การเรียนรู้ผ่านโครงการเพื่อชุมชน (PBL) เพื่ออนุรักษ์การทอผ้าไหมลายลูกแก้ว จังหวัดศรีสะเกษ

เรียนรู้เพื่อสืบสานภูมิปัญญาผ้าไหมลายลูกแก้ว

โครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมกับกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค

ถ้าสร้างฐานที่แข็งแรงให้ลูกหลานได้ ต่อไปภายภาคหน้าเขาจะใช้ชีวิตอยู่รอดในสังคมโดยไม่ต้องกลัวอุปสรรคใด ๆ เราอยากปลูกฝังให้ลูกเป็นแบบนั้น เลยให้แบ่งเวลามาทำโครงการ เมื่อก่อนลูกติดมือถือมาก ปกติไม่ให้เอามือถือไปโรงเรียน แต่พอกลับจากโรงเรียนถึงบ้านปุ๊ปวิ่งเข้าหาโทรศัพท์ทันที แต่ตอนนี้เขามีความรับผิดชอบในตัวเองมากขึ้น เล่นมือถือน้อยลง จัดการตัวเองเรื่องเรียนได้ ช่วยงานบ้านมากขึ้น และแบ่งเวลามาทำโครงการ เขาได้ใช้เวลาทั้งกับตัวเอง โรงเรียน พ่อแม่ และได้อยู่กับเพื่อนฝูง

จากโครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูยเมื่อปีที่แล้ว ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและสืบสานการทอผ้าของชาวกูย (ส่วย) มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 100 ปี ของบ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ความร่วมมือระหว่างเด็กและเยาวชนในชุมชนกับปราชญ์ชาวบ้านครั้งนั้น นำมาสู่ผลลัพธ์เชิงรูปธรรมนั่นคือ หนังสือรวบรวมองค์ความรู้เรื่องอุปกรณ์และวิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้ว นอกจากนี้ โครงการนี้ยังก่อเกิดนักทอผ้ารุ่นใหม่ซึ่งก็คือแกนนำเยาวชนในโครงการ ที่ได้มีโอกาสฝึกฝนการทอจากผู้รู้ในชุมชนโดยตรงอีกด้วย 


>> ใช้กิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ชุมชน

ทักษะชีวิตเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ ยิ่งเป็นการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชน จะยิ่งสร้างสำนึกให้เด็กและเยาวชนเกิดความรักและหวงแหนสิ่งดี ๆ ในท้องถิ่น และช่วยอุดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างวัยของคนในชุมชนได้อีกด้วย”

เมื่อความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้รับการบ่มเพาะและเติบโตขึ้นในใจของทีมงานผ่านการทำโครงการในปีแรก ทั้งยังเข้าไปกระตุกกระตุ้นให้คนในชุมชนหันกลับมามองเห็นคุณค่าในวิถีชีวิตที่ดำรงอยู่...

“แล้วเราจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากปีที่แล้วมาใช้ต่อได้อย่างไร?”

เป็นโจทย์ที่ทีมงานต้องครุ่นคิดอย่างหนักเมื่อมีโอกาสทำโครงการต่อในปีที่ 2 ท้ายที่สุดจึงลงตัวที่การจัดทำแหล่งเรียนรู้การทอผ้าชุมชนบ้านขี้นาค โดยนำชุดความรู้ รวมถึงทักษะการทอผ้าที่ทีมงานได้รับจากการทำโครงการในปีที่แล้วมาขยายผลแก่เด็กและเยาวชนในชุมชนจึงเกิดเป็นโครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมกับกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค

พี่แล-สิดาวรรณ ไชยภา พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน สะท้อนว่า ก่อนมีโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเข้ามา เด็กและเยาวชนบ้านขี้นาคห่างหายจากการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนมานานนับสิบปี ส่งผลให้ความรักความผูกพันของเด็กที่มีต่อชุมชนลดน้อยลงไป พร้อมๆ กับเกิดช่องว่างระหว่างวัยเข้ามาแทนที่ เหตุผลที่เธอเข้ามาอยู่ในแวดวงการพัฒนาเยาวชน เพราะเห็นสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงอยากมีส่วนร่วมแก้ไข

