การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่อขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์โดยใช้พืชสมุนไพร

พิชิตกลิ่น..พิชิตใจ

โครงการพืชสมุนไพรพิชิตกลิ่น

โครงการนี้ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยของเด็กและเยาวชนกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนทลายลง เมื่อก่อนเด็ก ๆ ไม่เข้าหาผู้อาวุโสในชุมชน เรียกได้ว่าแทบไม่พูดคุยกันเลย แม้อยู่บ้านใกล้กัน แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์ ของทั้ง 2 วัยเปลี่ยนไปมาก ทั้ง 2 ฝ่ายมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น จากการแลกเปลี่ยนพูดคุย และใช้เวลาร่วมกัน คนแก่จากที่อยู่บ้านเฉย ๆ พอมีเด็กเข้าไปคุยด้วยก็รู้สึกคลายเหงา เขาเลยชอบ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนเด็ก ๆ ก็ได้รับความรู้กลับมาในสิ่งที่เขาต้องการรู้

“กลิ่นเหม็น” จากห้องน้ำ ชวนเวียนหัว...จะตั้งใจเรียนสักหน่อย... “กลิ่น” ถุงเท้าก็ตลบอบอวล ชวนเป็นลม หากเจอบรรยากาศแบบนี้ทุกวัน ๆ คงไม่ไหวแน่ ๆ ปัญหา “กลิ่นไม่พึงประสงค์” จากห้องน้ำหรือถุงเท้า มีพบเจอได้ทุกที่ ไม่เว้นแม้แต่โรงเรียนโพธิ์ศรีสุวรรณวิทยาคม บ้านหนองแปง อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ จังหวัดศรีสะเกษ ก็ประสบปัญหานี้เช่นเดียวกัน จนทำให้เยาวชนในโรงเรียนกลุ่มหนึ่ง “ทนไม่ไหว” ลุกขึ้นมาหาวิธีพิชิตกลิ่นไม่พึงประสงค์เหล่านี้

จุดเริ่มต้น “พิชิตกลิ่น”

ใหม่-ชุติมา แสงอ่อน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโพธิ์ศรีสุวรรณ เล่าถึงการรวมตัวกัน ทำโครงการว่า ทีมงานทั้งหมดเคยรับบทบาทเป็น อย.น้อย ทำกิจกรรมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาก่อน เมื่อครูมาชักชวนให้เข้าร่วม โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ ปี 2 จึงตัดสินใจเข้าร่วมด้วยเหตุผลที่ว่า “น่าสนุกดี”

“พวกเราไม่รู้รายละเอียดโครงการว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่ชอบทำกิจกรรม เพื่อนที่มาด้วยก็สนิทกันอยู่แล้ว ทำงานร่วมกันได้ง่าย เลยสมัครเข้ามา คิดว่าอย่างมากสุดคงต้องทำโครงการสัก 2 เดือน ไม่คิดว่าจะต้องทำ โครงการยาวนานแบบนี้” ใหม่ เอ่ยขึ้น

“โครงการที่คิดทำนั้นต้องไม่ใช่โครงการที่แค่ได้ทำแล้วจบไป แต่ทำแล้วต้องก่อให้เกิดประโยชน์เป็นรูปธรรมชัดเจนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่สำคัญควรส่งผลระยะยาวต่อชุมชนที่เราอาศัยอยู่”

ทีมงานเล่าว่า พวกเขาไม่เคยทำโครงการที่ต้องคิดวางแผนทำกิจกรรมด้วยตัวเอง และต้องเข้าร่วมอบรม กับพี่เลี้ยงโครงการอย่างต่อเนื่องมาก่อน เมื่อได้รับโจทย์ให้คิดโครงการครั้งแรก จึงพุ่งเป้าไปที่โครงการเศรษฐกิจพอเพียง เพราะมีแปลงเกษตรตัวอย่างในโรงเรียนอยู่แล้ว ตอนนั้นคิดแค่ว่า ทำเรื่องใกล้ตัวที่มีอยู่แล้วดีกว่า ง่ายดี แต่ความคิดแบบสนุกและง่ายก็ค่อย ๆ เปลี่ยนไปเมื่อได้คิดและลงมือทำโครงการอย่างจริงจัง

