้นจะยังคงใช้สีเคมีอยู่ก็ตาม

­

“เกิด” ความทุ่มเท ใส่ใจเรียนรู้ ทำให้ทีมงานเห็นช่องทางพัฒนาลวดลายของผ้าไหมให้งดงามยิ่งขึ้น ความคิดสร้างสรรค์ที่มักเกิดขึ้นขณะมัดหมี่หรือทอ ทำให้เต๋าอดใจไม่ได้ที่จะทดลองสอดใส่ลวดลายใหม่ ๆ ลงไปในการทอ หรือการมัดแต่ละครั้ง แม้ว่าลวดลายที่ได้ยังไม่ลงตัว แต่การได้ฝึกคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ก็เป็นเสน่ห์ที่น่าค้นหาในการทำงาน

­

ด้วยความช่างคิดดังกล่าว ทำให้ทีมงานสามารถปรับประยุกต์อุปกรณ์ในการมัดหมี่ และวิธีการที่จะทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น เช่น อุปกรณ์ในการเวียนเส้นไหมขึ้นลำหมี่ ที่ใช้การหมุนแทนการพันรอบหลัก 2 ข้าง สิ่งประดิษฐ์จากความช่างคิดช่างสังเกตและกล้าทดลอง ช่วยลดเวลาในการทำงานจาก 3 ชั่วโมงเหลือเพียงไม่ถึงชั่วโมง

­

ทุกวันยามเย็น กิจกรรมของเด็กและเยาวชนบ้านแต้พัฒนา คือ การรวมตัวกันทำงานทอผ้า ย้อมไหม แบ่งหน้าที่กันไปตามระดับขั้นที่ต้องฝึกฝน โดยมีงานกลางเช่น การบริหารจัดการโครงการที่ต้องช่วย ๆ กัน หากมีงานต้องทำเอกสาร รายงาน คนที่มีคอมพิวเตอร์ก็จะหอบโน้ตบุ๊กมาช่วยกันพิมพ์งาน การทำงานจึงไม่เคร่งเครียดเพราะมีกิจกรรมหลากหลายให้เปลี่ยนบรรยากาศให้ไม่จำเจ


­

>> ก้าวแรกสู่การเป็นผู้ประกอบการ

“เมื่อชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มมีออเดอร์สั่งทำตีนซิ่นเข้ามาจากที่ไกลๆ แต่กลุ่มเยาวชนก็ยังไม่กระโจน เข้าสู่การทอเพื่อขายเป็นอาชีพ เพราะตระหนักในหน้าที่ที่ต้องเรียนหนังสือเป็นหลัก งานทอผ้าจึงเป็น งานที่ทำยามว่าง และผลิตสินค้าแต่พอเพียงกับแรงที่มีโดยไม่ให้ กระทบต่อการดำเนินชีวิต”

­

ผ้าไหมของกลุ่มเยาวชนที่ทอเสร็จแล้วจะถูกรวบรวมไว้ร่วมกับผ้าของสมาชิกในชุมชนที่นำมาฝากขาย โดยมีช่องทางการตลาดผ่านทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งกลุ่มมีเพจเฟซบุ๊กชื่อ กอนกวยโซดละเว เป็นหน้าร้าน ให้คนนอกชุมชนได้สั่งสินค้า และการออกบูธตามงานต่างๆ ที่กลุ่มเยาวชนได้รับเชิญให้เข้าร่วมกิจกรรม โดยกลุ่มเยาวชนจะคิดค่าฝากขายสินค้า 50 บาทต่อชิ้น เพื่อเก็บไว้เป็นเงินกองกลางสำหรับทำกิจกรรมของกลุ่ม สำหรับสินค้าที่เป็นผลงานของเยาวชนเมื่อหักต้นทุนไว้แล้ว ก็จะเป็นรายได้ของผู้ทอผ้าแต่ละผืนที่ขายได้ ซึ่งทีมงานสะท้อนว่า หากคิดในแง่ของค่าแรงรายวันคงไม่คุ้ม แต่สิ่งที่เหนือกว่าในความรู้สึกคือ ความภาคภูมิใจที่สามารถทอผ้าไหมได้นั้นมีคุณค่ามากกว่านัก