บ้านขี้นาคมีประชากรอาศัยอยู่ราว 90 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา หลายครอบครัวต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงครอบครัวในเมือง ทิ้งลูกหลานให้อยู่กับคนเฒ่าคนแก่ ถ้าผู้ใหญ่ไม่สนใจไม่ช่วยกันดูแล เด็กและเยาวชนที่กำลังเติบโตอาจหลงเดินไปในทางที่ผิดได้ สำหรับพี่แลที่มีประสบการณ์เป็นพี่เลี้ยงโครงการเยาวชนมา 2 ปี มองว่า ทักษะชีวิตเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ ยิ่งเป็นการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชนจะยิ่งสร้างสำนึกให้เด็กและเยาวชนเกิดความรักและหวงแหนสิ่งดี ๆ ในท้องถิ่น และช่วยอุดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างวัยของคนในชุมชนได้อีกด้วย


>> “ผ้าไหมลายลูกแก้ว” ห้องเรียนใหม่ของชุมชน

“แค่รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องลองและฝึกฝนทำเองจึงจะเกิดผล พวกเขาเชื่อว่า การเข้าฐานเรียนรู้โดยตรงกับผู้รู้จะสร้างนักทอผ้ามือใหม่ที่มีความสนใจภูมิปัญญาการทอผ้าขึ้นมาได้อีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งเมื่อเด็กลุกขึ้นมาฟื้นฟูการทอผ้าอย่างเป็นรูปธรรม แรงกระเพื่อมนี้น่าจะเข้าไปกระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจรื้อฟื้นการทอผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้นไปอีก”

นุ่น-นิภาดา บุญท่วม บอกว่า ผ้าไหมลายลูกแก้ว (ผ้าแก๊บในภาษากูย) พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนบ้านขี้นาค จนกลายเป็นความเคยชินที่ทำให้คนในชุมชนมองไม่เห็นคุณค่าและความพิเศษของภูมิปัญญาซึ่งเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ทั้งที่ชาวกูยใช้ชีวิตอยู่กับผ้าไหมเหล่านี้ตั้งแต่เกิดจนตาย เธอจึงอยากเผยแพร่องค์ความรู้ที่รวบรวมมาได้จากโครงการปีก่อนให้คนอื่นรับรู้ด้วย

“แค่รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องลองและฝึกฝนทำเองจึงจะเกิดผล พวกเขาเชื่อว่าการเข้าฐานเรียนรู้โดยตรงกับผู้รู้จะสร้างนักทอผ้ามือใหม่ที่มีความสนใจภูมิปัญญาการทอผ้าขึ้นมาได้อีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งเมื่อเด็กลุกขึ้นมาฟื้นฟูการทอผ้าอย่างเป็นรูปธรรม แรงกระเพื่อมนี้น่าจะเข้าไปกระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจรื้อฟื้นการทอผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้นไปอีก” ทีมงาน บอกถึงวิธีคิดและวิธีทำงาน

ทั้งนี้ ก่อนประกาศเชิญชวนเด็กและเยาวชนกลุ่มเป้าหมายให้มาลงฐานการเรียนรู้ ทีมงานได้ประชุมวางแผนการทำงาน ชี้แจงรายละเอียดการดำเนินโครงการในปีที่ 2 แก่สภาผู้นำหมู่บ้านในเวทีประชุมประจำเดือนของชุมชน

“บังเอิญว่าวันที่เรานัดมาประชุมทีม มีเวทีสภาผู้นำประจำเดือนพอดี พี่แลเลยเสนอไอเดียขึ้นมาว่าไหน ๆ เราได้แผนโครงการแล้ว ไปนำเสนอโครงการเลยดีไหม ทุกคนเห็นตรงกันว่าไป คิดว่าถ้าไม่ได้ทำโครงการมาตั้งแต่ปีแรก คงไม่ได้รู้จักผู้ใหญ่ในชุมชน และคงกลัวการนำเสนอ แต่ตอนนี้กลับรู้สึกเหมือนทุกคนเป็นญาติกันก็เลยไปนำเสนอได้โดยไม่ลังเล” นุ่น กล่าว

ชมพู่-สิริวิมล ไชยภา เสริมว่า ไม่เพียงแค่ชี้แจงการทำงานให้ผู้ใหญ่ในชุมชนทราบ พวกเขายังนำข้อมูลที่เก็บได้จากปีก่อนมาอ่านทบทวน แล้วลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้รู้เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โดยแบ่งทีมงานออกเป็น 2 กลุ่มเพื่อทำงานให้เสร็จทันภายใน 1 วัน