อีท-จุรีรัตน์ บึงไกล เสริมต่อว่า เวทีเติมพลังเสริมความคิดจิตสำนึกพลเมืองเยาวชนในการทำโครงการเพื่อชุมชนท้องถิ่นศรีสะเกษ ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ว่า โครงการที่คิดทำนั้นต้องไม่ใช่โครงการที่แค่ได้ทำแล้วจบไป แต่ทำแล้วต้องก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ที่สำคัญควรส่งผลระยะยาวต่อชุมชนที่เราอาศัยอยู่ พอพี่เลี้ยงโครงการชวนคิด รู้เลยว่า โครงการเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหัวข้อที่กว้างเกินไป จึงกลับมามองปัญหาใกล้ตัว พวกเราเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน และใช้เวลาส่วนมากในโรงเรียนร่วมกัน เห็นว่าปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อทุกคน ในโรงเรียนคือ กลิ่นเหม็นจากห้องน้ำและกลิ่นเหม็นจากรองเท้านักเรียน จึงเป็นที่มาของโครงการพืชสมุนไพรพิชิตกลิ่น ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อขจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ดังกล่าวโดยใช้สมุนไพร และเพื่อรวบรวมชื่อและสรรพคุณของพืชสมุนไพรลดกลิ่นไว้เป็นฐานข้อมูลการเรียนรู้ให้แก่นักเรียนในโรงเรียนอีกด้วย

“อยู่ในห้องเรียนก็ได้กลิ่นถุงเท้ารองเท้า เข้าห้องน้ำก็มีกลิ่นเหม็น ทำให้บรรยากาศภายในโรงเรียนไม่น่า อยู่ ไม่น่าเรียน”

ถึงแม้การใช้สารเคมีกำจัดกลิ่นน่าจะเป็นทางออกที่ง่ายที่สุด แต่ด้วยคำนึงถึงผลกระทบต่อ สุขภาพของผู้ใช้ที่อาจเกิดอาการระเคืองจากการแพ้สารเคมี พืชสมุนไพรจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะหาได้ทั่วไปในโรงเรียนและชุมชน

“เราเคยเห็นคนนำใบเตยมาพับเป็นดอกกุหลาบไปวางในห้องน้ำให้ส่งกลิ่นหอม เลยเกิดความคิดว่า นอกจากใบเตยแล้ว น่าจะมีพืชชนิดอื่นที่นำมาใช้ได้เช่นเดียวกัน” อุ๊-วิไลวรรณ ลับไผ่ กล่าว

­

มุ่งหน้าหาผู้รู้

“ความเชื่อมโยงระหว่างเด็กนักเรียน โรงเรียน และชุมชนก็เกิดขึ้น เมื่อทีมงานเริ่มลงพื้นที่ สอบถาม ข้อมูลจากผู้รู้เรื่องสมุนไพรในชุมชนด้วยตนเอง จนพบว่าสมุนไพรบางชนิดที่ปลูกทั่วไปในชุมชน สามารถนำมาสกัดเพื่อช่วยกำจัดกลิ่นได้”

หลังจากประชุมวางแผนการดำเนินโครงการแล้ว สิ่งที่ทีมงานทำเป็นลำดับแรก คือ ชี้แจงวัตถุประสงค์ การทำโครงการให้นักเรียน คณะครูในโรงเรียน และผู้บริหารรับทราบ เพื่อหาแนวร่วม โดยใช้เวลาประกาศ 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงเช้าหน้าเสาธง และประกาศเสียงตามสายในช่วงเที่ยง อุ๊ บอกว่า ที่ต้องทำเช่นนี้ เพราะมองว่า ปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็นในโรงเรียนเป็นเรื่องของส่วนรวม ทุกคนจึงควรได้รับรู้ และธรรมชาติของนักเรียนโรงเรียนนี้ หากรุ่นพี่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายทำกิจกรรมอะไร น้อง ๆ ก็จะให้ความสนใจด้วย ทีมงานจึงใช้วิธีสอบถามเพื่อนนักเรียนชั้นเดียวกัน เพื่อวัดความสนใจในการทำโครงการก่อน ซึ่งได้รับการตอบรับจากเพื่อนเป็นอย่างดี