­

“ผ้าซิ่นผืนหนึ่งใช้ไหม 2 ปอยๆ ละ 200 บาท รวมเป็น 400 บาท เราย้อมสีธรรมชาติ ถ้าหาครั่งไม่ได้ต้องไปซื้อเขากิโลกรัมละ 50 บาท แล้วเราใช้หลายสี มันก็เยอะ ถ้าคิดค่าแรงอีก จะทำหลายขั้นตอนก็หลายวัน ผ้าผืนหนึ่งขาย 2,000 บาท ค่าวัสดุอุปกรณ์ประมาณ 1,500 บาท ค่าแรงคนทอได้ 500 บาท มันก็ไม่คุ้ม แต่ความภูมิใจที่เราทำได้ นั่นมันสุดยอดแล้ว” เต๋าบอก

­

รายได้ที่แต่ละคนได้รับจากการทอผ้า แม้จะไม่มากมาย แต่เมื่อรวมกับการรับทำบายศรี การจับผ้า ฯลฯ ก็เป็นรายได้ระหว่างเรียนที่ช่วยแบ่งเบาภาระของทางบ้าน ทุกวันนี้เวลาไปโรงเรียนบางคนไม่ได้ขอเงินพ่อแม่แล้ว แต่จะใช้เงินตัวเองในการซื้ออาหารกลางวัน และอุปกรณ์การเรียน

­

จุดเด่นของการเป็นผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ และเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจของลูกค้า โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดที่มักแวะเวียนมาซื้อผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม เพื่อใช้เป็นของฝาก ของที่ระลึก เมื่อชื่อเสียงเริ่มเป็นที่รู้จัก เริ่มมีออเดอร์สั่งทำตีนซิ่นเข้ามาจากที่ไกลๆ แต่กลุ่มเยาวชนก็ยังไม่กระโจนเข้าสู่การทอเพื่อขายเป็นอาชีพ เพราะตระหนักในหน้าที่ที่ต้องเรียนหนังสือเป็นหลัก งานทอผ้าจึงเป็นงานที่ทำยามว่าง และผลิตสินค้าแต่พอเพียงกับแรงที่มีโดยไม่ให้กระทบต่อการดำเนินชีวิต

­

“สิ่งสุดท้ายปลายทางคือ เมื่อเราทอผ้าของเราได้แล้ว ก็อยากให้น้องๆ ใส่ผ้าของเราเวลาไปไหน ไม่อยากให้ใส่กางเกงยีนส์ เพราะว่า ถ้าเราใส่แบบนี้ไป คนเฒ่าคนแก่เขาจะชอบ เราก็ต้องปลูกฝังไปเรื่อยๆ ให้น้องใส่ผ้าซิ่น เพราะตอนนี้ถ้าอยู่ในหมู่บ้านไปงานวัดหรืองานอะไร เขาก็จะใส่ แต่ถ้าออกไปข้างนอกเขาจะไม่ค่อยใส่” เต๋าบอกย้ำถึงเป้าหมายที่แท้ของการทำงาน” 


­>> ดอกผลจากการหล่อหลอม ฝึกฝน


“เห็นเป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงงานที่ทำให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ทำในโรงเรียน เพราะใน โรงเรียนมีฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว กิจกรรมที่ทำอยู่จึงสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นเรื่องของการพึ่งพาตนเองด้านปัจจัยสี่ บนฐานความรู้ ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการทำงาน และมีสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด”

­

การเติบโตจากการทำงานจนศักยภาพเข้าตาเพื่อนๆ ในโรงเรียนร่มโพธิ์วิทยา ทำให้ปีนี้เต๋าได้รับเลือกเป็นประธานนักเรียน ภาระงานที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้เหนื่อยหน่าย หากแต่เห็นเป็นโอกาสที่จะเชื่อมโยงงานที่ทำให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ทำในโรงเรียน เพราะในโรงเรียนมีฐานการเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอยู่แล้ว กิจกรรมที่ทำอยู่จึงสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะเป็นเรื่องของการพึ่งพาตนเองทางด้านปัจจัยสี่บนฐานความรู้ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ มีทักษะในการทำงาน และมีสำนึกรักถิ่นฐานบ้านเกิด จึงได้เกริ่นนำกับคุณครูซึ่งก็ได้รับการตอบรับอย่างยินดี