นุ่น บอกต่อว่า ที่ต้องแบ่งงานเช่นนี้ เนื่องจากทีมงานกลุ่มเดิมที่เคยศึกษาอยู่โรงเรียนเดียวกันแยกย้ายไปศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายต่างโรงเรียนกัน ทำให้แต่ละคนมีเวลาว่างไม่ตรงกัน เพราะฉะนั้นหากสามารถนัดหมายกันได้ ก็ต้องใช้เวลาในวันนั้นอย่างคุ้มค่าที่สุด

“ปีแรกเราทำแผนที่เดินดินระบุจุดผู้รู้ในชุมชน ได้เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการย้อมผ้าด้วยมะเกลือที่ทำสืบต่อกันมา จัดจำแนกประเภทอุปกรณ์ที่ใช้ในการทอผ้า ทำปฏิทินวัฒนธรรม และสืบค้นประวัติผ้าทอลายลูกแก้ว ปีนี้เราตั้งใจทำฐานการเรียนรู้ ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลผู้รู้เพิ่มเติมว่า แต่ละคนชื่ออะไร อายุเท่าไร ถนัดงานด้านไหน เพราะปีที่แล้วยังไม่ได้ทำ เลยคิดกันว่าไปคุยกับผู้รู้เลยดีกว่า ถือโอกาสทบทวนข้อมูลเดิมและเก็บข้อมูลเพิ่มไปเลย” นุ่น อธิบาย

แนน-จิฑาภรณ์ นาคนวล บอกว่า แผนงานหลักของโครงการปีที่ 2 อยู่ที่การชักชวนเด็กและเยาวชนจากทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าไหมจากทั้ง 3 ฐานที่บ้านผู้รู้ เพื่อให้ได้ฝึกฝนทักษะการทอด้วยตัวเอง โดยทั้ง 3 ฐานประกอบด้วย

ฐานที่ 1 ฐานเล็กๆ ส่งเสริมเด็กให้เรียนรู้ บ้านยายสำเนียง นาคนวล เกี่ยวกับการฟอก กระตุกและปั่นไหม

ฐานที่ 2 คุณครูพี่สอนน้อง บ้านยายแสงมณี จันทอง เกี่ยวกับการทำเครือและการต่อไหม

ฐานที่ 3 เรียนรู้ร่วมใจสู่ผ้าไหมลายลูกแก้ว บ้านยายเทพนิมิต ทวีชาติ เกี่ยวกับการปั่นไหมใส่หลอดและการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว

แนน กล่าวเสริมว่า ก่อนชวนน้องมาเข้าฐาน เราทำป้ายไวนิลชื่อฐาน และสรุปข้อมูลผู้รู้ที่ได้จากการสัมภาษณ์เพิ่มเติมไปแขวนไว้ในแต่ละฐานด้วย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการเรียนรู้

หลังออกแบบฐานการเรียนรู้แล้วเสร็จ ทีมงานจึงระดมพลเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านให้มาร่วมทำกิจกรรมตามแหล่งเรียนรู้ ทีมงานแบ่งกลุ่มกันนำจดหมายไปเชิญชวนตามคุ้มที่แต่ละคนอาศัยอยู่ประมาณ 30 หลังคาเรือน โดยเลือกกลุ่มเป้าหมายตามบ้านที่เป็นคนรู้จักก่อน เมื่อถึงวันจริงมีเด็กและเยาวชนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 20 คน เนื่องจากการเข้าฐานแต่ละครั้งใช้เวลามากกว่า 1 วัน ทำให้มีเด็กและเยาวชนสลับกันไปมาตามวันเวลาที่สะดวก

“พวกเราออกแบบการเรียนรู้ไว้ว่า ฐานหนึ่งจะใช้เวลาหนึ่งวันช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ พอลงมือทำจริงกิจกรรมแต่ละฐานต้องใช้เวลามาก เลยทำกิจกรรมวันเดียวไม่เสร็จ ทำให้ต้องขยายเวลาออกไป น้องเลยมาได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ก็มีน้องบางคนที่สนใจจริงๆ ช่วงที่เราไม่นัด เขาจะมาขอทำที่บ้านพี่เลี้ยงเองเลย” นุ่น กล่าว