“เพื่อน ๆ สนใจให้ความร่วมมือดี มาสอบถามข้อมูล และเข้ามาช่วยกิจกรรมบ้างบางครั้ง เพราะอยากได้ ความรู้เรื่องสมุนไพร และอยากลองทำอย่างที่พวกเราทำ” ใหม่ กล่าว

เมื่อบอกกล่าวที่มาที่ไปของการทำโครงการ และขอความร่วมมือจากเพื่อนพ้อง น้องพี่ ในโรงเรียนได้แล้ว ก็ถึงเวลาที่ต้องเก็บข้อมูลชื่อและสรรพคุณพืชสมุนไพร โดยทีมงานเริ่มต้นสำรวจพืชสมุนไพรจากแปลงเกษตรในศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงของโรงเรียนก่อน โดยมีครูประจำวิชาพฤกษาศาสตร์อย่างครูศิริศักดิ์ อินนอก และหนังสือสรุปคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรประจำศูนย์ฯ เป็นแหล่งความรู้เบื้องต้น

เมื่อรู้ข้อมูลพื้นฐานบ้างแล้ว ทีมงานจึงลงพื้นที่สอบถามข้อมูลจากผู้รู้เรื่องสมุนไพรในชุมชนด้วยตนเอง จนพบว่า สมุนไพรบางชนิดที่ปลูกทั่วไปในชุมชนสามารถนำมาสกัดเพื่อช่วยกำจัดกลิ่นได้ ไม่ว่าจะเป็นขมิ้น ว่านหอม มะกรูด ตะไคร้ ใบเตย ต้นอ้ม (พืชพื้นถิ่น) และกำยาน (พืชพื้นถิ่น) เป็นต้น

ใหม่บอกว่า พวกเรารู้ว่าในโรงเรียนและในชุมชนมีพืชสมุนไพร แต่ต้องการสำรวจดูว่า มีสมุนไพรจำนวน มากเท่าไร และเพียงพอต่อการแปรรูปหรือไม่ รวมถึงต้องการเก็บข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสรรพคุณของพืชเฉพาะ ชนิดที่ช่วยกำจัดกลิ่น และวิธีแปรรูปสมุนไพรด้วย

ในส่วนของผู้รู้เรื่องสมุนไพรในชุมชน เอิญ-วิทยากร ศรศรี เล่าว่า พวกเขาใช้วิธีสุ่มเข้าไปสอบถามข้อมูลตามบ้าน เนื่องจากเห็นคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนใช้พืชสมุนไพรในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว บ้างก็เอามากิน บ้างก็เอามาทำยา หรือหมกไว้ให้ความหอม โดยเฉพาะบ้านป้าบุญเยี่ยม จันทสาร ที่มีความรู้เรื่องการทำเครื่องหอมโบราณ หรือดอกไม้หมก ภูมิปัญญาที่มาแต่ดั้งเดิม มีวิธีทำ คือ นำพืชสมุนไพร ได้แก่ ต้นอ้ม ต้นสร้อย ขมิ้น เล็บครุฑ และว่านหอม มาโขลกรวมกันเพื่อให้ส่งกลิ่นหอมได้นานขึ้น

อีท บอกว่า วิธีเลือกผู้รู้ ทีมงานจะเลือกจากคนเฒ่าคนแก่ใกล้บ้าน และคนที่พอรู้จักมักคุ้น 5 คน ทั้งนี้ก่อนไปสัมภาษณ์ทีมงานจะต้องมาประชุมเพื่อเตรียมประเด็นคำถามกันก่อน โดยมีประเด็นคำถาม หลัก ได้แก่ สมุนไพรที่ใช้ดับกลิ่นในชุมชนมีอะไรบ้าง สมุนไพรที่ผู้รู้นำมาใช้ดับกลิ่นมีอะไรบ้าง นำมา แปรรูปเป็นอะไรได้บ้าง และแหล่งที่มาของสมุนไพรหาได้จากที่ไหนในชุมชน เป็นต้น จากนั้นจึงแบ่ง หน้าที่กัน แต่ช่วงที่ลงพื้นที่สัมภาษณ์เป็นช่วงปิดเทอม ทีมงานเหลืออยู่แค่ 3 คน คือ อีท เอิญ และอุ๊ จึงรับหน้าที่เป็นผู้รวบรวมข้อมูลจากผู้รู้ในชุมชนไปก่อน เพื่อให้การทำงานเดินไปตามแผนที่วางไว้