­

เต๋า บอกว่า งานปีนี้เหมือนมันจะง่ายกว่าปีแรก แต่มันก็ไม่ง่าย ปีแรกเรายังไม่ได้รู้เรื่องการทำแบบนี้ลึกซึ้งเท่าไร พอปีนี้เรานำสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากปีแรกมาทำเป็นแนวทางในปีที่สอง เช่น ขั้นตอนและกรรมวิธี ในการทอผ้าไหม ปีแรกเราอาจจะรู้ยังไม่หมด เราก็ไปเรียนรู้จากผู้รู้แล้วเอามาทดลองปฏิบัติ เรามีประสบการณ์เราจะรู้ว่าทำแบบไหนง่ายกว่าเดิม ส่วนเรื่องที่ยาก เช่น เรื่องการย้อมสีธรรมชาติ เรายังไม่รู้ เราต้องไปศึกษาเพิ่มเติม

­

แต่ทั้งนี้ ทีมงานยอมรับว่า การจัดงาน “ลานวัฒนธรรม แต่งกายแบบกวย ชมพิธีกรรมสะเองพื้นบ้าน ร่วมสืบสานลายไหม” เพื่อนำเสนอผลการทำงานของเยาวชนต่อชุมชนและหน่วยงานในท้องถิ่นในปีนี้ทำได้ไม่ดีอย่างที่ใจคิด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความฉุกละหุกในการเตรียมงาน มีเวลาในการเตรียมตัวกันน้อยเกินไป แม้ว่าก่อนจัดงานจะมีการประชาคมหมู่บ้าน เพื่อขอความช่วยเหลือจากชาวบ้านแล้วก็ตาม แต่เนื่องด้วยวันเวลาในการจัดงานที่เลื่อนไปเลื่อนมา กว่าจะลงตัวส่งผลให้เตรียมการไม่ทัน อีกทั้งในวันงานก็เกิดฝนตก ลมแรง จนทำให้การดำเนินการสะดุดไปบ้างในบางช่วงบางตอน

­

“ก่อนจัดงานเราก็มีประชาคมหมู่บ้านว่า เราจะทำอะไรบ้าง เราจะทำอาหารอะไรบ้าง คนเท่านี้ ต้องใช้งบประมาณเท่าไร เรื่องยกเต็นท์ จัดสถานที่ เตรียมงานทุกอย่าง จะให้เยาวชนทำทั้งหมด เราขอให้ชาวบ้านช่วยปรุงอาหารให้เท่านั้น ถึงวันงานก็ระดมเพื่อน ๆ น้อง ๆ ที่ชอบมารวมตัวกันที่บ้านผม และทีมสะเนงสะเองเขาก็ระดมเพื่อน ๆ จากโรงเรียนมาช่วยกัน เพราะเราตั้งใจนำเสนอให้ 2 โครงการสอดคล้องกัน ดนตรีในพิธีกรรม กับการใช้ผ้าในพิธีกรรมสะเนงสะเอง” เต๋าเล่า

­

การเข้าร่วมกิจกรรมอย่างต่อเนื่องของน้อง ๆ ทีมงาน ทำให้บุ๋ม ตาล และแตงโม ได้ความรู้ทักษะการทอผ้า การย้อมสีธรรมชาติ เป็นความรู้ติดตัว