แหล่งเรียนรู้ทั้ง 3 แห่งเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการได้สอบถามและฝึกหัดแต่ละขั้นตอนโดยตรงกับผู้รู้ พี่แล บอกว่า เดิมก็กังวล กลัวเด็กๆ ทำงานแล้วมีปัญหา ที่ผ่านมาเธอจึงคอยประสานงานให้ตลอด แต่ตอนนี้เธอปล่อยให้เด็กประสานงาน เผชิญกับปัญหา และแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าการทำงานแค่ครั้งเดียวอาจไม่ได้เรียนรู้เท่าการทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งจนเกิดความรู้ใหม่

“ถ้าเราไปนำเขาก็เท่ากับเป็นเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของเขา ที่นี้เขาก็จะทำงานต่อแบบไม่ใช่งานของเขา เราเป็นพี่เลี้ยงต้องให้เวลาและไม่ไปกดดันเขามาก ปีแรกถือว่าให้เขาได้ลองทำไปก่อน ขอแค่ให้ได้เข้าไปทำ ไปคลุกคลีกับผู้ใหญ่ ปีนี้ก็เหมือนกัน แกนนำชักชวนรุ่นน้องเข้ามาร่วมกิจกรรมตามฐาน ต่อให้น้องรุ่นใหม่ยังทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าจะทำให้ได้ดีก็ต้องทำต่อเนื่องไปเรื่อยๆ ซึ่งปีนี้แกนนำเป็นคนประสานงานผู้ใหญ่เองทั้งหมด แล้วเขาก็ทำออกมาได้ดี เราเลยสนับสนุนเต็มที่หากน้องๆ อยากทำโครงการในปีต่อๆ ไป” พี่แลกล่าว

ในฐานะรุ่นพี่ที่เคยฝึกฝนการทอมาก่อน นุ่น บอกว่า ขั้นตอนการทอเป็นส่วนที่ยากที่สุด เพราะเธอมีปัญหาเรื่องดูลายไม่ออก

“ตอนที่ทอจะค่อนข้างสับสนว่าต้องเหยียบไม้ไหน ต้องสอดไหมยังไง งานต่อไหมที่ว่าเป็นงานละเอียด ต้องใช้สมาธิเยอะเพราะต้องเอาไหมมาต่อกันทีละเส้น ๆ เป็นพันเส้นแบบนั้นยังถนัดและรู้สึกสนุกกว่า”

ยายไทยนิมิต ทวีชาติ ผู้รู้เรื่องการทอผ้าไหม ย้ำว่า ทักษะที่สำคัญมากสำหรับการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว คือ สมาธิและการจำ เพราะระหว่างทอผู้ทอต้องรู้ว่าจังหวะไหนควรกระตุกไม้แบบใด จังหวะไหนควรเหยียบแป้นทอที่ขาอย่างไร หากไม่มีสมาธิ ทอและเหยียบผิดจังหวะลายผ้าจะผิดรูปทำให้ต้องรื้อทอใหม่ทั้งหมด

สำหรับฐานการเรียนรู้ทั้ง 3 แห่ง มด-ปทุมรัตน์ จันทอง บอกว่า ทีมงานได้เตรียมสมุดความรู้ไว้ให้น้องๆ ที่มาร่วมกิจกรรมบันทึกสิ่งที่ได้เรียนรู้ตามหัวข้อลงในเอกสาร โดยหลังทำกิจกรรมครบ 3 ฐานแล้ว ทีมงานจะถอดบทเรียนน้องๆ ว่า รู้สึกอย่างไรกับแหล่งเรียนรู้ทั้ง 3 แห่ง ชอบไม่ชอบอะไร ได้เรียนรู้อะไรจากการทำกิจกรรมบ้าง และมีข้อสงสัยหรือไม่ เพื่อวัดผลว่าการชักชวนกลุ่มเยาวชนมาทำกิจกรรมเข้าฐานให้อะไรแก่เขาบ้าง

“ในภาพรวมที่ผ่านมาถือว่าน้อง ๆ สนใจมาร่วมกิจกรรมดี อาจจะมีซนบ้างเพราะส่วนใหญ่เป็นน้องชั้นประถมศึกษาตอนปลาย ถึงแม้เขาจะไม่สามารถสื่อสารถึงสิ่งที่เขาเรียนรู้ได้ชัดเจน แต่เราก็ถือว่าได้ปลูกฝังให้เขารู้จักภูมิปัญญาและของดีที่มีในชุมชน มาเรียนกับผู้รู้แบบนี้มีอะไรเขาก็ถามจากผู้รู้ได้โดยตรง ถ้าไม่ชอบไม่สนุกเขาคงไม่มา” นุ่น กล่าว