ผลจากการสัมภาษณ์ป้าบัวลัย หนองหงอก ชาวบ้านบ้านโชคอุดม ตำบลผือใหญ่ ทำให้ทีมงาน ได้รู้จักพืชสมุนไพรพื้นถิ่นอย่างกำยาน และได้เคล็ดลับการหมกรากกำยานกับต้นอ้มที่จะทำให้ได้กลิ่น หอมอบอวลยาวนานขึ้น อีท บอกว่า ความรู้ดังกล่าวเป็นเรื่องใหม่ที่เบิกทางให้พวกเขาได้ออกไปค้นหาต้นกำยานในป่าตำบลผือใหญ่ จนภายหลังได้รู้ว่าป่าดังกล่าวเป็นป่าช้าจึงมีพืชสมุนไพรแปลกๆ ขึ้นอยู่เยอะ

“สมุนไพรชนิดอื่น ๆ เราหาได้ทั่วไปตามบ้าน ส่วนต้นอ้มแทบไม่มีแล้วในชุมชน เราต้องไปซื้อพันธุ์มาเพาะ เอง ว่านหอมกับกำยานยังมีอยู่บ้าง แต่อยู่ในป่ารก พวกเราเป็นพวกชอบลุยอยู่แล้ว เข้าป่าเข้าพงไม่กลัว แต่ตอนเข้าไปที่ป่าบ้านผือใหญ่ เราไม่รู้เลยว่าตรงนั้นเป็นป่าช้า ถ้ารู้คงไม่เข้าไป” อีท เล่าติดตลก

ขณะที่เอิญ บอกว่า ความยากของการพูดคุยกับคนเฒ่าคนแก่ คือ ปัญหาเรื่องการได้ยิน และการ ตอบไม่ตรงคำถาม ทีมงานจึงได้เรียนรู้ว่า การทำงานกับคนในชุมชนต้องอาศัยความเข้าใจ และต้องใช้ ความอดทน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ต้องการอย่างครบถ้วน ก่อนนำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบ และสรุป อีกครั้ง เพื่อนำมาทดลองทำด้วยตัวเอง

­

บททดสอบ คือ “ความรับผิดชอบ”

ถึงแม้ขั้นตอนการทำงานระหว่างทางจะทำให้รู้สึกท้อ ด้วยภาระการเรียน และงานบ้านที่ต้องช่วยเหลือ

ผู้ปกครอง ทำให้การแบ่งเวลามาทำกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกันเป็นไปได้ยาก แต่พวกเขายังเลือกที่จะทำ โครงการต่อ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบ ด้วยเหตุนี้ การแบ่งหน้าที่กันทำงานของทีมงานจึงค่อนข้างยืดหยุ่น เพื่อให้แต่ละคนรับบทบาทแทนกันได้ เมื่อสมาชิกไม่ครบ

“เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะมีธุระส่วนตัว เพราะฉะนั้นเพื่อให้งานเดินหน้าเราต้องพยายามรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดก่อน จะได้ไม่กระทบคนอื่น”

ทีมงาน บอกว่า หากเป็นวันเปิดเรียน ส่วนใหญ่จะใช้เวลาตอนเย็นหลังเลิกเรียนประชุมร่วมกันที่โรงเรียน ส่วนวันเสาร์อาทิตย์จะใช้บ้านอุ๊เป็นศูนย์กลางการนัดหมาย เพราะมีพื้นที่กว้างขวางและอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน

โบว์-ทิพย์อรุณ นุเสน ยอมรับว่า หลายครั้งที่ภาระงานทางบ้าน ทำให้เธอไม่สามารถมาทำกิจกรรมตามนัดหมายได้ หรือไม่ก็มาช้า จนทำให้เพื่อนไม่พอใจ

“ไม่ใช่ไม่อยากมา แต่ยังมีอย่างอื่นต้องทำและต้องรับผิดชอบ บางทีก็ลำบากใจ” โบว์ กล่าว

ด้าน ใหม่ เสริมว่า เป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนจะมีธุระส่วนตัว เพราะฉะนั้นเพื่อให้งานเดินหน้า เราต้อง พยายามรับผิดชอบหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุดก่อน จะได้ไม่กระทบคนอื่น

ส่วน อุ๊ บอกว่า ความยากของการทำงานอยู่ที่การรวบรวมสมุนไพรให้ครบทุกชนิด เนื่องจากการทำ ผลิตภัณฑ์ต้องใช้สมุนไพรหลายอย่าง พวกเขาจึงต้องวางแผนว่า จะเก็บพืชสมุนไพรแต่ละชนิดจากพื้นที่ไหน ในชุมชน เพื่อให้ได้สมุนไพรครบจำนวน และมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ

ทั้งนี้ เมื่อได้ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ผู้รู้ในระดับหนึ่งแล้ว เพื่อทดสอบความหอม และความสามารถในการขจัดกลิ่นของสมุนไพรสูตรต่าง ๆ ทีมงานจึงได้ทดลองผลิตสารขจัดกลิ่นในรูปแบบของน้ำสกัดสมุนไพร จากข้อมูลที่สรุปได้จากการสำรวจ

“เราคิดว่าจะผลิตออกมาเป็นน้ำจะได้สะดวกเวลาใช้ และขั้นตอนการทำก็ไม่ยาก แค่นำมาต้มเท่านั้น ส่วนปริมาณสมุนไพรแต่ละชนิดเวลานำมาผสมกัน เราทดลองทำกันเองแล้วบันทึกไว้ เพราะสูตรจากคนเฒ่า คนแก่มีความหอมแบบโบราณเหมือนกลิ่นน้ำอบ เราอยากปรับเปลี่ยนให้หอมสดชื่นขึ้นจะได้เข้ากับยุคสมัย ทำให้ต้องทดลองทำอยู่หลายครั้ง โดยเลือกนำใบเตยกับตะไคร้มาผสมเพิ่มเข้าไป ตอนนี้กลิ่นน่าจะใช้ได้แล้ว แต่ส่วนที่ยังแก้ไม่ได้คือสีของน้ำที่เป็นสีเหลืองจากขมิ้น ซึ่งเรากำลังหาข้อมูลกันอยู่ว่าจะกำจัดสีนี้ได้หรือเปล่า” อุ๊ กล่าว

ทีมงาน บอกต่อว่า ขณะนี้การแปรรูปสมุนไพรพิชิตกลิ่นกำลังอยู่ในขั้นทดลองเพื่อหาสูตรที่ช่วยขจัดกลิ่น ได้ดีที่สุด ปัจจุบันได้ผลิตต้นแบบออกมาในรูปแบบสเปรย์ขจัดกลิ่นที่มีส่วนผสมของขมิ้น ว่านหอม มะกรูด ตะไคร้

และใบเตยเป็นวัตถุดิบหลัก โดยให้เพื่อนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 29 คนทดลองใช้

“ที่ให้เพื่อนทดลองใช้ เพราะคิดว่าการสอบถามความคิดเห็นจากเพื่อนชั้นเดียวกันทำได้ง่ายกว่า ตัวเราเองก็ไม่เขิน แล้วยังวัดประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ได้จากประสบการณ์ตรงของตัวเอง เนื่องจากเรียนชั้นเดียวกับเพื่อนอยู่แล้ว” อุ๊ อธิบาย