โดยบุ๋มเล่าว่า แม้ว่าแม่จะทอผ้าอยู่แล้ว แต่แม่ยังใช้สีเคมี สิ่งที่ได้เรียนรู้ในโครงการจึงเป็นความรู้ใหม่ ที่บุ๋มได้นำไปถ่ายทอดต่อให้กับแม่ เพื่อที่แม่จะได้เปลี่ยนมาย้อมสีธรรมชาติบ้าง ส่วนสิ่งที่ได้กับตัวเองคือ ความรู้เรื่องการมัดหมี่ และเรื่องการทำโครงการ ที่พี่เต๋าสอนทุกอย่างจนสามารถทำเป็นและช่วยงานพี่เต๋าได้

­

ด้านเต๋าเล่าว่า สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของตนเองในเรื่องของภาวะความเป็นผู้นำ ที่รู้สึกว่าพัฒนาขึ้นอย่างมากในปีนี้ ซึ่งเป็นผลทั้งจากการที่เป็นผู้นำพาน้องๆ ทำกิจกรรม ผนวกกับบทบาทประธานนักเรียนที่เกื้อหนุนให้กล้ามากขึ้น นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมาก ตนเองมีจุดอ่อนเรื่องคอมพิวเตอร์ พอมาปีนี้ได้ลงมือทำงานที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มากขึ้น จนเกิดทักษะที่สามารถนำไปปรับใช้ในการเรียนในโรงเรียนได้เป็นอย่างดี เหนือสิ่งอื่นใด เต๋าบอกว่า การทำโครงการต่อเนื่องทั้ง 2 ปี ทำให้รู้จักผ้าไหมโซดละเวซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชาวกวยอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และรู้สึกมั่นใจที่จะสวมใส่ผ้าไหมโซดละเวไปที่ไหนๆ อย่างภาคภูมิ


>> แรงส่งจากชุมชน

“เห็นความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนอย่างมาก ต่างจากตอนที่ไม่มีโครงการนี้ เมื่อมีโครงการพบว่า เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หลังจากเลิกเรียนก็จะไปร่วมกิจกรรมกันที่บ้านเต๋า ช่วงที่ทำโครงการปีแรกมีแต่เด็กในหมู่บ้าน พอปีที่ 2 เริ่มมีเยาวชนจากหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาร่วมเยอะขึ้น ทั้งจากหมู่ 2 และหมู่ 12 จึงถือได้ว่าการทำงานของเยาวชนประสบความสำเร็จ ที่สามารถอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ไว้”

­

ยายสวัสดิ์ โพธิกระสังข์ ยายไว วัจนา ยายเงี่ยม ศรีทอง และยายสุพิธ โพธิกระสังข์ ปราชญ์ท้องถิ่น ผู้ถ่ายทอดภูมิรู้เรื่องการทอผ้าอย่างยินดียิ่ง ด้วยตระหนักว่า ถ้าไม่มีคนรุ่นหลานเช่นทีมงานสืบทอด ภูมิปัญญาการย้อม การทอผ้าไหมของชุนชมคงไม่แคล้วสูญสิ้น

­

“ยายเรียนรู้เรื่องการทอผ้าไหมมาจากแม่ พวกเขามาถามยายว่า ผ้านี้ทำอย่างไร ยายก็ทำให้ดู แล้วสอนต่อให้หลาน สอนสักสัปดาห์หนึ่งเขาก็เริ่มทำเป็นแล้ว เห็นเด็ก ๆ มาเรียนกับเราก็ดีใจ เขาทอผ้าได้ก็ดีใจ เพราะเขาจะสืบทอดสิ่งดี ๆ ของชุมชนไว้ ทั้งทอผ้าใช้เองและขายด้วยได้เงินมาใช้” ยายสวัสดิ์เป็นตัวแทนสะท้อนความรู้สึก

­

ยายๆ ทั้ง 4 พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ชอบให้หลานๆ ในหมู่บ้านทำงานแบบนี้ เพราะสิ่งที่ทำจะกลายเป็นความรู้ติดตัว แต่การสอนของยายนั้นใช่ว่าจะสอนแต่การย้อม การทอผ้า หากแต่จะสอนเรื่องการใช้ชีวิต โดยมีเกณฑ์ความประพฤติที่ยายๆ บอกว่า ต้องไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เที่ยวกลางคืน ยายจึงจะให้สืบทอดวิชา แต่ถ้าเป็นเด็กที่เที่ยวเตร่ ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ยายจะไม่สอนให้โดยเด็ดขาด กติกาของยายๆ จึงเหมือนเป็นมาตรการทางสังคมที่ช่วยขัดเกลาเยาวชนให้อยู่ในร่องในรอยอันควร