>> ก้าวเล็ก ๆ ที่เติบโต

“เมื่อเรามีโอกาสได้ทำโครงการแล้วต้องทำออกมาให้ดี ถ้าเราทำได้ดีมีคนอื่นมองเห็น เขาก็ยิ่งอยากสนับสนุน โรงเรียนแถบนี้ทุกวันศุกร์นักเรียนจะใส่ผ้าพื้นเมืองไปโรงเรียน เราก็ใส่ผ้าทอบ้านขี้นาคไป ล่าสุดออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียน มีผู้อำนวยการโรงเรียนจากที่อื่นเข้ามาถาม เราก็ได้แนะนำว่าเป็นผ้ามาจากชุมชนของเราเอง”

แม้ภาระการเรียน ภาระงานบ้าน และภาระการทำโครงการจะหนักหน่วง แต่ทีมงานก็ฝ่าฟันกันมาได้เพราะใจรัก...

นุ่น บอกว่า ช่วงนั้นมีปัญหาเรื่องการแบ่งเวลามาทำโครงการ จนเกือบทำให้ถอดใจล้มเลิกกลางคัน แต่เมื่อผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ด้วยกำลังใจของพี่เลี้ยงและผู้รู้ในชุมชน เธอกลับพบว่า การพัฒนากระบวนการคิดให้เป็นระบบที่ได้รับจากการทำโครงการมาตลอด 2 ปีสามารถนำไปปรับใช้กับการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ส่งผลให้การเรียนของเธอดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด

“ผลการเรียนดีขึ้น และตอนนี้มีความรับผิดชอบมากขึ้นด้วย เมื่อก่อนเป็นคนขี้เกียจทำการบ้านมาก รอให้ถึงวันสุดท้ายก่อนค่อยทำส่ง แต่ตอนนี้ครูให้การบ้านมาก็จะทำเลย ยิ่งมัธยมศึกษาตอนปลายการบ้านยิ่งเยอะ ถ้าไม่ทำจะยิ่งแบ่งเวลามาทำโครงการไม่ได้ ความขี้เกียจหายไปตอนไหนไม่รู้” นุ่น ขยายความ

ส่วนแนน ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 บอกว่า การรู้จักบริหารจัดการเวลาเป็นเรื่องสำคัญมาก เนื่องจากเธอต้องรับผิดชอบทั้งการบ้านและงานกลุ่มของโรงเรียนที่มีเยอะมาก แล้วต้องจัดสรรเวลามาทำงานโครงการด้วย

“เคยคิดไม่อยากทำโครงการต่อเหมือนกัน เพราะงานโรงเรียนมีเยอะมาก แต่ทำมาขนาดนี้แล้วก็อยากทำต่อไปให้สำเร็จ เลยต้องแบ่งเวลาให้ได้ เพราะไม่อยากทิ้งโครงการไว้ให้คนอื่นทำ ไม่เช่นนั้นตัวเองจะรู้สึกค้างคาใจ” แนน กล่าว

ชมพู่ เสริมว่า จากเดิมเป็นคนกล้าแสดงออกอยู่แล้ว แต่ตื่นเต้นง่าย หลังจากได้ร่วมโครงการสามารถควบคุมความตื่นเต้นของตัวเองได้ดีขึ้น เหมือนมีภาวะความเป็นผู้นำมากขึ้น ทำให้อยากมีส่วนร่วมในการนำเสนอและแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

“ทุกอย่างจัดการได้หากรู้จักจัดการเวลา เราใช้วิธีวางแผนกำหนดตารางการทำงาน ระหว่างงานกลุ่มที่ โรงเรียนและงานโครงการให้ชัดเจน เพื่อจัดตารางการทำงานไม่ให้ชนกัน เนื่องจากอยากเต็มที่กับงานที่ต้องรับผิดชอบในทุก ๆ ด้าน เมื่อเรามีโอกาสได้ทำโครงการแล้วต้องทำออกมาให้ดี ถ้าเราทำได้ดีมีคนอื่น มองเห็น เขาก็ยิ่งอยากสนับสนุน โรงเรียนแถบนี้ทุกวันศุกร์นักเรียนจะใส่ผ้าพื้นเมืองไปโรงเรียน เราก็ใส่ผ้าทอบ้านขี้นาคไป ล่าสุดออกไปทำกิจกรรมนอกโรงเรียนมีผู้อำนวยการโรงเรียนจากที่อื่นเข้ามา ถาม เราก็ได้แนะนำว่าเป็นผ้ามาจากชุมชนของเราเอง”