เมื่อถามถึงผล ทีมงานบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เมื่อนำผลิตภัณฑ์พิชิตกลิ่นไปใช้ฉีดในห้องน้ำ และให้เพื่อนในห้องเรียนใช้ฉีดพ่นในจุดที่เป็นต้นกำเนิดกลิ่น เช่น ถุงเท้าและรองเท้า พวกเขาใช้วิธีสุ่มสัมภาษณ์เพื่อนนักเรียนในห้องเรียน รวมทั้งนักเรียนและครูที่ใช้ห้องน้ำ ทุกคนบอกว่าดี คือ กลิ่นเหม็นลดลง ทั้งนี้ในส่วนของสีเหลืองซึ่งเป็นสีของขมิ้นซึ่งเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์นั้น ทีมงานได้ใช้สารส้มเข้ามาช่วยลดสีเหลืองให้จางลงได้

"เวลาอยู่ในห้องเรียนเรารู้สึกได้ว่ากลิ่นเหม็นลดลง กลิ่นไม่ถึงกับหายไปเลยแต่ก็ไม่คลุ้งเหมือนเมื่อก่อน ส่วนในห้องน้ำกลิ่นยังพอมีอยู่บ้าง แต่ไม่แรงเท่าที่เคยรู้สึก" ทีมงาน บอกเล่าผลการทดลองใช้

­

พิชิตความเปลี่ยนแปลง

“ทุกอย่างที่ทำต้องเริ่มที่ตัวเอง ตอนแรกเข้ามาทำโครงการก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองชอบหรือถนัดอะไร แต่พอได้ทำก็เริ่มรู้ว่าตัวเองเก่งอะไร รู้อะไรบ้าง แล้วจะช่วยอะไรเพื่อนได้บ้าง ต่อจากนั้นเราก็ต้องยอมรับความสามารถและความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย เพราะไม่มีใครเก่งไปหมดทุกอย่าง ถ้าทุกคนช่วยกันก็จะทำงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอันอย่างดีที่สุดได้”

จากความตั้งใจแรกที่อยากเข้าร่วมโครงการเพราะความสนุก อุ๊ บอกว่า ยิ่งทำโครงการยิ่งรู้สึกว่า “เราจะ ทำเล่น ๆ ไม่ได้แล้วนะ” เพราะโครงการนี้ช่วยฝึกกระบวนการคิดของเธอให้มีเหตุมีผล และรู้จักวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ

“เมื่อก่อนชอบคิดแล้วทำเลย ไม่ได้ทบทวนสิ่งที่คิด แต่ตอนนี้ก่อนจะทำอะไรสักอย่าง ต้องแน่ใจใน ความคิดของตัวเองก่อน สังเกตได้ว่า ความคิดซับซ้อนขึ้น คือ จะคิดก่อนว่าถ้าทำแบบนี้ แล้วจะทำอย่างอื่นต่อไป ได้หรือเปล่า แล้วจะเกิดผลอย่างไร” อุ๊ อธิบาย

เช่นเดียวกับ เอิร์น-ณิชาภัทร กิ่งแก้ว ที่บอกว่า การรู้จักวางแผนงานช่วยให้เธอทำงานง่ายขึ้น และทำให้ งานเสร็จเร็วขึ้น หากดำเนินการตามแผนอย่างเคร่งครัด

“การวางแผนช่วยให้รู้ว่าควรทำอะไรก่อนหลังและสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะทำได้

เวลาทำงานก็จะมีความรอบคอบมากขึ้น พอคิดแบบนี้ได้มันส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเราด้วย แต่ละวันตื่นขึ้นมา จะรู้เลยวันนี้ต้องทำอะไร ที่ไหน อย่างไรบ้าง รู้สึกเหมือนใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น”

“การที่เราได้คิดเองทำเอง ทำให้กล้าแสดงออกมากขึ้นและรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเองด้วย” เอิญ กล่าวเสริม

ทีมงานบอกว่า เหตุผลเบื้องลึกอย่างหนึ่งที่ทำให้พวกเขาไม่ทิ้งโครงการไปกลางคัน เพราะ โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ “เปิดโอกาส” ให้พวกเขาได้คิด และลงมือทำตั้งแต่ต้น ทำให้รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของโครงการ จึงอยากรับผิดชอบให้ถึงที่สุด