­

“ลูกหลานที่ทำโครงการเขาก็เปลี่ยนแปลง คือ เขามาเรียนรู้เรื่องลายโบราณ ยายก็วาดรูปให้ดู เขาก็ทำจนเป็น ถ้าหลานไม่มาเรียนกับยาย มันคงหายไป เพราะรุ่นแม่ ๆ เขาก็ทำไม่เป็น เช่น แม่ของเต๋าก็ทอไม่เป็น แต่เต๋ามัดหมี่เป็น คือ ข้ามจากรุ่นลูกมารุ่นหลานเลย ถ้าเขาไม่มาถามมาเรียนมันก็หายไปเลย ยายไม่อยากให้มันหาย อยากให้มันคงอยู่ต่อไป ถ้าภูมิปัญญาการผ้าไหมโซดละเวหายคงเสียดายมาก” ยายสวัสดิ์กล่าวย้ำถึงความสูญสิ้นที่จะหมดไปหากไม่มีคนสืบทอดภูมิปัญญาอันมีค่าเหล่านี้

­

ครูแอ๊ด-สิบเอกวินัย โพธิสาร พี่เลี้ยงชุมชน และครูโรงเรียนโพธิ์กระสัง เล่าว่า เห็นพัฒนาการของทีมงาน ที่สามารถดำเนินงานต่างๆ ได้ด้วยตนเองมากขึ้น มีกระบวนการทำงานดีขึ้นกว่าเดิม สามารถคิดเองทำเอง ทำให้ครูแอ๊ดสามารถปล่อยมือ วางใจให้ทำกิจกรรมส่วนใหญ่ด้วยตนเอง โดยมีความคาดหวังที่ตรงกับเยาวชนเป็นเป้าหมายร่วม

­

“ปีนี้อยากให้น้องเพิ่มทักษะมัดหมี่เพิ่ม เพราะมันจำเป็นต้องใช้ในการทอผ้า ในแง่การทำงาน ทีมงานที่ผ่านกระบวนการทำงานมีทักษะอะไรอย่างไร ก็ให้เขาสอนน้อง ๆ ต่อไป ซึ่งการทำงานไม่ได้แยกว่าเป็นทีมโซดละเว หรือสะเอง ส่วนมากจะทำงานร่วมกัน”

­

การเติบโตทางความคิดของทีมงาน ทำให้ครูแอ๊ดบอกว่า คลายความห่วงกังวลเรื่องอนาคตของเด็กๆ ลงได้ เพราะปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิตเด็กๆ ว่าจะตัดสินใจเรียนต่อ หรือจะทำอะไรต่อไป แต่เมื่อทีมงานหลายคนเลือกที่จะเรียนต่อ จึงรู้สึกว่าน่าเป็นห่วงน้อยลง การสนับสนุนการทำงานของเยาวชนจึงเฝ้ามองอยู่ใกล้ๆ และช่วยคลี่คลายปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงานที่อาจจะเกินศักยภาพของเยาวชน เช่น การร่างจดหมาย งานเอกสาร ซึ่งเป็นจุดที่ต้องค่อย ๆ เติมเต็มกันต่อไป

­

ในปีนี้ครูแอ๊ดยังจัดกระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติมในส่วนของการพาทีมงานไปเรียนรู้การทำงานของเยาวชนโครงการอื่นๆ ในพื้นที่อื่นๆ มากขึ้น เพราะต้องการให้ทีมงานได้มีการแลกเปลี่ยน และเกิดประสบการณ์ใหม่ ทีมงานจะได้เห็นความเป็นจริงในการทำงานมากกว่าทฤษฎี ทำให้ได้การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ๆ ว่าเป็นอย่างไร ทีมอื่นมีปัญหาอุปสรรคในการทำงานอย่างไรบ้างและแก้ไขปัญหาอย่างไร