ด้าน อุมา แม้จะมีความสามารถในการทอผ้าอยู่แล้ว แต่การทำกิจกรรมในโครงการนี้ก็ทำให้เธอมีความกระตือรือร้น “เรารู้สึกว่าต้องรับผิดชอบทุกอย่างให้ครบทุกด้าน ทั้งการบ้าน ช่วยงานที่บ้านและกิจกรรมในโครงการ เลยต้องวางแผนว่าควรจะทำอะไรก่อนหลัง งานไหนส่งก่อนทำงานนั้นก่อน ยิ่งมีงานมามากขึ้นก็ต้องพยายามมากขึ้น ขยันให้มากขึ้นไปอีก”

สุดท้าย นุ่น เล่าถึงความฝันของเธอว่าอยากมีร้านผ้าทอที่ยังคงเอกลักษณ์ของผ้าไหมชาวกูยเป็นของตัวเอง

“ถ้าทอผ้าได้แล้ว คิดว่าอยากทอผ้าอยากมีร้านขายผ้า ออกแบบตัดเย็บทุกอย่างเอง จะได้มั่นใจว่าสามารถรักษาภูมิปัญญาดั้งเดิมไว้ได้จริงๆ”


>> แรงหนุนจากชุมชน

“ทีมงานรับผิดชอบงานด้วยตัวเองมากกว่าปีที่แล้ว จากเดิมต้องมีพี่เลี้ยงพามาและเป็นคนประสานงานให้ตลอด แต่ปีหลังนี้เด็กๆ ประสานงานเอง มาติดต่อและนำหนังสือมาให้เอง ทั้งยังขยันและมาตรงเวลา ซึ่งทำให้เธอรู้สึกดีใจที่เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านสนใจภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชุมชนอย่างจริงจังมากขึ้น นอกจากนี้ยังรู้สึกชอบเวลามีเด็กๆ แวะเวียนมาหาที่บ้านจะได้ไม่ต้องอยู่บ้านคนเดียว”

ไม่เพียงแค่วิธีคิดและวิธีการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ยังเกิดความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเจนในตัวเยาวชน คือ ความกล้าแสดงออก ซึ่งมีพัฒนาการดีขึ้นจากปีแรกเป็นลำดับ กล่าวคือ ช่วงทำโครงการปีแรกทีมงานไม่กล้าพูดเลย กระทั่งต้องใช้วิธีให้เขียนลงในกระดาษ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ทีมงานทุกคนมีความมั่นใจและกล้าสื่อสารถึงสิ่งที่ตนเองทำให้ผู้อื่นได้รับรู้ ทั้งนี้ พี่แล วิเคราะห์ว่า คงเป็นเพราะโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษเปิดเวทีและสร้างโอกาสให้กลุ่มเยาวชนได้ออกไปนำเสนอผลงานอยู่บ่อยครั้ง

“ตัวเราเองอายุขนาดนี้แล้ว พอได้ผ่านกระบวนการอบรมยังรู้สึกได้ว่ามีความกล้าและคิดเป็นระบบมากขึ้น น้องๆ เพิ่งอายุไม่เท่าไร ถือว่าโชคดีมากที่เขามีโอกาสได้เรียนรู้และพัฒนาระบบคิดของตัวเองตั้งแต่ตอนนี้”

พี่แล ย้ำว่า 2 ปีที่ผ่านมา เธอฝึกเด็กด้วยการตั้งคำถามและให้ตอบคำถามบ่อยๆ จะช่วยจัดระบบความคิดให้ดีขึ้นได้ สังเกตได้จากกลุ่มเยาวชนสามารถตอบคำถามได้ตรงประเด็น สื่อสารสิ่งที่คิดและเหตุผลที่ลงมือทำกิจกรรมต่างๆ ได้