“เราคิดวางแผนแล้วก็ต้องทำให้เป็นขั้นตอนจนจบ เพราะเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ ถ้าคิดแล้วไม่ลงมือปฏิบัติก็คงไม่ได้งานอย่างที่ต้องการ เราต้องคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้งานออกมาดี” อุ๊ เน้นย้ำ

สำหรับการทำงานร่วมกันเป็นทีม อุ๊ บอกว่า ความเข้มแข็งและอดทนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากคนใด คนหนึ่งท้อแล้วถอยออกไป หนึ่งแรงที่หายไปจะดึงกำลังใจของคนอื่นให้ค่อย ๆ หมดไปด้วย

“เราบังคับใครไม่ได้ก็จริง แต่เราบังคับตัวเองให้อดทนได้ ถ้าเราทำได้ก่อนก็จะส่งผลดีต่อทุกคนในทีม”

ส่วน อีท กล่าวเสริมว่า การทำงานเป็นทีมที่ดีต้องเข้าใจเป้าหมายการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ก้าวไปพร้อม ๆ กันได้

ส่วน ใหม่ ย้ำว่า ประสบการณ์จากการทำโครงการพืชสมุนไพรพิชิตกลิ่นช่วย “สร้างความกล้า” ทั้งกล้าคิด กล้าทำ และกล้าตัดสินใจแก้ไขปัญหา จากเดิมที่เคยมีความกลัว ไม่กล้าทำอะไรเลย เพราะไม่อยากมีปัญหา ตอนนี้กลับได้เรียนรู้ว่าปัญหาไม่ได้มีไว้ให้หนี แต่มีไว้ให้เผชิญหน้า

“โครงการของพวกเราตั้งใจไปพัฒนาคนอื่น แต่ไม่ใช่แค่คนอื่นได้อย่างเดียว เราก็ได้ด้วย พวกเราเป็นคนทำ สิ่งไหนที่เราไม่รู้ พอได้ลงมือทำเลยได้รู้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนคงไม่อยากทำอะไรเลย ไม่แม้แต่จะคิด เพราะทำไปก็ต้องมีปัญหาให้แก้อีก แล้วจะทำไปทำไม ตอนนี้ไม่คิดแบบนั้นแล้ว เราต้องกล้าทำก่อน อย่าไปกลัวปัญหา”

ใหม่ ยังบอกอีกว่า โครงการนี้ช่วยพัฒนาให้เธอเกิดทักษะชีวิต กล่าวคือ ทำให้ปรับตัวเพื่อใช้ชีวิตอยู่ร่วม กับผู้อื่นได้ง่ายขึ้น

“เราจะคิดแค่ด้านเดียวว่าคนอื่นต้องปรับเข้าหาเราไม่ได้ แต่ต้องคิดด้วยว่าเราสามารถปรับตัว เข้าหาคนอื่นได้หรือเปล่า หรือทั้งสองฝ่ายควรปรับเข้าหากัน ทั้งหมดคือการเรียนรู้ที่จะเข้าใจกันและกัน แล้วจับมือก้าวไปด้วยกัน” ใหม่ สะท้อนตัวเองอย่างแน่วแน่

แม้การทำโครงการต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีมและอาศัยความร่วมมือจากผู้ที่เกี่ยวข้องหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู และคนในชุมชน แต่ อีท บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดที่เธอได้รับจากการทำโครงการ คือ การได้รู้จักตัวเอง และ เรียนรู้ที่จะรับฟังผู้อื่น

“ทุกอย่างที่ทำต้องเริ่มที่ตัวเอง ตอนแรกเข้ามาทำโครงการก็ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองชอบ หรือ ถนัดอะไร แต่พอได้ทำก็เริ่มจากรู้ว่าตัวเองเก่งอะไร รู้อะไรบ้างแล้วจะช่วยอะไรเพื่อนได้บ้าง ต่อจากนั้น เราก็ต้องยอมรับความสามารถ และความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย เพราะไม่มีใครเก่งไปหมดทุกอย่าง ถ้าทุกคนช่วยกันก็จะทำงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอันอย่างดีที่สุดได้”