­

นพดล โพธิ์กระสังข์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านแต้พัฒนา เล่าถึงการทำงานของทีมงานอย่างชื่นอกชื่นใจว่า โครงการที่เยาวชนทำมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนได้มาก ทำให้หมู่บ้านมีชื่อเสียง มีความร่วมไม้ร่วมมือ สามัคคีกัน “ถ้าพูดถึงหมู่บ้านเราในตำบลนี้ เด็กเยาวชนของเราได้รับการยอมรับมาก มีชื่อเสียงว่า เป็นตัวอย่างที่ดี”

­

ที่กล่าวประโยคข้างต้นได้อย่างเต็มปากเต็มคำนั้น เป็นเพราะเห็นความเปลี่ยนแปลงของเยาวชนอย่างมาก ต่างจากตอนที่ไม่มีโครงการนี้ เมื่อมีโครงการพบว่า เยาวชนใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หลังจากเลิกเรียนก็จะไปร่วมกิจกรรมกันที่บ้านเต๋า ช่วงที่ทำโครงการปีแรกมีแต่เด็กในหมู่บ้าน พอปีที่ 2 เริ่มมีเยาวชนจากหมู่บ้านใกล้เคียงเข้ามาร่วมเยอะขึ้น ทั้งจากหมู่ 2 และหมู่ 12 จึงถือได้ว่าการทำงานของเยาวชนประสบความสำเร็จ ที่สามารถอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างสรรค์ไว้ได้

­

“เด็กจะมีกิจกรรมหลังจากเลิกเรียน ที่เห็นเขาไม่ได้เถลไถล เขามารวมกลุ่มกันทำงาน เขามีความสามัคคีในหมู่คณะ มีความรับผิดชอบมากขึ้นเยอะ ไม่มีประเภทติดแว้น ติดยาให้เป็นภาระของสังคม”

­

ส่วนบทบาทการสนับสนุนเยาวชนในฐานะของผู้นำชุมชน คือ การเห็นชอบด้วย และช่วยด้านแรงกายแรงใจ ซึ่งไม่เฉพาะผู้นำชุมชนเท่านั้น แต่ชาวบ้านทุกคนต่างก็เห็นดีเห็นงามด้วย สนับสนุนอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากบรรยากาศการทำงานของเยาวชนในวันนำเสนอผลงานที่กลายเป็นงานของหมู่บ้านที่สมาชิกทุกคนทุกหลังคาเรือนจะออกมาช่วยกัน

­

วันนี้ลวดลายบนผ้าไหมโซดละเวถูกถ่ายทอดและสืบทอดจากผู้รู้ที่เหลือน้อยคนสู่เยาวชนหมู่มาก จากรุ่นสู่รุ่นอย่างไม่ขาดสาย การส่งต่อความรู้ ภูมิปัญญา ทักษะ ถูกนำมาผสมผสานกับความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ สร้างทักษะอาชีพติดตัว สู่การมองหาช่องทางการเป็นผู้ประกอบการที่เยาวชนจะสามารถพึ่งตนเอง และอยู่ในชุมชนได้ การคิดได้คิดเป็นทำให้เยาวชนตระหนักถึงคุณค่ามากกว่ามูลค่า กระบวนการสืบทอดจากมือสู่มือนี้จึงเป็นสิ่งร้อยใจคนในชุมชน เชื่อมโยงให้เกิดสำนึกท้องถิ่นที่หยั่งรากลึก และพร้อมที่จะเปล่งประกายบอกกล่าวว่า พวกเขาเป็นชนชาติกวยได้อย่างเต็มภาคภูมิ


โครงการเส้นสายลายมัดหมี่มัดใจ สานสายใยกอนกวยโซดละเว

พี่เลี้ยงชุมชน : สิบเอกวินัย โพธิสาร (ครูโรงเรียนบ้านโพธิ์กระสังข์)

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านแต้พัฒนา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