“ปีที่แล้วเรายังต้องแนะนำเขาเยอะ เพราะน้องๆ ไม่เคยรู้จัก ไม่เคยใช้กระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างมีแบบแผนมาก่อน แต่ปีนี้น้องทำได้ดีขึ้นมาก ก่อนลงมือทำอะไรเขาจะประชุมวางแผนกันก่อน ให้รู้ว่าต้องทำอะไร แล้วแต่ละกิจกรรมมีใครเกี่ยวข้องบ้าง หลังจากนั้นจึงค่อยแบ่งหน้าที่ออกไปประสานงานและเตรียมงาน”

ยายแสงมณี จันทอง ผู้รู้ฐานที่ 2 เรื่องการทำเครือและการต่อไหม บอกว่า รู้สึกดีใจที่ลูกหลานในชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าไหม เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวและนำไปประกอบอาชีพได้ ดีกว่าปล่อยให้ภูมิปัญญาสูญหายไปกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ในฐานะผู้รู้ที่ทำกิจกรรมคลุกคลีกับทีมงานมาถึง 2 ปี เธอบอกว่า ทีมงานมีความขยันและมีความรับผิดชอบมากขึ้น

“ยายชอบอยู่กับเด็กๆ ไม่รู้สึกรำคาญ ปกติเขามาเป็นเวลา ก่อนมาที่บ้านจะนัดและทำหนังสือส่งมาก่อน ยายก็จัดการเตรียมตัวและแบ่งเวลาได้ เมื่อก่อนเด็กๆ ขี้เกียจกว่านี้ นัดแล้วมาบ้างไม่มาบ้าง มาแล้วก็นั่งเล่นโทรศัพท์ แต่ตอนนี้เวลานัดมาตลอด เล่นโทรศัพท์น้อยลง แล้วก็ตั้งใจช่วยกันทำงานดี” ยายแสงมณี กล่าว

เช่นเดียวกับ ผู้รู้ฐานที่ 3 เกี่ยวกับการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว ยายไทยนิมิต ที่บอกว่า ทีมงานรับผิดชอบงานด้วยตัวเองมากกว่าปีที่แล้ว จากเดิมต้องมีพี่เลี้ยงพามาและเป็นคนประสานงานให้ตลอด แต่ปีหลังนี้เด็กๆ ประสานงานเอง มาติดต่อและนำหนังสือมาให้เอง ทั้งยังขยันและมาตรงเวลา ซึ่งทำให้เธอรู้สึกดีใจที่เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านสนใจภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชุมชนอย่างจริงจังมากขึ้น นอกจากนี้ยังรู้สึกชอบเวลามีเด็กๆ แวะเวียนมาหาที่บ้านจะได้ไม่ต้องอยู่บ้านคนเดียว

นอกจากปราชญ์ชุมชนที่เปิดโอกาสให้กลุ่มเยาวชนเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและได้ลงมือทำด้วยตัวเองแล้ว ผู้ปกครองคือส่วนสำคัญที่ช่วยหนุนเสริมให้เด็กและเยาวชนเกิดการเรียนรู้ร่วมกับชุมชน ทองลา ไชยภา แม่ของชมพู่ที่มีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน กล่าวว่า ผู้ปกครองควรสนับสนุนบุตรหลานให้ทำกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียน เพื่อฝึกให้มีความรับผิดชอบทั้งต่อตัวเอง ผู้อื่นและสังคม ทั้งยังช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต

“ถ้าสร้างฐานที่แข็งแรงให้ลูกหลานได้ ต่อไปภายภาคหน้าเขาจะใช้ชีวิตอยู่รอดในสังคมโดยไม่ต้องกลัวอุปสรรคใดๆ เราอยากปลูกฝังให้ลูกเป็นแบบนั้น เลยให้แบ่งเวลามาทำโครงการ เมื่อก่อนลูกติดมือถือมาก ปกติไม่ให้เอามือถือไปโรงเรียน แต่พอกลับจากโรงเรียนถึงบ้านปุ๊ปวิ่งเข้าหาโทรศัพท์ทันที แต่ตอนนี้เขามีความรับผิดชอบในตัวเองมากขึ้น เล่นมือถือน้อยลง จัดการตัวเองเรื่องเรียนได้ ช่วยงานบ้านมากขึ้น และแบ่งเวลามาทำโครงการ เขาได้ใช้เวลาทั้งกับตัวเอง โรงเรียน พ่อแม่ และได้อยู่กับเพื่อนฝูง” ทองลา กล่าว