ถึงตอนนี้ทีมงานทุกคนกำลังจะจบการศึกษาออกไปเรียนต่อนอกชุมชน แต่พวกเขาก็ตั้งใจส่งต่อ องค์ความรู้เรื่องการแปรรูปพืชสมุนไพรขจัดกลิ่นให้เยาวชนรุ่นน้องได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

“สูตรพืชสมุนไพรอาจไม่จบลงแค่นี้ เมื่อเราส่งต่อสูตรให้รุ่นน้อง เขาสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เด็ก ๆ อาจจะเก่งกว่าเรา เราก็ต้องให้โอกาสเขาคิดค้นต่อยอดไปอีก” อีท อธิบาย

­

ฟื้นสัมพันธ์ชุมชน

อ้อ-จรัญญา ลับไผ่ พี่เลี้ยงชุมชน และอดีตครูฝึกสอนโรงเรียนโพธิ์ศรีสุวรรณวิทยาคม กล่าวถึง ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นกลุ่มเยาวชนทำโครงการมาอย่างต่อเนื่องว่า โครงการนี้ทำให้ช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก เยาวชนกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชนทลายลง เมื่อก่อนเด็ก ๆ ไม่เข้าหาผู้อาวุโสในชุมชน เรียกได้ว่าแทบไม่พูดคุยกันเลย แม้อยู่บ้านใกล้กัน แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 วัยเปลี่ยนไปมาก ทั้ง 2 ฝ่ายมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้นจากการแลกเปลี่ยนพูดคุยและใช้เวลาร่วมกัน

“คนแก่จากที่อยู่บ้านเฉย ๆ พอมีเด็ก ๆ เข้าไปคุยด้วยก็รู้สึกคลายเหงา เขาเลยชอบและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนเด็ก ๆ ก็ได้รับความรู้กลับมาในสิ่งที่เขาต้องการรู้”

แม้จะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ชอบทำกิจกรรมโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ อ้อ บอกว่า กลุ่มแกนนำเยาวชนทุกคนมีสมาธิจดจ่อกับงานที่ทำมากขึ้น สังเกตเห็นได้จากระยะเวลาการเล่นมือถือที่ลดน้อยลง

“เห็นความตั้งใจในการทำงานของทีมงานมากขึ้น เพราะปกติเขาจะอยู่แต่กับมือถือ ไม่ทำอย่างอื่น ส่วนตัวเองจากเดิมจะเอาแต่อ่านหนังสือสอบ สนใจแต่เรื่องของตัวเอง ตอนนี้ต้องแบ่งเวลามาดูแลน้อง ๆ ตัวเราก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองไปพร้อมกัน ซึ่งก็มีประโยชน์กับหน้าที่การงานของเรา ครูต้องเข้าใจเด็กถึงจะรู้ว่าควรจะสอนและดูแลเด็กอย่างไร”

วันนี้สเปรย์พิชิตกลิ่นนอกจากจะช่วยขจัดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ในโรงเรียน ทำให้บรรยากาศใน โรงเรียนน่าอยู่ขึ้นแล้ว กระบวนการทำงานยังช่วยฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้สูงอายุในชุมชนให้กลับมาใกล้ชิดสนิทสนมกันมากขึ้น ทั้งยังกระตุกกระตุ้นให้ทีมงานเห็น “คุณค่า” จากการลงมือทำที่ช่วยเปลี่ยนแปลงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด ความกล้าแสดงออก วิธีทำงาน การรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ความอดทน อดกลั้น และความรับผิดชอบ ซึ่งถือเป็น “ทักษะชีวิต” สำคัญที่จะเป็นภูมิคุ้มกันให้พวกเขาก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น


โครงการพืชสมุนไพรพิชิตกลิ่น ชุมชนบ้านหนองแปง อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ จ.ศรีสะเกษ

พี่เลี้ยงชุมชน : 

  • จรัญญา ลับไผ่ (อดีตครูฝึกสอนโรงเรียนโพธิ์ศรีสุวรรณวิทยาคม)

ทีมทำงาน

  • นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนโพธิ์ศรีสุวรรณวิทยาคม

­