ในฐานะผู้นำชุมชน ทองลา บอกว่า ขึ้นอยู่กับความต้องการของทีมงานว่าอยากให้ผู้ใหญ่ช่วยสนับสนุนตรงส่วนไหน ซึ่งผู้นำชุมชนและสภาผู้นำหมู่บ้านต่างรับรู้เรื่องการทำโครงการของเยาวชนอยู่แล้ว จึงพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่

“ตอนนี้กลุ่มผู้นำชุมชนได้อนุมัติสร้างศูนย์การเรียนรู้เป็นส่วนกลางให้เยาวชนและคนในชุมชนมาทำกิจกรรมร่วมกัน อาจเป็นงานอาชีพและขายของด้วยก็ได้ ซึ่งต้องวางแผนกันอีกที ถ้าเยาวชนรุ่นนี้สานต่อ รุ่นน้องก็ต้องทำต่อไปอีก เด็กๆ มาทำโครงการจริงจังแบบนี้อาจมีท้อบ้างเพราะงานโรงเรียนเยอะ เราเป็นพ่อแม่ก็พูดสนับสนุนบอกให้เขาทำต่อไป เพราะเป็นประโยชน์กับตัวเขาเองในอนาคตแน่นอน” ทองลา กล่าวย้ำ

ยายอัมพร ไชยภา ผู้ใหญ่ใจดีและผู้รู้อีกท่านหนึ่ง สะท้อนว่า ก่อนหน้าที่กลุ่มเยาวชนจะเข้ามาทำโครงการแทบไม่มีคนทอผ้าไหมลายลูกแก้วกันแล้ว ส่วนใหญ่ทอใช้เองที่บ้านเล็กๆ น้อยๆ เพราะต้องใช้เวลาทอนาน เมื่อเด็กๆ ตั้งกลุ่มขึ้นมา แล้วมาขอความร่วมมือให้ช่วยบอกข้อมูล ในฐานะผู้ใหญ่ที่พอมีความรู้เกี่ยวกับชุมชนและการทอผ้าอยู่บ้างจึงยินดีช่วยเต็มที่

“เขาคิดดีและทำจริง เลยอยากให้เด็กสานต่อตรงนี้ เพราะเมื่อคนแก่ๆ ล้มหายตายจากไป จะได้มีคนรู้ต่อ หรืออาจจะถึงขั้นทอเองทำเอง มีร้านค้าเป็นของตัวเองได้ก็ยิ่งดีต่อตัวเขาเองและชุมชน”

2 ปีที่เยาวชนลุกขึ้นมาเป็นตัวตั้งตัวดีในการฟื้นภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว โดยมีพี่เลี้ยงคอยประคับประคอง ณ วันนี้ ชุมชนบ้านขี้นาคได้ “ชุดองค์ความรู้” เรื่องอุปกรณ์และวิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้ว ที่อุ่นใจได้ว่าภูมิปัญญานี้จะยังคงอยู่คู่ชุมชนแม้เวลาผ่านไป การทำงานของเยาวชนได้เข้าไปกระตุกให้คนในชุมชนก็ตื่นตัวหันมาจับกี่ทอผ้าอีกครั้ง อีกทั้งวันนี้เราได้เห็น “ห้องเรียนเรื่องภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว” ที่มีครูคือปราชญ์ชุมชนคอยสอน ห้องเรียนไม่มีเวลาเลิก ผู้เรียนเข้าไปเรียนได้เพราะอยู่ในชุมชน และเยาวชนรุ่นพี่เป็นผู้อำนวยความสะดวกเปิดโอกาสให้น้องในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้ รู้จักของดีของชุมชน หวังให้ช่วยกันสืบทอดต่อ รวมถึงได้สานสัมพันธ์คนหลายช่วงวัยที่เคยห่างหายให้ฟื้นคืนกลับมา ซึ่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นเช่นนี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้คนในชุมชนบ้านขี้นาครับมือกับการเปลี่ยนแปลงของชุมชนสังคมได้อย่างมั่นใจ ขณะเดียวกันนั้นเอง ขณะทำงานได้ทำให้ทีมงานมีความรับผิดชอบ กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก หัวใจที่รักและหวงแหนภูมิปัญญาการทอผ้าไหมของชุมชนของพวกเขาได้ก่อเกิดขึ้น รู้ว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และสามารถทำอะไรเพื่อชุมชนได้


โครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมกับกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค

พี่เลี้ยงชุมชน : สิดาวรรณ ไชยภา (เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน อบต.สวาย)

ทีมทำงาน : กลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